เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
รีวิวเว้ย (3)Chaitawat Marc Seephongsai
ย้อนแย้ง แยบยล: บทวิเคราะห์ประเด็นการศึกษาไทย By อดิศร จันทรสุข บก.
  • รีวิวเว้ย (1339) ตอนเล็ก ๆ เคยท่อง "เด็กเอยเด็กดี" กันไหมครับ "เด็กเอ๋ยเด็กดี ต้องมีหน้าที่สิบอย่างด้วยกัน หนึ่ง นับถือศาสนา สอง รักษาธรรมเนียมมั่น สาม เชื่อพ่อแม่ครูอาจารย์ สี่ วาจานั้นต้องสุภาพอ่อนหวาน ห้า ยึดมั่นกตัญญู หก เป็นผู้รู้รักการงาน เจ็ด ต้องศึกษาให้เชี่ยวชาญ ต้องมานะบากบั่น ไม่เกียจไม่คร้าน..." เยาวชนครรุ่นใหม่อาจจะไม่ทันกับเพลงหลอนหูที่เมื่อก่อนได้ยินให้เกือบทุกกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชน ใครจะไปคิดว่าเพลง "หน้าที่เด็ก" เพลงนี้จะมีที่มาตั้งแต่สมัยรัฐบาลจอมพล ป. และใช้กันต่อเนื่องยาวนานมาจนกระทั่งถึงยุคสมัยที่มีเพลง "ค่านิยม 12 ประการ" ออกมา แต่ถ้าเราพิจารณาในเนื้อหาของเพลงทั้ง 2 ให้ดีเราจะพบความแยบยลของการซ่อน Propaganda บางประการของรัฐไทยเอาไว้ในเพลง และแน่นอนว่าเมื่อมองออกไปให้ไกลกว่าเพลงเราจะพบว่ารอบ ๆ ตัวเราและหลายช่วงเวลาของการเติบโตมาไม่แน่ว่าเราอาจจะเติบโตขึ้นมาภายในและภายใต้ Propaganda หลาย ๆ ประการของรัฐอย่างยากที่จะหลีกหลบและปัดป้อง
    หนังสือ : ย้อนแย้ง แยบยล: บทวิเคราะห์ประเด็นการศึกษาไทย
    โดย : อดิศร จันทรสุข บรรณาธิการ
    จำนวน : 144 หน้า
    .
    "ย้อนแย้ง แยบยล: บทวิเคราะห์ประเด็นการศึกษาไทย" หนังสือที่เป็นผลผลิตจาก "โครงการวิจัยการสำรวจและรื้อถอนมายาคติทางการศึกษาในสังคมไทยปีที่ 2" ซึ่งก่อนหน้านี้โครงการวิจัยดังกล่าวได้ผลิตผลงานที่เป็นเสมือนคำถามชี้ชวนให้กับหลายคนได้ลองตั้งคำถามในเรื่องของระบบการศึกษาในสังคมไทยภายใต้เครื่องหมายคำถามตัวโต ๆ ว่า ระบบการศึกษาของสังคมแห่งนี้มันได้ซุกและซ่อนอะไรเราไว้ใต่พรมบ้าง "ถอดรหัสประเด็นการศึกษาไทย: ใต้พรมแห่งความดีงาม" (https://minimore.com/b/Us3Wj/630) และสำหรับ "ย้อนแย้ง แยบยล: บทวิเคราะห์ประเด็นการศึกษาไทย" คืองานชิ้นที่ 2 ที่จะชักชวนให้ผู้อ่านมาตั้งคำถาม กับความ "แยบยล" และ "ย้อนแย้ง" ในระบบการศึกษาไทย ที่ระบบถูกออกแบบมาให้เด็กทุกคนสมยอม โดยห้ามไม่ให้ตั้งคำถามกระทั่งบุคลากรทางการศึกษาเองก็ยังถูกห้ามมิให้สงสัยหรือกระทั่งตั้งคำถามต่อการกระทำของตัวเอง
    .
    โดยเนื้อหาของ "ย้อนแย้ง แยบยล: บทวิเคราะห์ประเด็นการศึกษาไทย" ได้มีการกล่าวถึงเนื้อหาของหนังสือเอาไว้ดังนี้ "...นำเสนอเพิ่มเติมประเด็นที่เกี่ยวข้องกับมายาคติทางการศึกษา ผ่าน 5 ประเด็นสำคัญ ประกอบด้วย ความย้อนแย้งของนโยบายประกันคุณภาพการศึกษาที่อยู่บนฐานอุดมการณ์เสรีนิยมใหม่ มายาคติด้านคุณธรรมความดีที่ปรากฏในฉากทัศน์ของระบบการศึกษา มายาคติว่าด้วยการศึกษาทางเลือก สำรวจร่องรอยมายาคติทางการศึกษากับประสบการณ์ของนักเรียนไทยผ่านการบ้าน และมายาคติเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์สมอง" .
    สำหรับเนื้อหาของ "ย้อนแย้ง แยบยล: บทวิเคราะห์ประเด็นการศึกษาไทย" แบ่งออกเป็น 1 บทนำ กับ 5 บทความทีทจะชวนผู้อ่านให้ตั้งคำถาม หาคำตอบ ถอด รื้อ เพื่อประกอบใหม่ในเรื่องของความเข้าใจที่มีต่อระบบการศึกษาไทย โดยเนื้อหาแบ่งออกเป็นดังนี้
    .
    บทนำ ความย้อนแย้งและแยบยลของมายาคติทางการศึกษาในสังคมไทย โดย อดิศร จันทรสุข

    (1) แข่งขัน รางวัล ประกวด ความย้อนแย้งของการศึกษาไทย ภายใต้นโยบายประกันการศึกษาฉบับเสรีนิยมใหม่ โดย กานน คุมพ์ประพันธ์
    .
    (2) ลอกคราบคุณธรรม จากนสร้าง 'เด็กดี' ที่ไร้ทางเลือก โดย กิตติรัตน์ ปลื้มจิตร .
    (3) ติดหล่มความกล้า กลัวการเปลี่ยนแปลง การศึกษาทางเลือกที่ไร้ทางเลือก มายาคติของการเรียนรู้กระแสรองบนโลกเสมอภาค โดย ไอยเรศ บุญฤทธิ์ และ กิตติ คงตุก .
    (4) กระเทาะเปลือกการบ้าน เหนื่อย นัก โหด อาจไม่สร้างประโยชน์การเรียนรู้ โดย บัณฑิต ศิริรักษ์โสภณ
    .
    (5) เจาะจักรวาล 'วิทยาศาสตร์สมอง' และการช่วงชิง 'ความจริง' ในโลกมายา โดย อัครา เมธาสุข และ สุรวืทย์ อัสสพันธุ์
    .
    "ย้อนแย้ง แยบยล: บทวิเคราะห์ประเด็นการศึกษาไทย" มิใช่แค่ชวนให้เราลองตั้งคำถามต่อความแยบยล และย้อนแย้งกับสิ่งที่แอบแฝงอยู่ในระบบการศึกษาของไทยเท่านั้น หากแต่สิ่งที่ปรากฏอยู่ในเนื้อหาของ "ย้อนแย้ง แยบยล: บทวิเคราะห์ประเด็นการศึกษาไทย" คือการชี้ให้เราเห็นถึงความเคยชินในหลายครั้งหลายหนที่เราสมยอมกับความแปลกแยกแอบแฝงของระบบการศึกษาที่มาจากการสร้างเกณฑ์มาตรฐาน มาตรวัดและหลักสูตรจากส่วนกลาง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของระบบการประเมิน ค่าตัวชี้วัด กิจกรรม ค่านิยม และอีกหลายสิ่งหลายอย่างที่ระบบการศึกษาสร้างความเคยชินให้กับใครหลายคนทั้งที่จริง ๆ แล้วความเคยชินเหล่านั้นอาจก่อนปัญหามากกว่าการนำพามาซึ่งผลประโยชน์ น่าสนใจว่าหากวันหนึ่งวันใดมาตรฐานการศึกษา หลักสูตรและตัวชี้วัดต่าง ๆ ในระบบการศึกษามิได้มาจากส่วนกลางหรือผู้กำหนดนโยบายจากกรุงเทพฯ หากแต่มาจากพื้นที่ ท้องถิ่น โรงเรียน ชุมชน ครูและผู้เรียนต่างเป็นผู้สร้างและเป็นเจ้าของหลักสูตรทางการศึกษาของตัวเองได้ น่าสนใจว่าระบบการศึกษาของไทยจะมีหน้าตาเป็นเช่นไร

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in