เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
ตื่นจากฝันก็ฝึกงานซะแล้วThanaphon R.
สัปดาห์ที่ 8-9 : ห้ามป่วย ห้ามพัก ห้ามลืมEye Cream
  • งานในสัปดาห์ที่ 8 และ 9 ของการฝึกงานเป็นอย่างไร"

    อาจจะดูแปลกตาไปสักหน่อยที่รวบเป็น 2 อาทิตย์ แต่เหตุผลก็เพราะสัปดาห์ที่ 8 ว่างงานสุด ๆ เหมือนช่วงสัปดาห์ที่ 2 ไม่มีงานเข้ามา แต่คน ๆ อื่นไปดูงานที่โรงพิมพ์กัน ส่วนเราติดธุระจึงไม่ได้ไปด้วย กลับมาอ่านหนังสือคิดบทความ เขียนโควทเหมือนอย่างเคย

    พอขึ้นสัปดาห์ที่ 9 ก็มีงานเข้ามาอย่างปกติเป็นงาน research สำนักพิมพ์ต่างประเทศในงาน Frankfurt Book Fair พี่ทรายจึงฝากหาสำนักพิมพ์ที่ทำหนังสือสำหรับเด็ก รวบรวมข้อมูลติดต่อ Email Website และตัวอย่างหนังสือ ซึ่งลองคัดคร่าว ๆ มีสำนักพิมพ์กว่า 200 แห่งจึงต้องแบ่งกันกันหาแล้วรวมใน Sheet 

    ไฮไลต์หลักก็คือ พี่ทรายนัดให้เราชาวเด็กฝึกงานได้คุยกับนักออกแบบ กราฟฟิกที่ช่วยเรื่องภาพโปรโมทและจัดทำหนังสือ อย่างที่เคยบอกในสัปดาห์แรก ซึ่งกราฟฟิกประจำของสำนักพิมพ์มี 2 คน คือคุณเม กราฟฟิกหลัก ช่วยคุมธีม ช่วยดูเรื่องภาพลักษณ์ของสำนักพิมพ์ และทำภาพโปรโมทอีเว้นท์เล่านิทาน กับคุณอิ๊บ ทำภาพโปรโมทหนังสือและจัด layout หนังสือ อาทิตย์นี้เราจึงได้คุยกับคุณอิ๊บ ส่วนอาทิตย์หน้าจะได้คุยกับคุณเม

    หลังจากได้คุยกับคุณอิ๊บได้มุมมองเกี่ยวกับสายงานด้านกราฟฟิกเพิ่มเยอะเลย ซึ่งเราก็เป็นคนหนึ่งที่สนใจงานในด้านนี้ ช่วงแรกคุณอิ๊บแนะนำเรื่องเกี่ยวงานกราฟิกซึ่งจะคล้าย ๆ กับตอนเรียนออกแบบหรือวารสารกับครูแจ๊พ ไม่ว่าจะเป็นเตรียมไฟล์ปรับสี งานออนไลน์ใช้ RGB ส่วนงานพิมพ์หรือส่งให้โรงพิมพ์เป็น CMYK และโปรแกรมหลัก ๆ ที่ใช้ คุณอิ๊บก็แนะนำว่าโปรแกรมแต่ละตัวเหมาะใช้ทำอะไรบ้าง ก็มี Id ใช้ใส่ข้อความและจัด artwork ส่วนภาพประกอบเป็น Ai ใช้แก้ไขพวกภาพเวกเตอร์ และ Photoshop ใช้ retouch ปรับสี/ปรับภาพ

    สำนักพิมพ์ SandClock จะซื้อลิขสิทธิ์มาแปล ดังนั้นเมื่อได้รับไฟล์ต้นฉบับหนังสือนิทานจึงต้อง Retouch ข้อความและภาพประกอบบางส่วนจะนำไปใส่คำ เช่น ป้ายร้าน (ในภาพตัวอย่างด้านล่าง)
    ภาพจาก ร้านหมวกแห่งหมู่บ้านลูกโอ๊ก
    ส่วนหน้าปกหนังสือจะเป็นเรื่องการตัดตก (Bleeding) ซึ่งการตัดขอบของหนังสือพ็อกเก็ตบุ๊คกับหนังสือนิทานภาพก็จะต่างกัน หนังสือนิทานจะมีขอบตัดตกมากกว่าเพราะปกต้องนำไปหุ้มกับปกแข็ง

    พอช่วงหลังจะเป็นช่วงเปิดให้ถาม/พูดคุยกัน พี่ทรายก็ชวนถามชวนคุย เช่น การบรีฟงานกับกราฟฟิกอยากได้รายละเอียดประมาณไหนที่กราฟฟิกอยากได้ สำหรับงานกราฟฟิกหรืองานนิตยสารก็ดูว่าลูกค้าชอบงานสไตล์ไหนหรือมีreference ส่วนใหญ่กราฟฟิกก็ต้องหาภาพตัวอย่างให้ลูกค้าดูประกอบการตัดสินใจ บางครั้งลูกค้าจะไม่รู้ว่าตัวเองชอบแบบไหนจนกว่าจะเจอสิ่งที่ไม่ชอบ อายุของลูกค้าก็สำคัญในเรื่องสไตล์ความชอบที่ต่างกันของแต่ละ Generations และคุณอิ๊บยังแนะนำเรื่องการหาไอเดียการเสพงาน ซึ่งตอนก่อนจะมี pinterest ก็เดินดูหนังสือที่คิโนะหรือ asia books ถ้าในสมัยนี้มีเพจหรือสื่อออนไลน์เยอะมีให้ได้ศึกษาเป็นreference  หรือหาเวลาว่างไปดูงานที่หอศิลป์

    เราเองก็นึกคำถามไม่ออกแต่ก็ชวนคุยเรื่องสายงานกราฟฟิกรวมทั้งการเป็นฟรีแลนซ์ คุณอิ๊บก็แนะนำว่าให้ลองทำงานกับบริษัทก่อนเพราะจะได้มี connection ได้รู้จักคนเยอะ และยังได้รับงานจากบริษัทต่าง ๆ การเป็นฟรีแลนซ์มีเวลาในการทำงานอิสระ ค่อนข้างยืดหยุ่น ดังนั้นการบริหารเวลาจึงเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งต่างจากการทำงานบริษัททั่วไปเริ่มงาน 08.00 - 17.00 และเป็นงานเดียว แต่ถ้าเป็นฟรีแลนซ์เมื่อเสร็จหนึ่งงานก็สามารถทำงานอื่นต่อได้ เวลานอนบางครั้งก็นอนเยอะบางวันก็ได้นอนน้อย และการเป็นฟรีแลนซ์เหมาะสำหรับคนที่ชอบทำงานอยู่บ้าน (เพราะบางคนอยู่บ้านนาน ๆ ทำให้รู้สึกเฉา ต้องการเปลี่ยนบรรยากาศและพบปะผู้คน) เรื่องการคุยงาน ฟรีแลนซ์บางทีก็ต้องคุยงานกับลูกค้าตอนตีหนึ่งตีสอง หรือบางช่วงตอนจะปิดเล่มต้องตรวจงานกับทางพิสูจน์อักษรจนตีสาม

    และสุดท้ายก่อนที่จะแยกย้ายคุณอิ๊บก็ฝากคำแนะนำให้เด็กฝึกงาน "ถ้าจะเป็นฟรีแลนซ์ซื้อ Eye Cream ตุนไว้เยอะ ๆ และเริ่มทาตั้งแต่ตอนนี้เลย"

    ไฮไลต์ประจำวัน

    วันจันทร์ (25 ก.ค.) งาน research ตัวอย่างนิทาน/หนังสือเด็กของสำนักพิมพ์ต่างประเทศในงาน Frankfurt Book Fair
    วันอังคาร (26 ก.ค.) นัดประชุมเรื่องจัดอีเว้นท์ในเดือนสิงหา ฝากทีมฝึกงานหาธีมหนังสือ ออกแบบกิจกรรม/งานประดิษฐ์ และรายชื่อนักเล่านิทาน
    วันศุกร์ (29 ก.ค.) คุยกับคุณอิ๊บ Graphic designer

    ป.ล.อาทิตย์หน้าก็เป็นอาทิตย์สุดท้ายของการฝึกงานแล้ว เตรียมตัวสู่ชีวิตเด็กปี 4

    ไว้จะมาอธิบายต่อในอาทิตย์ถัดไป
    ขอบคุณค่ะ

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in