เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
รีวิวเว้ย (3)Chaitawat Marc Seephongsai
พระเจ้าท้ายสระ ฉบับพรหม (ไม่) ลิขิต By กำพล จำปาพันธ์
  • รีวิวเว้ย (1422) ในช่วงเวลาที่กระแสของละครเรื่อง "บุพเพสันนิวาส" ขึ้นสู่กระแสสูงในช่วงของการออกฉายเมื่อ พ.ศ. 2561 และส่งผลให้คนทั้งบ้านทั้งเมืองพูดจาภาษาออเจ้า และหันมาแต่งตัวย้อนสมัยให้คล้ายกับตัวละครในช่วงสมัยแผ่นดิมสมเด็จพระนารายณ์ และหลังจากนั้นต่อมาได้มีการสร้างบุพเพสันนิวาส 2 และกระทั่งนำมาสู่ละครอีกบทหนึ่งเรื่อง "พรหมลิขิต" ที่บอกเล่าเรื่องราวขอวตัวละครต่อจากช่วงเวลาบุพเพสันนิวาสมาสู่ยุคแผ่นดินของ "พระเจ้าท้ายสระ" เป็นที่น่าสนใจว่ากระแสของละครสามารถสร้างความรับรู้และความสนใจให้กับสังคมวงกว้างหันกลับมาสนใจประวัติศาสตร์ ผู้คน วิถีชีวิตในช่วงเวลาดังกล่าว หากแต่การนำเสนอในภาพของละครก็อาจจะมีจ้อจำกัดที่อาจจะสร้างความรับรู้ที่คลาดเคลื่อนให้กับผู้คนที่เป็นแฟนละคร กระทั่งในช่วงเวลาที่ผ่านมามีหลายคนเสนอความเห็นว่า "อยากย้อนกลับไปใช้ชีวิตใจช่วงเวลาดังกล่าว" น่าสนใจว่าหากย้อนเวลากลับไปได้แบบตัวละครจริง จะมีสักกี่คนที่เอาชีวิตรอดได้ในช่วงปลายสมัยอยุธยา
    หนังสือ : พระเจ้าท้ายสระ ฉบับพรหม (ไม่) ลิขิต
    โดย : กำพล จำปาพันธ์
    จำนวน : 208 หน้า
    .
    "พระเจ้าท้ายสระ ฉบับพรหม (ไม่) ลิขิต" ในชื่อเต็ม ๆ ของหนังสือว่า พระเจ้าท้ายสระ ฉบับพรหม (ไม่) ลิขิต: การเมืองการค้าอยุธยาก่อนเสียกรุงฯ เป็นหนังสือที่บอกเล่าเรื่องราวช่วงเวลาของอยุธยาสมัยพระเจ้าท้ายสระ ที่หยิบเอารูปแบบของการเขียนและการเล่าเรื่องมาผูกโยงเข้ากับวิธีและลำดับการเล่าเรื่องของนวนิยายเรื่อง "พรมลิขิต" ต้นฉบับของหนังสือที่ก่อนจะทำเป็นละครเรื่องพรหมลิขิตที่บอกเล่าเรื่องราวของตัวละครในสมัยพระเจ้าท้ายสระ โดยหยิบเอาเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ต่าง ๆ มาขยายและแต่งเติมเพื่อให้ได้รสชาติของความเป็นนวนิยาย โดยที่ "พระเจ้าท้ายสระ ฉบับพรหม (ไม่) ลิขิต" ทำหน้าที่เป็นด้านกลับเพื่อนำเสนอมุมมองและข้อเท็จจริงผ่านหลักฐานทางประวัติศาสตร์ เพื่อให้ผู้อ่าน/ผู้ชมละคร ได้เข้าใจบริบทของยุคสมัยพระเจ้าท้ายสระได้มากยิ่งขึ้น ดังที่ปรากฏอยู่ในคำนำของหนังสือเล่มนี้ความว่า
    .
    "สำหรับเล่มที่อยู่ในมือท่านผู้อ่านนี้ การนับเป็นมิติใหม่ของการเขียนประวัติศาสตร์ เพราะเป็นการอภิปรายประเด็นเกี่ยวข้องกับนวนิยายและละคร ที่แม้จะอยู่ภายใต้ขนบอิงประวัติศาสตร์ แต่ประวัติศาสตร์ที่ว่าก็ไม่ใช่ง่ายเลยที่จะอิง เอาไปใช้ปรุงแต่งให้ได้อรรถรสอย่างบริบูรณ์ การทำงานชิ้นนี้จึงเป็นการทำงานในลักษณะกับหัวเป็นท้าย คือแทนที่จะทำขึ้นมาก่อนอื่นใดทั้งหมดทั้งมวล กลับต้องมาทำหลังจากนวนิยายถูกแปลงเป็นละครแล้ว นอกเหนือจากการเขียนล้อไปกับนวนิยายแล้ว ก็เป็นโอกาสดีที่ผู้เขียนได้คิดอะไรต่อมิอะไรจากงานอื่น ๆ ที่เคยเขียนเกี่ยวกับประวัติศาสตร์สมัยอยุธยา ... ผู้เขียนจึงแบ่งการนำเสนอออกเป็น 3 ภาค โดยภาค 1 จะเป็นการอภิปรายประเด็นตามที่มีการนำเสนออยู่ในพรหมลิขิต ภาค สอง เป็นการอภิปรายประเด็นสาระสำคัญอื่นๆที่ปรากฏในหลักฐานต่างๆเกี่ยวกับราชการสมเด็จพระเจ้าท้ายสระ และภาค 3 เป็นบทสรุปและส่งท้าย" (คำนำผู้เขียน) .
    วิธีการลำดับเรื่องของช่วงเวลาประวัติศาสตร์ในสมันพระเจ้าท้ายสระของ "พระเจ้าท้ายสระ ฉบับพรหม (ไม่) ลิขิต" แบ่งการนำเสนอออกเป็น 3 ภาค ซึ่งในแต่ละภาคของหนังสือมีการร้อยเรื่องราวต่าง ๆ เข้าไว้ด้วยกัน ผ่านการนำเอาหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ผ่ายหลักฐานชิ้นต่าง ๆ มาฉายภาพบริบทและความเป็นไปของสังคมในช่วงเวลานั้น ๆ ให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น และในหลายจุดก็ชี้ให้เห็นถึงส่วนที่ขาดพร่องไปที่นวนิยายหรือละครไม่สามารถบอกเล่าได้ (มิเช่นนั้นจากละครจะกลายเป็นสารคดี) โดยที่เนื้อหาทั้ง 3 ภาคของ "พระเจ้าท้ายสระ ฉบับพรหม (ไม่) ลิขิต" แบ่งเป็นดังนี้
    .
    ภาค 1 บทนำแหวกม่านมายาอดีตแสนหวาน "ยุคบ้านเมืองดี" 
    .
    ภาค 2 อยุธยา-อุษาคเนย์: การเปลี่ยนผ่านของยุคสมัย เมื่อปลายพุทธะศตวรรษที่ 23 (ต้นคริสต์ศตวรรษที่ 18) 
    .
    ภาค 3 บทสรุปและส่งท้าย ดูหนังดูละครแล้วคิดพินิจอดีตและอนาคต ละครจบ (แต่) ประวัติศาสตร์หาได้จบด้วยไม่ .
    "พระเจ้าท้ายสระ ฉบับพรหม (ไม่) ลิขิต" ไม่ได้ถูกเขียนขึ้นเพื่อชี้ถูก-ผิด ให้กับบทละคร หรือผลงานนวนิยายแต่ประการใด หากแต่สิ่งที่ "พระเจ้าท้ายสระ ฉบับพรหม (ไม่) ลิขิต" มุ่งนำเสนอคือเรื่องของข้อมูลประวัติศาสตร์ที่จะช่วยขยายบริบทให้กับผู้อ่าน/ผู้ดู ได้เข้าใจบริบทของสังคมอยุธยาในช่วงเวลาของพระเจ้าท้ายสระได้ดียิ่งขึ้น และช่วยขยายขอบเขตความเข้าใจว่าพระเจ้าท้ายสระทรงมีปัญหาอะไรกับการกินปลาตะเพียน แน่นอนว่าการอ่าน "พระเจ้าท้ายสระ ฉบับพรหม (ไม่) ลิขิต" จะช่วยให้เราเห็นภาพรวมและบริบทที่ละครเรื่องพรมลิขิต (และรวมไปถึงบุพเพสันนิวาส) กำลังเล่า แต่การทำความเข้าใจข้อมูลประวัติศาสตร์ก็ไม่ได้ทำให้ความสนุกของละครลดน้อยลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเราดูอย่างคนรู้และรับได้ว่านั่นคือละครที่สะท้อนอีกด้าน อีกมุม ของประวัติศาสตร์ ที่ลำพังตัวประวัติศาสตร์เองก็มีเรื่องร่าวจากหลายด้านหลายมุมอยูาแล้วเป็นทุนเดิม

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in