เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
รีวิวเว้ย (3)Chaitawat Marc Seephongsai
เจ้าชีวิต เจ้าสรรพสิ่ง By เมาริตซิโอ เปเลจจี แปล วริศา กิตติคุณเสรี
  • รีวิวเว้ย (1337) เราตั้งต้นคำถามหลังจากอ่านหนังสือเล่มนี้จบลงว่า "รัฐสมัยใหม่ของสยามในความรับรู้ของผู้คนในสังคมไทยมันเริ่มต้นขึ้นที่ตรงไหน ?" เราเลยลองพิมพ์คำถามลงไปตรง ๆ ในช่วงค้นหาของ Google ว่า รัฐสมัยใหม่ สยาม เริ่มเมื่อไหร่ น่าสนใจว่าคำตอบของคำถามมีแตกต่างออกไปมากมายหลายรูปแบบ หากให้จัดกลุ่มแบบรีบ ๆ เร็ว ๆ น่าจะจัดได้ 3 แบบ คือ (1) แบบที่บอกว่ารัฐสมัยใหม่ของสยามเริ่มต้นในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อพระองค์ได้รวมเอาหัวเมืองต่าง ๆ เข้ามาไว้ภายใต้การจัดระเบียบของสยามในช่วง พ.ศ. 2435 หรือเรียกง่าย ๆ ว่าเริ่มต้นเมื่อระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชเริ่มต้น (2) เริ่มต้นในสมัยรัชกาลที่ 5 เช่นเดียวกันหากแต่นับเอาช่วงเวลาของการ "ทำแผนที่" เข้ามาใช้เป็นตัวแบ่งเพราะการทำแผนที่ทำให้องค์ประกอบของการเป็นรัฐสมัยใหม่ที่ต้องประกอบไปด้วยการ มีประชาการ มีอาณาเขตที่ชัดเจน มีรัฐบาลที่ทำงานได้ และมีอำนาจอธิปไตย ครบถ้วนสมบูรณ์ และ (3) รัฐสมัยใหม่ของสยาม-ไทย เริ่มต้นเมื่อสิทธิสภาพนอกอาณาเขตของสยามถูกยกเลิกไป แนวทางในข้อคำตอบที่หยิบเลือกมานั้นเป็นเพียงหนึ่งในแนวทางที่ปรากฏอยู่ในช่องค้นหาของ Google หากใครสนใจก็ลองไล่อ่านคำตอบที่มีหลากหลายกันดูได้ด้วยตัวเอง นอกเหนือไปจากเรื่องของการเป็นรัฐสมัยใหม่แล้ว คำถามต่อมาคือสยาม-ไทย เริ่มวิถีชีวิตของความเป็นสมัยใหม่เพื่อความศิวิไลซ์เมื่อไหร่กัน ?
    หนังสือ : เจ้าชีวิต เจ้าสรรพสิ่ง
    โดย : เมาริตซิโอ เปเลจจี แปล วริศา กิตติคุณเสรี
    จำนวน : 352 หน้า
    .
    "เจ้าชีวิต เจ้าสรรพสิ่ง" ในชื่อรองว่า "การก่อร่างสร้างภาพลักษณ์สมัยใหม่ของสถาบันกษัตริย์สยาม" หนังสือที่ว่าด้วยเรื่องของรัฐสยาม กับการสร้างความเป็นสมัยใหม่ของรัฐภายหลังจากการรวมดินแดงต่าง ๆ ให้อยู่ภายใต้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชที่มีสยาม/กรุงเทพฯ เป็นแกนกลางทางอำนาจของพื้นที่ ภายหลังจากการรวมดินแดนต่าง ๆ ให้อยู่ภายใต้กลไกกำกับควบคุมของรัฐได้แล้ว "การสร้างความเป็นสมัยใหม่" เพื่อยกสถานะของดินแดนจึงกลายมาเป็นอีกภาระกิจสำคัญในช่วงเวลาดังกล่าว โดยที่ "เจ้าชีวิต เจ้าสรรพสิ่ง" คือการขยายภาพของสังคม ณ ช่วงเวลาดังกล่าวเพื่อให้ผู้อ่านได้เห็น เรียนรู้ เข้าใจความเปลี่ยนแปลงไปสู่ความพยายามในการเป็นรัฐสมัยใหม่ของสยามผ่านวิถีชีวิตของเจ้าผู้ปกครอง
    .
    โดยที่ "(1) ส่วนแรกของหนังสือเล่มนี้จะสำรวจการบริโภคและการนำเสนอตนเองอันเป็นวิธีที่ชนชั้นนำซึ่งปรับเปลี่ยนให้เป็นแบบสมัยใหม่ ใช้สร้างความรับรู้แบบไม่เกี่ยวกับตนเองควบคู่ไปกับการนำเสนอภาพลักษณ์แบบใหม่ที่บรรจงเลือกสรรและเผยแพร่ออกไปนอกราชสำนักผ่านการเสนอเชิงทัศนะ (2) ส่วนที่สอง มุ่งพิจารณาเขตดุสิตในกรุงเทพ ที่สร้างขึ้นช่วงปลายศตวรรษที่ 19 เพื่อใช้เป็นเขตพระราชฐานยุคใหม่ ซึ่งต่อมามีการสร้างอนุสาวรีย์ในโอกาสเฉลิมฉลองการครองราชย์ของรัชกาลที่ 5 (3) ส่วนสุดท้ายของหนังสืออภิปรายเกี่ยวกับมหรสพสาธารณะ ซึ่งแม้จะมีหลายประเภทและแสดงต่อผู้ชมต่างกลุ่มกันแต่ก็สำคัญพอกันในแง่การเผยแพร่ภาพลักษณ์สถาบันกษัตริย์ในฐานะสถาบันแห่งชาติ ซึ่งนำพาสยามไปสู่เส้นทางความก้าวหน้า ... อย่างไรก็ตามงานศึกษาชิ้นนี้จะจำกัดขอบเขตเพียงเรื่องธรรมเนียมปฏิบัติแบบใหม่ พื้นที่แบบใหม่ และมหรสพใหม่ ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับสถาบันกษัตริย์ช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ถึงต้นศตวรรษที่ 20 และมีผลสืบเนื่องถึงการสร้างสภาวะสมัยใหม่ทางสังคมในประเทศไทย และความเข้าใจที่คนทั่วไปมีต่อสถาบันกษัตริย์ ซึ่งทำให้การฟื้นฟูสถาบันกษัตริย์เกิดขึ้นได้อย่างน่าทึ่งนับตั้งแต่ทศวรรษ 1960 เป็นต้นมา" (น.7-8)
    .
    สำหรับเนื้อหาของ "เจ้าชีวิต เจ้าสรรพสิ่ง" แบ่งการบอกเล่าเรื่องราวในหนังสืออกเป็น 6 บทหลัก 1 บทนำ และ 1 บทส่งท้าย โดยที่เนื้อหาในแต่ละบทถูกจัดหมวดหมู่ออกเป็น 3 ตอนหลักที่จะบอกเล่าเรื่องราวของของสังคมสยามในช่วงกาลเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ความเป็นสมัยใหม่ โดยเนื้อหาของ "เจ้าชีวิต เจ้าสรรพสิ่ง" แบ่งเป็นดังนี้
    .
    บทนำ สถาบันกษัตริย์กับสภาวะสมัยใหม่
    .
    [ตอนที่ 1 วิถีปฏิบัติ]
    .
    บทที่ 1 วิถีการบริโภค รสนิยม และอัตลักษณ์ของชนชั้นนำสยามที่ปรับเปลี่ยนให้เป็นแบบสมัยใหม่
    .
    บทที่ 2 การนำเสนอและภาพแทนตัวตนของชนชั้นนำราชสำนัก
    .
    [ตอนที่ 2 พื้นที่]
    .
    บทที่ 3 สนามละเล่นชานเมือง
    .
    บทที่ 4 สนามแห่งความเรืองโรจน์
    .
    [ตอนที่ 3 มหรสพ]
    .
    บทที่ 5 การปรับรูปโฉมนาฏกรรมแห่งอำนาจ
    .
    บทที่ 6 บนเวทีโลก
    .
    บทส่งท้าย : สถาบันกษัตริย์กับความทรงจำ
    .
    เมื่ออ่าน "เจ้าชีวิต เจ้าสรรพสิ่ง" จบลง สิ่งหนึ่งที่เรามองเห็นคือเรื่องของ "กระบวนการ" ในการสร้างความเป็นสมัยใหม่ของสยามในครั้งอดีตว่าเหตุใดการสร้างความเป็นสมัยใหม่จึงเกิดขึ้น ซึ่งการนำเสนอมุมมองของ "เจ้าชีวิต เจ้าสรรพสิ่ง" คือการชักชวนให้ผู้อ่านตั้งคำถามถึงเรื่องของความสำคัญและความจำเป็นของการสร้างความเป็นสมัยใหม่ของสยาม และแน่นอนว่าเนื้อหาของ "เจ้าชีวิต เจ้าสรรพสิ่ง" ชักชวนให้ผู้อ่านตั้งคำถามกับชุดความรู้ที่รัฐไทยเคยยึดกุมวิธีการเล่าเรื่องทางประวัติศาสตร์ตามขนบที่รัฐพึงใจเอาไว้แต่เพียงผู้เดียว การมองปรากฏการณ์ของความเป็นสมัยใหม่ผ่านมุมมองของ "เจ้าชีวิต เจ้าสรรพสิ่ง" จึงเป็นอีกช่องทางหนึ่งให้กับผู้อ่านได้สร้างบทสนทนากับประวัติศาสตร์ของสังคม หากแต่ผู้อ่านประสงค์จะเชื่อถือชุดวิธีการเล่าประวัติศาสตร์แบบใดก็สุดแท้แต่ละบุคคล อีกทั้งคุณูปการณ์สำคัญของ "เจ้าชีวิต เจ้าสรรพสิ่ง" คือช่วยกระตุ้นให้เราลองกลับไปสอบทานและสร้างบทสนทนากับประวัติศาสตร์ของสังคมอีกครั้ง อีกครั้ง และอีกครั้ง ซึ่งการสอบทานและการสร้างบทสนทนาเป็นสิ่งที่พึงกระทำกับทุกชุดความรู้ที่เราเคยรำเรียนมาในครั้งอดีต

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in