เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
วันหนึ่งฉันเดินเข้าป่าPaan Nalinchat
In the Middle of Somewhere 30%: วานรหลงทาง เพราะทุกป่าก็เหมือนกันหมด
  • กว่าจะหาเส้นทางที่ถูกเจอ เราล้วนหลงทางมาก่อน...

    เราอยากทำสื่อของเล่นเดินป่า ที่มีความเป็นสารคดีเสริมความรู้เข้าไปด้วย แต่ยังไม่รู้เลยว่าจะใส่อะไรไปในงานบ้าง เหมือนหลงทางในป่าใหญ่ที่รอบตัวมีต้นไม้เต็มไปหมด แต่ไม่รู้เลยว่าต้นไม้แต่ละต้นมีชื่ออะไรบ้างแล้วเราต้องเดินไปทางไหนต่อ 

    หลังจากปรึกษากับครูที่ปรึกษา ครูก็แนะนำให้ก็ลิสต์สิ่งที่ต้องการให้อยู่ในงาน และขนาดของงาน เราก็เลยเอาประสบการณ์การไปแคมป์ปิ้งมาออกแบบงาน จนได้ออกมาเป็น

    • ฉากกระดาษ 4 ฉาก ที่แต่ละฉากเปิดออกมาแล้วจะเห็นฉากหลังและมีพื้นเล็ก ๆ ติดกับฉากไว้สำหรับเล่น ประกอบด้วย ฉากลานกางเต็นท์, ฉากในป่า, ฉากลำธาร และฉากดาวตอนกลางคืน
    • เต็นท์และถุงนอน
    • ตุ๊กตาไหมพรมถักและชุด (เพราะเย็บผ้าไม่เป็น555)
    เราเริ่มหาข้อมูลจากหนังสือในห้องสมุด เว็บไซต์ และสื่อต่าง ๆ เกี่ยวกับสัตว์และป่า จนได้มาเจอเล่มนี้ คนเดินป่า โดย สุรจิต จามรมาน ก็ได้ข้อมูลเกี่ยวกับสัตว์และป่าในอุทยานแห่งชาติต่าง ๆ ทั่วประเทศไทย ฉันได้ยินชื่อนกแปลก ๆ หลายชนิดเลย เสียดายที่ในหนังสือไม่มีรูปและข้อมูลค่อนข้างเก่า ตั้งแต่สมัยที่กูปรียังไม่สูญพันธุ์เลย ตัวเล่มก็เก่ามากแล้วด้วย แต่ก็ได้แนวทางในการหาข้อมูลเพิ่มมากขึ้นเยอะเลย แถมเจอหนังสือ ห้วยขาแข้ง ก็ได้ข้อมูลของสัตว์มากขึ้นไปอีก เย่! 

    ต่อมาก็หาสารคดีดู ส่วนใหญ่สถานที่ที่เราได้ยินในสารคดีหรือข้อมูลที่หาได้มักจะมาจาก เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ซึ่งเป็นผืนป่าที่อุดมสมบูรณ์ มีป่าแทบทุกประเภททั้งป่าดิบ ป่าเบญจพรรณ แถมยังมีสัตว์หายากและสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ด้วย เป็นแหล่งข้อมูลชั้นเยี่ยมที่พอหาข้อมูลแล้วก็อยากจะไปเที่ยวสักครั้ง

    และข้อมูลส่วนสุดท้าย คือ ข้อมูลเกี่ยวกับกลุ่มดาว ซึ่งเราแทบไม่มีความรู้เลย ทั้งชีวิตเคยเห็นแค่กลุ่มดาวนายพราน ดาวไถ ดาวลูกไก่ และสามเหลี่ยมฤดูหนาว ต่อให้แม่สอนดูดาวยังไงก็มองกลุ่มดาวอื่นไม่ออกอยู่ดี จึงเป็นส่วนที่ยากมากว่าจะทำยังไงให้เด็กเข้าใจทั้งที่ตัวเองยังงงอยู่เลย โชคดีที่แม่มีหนังสือดูดาวกับแผนที่ดาว (ตั้งแต่เมื่อ 30 ปีก่อน แต่ข้อมูลก็ยังเหมือนเดิม) หลังจากที่นั่งหมุนอยู่นานก็เริ่มเข้าใจขึ้น ถ้าเด็ก ๆ มีแผนที่ดาวอยู่ในมือคงสังเกตดาวได้ง่ายขึ้นเยอะเลย

    หลังจากที่มีข้อมูลคร่าว ๆ แล้วก็ได้เวลาเริ่มร่างฉาก

    ฉากแรก คือ ฉากป่า เป็นฉากที่วาดแล้วแฮปปี้ในการทำที่สุด ร่างแบบต้นไม้ จับสัตว์ไปวางตรงนู้นที ไว้บนต้นไม้บ้าง บนพื้นบ้าง แต่พอลองเอาแบบไปปรึกษากับครูกิ๊บ (ครูที่ปรึกษา) ครูก็แนะนำว่าป่ามันดูกระจัดกระจาย ถ้าเราสามารถจัดประเภทป่ากับสัตว์ไว้ด้วยกันได้ก็น่าสนใจดี เราอยากให้เด็ก ๆ เห็นว่าป่าในประเทศไทยก็มีหลายประเภท และในแต่ละป่าก็มีสัตว์ที่อาศัยอยู่เฉพาะในป่านั้น ๆ ด้วย 
    ก็เลยออกมาเป็น
    คำถาม: ในภาพนี้มีัสัตว์กี่ชนิด?
    คำตอบ: 21 ชนิด
    เราเลือกใส่สัตว์ตามชนิดของป่า โดยในภาพนี้มีทั้งหมด 3 ป่า ในหน้าซ้าย คือ ป่าดงดิบ มีเสือโคร่ง เสือดำ ไก่ฟ้า นกสาลิกาเขียว นกแก๊ก นกกก หมีควาย กวางป่า เลียงผา และพญากระรอกดำ ส่วนสัตว์ที่อยู่ตรงกลางคือ ช้าง เม่น ชะนี และลิง เป็นสัตว์ที่สามารถอาศัยอยู่ได้หลายผ่า และหน้าขวาคือ ป่าเบญจพรรณ และป่าเต็งรัง มีงูเขียว กระทิง ควายป่า นกกะรางหัวหงอก นกแซงแซวหางบ่วงใหญ่ และนกหัวขวานเขียนตะโพกแดง ซึ่งเราใส่สัตว์มาหลายชนิดเพราะอยากให้เด็กได้ฝึกสังเกตและเข้าใจเกี่ยวกับป่ามากขึ้น

    ฉากน้ำตกและลำธาร เป็นฉากที่มีปัญหามากที่สุดเลย เพราะวาดเท่าไหร่ก็ไม่สวย เราพยายามจะวาดให้เห็นทั้งภาพบนบกและในน้ำ และอีกปัญหาคือ จะทำยังไงให้ฉากป่าและแม่น้ำแตกต่างกัน เพราะมีฉากและสัตว์เหมือนกันแต่เปลี่ยนแค่ป่าเป็นลำธาร โชคดีที่เราเจอสารคดีคลิปนี้


    ทำให้เราได้ไอเดียเกี่ยวกับฉากนี้ว่าจะทำเป็นเรื่อง วัฎจักรน้ำ ว่ากว่าจะเกิดเป็นแม่น้ำหนึ่งสายมีที่มาอย่างไรบ้าง และอยากนำเสอนเรื่องความสัมพันธ์ของสัตว์ ป่า และแม่น้ำ ว่าต้นไม้ที่ขึ้นริมน้ำ ถูกเหล่าสัตว์กินผล และบางผลร่วงลงน้ำ สัตว์ที่กินผลไม้จะปล่อยอุจจาระลงตามพื้นดินต่าง ๆ และเกิดเป็นต้นกล้า ส่วนผลไม้ที่ตกลงน้ำจะถูกน้ำพัดไปไกล จนไปติดอยู่ซักแห่งบนพื้นดินหรือโขดหิน แล้วก็เกิดเป็นต้นกล้าเล็ก ๆ ต่อไป ซึ่งเรารู้สึกว่าเป็นสิ่งที่น่าอัศจรรย์และอยากให้เด็ก ๆ ได้รู้เรื่องเหล่านี้บ้าง 

    แต่ปัญหาก็ยังอยู่ที่ภาพวาด
    วาดออกมายังไงก็ไม่ถูกใจ เหมือนกับภาพในหนังสือเรียนวิทยาศาสตร์เลย 

    ฉากลานกางเต็นท์ เป็นฉากที่ง่ายที่สุด จนกระทั่งอยากสอนเด็กเรื่องสภาพอากาศ อยากให้เด็กฝึกสังเกตเมฆชนิดต่าง ๆ ซึ่งเมฆเหบ่านี้เป็นเมฆที่แสดงว่าวันนี้เป็นวันที่ท้องฟ้าสดใส ออกไปเที่ยวได้
    แต่ก็เหมือนหนังสือเรียนวิทยาศาสตร์อีกแล้ว... 

    ส่วนฉากสุดท้าย ฉากดูดาวตอนกลางคืน เป็นฉากที่แฮปปี้กับการหาข้อมูลที่สุด ถึงความรู้จะมีเท่าหางอึ่งและจากประสบการณ์การดูดาวที่ผ่านมา ดูออกอยู่แค่ กลุ่มดาวนายพราน กับสามเหลี่ยมฤดูหนาว 
    แต่ด้วยความสนใจ หนังสือดูดาวของแม่ และแผนที่ดาวที่ดูเท่าไหร่ก็งง ก็ทำให้เราเลือกออกมาได้ว่าจะทำกลุ่มดาวฤดูหนาวกับฤดูร้อน แล้วก็ลิสต์ชื่อกลุ่มดาวมา แต่มีค่อนข้างเยอะ ครูที่ปรึกษาเลยแนะนำว่าให้เลือกมาสักอันดีกว่า ก็เลยจบลงที่ สามเหลี่ยมฤดูหนาว ที่เราคุ้นเคยเป็นอย่างดี ซึ่งประกอบด้วย กลุ่มดาวนายพราน กลุ่มดาวหมาใหญ่ และกลุ่มดาวหมาเล็ก แล้วเราก็ฌจอวิธีลากเส้นกลุ่มดาวด้วยก็เลยได้มาเพิ่มอีก 2 กลุ่มดาว คือ กลุ่มดาววัว และกระจุกดาวลูกไก่
    ซึ่งเรามารู้ทีหลังว่าตัวเองจุดตำแหน่งสามเหลี่ยมผิด 
    และนี่คือสามเหลี่ยมฤดูหนาวที่ถูกต้อง

    อ้างอิง: http://www.lesa.biz/astronomy/celestial-sphere/constellations/bright-stars/winter_triangle.jpg?attredirects=0
    พอออกแบบฉากเสร็จแล้วงานต่อมาก็คือ ออกแบบตุ๊กตา เราอยากให้เป็นกระต่ายสามสีกับลิง (มาจากความชอบล้วน ๆ) ส่วนชุดก็มีทั้งชุดเดินป่า ชุดฤดูร้อน ชุดฤดูหนาว และชุดนอน



    มาถึงตรงนี้ ใช้เวลาเดือนนิด ๆ ว่าจะหาข้อมูล ปรึกษาครูที่ปรึกษา คอยปรับ แก้ และออกแบบส่วนต่าง ๆ ของสื่อของเล่นชิ้นนี้จนเป็นรูปเป็นร่าง จนผ่านพรีเซนต์ความคืบหน้า 30 % ไปได้ด้วยดี ถึงตอนแรกจะหลงทางแต่ตอนนี้ก็เหมือนจะหาเส้นทางที่จะไปเจอแล้วละ
    .
    .
    .
    มั้ง

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in