เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
Music speaks for me.puroii
Music Plagiarism: ก็อปไม่ก็อป
  • เคยบอกว่าจะคุยเรื่องการ “ก็อปเพลง” มาซักพัก จากการพยายามศึกษามาร่วมปีก็สรุปได้มาคร่าวๆ เราพยายามจะเขียนให้ทุกคนอ่านเข้าใจและเห็นภาพที่สุดเท่าที่จะทำได้นะ เพราะบางทีศัพท์เฉพาะก็เยอะเหมือนกัน ทั้งนี้ต้องขอบอกก่อนว่าเราเองก็ไม่ได้เชี่ยวชาญทั้งด้านกฎหมายหรือด้านดนตรี ทั้งหมดนี้เกิดจากการศึกษาข้อมูลด้วยตัวเอง เพราะฉะนั้นถ้ามีผิดพลาดอะไรก็รบกวนพิจารณาทักท้วงเพื่อความถูกต้องด้วย

    _____________________________________


    ก่อนอื่นมาทำความเข้าใจ Musical similarity หรือความคล้ายของเพลงกันก่อน เพลงๆ หนึ่งจะไปคล้ายกับอีกเพลงหนึ่งเกิดขึ้นได้หลายกรณี ไม่ใช่แค่จากการก็อปอย่างเดียว เช่น

    1. Coincidence หรือความบังเอิญ – เนื่องจากการใช้คอร์ดเพลงมีลิมิต เช่น 4 คอร์ดที่ชอบใช้กันบ่อยๆ ดังนั้นถ้าจะเหมือนกันโดยบังเอิญก็ไม่แปลกอะไร
    2. Influence หรือแรงบันดาลใจ – เพลงนี้อาจได้แรงบันดาลใจมาจากผลงานเก่า ๆ เหมือนกันกับงานศิลปะ เทคโนโลยี ภาพยนตร์ งานเขียน ฯลฯ ไม่มีงานสร้างสรรค์ไหนที่จะใหม่ทั้งหมด แต่ตราบใดที่เอาบางส่วน จากหลายแหล่ง และมาเรียบเรียงใหม่เป็นของตัวเองจนมีความออริจินัลมากกว่าแหล่งที่ได้แรงบันดาลใจก็ไม่ถือว่าก็อป 
    3. Wrongful appropriation – อันนี้คือความตั้งใจ “ก็อป” จริงๆ


    ตัวอย่างเพลงที่ใช้ 4 คอร์ดเหมือนกัน ดูได้ในวิดีโอนี้


    แต่ทั้งสามแบบแยกออกจากกันยากเหมือนกัน มันเป็นแค่เส้นกั้นบาง ๆ ดังนั้นเลยต้องพิจารณาหลายอย่างในเพลงประกอบ ได้แก่

    1. Melody – คือสิ่งที่คนได้ยินแล้วฟังได้ชัดเจนที่สุดในเพลง พวกเมโลดี้ของเนื้อร้องหรือเครื่องดนตรีหลัก
    2. Harmony – พวกเซ็ตของคอร์ดที่ใช้ในเพลง
    3. Rhythmจังหวะ (tempo/beat)


    ประเด็นสำคัญที่ควรพิจารณาคือ ลิขสิทธิ์จะครอบคลุมการแสดงออกทางความคิด (Expression of idea) แต่จะไม่ครอบคลุมความคิดหรือแนวคิด (Idea) 

    ถ้าพูดถึงงานเพลงแล้ว idea ก็อย่างเช่น เพลงนี้เลือกใช้สเกล c major จะทำเพลงเนื้อหาเกี่ยวกับความรัก จะใช้เอ็ฟเฟ็กต์กีตาร์แบบนั้นนี้ หรือโครงสร้างเพลงแบบที่เป็น verse-chorus-verse-chorus แต่ expression เช่น chord progression ของเพลง smoke on the water โดยเฉพาะ แต่ก็แยกกันได้ไม่ง่ายอีกนั่นแหละ


    ทีนี้เราจะตัดสินได้ยังไงว่าเพลงไหนก็อป เราก็ดูจาก Substantial Similarity and Access ตาม Arnstein บอกไว้ 

    1. Substantial Similarity – พูดง่ายๆ ก็คือมีความคล้ายคลึงระหว่างผลงาน

    2. Access – คนแต่งสามารถเข้าถึงแหล่งงานนั้นได้ เช่น คนแต่งเคยฟังเพลงนั้นมาก่อน


    ระดับความคล้าย

    พิจารณาจากหลายปัจจัยรวมกัน

    1. Harmony

    ความจริง chord progression ไม่ได้มีลิขสิทธิ์เฉพาะตัวเพราะทุกคนก็ใช้กันเป็นปกติมานานแสนนาน เช่น การเรียงคอร์ดที่คลิเช่มาก ๆ อย่าง I-vi-IV-V (เช่น C Am FG ในคีย์ C major) ที่เห็นกันเยอะแยะไปหมด หรือไม่ว่าจะเป็น I-II-IV-I ใน Eight Days A Week ของ The Beatles ก็ไม่ได้มีใช้แค่เพลงนี้เพลงเดียว แต่พอพิจารณาถึงการก็อปเพลงแล้ว harmony มักไม่ใช่ปัจจัยแรกที่คนมอง


    2. Rhythm

    แพทเทิร์นของจังหวะโดยทั่วไปก็ไม่มีลิขสิทธิ์ ดังนั้นคนจะไม่ค่อยยกจุดนี้มาเปรียบเทียบเป็นอย่างแรก แต่สิ่งที่ชัดกว่าคือเมโลดี้ซึ่งมันก็มีทั้ง pitch และ rhythm ของตัวเอง


    3. Sound

    เป็นคอนเซ็ปต์ที่ใช้บอกความสัมพันธ์ระหว่างแต่ละเครื่องดนตรี การเรียบเรียงเพลง เสียงและสไตล์การร้องของนักร้องที่รวมไปถึงเอฟเฟ็กต์ต่างๆ ที่มาบ่งบอกเอกลักษณ์เพลงนั้นๆ เช่น เพลง We Will Rock You ของ Queen ฟังแล้วสามารถรู้ได้ทันทีเพราะมันมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ถึงแม้จังหวะจะไม่ได้พิเศษอะไร แต่การใช้เสียงกระทืบเท้าและเสียงปรบมือ 3 ครั้งใน 1 ห้อง (ตึก ตึก โป๊ะ) ก็เลยฟังแล้วรู้ทันทีว่าเป็นเพลงนี้ บางเพลงอย่าง E.T. ของ Katy Perry ก็เล่นจังหวะแบบเดียวกันแต่เปลี่ยนมาเป็นเสียงกลองแทน ใครฟังก็รู้ว่าได้มาจากไหน แต่ก็ไม่ถือว่าเป็น plagiarism แต่ถ้าเมื่อไรที่ใช้การกระทืบเท้าและปรบมือเหมือนกันเป๊ะก็อาจกลายเป็นเคสที่ต้องพิจารณาได้ เพราะส่วนนี้เป็นเอกลักษณ์ของ We Will Rock You และมีความสำคัญพอๆ กับเมโลดี้ของเพลง


    4. Melody

    ส่วนใหญ่เมโลดี้มักเป็นส่วนสำคัญที่จะบอกว่าก็อปหรือไม่ เมโลดี้อย่างที่บอกคือมีทั้ง pitch, shape และ rhythm ถ้ามีเหมือนกันทั้งหมดก็อาจตัดสินได้ชัดเจน แต่ถ้าเหมือนบางส่วนก็ยังบอกได้ยาก บางทีก็อาจบอกได้แค่ว่าเป็นแรงบันดาลใจตรงๆ

    มีกฎที่ไม่ได้เขียนไว้ชัดเจนกล่าวว่า ถ้าโน้ตเหมือน 5-9 ตัวติดกัน (ใน 2 ห้อง) ก็มีความเป็นไปได้ว่าก็อปเพราะความบังเอิญที่โน้ตจะเหมือนกันจะค่อยๆ ลดลงแบบ exponential หลังโน้ตตัวที่ 8 หรือหลังผ่านไป 2 ห้อง แต่ทุกอย่างก็มีข้อยกเว้นเสมอ อย่างที่บอกว่ามันไม่ได้มีกฎตายตัว

    แพทเทิร์นของเมโลดี้ที่ใช้กันบ่อยก็มีเยอะ เช่น scalar, oscillating, recitative ฯลฯ หรือร้องยาวโน้ตหนึ่งแล้วขยับขึ้นหรือลงมา 1 ขั้นก็เป็นอะไรที่ใช้กันเยอะ 

     
    5. Probability

    สุดท้ายแล้วการตัดสินเรื่องก็อปไม่ก็อปก็เกิดจาก “ความน่าจะเป็น” เป็นส่วนมาก แต่ก็ขึ้นอยู่กับความดังของเพลง (บ่งบอกถึง access) สมมติมีคนบอกว่าไปก็อปเพลงของวงดังๆ รู้จักกันทั่วบ้านทั่วเมือง คนแต่งจะมาอ้างว่าไม่เคยฟังก็คงยากที่จะเชื่อ แต่ถ้ามีคนบอกว่าก็อปจากวงอินดี้ที่ฟังกันเฉพาะกลุ่มก็มีความเป็นไปได้ว่าอาจจะแค่บังเอิญ ก็ต้องดูหลากหลายปัจจัยร่วมกัน


    _________________________________________


    สุดท้ายแล้วก็อย่าไปกล่าวหาว่าเพลงนั้นก็อปเพลงนี้แค่เพราะเราได้ยินแล้วรู้สึก "คุ้นๆ" เพียงอย่างเดียว เพราะบางทีมันอาจเป็นแค่ความบังเอิญก็ได้ อีกประเด็นคือความจริงพวกดนตรีมันก็มีแบบแผนของมันว่าคอร์ดไหนมาต่อกันแล้วฟังดูดี ใช้โน้ตยังไงถึงจะฟังไม่แปร่ง มนุษย์ทุกคนก็ย่อมมีเซนส์เรื่อง harmony พวกนี้ฝังในสมองส่วน prefrontal cortex อยู่แล้ว (อันนี้มีวิจัยมารองรับด้วย เข้าไปอ่านกันได้ที่นี่โดยเฉพาะถ้ายิ่งฟังมากหรือทำเพลงเยอะ เพราะฉะนั้นมันอาจจะบังเอิญเหมือนกันได้โดยไม่ได้ตั้งใจ 


    อ้างอิง

    1. Musical Plagiarism: A True Challenge for the Copyright Law | Iyar Stav
    2. Plagiarism or inspiration? by D.Pinter

Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in