เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
Article 'n DocumentaryAomm
ถ่ายทอด ‘ศพ’ เพื่อผู้เสพความตาย
  • ระยะเวลากว่าหนึ่งสัปดาห์ ที่วงการบันเทิงไทยก็สูญเสียพระเอกชื่อดังอย่าง ‘ปอ - ทฤษฎี สหวงษ์’ ด้วยโรคไข้เลือดออก ทำให้สื่อแทบทุกแห่งเกาะติดสถานการณ์ หลายสำนักพยายามนำเสนอข่าวนี้ในรูปแบบและเนื้อหาที่หลากหลาย เพื่อเป็นทางเลือกและดึงดูดให้ผู้รับสารเลือกที่จะรับข่าวจากช่องทางของตน ซึ่งสื่อบางแห่งไม่เพียงทำเป็นสกู๊ปข่าว แต่กลับใช้ฟังก์ ชั่นถ่ายทอดสดของเว็บไซต์ยูทูบ เข้ามาช่วยรายงานในการรายงานข่าว โดยถ่ายทอดสดพิธีศพของพระเอกชื่อดัง 

    การถ่ายทอดศพพิธีศพเช่นนี้ เราอาจจะได้ชมผ่านตามาบ้างเมื่อเป็นของบุคคลสำคัญของบ้านเมือง สำหรับบุคคลในวงการบันเทิงนั้น เคยมีการถ่ายทอดสดออนไลน์เช่นนี้เมื่อครั้งงานฌาปนกิจศพของ ‘สิงห์ มุสิกพงศ์’ มือกีต้าร์ของวงสควีซ แอนิมอล สำหรับพิธีศพของปอ ทฤษฎีถูกถ่ายทอดสดผ่านไลฟ์สตรีมตั้งแต่วันสวดพระอภิธรรม โดยสำนักข่าวเจ้าเดียวกัน

    อาจเพราะตัวเขาเองคือพระเอกขวัญใจคนไทยคนหนึ่ง ดูจากยอดเข้าชมการถ่ายทอดสด คงมีผู้คนอยากไปร่วมงานศพของนักแสดงหนุ่มอีกกว่าหมื่นคน แต่ไม่มีโอกาสได้ไป จึงอยากเห็นภาพบรรยากาศและให้ความรู้สึกเหมือนได้ร่วมส่งพระเอกที่ตนชอบเป็นครั้งสุดท้าย ภาพบรรยากาศในงานศพที่เต็มไปด้วยความโศกเศร้าของบรรดาญาติและแขกในงาน หลายครั้งที่กล้องมักจะซูมไปที่ใบหน้าเศร้าหมอง ยิ่งถ้าคนใกล้ตัวร้องไห้ กล้องจะจับภาพที่บุคคลนั้นนานเป็นพิเศษ เพื่อให้ทางหน้าจอได้รับชมความเศร้า และเรียกน้ำตาจากผู้ชมบางส่วน ฉันหาความสนุกสนานในบรรยากาศเศร้าหมองเช่นนี้ไม่เจอ 

    เราจำเป็นที่จะต้องมีการถ่ายทอดสดให้ผู้ชมได้เสพความหดหู่ไปพร้อมๆกันจริงหรือ

    ทั้งๆที่ข่าวบันเทิงที่สร้างสรรค์ตามบทความ ข่าวบันเทิงที่สร้างสรรค์แรงบันดาลใจ ของ ผศ.สุรสิทธิ์ วิทยารัฐ อาจารย์ประจำคณะคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ระบุไว้ว่าข่าวบันเทิงที่ดีนั้นควรจะเป็นข่าวที่เกี่ยวกับผลงานหรือสิ่งที่ดาราเหล่านั้นทำเพื่อสังคม การถ่ายทอดสดต่างๆนั้น หากเป็นรายการบันเทิง ก็ควรจะสร้างความบันเทิงให้แก่ผู้ชม เช่น การถ่ายทอดสดกีฬา ตั้งแต่เมื่อไรกันที่เราเห็นว่าการเสียชีวิตของคนหนึ่งคน ท่ามกลางความเสียใจของญาติมิตร กลายเป็นเรื่องบันเทิงของคนนอกอย่างพวกเราเอง

    เพราะฉันเชื่อว่า ยังมีรายการดีๆอีกมากมาย ที่รอให้นำออกมาถ่ายทอดสด มากกว่าการถ่ายทอด ‘ศพ’ ดังเช่นกรณีนี้ อย่างไรก็ดี ตัวมวลชนเองก็เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยคัดกรองการนำเสนอข่าวของสื่อ เพราะสื่อเลือกนำเสนอข่าวส่วนหนึ่งก็มาจากความสนใจของประชาชน หากเราเลือกรับชมแต่พอดี คำนึงถึงความรู้สึกของคนใกล้ชิดของผู้ล่วงลับอีกสักนิด การนำเสนอข่าวแบบนี้ก็จะเกิดขึ้นน้อยลง นอกจากนี้ตัวผู้ชมเอง หากเสพข่าวการเสียชีวิตของพระเอกหนุ่มมากเกินไปเช่นนี้ อาจทำให้ผู้รับสารเกิดภาวะซึมเศร้า ถึงขั้นเข้าพบจิตแพทย์ได้

    ข่าวการจากไปของปอ ทฤษฎี ทำให้ฉันนึกถึงการเสียชีวิตของเดวิด โบวี นักร้องและนักแต่งเพลงชาวอังกฤษ ฉันตามอ่านข่าวของโบวีตามประสาแฟนเพลงคนหนึ่ง ข่าวการจากไปของนักร้องวัย 69 ปี มีเพียงข้อความจากเฟซบุ๊กทางการของเขา ว่า “เดวิด โบวีจากไปอย่างสงบท่ามกลางสมาชิกครอบครัวในวันนี้ หลังจากต่อสู้กับโรคมะเร็งร้ายมากว่า 18 เดือน” นอกจากนี้ก็มักจะเป็นข่าวเกีี่ยวกับกิจกรรมรำลึกถึงนักร้องคนดังที่จัดขึ้นโดยศิลปินและแฟนเพลง และการรวบรวมผลงานต่างๆ ปราศจากการขุดคุ้ยหรือรุกล้ำพื้นที่ส่วนตัวของครอบครัวของร็อกสตาร์คนดัง การนำเสนอข่าวของสื่อเช่นนี้ ฉันมองว่านี่คือการให้เกียรติผู้ที่จากไปอย่างแท้จริง 

    ถึงแม้ปอ ทฤษฎีจะเป็นนักแสดง แต่คงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเป็นตัวแสดงแม้กระทั่งหมดลมหายใจ เหมือนกับที่ครอบครัวของเดวิด โบวีร้องขอในเฟซบุ๊กว่า ‘เราเข้าใจว่า พวกคุณคงรู้สึกเสียใจกับการสูญเสียนี้ไม่ต่างกัน แต่อยากขอให้ทุกคนเคารพความเป็นส่วนตัวของพวกเราในช่วงเวลาอันยากลำบากเช่นนี้’

    หยุดเป็นผู้เสพความตาย เพื่อไม่ให้เกิดการถ่ายทอด ‘ศพ’ เช่นนี้อีก
Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in