เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
ตื่นจากฝันก็ฝึกงานซะแล้วThanaphon R.
สัปดาห์ที่ 10 : ปลายทางโลกของการทำงาน
  • สัปดาห์สุดท้ายของการฝึกงานเป็นอย่างไรบ้างล่ะ"

        หลังจากที่เราได้คุยกับคุณอิ๊บแล้ว สัปดาห์นี้จึงได้คุยกับคุณเม นักกราฟฟิกหลักของSandClock ซึ่งช่วยงานในด้านกราฟฟิกมาตั้งแต่ออกแบบโลโก้สำนักพิมพ์ เมื่อปี 2014 ซึ่งครั้งนี้เราไม่ค่อยได้ถามอะไรมากมายแต่ก็ได้ฟังเรื่องราวของการออกแบบกราฟฟิกและที่มาของโลโก้


        หลังที่คุณเมได้รับโจทย์ให้ออกแบบปกหนังสือ โดยเริ่มต้นคุณเมจะดูธีมของหนังสือจากนั้นจึงดูชื่อเรื่องที่เป็นต้นฉบับและชื่อเรื่องหลังแปลเป็นภาษาไทยเพื่อเปรียบเทียบหรือหาจุดเชื่อมโยงกัน ทั้งรูปแบบตัวอักษรความโค้งความเหลี่ยม นำมาออกแบบใหม่ให้มีความใกล้เคียงกับต้นฉบับ

        

        หนังสือนิทานเด็กส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับตัวหนังสือแบบลายมือ ซึ่งสไตล์ตัวหนังสือทางฝั่งของยุโรปจะอ้างอิงจากตัวหนังสือภาษาอังกฤษ และญี่ปุ่นจะมีความโค้งมนแบบเอเชีย ทำให้การออกแบบตัวหนังสือมีความแตกต่างกัน


        ถ้าสังเกตหนังสือของสำนักพิมพ์SandClock โลโก้ที่ปกหนังสือจะมีสีที่หลากหลายและมีครั้งหนึ่งที่ไปโรงแรมCream ตอนนั้นได้คุยกับคุณแม่ท่านหนึ่ง ลูกชายสงสัยว่าทำไมโลโก้มีหลายสี เมื่อได้ฟังจากคุณเมก็สรุปได้ว่า เพื่อให้โลโก้มีโทนสีเดียวกับหนังสือ ซึ่งโลโก้ออกแบบด้วยสไตล์ที่เรียบง่ายสามารถอยู่ได้ในงานอื่น ๆ และมีความยืดหยุ่นสามารถปรับสีตามโทนของหนังสือเล่มนั้นๆ

     

       โลโก้ควรเป็นส่วนหนึ่งกับภาพและไม่จำเป็นต้องเด่นกว่าหน้าปก เพราะเมื่อโลโก้ใช้โทนสีแบบเดิมทั้งหมดจะทำโลโก้ดูเด่นและเป็นการสร้างจุดรบกวนสายตา ซึ่งชื่อเรื่องกับภาพประกอบควรเป็นจุดเด่นของหนังสือ


    การศึกษาหาไอเดียเพิ่มเติมของสายงานออกแบบหนังสือ

    • หารูปภาพใช้อ้างอิง (Reference)

    • ทำบอร์ดรวมไอเดีย (Mood Board)

    • ลองวาดแบบร่างลงกระดาษ (Sketch)


       หลังจากที่ได้ฟังเรื่องราวทั้งหมด เมื่อจบการประชุมพี่ทรายจึงฟังให้พวกเราเขียนสรุป Design Story ของสำนักพิมพ์ซึ่งมีหลายประเด็นจึงแบ่งหัวข้อกัน

       ถ้านอกจากงานเขียนแล้วช่วงสัปดาห์นี้จะเป็นช่วงเตรียมจัดอีเว้นท์ในวันที่ 14 สิงหาคม ซึ่งใกล้ๆ ช่วงวันแม่ธีมของนิทานจึงเกี่ยวกับแม่และลูก เช่น แม่จ๋าอย่าโมโห, เจ้าหมีกลางคืน และเช้าวันปิกนิกของอายาโกะ

    ภาพโปรโมทวันเล่านิทาน
    งานประดิษฐ์ในครั้งนี้ยังเป็นตุ๊กตาเชิดมือด้วย พวกเราก็ต้องเตรียมทำตัวอย่างและใช้สำหรับแสดงละครประกอบการเล่านิทาน ซึ่งนักเล่านิทานไม่ใช่คนอื่นไกลเป็นเหล่าวรรณ’เด็ก 26 นี่เอง 

    ในวันที่ประชุมเรื่ิองการจัดกิจกรรมและรายละเอียดงานที่ต้องหานักเล่านิทาน เราก็เสนอทั้งรุ่นพี่และนักเล่านิทาน แต่หลังจากที่เราได้พูดคุยกับเพื่อนๆ เรื่องวันเล่านิทานในป่าใหญ่ เพื่อนก็สนใจและอยากไปร่วมงานด้วยเราจึงลองเสนอกลุ่มเพื่อน(ซึ่งทุกคนผ่านวิชาการเล่านิทานกันมาแล้ว ยังไงก็ไปรอดแน่นอน ฮ่าๆ) พี่นิดนกก็สนใจจึงมอบหน้าที่นักเล่านิทานให้เป็นวรรณ’เด็ก เพราะพี่นิดนกเองก็อยากให้พวกเราได้โอกาสแสดงฝีมือ

    ไฮไลต์ประจำวัน

    วันจันทร์ (1 ส.ค.) นิเทศก์ฝึกงาน ครูนัดประชุมกับพี่ที่ฝึกงาน
    วันอังคาร (2 ส.ค.) คุยกับคุณเม Graphic designer และเขียน Design story สำหรับโพสต์เฟสบุ๊ก

    ถึงแม้ว่าเราจะจบฝึกงานแล้ว แต่พี่ๆ ก็อาจจะให้พวกเราไปช่วยงานอีเว้นท์ในครั้งต่อๆ ไป 
    และขอขอบคุณนักอ่านทุกท่านที่ร่วมติดตามมาด้วยกันจนถึงสัปดาห์สุดท้าย และขอขอบคุณทางสำนักพิมพ์SandClock Books ที่มอบโอกาสให้นักศึกษาคนหนึ่งได้รับประสบการณ์ทำงาน ได้ลองออกบูธงานหนังสือ ได้ประสบการณ์เล่นกับเด็กๆ 

    สำหรับบล็อกบันทึกฝึกงานคงต้องจบลงเพียงเท่านี้

    สถานีต่อไป…
    ชีวิตนักศึกษาปี4

    ขอบคุณค่ะ

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in