เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
แว่นขยายเพลง k-popryeomook
วิเคราะห์ดนตรี เพลง KUN & SQUAR - TIME & THE VISION : REBIRTH
  • ..Time to wrap-up..


    หลังจากที่ได้เขียนวิเคราะห์เพลง Time to Awaken (https://minimore.com/b/K5qdG/5) โดย Kun & Squar และเพลง Turn Back Time (https://minimore.com/b/K5qdG/6) ของวง WayV ไปแล้ว แน่นอนว่าก็ต้องไม่พลาดที่จะกล่าวถึงเพลงนี้ ซึ่งเป็นเหมือนดั่ง Outro ต่อเนื่องมาจากสองบทเพลงก่อนหน้า ไปลองดูกันว่าจะมีข้อความอะไรที่ถูกซ่อนเอาไว้ในปัจฉิมบทนี้บ้าง



    (อย่าลืมเปิดเพลงฟังควบคู่ไปด้วยนะ)

    Composed by  KUN & SQUAR
    Arranged by KUN & SQUAR

    F# Major (Minor?) - 67 BPM


    • เสียง Sound Effect ต่าง ๆ ตั้งแต่ตอนเริ่มต้นนั้นล้วนแล้วแต่มาจากทีเซอร์เพลง Turn Back Time ของ WayV ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นเสียงโซ่กระทบกัน เสียงเอี๊ยดอ๊าด เสียงน้ำ เสียงลม หรือแม้แต่เสียงก้าวเดินช้า ๆ ก็เป็นการนำองค์ประกอบที่เป็นเหมือนกับตัวแทนของแต่ละเมมเบอร์ในวงมาสื่อสารผ่านบทเพลงนี้โดยตรง


    ตัวอย่าง เสียงเอฟเฟคจาก Teaser เพลง WayV - Turn Back Time



    • หลังจากนั้น เข้าสู่บทเพลง มีการใช้เสียงเปียโนบรรเลงตัวโน้ต C# ซ้ำ ๆ เป็นจังหวะเดียวกับเสียงของการก้าวเดิน โดยตัวโน้ต C# นี้ถูกเล่นให้ได้ยินอยู่ตลอดเป็นจังหวะคงที่ กลายเป็นโน้ตหลักที่ใช้สำหรับดำเนินเพลง เป็นเสมือนกับตัวแทนของการย่างก้าวจากจุดเริ่มต้นไปตลอดเส้นทาง ผ่านเรื่องราวต่าง ๆ ต่อไปจนจบเพลง

    • โน้ตตัว C# เพียงตัวเดียวที่ถูกบรรเลงมาตลอดนั้นสร้างให้เกิดความสงสัยต่อผู้ฟังมาก เป็น Intro อารัมภบทที่ดูไม่มีจุดหมาย ฟังแล้วไม่สามารถบอกได้ว่าเพลงกำลังจะดำเนินไปทางไหน จะเป็นเรื่องราวที่มีความสุข หรือเศร้ากันแน่ จนกระทั่งเข้าสู่นาทีที่ 0:12 กับการลงคอร์ดแรก F# Major นั่นทำให้ผู้ฟังรู้สึกได้ทันทีว่าเพลงมีความสว่าง สดใสขึ้นมา มีความชัดเจนในสตอรี่.. เข้าสู่คอร์ดที่ 2 ซึ่งคือคอร์ด A Major นั่นยิ่งย้ำความมั่นใจในเรื่องราวที่น่าจะดำเนินไปในทิศทางที่ดี แต่แล้วก็กลับหักเลี้ยวกลับอย่างไม่ทันได้ตั้งตัวในคอร์ดที่ 3 และ 4

    • คอร์ดที่ 3 แม้จะเป็นคอร์ด D7 ซึ่งเป็น Major แต่มีการผสมของโน้ตตัว C# ที่ยังคงถูกบรรเลงย้ำอยู่ตลอดเวลา (มีการเล่นสลับระหว่างแต่ละคอร์ด) และการนำโน้ตตัว F# ซึ่งเป็นหนึ่งในโน้ตหลักของคอร์ดออกไป จึงเหลือแค่โน้ต D, A, C# นั่นทำให้เกิดสีสันที่เริ่มแปลก มีความรู้สึก Minor ที่ถูกสอดแทรกออกมาจากการที่โน้ต D และ C# ซึ่งห่างกันเพียงครึ่งเสียงนั้นกัดกัน.. ส่วนคอร์ดที่ 4 นั้นแน่นอนว่าเป็นคอร์ด Minor เป็นการดำเนินเรื่องจากสว่างและค่อย ๆ มืดลงเรื่อย ๆ


    จุดที่ค่อนข้างน่าสนใจเลยในแง่ของทฤษฎีดนตรี คือคอร์ดที่ 2 ในนาทีที่ 0:16 ที่เชื่อว่าหลายท่านฟังแล้วอาจจะรู้สึกว่า เอ๊ะ มันมาตรงนี้ได้ยังไง ทำไมถึงรู้สึกว่ามันพิเศษ ฟังแล้วใจฟูมากกว่าปกติที่เคยเป็น นั่นเป็นเพราะว่าคอร์ดนี้แท้ที่จริงแล้วไม่ได้อยู่ในคีย์ F# Major ซึ่งเป็นคีย์หลักของเพลง หากแต่ถูกยืมมาจากคีย์ F# Minor นั่นจึงทำให้เหมือนกับว่าเพลงนี้นั้นถูกเปลี่ยนคีย์อย่างกะทันหัน

    แต่ในอีกกรณีนึง คอร์ดที่ 2, 3 และ 4 นั้นล้วนแล้วแต่มาจากคีย์ F# Minor ทั้งสิ้น จึงอาจเป็นไปได้ว่าคอร์ดที่ผิดเพี้ยนไปจากเพลงนั้นกลับกลายเป็นคอร์ดแรกซะงั้น ที่ถูกเปลี่ยนจาก Minor ไปเป็น Major แทน นั่นทำให้เพลงนี้เป็นการผสมผสานของสีสันที่หลากหลาย หรือ Modal Mixture ระหว่างความสดใสแฮปปี้ กับความดาร์ค เศร้าได้อย่างลงตัวและน่าประทับใจมาก




    • เข้าสู่ Verse ถัดมา สิ่งที่เพิ่มมาอย่างแรกเลยคือเสียงลงจังหวะในนาทีที่ 0:26 คล้ายกับเสียงของกลองใหญ่ และหลังจากนั้นก็มีเสียงของเชลโลลากเข้ามาในช่วงเสียงที่ต่ำ รับบทเป็น *Countermelody ควบคู่ไปกับแนวเปียโนที่ยังคงอยู่แต่เพิ่มลูกเล่นความหลากหลายมากขึ้น ไม่ใช่แค่กดคอร์ดทุก ๆ 2 จังหวะแล้ว

    *Countermelody - ทำนองรอง
    • นาทีที่ 0:31 เริ่มมีอีกหนึ่งเสียงที่สอดแทรกเข้ามาเบา ๆ นั่นคือเสียงดีดของกีตาร์ที่คล้ายกับถูก muted อุดเสียงไว้และมีบางโน้ตที่มีเสียงเป็นลักษณะ *Harmonic ซึ่งเสียงดีดนี้กลายเป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้ท่อนนี้เริ่มมีความกระฉับกระเฉงมากขึ้น โดยที่ผู้ฟังอาจไม่ทันได้สังเกตเลย.. เสียงดีดนี้ค่อย ๆ **Crescendo ขึ้นไปเรื่อย ๆ ก่อนที่ช่วงท้ายจะมีเสียงส่งจาก Synthesizer คล้ายกับกีตาร์ไฟฟ้า Distorted และเข้าสู่ Verse 3 ด้วยเสียงจาก Bass Drum อีกครั้งนึง ซึ่งแน่นอนว่าท่อนนี้ก็มีความแตกต่างจากช่วงที่ผ่านมาอย่างชัดเจน จะสังเกตได้เลยว่าเพลงนั้นค่อย ๆ build ไปอย่างช้า ๆ เหมือนกับการเล่าเรื่องราวประสบการณ์ที่ผู้แต่งได้พบเจอมาเป็นฉาก ๆ ไป

    *Harmonic - ฮาร์โมนิก Harmonic ของคลื่นเสียง คือความถี่ย่อยของความถี่มูลฐาน f อธิบายง่าย ๆ โดยยกตัวอย่างเช่น ถ้าความถี่ f = 25 Hz คือฮาร์โมนิกที่ 1 ดังนั้นความถี่ฮาร์โมนิกที่ 2 คือ 50 Hz(2f) ความถี่ฮาร์โมนิกที่ 3 คือ 75 Hz(3f) แหล่งกำเนิดเสียงที่เกิดขึ้นในธรรมชาติส่วนใหญ่แล้วจะมีความถี่ฮาร์โมนิกเป็นส่วนประกอบ ตัวอย่างเช่นเสียงพูดของมนุษย์ และเสียงเครื่องดนตรีต่าง ๆ การดีดสายกีตาร์สายเดียวก็ทำให้เกิดความถี่ฮาร์โมนิคขึ้นมากมาย (ขอบคุณข้อมูลจาก Accuvasys Audio)
    **Crescendo - เสียงดังขึ้น

    ตัวอย่าง เสียงและวิธีการเล่น Harmonic หลากหลายรูปแบบบนกีตาร์ เริ่มนาทีที่ 0:11


    • Verse 3 เปียโนกลับไปกดคอร์ดในลักษณะเดียวกับช่วง Verse แรกแล้วเพื่อให้แนวอื่น ๆ ได้โดดเด่นออกมาบ้าง แน่นอนว่าเชลโลเริ่มมีบทบาทมากขึ้น โดยเริ่มต้นจากโน้ต F#2 ไล่ผ่านขึ้นไปยัง F#3 ในนาทีที่ 0:45 และไปต่อจนถึง F#4 นาทีที่ 0:48 ถือว่าเป็นการเล่นช่วงเสียงที่กว้างมาก ทำให้เกิดการ build อารมณ์ขึ้นอย่างชัดเจน ก่อนที่จะไล่ขึ้นไปยังตัว G# ที่เป็น *Passing Tone เพื่อส่งต่อไปยังตัว A# ในคอร์ดแรกของ Verse ถัดไป

    *Passing Tone - โน้ตนอกคอร์ด ทำหน้าที่เป็นโน้ตที่เชื่อมระหว่างโน้ตอีก 2 ตัวที่มีความห่างเป็นคู่ 3 เช่น ใช้โน้ตตัว D เป็นตัวเชื่อมระหว่าง C และ E เป็นต้น
    • นอกจากนี้ยังมีเสียง Synthesizer ซึ่งถูกปรับให้มีลักษณะคล้ายกลุ่มเครื่องสายลากโน้ตในช่วงเสียงสูงเพื่อเพิ่มให้ Harmony หรือท่อนนี้มีความแน่นขึ้น และความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญที่สุดก็คงจะหนีไม่พ้นเสียง Percussion ซึ่งถูก mute ไว้ให้ฟังเหมือนกับว่าเป็นเสียงที่ได้ยินมาจากที่ไกล ๆ โดยที่เสียงนี้จะ Crescendo ขึ้นไปเรื่อย ๆ ตลอดลากไปยัง Verse 4 มีการปรับแต่งเสียงให้มีความคมชัดมากขึ้นรวมไปถึง Pitch ระดับความถี่ของเสียงที่สูงขึ้นด้วยเช่นกัน


    ในมุมมองการตีความของผู้เขียน การที่เสียงดนตรีต่าง ๆ เริ่มจากการถูก mute ไว้แล้วค่อย ๆ มีความชัดเจนขึ้นนั้นก็อาจเปรียบได้เหมือนการรำลึกถึงภาพความทรงจำ จากที่เคยเลือนลางแต่เมื่อถูกกระตุ้น (ในที่นี้อาจกล่าวได้ว่ามีการใช้เสียง Percussion เป็นตัวแทน) ภาพเหล่านั้นจึงค่อย ๆ ชัดเจนขึ้น นอกจากการ mute เสียงให้มีความนวล เบลอ ไม่คมชัดแล้วนั้น การเริ่มจากเสียงเบาแล้ว Crescendo รวมไปถึงการเริ่มต้นเสียงในช่วงเสียงที่ต่ำก่อนจะไล่ไปสูงขึ้นเองก็ล้วนแล้วแต่มีผลต่อการสร้างอารมณ์ให้ผู้ฟังรู้สึกถูกกระตุ้นและมองเห็นภาพ Direction ของเพลงได้อย่างชัดเจนมากขึ้นด้วยเช่นกัน


    • เข้าสู่ Verse สุดท้าย หลังจากที่ถูก build อารมณ์กันมาพอสมควรแล้ว แน่นอนว่าท่อนนี้ต้องเป็นท่อนที่มีความยิ่งใหญ่อลังการที่สุด เสียงร้องคอรัสประสานเสียงถือว่าเป็นองค์ประกอบที่ดีมาก ให้ความรู้สึกเหมือนกับคณะร้องประสานเสียงในโบสถ์อันศักดิ์สิทธิ์ ในขณะเดียวกันก็เป็นเหมือนการประกาศชัยชนะที่ออกมาจากปากของมนุษย์ผู้ซึ่งสามารถก้าวข้ามผ่านอุปสรรคตลอดการเดินทางมาได้ คล้ายกับบทเพลงของเบโธเฟนอย่างนั้นเลย จะสังเกตได้อีกด้วยว่าท่อนนี้มีการชูความเป็น Major ค่อนข้างเยอะมากกว่าท่อนอื่น ๆ

    ตัวอย่าง เพลง Beethoven - Symphony no.9 4th movement นาทีที่ 4:15
    บทเพลงซิมโฟนีที่มีชื่อเสียงของเบโธเฟน เป็นบทเพลงที่กล่าวถึงชัยชนะของมวลมนุษยชาติ โดยที่ตลอดทั้งเพลงเป็นการบรรเลงของวงออร์เคสตราจนกระทั่งถึงท่อนสุดท้าย ที่มีการเพิ่มนักร้องโซโลและคอรัสเข้ามาเพื่อประกาศศักดาและความยิ่งใหญ่ การเอาชนะครั้งสุดท้าย



    • อีกประเด็นที่น่าสนใจคือการที่เสียงคอรัสนี้อาจถูกยกมาจากตอนช่วง Intro ของเพลง Moonwalk ซึ่งเป็นไตเติ้ลจากอัลบั้มก่อนหน้าด้วยก็ได้ และนอกจากนี้ยังถือเป็นการผสมผสานของแนวร้องร่วมกับเปียโนและเครื่องสายคล้ายกับในเพลง Rebirth นี้พอดี


    ตัวอย่างเสียง เพลง WayV - Moonwalk นาทีที่ 0:08


    • ช่วงท้ายของ Verse 4 แนวเสียงประสานมีความ complex มากขึ้น มีแนวร้องหลายแนวร้องซ้อนทับไปพร้อม ๆ กันจนทำให้เกิดสีสันที่แปลกมาก Harmony ต่างก็ตีรวนกันจนแยกไม่ออกว่าสรุปแล้วกำลังเกิดอะไรขึ้นกันแน่ เสียง Synthesizer ที่ลากค้างมาก่อนหน้าเองก็ไม่แพ้กัน ทุกองค์ประกอบในเพลงต่างพากันแข่งกันแย่งพื้นที่ความโดดเด่น Crescendo ขึ้นไปพร้อมกันหมด ก่อนที่ทุกเสียงจะดรอปลงเพื่อเข้าสู่ Outro ส่งท้าย

    • เรียกได้ว่าค่อนข้าง unexpected ที่ Outro มีเสียงร้องตัวโน้ต A# ต่อเพื่อยืนยันความเป็น Major ของเพลงนี้ จบแบบแฮปปี้เอ็นดิ้งนะ!.. เสียงเอฟเฟคแก้วแตกคล้ายกับการที่ชีวิตของคนเราต้องผ่านอะไรมามากมาย จนมาถึงจุดขีดสุดที่ไม่สามารถทนรับกับอะไรได้อีกแล้ว แตกหัก บุบสลาย ถึงเวลาที่ต้องกลับไปพักผ่อน นอกจากนี้ยังมีเสียงเอฟเฟคอื่น ๆ ที่ค่อย ๆ เบาลงเหมือนกับว่าสิ่งที่เกิดขึ้น ความทรงจำต่าง ๆ มันค่อย ๆ ล่องลอยออกจากตัวเราไปไกลแสนไกลจนลิบตา

    • เสียงดนตรีวุ่นวายทั้งหลายต่างหายไปหมด เหลือไว้เพียงเสียงเปียโนกดโน้ตตัว C# ซ้ำ ๆ เหมือนกับตอนช่วง Intro เป็นการบ่งบอกว่านี่ในที่สุดการเดินทางนี้ก็สิ้นสุดลง ฉันที่เหน็ดเหนื่อยค่อย ๆ ก้าวเดินอย่างเชื่องช้าอีกครั้งเข้าสู่บ้านซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นเพื่อที่จะได้พักผ่อนเสียที



    - จบเพลง -




    โครงสร้างของเพลง TIME & THE VISION : REBIRTH

    INTRO                          0:05-0:12

    VERSE 1                       0:12-0:26

    VERSE 2                       0:26-0:40

    VERSE 3                       0:41-0:55

    VERSE 4                       0:55-1:09

    OUTRO                       1:09-1:20



    บทสรุป

    เป็นบทเพลงที่โดยรวมแล้วฟังสบาย ไม่ได้หนักหรือมีจังหวะที่กระแทกกระทั้นเหมือนกับสองเพลงที่ผ่านมา แต่ก็มีความไพเราะ นำเสนอความรู้สึกและอารมณ์ที่แตกต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง หากได้ดูคลิปควบคู่ไปด้วยก็สามารถเข้าใจได้ทันทีว่าผู้แต่งต้องการสื่อถึงภาพความทรงจำของสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาหนึ่ง เป็นบทสรุป บทส่งท้ายให้กับประสบการณ์ชีวิตที่เพิ่งจะผ่านพ้นไป

    ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ยังคงมีการใช้เครื่องดนตรีต่าง ๆ ใกล้เคียงกับเพลง Time to Awaken ซึ่งเป็นเสมือน Introduction รวมไปถึงเสียงเอฟเฟคอีกมากมายที่มาจากเนื้อเรื่องหลักอย่างเพลง Turn Back Time  แน่นอนว่าเพลง Turn Back Time มีสไตล์ที่แตกต่างจากเพลงนี้อย่างมาก แต่ผู้แต่งก็สามารถเลือกยกเอาองค์ประกอบที่เหมาะสมมาใส่ในเพลง Rebirth เพื่อสื่อถึงบทเพลงก่อนหน้าได้อย่างชัดเจน เป็นตัวแทนที่สามารถเข้าใจได้ทันที และไม่เป็นการรบกวนตัวเพลงเลยด้วย

    อีกสิ่งที่น่าประทับใจมากก็คงจะหนีไม่พ้นการเลือกใช้คอร์ดทั้ง 4 คอร์ด ซึ่งเป็นการผสมผสานของ Major และ Minor ที่สามารถหลอกหูคนฟัง สร้างอารมณ์ที่ตื่นเต้น น่าสนใจจากการเดินคอร์ดแบบที่ไม่คุ้นเคย ไม่ซ้ำแบบใคร และที่สำคัญคือการใช้โน้ตตัว C# ซึ่งสื่อถึงเสียงก้าวเดินเป็นตัวดำเนินหลักของเพลงตั้งแต่เริ่มต้นไปจนจบ เรียกได้ว่าเป็นเพลงที่มีการวางแผนมาแล้วอย่างดี เล่าเรื่องราวได้อย่างเห็นภาพ


    ขอชื่นชม คุน เมมเบอร์วง WayV จากใจ ในความขยัน ขวนขวายที่จะเรียนรู้ ไม่เคยหยุดอยู่กับที่ เป็นคนที่มีความคิดสร้างสรรค์ และสามารถสร้างผลงานที่น่าประทับใจออกมาได้อย่างต่อเนื่อง ผู้เขียนหวังเป็นอย่างยิ่งว่าในอนาคต คุน จะได้มีโอกาสเผยแพร่ผลงานออกมามากยิ่งขึ้น



Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in