เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
Article 'n DocumentaryAomm
Deep in the long grass : ลุ่มลึก เรียบง่าย หลังพงหญ้ารกสูง
  • หลังโลดแล่นในวงการเพลงอเมริกันกว่าสี่ปี นักร้องอินเตอร์สายพันธุ์ไทยอย่าง ฮิวโก้ หรือ เล็ก - จุลจักร จักรพงษ์ ก็กลับมาทำงานเพลงที่บ้านเกิดภายใต้สังกัดอิสระอย่าง SO:On Dry Flower ในอัลบั้มล่าสุด Deep in the long grass

    ไอทูนส์ สโตร์ ศูนย์รวมสื่อบันเทิงออนไลน์จัดอัลบั้มนี้อยู่ในประเภทอัลเทอร์เนทีฟ แต่ฮิวโก้บัญญัติแนวเพลงนี้ว่า Grass-Hop (กราสฮอป) การผสมผสานภาคดนตรีแบบดั้งเดิมอย่างบลูกราส ซึ่งผันมากจากคันทรี และร็อค แอนด์ โรลยุค 70 แบบที่เจ้าตัวถนัดเป็นทุนเดิม กับดนตรีสมัยใหม่ อิเล็กโทรนิกส์และฮิปฮอป ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากโปรดิวเซอร์คู่ใจในอัลบั้มนี้อย่าง เจ - มณฑล จิรา

    เปิดตัวมาด้วยเพลง Twitch and Tug กล่าวถึงอาการลงแดง หลังจากที่พยายามจะเลิกทำบางสิ่งบางอย่าง ในที่นี้อาจจะเป็นการเสพติดในดนตรีของฮิวโก้เอง หรือนิสัยหลายๆอย่างที่อยากปรับเปลี่ยน แต่สุดท้ายเมื่อมันติดเป็นนิสัย ก็คงหนีไม่พ้นอยู่ดี การตัดเสียงกีต้าร์สไตล์บลูกราสมาต่อกันทำให้รู้สึกเหมือนลุ่มหลงในวังวน ก่อนจะถึงจุดลงแดงในท่อนโซโล่ที่แทรกจังหวะดับสเต็ปแบบเพลงอิเล็กโทรนิกส์ลงไป และต่อเนื่องด้วย I need the truth ที่มีกลิ่นฮิปฮอปมากขึ้น การซ้ำคำกับจังหวะ ประกอบกับการดีไซน์เสียงร้องที่ทำให้รู้สึกเหมือนอยู่ในอาการ High ทำให้เรายิ่งกระหายรู้ความจริงจากอัลบั้มนี้มากขึ้น 

    Secret and Lies ดึงให้เราเข้าไปอยู่ในโลกของหนังไซไฟ ด้วยอินโทรจากเบสซึ่งเป็นส่วนที่โดดเด่นที่สุดของเพลงนี้ แอบใส่ลูกเล่นแบบเพลงอิเล็กโทรนิกส์ด้วยการให้เมโลดี้หนักที่เสียงเบส ขณะเดียวกันเสียงและเนื้อหากลับทำให้รู้สึกว่านี่คือเพลงบลูส์ที่ล้ำไปในโลกอนาคต ก่อนที่ความเร็วที่สูงนิ่งของอัลบั้มนี้ จะพาเราลงไปยังความเป็นธรรมชาติที่สังเคราะห์ขึ้นมาอย่าง เพลง Quiet Fire เสน่ห์ของเพลงนี้คือกระบวนการของเพลง เปิดตัวด้วยเสียงคล้ายกับระนาดของไทย ทว่าแท้จริงเป็นเสียงกลองที่จูนให้แหลมจนคล้ายว่าเป็นเสียงนั้น นอกจากนี้เมโลดี้ยังมีความคล้ายคลึงกับเพลงในอัลบั้มเดียวกันอย่าง Nightshift ทำให้รู้สึกถึงความเป็นแพทเทิร์นเดียวกันของอัลบั้ม หากต่างด้วยการดีไซน์ทางดนตรี ถึงจะโดนเด่นด้วยเสียงสังเคราะห์ แต่โซโล่อคูสติกกีต้าร์ในเพลงก็เก๋ไม่หยอก

    ถือเป็นเพลงดังไม่แพ้เพลงโปรโมทอย่าง Twitch and Tug นั่นก็คือ Hailstorms ฮิวโก้เคยเล่าถึงที่มาว่าเคยเป็นเพลงแบบดับสเต็ป แต่นำมาปรับปรุงให้ดูอนาล็อกขึ้นด้วยวิธีการต่างๆ เช่นเพิ่มคีย์ร้องให้สูง โครงสร้างโดยรวมของเพลงไปมาก เนื้อหาพาเดินทางไปตามหาความหมายของสิ่งๆหนึ่ง เหมือนกับการค่อยๆดำดิ่งเข้าไปในพงหญ้ามากขึ้น หลังจากที่ Twitch and Tug พาเราขึ้นมุมสูงในตอนต้น

    ก่อนที่บรรยากาศจะเริ่มเข้าสู่ความเงียบสงบกับ Nightshift กล่าวถึงชีวิตของคนกลางคืน ที่วันหนึ่งเกิดรู้สึกเบื่อหน่าย ใจหนึ่งอยากจะฝืนใช้ชีวิตแบบคนกลางคืน สนุกสนานเฮฮา แต่อีกใจก็โหยหาค่ำคืนดีๆที่บ้าน เป็นเพลงที่ชอบที่สุดในอัลบั้มนี้ ลงตัวทั้งเนื้อหา และภาคดนตรี การใส่เสียงจักจั่นเรไรตอนขึ้นต้น หรือการใส่ทำนอง ดับสเต็ปลงไป ให้ความรู้สึก Nostalgia แบบยุคมิลเลนเนียมที่ยังสับสนว่าเราโหยหาอดีต หรือปัจจุบันกันแน่ ฟังแล้วให้ความรู้สึกผ่อนคลาย ระคนกดดัน เหมือนมีเพื่อนมาตบบ่าแล้วพูดว่า ‘ทำใจให้สบาย แต่อย่าลืมนะเว้ย ว่่าเราน่ะมันคนกลางคืน’

    All I Think About เปรียบเหมือนความรักสมัยเด็กๆท่ีอยากทำอะไรก็ได้ให้คนรักของเรายิ้มได้ ริฟฟ์เบสและกลองโดดเด่นไม่แพ้ Secret and Lies แต่เนื้อหาดูหนุ่มแน่นกว่า เสน่ห์ของเพลงนี้คงไม่พ้นเสียงเหน่อติดเว้าวอนของฮิวโก้ บางทีแค่เปิดเพลงนี้ให้คนที่รักฟัง เธอก็คงเผลอยิ้มโดยไม่รู้ตัวแล้ว จังหวะหลอก เหมือนว่าเพลงจบ ทำให้เราเผลอคิดว่า ‘มันจบแล้วเหรอ’ ก่อนที่จะกลับมาปิดท้ายอีกรอบ การหยอกล้อของเด็กหนุ่มวัยรุ่นมันเป็นเช่นนี้เอง

    Fire Worth Keeping อินโทรมาด้วยเสียงกลองหนักหน่วง กับซาวด์ที่เหมือนกำลังพาเราเดินเข้าไปในถ้ำที่มีเพียงไฟเลือนราง ก่อนจะค่อยเผยความสว่างกลางปล่องนั่น คล้ายเป็นภาคต่อของ Quiet Fire ขณะที่ The Long Grass คล้ายว่าจะเป็นการเล่าถึงวงการเพลงอเมริกันที่ฮิวโก้คิดหวัง หากแต่ไม่เป็นอย่างที่หวัง สุดท้ายด้วยอำนาจ หรือระบบที่ล่าช้า ก็ทำให้เขารู้สึกว่าทางที่ดีที่สุด ณ ตอนนั้นก็คือ การกลับบ้าน การตัดเสียงเบสหรือกลองหนักๆออก ทำให้รู้สึกเหมือนกำลังล่องลอยอยู่กับความคิด และ Down the River เป็นอาการของคนที่จริงจังกับชีวิตมาก ห่วงคนอื่นจนไม่สนใจตัวเอง และกลายเป็นปัญหาเมื่อยามมีความรักที่พร้อมจะปล่อยมืออีกฝ่าย แต่ไม่ยอมละความรู้สึก เป็นเพลงที่เศร้าอย่างเปิดเผยที่สุดของอัลบั้มนี้

    ก่อนที่จะปิดอัลบั้มนี้ด้วย Feather การแทรกเสียงสังเคราะห์มาพร้อมกับแบนโจ ให้ความรู้สึกเหมือนก่อนหน้าเป็นการสนทนาในวงเหล้าที่มีทั้งช่วงก่อนเมา ช่วงเมามาย จน Feather คือการสร่างและความจริงที่ปรากฏ การบอกว่าตัวเองเป็นเพียงขนนกเล็กๆในกำมือของมือของผู้หญิงคนหนึ่ง สุดท้ายแล้วคือโลกการทำเพลงในสหรัฐอเมริกาที่ฮิวโก้เป็นเหมือนปลาเล็กตัวหนึ่ง โลกของทุนนิยม ที่สุดท้ายกลับไม่ได้อิสระที่แท้จริง เหมือนเป็นการขมวดปรัชญาที่ได้รับหลังจากโลดแล่นอยู่บนถนนอเมริกันคันทรีกว่า 4 ปี

    ด้วยเป็นอัลบั้มที่เริ่มต้นจากการวางโครงดนตรีก่อน หากพูดถึงภาพรวมทางเมโลดี้แล้ว เคมีของบลูกราสและฮิปฮอปจูนกันจนลงตัว และไม่มีเพลงไหนที่หลุดออกคอนเซปต์รวมเลย เป็นอัลบั้มที่ภาคดนตรีแข็งแรงมาก บ่อยครั้งท่ีศิลปินหลายคนพยายามทำเช่นนี้ กลับกลายว่าทำให้ทั้งอัลบั้มมันซ้ำซากและน่าเบื่อ แต่กิมมิคเล็กๆ เช่น เสียงธรรมชาติ การจูนเสียงเครื่องดนตรีใหม่ ก็ทำให้เพลงที่มีแพทเทิร์นเดียวกันมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวได้ เหมือนเป็นพี่น้องท้องเดียวกัน 11 คน ที่ถึงจะมีความเหมือนกันบ้าง แต่ก็ไม่เหมือนกันราวกับเป็นฝาแฝด ยิ่งรวมสไตล์เฉพาะตัวด้านเสียงร้องแล้ว งานเพลงชิ้นนี้จึงกลายเป็นงานเพลงที่มีความสากลมากๆ แต่ให้ลองเสียเวลาสัก 40 นาทีมา ‘สนทนา’ กับผลงานมาสเตอร์พีซชิ้นหนึ่งของศิลปินไทยแต่มาตรฐานอินเตอร์อย่างฮิวโก้

    Deep in the long grass พงหญ้ารกสูงที่รอให้ทุกคนแหวกเข้าไปค้นหา แต่ไม่ถึงขั้นต้องป่ายบันไดฟัง
Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in