เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
Traveloguepiyarak_s
Chiang Mai Foreign Cemetery: สุสานชาวต่างชาติในเชียงใหม่
  • สุสานบ้านเด่น หรือสุสานชาวต่างชาติเป็นสถานที่ทางประวัติศาสตร์แห่งหนึ่งของเชียงใหม่ที่คนท้องถิ่นหลายคนรู้จัก ขับรถผ่าน เคยได้ยิน แต่ไม่รู้ว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร ตัวเองก็จัดอยู่ในประเภทขับรถผ่านบ่อย สนใจ แต่ยังไม่เคยแวะเข้าไปดู เพียงแต่รู้ว่าเป็นสุสานที่มีชาวต่างชาติที่มีชื่อในประวัติศาสตร์ไทยและท้องถิ่นอยู่ที่นี่ด้วย พอมีโอกาสเหมาะก็เลยชวนเพื่อนเข้าไปดู
     
    สุสานแห่งนี้ตั้งอยู่ริมถนนเชียงใหม่-ลำพูนสายเก่า (เส้นต้นยาง) ทางไปอำเภอสารภี ใกล้กับสโมสรยิมคานาเชียงใหม่ (Chieng Mai Gymkhana Club) ซึ่งเป็นสโมสรกีฬาและสถานที่พบปะสังสรรค์ที่ก่อตั้งขึ้นโดยชาวต่างชาติตั้งแต่ พ.ศ. 2441 (ค.ศ. 1898) สมาชิกเมื่อเริ่มก่อตั้งส่วนใหญ่เป็นชาวอังกฤษที่ทำงานอยู่ในภาคเหนือ 

    ในส่วนของสุุสาน เป็นที่ดินที่ได้รับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ใช้ที่ดินใกล้กับสโมสรจำนวน 24 ไร่เป็นที่ฝังศพชาวต่างชาติ โดยให้อยู่ในความดูแลของกงสุลอังกฤษ โดยพระราชทานที่ดินส่วนนี้ในฐานะ 'ของขวัญ' และไม่ให้นำไปใช้ในการแสวงหาผลประโยชน์ ซึ่งหมายความว่า ห้ามขายที่ดินบริเวณสุสานที่พระราชทานให้ตามคำขอของกงสุลเบ็คเก็ตต์ (W. R. D. Beckett) กงสุลอังกฤษในสมัยนั้นนั่นเอง ปัจจุบัน พื้นที่สุสานนี้ก็ยังคงอยู่ในความดูแลของกงสุลอังกฤษที่กรุงเทพฯ แต่มีการตั้งคณะกรรมการในพื้นที่เป็นผู้ดูแลทั้งตัวสถานที่และบริหารจัดการการใช้สถานที่อีกทีหนึ่ง



    ศพที่ฝังอยู่ในสุสานนี้มีทั้งมิชชันนารี พนักงานของบริษัททำไม้ ทหาร และอื่น ๆ โดยทางสุสานจะมีการบันทึกชื่อ อายุ อาชีพ และประวัติของผู้ที่ถูกฝังเอาไว้ที่นี่เอาไว้ด้วย และมีการจัดพิมพ์หนังสือ De Mortuis: The Story of the Chiang Mai Foreign Cemetery ของ R. W. Wood ว่าด้วยประวัติโดยสังเขปของสุสานและผู้ที่ถูกฝังไว้ที่สุสานนี้ด้วย โดยรายได้ส่วนหนึ่งนำมาใช้ในการบริหารจัดการสุสาน 


    การเข้าไปในสุสานไม่ได้ยากเย็นอะไร ไม่ได้เก็บค่าเข้า เปิดประตูเข้าไปได้เลย แต่ถ้าประตูล็อกอยู่และมีธุระจำเป็นต้องเข้าไปก็สามารถกดกริ่งเรียกผู้ดูแลให้มาเปิดให้ได้ การจอดรถจะจอดริมถนนก็ได้ หรือเข้าไปจอดในยิมคานาแล้วเดินไปที่สุสานก็ได้ เรากับเพื่อนเดินเข้าทางประตูสุสานที่อยู่ตรงข้ามกับการไฟฟ้า 






    ทางทิศเหนือสุดของสุสานจะเห็นพระรูปของสมเด็จพระราชินีนาถวิคตอเรีย (Queen Victoria) ของอังกฤษตั้งอยู่ แต่เดิมอนุสาวรีย์นี้เคยอยู่ที่กงสุลอังกฤษ (ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของโรงแรมอนันตรา ริมแม่น้ำปิง) เมื่อยุบกงสุลอังกฤษในเชียงใหม่ในช่วงปลายทศวรรษที่ 1970s แล้วก็ได้ย้ายมาไว้ที่สุสานชาวต่างชาติ





    พื้นที่ของสุสานนี้มีลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยม การฝังเริ่มแรกจะเริ่มฝังจากทางทิศเหนือก่อน จากข้อมูลที่ได้มาตอนหลัง คนที่ได้ฝังศพที่สุสานนี้คนแรก คือ Maj. Edward Lainson ชาวอังกฤษ เสียดายที่ไม่ได้หาข้อมูลมาตั้งแต่แรกก็เลยไม่ได้ถ่ายป้ายหลุมฝังศพของผู้พันเลนสันมา เพราะฉะนั้น ข้อแนะนำเกี่ยวกับการมาสุสานชาวต่างชาติในเชียงใหม่ก็คือ ลองหาข้อมูลดูก่อนว่ามีใครฝังที่นี่บ้าง แล้วลองเดินตามหาหลุมศพดู ก็จะได้ความรู้และได้อารมณ์ทำเควสต์อะไรสักอย่าง สนุกไปอีกแบบ 


    ถึงจะได้ชื่อว่าสุสาน แต่ไม่ใช่ว่าจะมีศพฝังไปทุกหลุม บางหลุมก็เป็นเถ้ากระดูก (เรตการใช้พื้นที่ฝังศพกับฝังเถ้ากระดูกก็ไม่เท่ากันด้วยนะ) หรืออาจไม่มีอะไรอยู่เลยก็ได้ แต่มีป้ายหลุมหรือสัญลักษณ์เพื่อแสดงความระลึกถึงเอาไว้ 


    ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเลยก็คือ อนุสาวรีย์ของร้อยเอก Hans Markward Jensen นายตำรวจชาวเดนมาร์ก ที่เมื่อเดินเข้ามาก็เจอเลย เป็นเสาโอเบลิสก์ที่ตั้งขึ้นเพื่อระลึกถึงวีรกรรมการปราบกบฏชาวไทใหญ่และเสียชีวิตระหว่างปฏิบัติหน้าที่เมื่อ ค.ศ. 1902 สถานที่ที่ผู้กองเจนเซนเสียชีวิตคือ บริเวณจังหวัดพะเยาในปัจจุบัน นำศพไปทำพิธีทางศาสนาและฝังไว้ที่ลำปาง และตั้งอนุสาวรีย์ที่ระลึกไว้ที่สุสานชาวต่างชาติเชียงใหม่ 



    สุสานชาวต่างชาติแห่งนี้ยังเป็นสถานที่ฝังบุคคลสำคัญทางประวัติศาสตร์ของเชียงใหม่อีกคู่หนึ่งด้วย คือ หมอแมคกิลวารี และโซฟี แมคกิลวารี ภรรยาและเป็นลูกสาวของหมอแบรดลีย์ ที่คนไทยรู้จักในชื่อ หมอบรัดเลย์หรือปลัดเลนั่นเอง 

    หมอแมคกิลวารีกับมิสซิสแมคกิลวารีเป็นมิชชันนารีที่มาเผยแพร่ศาสนาคริสต์ แต่ในขณะเดียวกันก็ได้รักษาคนป่วยด้วยยาสมัยใหม่ด้วย ทั้งสองคนเป็นชาวตะวันตกรุ่นแรก ๆ ที่มาตั้งรกรากในเชียงใหม่ จนกระทั่งมีการตั้งชุมชนชาวคริสต์ทางตะวันออกทางแม่น้ำปิง และเป็นผู้ริเริ่มจัดตั้งโรงพยาบาลเอกชนแห่งแรก คือ โรงพยาบาลแมคคอร์มิก และโรงเรียนสตรีที่เดิมใช้ชื่อว่า โรงเรียนพระราชชายา เพื่อให้เกียรติแก่พระราชชายาเจ้าดารารัศมี ซึ่งปัจจุบันนี้ก็คือโรงเรียนดารานั่นเอง





    ถึงจะไม่ใช่สถานที่สวยงามอลังการอะไร แต่ก็เป็นสถานที่ทางประวัติศาสตร์นอกตำราที่น่ามาสัมผัสอยู่ไม่ใช่น้อย หรืออย่างน้อยก็แวะมาดูถ้อยคำจารึกบน headstone หรือป้ายหลุมศพที่ของบางคนมีข้อความที่น่าสนใจดีเหมือนกัน 

    "ทหารเก่าไม่เคยตาย"





    ตอนแรกนึกไม่ออกว่า คุณแกทำอะไรไว้ถึงเป็น An Asian Legend แต่พอกลับมาค้นข้อมูลก็เก็ตทันที เพราะคุณคนนี้ก็คือคนเขียนประวัติของสุสานและคนที่ถูกฝังในสุสานนี้ คือ De Mortuis นั่นเอง รีวิวของหนังสือดีมาก ชอบที่ใครสักคนเขียนว่า หนังสือเล่มนี้เป็นเรื่องของชีวิตไม่ใช่เรื่องของความตาย

    หลุมศพนี้เป็นของวิลเลียม เบน อดีตผู้จัดการบริษัทบอร์เนียว บริษัทอังกฤษที่ได้รับสัมปทานค้าไม้ ส่วนรูปที่อยู่ด้านใต้ถัดลงมาคุณจรินทร์ เบน หรือที่คนท้องถิ่นเราจะรู้จักและเรียกกันว่า 'ลุงแจ็ค' หรือ 'ปู่แจ็ค' เป็นลูกชายผู้จัดการบริษัทบอร์เนียว และเป็นผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์วัดเกตุ
    อ่านเรื่องลุงแจ็คกับพิพิธภัณฑ์วัดเกตุเพิ่มเติมได้ ที่นี่


    สุสานนี้ใช้เวลาเดินดูไม่นาน สักประมาณครึ่งถึงหนึ่งชั่วโมงก็ครบถ้วนแล้ว และพิเศษสำหรับทาสแมว ที่สุสานมีแมวด้วยนะ น้องสามสีอ้อนมาก เชื่องมาก โชคดีอาจเจอแมวมากกว่าหนึ่งตัว ฮา

    แมวในสุสาน

    น้องยังไม่ตาย น้องหลับอยู่ 

    หมายเหตุ: ถึงจะไม่ได้มีข้อกำหนดอะไรเป็นพิเศษ แต่เข้าไปในสถานที่ด้วยความสงบและเคารพคนที่พักผ่อนอยู่ในสุสานกันด้วยนะคะ :) 

    ----------------------------------------- 

    References


    2. Extraordinary Residents in the Foreign Cemetary

    3. Some Corner of a Foreign Field: the story of the Chiang Mai Foreign Cemetery

    4. CHIANGMAI FOREIGN CEMETERY (Established 1898) INFORMATION SHEET& GUIDE TO CEMETERY RULES

Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in