เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
Eyevieweyeyeahz94
Shoplifter : เราขโมยความเป็น "ครอบครัว" ไปไม่ได้ จริงหรือ ?
  • หนังเรื่องนี้ทำให้เรานึกถึงสมัยเรียนอนุบาล เวลาที่คุณครูให้วาดภาพ "ครอบครัวของฉัน" อาจฟังดูง่ายดายสวยงาม เราแค่ต้องวาดภาพสมาชิกครอบครัวที่เรารักลงไป ทว่าความจริงแล้ว ครอบครัวที่โอบอุ้มเราอยู่นั้นเราวาดลงพวกเขาลงไปเพราะรักและอยากเก็บเขาไว้ในความทรงจำที่สวยงาม ผนึกมันลงในภาพวาดไร้เดียงสา หรือเพียงแต่มันเป็นหน้าที่ที่ต้องวาดรูปครอบครัวลงไปให้ครบทุกคนเพื่อให้มันเป็นครอบครัว

     หลังจากดูหนังเรื่องนี้จบเราไม่สามารถพูดได้ว่าจะตัดสินการกระทำของบุคคลในหนังในเชิงอาชญากรรมได้อย่างเต็มปาก เรารู้สึกว่านี่ไม่ใช่เรื่องของหมาป่าที่สวมหนังลูกแกะ หลอกหล่อให้ใครมาติดกับดักและล่มสลายไปด้วยกัน แต่เป็นเรื่องของคนแปลกหน้าที่รู้สึกว่าเป็นครอบครัวเดียวกันมิใช่ด้วยสายเลือดแต่ด้วยสายสัมพันธ์ของมนุษย์

    เมื่อสังคมกำหนดให้สถาบัน "ครอบครัว" ต้องประกอบด้วยพ่อ แม่ ลูก ที่มีเลือดเนื้อเชื้อไขเดียวกันทั้งในทางนิตินัยน์ มีกฎหมายกำหนดไว้เป็นลายลักษณ์อักษรชัดเจน และในทางพฤตินัยน์ สามารถพบเห็นโครงสร้างครอบครัวเช่นนี้ได้อย่างเป็นปรกติ ทว่าก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าสถาบันครอบครัวตามบรรทัดฐานที่สังคมกำหนดก็ยังคงมีปัญหา  ในช่วงนี้หรือช่วงที่ผ่าน ๆ มาจากการได้รับรู้ข่าวสารในโทรทัศน์ ตามหน้าหนังสือพิมพ์ไปจนถึงการแชร์ข่าวกันในโลกออนไลน์  เราก็พบว่ามีข่าวปัญหาอาชญากรรมและโศกนาฏกรรมมากมายที่เกิดจากครอบครัวแท้ ๆ ตามบรรทัดฐานที่ทางสังคมกำหนดทั้งสิ้น หรือที่เรารู้จักกันในชื่อความรุนแรงภายในครอบครัว ( Domestic Violence )

    "ภาวะเชื่อมั่นในศีลธรรมล้นเกิน" ที่สนับสนุนและก่อร่างสร้างความเชื่อมั่นที่ว่าการมีสมาชิกครอบครัวครบถ้วนสมบูรณ์ มีพ่อ แม่ ลูก โดยสายเลือด หรือโดยชอบด้วยกฎหมายนั้นจะเป็นหลักประกันที่ทำให้คนในครอบครัวไม่มีความบาดหมางซึ่งกันและกันนั้นจริงหรือ ?  ปัญหาของการนิยาม "ครอบครัว" ในทิศทางเดียวว่าต้องเป็นสถาบันตั้งต้นที่อบอุ่นและสมาชิกทุกคนในครอบครัวรักใคร่สามัคคีกันนั้น ขัดกับความเป็นจริงทางสังคมซึ่งครอบครัวมีความหลากหลายสูงมาก ครอบครัวเล็ก ครอบครัวใหญ่ สถานะทางเศรษฐกิจ ทางสังคม ทัศนคติการปลูกฝัง การเลี้ยงดูที่หลากหลายจากคนละรากเหง้า ทำให้ในบางครั้งก็ต้องยอมรับว่าเกิดกรณีที่ครอบครัวกลายเป็นสถาบันแห่งอำนาจ เป็นกรอบขีดจำกัดอิสรภาพ และไม่ใช่พื้นที่ปลอดภัยสำหรับสมาชิกบางคนในครอบครัวขึ้นจริง ๆ อย่างปฏิเสธไม่ได้

    Shoplifter จึงเป็นอีกหนึ่งผลงานสุดประทับใจจาก ฮิโรคาสุ โคเระเอดะ ( Nobody Knows , Like Father Like Son , After the Storm ) ผู้กำกับหนังครอบครัวแห่งยุคชาวญี่ปุ่นที่ถ่ายทอดเรื่องราวของครอบครัวในหลากหลายมุมมองออกมาได้อย่างลึกซึ้ง  ผ่านการเล่าเรื่องในประเด็นที่อ่อนไหวและชวนเราตั้งคำถามกับความสัมพันธ์ครอบครัวในแต่ละรูปแบบอย่างละเมียดละไม  งดงามและรวดร้าวไปด้วยกัน    

    นอกจากนี้ Shoplifter ยังชวนเราคิดอย่างมีชั้นเชิง  เราถูกท้าทายมากเกินกว่าการหาคำตอบว่าการเป็นครอบครัวโดยสายเลือดตามกฎหมาย หรือการเป็นครอบครัวที่ผูกพันกันแม้จะมิใช่สายเลือดเดียวกัน แบบไหนกันแน่ที่สามารถนิยามว่าเป็นครอบครัวที่อบอุ่นและถูกต้องตามทำนองคลองธรรมได้  มุมมองของการที่คนกลุ่มหนึ่งมารวมตัวกันเป็นครอบครัว  ไร้ชื่อเรียก  ไม่สำคัญว่าใครจะเป็นพ่อ ไม่ต้องกำหนดว่าใครจะเป็นแม่  นอกจากนั้นยังประกอบอาชีพที่นับว่าเป็นอาชญากรรมอย่างการลักขโมยของเนื่องจากเป็นครอบครัวชนชั้นล่างหรือบุคคลที่ถูกอัปเปหิออกจากสังคมที่พวกเขาเคยอยู่และยากจนนั้น  เหตุใดครอบครัวนี้จึงถูกตั้งคำถามถึงการเป็นครอบครัว  ทำไมไม่ถูกจำกัดอยู่ในนิยามของคำว่าครอบครัว หรือเพราะครอบครัวต้องเป็นสถาบันที่ดีงามทางสังคมเพียงอย่างเดียว ? หรือเพราะคนที่เป็นครอบครัวจะไม่สนับสนุนให้ใครคนใดก่ออาชญากรรม ?

    ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1564 ระบุว่า “บิดามารดาจำต้องอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาตามสมควรแก่บุตรในระหว่างที่เป็นผู้เยาว์

    แล้วครอบครัวที่ไม่สัมพันธ์กับภาพครอบครัวแบบที่สังคมกำหนดกะเกณฑ์มาให้  พวกเขาจึงถูกตั้งคำถามในภายหลังว่านี่คือสิ่งที่ถูกต้องแล้วหรือ? ภาพยนตร์สะท้อนภาพรูปแบบความสัมพันธ์ของครอบครัวในระดับปัจเจกเหตุการณ์บางส่วนในหนังเกิดขึ้นจริงในหลาย ๆ ครอบครัวที่มีพ่อที่ไม่สมเป็นหัวหน้าครอบครัว  แม่ที่ไม่ใช่แม่อุดมคติของสังคม ( ไม่ได้เป็นแม่ที่ให้กำเนิดลูกจริง ๆ ) ลูกที่ถูกพาตัวมาอยู่ด้วยกัน สมาชิกบางคนในครอบครัวที่แท้จริงแล้วเป็นคนที่ “ถูกกีดกัน" จากครอบครัวและสังคมเดิมที่เคยอยู่ ครอบครัวที่ผิดแผกจากกฎหมายและบรรทัดฐานทางสังคมเช่นนี้ควรจะถูกยุติลง?   

    ในระหว่างการดำเนินเรื่อง หนังทำให้เราได้เห็นทั้งด้านที่สวยงามลงตัวของความเข้าใจกันและกันที่งอกเงยขึ้นทีละนิด  พร้อมกันนั้นก็ค่อย ๆ เผยปมของแต่ละตัวละครก่อนที่จะมาเป็นครอบครัวแบบนี้  การต่อสู้ของสมาชิกเพื่อจะรักษาครอบครัวและคนที่รักไว้และต้องเผชิญหน้าต่อการถูกตั้งคำถามในสังคมทั้งในเชิงกฎหมายและศีลธรรม  การได้สัมผัสช่วงเวลาที่ครอบครัวมีความสุขและเข้าใจกันอยู่ร่วมกันในบ้านเล็ก ๆ ที่ไม่ได้มีอะไรสุขสบายนั้นก็เป็นความจริงที่เกิดขึ้น  ความรุนแรงบาดหมางภายในครอบครัว ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ การถูกทอดทิ้งทำให้คนเหล่านี้มารวมตัวกัน  กลายเป็นเสียงสะท้อนให้เราได้ย้อนมองครอบครัวของเราเอง มุมมองที่โคเระเอดะนำเสนออาจเป็นข้อโต้แย้งที่ส่งเสียงขึ้นมาราวกับเสียงในใจเราเอง  ท่ามกลางมายาคติในความเป็นสถาบันครอบครัวอย่างที่เราเข้าใจและเห็นกันมาตั้งแต่เด็ก  ในมุมเล็ก ๆ บนโลกที่กว้างใหญ่  ครอบครัวจริง ๆ ที่สร้างแต่บาดแผลให้กันเสมอ  กับคนแปลกหน้าที่เป็นอ้อมกอดอันอบอุ่นนั้น  ช่างเป็นสิ่งที่ท้าทายสำนึกคิดอย่างธรรมดาสามัญให้สั่นคลอนได้อย่างไม่ยากเย็น 

    หนังไม่ได้ชี้นำ ไม่กะเกณฑ์ให้เราต้องเข้าข้างใคร  แต่ค่อย ๆ สะกิดใจเราทีละนิด  โดยถ่ายทอดในทุกแง่มุมไม่ว่าจะดีร้ายของครอบครัว ซึ่งมันผสานเข้ากับภาพที่เกิดขึ้นจริง ๆ ในสังคมอย่างเป็นเนื้อเดียวกัน  จนเราปฏิเสธได้ยากว่าเมื่อความสัมพันธ์มีเรื่องความรู้สึกเข้ามาเกี่ยวข้อง  หากพูดอย่างตรงไปตรงมาหน่วยงานรัฐหรือตัวบทกฎหมายนั้นทึ่มทื่อเหลือเกินที่จะเอาโครงสร้างเชิงบริหารมาใช้กับความสัมพันธ์ในครอบครัวที่เป็นสถาบันที่มีอัตลักษณ์ที่ซับซ้อนและเป็นปัจเจกอย่างมาก

    ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตราที่ 1567 (4)  พ่อแม่มีสิทธิเรียกบุตรคืนจากบุคคลอื่น ๆ ซึ่งกักบุตรตนไว้โดยมิชอบด้วยกฎหมาย

    การที่เด็กตัวเล็ก ๆ ยังอยู่ในสถานะที่ไม่สามารถดูแลหรือตัดสินใจให้ตัวเองได้จำต้องมีครอบครัวที่ต้องดูแลและตัดสินใจให้ แต่การที่ครอบครัว ๆ หนึ่ง ไม่สามารถดูแลบุตรได้อย่างที่ควรจะเป็นแต่กลับมีสิทธิโดยชอบด้วยกฎหมายที่จะเรียกบุตรคืนจากกลุ่มคนที่ดูแลบุตรของตนได้ดีกว่าและบุตรเต็มใจที่จะอยู่กับพวกเขานั้นเป็นความขมขื่นบนเส้นขึงตึงทางกฎหมาย นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ครอบครัวสมัยใหม่ซึ่งมีความหลากหลายสูงมากขึ้น ทั้งครอบครัวแม่เลี้ยงเดี่ยว พ่อเลี้ยงเดี่ยวที่เพิ่มมากขึ้น ครอบครัวLGBTQ+ ครอบครัวแม่+แม่ พ่อ+พ่อ การรับอุปการะเด็กที่ไม่ใช่ลูก ครอบครัวที่ปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัยนั้นจึงไม่อาจกำหนดนิยามโดยหยุดไว้เพียงการใช้เรื่องของตัวบทกฎหมายที่กำหนดไว้มาเนิ่นนาน มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีความลื่นไหลและมีอารมณ์ความรู้สึกเกินกว่าที่จะถูกผูกมัดด้วยตัวหนังสือหรือบทบาทที่สังคมในช่วงเวลาหนึ่งสร้างกรอบขึ้นมาให้ปฏิบัติตามได้

    เมื่อ End Credit เพลงประกอบตอนจบของหนังดังขั้น มันก็มาพร้อมกับคำถามที่ใหญ่ที่สุดที่หนังเรื่องนี้ทิ้งไว้ในใจของเรา คำถามที่ว่าถ้าเราเลือกครอบครัวด้วยตัวเองได้เราจะทำหรือไม่ ? ถ้าในจุด ๆ นั้นเป็นทั้งโอกาส เป็นช่องว่างที่ได้ใช้เวลาอย่างมีความสุขกับคนที่รักเหมือนครอบครัวจริง ๆ และเป็นทั้งอาชญากรรมที่เกิดขึ้นบนเส้นแบ่งที่รางเลือนของความสัมพันธ์ของมนุษย์  ถ้าเป็นเราเราจะเลือกแบบไหน    

Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in