เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
The ListTeepagorn W.
Game of Thrones & Disability
  • บทวิเคราะห์เรื่อง Hodor จากตอนล่าสุดของ Game of Thrones นี้ดีมาก นักข่าวจาก The Atlantic ไปสัมภาษณ์ ลอริน เมเยอร์ ผู้เผยแพร่งานวิชาการเรื่อง "ศีลธรรมต่อการพิกลพิการใน A Song of Ice and Fire" เมื่อปี 2014 โดยบอกว่าประเด็นของ Game of Thrones คือการต่อต้าน (challenge) ความคิดต่อการพิกลพิการกระแสหลัก ที่มองว่าเป็นความเสียเปรียบหรือเป็นคลิเช่ โดยไม่ใช้คนทุพพลภาพในสถานะเดิมๆ

    แน่นอน ถ้าใครยังไม่ได้ดูตอนล่าสุด หรือไม่รู้ว่า Hold the door คืออะไรก็อย่าอ่านต่อนะครับ

    ลอรินบอกว่ามาร์ติน ผู้เขียน Game of Thrones นั้นพยายามทำลายขนบของเรื่องเล่า โดยเปรียบเทียบกับ Lord of the rings ที่พันธมิตรแห่งแหวน 9 คน ได้รับความสูญเสียแค่ว่า มี 1 คนในนั้นนิ้วขาดไปเท่านั้นเอง (ซึ่งลอรินบอกว่าถ้าคิดในทางสถิติแล้วแทบเป็นไปไม่ได้) แต่ใน Game of Thrones ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร ก็มีโอกาสตายได้ทั้งนั้น

    การพิกลพิการนั้นมักถูกใช้เป็นเครื่องแบ่งแยกระหว่าง "เขา" กับ "เรา" แต่สิ่งที่มาร์ตินทำคือการพยายามพร่าเลือนเส้นแบ่งระหว่าง "การเป็นคนเต็มคน" กับ "ร่างกายที่ขาดหายไป" (wholeness vs bodily vulnerability) ด้วยการสาธิตให้เห็นว่าเราสามารถ "ข้ามไปอีกฝั่ง" ได้ด้วยการพลาดพลั้งเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

    Hodor เป็นตัวละครที่สามารถพูดได้เพียงคำเดียวก็จริง แต่ว่ามาร์ตินก็แสดงให้เห็นว่าภายใต้ฉากหน้า (ที่พูดได้คำเดียว จนคนบอกว่าเขาโง่) Hodor ก็มีความฉลาดเฉลียว สามารถทำตามคำสั่ง และแสดงอารมณ์ต่างๆ ได้ และในตอนล่าสุด Game of Thrones ก็ได้เผยถึงสาเหตุที่ทำให้ Hodor ตกอยู่ในสถานการณ์นี้ (ด้วยคำสั่งของแบรน หรือ Three Eyed Raven) คือเปลี่ยนสภาพจาก "เด็กคอกม้าที่ฉลาดเฉลียวและมีบุคลิกภาพน่าคบหา" ไปเป็น "ทาสรับคำสั่ง (automaton) ที่มองเห็นอนาคตอันน่าสะพรึงของตน และถูกทำให้ระลึกถึงอนาคตนั้นตลอดเวลาด้วยคำคำเดียวที่ตัวเองพูดได้"

    ลอรินยังวิจารณ์แบรนด้วยว่าเป็นไอ้ตัวงั่งที่ชอบทรมานคนอื่น (abusive little shit) เพราะแบรนขัดขืนความต้องการของ Hodor และยังวาร์ก (warg) เข้าไปในร่างของเขา ถึงแม้ว่าเขาจะไม่อยากถูกวาร์กเข้ามาก็ตาม ซึ่งเหตุผลของแบรนก็คือ "ฉันอยากแข็งแรงอีกครั้ง" หรือไม่ก็ "ฉันวาร์กเข้าไปไม่นานหรอกน่า" ซึ่งเป็นเหตุผลของไอ้พวกขี้แกล้งนั่นเอง

    นอกจากนั้นลอรินยังบอกว่าข้อดีของ Game of Thrones คือมีการแสดงออกถึงความหลากหลายของผู้ทุพพลภาพ ถึงแม้จะน่าเสียดายที่ Hodor กลายเป็นตัวละครที่เป็นตัวแทนของการเสียสละ (sacrificial Christ trope - เขาเปรียบเทียบ Hodor เป็นเซนต์คริสโตเฟอร์ที่แบกพระเยซูไว้) แต่หากมองไปที่ตัวละครอื่น เช่นแบรน ก็จะพบว่าเป็นตัวละครทุพพลภาพที่ซับซ้อนมาก คือไม่ใช่ผู้ร้าย แต่ก็มีกิเลส อยากได้ อยากมี เป็นพวกขี้แกล้ง (abusive) อยู่ หรือกระทั่งทีเรียน ก็เป็นตัวละครที่สามารถตัดผ่า (cut across) ข้อจำกัดทางด้านความปกติหรือไม่ปกติ หรือความแตกต่างชนชั้นได้อย่างน่าสนใจ ลอรินบอกว่า เป็นเรื่องดีที่คุณไม่มองผู้ทุพพลภาพเป็นภาพรวมเพียงอย่างเดียว คุณมีตัวละครที่ทุพพลภาพ แต่น่ารำคาญบ้าง หรือเป็นฮีโร่บ้าง หรือเห็นแก่ตัวบ้าง หรือเห็นแก่ส่วนรวมบ้าง ซึ่งนั่นน่าจะเป็นภาพแทนที่ครอบคลุมกว่า

Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in