นักธุรกิจเจนวายเจ้าของฉายา 'เด็กวัดร้อยล้าน' เอก—จิรัฏฐ์ บูรพาพัฒนะกูล

พูดกันตรงๆ เอก—จิรัฏฐ์ บูรพาพัฒนะกูล บอกว่า เขาไม่ได้ชอบฉายานั่นเท่าไหร่หรอก

ก็ไอ้ฉายาที่เป็นเหมือนยี่ห้อเพื่อใช้โฆษณา จับคำว่า 'เด็กวัด' ซึ่งสกัดมาจากวิถีชีวิตของเขาที่ผูกพันกินอยู่หลับนอนในวัดแห่งหนึ่งถึง 14 ปี ไปผูกพ่วงโยงใยกับธุรกิจที่เขาทำ นำมูลค่าของเม็ดเงินเหล่านั้นมาขยายให้ใหญ่โต โดยใส่คำว่า 'ร้อยล้าน' เข้าไป จนเกิดภาพชวนฉงน ขัดแย้งในตัวเอง เพื่อทำให้ผู้คนหันมาสนใจ ผ่านหลักการทางการตลาดที่ทำให้เจ้าตัวกระอักกระอ่วนด้วยการตั้งฉายาให้เขาว่า 'เด็กวัดร้อยล้าน'



แน่นอน มันทำให้เขากลายเป็นที่รู้จัก เป็นหนุ่มฮอตคนหนึ่งในเวลาถัดมา และมีโอกาสต่างๆ วิ่งเข้าหามากมาย 
แต่แม้เขาจะเล่นละครมาแล้วหนึ่งเรื่อง มีบริษัทรับเหมาก่อสร้าง ธุรกิจซื้อขายที่ดิน ร้านทอง บริษัทไฟแนนซ์ อพาร์ตเมนท์ ร้านอาหาร รีสอร์ตเป็นของตัวเอง และเพิ่งแต่งงานไปเมื่อกลางเดือนมีนาคมกับนักแสดงสาว โบ—ธัญญะสุภางค์ จิรปรีชานนท์ แต่เมื่อต้องออกสื่อ หรือเดินไปที่ใด คำว่า 'เด็กวัดร้อยล้าน' ก็คล้ายยังเป็นภาระที่เขาต้องแบกไว้บนบ่าอยู่เสมอ
"มันทำให้เห็นว่า จริงๆ แล้วคนส่วนใหญ่ให้ความสนใจกับอะไร"
และใช่ คำตอบง่ายๆ นั่นคือ เงิน
ปฏิเสธไม่ได้หรอกว่า โลกทุกวันนี้เงินคือพระเจ้า ที่เรายังทำงานกันอยู่ก็เพื่อเงิน เราวิ่งไปข้างหน้าเพื่อคว้าเงิน หวังว่ามันจะบันดาลความสุขสมหวังให้แก่ชีวิต นี่เองที่ทำให้นักธุรกิจยุคใหม่กลายเป็นอะไรที่ไม่ต่างจาก 'ร็อกสตาร์' ยุคก่อน—บริษัทนี้กำไรสูง นักธุรกิจคนนั้นวิสัยทัศน์ก้าวไกล สตาร์ทอัพของหนุ่มคนนั้นกำลังรุ่ง ลองเล่นหุ้นอย่างเพื่อนคนนั้นดูดีไหม เผื่อจะได้รวยล้นฟ้าเหมือนเขาบ้าง หรืออะไรทำนองนั้น
และมันก็ดูยิ่งใหญ่ดีอยู่หรอก ที่เงินจำนวนหลักร้อยล้านดันไปอยู่ในกระเป๋าของชายหนุ่มผู้เคยเป็นเด็กวัดมาก่อน ชายหนุ่มที่ได้ฉายานี้มาครองตอนอายุไม่ถึง 24 ปี และวันนี้ในวัย 27 ปี เขาก็ยังไปได้ดีกับเส้นทางที่เขาเลือก
"คนอ่านข่าว จะอ่านให้ข่าวนี้ดีก็อ่านได้ อ่านให้ดังก็อ่านได้ อ่านให้ข่าวที่ดีกลายเป็นข่าวไม่ดีก็ทำได้ มันอยู่ที่คนจะเลือกเสพเลือกมองอย่างไร" 
แต่ก็นั่นล่ะ สิ่งที่แอบซ่อนอยู่ในตัวเขามากกว่าฉายา 'เด็กวัดร้อยล้าน' กลับดูเหมือนจะไม่ค่อยได้รับความสนใจ—ในเมื่อก็ปฏิเสธไม่ได้อีกเช่นกันว่า ผู้คนมักเลือกเสพ เลือกมอง เลือกสนใจแค่เงินทองในกระเป๋า และก็เป็นเงินทองในกระเป๋าของใครคนหนึ่ง ซึ่งถูกนำไปผูกพ่วงอยู่กับคำว่า 'เด็กวัด' ที่ภาพจำของคนส่วนใหญ่มักมองว่าด้อยโอกาสมากกว่าจะมองตัวตนอันแท้จริง ทั้งที่สิ่งที่เขาอยากให้คนเห็นคือฝีมือในการทำงานมากกว่าฉายา 
ดังนั้น เพื่อจะได้รู้จักเขามากขึ้น เมื่อนั่งคุยกัน คำถามเช่นว่า เขาไปเป็นเด็กวัดตั้งแต่ตอนไหน เงินร้อยล้านที่ว่าได้มาอย่างไร ตัวตนของเขาขัดแย้งกันเองหรือไม่ ในเมื่อคำว่า 'วัด' ดูเหมือนเป็นตัวแทนของสถานที่ที่พ้นห่างจากกิเลสอย่างเงิน และยิ่งเป็นเงินก้อนใหญ่ถึงร้อยล้าน! จึงจำเป็นที่จะต้องได้รับคำตอบ

หลังจากแต่งงานไปแล้ว ตอนนี้ชีวิตเป็นอย่างไร
เพิ่งจะผ่านมาได้สัปดาห์กว่าๆ เอง เลยยังไม่กล้าพูดว่ามันเป็นยังไง แต่ถ้าถามว่าหนึ่งสัปดาห์ที่ผ่านมาเปลี่ยนไปไหม เราคิดว่าเหมือนเดิมนะ ไม่มีอะไรแตกต่าง คือก่อนหน้านี้เราคุยกับแฟนไว้ว่า เราจะอยู่กันเหมือนเพื่อน ดึกๆ อยู่ด้วยกัน พอเช้ามาต่างคนต่างไปทำงาน

แล้วยังอยู่วัดอยู่ไหม
ยังอยู่วัดครับ คือบ้านผมที่สร้างเป็นเรือนหอ อยู่ในที่ดินติดวัดซึ่งผมซื้อไว้น่ะครับ เพราะฉะนั้นเรื่องความผูกผันเลยยังเหมือนเดิม ถ้าเป็นเมื่อก่อน เราจะนอนวัดทุกวัน ตอนนี้ย้ายมาอยู่บ้าน แต่กิจกรรมในวัดยังช่วยเหลือเหมือนเดิม

"คนรักเป็นมากกว่าหุ้นส่วนนะครับ ผมคิดว่า เขาแทบเป็นจะเป็นทั้งชีวิตของเรามากกว่าคำว่าหุ้นส่วน มันเหมือนเราต้องจอยหรือมาดีลกันถูกไหมครับ แต่ถ้าพูดว่า คนรักคือชีวิตทั้งชีวิต มันคือหัวใจที่เดินไปในทิศทางเดียวกัน แค่เราแยกร่างกันเท่านั้นเอง"

ตอนนี้เพิ่งอายุ 27 ไม่คิดว่าแต่งงานเร็วไปเหรอ
ผมคบกับแฟนมาสี่ปี ถ้าถามว่าแต่งงานเร็วไหม ด้วยสังคมสมัยนี้คงทำให้รู้สึกว่า โอ้โห อายุเพิ่ง 27 ทำไมถึงรีบแต่งจัง แต่ถ้าเราย้อนกลับไปสมัยก่อน รุ่นคุณพ่อของผม เขาก็แต่งงานตอนอายุประมาณนี้นะ คือผมมีความคิดตั้งแต่เด็กๆ แล้วว่า ถ้ามีโอกาสมีคู่ครองไวก็จะแต่งเลย เพราะถ้าเราพร้อม อายุมันไม่ใช่ปัญหา ไม่ใช่อุปสรรค ผมอยากแต่งงานในช่วงที่ตัวเองพร้อมที่สุด และใช่ที่สุด มันเป็นเรื่องของจังหวะ คือที่ผ่านมา ผมมีความฝันว่าอยากมีลูกที่อายุไม่ต่างกันมากนัก อยากเป็นเพื่อนเล่นกับลูกได้ แล้วก็ด้วยสังคมสมัยนี้ มันไม่เหมือนสังคมสมัยก่อน คือเราอยู่ในโลกยุคใหม่ ยุคดิจิทัล ทุกอย่างมันไปเร็ว ขนาดตอนนี้ เราคิดว่าเราเป็นวัยรุ่น แต่กระแสบางอย่างเรายังตามไม่ทันเลย แล้วถ้าเกิดเรามีลูก สมมติว่าลูกเราเล่นอะไรที่เราไม่รู้จัก เราก็จะพลาดในสิ่งที่เราอาจมีโอกาสจะสอนเขาได้ เพราะทุกอย่างมันมีทั้งบวกและลบ

ว่ากันว่าคนรัก 'เป็นหุ้นส่วนชีวิต' นิยามของคนรักสำหรับคุณเป็นแบบนั้นไหม 
สำหรับผม คนรักเป็นมากกว่าหุ้นส่วนนะครับ ผมคิดว่า เขาแทบเป็นจะเป็นทั้งชีวิตของเรามากกว่าคำว่าหุ้นส่วน มันเหมือนเราต้องจอยหรือมาดีลกันถูกไหมครับ แต่ถ้าพูดว่า คนรักคือชีวิตทั้งชีวิต มันคือหัวใจที่เดินไปในทิศทางเดียวกัน แค่เราแยกร่างกันเท่านั้นเอง ซึ่งผมคิดว่าเรื่องที่ยากที่สุด น่าจะเป็นเรื่องการปรับตัวในการใช้ชีวิตคู่ เพราะแต่ละคนก็โตมาในสถานะที่แตกต่างกัน ยกตัวอย่างเช่น เรื่องการทำงาน การที่เราจะมีลูกน้องหรือเพื่อนร่วมงานสักคน แน่นอนว่าเราต้องมาปรับจูนกัน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเราก็ต้องเลือกคนที่ใกล้เคียงหรือเข้ากับตัวเราได้มากที่สุด 



ไปที่เรื่องฉายา 'เด็กวัดร้อยล้าน' คำว่า 'ร้อยล้าน' มาจากไหน
มันมาจากนิตยสารเล่มหนึ่งเขาเห็นผมดูแลพระอยู่ในวัด แล้วถามผมว่าผมทำอะไรอยู่ ผมก็บอกว่าทำธุรกิจ เขาเลยสนใจ มีการพูดคุยเพื่อลงคอลัมน์ในนิตยสาร แล้วพอคุยกันปุ๊บ เขาก็รู้สึกว่าธุรกิจของเรามันมีมูลค่าหลักร้อยล้าน เพราะผมขายโรงงานโรงหนึ่งประมาณ 12-13 ล้าน มีทั้งหมดประมาณ 8-9 โรงงาน มูลค่าประมาณ 90 กว่าล้าน เขาเลยตั้งฉายาให้ว่า เด็กวัดร้อยล้าน  ซึ่งจริงๆ ธุรกิจมันเป็นเรื่องของการหมุนเงินต่อเงินไปเรื่อยๆ อยู่แล้ว คนจะชอบมองว่า โอ้โห ผมมีเงินเป็นร้อยล้าน แต่จริงๆ มันไม่ใช่นะครับ มันเกี่ยวกับเรื่องขนาดทางธุรกิจที่เราทำ หรือเงินที่เราบริหารมากกว่า หลังจากนั้นก็มีคนเรียกแบบนี้จนติดปาก

รู้สึกอย่างไรกับฉายานี้
จริงๆ ผมไม่ค่อยชอบคำว่าเด็กวัดร้อยล้านเท่าไหร่ เพราะถ้าพูดกันตรงๆ เราจะเห็นเลยว่า จริงๆ แล้วคนส่วนใหญ่เขาเลือกมองเราจากมุมมองไหน คนจะไปโฟกัสตรงไหน ซึ่งมันคือเรื่องเงินใช่ไหมครับ คนจะมองว่าเด็กวัดมักเป็นคนด้อยโอกาส นุ่งกางเกงขาดๆ อะไรแบบนี้ ซึ่งจริงๆ บ้านผมถือว่าเป็นครอบครัวฐานะปานกลางนะ เรามีพี่น้องหลายคน และทุกคนจะถูกสอนให้ทำงานมาโดยตลอด คือเมื่อก่อนบ้านผมขายของชำ พูดง่ายๆ เราต้องช่วยขายของ ต้องทำงานบ้านด้วยตัวเอง ที่บ้านไม่มีคนงาน ไม่มีคนใช้ ทุกคนต้องช่วยพ่อแม่ทำงาน แล้วบ้านผมอยู่ละแวกวัด ผมอยู่วัดมาประมาณ 14 ปีนะครับ คือถ้าย้อนไปเมื่อ 14 ปีก่อน เราไม่เคยคิดหรอกว่า เราจะมาเป็นเด็กวัด หรือใช้ชีวิตอยู่ในวัด แต่วัดที่อยู่ข้างบ้านผมค่อนข้างเป็นวัดมีชื่อ เจ้าอาวาสเป็นพระที่มีชื่อเสียงของละแวกนั้น ผมก็ไปกราบไหว้ท่านตามปกติ แต่พอได้พูดคุยกับท่าน เรารู้สึกว่าท่านเป็นพระที่แปลก คือทั้งๆ ที่เราเป็นเด็ก แต่คุยกับท่านได้ทุกเรื่อง สามารถปรึกษามุมมองต่างๆ ได้ แล้วท่านไม่ได้สอนเราแบบธรรมมะจ๋า คือสอนเรื่องการใช้ชีวิต พูดคุยกัน ท่านเข้าใจปัญหาของวัยรุ่น หลวงพี่จะสอนให้เรามองโลกตามความเป็นจริง เลยทำให้รู้สึกว่าจริงๆ แล้วศาสนาไม่ได้อยู่ไกลชีวิตเราเลย เราคุยกับหลวงพี่แล้วรู้สึกสบายใจ หลังจากนั้นเลยฝากตัวเป็นลูกศิษย์เหมือนคนทั่วไป แต่พออยู่ไปเรื่อยๆ คุยไปเรื่อยๆ สัปดาห์หนึ่งเข้าไปหาท่านหนึ่งวันบ้างสองวันบ้าง ผมก็เริ่มสนิทกับวัดมากขึ้น เริ่มไปขับรถให้ท่าน ดูแลท่าน แล้วมีอยู่วันหนึ่งท่านป่วย เราเลยเข้าไปดูแล และพบว่าตอนกลางคืนท่านไม่มีคนดูแล เราเลยคิดว่า ถ้าเกิดอะไรฉุกเฉินขึ้นมาจะทำอย่างไร เพราะหลวงพี่ไม่ได้พกโทรศัพท์ ตอนกลางวันท่านก็ทำงานหนัก เพราะท่านมีลูกศิษย์ให้ต้องดูแลเยอะ เราเลยพยายามเข้ามาช่วยส่วนนี้ จากนอนหนึ่งคืนก็เป็นสองคืนสามคืน ช่วงแรกๆ ก็ยังไป-กลับบ้านอยู่นะครับ แต่พอรู้ตัวอีกทีข้าวของทุกอย่างก็เริ่มมาอยู่วัดแล้ว (หัวเราะ)

"จริงๆ ผมไม่ค่อยชอบคำว่าเด็กวัดร้อยล้านเท่าไหร่ เพราะถ้าพูดกันตรงๆ เราจะเห็นเลยว่า จริงๆ แล้วคนส่วนใหญ่เขาเลือกมองเราจากมุมมองไหน คนจะไปโฟกัสตรงไหน ซึ่งมันคือเรื่องเงินใช่ไหมครับ"

แต่มันค่อนข้างขัดแย้งพอสมควร ระหว่างพื้นที่ของวัดที่เป็นภาพแทนของสถานที่ที่พ้นจากกิเลส กับตัวเงินร้อยล้านที่พูดตามตรงก็ต้องบอกว่าเป็นกิเลสชนิดหนึ่ง 
มันก็ขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละคนนะครับ แต่ปัจจุบันต้องยอมรับว่าโลกหรือสังคมมันเปลี่ยนไป เมื่อก่อนเราคนเข้าวัดเพื่อไปทำบุญ ไปทำกิจกรรมทางพระพุทธศาสนา ถูกไหมครับ แต่ตอนนี้โลกมันเปลี่ยนไปจริงๆ นะ คือคนเข้าวัดปัจจุบันถ้าไม่เดือดร้อน หรือถ้าไม่มองวัดเป็นที่พึ่งสุดท้าย ก็จะไม่เข้า สังเกตได้ว่าทุกวันนี้คนส่วนมากเข้าวัดเพื่อไปขอพร เพราะตัวเองอาจมีความเดือดร้อนทางด้านครอบครัวหรือการเงิน 
ซึ่งสำหรับตัวผมแล้ว ผมอยู่วัดก็จริง ผมดูแลศาสนาจริง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นผมไม่ใช่พระ ไม่ใช่นักบวช เราต้องมองโลกของความจริง ผมมีพ่อแม่ต้องดูแล แล้วตอนนี้ ผมก็มีครอบครัวของตัวเอง แต่ด้วยภาพของเราที่มีหน้าที่ของเด็กวัดด้วย มันเลยทำให้คนรู้สึกว่า คุณอยู่วัด ทำไมต้องมีเงินเป็นร้อยล้านด้วย แต่จริงๆ แล้ว ที่มีเงิน มันเกิดจากการความตั้งใจนะครับ มันเกิดจากการทำงาน ซึ่งจริงๆ ผมไม่ต้องดิ้นรนถึงขนาดนั้นก็ได้ ผมเป็นเด็กวัด แล้วไปทำงานออฟฟิศ เป็นลูกจ้างของคนอื่นก็ได้ แต่ความฝันของผมคือผมอยากมีธุรกิจเป็นของตัวเอง นั่นคือความฝัน คือสิ่งที่เราอยากทำมาตั้งแต่เด็ก จริงๆ ผู้หลักผู้ใหญ่ในไทย ถ้าไปศึกษาดูเราจะพบว่าพื้นเพของพวกเขาหลายคนก็มาจากเด็กวัดนะครับ แต่แค่สื่อฯ ไม่ได้ไปโฟกัสตรงนั้นแค่นั้นเอง แต่อย่างตัวผม อาจด้วยความเป็นคนรุ่นใหม่ บวกกับสังคมปัจจุบันที่เปลี่ยนไป ทุกคนมองวัดเปลี่ยนไป โลกเปลี่ยนไป การทำธุรกิจของเด็กวัดคนหนึ่งเลยกลายเป็นเรื่องแปลก 



คิดอย่างไรกับคนที่เข้าวัด เพื่อเข้ามาทำบุญแล้วฝันถึงสวรรค์ หรือทำบุญชาตินี้หวังรวยชาติหน้า 
จริงๆ มันห้ามไม่ให้คนคิดแบบนั้นยากนะครับ มันเหมือนคนซื้อล็อตเตอรี่แหละครับ เขาต้องการความหวัง ทุกใบที่เขาซื้อมันคือรางวัลที่หนึ่งสำหรับเขา—คนจนชอบเล่นหวย คนรวยชอบเล่นหุ้น คำนี้จริงนะ คนรวยซื้อหุ้นก็ต้องคิดว่าตัวนี้มันจะทำกำไรให้เรา มันคือความหวังเหมือนกัน ทุกคนอยู่บนความหวังทั้งนั้น ขึ้นอยู่กับว่าแต่ละคนจะหวังกับอะไร ถ้าถามผมว่าผมมีความหวังไหม ผมมีนะครับ แต่ด้วยความที่อยู่กับศาสนา อยู่กับหลวงพี่มา หลวงพี่สอนจะสอนให้ผมอยู่กับโลกความจริง คือวันนี้เราหาเงินได้เท่านี้ เราอยากจะใช้จ่ายกับสิ่งของที่แพงเกินกว่าเงินที่เราหามาได้ นั่นก็คือความฝัน แต่มันไม่ผิดนะที่เราจะมีความฝัน ซึ่งส่วนหนึ่งที่จะทำให้เรายังมีความฝัน นั่นก็คือความหวัง ส่วนจะหาอะไรมายึดเหนี่ยวเพื่อทำให้ชีวิตเดินหน้าต่อไปได้มันก็ขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของแต่ละคน

"สำหรับตัวผมแล้ว ผมอยู่วัดก็จริง ผมดูแลศาสนาจริง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นผมไม่ใช่พระ ไม่ใช่นักบวช เราต้องมองโลกของความจริง ผมมีพ่อแม่ต้องดูแล แล้วตอนนี้ ผมก็มีครอบครัวของตัวเอง แต่ด้วยภาพของเราที่มีหน้าที่ของเด็กวัดด้วย มันเลยทำให้คนรู้สึกว่า คุณอยู่วัด ทำไมต้องมีเงินเป็นร้อยล้านด้วย แต่จริงๆ แล้ว ที่มีเงิน มันเกิดจากการความตั้งใจนะครับ มันเกิดจากการทำงาน"

เด็กวัดอย่างคุณคิดอย่างไรที่ปัจจุบันนี้มีคนประกาศตัวว่าเป็นคนไร้ศาสนามากขึ้น
ไม่แปลกครับ มันทำให้เรารับรู้ว่า โลกกำลังเปลี่ยนไปจริงๆ ผมก็มีเพื่อนที่ไม่มีศาสนานะ โลกทุกวันนี้มันหลากหลายมากขึ้นน่ะครับ ไม่เห็นจำเป็นต้องไปบังคับใครให้นับถือสิ่งที่เขาไม่เชื่อ โบราณบอกว่า ความเชื่อเรื่องศาสนา การเมือง อย่าเอามาคุยกัน เพราะจะทำให้ทะเลาะกัน คือแต่ละคนมีความเชื่อของตัวเอง บางคนอาจเบื่อ เซ็ง เพราะเข้าไม่ถึงศาสนา เขาอาจจะไปโฟกัสเรื่องการใช้ชีวิต การทำงานมากกว่า ซึ่งนั่นคือสิทธิ์ของเขา

กลับไปที่เรื่องธุรกิจ จากเด็กวัด คุณมาทำธุรกิจเป็นของตัวเองได้อย่างไร
ธุรกิจแรกของผมคือธุรกิจนายหน้าซื้อขายที่ดิน มันเริ่มต้นมาจากการที่ได้อยู่ในวัดนี่แหละ เพราะเวลาคนมาปรึกษาเจ้าอาวาส เราเห็นความต้องการของคน บางคนมีเงิน แต่ไม่มีปัจจัย ไม่มีความรู้ทางด้านการลงทุน บางคนมีความรู้ด้านการลงทุน แต่ไม่พร้อมทางด้านปัจจัยเรื่องเงิน ซึ่งมันทำให้เรามองเห็นว่า ถ้าเราเข้าไปเป็นตัวกลางตรงนั้นเราน่าจะทำได้ เพราะเราอยู่วัดเราได้เจอคนเยอะ เจอคนที่มีความต้องการในรูปแบบที่แตกต่างกัน แต่ถ้าเกิดเราสามารถจับหลายๆ คนมาเป็นหุ้นส่วนกันได้ มันก็น่าจะโอเค—พอเราเป็นตัวกลาง เราก็จะได้ค่านายหน้า มันเริ่มจากตรงนั้นก่อน และขยับขยายไปเรื่อยๆ เช่น มีคนอยากสร้างโรงงาน อยากได้ที่ดิน เราก็ไปหาที่ดินมาเสนอเขา แล้วเมื่อขายได้ เจ้าของที่ดินก็อาจให้เงินเรามานิดๆ หน่อยๆ  เราเริ่มจากตรงนั้น แต่พอทำไปเรื่อยๆ มันกลับเวิร์ก มันทำให้เราคิดได้ว่า เฮ้ย จริงๆ เรื่องการทำงาน ถ้าเราเปิดใจเปิดมุมมองการทำธุรกิจ ถ้าเราไม่ปิดกั้นตัวเอง ทุกอย่างสามารถเป็นเงินเป็นทองได้หมด จริงๆ ทุกอย่างที่เข้ามาตอนนี้มันมาจากการทำงาน ยิ่งทำงาน เรายิ่งเจอช่องทาง เจอโอกาส และยิ่งเราทุ่มทั้งกายทั้งใจ คือเราอาจจะไม่ใช่คนเก่ง ไม่ได้จบมาทางสายนี้ ไม่ได้จบวิศวะ แต่ทำไมถึงมีคนโยนงานการก่อสร้างมาให้ เพราะเขาอาจเห็นถึงความตั้งใจ ความรับผิดชอบที่เรามี คือเราเป็นเด็กก็จริง แต่เราไม่จำเป็นต้องทำตัวให้เหมือนเด็ก เราสามารถทำงานกับผู้ใหญ่ ทำงานกับคนอายุสี่ห้าสิบ หรือเจ็ดแปดสิบได้ ซึ่งตรงนี้มันพิสูจน์ว่าเรามีความรับผิดชอบ เราสามารถถือเงินก้อนใหญ่ แล้วบริหารงานให้มันเสร็จลุล่วงไปได้



รู้สึกอย่างไรที่คนรุ่นใหม่อยากรวยเร็ว อยากประสบความสำเร็จเร็วๆ พอเห็นใครประสบความสำเร็จ เช่น เล่นหุ้นไม่กี่ปีก็รวย เลยอยากเป็นแบบนั้นบ้าง 
เอาสเต็ปแรกนะ ผมคิดว่า ไม่ว่าอายุเท่าไหร่ สิ่งสำคัญที่สุดคือต้องอย่าหยุดพัฒนาตัวเอง และไม่ต้องไปมองหรอกว่าฉันจะประสบความสำเร็จภายในอายุกี่ปี อย่างเคเอฟซี กว่าผู้พันแซนเดอร์สจะประสบความสำเร็จ เขาเพิ่งคิดสูตรไก่ทอดได้ตอนเขาอายุหกสิบแล้วนะ ก่อนหน้านั้นธุรกิจของเขาล้มเหลวมาทั้งชีวิต หรือถ้าไปดูมาร์ค ซักเคอร์เบิร์ก เราจะพบว่าเขาประสบความสำเร็จจากเฟซบุ๊กตั้งแต่อายุยังน้อยมากใช่ไหม เพราะฉะนั้นคนเราจะประสบความสำเร็จแค่ไหน เมื่อไหร่ มันไม่เกี่ยวกับอายุหรอก มันอยู่ที่คุณจะหยุดตัวเองเมื่อไหร่มากกว่า คือถ้าคุณไม่หยุด โอกาสที่จะประสบความสำเร็จในชีวิตยังไงก็จะมีอยู่ คืออย่าหยุด อย่ายอมแพ้ ซึ่งโดยส่วนตัว ผมมองว่าทุกอย่างเป็นการลงทุน บางคนถามว่าทำไมผมทำธุรกิจหลายอย่างจังเลย ซึ่งผมจะมองว่า มันเหมือนกับการเอาแม่น้ำสายเล็กๆ หลายสายมารวมกัน สุดท้ายมันจะไหลรวมเป็นแม่น้ำสายใหญ่ที่หล่อเลี้ยงชีวิตเรา ถ้าสายไหนขาดไปสักสาย เช่น เรามีห้าสาย ห้าธุรกิจ ถ้าสายที่หนึ่งขาดไป มันก็ยังมีอีกสี่สายที่คอยหล่อเลี้ยงเรา  

ว่ากันว่า การลงทุนมีความเสี่ยง ยิ่งลงทุนมากๆ ก็ยิ่งเสี่ยงมาก ไม่กลัวเหรอ
ความเสี่ยงมันเกิดได้ตลอดเวลานะ ความผิดพลาดก็เหมือนกัน แต่ในความเสี่ยง ถ้าเราพิจารณาดีๆ ทุกความเสี่ยงก็มีความสำเร็จที่มีอัตราพอๆ กับความเสี่ยง เพราะฉะนั้น ผมคิดว่าไม่ว่าเราจะทำธุรกิจอะไร เราต้องมีความมั่นใจก่อน คือความมั่นใจสำคัญมาก เราต้องรู้ว่าเราถนัดหรือมีความพร้อมแค่ไหน ธุรกิจที่ผมทำแต่ละอย่างถามว่ามีความเสี่ยงไหม มีนะครับ แต่เรามีความพร้อมเหมือนกัน เช่น เรามีบุคคลากรที่สะสมมา ที่ฝึกมา ที่เขามีทัศนคติตรงกับเรา คือในฐานะผู้บริหาร ผมอาจจะไม่ได้ลงไปจับหิน จับทราย แบกปูน ซื้อเหล็กเอง แต่เราก็ศึกษา เราเคยผ่านตรงนั้นมา เราค่อยๆ เติบโต แล้วหลังจากนั้น มันก็แตกยอดออกมาเรื่อยๆ คือเรามีความพร้อมไง ไม่ใช่อยู่ดีๆ มีคนโยนงานมา เรารับทำเลย ผมว่านั่นแหละคือความเสี่ยง แต่บนความเสี่ยงก็ต้องมีความมั่นใจ เพราะเรามั่นใจในทีม เวลาทำงาน ผมจะเคารพคำว่าทีมมาก เพราะผมถือว่าทุกคนทำให้ธุรกิจประสบความสำเร็จ ไม่ใช่แค่เราคนเดียว ตัวคนเดียวไม่สามารถทำอะไรให้สำเร็จลุล่วงได้นะครับ มันต้องมีแขนมีขามีมือ เหมือนร่างกาย คนทุกคนเปรียบเสมือนส่วนหนึ่งที่เข้ามาต่อเติมให้ครบเป็นคน 

"ความเสี่ยงมันเกิดได้ตลอดเวลานะ ความผิดพลาดก็เหมือนกัน แต่ในความเสี่ยง ถ้าเราพิจารณาดีๆ ทุกความเสี่ยงก็มีความสำเร็จที่มีอัตราพอๆ กับความเสี่ยง"

ถ้าเป็นหนังสือประเภท How to ก็ต้องพูดถึง 'เคล็ดลับ' ของการประสบความสำเร็จ คุณมีไหม
มันไม่มีคำตอบตายตัวหรอกครับ เหมือนคำถามว่าไก่กับไข่อะไรเกิดก่อนกันนั่นแหละ สิ่งที่ผมพอจะแนะนำได้คือคุณต้องมองก่อนว่า ตัวเองอยู่ในสภาวะแวดล้อมแบบไหน อะไรที่สนับสนุนคุณให้ประสบความสำเร็จได้บ้าง บางคนศึกษาเรื่องราวของคนที่ประสบความสำเร็จมากมาย ไปซื้อหนังสือของคนที่ประสบความสำเร็จมาอ่าน ถามว่าดีไหม มันก็คงดีแหละครับ เพราะมันเป็นตัวอย่างได้ แต่จริงๆ แล้วเรื่องราวของคนอื่น อาจเป็นสิ่งที่ห่างไกลตัวตนของคุณเกินไป คุณอาจลืมศึกษาจากสิ่งที่คุณมีใกล้ตัว จริงๆ อย่างคุณพ่อคุณแม่ของคุณ เขาอาจทำงานที่ประสบความสำเร็จมาก่อน แต่คุณไม่ได้มอง คุณไปแอนตี้ธุรกิจนั้นๆ คุณมองข้ามมันไป ซึ่งจริงๆ แล้วสิ่งนั้นคือประสบการณ์ที่คุณหาไม่ได้จากที่ไหนนะครับ มันคือความจริงใจที่คุณหาซื้อไม่ได้ อย่างผม ที่บ้านเคยทำธุรกิจรับเหมาก่อสร้างมาก่อน แล้วก็หยุดไป ซึ่งผมโตมากับธุรกิจนี้ ทั้งๆ ที่ผมไม่ได้เรียนมาทางนี้นะครับ แต่ผมโตมากับมัน และถ้าผมทำมัน ผมก็พบว่าที่ปรึกษาที่ดีที่สุดก็คือคนที่รักผมมากที่สุดอย่างพ่อแม่ เขาก็จะให้คำแนะนำผมได้ ผมถึงกล้าทำ เพราะผมมีคนที่ผมเชื่อใจได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ เขาจะหวังดีและไม่หลอกผมแน่นอน คือคุณต้องมองก่อนว่า ใกล้ตัวคุณมีอะไร สิ่งที่จะซัพพอร์ตคุณ นี่คือสิ่งที่สำคัญสำหรับการเริ่มต้น ไม่ใช่คุณเห็นคนซื้อหุ้นแล้วรวยก็ไปซื้อตาม เห็นคนนี้ลงทุนแล้วรวยก็ไปฝากเงินลงทุนกับเขา ทั้งที่เราไม่รู้ด้วยซ้ำว่าวัตถุประสงค์จริงๆ ของการลงทุนคืออะไร คุณแค่คิดอย่างเดียวว่าคุณจะมีๆ จะรวยๆ ถามว่าวิธีนี้ประสบความสำเร็จได้ไหม ได้นะครับ แต่น้อยคนมากที่จะทำได้ สัดส่วนมันน้อย ผมอยากให้มองโลกของความเป็นจริงมากกว่า คุณต้องลงมือทำจริงๆ แต่สิ่งที่จะลงมือทำจริงๆ ก็ต้องเริ่มต้นจากสิ่งใกล้ตัวหรือสิ่งที่คุณถนัด

ในฐานะเด็กวัด คิดว่านรกสวรรค์มีจริงไหม
เอาแบบนี้ดีกว่า คนไทยจะคุ้นกับคำว่าเวรกรรมใช่ไหมครับ ผมไม่รู้หรอกว่าสวรรค์นรกมีจริงไหม คิดว่าเรื่องสวรรค์นรกมันอาจไกลตัวไป แต่อยากให้พิจารณาคำนี้ดีกว่า คือทำอะไรลงไปเราก็ควรได้รับผลกรรม อยากให้พิจารณาว่าถ้าเราทำแบบนี้ เราจะได้รับผลกรรมแบบไหนเอาแค่นั้นพอ แล้วปล่อยให้มันเป็นเรื่องของอนาคต คือต่อให้ผมอยู่วัด ผมก็มักจะมองโลกของความเป็นจริงนะ เพราะผมเชื่อว่าทุกอย่างมันพิสูจน์ได้ด้วยเหตุและผล