เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
Article 'n DocumentaryAomm
Smell like Streaming Spirit : ทางเลือกของคนฟังเพลงยุคใหม่ ทางรอดของศิลปินไส้แห้ง
  • ภาพยนตร์รักวัยรุ่นหลายเรื่อง มักมีรายละเอียดที่แตกต่างกันไปในแต่ละยุคสมัย แต่สิ่งที่มีเหมือนกัน ราวกับขาดไม่ได้เลยก็คือพระ-นางมักจะมี ‘เพลง’ เป็นตัวเชื่อมระหว่างคนสองคน เราอาจเห็นเป็ดกับเอิญ ใน Suckseed มีสื่อแทนใจเป็นเทปคลาสเซ็ต ขณะที่ฟ้าในภาพยนตร์เรื่อง รักสามเศร้า เลือกอัดเพลงลงในแผ่นซีดีให้พายุ ยุคสมัยทำให้แพลตฟอร์มการฟังเพลงเปลี่ยนไปเรื่อยๆ อดคิดไม่ได้ว่า


    แล้วในปี 2016 เป็ดจะส่งเพลงให้เอิญฟัง ผ่านแพลตฟอร์มไหนดี?


    คำตอบผุดขึ้นมาทันทีที่นึกย้อนไปในวันที่ฉันส่งลิ้งค์เพลง Survival ของ Muse จาก YouTube ให้รุ่นพี่คนหนึ่ง ในคืนก่อนวันสอบปลายภาคของเขา การฟังเพลงผ่านเจ้าเว็บสีแดงนี้ ก็เป็นหนึ่งในรูปแบบสตรีมมิ่งเพลง (Music Streaming) ซึ่งเป็นบริการฟังเพลงผ่านอินเทอร์เน็ต โดยไม่จำเป็นต้องดาวน์โหลดเก็บไว้ในมือถือของเราเอง ซึ่งบริการนี้ไม่ได้มีเพียง YouTube เท่านั้น หากแต่มีผู้บริการหลายเจ้าโลดแล่นอยู่ในกระแสเชี่ยวกรากของคลังเพลงมหาศาล หากสตรีมมิ่งพูดได้ คงจะขอยืมประโยคเด็ดจากเรื่อง SuckSeed มาใช้อีกครั้งว่า


    ‘นี่มันยุคของพวกเราแล้วเว้ย!’


    ตลาดเพลงดิจิทัลไม่ใช่เรื่องใหม่ในวงการเพลงโลก แต่ค่อนข้างใหม่ในประเทศไทย โดยเฉพาะสตรีมมิ่งเพลง แม้ว่า Deezer ผู้ให้บริการสตรีมมิ่งจากเมืองน้ำหอม ที่นำเข้ามาโดยดีแทคตั้งแต่ปลายปี 2011 รวมไปถึง KKBox จากเอไอเอส แต่ด้วยเงื่อนไขด้านราคา ทำให้แอพลิเคชั่นนี้ไม่ได้รับความนิยมนัก 

    “ธุรกิจอาจจะคิดช้ากว่าความรู้สึก เพราะต้องคิดในเรื่องต้นทุนในการทำงาน แต่ตัวคนทำอย่างพี่ แค่รู้สึกว่ามันดี มีคนมาฟังก็เพียงพอแล้ว แต่ธุรกิจก็ต้องคิดให้รอบด้านกว่า” ‘พี่บอล - ต่อพงศ์ จันทบุบผา’ หนึ่งในสมาชิกวง Scrubb คู่หูขวัญใจเด็กแนวให้ความเห็นเกี่ยวกับการเข้ามาของบริการสตรีมมิ่ง

    ปี 2015 จึงเป็นการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคสตรีมมิ่งของไทยอย่างจริงจัง ไล่ตั้งแต่การเข้ามาของ Youtube Thailand ในปีก่อนหน้า และการเรียงหน้าเข้ามาของ Apple Music Thailand, Tidal และ JOOX ทำให้วงการมิวสิคสตรีมมิ่งในบ้านเรามีชีวิตชีวาอีกครั้ง พร้อมการให้ทดลองใช้งานฟรี 3 เดือน ทำให้ยอดการใช้งานพุ่งสูงทีเดียว 

    “มันใช้งานสะดวก มีอินเทอร์เน็ตหรือมีไวไฟก็ฟังได้ และโหลดเก็บไว้ฟังเมื่อไม่มีสัญญาณอินเตอร์เน็ตได้ มีเนื้อเพลงประกอบขณะเปิดเพลง และการโฆษณาของแอพพลิเคชันที่เห็นได้บ่อยและเห็นหลายที่ทำให้เลือกใช้บริการแอพพลิเคชั่นนั้นๆ” ผู้ตอบแบบสอบถามออนไลน์รายหนึ่งกล่าวถึงเหตุผลที่ใช้บริการสตรีมมิ่ง อาจพูดได้ว่า คนยุคนี้คือไม่นิยมการซื้อขาด แต่หันไปเทความนิยมให้บริการสตรีมมิ่งเพลงที่สามารถฟังเพลงออนไลน์ผ่านอินเทอร์เน็ตแทน

    จากการสำรวจพฤติกรรมการฟังเพลงของกลุ่มตัวอย่าง อายุ 13 - 30 ปี จำนวน 108 คน ด้วยวิธีออนไลน์ แม้ว่า 99.1% เลือกฟังเพลงบริการสตรีมมิ่ง แต่มีเพียง 11.9% เท่านั้นที่จะสมัครสมาชิกต่อ หลังจากหมดช่วงทดลองใช้งาน ภาพของความเป็น ‘ของฟรี’ จึงเป็นของคู่กัน 


    ‘30 บาทเลยเก็บไว้ ไปซื้อผ้าเช็ดน้ำตา’


    ก่อนหน้านี้ ฉันกำลังหัวเสียกับการตามหาเพลงเพลงหนึ่งใน Spotify หนึ่งในโปรแกรมสตรีมมิ่งที่อ้างว่ามีเพลงนับล้านเพลงให้เลือกฟัง แต่ไม่มีเพลงที่ฉันอยากฟัง ความคิดฝั่งนางฟ้ากำลังกับปิศาจกำลังตีกันให้ยุ่ง เมื่อหน้าต่างของเว็บเบราเซอร์ข้างหนึ่งคือหน้าเว็บไซต์ 4Shared ขณะที่อีกด้านคือ iTunes Store ร้านค้าเพลงออนไลน์ของ Apple คำพูดในหูที่เพื่อนบอกสะท้อนในหูไปมา

    การเข้ามาของสตรีมมิ่งทำให้ยอดดิจิทัลดาวน์โหลดของผู้ให้บริการต่างๆ ลดลง Nielsen รายงานว่าในปี 2015 ยอดดาวน์โหลดเพลงทั่วโลกลดลง 12.5% ขณะที่ยอดบริการสตรีมมิ่งเติบโตจากปี 2015 กว่า 90% และจากผลสำรวจพฤติกรรมการฟังเพลง พบว่ามีผู้ซื้อคอนเทนต์เพลงจาก iTunes 52.3%
    การเข้ามาของสตรีมมิ่งไม่ได้ดึงยอดขายดิจิทัลไปมากนัก แต่เป็นเพราะการดาวน์โหลดเพลงอย่างละเมิดลิขสิทธิ์ ที่มาพร้อมกับความเชื่อว่า ‘เพลงคือของฟรี’ ที่ฝังอยู่ต่างหาก ทำให้รายได้ส่วนนี้หายไปกว่าครึ่ง

    ศิลปินรุ่นใหม่อย่าง Polycat เคยพูดคุยประเด็นลิขสิทธิ์เพลงไว้ในฟังใจซีนว่า สุดท้ายคนฟังก็มองว่าเพลงคือของฟรีอยู่ดี “ต่อให้ทำอย่างไรก็ตาม มันจะเกิดคำถามต่อคนฟังเพลงส่วนใหญ่ว่า ทำไมจะต้องเสียเงินซื้อเพลงด้วย เพราะสิ่งที่ง่ายที่สุดในการฟังฟรีปัจจุบันนี้มันก็มีพวก YouTube หรือช่องทางต่าง ๆ มากมายอยู่แล้ว มันเลยทำให้คนส่วนใหญ่ก็ยังมองบทเพลงเป็นสินค้าฟรีเสมอ”

    แม้เพลงใน iTunes จะสนนราคาเฉลี่ยที่ประมาณ 0.99 เหรียญสหรัฐ หรือ 30 บาท เทียบเท่าราคาข้าวโรงอาหารเท่านั้น แต่หลายคนกลับรู้สึกว่ามันไม่คุ้มค่า โดยให้ความเห็นตรงกันว่า แม้ราคาจะถูกก็จริง แต่เมื่อมีให้ดาวน์โหลดฟรี จึงไม่ควรเสียเปรียบคนอื่นด้วยการจ่ายเงินซื้อ ป๊อป นักศึกษาวัย 20 ปีที่อธิบายถึงเหตุผลที่ไม่ดาวน์โหลดเพลงอย่างถูกลิขสิทธิ์ แม้เพลง 1 เพลง จะราคาเท่ากับข้าว 1 จานไว้ว่า
    “ข้าวยังไงก็ต้องซื้อกินอยู่แล้ว มันไปแย่งใครไม่ได้ แต่ถ้าเพลงมันมีให้โหลดฟรี แล้วจะซื้อทำไม”

    แต่ปอย นักศึกษาวัย 21 ปี กลับมองว่า การซื้อเพลงแบบดิจิทัลเป็นการประหยัด เนื่องจากราคาเพลงแบบดิจิทัลมักจะราคาต่ำกว่าอัลบั้มเฉลี่ยประมาณ 20-30% โดยหากซื้อทั้งอัลบั้มก็ยังได้รับดิจิทัลบุ๊กเลท ไม่ต่างจากโฟโต้บุ๊กที่มาพร้อมกับแผ่นซีดี เช่นเดียวกับบาส นักศึกษาวัย 21 ปีที่ยังคงซื้อเพลงดิจิทัลอยู่ แม้จะเลือกซื้อเป็นบางเพลง “เราก็ยังซื้ออยู่นะ ถ้าเป็นเพลงที่เราชอบมากๆ ก็อยากได้ไฟล์ดีๆไว้ฟัง ถ้าระบบเสียงดีกว่า ก็ซื้อแล้ว มันคือความแฮปปี้เล็กๆของคนฟังเพลง”

    เมื่อถามพี่บอลถึงเรื่องนี้ พี่บอลเองก็ไม่ได้สนับสนุนการละเมิดลิขสิทธิ์ แต่ในฐานะคนทำเพลงแล้ว การที่มีคนได้ฟังผลงานของเขาถือเป็นเรื่องที่ดี หากชอบพอแล้วค่อยตามไปดูการแสดง หรืออุดหนุนผลงานทีหลังก็ได้ไม่ว่ากัน ส่วนเรื่องการรณรงค์หรือต่อต้านการละเมิดลิขสิทธิ์ พี่บอลบอกว่า ตนไม่เคยไปเข้าร่วมเลยสักครั้ง ด้วยมองว่าเป็นหน้าที่ของระบบกฏหมายบ้านเมืองมากกว่า “พี่เริ่มทำเพลงมากับยุค MP3 ก็คุยกันในวงตั้งแต่แรกแล้วว่า เราไม่ซีเรียส คนฟังจะรู้จักเราจากช่องทางไหนก็ได้ แต่ถ้าในส่วนของค่าย มันเป็นธุรกิจก็คงต้องคิดมากเป็นธรรมดา”  

    เย็นวันนั้น ฉันเข้าไปที่ iTunes Store อีกครั้ง ก่อนจะกดซื้อเพลงดังกล่าวมาในราคา 0.69 เหรียญ หรือไม่ถึง 25 บาทเท่านั้น เงินจำนวนนี้ฉันเดินทางกลับบ้านได้แค่ครึ่งทาง
    แต่อย่างน้อยก็คงช่วยเติมพลังให้ศิลปินเล็กๆคนนั้นไม่น้อย

    ‘หากันจน (ไม่) เจอ’


    อีกหนึ่งเหตุผลที่ผู้ตอบแบบสอบถามออนไลน์หลายราย รวมถึงเพื่อนของฉันเองเลือกใช้บริการสตรีมมิ่งคงไม่พ้น ‘คลังเพลงนับแสน ทำให้เข้าถึงเพลงได้หลากหลาย’ แต่รู้หรือไม่ ว่าที่จริงแล้ว
    ระบบสตรีมมิ่งกำลังทำให้เรารู้จักเพลงใหม่ๆ น้อยลง

    จากบทความ ‘New and interesting music is harder to find than ever’ โดย The Economist พบว่า ในยุค 80-90 มีเพลงติดบิลบอร์ดชาร์ตมากกว่า 30,000 อัลบั้ม หลากหลายกว่า 500 ศิลปิน ซึ่งจำนวนผลงานในปี 2015 นั้นมากขึ้นอีกเท่าตัว ทำให้ยากที่จะหาเพชรเม็ดงามที่ยังไม่ได้เจียระไนสำหรับแฟนเพลง และสตรีมมิ่งก็เปลี่ยนวิถีการฟังเพลงของเรา จากที่แต่ก่อนฟังกันทั้งอัลบั้ม ถึงจะไม่ใช่เพลงที่ศิลปินโปรโมทแต่ก็ต้องผ่านหู เป็นที่รู้จักอย่างแน่นอน แต่ระบบการฟังเพลงออนไลน์ทำให้ผู้ฟังเลือกที่จะฟังแต่เพลงที่รู้จัก

    “มันทำให้คนสามารถเลือกเสพได้เยอะขึ้น แต่มันก็ทำร้ายศิลปินไทย”

    บทสนทนานี้เกิดในห้องเล็กๆ เปิดแอร์เย็นฉ่ำ คลอด้วยเสียงเพลงจากแผ่นไวนิลของวงดิโอฬาร โปรเจ็ค ของบ่ายแก่ๆวันหนึ่ง ในซอกหลืบของท่าพระจันทร์ ใช่ ฉันนั่งอยู่ในร้าน ‘น้อง ท่าพระจันทร์’ และกำลังพูดคุยกับ ‘พี่นก - อนุชา นาคน้อย’ เจ้าของร้าน ผู้คร่ำหวอดในวงการเพลงไทยในฐานะสื่อกลางระหว่างคนฟังเพลง กับคนทำเพลงมากว่า 20 ปี 

    พี่นกให้ความเห็นเกี่ยวกับสตรีมมิ่งที่เข้ามาในไทยว่า “ศิลปินไทยจะไปแข่งกับสตรีมมิ่งต่างประเทศ ถามว่าทำไมยอดดาวน์โหลดมันไม่มากเท่าต่างประเทศ ปัจจัยหนึ่งมาจากภาษาอังกฤษ เพลงฝรั่งมันถูกเลือกเยอะขึ้น เพราะเขาใช้ภาษาอังกฤษกันเป็นสากล น้อยคนที่จะเข้าใจภาษาไทย สองคือเทคโนโลยีเรามีขีดจำกัด แค่ต้นทุนในการผลิตเราก็ต่างกับเขาแล้ว มันเลยทำให้เพลงบางประเภทมันหายไป” 


    เพลงเป็นของเรา เงินของใคร?


    แม้สตรีมมิ่งจะเป็นช่องทางหนึ่งในการอุดหนุนศิลปินอย่างถูกกฎหมาย ดังที่ผู้ใช้บริการสตรีมมิ่งรายหนึ่งในแบบสอบถามให้เหตุผลในการใช้งานว่า “มันทำให้เราสามารถจะฟังเพลงอะไรในตอนไหนก็ได้ จริงอยู่ว่าในข้อนี้ Youtube ก็สามารถทำได้เช่นกัน แต่การเปิดสตรีมมิ่งจะทำให้เราใช้งานมือถือได้สะดวกกว่า สามารถตั้งค่าให้เล่นวนซ้ำได้ แม้จะต้องเสียค่าบริการ อย่างใน MelOn (ผู้ให้บริการสตรีมมิ่งจากเกาหลีใต้) ที่ต้องซื้อแพ็คเกจรายเดือน แต่ก็รู้สึกว่าคุ้มค่า เป็นการอุดหนุนศิลปินที่ชอบอย่างถูกกฎหมายด้วย” 

    “ตอนนี้ What the Duck เข้าสู่ปีที่ 3 รายได้จากสตรีมมิ่งเป็นเลขประมาณ 7 หลัก
    เพราะปีที่แล้วเราได้ยอดวิวเกินร้อยล้านจากเพลงการเดินทาง ของชาติ สุชาติ 
    ซึ่งแน่นอนว่าค่ายใหญ่ๆมีร้อยล้านวิวเป็นว่าเล่น”

    อีกบทบาทหนึ่งของพี่บอลคือเป็นหนึ่งในผู้บริหารค่าย What the Duck ที่มี สิงโต นำโชค เป็นหนึ่งในศิลปินในสังกัด ที่ได้จากผู้ให้บริการ ฟังดูเหมือนศิลปินจะลืมตาอ้าปากได้ก็คราวนี้ แต่ความจริงแล้วนั้น...

    “กว่ารายได้จะมาถึงพี่ มันก็ต้องโดนหักก่อน ส่วนแรกคือผู้วางระบบ จะหักส่วนแบ่งส่วนหนึ่งไว้ จากนั้นก็จะมีตัวแทนที่ไปฝากขาย คอยทำการตลาด โปรโมทให้ เรียกว่านายหน้าแล้วกันก็หักไปอีกส่วน โดยรวมแล้วก็ไม่มากเท่าไร เงินที่เหลือจึงค่อยมาตกที่ค่าย ซึ่งค่ายก็จะดูจุดคุ้มทุนที่ทำสัญญากับศิลปินไว้ก่อน จากนั้นจึงค่อยแจกจ่ายส่วนแบ่งที่เหลือไปให้ศิลปิน โปรดิวเซอร์ และผู้ประพันธ์ ตอนนี้ สิงโต, สุชาติ หรือมัสคีเทียร์ ก็มีรายได้จากส่วนนี้แล้วนะ”

    ปลายสายพยายามอธิบายวิธีการได้เงินจากระบบสตรีมมิ่งให้ชัดเจนขึ้น นอกจากนี้พี่บอลยังแอบเมาท์ให้ฟังด้วยว่าศิลปินบางวงนั้น ได้เงิน 7 หลักจากเพลงดังเพลงเดียว ซึ่งถ้าเป็นศิลปินอิสระก็ไม่ต้องหารแบ่งกับใคร แต่พี่บอลเสริมว่า ศิลปินที่รวยฟ้าผ่าแบบนี้ มีไม่ถึง 1% ในวงการเพลงไทย

    “เพลงทั้งหมดพวกเราแต่งเอง คุณไม่ได้ทำอะไรเลย 
    แต่จะมาแบ่งเงินกับเรา 9 เหรียญ และให้เราแค่ 1 เหรียญเนี่ยนะ”

    เมื่อฟังที่พี่บอลเล่า ก็อดนึกถึงประโยคเด็ดที่นางเอกในภาพยนตร์เรื่อง Begin Again กล่าวขึ้นกับเจ้าของค่ายที่เธอกำลังจะเซ็นสัญญาด้วยในเรื่องของความไม่เป็นธรรมของส่วนแบ่งรายได้ระหว่างนายทุนและศิลปิน ด้วยเหตุนี้ ยอดขายเพลงจึงไม่ใช่รายได้หลักของศิลปินอีกต่อไป สอดคล้องกับรายงานของ The Economist ว่าศิลปินในยุคปัจจุบันได้รับส่วนแบ่งจากยอดขายอัลบั้มเพียง 10% เท่านั้น ขณะที่ในประเทศไทย ค่ายเพลงยักษ์ใหญ่อย่าง GMM Grammy กลับไม่ได้เปิดเผยส่วนแบ่งรายได้เป็นตัวเลขหรือสัดส่วนชัดเจน แม้การเข้ามาของ Youtube Thailand อาจจะช่วยแก้โรคทรัพย์จางของศิลปินได้ก็จริง แต่คนที่ได้เต็มๆคงไม่พ้นอาเฮีย อากู๋ แน่นอน

    “การเข้ามาของ YouTube Thailand ทำให้รายได้จากยอดวิวกลับไปสู่นักดนตรี ตอนนี้ไม่มีใครมีคำถามเลยทุกคนรัก YouTube มาก ใน 3 - 5 ปีเรารู้สึกว่า เราคิดถูกที่เราสนับสนุนให้คนฟังเพลงของเราจากช่องทางใดก็ได้ แต่ในแง่ธุรกิจก็ต้องค่อยๆทดลอง เรียนรู้ หาทางพิสูจน์”


    รอเธอ วันนั้น วันนี้ พรุ่งนี้ วันที่เท่าไร


    ปัญหาอีกอย่างหนึ่งของสตรีมมิ่งคือ กระบวนการซับซ้อนที่ทำให้กว่าจะได้เงินแต่ละครั้งค่อนข้างล่าช้า ศิลปินจะได้เงินจากยอดฟังเฉลี่ยทุก 8 - 10 เดือน ซึ่งไม่รวมระยะเวลาตัดยอดฟัง รวบรวมและแยกเป็นรายเพลง แล้วจึงค่อยเคาะเป็นเม็ดเงินออกมา หากศิลปินทุนน้อย ก็คงไม่สามารถประกอบเป็นอาชีพหลักได้

    ซึ่งพี่นก เจ้าของร้านน้องท่าพระจันทร์เองก็เห็นด้วยที่ว่า ศิลปินที่ทำเพลงอย่างเดียวเป็นอาชีพหลักนั้นน้อยลง อาจด้วยปัจจัยทางเศรษฐกิจ วงดนตรีคุณภาพหลายวงมักอยู่ในรูปแบบวงที่เล่นเป็นงานอดิเรกเสียมากกว่า

    “ทางเลือกการฟังเพลงเปลี่ยนไปเยอะ คนสามารถซื้อเพลงจากต่างประเทศได้ง่ายขึ้น คนไทยด้วยกันแข่งขันก็ 30-50 ราย แต่ตอนนี้แข่งกับทั่วโลก ถ้างานไม่ดี ไม่สามารถดึงดูดใจ วิธีการโปรโมทไม่ดี ใครจะฟังคุณ” พี่นกมองว่ายิ่ง สตรีมมิ่งทำให้การแข่งขันธุรกิจเพลงมีความกว้างขึ้น จากที่ศิลปินไทยต้องแข่งขันกันเอง กลายเป็นว่าต้องทำเพลงให้มีคุณภาพเพื่อดึงผู้ฟังชาวไทยที่มีโอกาสเปิดหูเปิดใจให้กับศิลปินทั่วโลกด้วย 

    สิ่งสำคัญที่ศิลปินยุคนี้ควรมีสำหรับพี่นกก็คือ การตั้งใจทำผลงานของตนให้ดีที่สุด ลดความคาดหวังเรื่องเม็ดเงิน และอดทนรอ เพราะมีศิลปินไทยหลายคนเหมือนกันที่ใช้เวลาบ่มเพาะผลงานกว่า 10 ปีกว่าจะเป็นที่ยอมรับ ศิลปินที่พี่นกยกตัวอย่างมาก็คือ ‘เล็ก Greasy Cafe’ ที่ใช้เวลาในการรังสรรค์ผลงาน ควบคู่ไปกับการประกอบอาชีพช่างภาพด้วย กว่าจะทำผลงานให้เป็นที่ประจักษ์อาจจะใช้นาน แต่เมื่อเพลงของเล็กประสบความสำเร็จแล้ว ‘ศาสดาของเด็กแนว’ ที่นักดนตรีรุ่นน้องขนานนามไว้ ก็ติดลมบนในวงการเพลงนอกกระแสของไทยเป็นต้นมา

    “สำหรับศิลปินอิสระ มันใช้เวลานานกว่าเดิม ไม่เหมือนกับเอาไปให้สถานีวิทยุเปิด การเอาไปปล่อยลงใน YouTube อาจจะมีคนล้านคนเห็นงานของคุณ แต่จะมีกี่คนที่คลิกเข้าไปฟังเพลงของคุณ แล้วบอกต่อ และไม่ใช่ว่าทุกคนที่เห็น จะชอบและซื้อผลงานคุณ คุณต้องอดทน และทำงานของคุณให้ดี” 

      
    กระเป๋า (ไม่) แบน...แฟนยิ้ม


    สำหรับศิลปินที่มีผลงานมานานกว่า 10 ปีอย่างพี่บอลแล้ว รายได้จากสตรีมมิ่งก็เหมือนเป็นเงินปันผลที่ได้มา อาจจะไม่ได้มากขนาดรายได้หลัก แต่ก็เป็นรายได้เสริมที่ดี “ถ้าถามว่าเป็นรายได้หลักได้ไหม มันไม่ได้เลย เพราะความไม่แน่นอนมันสูง ยอดฟังมันไม่คงที่ แต่ถ้าเป็นรายได้เสริมจากรายได้หลัก มันก็เหมือนเงินปันผลจากเงินฝากน่ะ”

    ส่วนรายได้จากการจำหน่ายซีดี หรือแผ่นเสียง ที่เรียกกันว่าเป็น Physical Product นั้น ปัจจุบันค่ายเพลงผลิตแผ่นเสียงออกมาเพื่อรับกับความนิยมการเล่นเพลงผ่านเครื่องเล่นแผ่นเสียง ซึ่งพี่นก เจ้าของร้านน้องท่าพระจันทร์ ให้เหตุผลที่แผ่นเสียงกลับมาฮิตอีกครั้งว่าเป็นเพราะคุณภาพเสียง “ถ้าฟังสตรีมมิ่ง ซีดี และแผ่นเสียงจนคุ้นเคยกับเพลงเดียวกัน ซีดีพยายามจะเลียนแบบให้เหมือนแผ่นเสียง แต่ความดิจิทัลทำให้อรรถรสไม่เต็ม ยิ่งถ้าสตรีมมิ่ง ระบบเสียงไม่ดี ฟังจากโน้ตบุ๊คธรรมดา คุณภาพมันต่างกันมากจนรายละเอียดบางอย่างที่ศิลปินตั้งใจจะทำ มันหายไป ก็เหมือนเราดูหนังในโรง กับโรงหนังที่บ้าน แค่นี้อรรถรสมันก็ต่างกันแล้ว”

    พี่นกเล่าว่า ค่ายเพลงหลายแห่งเริ่มปรับตัวเข้าหาร้านซีดีมากขึ้น เช่นการมีกิจกรรมส่งเสริมการขาย เช่นการแจกโปสเตอร์ ซึ่งอาจกลายเป็นกระแสได้ “ค่ายก็ต้องดูว่า มันคุ้มกับที่เขาเสียไหม เงิน 2,000 บาทที่เขานำมาลงทุนกับร้านเรา อาจทำให้เกิดคอนเสิร์ต 1 งานได้เลยก็ได้”

    ผลจากแบบสอบถามพฤติกรรมการฟังเพลงของกลุ่มคนอายุ 13 - 30 ปีพบว่า 67.1% ผู้อุดหนุนแผ่นซีดีและแผ่นเสียงอยู่ โดยให้เหตุผลว่าซื้อเป็นของสะสม 74.3% ซึ่งสอดคล้องกับกลยุทธ์ที่ค่ายฝั่งอโศกเลือกใช้ คือการพัฒนาตัวแพคเกจให้ดึงดูดใจ และวาง Positioning ซีดีในกลุ่มของสะสมไปเลย “คือจะคิดแค่ว่าเดี๋ยวนี้ทำไมเขาไม่ซื้อแผ่น ไปบังคับเขาซื้อแผ่น ผมไม่บังคับ แต่ผมทำแผ่นของผมให้มันน่าสะสม ทำให้น่ารักษา เริ่มมีแผ่นเสียงออกมาขาย มันก็เริ่มกลายเป็นที่ระลึก เรารู้ว่าศิลปินเราเป็นที่นิยมเรารู้ว่าแฟนเพลงของเราพร้อมจะสนับสนุน เราก็หาทางให้เขามีเหตุผลต้องจ่ายก็แค่นั้นเอง ฉะนั้นทำให้ถูกต้องในสิ่งที่เขาอยากได้ ผมว่ามันก็เป็นไปได้ เพียงแต่ว่าเราต้องเข้าใจว่าโลกมันเปลี่ยนแล้วเท่านั้นเอง” วิเชียร ฤกษ์ไพศาล รองกรรมการผู้อำนวยการสายการผลิต และโปรโมชั่นเพลง GMM Music ให้สัมภาษณ์ไว้กับ Sanook Men

    “คนเก็บซีดี ก็เหมือนพระเครื่อง มันไม่ได้เสพอรรถรส” 
    พี่นกกล่าวติดตลก เมื่อให้แสดงความเห็นถึงการเปล่ียนแปลงสถานะของแผ่นซีดี

    อย่างไรก็ตาม รายได้ที่เห็นผลชัดเจนกลับเป็น ‘งานแสดง’ ยิ่งเป็นวงที่คนรู้จักเนิ่นนาน แฟนเพลงเหนียวแน่นแล้วละก็ พี่บอลคอนเฟิร์มว่าดีกว่าสตรีมมิ่ง 100% “แต่ข้อเสียคือก็ไม่ใช่ทุกวงที่จะมีงานจ้าง แต่ถ้าเพลงดัง อยู่ในกระแสก็จะมีงานจ้างไปโดยปริยาย”

    พี่บอลเสริมว่า หากศิลปินหน้าใหม่ยุคนี้อยากมีรายได้จากงานแสดงเพิ่มขึ้น ควรเริ่มจากการสร้างยอดวิวใน YouTube หรือยอดฟังจากสตรีมมิ่งต่างๆ เพราะในยุคนี้เพลงดังมักจะมาจากโลกโซเชียล ถ้ายอดสตรีมมิ่งดี อย่างไรก็มีงานแน่นอน

    “การทำเพลงยุคนี้มันดีต่อทั้งตัวบุคคล และตัวดนตรี สุดท้ายเทคโนโลยีมันเป็นสิ่งที่เราหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะมันก็พัฒนาขึ้นเรื่อยๆ ค่ายเองก็ต้องปรับตัว” พี่บอลกล่าวปิดท้าย ก่อนจะวางสายเพื่อเข้าประชุมสำหรับผลงานเพลงชุดใหม่

    แม้รายได้อาจจะไม่เป็นกอบเป็นกำเท่าแต่ก่อน แต่ระบบสตรีมมิ่งก็ช่วยให้ศิลปินไทยหลายคนได้ลืมตาอ้าปาก หลังจากถูกสูบเลือดสูบเนื้อจากเว็บไซต์ดาวน์โหลดฟรีมากว่า 10 ปี เทคโนโลยีปัจจุบันเอื้อให้เราสนับสนุนผลงานของศิลปินได้อย่างถูกกฎหมายมากขึ้น อยู่ที่เราแล้วว่าจะช่วยเหลือ หรือปล่อยให้พวกเขาไหลลอยไปกับกระแสนี้
Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in