เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
My First StoryPutt Proudparin
Chapter 3 : SLE 101 V. 1
  • ฉันคิดว่าหลายๆคนอาจจะไม่รู้จักว่าโรคร้ายที่ฉันจะเล่าต่อไปในหนังสือเล่มนี้มันคืออะไรกันแน่ในตอนนี้ฉันจึงต้องขออนุญาตให้รายละเอียดกันซักหน่อย แต่จะให้เล่าเอง คงจะไม่สามารถให้ความรู้ที่ถูกต้องทางวิชาการได้เดี๋ยวคนอ่านจะจำตรงที่ผิดๆ ไป ซึ่งอาจทำให้เกิดโทษมากกว่าประโยชน์ จึงต้องขอขอบพระคุณแพทย์หญิง อรณีย์ วิบูลย์อุทัยที่อนุญาติให้ฉันนำบทความของท่านมาลงเพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้ด้วยค่ะ

    โดยธรรมชาติเมื่อร่างกายของคนเราได้รับสิ่งแปลกปลอมเช่นเชื้อโรค หรือสารเคมีเข้าไปในร่างกาย ระบบภูมิคุ้มกัน (Immune system) ซึ่งเป็นระบบป้องกันภัยของร่างกายจะสร้างกลไกในการต่อต้าน ไม่ให้สิ่งแปลกปลอมนั้นทำอันตรายต่อร่างกายได้ แต่ไฉนเลยอยู่ๆกันไป ภูมิคุ้มกันเพื่อนตาย กลับกลายมาเป็นภูมิสังหารตนเองไปได้จนเกิดโรคประหลาดที่ชื่อว่า แพ้ภูมิตนเอง หรือภูมิทำลายตนเองขึ้นมา

                     โรคภูมิทำลายตนเองไม่ได้เป็นที่รู้จักหรือแพร่หลายนักในแรกเริ่มเนื่องจากคนไข้สามารถมาพบแพทย์ด้วยอาการหลากหลายระบบหรือแม้แต่เป็นอาการที่ไม่จำเพาะเจาะจงนัก จนกระทั่งมีนักร้องชื่อดังระดับตำนานซึ่งก็คือคุณพุ่มพวง ดวงจันทร์ ได้เสียชีวิตไปจากโรคในกลุ่มนี้ ที่เรียกว่า โรคลูปัส หรือ เอส แอล อี  (SLE) ทำให้คนเริ่มรู้จักกันในชื่อ"โรคพุ่มพวง" แต่ถึงแม้จะเริ่มเป็นที่คุ้นหูกับคนทั่วไปบ้างแต่โดยมากก็ยังไม่มีใครเข้าใจจริงๆนัก ว่าโรคนี้เป็นอย่างไร เกิดขึ้นได้อย่างไรหรือแม้แต่จะเฝ้าระวังตัวเองอย่างไรที่จะรู้ได้ว่าตนเองเข้าสู่ภาวะโรคดังกล่าวแล้ว

                     คำจำกัดความง่ายๆของโรคภูมิทำลายตนเอง ก็คือ เป็นโรคที่ร่างกายมีการโจมตีตนเองเนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันของเรา สูญเสียความสามารถในการแยกแยะระหว่างเซลล์ที่เป็นของตนเอง กับเซลล์ของผู้รุกราน ทำให้ภูมิคุ้มกันของเราเบนเข็มมาโจมตีร่างกายตนเองโดยสร้างสารโปรตีนที่เรียกว่า ออโตแอนติบอดี้ ( Autoantibody ) ซึ่งสารนี้ทำให้เกิดการอักเสบ และความเสียหายในอวัยวะซึ่งเป็นเป้าโจมตีและหากเป็นอวัยวะที่สำคัญในร่างกายก็อาจทำให้คนไข้สูญเสียชีวิตได้

                    อาการแรกเริ่มของโรคอาจไม่จำเพาะคนไข้อาจมีอาการเพียง เหนื่อย เพลีย อ่อนล้าง่าย มึนงง ไข้ต่ำๆปวดเมื่อยตามร่างกาย หรือปวดข้อจนกระทั่งมีอาการที่เร่ิมรุนแรงหรือมีอาการแสดงของอวัยวะที่ถูกภูมิคุ้มกันทำลายชัดเจนขึ้นตามมา

          โรคภูมิคุ้มกันทำลายตนเองจำแนกกว้างๆได้เป็น

    1.      โรคที่มีการทำลายจำเพาะอวัยวะ (Organ specific) เช่น

    • มีการทำลายที่ตับอ่อนในผู้ป่วยที่เป็นเบาหวานชนิดที่ 1 (Type 1 DM)
    • มีการทำลายเซลล์เยื่อบุลำไส้ ในผู้ป่วย Inflammatory Bowel Disease 
    • ภาวะที่มีการทำลายที่เม็ดสีในผิวหนัง ในผู้ป่วยโรคด่างขาว (Vitiligo)
    • มีการทำลายปลอกหุ้มเซลล์ประสาทในสมองและไขสันหลัง ในผู้ป่วย Multiple sclerosis
    • มีการอักเสบของต่อมไทรอยด์ ในผู้ป่วยโรค Hashimoto's thyroiditis

     

    2.      โรคที่มีการทำลายอวัยวะหลายระบบ (Systemic) เช่น

    ·        เอส แอล อี (SLE) เป็นโรคที่มีการทำลาย เยื่อบุ ผิวหนัง ข้อต่อ และอวัยวะภายในหลายระบบโดยเฉพาะ ไต หัวใจ สมอง เม็ดเลือดแดง ผู้ป่วยอาจมาด้วยอาการผื่นรูปผีเสื้อบริเวณใบหน้า ผื่นแพ้แสงแดด ผมร่วง แผลในปาก ปวดข้อ หรือข้ออักเสบมีไข้เรื้อรัง น้ำหนักลด ภาวะไตอักเสบทำให้มีอาการบวม, ปัสสาวะเป็นฟอง ภาวะซีดจากเม็ดเลือดแดงแตกหรือแม้แต่อาการทางสมอง เช่นมีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลง ปวดศีรษะ ชักเกร็ง

    ·        ข้ออักเสบรูมาตอยด์ (Rheumatoid Arthritis) เป็นโรคที่มีการอักเสบและทำลายของข้อต่อต่างๆตามร่างกาย ทำให้เกิดอาการปวด บวม ข้ออักเสบ ข้อติดแข็งหากเป็นเรื้อรังก็จะทำให้เกิดข้อผิดรูป หรือพิการตามมาได้

    ·        โรคหนังแข็ง (Scleroderma) เป็นโรคที่มีการอักเสบและทำลายของเนื้อเยื่อเกี่ยวพันเช่นผิวหนังชั้นหนังแท้ ผู้ป่วยจะมีอาการผิวหนังแข็งหนา ตึง ที่ใบหน้า แขน ขา มือปลายนิ้วมือขาดเลือด ทำให้มีอาการปวดโดยเฉพาะเมื่อเจออากาศเย็น  ผนังลำไส้ เช่นหลอดอาหาร มีการตีบแข็งทำให้กลืนลำบาก หากเกิดที่ปอด ทำให้เกิดพังผืดที่ปอดทำให้ผู้ป่วยหายใจลำบากและอาจเสียชีวิตจากภาวะหายใจล้มเหลวได้

         

                  การรักษาโรคภูมิคุ้มกันทำลายตนเองในปัจจุบันมุ่งเน้นไปที่การบรรเทาอาการเจ็บปวด และลดการอักเสบโดย ใช้ยากลุ่ม NSAIDs(Non-steroidal anti-inflammatory drugs) ในรายที่อาการไม่รุนแรงหากรุนแรงขึ้นก็อาจต้องให้ร่วมกับยากลุ่มสเตียรอยด์ หรือ แม้แต่ยากดภูมิต้านทาน ซึ่งผลข้างเคียงของยาดังกล่าวมีมากมาย เช่น สเตียรอยด์ ทำให้ตัวบวมหน้าบวม เสี่ยงเบาหวาน กระดูกพรุนติดเชื้อง่าย, ยากดภูมิคุ้มกันบางชนิด เป็นพิษต่อตับ ทำให้เม็ดเลือดขาวลดลงเพิ่มความเสี่ยงต่อมะเร็งไปแทน แต่ถามว่ายาผลข้างเคียงอันตรายทำไมแพทย์จำเป็นต้องให้ ถ้าโรคลุกลามรุนแรงแพทย์ก็ต้องให้เพื่อลดการอักเสบที่อันตรายให้ลดลงมาก่อน เพื่อช่วยชีวิตและป้องกันความทุพพลภาพที่อาจเกิดตามมาของผู้ป่วย แต่ในระยะยาวเนื่องจากโรคเหล่านี้มักเป็นโรคที่รักษาไม่หาย ต้องควบคุมอาการ หรือแม้แต่บางคนต้องทานยาไปตลอด ดังนั้น คนไข้มีโอกาสจะเกิดโรคที่เกิดจากผลข้างเคียงของยาตามมาในที่สุด

                  การรักษาโรคภูมิทำลายตนเองที่ยังไม่ไปถึงต้นตอของโรคก็เปรียบเสมือนพยายามไล่ดับไฟที่ลามออกไปตรงนู้นตรงนี้โดยมิได้มาจัดการที่ต้นเพลิง ยิ่งนานวันก็ยิ่งอ่อนแรง เพราะไล่ดับไปก็เหมือนจะไม่มีวันหมดเสียที คนที่ประสบกับโรคกลุ่มนี้เชื่อว่าจะเข้าใจความรู้สึกของการต่อสู้ในสงครามที่เหมือนจะไม่มีวันชนะได้เป็นอย่างดีหลายๆคนจีงเริ่มมองหาทางเลือกอื่นที่จะช่วยขจัดรากเหง้าของปัญหาไปได้

                  ร่างกายมนุษย์มีความมหัศจรรย์ในตัวเองจริงๆแล้วร่างกายคนเราทำงานโดยตอบสนองต่อเหตุที่เกิดอย่างตรงไปตรงมาการที่ร่างกายมีผลตอบสนอง(effect) เป็นภูมิคุ้มกันเกิดจากร่างกายพยายามจำกัดสิ่งที่ดูจะแปลกปลอม(cause)ให้ออกไปให้ได้จากที่เราเห็น การเพิ่มขึ้นของอุบัติการณ์ของโรคปฏิเสธไม่ได้ว่าจะไม่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม และวิถีชีวิตการกินอยู่ของคนในยุคปัจจุบันการเพิ่มขึ้นของสารเคมีใหม่กว่า 80,000 ชนิด ตั้งแต่ปี 1900  คนในยุคปัจจุบันกำลังสะสมสารเคมีต่างๆอยู่ในร่างกายโดยไม่รู้ตัวมีงานวิจัยที่ตรวจสอบเลือดจากสายสะดือของทารกแรกเกิด พบสารเคมีจากอุตสาหกรรมกว่า 287ชนิดเช่น ยาฆ่าแมลง,สารไดอ็อกซิน,เทฟลอน,โลหะหนัก(ปรอท,ตะกั่ว) ในเลือดสายสะดือของทารกที่ยังไม่ได้ออกมาเผชิญโลกภายนอกเสียด้วยซ้ำอีกทั้งการใช้ยาบางอย่างที่ส่งผลต่อสุขภาพของลำไส้ทำให้ โปรตีน หรือสารพิษที่ปกติแล้วไม่ควรเข้าไปในระบบเลือดและน้ำเหลืองของร่างกายได้สามารถเข้าไปกระตุ้นจนทำให้เกิดภูมิผิดปกติขึ้นมา

                    เมื่ออ่านถึงตรงนี้ทราบแล้วใช่ไหมคะ ว่าสิ่งแวดล้อมมีผลอย่างมากต่อตัวโรคเอง และก็คงจะทราบแล้วด้วยว่าการที่ฉันต้องป่วยด้วยโรคแบบนี้ มันมีสาเหตุมาจาก lifestyleที่ผิดมาอย่างยาวนานของตัวฉันเองทั้งความเครียด อาหารการกินที่ผิดไป ที่ทานบ่อยๆ คืออาหารแช่แข็ง แล้วยังอากาศที่เปลี่ยนแปลงบ่อยพักผ่อนน้อย ปาร์ตี้มาก ตอนนี้ฉันได้แต่คิดว่าหากฉันใช้ชีวิตชิลๆ แบบคนอื่นบ้าง ยึดหลักความพอดีไม่ตึง ไม่หย่อนเกินไป ฉันจะเป็นแบบนี้มั้ย ฉันจะมีสุขภาพแข็งแรงแบบคนอื่นได้มั้ยฉันก็ได้แต่คิดไป เพราะถึงตอนนี้ก็เปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้อีกแล้วแต่ฉันก็ไม่ได้เสียใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นมานั่งโทษตัวเอง หรืออะไรฉันคิดอยู่เสมอว่า จริงๆ เรื่องมันอาจจะถูกกำหนดให้เป็นแบบนี้แล้วตั้งแต่ต้นเพียงแต่รอเวลาที่เหมาะสม ที่ฉันควรจะได้รับอีกหนึ่งบทเรียนที่ยิ่งใหญ่ในชีวิตก็เท่านั้นเองจากเมื่อก่อนที่ฉันไม่เคยคิดว่าตัวเองเป็นคนพิเศษใดๆ ทำงาน และ ใช้ชีวิตแบบคนปกติฉันต้องเข้าใจและยอมรับตัวเองเสียใหม่ ว่าเราเป็น “คนพิเศษ” 

                  จากบทความของแพทย์หญิง อรณีย์จะเห็นได้ว่าปัจจัยที่มีผลต่อตัวโรคนั้นก็ไม่ใช่อะไรที่ไกลตัวเลย มันเกิดจากตัวฉันเองทั้งนั้นทั้งความเครียด การพักผ่อน อาหารการกิน และปัจจัยอื่นๆที่แม้แต่ฉันยังไม่รู้ตัวด้วยซ้ำมันก็สามารถกระตุ้นโรคได้ ฉันได้เจอผู้ป่วยโรค SLEหลากหลายคนเพราะพวกเราก็มีชมรมออนไลน์ เพื่อไว้พูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ให้กำลังใจให้คำแนะนำกัน ฉันพบว่าอาการของพวกเรานั้น เรียกได้ว่า ร้อยคนก็ร้อยอย่าง จริงๆแทบจะไม่ซ้ำกันเลย อาการของพวกเราสามารถเป็นได้ตั้งแต่ คันตามตัวเล็กๆน้อยทายาแก้คันก็หาย ไปจนกระทั่งถึงขั้นเป็นลมชัก หมดสติไป รู้ตัวอีกทีก็ที่โรงพยาบาลอะไรแบบนี้ หรือที่ร้ายแรงกว่านั้น ก็มีเพื่อนๆ บางคนต้องจากเราไปในระยะเวลาอันสั้นเพราะอาการติดเชื้ออย่างรุนแรงเป็นต้นจากประสบการณ์ในการเป็นโรคนี้อันน้อยนิดของฉัน เมื่อเทียบกับชีวิตที่ต้องไปต่ออีกยาวไกลจึงถือได้ว่าฉันยังมีความรู้เกี่ยวกับโรคนี้น้อยมากถ้าให้เปรียบเทียบคงจะเรียกว่าอยู่วัยเตรียมอนุบาลคงจะได้ แต่ถึงจะน้อยยังไง มันก็มากพอที่จะบอกฉันว่าต่อไปนี้ฉันจะต้องเปลี่ยนแปลงการใช้ชีวิตเสียใหม่ คือ ห้ามทำงานหนัก ห้ามเครียดห้ามพักผ่อนน้อย ห้ามโดนแดด และอีกสารพัดข้อห้าม ควรกินแต่ของดีๆ มีประโยชน์ตอนที่ฉันอธิบายโดยละเอียดให้เพื่อนๆ และญาติๆ ฟังว่าต่อไปนี้ฉันควรทำตัวอย่างไรมีหลายคนถึงกับร้อง ว้าววว นี่มันโรคอะไรกันนี่ ทำไม ถึงโดนบังคับให้ใช้ชีวิตสะดวกสบายเช่นนี้ แต่สำหรับฉันเองนั้น หากเลือกได้ฉันก็เลือกที่จะไม่เป็นดีกว่า 

Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in