เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
postscript.cineflections
ความรักของสัตว์เลือดอุ่น: Mammal (2016)

  • จะทำอย่างไรเมื่อชีวิตโยนโอกาสความเป็นแม่ครั้งที่สองให้?

    มาร์กาเร็ต (Rachel Griffiths) สาววัยกลางคนใช้ชีวิตโดดเดี่ยวกลางกรุงดับลิน ประเทศไอร์แลนด์​ เธอดูแลร้านขายของมือสอง และว่ายน้ำออกกำลังกายที่ศูนย์กีฬาในละแวกบ้าน ทำตัวเหมือนจะฆ่าเวลาไปทีละวันๆแทนการใช้ชีวิตจริงจัง เมื่อสามีเก่าอย่างแมท (Michael McElhatton) ส่งข่าวร้ายมาว่าลูกชายที่เธอไม่เคยรู้จักได้จมน้ำตายเสียแล้ว มาร์กาเร็ตจึงเริ่มสานสัมพันธ์กับเด็กหนุ่มจรจัดอย่าง โจ (Barry Keoghan) ทั้งๆที่เธอก็ไม่แน่ใจในคำนิยามของความสัมพันธ์ใหม่นี้

    มาร์กาเร็ต และ โจ


    Background ของหนัง

    Mammal (2016) เป็นโปรเจกประสานงานสามประเทศ​ ระหว่าง ไอร์แลนด์​ ลักซ์เซมเบริ์ก​ และ เนเธอร์แลนด์​ ถ่ายทำประมาณ 8 อาทิตย์​ เสร็จในปี 2015 
    เพราะเป็นหนังอินดี้ จึงไม่แปลกใจที่หนังฉายครั้งแรก (Premiere) ที่เทศกาลหนัง Sundance ที่ขึ้นชื่อเรื่องแสดงหนังอินดี้ต่างๆ ในเดือนกุมภาพันธ์​ปีต่อมา Mammal ได้เข้าชิงรางวัล Grand Jury Prize ด้วย

    จากซ้าย: รีเบคการ์ ดาลี่ (ผู้กำกับ), แบร์รี่ คีโอแกน (โจ), ราเชล กริฟฟิส์ (มาร์กาเรต)

    Mammal กำกับโดยผู้กำกับหญิงมากฝีมืออย่าง รีเบคการ์ ดาลี่ (Rebecca Daly) หนังเป็นผลงานชิ้นที่สองของดาลี่ หลังจากได้ฉาย The Other Side of Sleep หนัง arthouse ของเธอที่คานส์ ในปี 2015


    ทำไมต้อง Mammal 

    Mammal แปลตรงตัวได้ว่า 'สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม' ชัดๆในความหมายของหนังก็คือ 'มนุษย์' นั่นเอง หากในตัวหนังเอง 'สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม' มีความหมายซ่อนอยู่ในการกระทำของตัวละคร ความสัมพันธ์ที่มี และสิ่งรอบตัว

    'สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม' 

    มาร์กาเร็ตทำแผลโจในบ้านของเธอ

    หมายถึงลูกแมวจรจัดที่มาร์กาเร็ตเก็บจากหลังบ้านเธอมาเลี้ยง

    หมายถึงสายสัมพันธ์การดูแลระหว่างแม่-ลูก ที่สัตว์ประเภทนี่ย่อมมีต่อลูกที่เกิดใหม่ ที่ต้องการการฟูมฟักด้วยนมของแม่ แต่กลับเป็นสายสัมพันธ์ที่ขาดไปจากชีวิตของมาร์กาเร็ต ผู้ไม่เคยเป็นแม่ และรับโจเข้ามาดูแลในบ้านของเธอ เสมือนลูกบุญธรรม

    หมายถึงความจรจัด 'ไม่อยู่กับที่' เปรียบสัตว์ป่าของโจ (แบร์รี่เองเปรียบโจเป็น หมาจิ้งจอก ที่มาร์กาเร็ตไม่สามารถจะกักขังได้ เพราะสัตว์เช่นนี้ พร้อมที่จะวิ่งหนีหายไปในเสี้ยววินาที)



    น้ำนิ่งถูกกระทบ

    ฉากเปิดของหนังคือมาร์กาเร็ตในสระว่ายน้ำ เธอกำลังจมดิ่งอยู่ใต้น้ำนิ่ง ดำน้ำอยู่คนเดียว จนเด็กคนหนึ่งกระโดดลงในสระ ทำให้น้ำแตกเป็นคลื่นจนเธอไม่ทันตั้งตัว

    ธีม 'น้ำ' เด่นตั้งแต่ฉากแรก
    ดาลี่อธิบายว่า จงใจถ่าย Mammal ช่วงแรกให้คล้ายหนังสารคดีสัตว์โลก (ซึ่งอาจส่งผลที่อารมณ์ความ 'เนิบ' เดินตัวอย่างช้าๆของหนัง ขณะติดตามชีวิตเรียบง่าย(จนแอบน่าเบื่อ)ของมาร์กาเร็ต) แต่เด็กที่กระโดดลงมานั่นแทนเหตุการณ์ หรือ บอกลาง (Foreshadow) ถึงการเข้ามาของ โจ ในชีวิตของมาร์กาเร็ต ดังน้ำนิ่งที่แตกเป็นคลื่น ความสัมพันธ์ของโจจะกระทบชีวิตมาร์กาเร็ตในด้านที่เธอคาดไม่ถึง

    เป็นการแสดงที่เข้าถึงยาก แต่ 10/10/10 มากๆ

    ราเชล กริฟฟิส์​ แสดงบทบาทของมาร์กาเร็ตได้น่าชื่นชม เป็นการแสดงที่เงียบ พูดน้อย แต่รู้สึกมาก เธอใส่รายละเอียดความเป็น 'มาร์กาเร็ต' ในการแสดงอากัปกริยาเล็กๆน้อยๆของสาวกลางคนๆนี้ ทั้งเสียงเศร้า ไร้ความรู้สึกในชีวิตวันต่อวัน แววตาที่ว่างเปล่า เมื่อฟังสามีเก่าเล่าถึงลูกชายที่จากไป รอยยิ้มเล็กๆ เมื่อโจลองเสื้อที่เธอเอามาให้ ราเชลทำให้มาร์กาเรตเด่นขึ้นมาในสายตาคนดู​ จนเธอกลายจากผู้หญิงที่เราเฝ้าดูในสระคนหนึ่ง เป็นผู้หญิงที่เราแคร์ความรู้สึกเลยทีเดียว



    จิ้งจอกหลงทาง

    จิ้งจอกทำซ่าหลังบ้าน
    "ฟังเสียงนั่นสิ" โจเอ่ย ขณะลูกแมวจรจัดของมาร์กาเร็ตร้องเหมียวๆกันระงม 

    "ไอ้พวกสัตว์น้อยขึ้เรื้อนไร้พ่อ!"

    เด็กหนุ่มหัวเราะชอบใจ สูบบุหรี่ในมือต่อ ขณะแกล้งทำเสียงเห่าหอนไปตามสัตว์หลังบ้าน


    โจอาจพูดลอยๆโดยไม่ได้คิดอะไรมาก แต่คำเรียกแมวจรจัดเหล่านั้นกลับนิยามเขาได้ตรงตัว
    มาร์กาเร็ตพบเด็กหนุ่มนอนไม่ได้สติอยู่หลังบ้านเธอช่วงกลางดึก คล้ายลูกแมวหลงทางตัวหนึ่ง เขาหนีหายไปหลังมาร์กาเร็ตปฐมพยาบาลให้ คล้ายสัตว์บาดเจ็บไม่มีที่ไปแต่อยู่กับที่ไม่ได้

    เด็กหนุ่มหลังบ้านของเธอ

    จนมาร์กาเร็ตตัดสินใจรับเขา--'สัตว์ขึ้เรื้อน' จากถนนดับลิน--มาอยู่ในบ้านของเธอ 

    จุดเด่นของแบร์รี่ คีโอแกนคือพรสวรรค์จากภายใน (innate ability) ที่สามารถแสดงความแข็งกร้าว ดื้อรั้น มีเสน่ห์ และซนเฮี้ยวของเด็กหนุ่มรุ่นๆ พร้อมๆกับความอ่อนไหว นิ่ง ของคนที่ผ่านอะไรมามากเกินวัยในเวลาเดียวกัน โจเป็นตัวละครที่ซับซ้อนพอๆกับมาร์กาเร็ต 


    อย่างที่ผู้กำกับดาลี่ได้กล่าวไว้ว่า เรากำลังมองโจผ่านสายตาของมาร์กาเร็ต กำลังตกหลุมรักโจไปพร้อมๆกับเธอ แบร์รี่สามารถดึงด้านต่างๆของโจมาแสดงในฉากหลายฉากโดยธรรมชาติ  โจอาจหัวเราะร่า หยอกเล่นกับมาร์กาเร็ตอยู่ แต่ก็สามารถทำสีหน้านิ่ง ปิดกั้นคนภายนอกจากตัวเองภายในอีกไม่กี่นาที 

    อ่านยากจริงเรา
    "ผมก็มีส่วนคล้ายโจ" แบร์รี่กล่าว โดยส่วนตัว เราคิดว่าแบร์รี่ตีความตัวละคร 'เด็กมีปัญหา' อย่างโจได้ลึกระดับหนึ่งเลย คล้ายๆบทของมาร์กาเร็ต หลายฉากของโจเป็นฉากเดี่ยวและฉากกลุ่มที่แสดงกับแก๊งเด็กในดับลินที่ไม่มีบทพูด และมักอาศัยการ 'ด้นสด'  (Improvise) แบร์รี่แสดงฉากเหล่านี้ได้น่าติดตาม ทำให้คนดูมีอารมณ์ร่วมไปด้วย พอที่จะเข้าใจความรู้สึกของโจในฉากๆหนึ่ง ทั้งๆที่อาจเป็นเพียงส่วนเล็กของเด็กหนุ่มคนนี้ก็ตาม

    เป็นเสียงหัวเราะในฉากไร้บทพูดที่ดูแล้วโหวงๆชอบกล


    สัมผัสในสายน้ำ

    มาร์กาเร็ตและโจต่างมีความลับที่ต่างคนแอบซ่อนจากอีกฝ่าย ชีวิตอีกด้านที่ไม่เปิดเผยให้อีกฝ่ายรับรู้ เพราะอาจมากระทบพื้นที่กลางระหว่างทั้งสองคน: มาร์กาเร็ตกับลูกชายที่จากไปของเธอ และ โจกับชีวิตแก๊งค์เด็กซ่าก่อกวนถนนดับลินยามค่ำคืน

    ความลับ....

    หากฉากแรก และฉากสำคัญๆที่เราเห็นทั้งคู่แชร์ชีวิต ใช้เวลาอยู่ร่วมกัน ต่างเกี่ยวข้องกับธีม 'น้ำ'


    (ช่วงต่อไปของบทความมีการเปิดเผยเนื้อหาหลักของหนัง -- สปอยล์นะคะ ... แอบเรทด้วยเพราะเนื้อหาและธีมของหนัง)




    'น้ำ' กับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเพศแม่ เชื่อมโยงกับเรื่อง 'การเกิดใหม่' และ 'การสืบพันธุ์'  อย่างไม่ต้องสงสัย

    สัมผัสในสายน้ำจริงๆ

    ทั้งฉากที่มาร์กาเร็ตสอนโจว่ายน้ำ ฉากที่มาร์กาเร็ตจมดิ่งลงไปกลางทะเล(สาป)และโจช่วยประคองเธอขึ้นมาหายใจได้ทันที รวมถึงฉาก 'อ่างอาบน้ำ' ที่เป็นฉากคู่ขนานสำคัญระหว่างมาร์กาเร็ตและโจ Mammal แสดงถึงความใกล้ชิดระหว่างตัวละคร โดยไร้คำพูด ผ่านการสัมผัส (Touch) ผิวหนังของกันและกระตุ้นความรู้สึก (sensual) ส่วนดิบดังสัมผัสระหว่างสัตว์เลือดอุ่นสองตัว

    "มันผ่อนคลายมาก..." มาร์กาเร็ตกล่าว
    ตัวหนังอุ่นเครื่องด้วยสัมผัสปลายนิ้วที่ไม่เกี่ยวกับน้ำ ฉากเงียบๆ (จะพบว่าหนังอินดี้เรื่องนี้เต็มไปด้วยฉากเงียบที่อาศัยพลังความตั้งใจคนดูจริงๆ) ระหว่างมาร์กาเร็ตและโจเกิดเมื่อมาร์กาเร็ตถลกแขนเสื้อโจขึ้น แล้วไล่นิ้วไปตามแขนเด็กหนุ่ม พลางพูดถึงความทรงจำที่พี่สาวเคยทำเช่นนี้ให้ตอนเด็กๆเพื่อทำให้เธอผ่อนคลาย 

    รักในสายตาเธอ
    แล้วโจกลับทำตามมาร์กาเร็ต ไล่นิ้วเขาไปตามแขนเธอ เราแอบปลื้มกับการช้อนตามองของแบร์รี่ในฉากนี้ ก่อนที่โจจะเอื้อมตัว ไล่นิ้วไปถึงคอ และทรวงอกของมาร์กาเรต

    ค่อยๆไล่นิ้วไป...
    "บางครั้งโจก็รุกด้านเซ็กส์ก่อน" ดาลี่ ผู้กำกับกล่าว ในระหว่างการซ้อมก่อนเปิดกล้อง  (Pre-Production) ทีมนักแสดงอ่านบทด้วยกัน และถกกันเรื่องระดับความสัมพันธ์ของมาร์กาเรตและโจในฉากต่างๆของหนัง ดาลี่ถ่ายฉากแต่ละเทคโดยให้แบร์รี่รุกก่อนโดยมีเป้าหมายเรื่องเซ็กส์ (sexual agenda) สลับกับเทคที่แบร์รี่ทำไปด้วยความใสซื่อของเด็กหนุ่มคนหนึ่ง ซึ่งสะท้อนถึงด้านสองด้านของโจได้ดี 

    เพราะมาร์กาเร็ตไม่ได้เป็นแม่แท้ๆของโจ ความสัมพันธ์ระหว่างคนที่พยายามเป็นแม่ กับ 'ลูกบุญธรรม' ที่ถูก 'เก็บมาเลี้ยง' จึงคลุมเครือ ไม่แน่ชัดว่าเป็น แม่ - ลูก หรือ คู่รัก ความใกล้ชิด และสัมผัสทางร่างกายที่ทั้งสองมีให้ต่อกัน ขณะเรียนรู้กันและกันไปเรื่อยๆ จึงนำไปสู่เซ็กส์อย่างห้ามไม่ได้

    ตกลงเราเป็นอะไรกันฮะ (โจไม่ได้กล่าวไว้)
    ดาลี่เล่าว่า ตัวราเชลเองไม่อยากฝึกซ้อมกับแบร์รี่มาก เพราะต้องการให้ความสัมพันธ์ และ เคมี ระหว่างตัวละครออกมาสมจริง ซึ่งสังเกตได้จากความ 'ดิบ' เป็นธรรมชาติระหว่างมาร์กาเร็ตและโจในหนัง เป็นความ 'ดิบ' ที่หาได้ยากจากหนังอเมริกัน Coming of Age ประเภทเดียวกัน (เว้นแต่ American Honey (2016) ของผู้กำกับหญิงชาวอังกฤษอย่าง Andrea Arnold) แต่กลับเด่นชัดในหนังอังกฤษแท้ๆที่เราชอบมาก อย่าง Fish Tank (2009, กำกับโดย Andrea Arnold อีกนั่นแหละ) 

    จากฉากสัมผัสปลายนิ้วที่ทุกการเคลื่อนไหวมีความหมาย Mammal ก็พาคนดูดำดิ่งในสายสัมพันธ์ระหว่างมาร์กาเร็ตและโจ เด็กหนุ่มจ้องมาร์กาเรตระหว่างเธอจับแขน แตะท้อง และแก้มของเขา ขณะสอนเขาว่ายน้ำ

    "อย่ามองฉันสิ" มาร์กาเรตพูดขำๆ แล้วจับหน้าเด็กหนุ่มให้หันไปอีกด้าน

    คล้ายสัมผัสทางผิวของมาร์กาเรตกระตุ้น(ความอยาก)บางสิ่งในตัวของเขา การที่ให้มาร์กาเรตสอนโจว่ายน้ำให้เป็น ทำให้เรานึกไปถึงการเกิดใหม่ในพิธีขนานนาม Christening ผ่านน้ำศักดิ์สิทธิ์ของศาสนาคริสต์

    ถึงเนื้อถึงตัว....
    ฉากที่ตรงข้าม(และเรียกได้ว่าเป็นคู่ขนานของ)ฉากสอนว่ายน้ำคือฉากที่โจช่วยมาร์กาเรตขึ้นจากใต้น้ำทะเล(สาป) ประคองเธอไว้ในอ้อมแขน ขณะทั้งคู่หัวเราะด้วยกันด้วยความโล่งอก ปน ความเดาไม่ได้ของชีวิต กลับมาคิดอีกที ฉากนี้เหมือนจะแสดงถึงการสลับบทบาท 'ผู้ดูแล' และ 'ผู้ถูกดูแล' ระหว่างมาร์กาเรตและโจ

    หายใจหอบไปตามกันเลยทีเดียว
    ในฉากเงียบอีกฉากที่ทรงพลังของ Mammal หลังจากจับคอเสื้อของลูกชายตัวเองที่เอามาให้โจสวม มาร์กาเรตก็เข้าไปแนบหน้าของเธอกับหลังคอของโจก่อน เหมือนจะพยายามสัมผัสลูกชายที่เธอไม่เคยรู้จัก

    ชอบการแสดงของทั้งคู่ในฉากนี้จริงๆ ทั้งเปราะบาง และ อ่อนไหว ระหว่างคนสองคนที่ไม่พูดความในใจต่อกัน

    ทั้งราเชลและแบร์รี่รับ - ส่งอารมณ์ตรงนี้ได้ลึกซึ้ง ตรึงใจคนดูจนอดรู้สึกร้าวใจไม่ได้

    โจ และ มาร์กาเรตกับเสื้อของลูกชายมาร์กาเรต

    แต่ฉากที่คู่ขนาน 'แรง' ที่สุดของ Mammal นั้นเกี่ยวกับน้ำ เกิดในอ่างอาบน้ำทั้งคู่

    อ่างอาบน้ำ(1)

    ฉากแรกเกิดช่วงต้นๆของหนัง เมื่อโจนั่งซึมอยู่คนเดียวในอ่างอาบน้ำ และมาร์กาเรตเข้ามาเช็ดตัวให้ คล้ายๆกับความสัมพันธ์ที่คลุมเครือระหว่างพวกเขา การเช็ดตัวของเธอกลับทั้งอ่อนโยน และ วาบหวิว หนังจดจ่ออยู่กับฉากนี้นานพอสมควร  ให้คนดูค่อยๆเก็บรายละเอียดขณะฟองน้ำเปียกๆลูบไล้ไปตามผิวของโจ เหมือนมาร์กาเร็ตเป็นทั้งแม่และคนรัก ที่ดูแลและปลอบใจ ทำความสะอาดตัว (และหัวใจ?) ของเด็กหนุ่ม 'ขี้เรื้อน' ข้างถนนคนนี้ (ที่คงไม่ได้อาบน้ำมาสักพัก แต่ก้าวเข้ามาในพื้นที่ส่วนตัวของมาร์การเรตโดยแอบใช้แปรงสีฟันและผ้าเช็ดหน้าของเธอ)


    เรากำลังดูไปเพลินๆก็ต้องตกใจเมื่อมาร์กาเรตปล่อยฟองน้ำ แล้วลดมือต่ำลง เริ่มสำเร็จความใคร่ให้โจ 
    (คนดูไม่รู้จะรู้สึกยังไงกับความสัมพันธ์นีิจริงๆ)

    เรียกได้ว่า โจ กระตุ้น(ความอยาก)บางสิ่งในตัวของมาร์กาเรต พอๆกับที่เธอกระตุ้นความอยากในตัวเขา

    อ่างอาบน้ำ(2)
    ฉากที่สองเกิดช่วงท้ายๆ เมื่อมาร์กาเรตนั่งซึมอยู่คนเดียวในอ่างคล้ายโจ เด็กหนุ่มเดินเข้ามาโอบกอดร่างเธอจากด้านหลัง 

    นุ่มนวลที่สุด
    เสียง "โอเคนะ" ของแบร์รี่ในคราบโจนั่นแทบอ่อนโยนที่สุดที่เราเคยได้ยินเขาพูดมา หากสักพักโจก็ปล่อยมาร์กาเรต ถอดเสื้อผ้าตัวเองออก และก้าวลงไปในอ่างอาบน้ำกับเธอ

    rite of passage ในอ่างอาบน้ำ
    ดาลี่เปรียบเปรยฉากร่วมรักนี่กับ 'สัตว์สองตัว' ที่อะไรๆดู 'ดิบเถื่อน' แสดงออกผ่านการเคลื่อนไหว และ การหายใจของทั้งสองฝ่าย



    (จบสปอยล์ค่ะ)



    รักในใบหน้าที่มองไม่เห็น

    เมื่อให้เลือกภาพๆหนึ่งจากหนังที่ตรึงใจสำหรับเธอ ดาลี่ก็เลือกภาพในโปสเตอร์ ที่มาร์กาเรตกำลังกอดโจ เด็กหนุ่มที่เธอมองไม่เห็นหน้า ซึ่งเธออาจจะคิดว่าเขาเป็นลูกชายเธอก็ได้

    Poster หลักของ Mammal

    เพราะแท้จริง ดาลี่นิยาม Mammal เป็นเรื่องราวความรัก ของคนเป็นแม่ที่พยายามรักลูกชายเมื่อสายไปแล้ว 



    สรุปว่า...


    รีวิวในเว็บไซต์ track การดูหนังอย่าง Letterboxd แตกออกเป็นสองเสียง ทั้งคนที่บ่นว่าดูหนังแล้วเบื่อ เสียเวลา กับคนที่ยืนยันว่าไม่ควรพลาดการแสดงอันน่าจดจำของ ราเชล หรือ แบร์รี่ 


    แน่นอนว่าเราอยู่ในเสียงหลัง ถ้าคุณใจเย็นกับหนัง ค่อยๆให้ชีวิตของราเชลคลี่คลายไปต่อหน้า และตั้งใจเก็บรายละเอียดการแสดงของนักแสดงทั้งสอง Mammal จะให้คุณมากกว่าที่คิด.


    รวมเด็ดเกร็ดหมาป่าน้อย

    รีเบคก้าร์ และ แบร์รี่ ณ Sundance 2016 (1)
    • แบร์รี่ให้สัมภาษณ์ว่า นานๆที เขาถึงจะเล่นหนังไอริช เพราะพยายามจะขยาย 'range' ความสามารถในการแสดงของตัวเอง 
    • เมื่อถูกถามว่าค้นพบอะไรเกี่ยวกับระหว่างถ่ายทำ ดาลี่ก็ตอบว่า "แบร์รี่เป็นเด็กทะเล้นทะลึ่งคนหนึ่ง แต่นั่นก็คือเสน่ห์หลักของเขา" (แบร์รี่หัวเราะใหญ่ -- แต่ก็ไม่น่าแปลกใจสำหรับแฟนคลับแบร์อย่างเรา555)

    รีเบคก้าร์ และ แบร์รี่ ณ Sundance 2016 (2)
    • ส่วนแบร์รี่ตอบว่า "ผมพบว่าผมเป็นเด็กติดแม่เลยละ ชอบการถูกดูแลจริงจัง" -- โอย ช่างน่ารัก น่าหยิกจริงๆคนนี้ (ถ้าลองย้อนกลับไปประวัติของเขา จะพบว่าแบร์รี่เสียแม่ไปแต่เด็ก และผ่านบ้านอุปถัมถ์มาห้าหลัง ก่อนเขาและพี่ชายจะถูกเลี้ยงโดยคุณยายจนโต เราเลยแอบเศร้ากับประโยคนี้อยู่เล็กๆ)
    • แบร์รี่เสริมว่า เขาเตรียมตัวแสดง ศึกษาตัวละคร​ 'โจ' โดยขอให้คุณยายเขียนคำถามต่างๆให้ แล้วตอบคำถามขณะสวมบทเป็นโจ แต่ก็โยนอะไรๆที่เคยคิดไว้ทิ้ง ตอนอยู่หน้ากล้อง เพื่อความเป็นธรรมชาติที่สุดอีก (ดูจะสนิทกับคุณยายมากๆ น่ารักอีกแล้วนะแบร์รี่!)
    • อีกอย่างที่ทำให้คิดถึง 'ความเป็นแบร์รี่' มากๆ คือการเชื่อมโยงสัตว์กับตัวละครที่เล่น แบร์รี่เปรียบโจเป็นจิ้งจอก เมื่อดาลี่อธิบายตัวละคร 'โจ' ให้แบร์รี่ฟังว่าเป็น 'สัตว์ดุร้าย' 

    รีเบคก้าร์ และ แบร์รี่ ณ Sundance 2016 (3)
    แต่แบร์รี่แอบบอกว่า "ผมชอบกลายเป็นจิ้งจอกตลอดเลย!"

    (อ้าว ไม่เป็นหมาป่าแล้วหรอ*

    *นามสกุล คีโอแกน หมายถึง หมาป่าในภาษาไอริช ค่ะ)


    ส่งท้าย

    ขอบคุณที่สนใจอ่านนะคะ ​<3

    แวะมาคุยกันได้เสมอที่ twitter: @cineflectionsx  ค่ะ



    x

    ข้าวเอง.

Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in