โรคซึมเศร้าอาจฆ่าเราได้!? ทำความรู้จักกับโรคซึมเศร้าว่าคืออะไร เป็นแล้วจะทำยังไงดี?

ทุกข์สุขเป็นเรื่องชั่วคราว พุทธศาสนาบอกไว้แบบนั้น แต่ถ้าวันหนึ่งเรามีความทุกข์เป็นเจ้าเรือน ในขณะที่ความสุขกลับกลายเป็นความหลังเท่านั้นล่ะ?

ลองคิดภาพว่าคุณกำลังเดินวนอยู่ในเขาวงกตแห่งอารมณ์ มืดมัวอยู่ในความกังวลไร้ทางออก และจมดิ่งลงช้าๆ อย่างไม่มีใครฉุดรั้งขึ้นมาได้ ก่อนจะสูญสลายซึ่งความสุขทุกข์อย่างสิ้นเชิงและตลอดกาล 
โรคซึมเศร้า (Major Depressive Disorder) คือภาพนั้น—สิ่งที่ต้องเข้าใจคือ การเป็น ‘โรค’ ไม่ใช่ทางเลือก ไม่ว่าคุณจะกินอยู่หลับนอนอย่างถูกสุขลักษณะเพียงใด ชีวิตครอบครัวและการงานสมบูรณ์พร้อมขนาดไหน คุณและคุณ! ก็มีสิทธิ์เป็นโรคซึมเศร้าอย่างเท่าเทียม
นั่นเพราะต้นทางของโรคซึมเศร้าเกิดจาก ‘สารเคมีในสมอง’ 3 ชนิด นำโดย เซโรโทนิน (Serotonin) โนราดรีนาลีน (Noradrenaline) และโดพามีน (Dopamine) หลั่งผิดปกติ เป็นความผิดปกติที่คุณไม่สามารถป้องกันหรือควบคุมมันได้ เพราะบางครั้งความผิดปกติที่ว่าก็เกิดจากพันธุกรรม หรือบางทีอาจปะทุขึ้นจากรอยแผลเป็นในหัวใจที่ถูกกรีดไว้ตั้งแต่ยังเด็ก กระทั่งสภาพลมฟ้าอากาศอันหม่นมัวก็มีส่วนเร้าให้สารในสมองหลั่งผิดปกติได้เหมือนกัน 
นานวันเข้า พอสารเคมีในสมองไม่ได้รับการสนองตอบด้วยการบำบัด ความเศร้าหมองจะคืบคลานยึดครองแผงความคุมความรู้สึก ก่อนสับสวิตช์อารมณ์จนเหลือเพียงร่างกายอันตายด้าน และนั่นเองคือจุดเริ่มต้นของจุดจบอันโหดร้ายอย่างการฆ่าตัวตายที่หลายคนกลัว
ร้ายกว่านั้น นอกจากโรคซึมเศร้าจะยื่นมีดให้เราทิ่มแทงตัวเองจนดับดิ้น ความซึมเซาจนอยากเอาแต่นอนยังทำให้พบเจอกับ ‘โรคแฝง’ อีกหลายชนิด ไม่ว่าจะโรคกระดูกพรุน โรคอ้วน รวมถึงโรคหัวใจและโรคหลอดเลือดสมองตีบ แถมการฆ่าตัวตายที่คล้ายเป็นจุดจบของคนเศร้ากลับไม่ได้เกิดกับคนที่ ‘ดูเศร้า’ เสมอไป แต่มีโอกาสเกิดภายใต้รอยยิ้มและเสียงหัวเราะแสนสดใสของใครหลายคน ไม่เว้นกระทั่งนักแสดงตลก Robin Williams ผู้เลือกจบชีวิตตัวเองลงเมื่อปี 2014 เพราะถูกโรคซึมเศร้าคุกคาม
ถ้าสงสัยว่าเพราะอะไร? คำตอบคือโรคซึมเศร้าเป็นเรื่องภายใน ทั้งภายในสมองและภายในใจ ไม่อาจตัดสินจากการแสดงออกผ่านสีหน้าท่าทาง เพราะโรคซึมเศร้าเป็นส่วนหนึ่งของภาวะอารมณ์สองขั้ว (Bipolar Disorder Type2) ที่ทำให้เกิดคึกจนผลิตไอเดียสดใหม่ขึ้นมาได้มากมายแต่อีกชั่วอึดใจความหดหู่กลับเข้าจู่โจม—ซึ่งเป็นอาการที่ศิลปินระดับโลกหลายคนต้องเผชิญ

คำถามคือเราจะหาทางออกจากเขาวงกตนี้ได้อย่างไร? คำตอบคือผู้ป่วยต้อง ‘ยอมรับ’ ว่าตัวเองกำลังป่วย และจำเป็นต้องพึ่งตัวช่วยจากหมอและยา รวมถึงพึ่งพาความรักจากคนแวดล้อมที่พร้อมช่วยบำบัดทุกข์ให้กลับมามีสุขได้อีกครั้ง

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของคอลัมน์ Core ในนิตยสาร giraffe ฉบับที่ 30 สามารถติดตามเนื้อหาเพิ่มเติมได้ที่ Readgiraffe