เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
นักเรียนนอกครั้งแรกMarut Soontrong
ทุนรัฐบาล x UIS : ด้วยเหตุนี้จึงเป็นนักเรียนนอก
  • หลังจากที่ผู้เขียนเองประสบปัญหากับโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ COVID-19 โดยต้องทำงานที่บ้านไปพร้อม ๆ กับงานประสานนโยบายต่าง ๆ ที่เป็นงานประจำ ทำให้ห่างหายไปนานจากบล็อกนี้ และขณะนี้ก็เป็นเวลาที่จะเข้าสู่ปีงบประมาณใหม่ และแน่นอนว่าก็จะมีการเริ่มประกาศรับสมัครทุนรัฐบาลไทย หรือที่เรียกกันว่าทุน ก.พ. ในช่วงประมาณตั้งแต่เดือนตุลาคมเป็นต้นไป และตามเครือข่ายสังคมได้มีการแชร์เกี่ยวกับทุน UIS ทำให้นึกย้อนกลับไปในสมัยที่เราได้รับทุนรัฐบาลใหม่ ๆ ซึ่งผู้เขียนได้รับทุนนี้เป็นรุ่นที่ 2 โดยมีพี่รหัสของตัวเองเป็นรุ่นที่ 1 และประสบความสำเร็จก้าวหน้าในทางราชการอย่างรวดเร็วด้วยวัยเพียง 32 ปี ผมจึงคิดว่าเพื่อเป็นการอุทิศแก่โอกาสที่เคยได้รับ บทความนี้จึงจะรีวิวรูปแบบของทุน UIS ซึ่งเป็นทุนรูปแบบหนึ่งของทุนรัฐบาลเช่นกันว่ามีลักษณะอย่างไร และมีแง่มุมใดน่าสนใจบ้าง

    ทุน UIS คืออะไร?


    ทุน UIS มีชื่อเต็ม ๆ ว่า “ทุนดึงดูดผู้มีศักยภาพสูงที่กำลังศึกษาในสถาบันการศึกษาภายในประเทศ” ใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า Undergraduate Intelligence Scholarship เป็นทุนที่มีวัตถุประสงค์ในการเปิดโอกาสให้นิสิตนักศึกษาที่กำลังศึกษาระดับปริญญาตรีภายในประเทศที่มีความสนใจที่จะรับราชการ ทำงานให้กับประเทศชาติได้รับโอกาสในการศึกษาต่อในต่างประเทศ โดยรูปแบบการจัดการทุนจะให้น้อง ๆ เข้ารับราชการก่อนเพื่อเรียนรู้งาน แล้วจึงไปศึกษาต่อในสาขาที่เกี่ยวข้องและสามารถนำกลับมาพัฒนาหน่วยงาน หรือประเทศในด้านต่าง ๆ

    สำหรับมุมมองของผู้เขียนที่ผ่านกระบวนการมานั้น ทุน UIS คือทุนที่ใช้รูปแบบการตกเขียวข้าว (Green Harvesting) คือ สำนักงาน ก.พ. กับหน่วยงานเจ้าของทุนก็จะดำเนินการรับสมัครและคัดเลือกน้อง ๆ ที่มีความสามารถเป็นที่ประจักษ์ (สอบข้อเขียน + ทดสอบกลุ่ม + สัมภาษณ์) เข้ามาสัมผัสกับระบบราชการก่อน เนื่องจากที่ผ่านมาทุนรัฐบาลประสบปัญหาการหนีทุนอยู่บ่อยครั้ง วิธีการนี้จึงเป็นการพบกันตรงกลางระหว่างระบบราชการและน้อง ๆ ไฟแรง ให้มาศึกษาดูใจคบหากันก่อน ถ้าคบกันไปแล้วไม่ใช่ก็สามารถลาออกโดยไม่รับทุนศึกษาต่อต่างประเทศ ซึ่งผู้เขียนจะได้กล่าวต่อไป ในอีกด้านหนึ่งระบบราชการในสายตาของคนรุ่นใหม่ยังคงเป็นแบบโบราณ มีความเก่าแก่ ไม่ยอมรับคนรุ่นใหม่ ในความเห็นของผู้เขียนก็ยอมรับว่ายังมีอยู่ไม่หายไปไหน แต่ในขณะเดียวกันนักเรียนทุนรัฐบาลยังคงเป็นกำลังหลักสำคัญของระบบราชการเสมอ และผู้บริหารส่วนใหญ่มีความคาดหวังและเปิดโอกาสให้นักเรียนทุนรัฐบาลให้เข้ามามีส่วนร่วมในงานสำคัญ ขอให้วันที่น้อง ๆ ได้รับทุนเข้าไปทำงานแล้วมีความตั้งใจ ฉลาดเฉลียว และแสดงความสามารถพร้อม ๆ กับความอ่อนน้อมถ่อมตน การยอมรับจะค่อย ๆ เกิดขึ้นเอง

    ใครสมัครได้บ้าง และมีขั้นตอนการคัดเลือกอย่างไร

    คนที่จะสมัครทุน UIS ได้จะต้องเป็นนิสิตนักศึกษาที่กำลังศึกษา “ในชั้นปีที่สาม” สำหรับหลักสูตร 4 ปี หรือ “ในชั้นปีที่สี่-ห้า” สำหรับหลักสูตร 5 ปี/6 ปี เพื่อที่จะได้รับทุนการศึกษาในชั้นปีสุดท้าย โดยจะต้องมีเกรดเฉลี่ยสะสมของแต่ละสาขา โดยในสาขาวิชาสายสังคมศาสตร์ GPA ไม่ต่ำกว่า 3.00 และสาขาสายวิทยาศาสตร์/วิทยาศาสตร์สุขภาพ/ GPA ไม่ต่ำกว่า 2.75 ในแต่ละตำแหน่งทุนจะมีความต้องการในส่วนของคุณวุฒิที่แตกต่างกันออกไปตามแต่ละตำแหน่ง แม้ว่าจะเป็นตำแหน่งเดียวกัน แต่อาจจะต้องการคุณวุฒิต่างกันก็ได้ ขึ้นอยู่กับแต่ละส่วนราชการที่ส่งความต้องการมายังสำนักงาน ก.พ. และในแต่ละปีตำแหน่งและหน่วยงานที่เปิดรับก็จะไม่เหมือนกัน
    ภาพจาก สำนักงาน ก.พ.

    สำหรับการคัดเลือกจะมีกระบวนการหลัก ๆ 3 รูปแบบ

    1. การสอบข้อเขียน ประกอบด้วย 2 วิชา คือ ความรู้ความสามารถทั่วไป จำนวน 100 ข้อ และ ภาษาอังกฤษ จำนวน 100 ข้อ โดยเป็นข้อสอบคนละชุดกัน สำหรับการสอบความรู้ความสามารถทั่วไปในลักษณะใกล้เคียงกับของสอบ ภาค ก. (ปริญญาตรี) ของ ก.พ. แต่มีความยากกว่าเล็กน้อยเพื่อให้เหมาะกับการสอบรับทุนรัฐบาล และข้อสอบภาษาอังกฤษที่มีความปังปุริเย่ระดับ CU-TEP + TOEFL แต่ก็ไม่ได้ยากเกินไปนัก โดยทั้งสองวิชาจะต้องเฉลี่ยแล้วไม่ต่ำกว่าร้อยละ 70 จึงจะผ่านเข้ารอบต่อไป
    2. การประเมินผลแบบ Assessment Center ซึ่งผู้ที่ผ่านการคัดเลือกก็จะมาผ่านด่านการประเมินรูปแบบต่าง ๆ ทั้งการสัมภาษณ์เดี่ยว การสนทนากลุ่ม และผ่านฐานกิจกรรม ซึ่งในแต่ละปีก็ไม่เหมือนกัน การประเมินแบบนี้จะเป็นการประเมินคุณลักษณะแบบ 360 องศา ในสมัยของผู้เขียนนั้นมีผู้ผ่านเข้ารอบมา 2 คน ก็นั่งคุยกันเองแบบมีกรรมการนั่งดู และมีการสัมภาษณ์เดี่ยวโดยมีกรรมการ 5 ท่าน ซึ่งจะมีหัวหน้าในอนาคตของเรานั่งอยู่ด้วย สำหรับผู้เขียนเองก็ดีใจที่หัวหน้าท่านนั้นเลือกเรา และวันนี้ตัวท่านก็ก้าวหน้าก้าวไกลในสายงานบริหารในต่างจังหวัด เจอกันที่ไรก็เข้ามากอดทักทายเสมอ
    3. การฝึกงาน (Placement Test) อันนี้ถือเป็นขั้นตอนใหม่ของการคัดเลือก คือ ทางสำนักงาน ก.พ. จะขออนุญาตมหาวิทยาลัยให้น้อง ๆ มาเข้ารับการฝึกงานในหน่วยงานเป้าหมายของน้อง เพื่อให้น้องมาทำความรู้จัก มาดู และมาศึกษาว่าน้องจะได้อะไรจากการมาที่นี่ ในขณะเดียวกันก็เปิดโอกาสให้หน่วยงานดูว่าน้องแต่ละคนมีความเหมาะสมหรือไม่อย่างไร การฝึกงานจะดำเนินการก่อนที่จะเข้าไปสัมภาษณ์เดี่ยวที่เป็น Assessment Center เพราะน้องจะมาอยู่กับหน่วยงาน 1 เดือน ตัวผู้เขียนเองเคยได้รับมอบหมายให้ดูแลน้อง ๆ ที่มาคัดเลือก 2 รุ่น ก็จะออกแบบกิจกรรมให้ทำและเรียนรู้ร่วมกับพี่ ๆ ในหน่วยงาน 

    เมื่อวันที่เป็นนักเรียนทุน UIS

    พอถึงวันประกาศผลว่าได้รับการคัดเลือก เส้นทางของนักเรียนทุน UIS จะแตกต่างจากนักเรียนทุนรัฐบาลประเภทอื่น ๆ อย่างมีนัยสำคัญ คือ เมื่อได้รับทุนก็จะต้องตั้งใจเรียนรักษาเกรดในชั้นปีสุดท้าย และเตรียมการบรรจุเข้ารับราชการ ซึ่งจุดนี้คือจุดเด่นที่ทำให้นักเรียนทุน UIS เริ่มต้นรับราชการตั้งแต่อายุยังน้อย (ผู้เขียนเริ่มรับราชการ อายุ 22 ปี) และเริ่มทำงานภายใต้การอบรมพัฒนาสมรรถนะ (Competence) ของหน่วยงานและสำนักงาน ก.พ. โดยแบ่งระยะการพัฒนานักเรียนทุนออกเป็น 2 ระยะ
    • ระยะแรก เริ่มต้นตั้งแต่วันที่บรรจุรับราชการและก่อนเดินทางไปศึกษาต่อ โดยเมื่อน้อง ๆ บรรจุรับราชการแล้ว นอกเหนือจากการอบรมพื้นฐานของแต่ละหน่วยงานที่จะให้น้องผ่านการทดลองปฏิบัติราชการ สำนักงาน ก.พ. จะมีการจัดการอบรมสำหรับน้อง ๆ UIS เป็นการเฉพาะ เช่น การพัฒนาสมรรถนะของข้าราชการ และ Workshop ต่าง ๆ ที่จำเป็น
      ในสมัยของผู้เขียนนั้นสำนักงาน ก.พ. ได้ให้ทางคณะพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) โดย รศ.ดร.จุฑามาศ แก้วพิจิตร เป็นหัวหน้าทีมดูแลพวกเรา และก่อนที่จะไปศึกษาต่อก็จะมีการจัด Workshop พิเศษ โดย ผศ.ดร.สมบูรณ์ กุลวิเศษชนะ แห่ง TU Business School ผู้ครองดีกรี PhD จาก Cambridge มาให้คำแนะนำเกี่ยวกับการศึกษาต่อโดยเฉพาะ นอกจากนี้ เพราะว่า UIS คือนักเรียนทุนรัฐบาล เป็นส่วนหนึ่งของกำลังคนคุณภาพ ก็จะได้รับโอกาสในการร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ของกำลังคนคุณภาพอื่น ๆ ก็จะเป็นการพบเจอพี่ ๆ ต่างรุ่นต่างที่มา เกิดเป็นคนรู้จักที่ใหญ่ขึ้น
    • ระยะที่สอง เมื่อถึงระยะเวลาอันสมควร (ทำงานไปแล้วประมาณ 1 ปี) นักเรียนทุน UIS ก็จะต้องเตรียมการด้านการศึกษาต่อ ทั้งการเตรียมสอบภาษาอังกฤษ ได้แก่ TOEFL IELTS การเตรียมการเอกสารและจดหมายแนะนำตัว การสมัครมหาวิทยาลัย การจองหอพัก การเตรียมขอวีซ่า ซึ่งสิ่งเหล่านี้ในสมัยปัจจุบันง่ายขึ้นมาก น้อง ๆ ก็จะได้รับคำแนะนำมากมายทั้งจากงาน OCSC Education Expo หรือจากพี่ ๆ ในที่ทำงาน แต่อีกด้านหนึ่ง ทุน UIS จะได้รับมอบหมายให้ทำข้อเสนอเชิงนโยบาย (Policy Proposal) เพื่อเสนอต่อหน่วยงาน ซึ่งอันนี้ก็จะเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่าน้อง ๆ มีความคิดเชิงทฤษฎีและความคิดรวบยอดต่อสิ่งที่สนใจในหน่วยงานอย่างไรบ้าง โดยผู้บริหารก็จะได้อ่านของน้อง ๆ และเห็นชอบก่อนที่จะส่งสำนักงาน ก.พ. ซึ่งอันนี้ก็เสมือนเป็นรายงานเล่มหนึ่งที่จะต้องส่งก่อนที่จะไปศึกษาต่อนั่นเอง


    ความน่าสนใจของทุน UIS

    จากประสบการณ์ของผู้เขียน ความน่าสนใจของตัวทุนรัฐบาลเพื่อดึงดูดผู้มีศักยภาพสูงนั้นมีอยู่ 2 – 3 ประเด็นที่สำคัญ ดังนี้


    ประเด็นแรก ทุน UIS เป็นทุนที่ตระหนักถึงการมุ่งเน้นกลุ่มเป้าหมายระดับอุดมศึกษาภายในประเทศ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาทุนรัฐบาลจะจัดสรรให้กับบุคคล 2 กลุ่ม คือ กลุ่มนักเรียนมัธยมปลายเพื่อศึกษาต่อปริญญาตรี-โท-เอก ในต่างประเทศ และกลุ่มบุคคลทั่วไปเพื่อศึกษาในระดับโท-เอก ในต่างประเทศเช่นกัน ทุน UIS มีกลุ่มเป้าหมายเฉพาะที่มองว่าเด็กมหาลัยเหล่านี้ก็มีศักยภาพโดยที่ยังไม่ต้องเรียนจบก็ได้มาลองรับราชการก่อนจะได้รู้จักหน่วยงานและค้นหาตัวเองได้ก่อนที่จะเดินทางไปศึกษาต่อ นอกจากนี้ กลุ่มเป้าหมายก็จะมีจำนวนไม่มากนัก ทำให้น้อง ๆ จะพบกับเพื่อน ๆ ที่อยู่ในรุ่นราวคราวเดียวกันมาสอบเท่านั้น (เพื่อนรุ่นของผู้เขียนมีคนแก่กว่าวัยมาด้วย)


    ประเด็นต่อมา ทุน UIS มาพร้อมกับ “เพื่อน” ที่จะเติบโตในระบบราชการไปด้วยกัน เพราะเมื่อได้รับทุนก็จะมาพร้อมกับการอบรมพัฒนาสมรรถนะในช่วงก่อนไปศึกษาต่างประเทศ เพื่อนเหล่านี้ก็จะเป็นเพื่อนที่แลกเปลี่ยน รับฟัง และปรับทุกข์เกี่ยวกับเรื่องราวต่าง ๆ ที่เราเจอ และแน่นอนว่าเราไม่ได้ suffer ไปคนเดียวแน่นอน


    ประเด็นสุดท้าย การวางแผนเส้นทางการเติบโตในสายงาน (Career) ภายใต้การจัดการของสำนักงาน ก.พ. ทุน UIS ได้ถูกร้อยเรียงอยู่ในระบบกำลังคนคุณภาพ ซึ่งประกอบด้วยทุนรัฐบาล นักบริหารการเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่ (นปร.) และข้าราชการผู้มีผลสัมฤทธิ์สูง (High Performance and Potential System: HiPPS) ซึ่งตัวหลังคือปลายทางมุ่งสู่ความก้าวหน้าในตำแหน่งเป้าหมาย (วิชาการ ระดับชำนาญการพิเศษ) เมื่อจบการศึกษาจากต่างประเทศด้วยทุนระยะที่สองแล้ว กลับมาทำงานระยะหนึ่งก็สามารถสมัครเข้าสู่ระบบดังกล่าวและเข้าสู่การพัฒนาอีกขั้นหนึ่งต่อไป ซึ่งเป็นความชาญฉลาดของสำนักงาน ก.พ. ในการจัดการทุนนี้และทำให้ทุนนี้เป็นที่นิยมในส่วนราชการหลายแห่งในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา

    ทั้งหมดนี้คือที่มาและต้นเรื่องของการเป็น “นักเรียนนอกครั้งแรก” ของตัวผู้เขียนเองว่ามีที่มาจากการเป็นนักเรียนทุน UIS และยังคงอยู่ในราชการจนทุกวันนี้ ทุน UIS เป็นประตูสู่โอกาสหลาย ๆ อย่างทั้งที่เป็นประโยชน์ด้านการศึกษา และด้านประสบการณ์ในการเป็นข้าราชการ แม้ว่าวันหนึ่งอาจจะต้องเดินต่างเส้นทางออกไปก็จะเป็นประสบการณ์หนึ่งในชีวิตของน้อง ๆ อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนยังยืนยันว่าน้อง ๆ เป็นอนาคตของระบบราชการที่ไม่ได้ทำแค่หวังว่า แต่อาจจะได้ทำอะไรซักอย่างที่จะทำให้ระบบราชการดีขึ้น และเป็นราชการที่ทำประโยชน์ต่อคนทุกกลุ่มอย่างแท้จริง 

    สำหรับน้อง ๆ ที่สนใจสมัครทุนรัฐบาลก็สามารถศึกษาข้อมูลและติดตามการสมัครได้ที่เว็บไซต์ของสำนักงาน ก.พ. ที่ www.ocsc.go.th ได้เลยนะครับ ผู้เขียนเชื่อว่าน้องทุกคนมีศักยภาพที่จะมาสร้างระบบราชการที่ดี นำความสามารถมาช่วยในการแก้ปัญหาของบ้านเมืองต่อไปนะครับ อยากให้น้อง ๆ รุ่นใหม่เข้ามาเป็นครอบครัว UIS กันเยอะ ๆ ครับ


เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in