เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
Article 'n DocumentaryAomm
ความเร็วหลุดพ้นจากแรงโน้มถ่วง (ความเจริญ)


  • เสียงตอบรับจากวิทยุสื่อสารสมัครเล่นของสถานีอวกาศนานาชาติ เรียกเสียงเฮจากนักเรียนและผู้เข้าร่วมงานกว่าร้อยคน ที่โรงเรียนมอ. วิทยานุสรณ์ จังหวัดสงขลา เมื่อวันที่ 30 มกราคมที่ผ่านมา หลังจากได้รับเลือกให้เป็นโรงเรียนต้นแบบของประเทศไทยในโครงการ ARISS (โครงการวิทยุสมัครเล่นบนอวกาศ) ซึ่งเป็นโครงการที่เปิดโอกาสให้นักเรียนได้พูดคุยกับเจ้าหน้าที่ที่ประจำอยู่บนสถานี ณ เวลานั้น
    ไม่ใช่คร้ังแรกที่เยาวชนไทยสามารถพูดคุยกับนักบินอวกาศได้ การสนทนาเช่นนี้เคยเกิดขึ้นแล้ว 2 ครั้งในงานชุมนุมลูกเสือโลกเมื่อปี 2545 และ 2548 คนส่วนมากมักเข้าใจว่าต้องใช้อุปกรณ์เทคโนโลยีขั้นสูง จึงจะสามารถสื่อสารกับนักบินอวกาศได้ แต่แท้จริงแล้วเราสามารถใช้วิทยุสมัครเล่นในการติดต่อได้ โดยมีเวลาครั้งละประมาณ 10 นาที ขณะสถานีอวกาศโคจรผ่านน่านฟ้าพื้นที่นั้นๆ 


    เวลาร่วมสิบนาทีที่ได้พูดคุยกับนายทิม พีค นักบินอวกาศชาวอังกฤษนั้น เต็มไปด้วยคำถามที่น่าสนใจจากเด็กๆเช่น เราสามารถจุดเทียนฉลองวันเกิดบนสถานีอวกาศได้หรือไม่ หรือ จะทำอย่างไรหากประจำเดือนมาขณะอยู่นอกโลก รวมไปถึงคำถามเกี่ยวกับการเตรียมตัวเป็นนักบินอวกาศ แม้ว่าสัญญาณจะติดขัดไปบ้าง แต่พีคก็ตอบคำถามทุกคำถาม ทั้งยังกล่าวชมคำถามเหล่านั้นว่าเป็นคำถามที่ดี
    กิจกรรมดังกล่าวนอกจากแสดงให้เห็นถึงความสามารถของเด็กๆ ขณะเดียวกันก็เห็นถึงความพยายามที่จะผลักดันเยาวชนของผู้ใหญ่กลุ่มหนึ่ง ซึ่งไม่เพียงได้รับประสบการณ์ แต่อาจจะกลายเป็นแรงบันดาลใจให้ตัวเด็กกลุ่มนี้และเด็กคนอื่นๆ เริ่มสนใจในวิทยาศาสตร์ ผ่านการเข้าร่วมกิจกรรม นอกจากนี้ ยังเหมือนเป็นพื้นที่เล็กๆ ให้เด็กกล้าที่จะตั้งคำถาม 


    เพราะคำถามเหล่านี้ หากถูกตั้งเป็นกระทู้ในเว็บบอร์ดชื่อดังของประเทศไทย คงมีหลายคนเข้ามาแสดงความคิดเห็นประเภทว่า เป็นสิ่งไร้สาระ หรือคิดอย่างไรจึงถาม เนื่องจากความคิดเห็นเช่นนี้เคยเกิดขึ้นกับกระทู้ที่ถามเกี่ยวกับการเสียชีวิตของนักบินบนอวกาศ การใช้กล้องโดรนในดวงจันทร์มาแล้ว ความนิยมในกระทู้เหล่านี้ก็ไม่มากนัก เมื่อเทียบกับกระทู้ตัดพ้อความรักเหมือนดาวพลูโต (ที่เจ้าของกระทู้อุตส่าห์ใจดีติดแท็กดาราศาสตร์ให้เสียด้วย) สิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมออนไลน์ และอาจรวมไปถึงภายนอกด้วยนั้น ทำให้ความสงสัยในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ กลายเป็นเรื่องไร้สาระ ไม่น่าสนใจ และบางคราวเหมือนเป็นความผิด


    ส่วนหนึ่งอาจจะมาจากระบบการศึกษา ที่เน้นการป้อนความรู้ ให้เด็กตอบตามที่วางไว้ และวัดผลด้วยคะแนนสอบ บ่อยครั้งที่ความสำเร็จต้องเห็นเป็นรูปธรรม เช่นเหรียญรางวัลโอลิมปิกวิทยาศาสตร์ที่เด็กไทยของเรามักคว้ามาได้ทุกปี แต่อย่าลืมว่าเด็กกลุ่มนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของเด็กไทยทั้งประเทศเท่านั้น ไม่ใช่ว่าเราไม่ควรสนับสนุนเด็กเหล่านี้ แต่จะดีกว่าหรือไม่ ถ้าเราสามารถทำให้เด็กไทยมีความรู้วิทยาศาสตร์เท่ากันทุกคน โดยไม่ใช้วิธีการที่น่าเบื่อ และสามารถนำไปใช้ได้จริง


    การที่ยานอวกาศจะออกนอกโลกได้นั้นจำเป็นต้องใช้ความเร็วหลุดพ้น คือความเร็วที่มากพอที่จะให้ยานหนีแรงโน้มถ่วงได้ เช่นเดียวกับความก้าวหน้าของเด็กไทย ก็ต้องใช้สูตรความเร็วหลุดพ้นที่เรียกว่าโอกาส x2 มาช่วยฉุดออกจากแรงโน้มถ่วงความเจริญเช่นกัน


    โอกาสที่หนึ่งคือ โอกาสที่เขาจะได้เรียนรู้การค้นคว้าด้วยตนเองมากขึ้น การเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่จะสัมฤทธิ์ผล ไม่เพียงแต่ให้เด็กๆ ท่องจำทฤษฎีหรือทำการทดลองในห้องเรียนเท่านั้น แต่ควรให้เขารู้จักค้นคว้านอกห้องเรียนหรือการใช้แหล่งอ้างอิงให้เป็น ไม่เพียงแต่จะทำให้รู้สึกสนุกกับการเรียนรู้ แต่อาจทำให้เด็กๆ ได้เจอสิ่งที่เขาชอบ ซึ่งอาจกลายเป็นเป้าหมายในอนาคตของพวกเขา


    โอกาสที่สอง เป็นโอกาสที่น่าจะทำได้ง่ายกว่าโอกาสแรกคือ การให้โอกาสในการตั้งคำถาม อาจารย์ธงชัย โรจน์กังสดาล อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มักย้ำกับลูกศิษย์ในชั้นเรียนเสมอว่า “การตั้งคำถามเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของนวัตกรรม โดยเฉพาะเมื่อคำถามเหล่านั้นได้กลายเป็นความจริง” การชวนให้เด็กๆ ซักถามหรือแลกเปลี่ยนความรู้ จึงเป็นพื้นฐานที่ดีสำหรับการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ถึงเวลานี้ หากผู้ใหญ่ยังต้องการที่จะวัดผลด้วยเหรียญรางวัล ก็เชื่อว่าน่าจะเป็นไปได้ไม่ยาก เพราะคงมีนักคิด นักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์จำนวนมากกว่าแต่ก่อนอย่างแน่นอน


    สถานีอวกาศนานาชาติที่โคจรรอบโลกของเราอยู่ขณะนี้ มีภารกิจหลักคือให้นักบินอวกาศประจำการที่สถานี เป็นเวลาครั้งละ 6 เดือน โดยเข้าร่วมการทดลองต่างๆ เพื่อนำไปวิจัยต่อ สำหรับการเดินทางไปสำรวจดาวต่างๆ การพูดคุยกับนักบินอวกาศในครั้งนี้ก็เหมือนเป็นการปรับองศาทางความคิดให้เด็กๆ ในอนาคต ไม่แน่ว่า เด็กตัวเล็กๆ ที่ถือวิทยุสื่อสารพูดคุยกับทิม พีคเมื่อไม่กี่วันก่อน รวมถึงอีกหลายๆ คนที่ได้รับชมรับฟัง อาจกลายเป็นหนึ่งในนักสำรวจดาวอังคารในอนาคตของนาซาก็เป็นได้ 

    ขอเพียงอย่าให้เด็กไทยหยุดตั้งคำถาม เพราะมันเป็นเหมือนเชื้อเพลิงที่รอวันขับเคลื่อน ให้ศักยภาพของพวกเขาทะยานออกจากวงโคจรเดิมๆ ของสังคม

Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in