ปฏิบัติการป่าล้อมเมือง จากเด็กเลี้ยงวัวบ้านๆ สู่ 120 ล้านวิว พงศ์—เทอดพงศ์ เภอบาล

คล้ายกับคลื่นใต้น้ำที่ค่อยๆ ก่อตัวขึ้นอย่างเชื่องช้าจนกลายเป็นคลื่นสึนามิใหญ่ยักษ์มหึมา

และเป็นไปตามวิถีแบบป่าล้อมเมือง โดยเริ่มต้นจากหมู่บ้านเล็กๆ ในอำเภอป่าบอน จังหวัดพัทลุง สู่ระดับตำบล อำเภอ จังหวัด และก้าวสู่ระดับประเทศในที่สุด
แน่นอนว่า ถ้าพูดชื่อเพลง 'มหาลัยวัวชน' ของวงพัทลุง ที่มีคำสร้อยติดหูว่า “เราเด็กบ้านๆ เราเด็กเลี้ยงวัว” ออกไป คนอ่าน giraffe กลุ่มใหญ่ในเมืองกรุงอาจส่ายหน้าบอกว่าไม่รู้จัก


แต่ช้าก่อน—ก่อนที่จะเบือนหน้าหนีคอลัมน์นี้ไป ด้วยไม่คุ้นหูคุ้นชื่อของหนุ่มมาดเข้มนักร้องนำแห่งวงพัทลุงอย่าง พงศ์—เทอดพงศ์ เภอบาล เราขอให้คุณหยิบสมาร์ตโฟนของตัวเองขึ้นมา เข้ายูทูบ และลองกรอกคำว่า 'มหาลัยวัวชน' ลงไปในช่องค้นหา ลากลงด้านล่างช้าๆ เพื่อดูยอดวิว 
ครับ! ยอดวิวในวันนี้ของเพลง มหาลัยวัวชน จาก วงพัทลุง ได้พุ่งทะลุตัวเลข 120 ล้านวิวไปไกลโข
เป็นยอดวิวมหาศาลที่ไม่ได้ทำกันง่ายๆ วงดนตรีระดับแถวหน้าของเมืองไทยยังยากที่จะทำ พูดให้เวอร์ไปกว่านั้นก็ต้องบอกว่า นี่คือยอดวิวที่ใกล้เคียงกับเพลงของนักร้องชื่อดังระดับโลกเลยทีเดียว 
ไม่! ไม่ใช่ยอดวิวที่เกิดจากการปั๊มยอดเพื่อสร้างกระแส เพราะกว่าจะก้าวมาถึงจุดนี้ วงพัทลุงที่ออกตัวกับเราว่า พวกเขาเริ่มต้นจากต้นทุนต่ำเตี้ยเรี่ยดินตามสไตล์บ้านๆ ขนานแท้ ต้องใช้เวลาสั่งสมชื่อเสียงแบบปากต่อปากยาวนานกว่าสองปี นับตั้งแต่เพลงมหาลัยวัวชน ถูกปล่อยออกมาในวันที่ 11 มกราคม 2014 จนชื่อวงที่ตั้งชื่อตามจังหวัดบ้านเกิดกลายเป็น 'ของดี' อีกหนึ่งสิ่งของจังหวัดพัทลุง รองจากสถานที่ท่องเที่ยวยอดฮิตอย่าง 'ทะเลน้อย' ก็ว่าได้
และถ้าวันนี้คุณมีโอกาสได้ไปเที่ยวภาคใต้ แต่ยังไม่เคยได้ยินเพลงที่ร้องว่า “เราเด็กบ้านๆ เราเด็กเลี้ยงวัว” เข้าหูเลย เราคงต้องกล่าวคำว่า เสียใจ และบอกว่า คุณยังมาไม่ถึงภาคใต้อย่างแท้จริง
ทั้งหมดทั้งมวลไม่ใช่การอวดอ้างสรรพคุณเกินจริงเพื่อบอกขายบทสัมภาษณ์ แต่ปรากฏการณ์ที่เราขอตั้งชื่อให้ว่า 'ปรากฏการณ์เด็กบ้านๆ' นี้คือของจริง เป็นของจริงยิ่งกว่าภาพจากสื่อกระแสหลักที่มักสะท้อนความนิยมของคนจากส่วนกลางในเมืองใหญ่ไม่กี่จังหวัดออกมา ทว่าวิถีชีวิตบ้านๆ ที่ซ่อนปัญหาเชิงโครงสร้าง ทั้งเรื่องเศรษฐกิจและโอกาสทางการศึกษาไว้ในเนื้อหาแบบอกหักรักคุดต่างหาก คือภาพแทนอันเป็นใจกลางสำคัญของประเทศไทยที่มีทั้งหมด 76 จังหวัด 
มองให้ลึกไปกว่าสุนทรียะในการฟังเพลง นี่คือปรากฏการณ์ที่กระชากความภูมิใจลงมาจากไหล่คนในเมืองครั้งมโหฬาร เป็นปฏิบัติการป่าล้อมเมืองที่สำเร็จอย่างยิ่งใหญ่ ไม่เชื่อลองเสิร์ชเพลงฮิตจากวงกระแสหลักในดวงใจ แล้วลองเปรียบเทียบกับเสียงตอบรับของบทเพลงจากเด็กบ้านๆ วงนี้ดูก็ได้

ตอนนี้แฟนเพลงกำลังตื่นเต้นกับเพลง 'มหาลัยวัวชน' เวอร์ชั่นภาษาอังกฤษ เล่าถึงที่มาที่ไปของมันหน่อยว่าเป็นอย่างไร
หลังจากมหาลัยวัวชนมียอดวิวในยูทูบขึ้นไปถึงร้อยล้านวิว เราก็มานั่งคิดกันว่าอยากทำสิ่งพิเศษขึ้นมาสักอย่าง คิดไปคิดก็มาลงตัวที่พี่โอ (โอ พารา—ทิวากร แก้วบุญส่ง เจ้าของค่าย Parahut) รู้จักกับอาจารย์สอนภาษาอังกฤษคนหนึ่งที่อาศัยอยู่ในชุมชนป่าบอน ซึ่งเขาจบมาจากออสเตรเลีย เลยเอาเข้าไปปรึกษาว่าจะมีความเป็นไปได้ไหมที่จะทำเพลงมหาลัยวัวชนออกมาเป็นภาษาอังกฤษ เพราะเราอยากเอาเรื่องราวที่เป็นวิถีชนบทของตัวเองมานำเสนอให้ชาวต่างชาติรับรู้ ซึ่งนี่เป็นเหมือนการปิดอัลบั้มมหาลัยวัวชนไปในตัว แล้วตอนนี้ เราปล่อยมหาลัยวัวชนเวอร์ชั่นภาษาอังกฤษออกไปประมาณ 100 ชั่วโมง ยอดวิวก็ขึ้นไปที่ล้านกว่าวิวเข้าไปแล้ว (ยิ้ม) ผมคิดว่าก่อนหน้านี้เราค่อนข้างมีฐานแฟนคลับพอสมควร พอเราลงมือทำสิ่งแปลกใหม่ มันก็เลยทำให้เป็นที่กล่าวถึง

ทำไมเนื้อร้องของเพลง 'มหาลัยวัวชน' ต้องนำความน้อยเนื้อต่ำใจในความผิดหวังเรื่องความรักของ 'เด็กเลี้ยงวัว' (เด็กชนบท) ไปเปรียบเทียบกับ 'เด็กหาดใหญ่' (เด็กในเมือง)
พี่โอคนแต่งเพลงนี้แกบอกว่า แกมีพล็อตเรื่องของเพลงนี้ติดอยู่ในหัวมานานมากประมาณสองปี เขาอยากแต่งเรื่องราวที่เอาใจเด็กชนบท เพราะแกเคยไปใช้ชีวิตอยู่จังหวัดภูเก็ต (ในเมือง) สิบกว่าปี แต่เมื่อมองกลับมา เด็กในชนบทก็ยังใช้ชีวิตกันเหมือนเดิม เพราะส่วนใหญ่คนในชุมชนตอนนั้น ผู้หญิงมักจะได้รับการศึกษามากกว่าผู้ชาย อย่างผู้ชาย พอจบ ม.3 ก็มักออกมาทำงานช่วยพ่อแม่กรีดยาง เลี้ยงวัว ซึ่งนั่นเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดปัญหาในชีวิตรักของเด็กบ้านนอก คือพอผู้หญิงได้ไปเรียนไกลๆ เรียนสูงๆ เขาจะเห็นว่าสังคมในเมืองมันดีสำหรับเขา ส่วนผู้ชายก็ยังใช้ชีวิตตามวิถีชนบทเหมือนเดิม ตอนเช้าออกไปจูงวัวชน ตอนเที่ยงตัดหญ้าให้วัวกิน ตอนเย็นพาวัวเข้าคอก วนเวียนอยู่แค่นั้น แกเลยแต่งเพลงนี้ขึ้นมาเพื่อเป็นตัวแทนของเด็กบ้านๆ แบบผม

"โลกยุคนี้เป็นโลกยุคโซเชียลมีเดียที่อะไรๆ มันรวดเร็ว ทำให้เราเห็นสิ่งไกลตัวได้ง่ายขึ้น มองผ่านหน้าจอ แล้วคิดว่าตัวตนในจอคือตัวตนที่แท้จริง โดยลืมคิดไปว่า สภาพความเป็นอยู่รอบกายมันไม่ใช่ ทุกคนพยายามถ่ายรูปให้เซ็กซี่ เพื่ออยากจะได้ไลก์เยอะๆ อยากให้คนอื่นยอมรับ คนกดไลก์น้อยก็เสียใจ โกรธ หลงลืมไปว่า เฟซบุ๊กมันเป็นแค่อีกส่วนหนึ่งของชีวิต แต่ตัวตนของเรามากกว่าครึ่งนั่งอยู่ตรงนี้"

สำหรับคุณที่เป็นคนถ่ายทอดบทเพลง อยากให้ผู้หญิงมองเห็นอะไรในตัวเด็กบ้านๆ แบบตัวเอง
อยากให้มองเห็นว่า จริงๆ แล้ว ความรักแท้ ความจริงใจ มันวัดกันไม่ได้ที่หน้าตา เงินทอง หรือการศึกษา อยากให้เด็กบ้านเดียวกันเห็นใจ และมองเห็นคุณค่าในความเป็นมนุษย์ของเด็กบ้านๆ แบบเรา อย่างน้อย สำหรับคนที่ได้มีโอกาสดีๆ ก้าวไปสู่การศึกษาที่ดีกว่า เราก็ไม่อยากให้เขามองกลับมา แล้วดูถูกคนบ้านเดียวกัน เพราะทุกคนเป็นมนุษย์เหมือนกัน

แต่เราก็ไม่สามารถปฏิเสธได้ใช่ไหมว่า ถ้าอยากให้ชีวิตคู่ราบรื่นมันก็ต้องพึ่งพิงเงินทองและการศึกษา
ในความเป็นจริงเราก็เข้าใจว่า คนที่มีโอกาสจบปริญญา คงมีน้อยมากที่จะกลับมาเอาเด็กเลี้ยงวัวเป็นแฟน (หัวเราะ) แต่เราก็ไม่อยากเห็นชีวิตรักของใครต้องพังลง เพราะเขามีโอกาสที่ด้อยกว่า 


แต่ความจริงอีกอย่างที่หลายคนไม่รู้คือ วัวชนบางตัวมีราคาแพงกว่า รถ BMW ที่ปรากฏอยู่ในเอ็มวีเสียอีก
(หัวเราะ) ใช่ครับ ใช่

ชีวิตของคุณเปลี่ยนไปมากน้อยแค่ไหนตั้งแต่วงพัทลุงมีชื่อเสียงขึ้นมา
ในความรู้สึกของผม ผมคิดว่าชีวิตผมยังเหมือนเดิมนะ เป็นคนติดดิน บ้านๆ เหมือนเดิม แต่ถ้าเป็นเรื่องงาน ผมก็ต้องมีความรับผิดชอบมากขึ้น ในฐานะที่เราเป็นนักร้องเราต้องรู้จักดูแลแฟนคลับมากขึ้น

"ชื่อเสียงมันเป็นสิ่งไม่แน่นอน อีกประมาณสิบปีหรือห้าปีข้างหน้า เราก็ต้องกลับไปเป็นคนธรรมดาเหมือนเดิม มิตรภาพที่มีอยู่ เราก็ต้องรักษา ที่เข้ามาใหม่ เราก็ต้องรับตอบ เพราะถ้าวันหนึ่งผมไม่มีชื่อเสียงแล้ว ผมคิดว่าถึงตอนนั้นอย่างน้อยๆ ผมก็ยังมีมิตรภาพ"

ไม่ 'แค็ก' (ภาษาใต้แปลว่า หยิ่ง) ขึ้นเลยเหรอ
ไม่ครับ เวลากลับไปบ้านผมยังใช้ชีวิตเหมือนเดิม ยังไปช่วยพ่อแม่ตัดยาง ไปช่วยตัดสับปะรด ผมใช้ชีวิตเหมือนเดิมแบบนี้มีความสุขกว่า เวลากลับบ้านผมก็จะพยายามหาเวลาไปเยี่ยมพี่ๆ น้องๆ ญาติผู้ใหญ่ หรือกับเพื่อนๆ เราก็ยังเหมือนเดิม แต่ก็มีบ้างบางทีที่พอมาถึงจุดนี้ เพื่อนบางคนเขาก็จะห่างเหินไป เพราะเขาอาจคิดว่าเราดังแล้ว แต่ผมก็จะพยายามเข้าไปหา ไปบอกเขาว่าเรายังเหมือนเดิม ยังนั่งกินเหล้ากันได้เหมือนเดิม คือเมื่อก่อนผมก็เคยคิดนะว่า ถ้าเราดังขึ้นมา เราจะทำตัวยังไง แต่พอชีวิตดำเนินมาถึงจุดหนึ่ง  ผมรู้สึกว่ามันไม่มีอะไรต่างออกไปเลย

ตกใจหรืออึดอัดกับความโด่งดังของตัวเองไหม
ด้วยความที่เรายังเป็นเด็กก็ตกใจในขั้นหนึ่งครับ แต่โชคดีที่ผมมีพี่ๆ ในวงการคอยเตือน ตอนนี้ก็เริ่มนิ่งขึ้นเยอะแล้ว ผมจะรู้สึกว่ามันเป็นกำไรชีวิตมากกว่า คือถ้าผมไม่เป็นนักร้องคนเขาคงไม่มาแย่งถ่ายรูป ไม่มารุมผมอยู่แล้ว ในเมื่อผมได้โอกาสนี้มาแล้ว ผมก็แค่ทำมันให้ดีที่สุดแค่นั้นเอง แล้วก็พยายามทำตัวปกติ ให้คิดว่าเราเท่าคนอื่น คนอื่นเท่าเรา จะไม่พยายามคิดว่าตัวเองเป็นศิลปิน สมมติถ้าไม่มีเก้าอี้ คนดูคนฟังต้องนั่งบนพื้น เราก็พร้อมจะนั่งบนพื้นกับเขา—ชื่อเสียงมันเป็นสิ่งไม่แน่นอน อีกประมาณสิบปีหรือห้าปีข้างหน้า เราก็ต้องกลับไปเป็นคนธรรมดาเหมือนเดิม มิตรภาพที่มีอยู่ เราก็ต้องรักษา ที่เข้ามาใหม่ เราก็ต้องรับตอบ เพราะถ้าวันหนึ่งผมไม่มีชื่อเสียงแล้ว ผมคิดว่าถึงตอนนั้นอย่างน้อยๆ ผมก็ยังมีมิตรภาพ

ตอนทำเพลงแรกๆ คาดหวังว่าเพลงจะฮิตขนาดนี้ไหม
ไม่ได้คาดหวัง เพราะเราเริ่มทำเพลงจากการไม่มีต้นทุนอะไรเลย อาจจะขอแม่บ้าง ขอพี่โอบ้าง ตอนนั้นผมแค่อยากทำเพลง อยากมีเพลงสักเพลงที่เป็นเสียงของเรา สนองตัณหาของตัวเองแบบเด็กๆ ที่อยากเป็นนักร้องแบบทั่วไป คือเพลงในค่าย Parahut มันจะเป็นเพลงภาษาท้องถิ่น เราเลยไม่ค่อยลำบาก เพราะสามารถหยิบธรรมชาติ หยิบสิ่งที่อยู่รอบๆ มาเป็นวัตถุดิบได้ ไม่ได้ฝืนตัวเองให้เป็นแบบคนนั้นคนนี้ เสื้อผ้าที่ใส่ในเอ็มวีก็แต่งตัวเหมือนเด็กชนบททั่วไปคนหนึ่ง เอาผ้าขาวม้ามาคล้องคอ มาคลุมหัว สิ่งที่เราทำออกมามันค่อนข้างมีต้นทุนต่ำ แต่พอประสบความสำเร็จขนาดนี้ มันเลยทำให้เราภูมิใจกับสิ่งที่เราได้ถ่ายทอดออกไป คือตอนนี้มันเกินความคาดหมายไปเยอะมากแล้ว สิ่งที่เราทำได้คือรักษามาตรฐานของตัวเองให้ดีที่สุด พี่ๆ เขาจะสอนเราเสมอว่า การได้มาถึงจุดนี้มันก็ยากพอแล้ว แต่การที่จะรักษามันไว้น่ะยากยิ่งกว่า คือวันหนึ่งชื่อเสียงมันก็ต้องหมดไปอยู่แล้ว มันขึ้นอยู่กับเราว่า เราจะหาทางลงให้มันได้สวยขนาดไหน

ทำไมเพลงของคุณ โดยเฉพาะ มหาลัยวัวชน ถึงกลายเป็นเพลงที่คนชื่นชอบได้มากมายขนาดนั้น
คือด้วยการที่เราไม่ค่อยมีต้นทุนไปจ้างสื่อต่างๆ เราเลยต้องใช้โซเชียลมีเดีย ผมคิดว่าส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะโลกโซเชียลมีเดียที่กำลังมาแรง พอเราปล่อยเพลงที่มีเนื้อหาเข้าถึงคนหมู่มาก ฟังง่าย เข้าถึงอารมณ์ เข้าถึงตัวตน พูดถึงเรื่องจริง ฟังแล้วเห็นภาพออกไป เพลงมันเลยทำงานด้วยตัวของมันเอง เป็นเหมือนระบบป่าล้อมเมือง เริ่มต้นจากโด่งดังในหมู่บ้าน แล้วค่อยไประดับอำเภอ ไปจังหวัด แล้วค่อยๆ ข้ามภูมิภาค เป็นการส่งต่อกันแบบปากต่อปาก ช่วงแรกที่เพลงเพิ่งออกก็ไปขอเพื่อนในโรงเรียนให้ช่วยกันแชร์ (หัวเราะ)



เคยคิดไหมว่า ถ้าไม่ได้มาเป็นนักร้องเหมือนทุกวันนี้ ชีวิตของคุณจะเป็นอย่างไร
ผมพูดกับพี่โอเสมอว่า ถ้าผมไม่ได้เป็นนักร้อง ตอนนี้ผมคงตัดยางอยู่ เป็นเด็กแว้นไม่มีใครสนใจ กรีดยางเสร็จได้ค่าจ้างวันละ 50 บาท ก็คงพาสาวๆ ไปเที่ยวน้ำตก ไปกินส้มตำ (หัวเราะ) โพสเฟซบุ๊กคนคงกดไลก์ไม่ถึงสิบคน จากที่ตอนนี้มีคนกดไลก์ครั้งละสองสามหมื่นคน มีคนติดตามแสนสองแสน

เด็กๆ ที่ไม่มีโอกาสได้ศึกษาต่อในต่างจังหวัด พอไม่ได้เรียนต่อ บางส่วนก็มักรวมกลุ่มกันเที่ยวเตร่ ติดยาเสพติด อะไรในสังคมชนบทที่หล่อหลอมให้เกิดเหตุการณ์เหล่านี้
ผมคิดว่า มันเกิดจากความคิดของเขาที่มันว่างเปล่ามากกว่า เช่น เรียนจบมาแล้ว เป็นคนรักกีฬา แต่กีฬาก็ไม่เอา วิชาการก็ไม่เอา ดนตรีก็ไม่เอา ก็เลยต้องไปจับกลุ่มเพื่อทำให้ตัวเองรู้สึกไม่ว่างเปล่า คือถ้าเรามีความฝันในหัวใจ เช่น ผมชอบดนตรี ผมก็จะพาตัวเองเข้าไปเกาะกลุ่มกับคนที่ชอบดนตรีเหมือนๆ กัน มันก็เลยทำให้เราลืมเรื่องที่จะไปเกกมะเหรกเกเร และอีกส่วนหนึ่งก็เพราะสังคมต่างจังหวัด ที่ต้องยอมรับว่างานค่อนข้างหายาก ด้วยเศรษฐกิจของชนบทที่ไม่มีงานรองรับเพียงพอ มันเลยทำให้เกิดปัญหาตรงนั้น คืออย่าง Parahut ที่มีสถานที่ตั้งอยู่กลางสวนยาง จับเด็กในชุมชนใกล้เคียงกว่าครึ่งร้อยมาเล่นดนตรี มาสร้างงานให้ ก็เหมือนเป็นส่วนเล็กๆ ส่วนหนึ่งที่สร้างสรรค์สังคมตรงนั้นขึ้นมา

"ผมชอบสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ผมรู้สึกว่าผมไม่ได้ไปแค่เล่นดนตรีอย่างเดียว แต่ผมไปทำให้คนในพื้นที่ที่กำลังมีปัญหามีความสุข ผมรู้สึกว่าสายตาที่เขาจ้องมองมาที่ผมบนเวทีมันมีความสุขมากๆ เพราะในจังหวัดชายแดนภาคใต้จะไม่ค่อยมีวงดนตรีเข้าไปเล่นสักเท่าไหร่ คือในรายะละเอียดของค่าจ้าง พอมีคนจ้างเข้าไปเล่นในพื้นที่นั้น เขาอาจต้องเพิ่มค่าตัวเป็นสองเท่า บางทีเจ้าภาพก็ไม่มีกำลังจ่าย แต่อย่างเรา เราไปรับงาน เรารับค่าตัวปกติเลย"

ณ วันนี้ ที่คิวงานแน่นทุกวัน คุณแบ่งเวลาให้เรื่องความรักอย่างไร
จุดหนึ่งเขาก็ต้องยอมรับว่า ผมไม่ค่อยมีเวลาให้เขา ผมก็ต้องอธิบายให้เขาเข้าใจว่า ผมมีหน้าที่การงานที่ต้องรับผิดชอบมากขึ้น

แฟนคลับสาวๆ เข้ามาหาเยอะไหม
ผมเป็นคนวางตัวมากนะ ผมจะไม่ค่อยยุ่งกับเรื่องแบบนี้ ผมรู้สึกว่าชื่อเสียงตอนนี้มันเยอะมาก ผมไม่อยากเอาตัวเองไปทำลายชื่อเสียงตรงนั้น ผมอยากให้ชื่อเสียงมันหมดไปตามวันเวลาของมันเอง กับแฟนคลับเราก็อยู่กันเหมือนพี่เหมือนน้องมากกว่า

ตอนนี้ไปทัวร์มาแล้วเกือบทั่วประเทศแล้ว เท่าที่เคยไปมาคุณชอบจังหวัดไหนที่สุด
ผมชอบสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ผมรู้สึกว่าผมไม่ได้ไปแค่เล่นดนตรีอย่างเดียว แต่ผมไปทำให้คนในพื้นที่ที่กำลังมีปัญหามีความสุข ผมรู้สึกว่าสายตาที่เขาจ้องมองมาที่ผมบนเวทีมันมีความสุขมากๆ เพราะในจังหวัดชายแดนภาคใต้จะไม่ค่อยมีวงดนตรีเข้าไปเล่นสักเท่าไหร่ คือในรายะละเอียดของค่าจ้าง พอมีคนจ้างเข้าไปเล่นในพื้นที่นั้น เขาอาจต้องเพิ่มค่าตัวเป็นสองเท่า บางทีเจ้าภาพก็ไม่มีกำลังจ่าย แต่อย่างเรา เราไปรับงาน เรารับค่าตัวปกติเลย และไม่ใช่พอเล่นดนตรีเสร็จ เราจะรีบขึ้นรถตู้กลับนะครับ ถ้ามีผู้หลักผู้ใหญ่ชวนไปกินข้าวต่อ ไปเที่ยวน้ำตกต่อ เราก็พร้อมจะไปกับเขา เพื่อทำให้เขารู้สึกว่ามีคนพร้อมที่จะอยู่เคียงข้างเขา

คุณจะยอมรับไหมว่า ตอนแรกที่อยากร้องเพลง อยากเล่นดนตรี ภาพในหัวคืออยากเป็นนักร้องเท่ๆ แบบร็อกเกอร์ หรือบอยแบนด์ตามกระแสหลัก ไม่ได้ต้องการมุ่งมาทางแนวเพลงที่ใช้ภาษาท้องถิ่น
ในแง่วัยรุ่นเมื่อก่อนก็มีบ้างครับที่เราอยากเล่นเพลงร็อกตามกระแส ร้องเพลงสตริง อยากให้สาวๆ กรี๊ด (หัวเราะ) แต่การดำเนินชีวิตของเรา ผมก็ยังยึดถือการเป็นเด็กบ้านๆ มาโดยตลอด อยากอนุรักษ์ภาษาท้องถิ่นที่เป็นตัวตนของเราจริงๆ เอาไว้ แล้วเพลงแบบนี้มันก็สามารถถ่ายทอดวิถีชีวิตจริงๆ ของเราออกมาได้ แสดงภาพชีวิตของเราออกมา ไม่ได้ฝืนตัวเอง ไม่ใช่ว่าเรายังตัดยาง ยังเลี้ยงวัว แล้วไปทำตัวเองให้เหมือนนักร้องระดับแนวหน้าของประเทศ ต้องหาเสื้อผ้าราคาแพงๆ ต้องแหลงภาษากรุงเทพฯ เพื่อให้เหมือนเขา และอีกเหตุผลหนึ่งคือในความรู้สึกผมคือ เราคงไปแข่งกับเขาไม่ไหว เพราะมันไม่ใช่ตัวเรา คือไม่ใช่ว่าเพลงร็อก เพลงสตริงที่เราชอบเราจะเล่นไม่ได้นะ เวลาโชว์ เราก็เล่นได้ แต่แค่มันไม่ใช่ตัวตนของเราแค่นั้นเอง ไม่จำเป็นต้องไปเป็นเหมือนคนอื่น

เวลาไปออกรายการโทรทัศน์รู้สึกโกรธหรือหงุดหงิดบ้างไหมเวลาถูกนำสำเนียงท้องถิ่นไปล้อเป็นเรื่องตลก
ผมไม่โกรธนะครับ มันไม่ใช่ปมด้อย มันคือจุดขายของเรา คือก่อนที่จะนำเอกลักษณ์ของเราไปล้อ ลึกๆ เขาก็ต้องมีความสนใจในตัวเรา นั่นแปลว่า ก่อนที่คุณจะมาประชดประชันเรา คุณก็ให้ความสนใจเรามาเกินครึ่งแล้ว ผมเลยไม่กลัว ไม่คิดอะไรมาก คือถ้าเราไม่มีของดีจริงเขาก็คงไม่กล่าวถึง

รู้สึกอย่างไรที่เดี๋ยวนี้พ่อแม่ในภาคใต้หลายคนมักไม่สอนให้ลูกพูดภาษาท้องถิ่น แต่กลับสอนให้พูด 'ภาษากรุงเทพ'
ผมคิดว่าเป็นมานานแล้วนะ แล้วก็เยอะมากๆ ด้วย ส่วนตัวผมคิดว่ามันอาจไม่ค่อยจำเป็นเท่าไหร่ คือถ้าลูกๆ เติบโตแล้วไปใช้ชีวิตอยู่กรุงเทพฯ ก็คงมีประโยชน์บ้าง แต่ถ้าเขายังอาศัยอยู่ในชนบทผมคิดว่าไม่จำเป็น สมมติลูกคุณกลายเป็นคนเดียวที่พูดภาษากลางในกลุ่มเพื่อน 10 คน นั่นอาจไม่ใช่จุดเด่นนะ แต่จะกลายเป็นปมด้อยไปเลย พอมีคนถามว่า แม่อยู่ไหน—แม่อยู่ใต้ พ่อทำอะไร—พ่อตัดยาง แต่ตัวเองกลับพูดภาษากลาง ผมว่ามันดูแปลกๆ แม้แต่ชื่อที่ตั้งให้ลูกเดี๋ยวนี้ก็... น้องกอล์ฟซี่บ้าง น้องแม็กซี่บ้าง (หัวเราะ) คือจริงๆ มันก็แล้วแต่ความชอบแหละ ด้วยสื่อต่างๆ ที่คุณเสพ แล้วคุณชอบ คุณจะเอามาเลียนแบบบ้างมันก็ไม่ผิดหรอก



ภาวะแบบนี้มันเกิดขึ้นจากอะไร
อาจเพราะโลกยุคนี้เป็นโลกยุคโซเชียลมีเดียที่อะไรๆ มันรวดเร็ว ทำให้เราเห็นสิ่งไกลตัวได้ง่ายขึ้น มองผ่านหน้าจอ แล้วคิดว่าตัวตนในจอคือตัวตนที่แท้จริง โดยลืมคิดไปว่า สภาพความเป็นอยู่รอบกายมันไม่ใช่ ทุกคนพยายามถ่ายรูปให้เซ็กซี่ เพื่ออยากจะได้ไลก์เยอะๆ อยากให้คนอื่นยอมรับ คนกดไลก์น้อยก็เสียใจ โกรธ หลงลืมไปว่า เฟซบุ๊กมันเป็นแค่อีกส่วนหนึ่งของชีวิต แต่ตัวตนของเรามากกว่าครึ่งนั่งอยู่ตรงนี้

อีกมุมหนึ่ง คนในเมืองมักมองเห็นแต่ภาพความสวยงามของสังคมชนบท เห็นป่าเขาเขียวขจี ท้องฟ้าสีคราม ในฐานะคนชนบทตัวจริงอยากให้คุณช่วยยืนยันอีกทีว่า จริงๆ แล้วชนบทมันเป็นอย่างภาพฝันที่คนจากเมืองใหญ่จินตนาการไว้ไหม
  เวลาดูชนบทผ่านโทรทัศน์ มองเห็นทุ่งนา คนในเมืองก็มักพูดว่า โอ้ย อยากไปใช้ชีวิตอยู่ตรงนั้นจังเลย ดูสบายดี เห็นสวนยางก็บอกว่าชีวิตแบบนั้นเป็นชีวิตที่ใฝ่ฝันใช่ไหม แต่จริงๆ แล้วทุกอย่างมีอีกด้านเสมอแหละครับ หญ้าคามันก็ทำให้ผิวหนังเราแสบคัน ในสวนยางก็มีแต่ยุงเต็มไปหมด ไหนจะความเหนื่อยจากการต้องทำงานหนัก คือมันอยู่ที่ว่าเราจะยอมแลกหรือเปล่า เราจะรับกับธรรมชาติหรือสังคมที่มันเป็นแบบนั้นได้หรือเปล่า เพราะการที่จะใช้ชีวิตอยู่ในต่างจังหวัดอย่างพัทลุง ความสะดวกสบายที่คุณเคยชินมันต้องน้อยลงแน่ๆ อยู่แล้ว ซึ่งถ้ามองอีกมุมหนึ่ง เราก็เป็นนะ มันไม่ต่างกันเลย เพราะอย่างเวลาเด็กต่างจังหวัดแบบเรานึกถึงกรุงเทพฯ เห็นตึกรามบ้านช่องสวยๆ เห็นไฟวิบวับ เราก็จะคิดว่า สักวันหนึ่งถ้าเรามากรุงเทพฯ เราจะไปวิ่งเล่นตรงนู้น จะไปเที่ยวตรงนั้น แต่พอเรามาอยู่จริงๆ มันไม่เป็นตัวของเราเลย ลำบาก ร้อนก็ร้อน ฝุ่นก็เยอะ อยากเก็บตัวอยู่แต่ในห้อง ไม่อยากออกไปไหนเลย ทุกพื้นที่มันมีข้อดีข้อเสียของมัน ขึ้นอยู่ที่ว่าเราจะปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมตรงนั้นได้มากแค่ไหน