เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
เรื่องเราเล่า "ความ"Suwat Posayawatanakul
ความ “เยอะ” เกินจำเป็นในชีวิต
  • เกือบเดือนกับการใช้ชีวิตที่ไม่ปกติ working from home

    ทำให้เรากลายคนติดบ้าน รักบ้าน รักครอบครัวมากขึ้น

    หลายคนเกิดอาการ Office Sick แทน Home sick

    คิดถึงแอร์เย็นฉ่ำ ที่ไม่เปลืองค่าไฟบ้านเรา

    คิดถึงกาแฟหอมกรุ่นที่ให้จิบฟรี  พักสายตาจากงานที่เหนื่อยล้า

    คิดถึงโต๊ะเก้าอี้ที่เราเคยบ่นว่านั่งไม่สบาย

     

    ครั้งหนึ่งเราเคยฝันอยากเป็นเจ้าของธุรกิจทำงานที่บ้าน

    ได้บิดขี้เกียจ ตื่นสาย ไม่ต้องเบียดเสียด รถติด แสนสุขใจ

    วันนี้เราได้สิ่งนั้นมา แต่กลับเริ่มไม่พอใจ

    อยากได้บางอย่างกลับคืนมา

    มันอาจเป็น ความ “เยอะ” ของคน

    เมื่อได้เรียนรู้ จึงโหยหา อยากเรียกร้องบางสิ่งที่หายไปคืนกลับมา

     

    สายตาเริ่มสอดส่ายสำรวจข้าวของต่างๆในบ้าน

    ที่ซื้อหามาในยุคบริโภคนิยมเฟื่องฟู

    แล้วก็ค้นพบความจริงบางอย่างที่เรียกว่า

    มัน “เยอะ”เกินความจำเป็น

     

    บางคนมีรองเท้ามากกว่า 10 คู่ แต่ใช้งานประจำอาจมีเพียงคู่เดียว

    บางคนมีกระเป๋าสะพายแบรนด์เนมหรูเต็มตู้

    บางใบอาจหลงลืม ถูกโยนทิ้งไว้เปล่าเปลี่ยว

    ไม่เคยได้รับการเหลียวแลจากเจ้าของมันเลย

    จนปลิดชีพตนเอง หมดสภาพคาตู้

     

    ความคิดที่มี “เหลือ” ดีกว่า “ขาด”

    ความคิดที่ “อารมณ์” อยู่เหนือ “เหตุผล”

    จึงทำให้สิ่งของเกินความจำเป็นมากล้นเกินพอดี

     

    คนกลุ่มหนึ่งในสังคม เริ่มคิดว่า 

    ความสุขที่แท้จริงเกิดจากการมีข้าวของเครื่องใช้ที่มากมายจริงหรือ

    หากเราไม่หยุด บางสิ่งในใจ กับคำว่า “พอเพียง”

    ปริมาณเหล่านั้น ก็จะเพิ่มพูนมากขึ้นเรื่อยๆ

     

    การใช้เหตุผล มักล้มเหลว

    เพราะทุกครั้งที่เราอยากได้ของสิ่งนั้น 

    อารมณ์จะชักชวนหาเหตุผลสารพัด

    มาบดบังสายตาให้พร่ามัวแล้วตัดสินใจซื้อมันด้วย 

    เหตุผลที่เกิดจากอารมณ์พาไป เสียทุกที

     

    เขาเริ่มทดลองง่ายๆ ถ้าสิ่งของในชีวิตน้อยลงจะมีความสุขมากขึ้นมั้ยภายใน 21 วัน

    เขาเก็บข้าวของทุกอย่างไว้ในกล่องหากจำเป็นต้องใช้ ก็ไปหยิบเอา

    10 วันแรกเขาต้องเดินไปหยิบข้าวของในกล่องอยู่บ่อยครั้ง

    แต่หลังจากนั้น ไม่จำเป็น ต้องแตะของในกล่องอีกเลย

    เขาพบว่า สิ่งที่เขาจำเป็นต้องใช้จริงๆ มันมีน้อยมาก

    พื้นที่ในห้องดูโล่งขึ้น หากมีของที่จำเป็นเพียงเท่านี้

     

    โลกใบนี้ กำลังเต็มไปด้วยผู้คนที่สะสมของมากเกิน

    ไม่ว่าจะเป็นคนที่มีรายได้มากมาย หรือน้อยก็ตาม

    เพราะพฤติกรรมของคนเปลี่ยนไป

    shopping on line ง่ายจนไม่ต้องขยับตัว

    แต่ของเหลือใช้กำลังจะเต็มบ้านจนขยับตัวไม่ได้

    สมกับความสะดวกสบายแค่ปลายนิ้วที่ฝ่ายการตลาดประเคนให้

    ระบบทุนนิยมสร้างความฟุ้งเฟ้อให้เกิดความอยาก

    ซื้อเพิ่ม ทั้งๆของที่มีอยู่ยังใช้งานได้ดี 

    ค่านิยมรอบๆตัวยั่วยุให้ซื้อเพื่อมาอวด

    แข่งประชันหน้าตาทางสังคมกัน ทั้งที่อาจไม่จำเป็นเลย

     

    เสื้อผ้าในตู้ มีเพียงไม่กี่ตัวที่เราหยิบใช้บ่อย

    รองเท้า มีเพียงไม่กี่คู่ ที่เป็นเพื่อนคู่ใจ

    หน้ากากอนามัย ซื้อมาตุนเต็มบ้าน

    คาดว่า Covid-19 หายไปเป็นปี ก็ยังใช้ไม่หมด

    แอลกอฮอล์ ที่ซื้อมาเรื่อยๆ อาจต้องใช้ถูพื้นบ้าน

    ในวันที่รู้สึกว่า มันเยอะเกินไป 

    จนอาจพาลจะกลายเป็นเชื้อเพลิงให้ไฟลุกโชนท่วมบ้าน

     

    หลายคนเริ่มเหนื่อยหน่ายกับข้าวของที่ล้นเกินพอดี

    How to ทิ้ง กลายเป็นเรื่องลำบากใจ

    ทั้งที่ของบางอย่าง ไม่ได้มีความจำเป็นต้องเก็บ

    แต่ก็ตัดใจทิ้งไม่ได้

     

    อะไรที่ไม่จำเป็น เลือกที่จะ“หยุด” ไม่ซื้อเพิ่ม

    อดออมเงินไว้ใช้ในยามฉุกเฉิน

    เรามักฟุ่มเฟือย แปลงเงินที่ควรจะอดออม

    ให้หมดไปกับค่าเหล้า ความบันเทิงชั่วขณะ 

    หรือ ของใช้เกินความจำเป็น

     

    ตน ไม่เคยเป็น ที่พึ่งแห่ง ตน

    เมื่อคราวเดือดร้อน ก็ได้แต่เฝ้ารอความช่วยเหลือจากใครบางคนให้มาเยียวยา

    บางคนเดือนร้อนจริง กลับไม่ได้

    ผมถามเพื่อนบางคนที่ขาดรายได้กะทันหัน ว่าทำไมไม่ขอบ้างเมื่อเขาแจกกันโครมๆ

    เขากลับตอบว่า “ยังพอรับไหว เก็บตังค์ไว้ให้กับคนที่เขาเดือดร้อนจริงๆ   ไม่มีกิน จะดีกว่า”

    มันอาจดูไม่ยิ่งใหญ่ในสายตาคนอื่น แต่ผมกลับรู้สึกถึงความเสียสละของคนเล็กๆ คนหนึ่งในสังคมที่อยากช่วยเหลือคนที่เดือดร้อนมากกว่าในยามทุกข์ยากเช่นนี้

     

    หลายคนถอดใจไม่รับการเยียวยา

    เพราะเอือมระอากับระบบการแย่งชิงอย่างบ้าคลั่ง

    จนบางครั้ง กลับอดเจ็บปวดแทนคนที่เสียสละไม่ได้

    เมื่อเห็นบางคนนำเงินที่ได้รับ

    วนกลับมาเสพความสุข โพสต์อวดไร้สติเพราะความ “เยอะ”

    แทนที่จะใช้ให้เป็นประโยชน์ตามเจตนาของผู้ให้

    หรือเจตนาของคนที่ยอมสละ ไม่แย่งชิงเพื่อคนที่เดือดร้อนมากกว่าเรา

     

    ยิ่งนานวัน เรายิ่งตระหนักถึงสิ่งที่อยู่รอบๆตัวเรามากขึ้น

    สังคมจะน่าอยู่ ถ้าเราช่วยเหลือกัน  ไม่เห็นแก่ตัว

    ไม่ต้องรอให้ถึง “วิกฤต” จึงแสดง “น้ำใจ”

    หรือต้องกระทุ้งให้ "น้ำใจ" หลั่งอย่างไม่เต็มใจ

    แต่เลือกที่จะมอบให้แก่กันได้ทุกเมื่อ ทุกวันที่อยู่ร่วมกันในสังคม จะดีกว่ามั้ย

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in