ไหนว่าจะไม่หลอกกัน?'คนไทยมีความสุขทางเศรษฐกิจที่สุดในโลก' เอ๊ะ วัดจากอะไรกันนะ?

ดีใจกันไปทั้งเมือง เมื่อรัฐบาลผู้น่ารักออกมาประกาศโครม ๆ ให้เรารู้ว่าสื่อต่างชาติเขาจัดอันดับให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความสุขทางเศรษฐกิจที่สุดในโลก (โอ้โห ดีงามสุด ๆ ไปเลย) ไม่ว่าเราจะเป็นคนหนึ่งที่มีความสุขกับเศรษฐกิจช่วงนี้ หรือไม่ค่อยมีก็ตาม ได้ยินข่าวแบบนี้ก็ใจชื้นขึ้นมา 39 ระดับ จนอยากรู้ต่อไปเลยว่า เอ ที่เขาว่าว่าพวกเรามีความสุ๊ข มีความสุขนี่เขารู้ได้ยังไงนะ ? วัดจากอะไรล่ะ ? มินิมอร์ขออาสาไขข้อข้องใจให้เอง แฮ่


สื่อต่างชาติที่รัฐบาลผู้น่ารักเข้าอ้างถึงก็ไม่ใช่ใครที่ไหนแต่เป็นสำนักข่าว bloomberg (ที่ปีที่แล้วก็จัดลำดับให้ไทยเราเป็นประเทศที่มีความสุขทางเศรษฐกิจที่สุดในโลกนี่แหละ)(โห นี่อภิมหาความสุขชัด ๆ  ได้รางวัลตั้ง 2 ปีซ้อนแหนะ)


อ่อ แต่ก็ไม่ใช่อยู่ ๆ bloomberg เขาจะมโนวิธีคำนวณหาความสุขขึ้นมาเองหรอกนะจ๊ะ (ไม่อย่างนั้นใครก็มโนขึ้นมาได้น่ะสิ) บลูมเบิร์กเขาเรียงลำดับประเทศที่มีความสุขโดยอิงจาก Misery Index เป็นสำคัญ อ่ะ อ่ะ อย่าเพิ่งทำหน้างงขนาดนั้นเส่ะ! มินิมอร์กำลังจะเล่าให้ฟังอยู่นี่ไง

Misery Index หรือ ดัชนีความขัดสน หรือ ดัชนีแห่งความทุกข์ยาก (คือชื่อฝรั่งก็มีชื่อเดียวแหละแก แต่พอถูกแปลเป็นไทยนี่มาสารพัดชื่อมาก) ไม่ว่าจะเรียกด้วยชื่อไหนก็ตาม แต่เจ้าดัชนี้ที่ว่านี้มีเอาไว้บอกว่าถ้ามนุษย์อย่างเรา ๆ เนี่ยมีความขัดสนทางเศรษฐกิจต่ำ ก็จะแปลว่าเราจะยิ่งมีความสุขมากนั่นเอง เอง เอง เอง (ก็นึกภาพว่าถ้าพ่อแม่ให้เงินค่าขนมเดือนละหมื่นกว่า กับเดือนละพันห้า แบบไหนเราจะแฮปปี้ดี๋ด๋ามากกว่ากัน? ดัชนีนี้ก็บอกประมาณนี้นี่แหละ)



รางวัลชนะเลิศผู้ที่มีความสุขทางเศรษฐกิจที่สุดในโลกที่เราได้มาครองแบบสวย ๆ จึงเป็นการหาค่าความสุขเชิงเศรษฐกิจโดยเปรียบเทียบจากดัชนีความขัดสน (Misery Index) เป็นสำคัญนั่นเอง ซึ่งวิธีคิดของคุณสำนักข่าวบลูมเบิร์ก ก็มีที่มาแบบเวรี่เก่าแก่ที่คิดโดยนักเศรษฐศาสตร์ที่ชื่อว่าอาร์เธอร์ โอกุน 


วิธีคิดของตาคุณอาร์เธอร์นี่ก็มีอยู่ว่าเขาจะดู 2 ปัจจัยหลัก ๆ ด้วยกัน คืออัตราเงินเฟ้อและอัตราการว่างงาน เพราะเขามองว่าถ้าเงินเฟ้อ ข้าวของก็จะราคาแพงคนก็ทุกข์ทรมาน ถ้าคนว่างงานคนก็จะไม่แฮปปี้ (อันนี้ก็เข้าใจง่าย ๆ เนอะ ถ้ายังงง ไป กลับไปอ่านให้เข้าใจเลย)

ด้วยการคำนวณแบบนี้ ไทยเราก็ครองบัลลังก์ความสุขมาเก๋ ๆ มา 2 ปีซ้อน! เพราะอัตราการว่างงานเราต่ำแสนต่ำ (อ้อ ไม่ได้เพิ่งมาต่ำนะ) ประเทศเรามีอัตราคนว่างงานต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในโลกมาโดยตลอด สิงคโปร์หรอ ญี่ปุ่นหรอ ยุโรปหรอ มีงานทำสู้ประเทศไทยก็ไม่ได้ แบร่

 

เอ่อ อัตราการการว่างงานไทยทำไมต่ำจัง ?

แม้เรามองไปรอบ ๆ ตัวแล้วเห็นคนเดินเตะฝุ่นหาเงินกันให้ขวักไขว่ ทำไม๊ทำไมเขาถึงบอกว่าอัตราการว่างงานในประเทศเราต่ำกว่าที่อื่นล่ะ?  เพราะแต่ละประเทศมีนิยามของคำว่า'คนมีงานทำ'ไม่เหมือนกัน นิยามของคำว่า'คนไม่มีงานทำ'ก็เลยไม่เหมือนกันไปด้วยนั่นเอง


ที่ไทยเราให้ความหมายของ'ผู้มีงานทำ'ไว้สวย ๆ ว่าคือมนุษย์อายุ 15 ปีขึ้นไปที่ทำงานตั้งแต่ 1 ชั่วโมงต่อสัปดาห์แล้วได้ค่าจ้าง เพราะฉะนั้นต่อให้เราทำงานแค่ 1 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ก็นับว่ามีงานทำแล้ว อย่าคิดว่าเป็นจำนวนน้อย ๆ ล่ะ เพราะคนที่ทำงานหนึ่งชั่วโมงขึ้นไปแต่ไม่ถึง 35 ชั่วโมงต่ออาทิตย์ มีจำนวน 13.82 ล้านคนเชียวนะ!

ยังจ้ะ ยังไม่ใช่แค่นั้น ถ้าเราทำงาน 1 ชั่วโมงต่อสัปดาห์แต่ไม่ได้ค่าจ้าง เพราะเป็นงานแบบช่วยพ่อช่วยแม่ ช่วยธุรกิจครอบครัว ก็ถือว่าเราเป็นคนมีงานทำนะ! (คุณพระ ถ้างั้นที่ฉันไปช่วยแม่เสริฟกับข้าวสมัย ม.ปลาย ก็นับเป็นกำลังแรงงาน เป็นปัจจัยทางเศรษฐกิจให้กับประเทศแล้วสิเนี่ย)


ด้วยคำนิยามแบบไทย ๆ ที่ไม่เน้นชั่วโมงทำงาน ไม่เน้นความมั่นคงทางรายได้ ใด ๆ ทั้งสิ้นแบบนี้ เราเลยนับคนมีงานทำได้มหาศาล และคนตกงานก็มีอัตราน้อยแสนน้อยมาโดยตลอด ในขณะที่หลาย ๆ ประเทศ เช่น ประเทศในยุโรปทั้งหลายเขาจะนับคนมีงานทำก็ต่อเมื่อทำงาน 30 กว่าชั่วโมงขึ้นไปนู่นแหนะ


ที่สำคัญการว่างงานในบางประเทศ เช่น ที่นอร์เวย์ ถ้าว่างงานจะได้รับเงินสวัสดิการที่มีค่า 86.7% ของรายได้ในก่อนตกงานเป็นเวลา 500 วัน หรือ 1 ปีกับอีก 4.5 เดือนนู่น ในขณะที่ประเทศไทยไม่ได้มีสวัสดิการ (เวรี่ล่อตาล่อใจขนาดนี้) ตกงานทีก็ต้องซับน้ำตาให้ตัวเอง รีบหางานทำให้ไว รับจ้าง ขี่มอไซค์วิน สอนพิเศษ 1 ชั่วโมงก็นับว่ามีงานทำแล้ว อัตราการว่างงานเลยต่ำและถูกจัดให้มีความสุขสูงลิบลิ่วอย่างที่เห็นนี่แหละ


98.6% ของผู้ที่อยู่ในวัยแรงงาน มีงานทำกัน เอ่อ พี่มาถามหนูตอนไหนคะ? (หนูยังเดินเตะฝุ่นอยู่เลย ฮืออ)

บางทีก็อดสงสัยไม่ได้สินะว่าสถิติทั้งหลายทั้งแหล่นี่เข้าไปถามมาจากไหนกัน ? ทำไมฉันไม่เห็นโดนถามเลย ? (โอเค ก็อยากมีส่วนร่วมอ่ะ ยอมรับ) ก็ไม่ต้องตกใจไปจ้ะเพราะอย่างอัตราการมีงานทำเขาไม่ได้จะมาไล่ถามทุกคนทั่วทั้งประเทศ แต่เลือกสัมภาษณ์เป็นครัวเรือนไป อย่างสถิติจากสำนักงานสถิติแห่งชาติเขาก็จะไปถามมา 27,960 ครัวเรือน (แต่นี่ก็เป็นมาตรฐานทางสถิติที่ประเทศอื่น ๆ เขาก็ทำกันน่ะนะ ไม่ใช่เราที่ทำอยู่ประเทศเดียว) 

อ้อ แล้วก็ไม่ใช่จะไปถามทุกคนในครัวเรือนล่ะ เขาถามแค่หัวหน้าครัวเรือนเท่านั้นแหละ (ถ้าบังเอิญไปถามแม่เรา ที่เราดันไปโม้ไว้ว่ามีงานทำ แกก็อาจจะเป็นหนึ่งในคนที่ทำให้สถิติของชาติคลาดเคลื่อนได้เลยนะ!)


คงพอเห็นภาพสินะว่าการวัดความสุขทางเศรษฐกิจแบบใช้ดัชนี้ความทุกข์ยากเป็นตัววัด ดู 2 ปัจจัยคือเงินเฟ้อและการว่างงานเป็นหลัก (แต่หนี้สิน บิลบัตรเครดิตอะไร เขาก็ไม่ได้มาคิดให้เราด้วยนะแก ฮือออ) ปัจจัยแต่ละประเทศก็มีคำนิยามที่ต่าง ๆ กันไป 

ความสุขก็เป็นเรื่องส่วนบุคคลและหลากหลาย ใครจะมีความสุขกับอะไรก็อย่าไปทำให้ใครเขาเดือดร้อนก็แล้วกัน แถมอย่าลืมว่าความสุขที่เราสุขก็ไม่ได้แปลว่าคนอื่นเขาจะสุขกับเราด้วย ถ้าเรามีความสุขกับดัชนีความทุกข์ยากนี้แล้วจะไปยัดเยียดให้เพื่อนมีความสุขตามมันก็ยังไง ๆ อยู่ ว่ามั้ยล่ะ


ที่มา:bloomberg.com,ec.europa.euservice.nso.go.thvoicetv.co.th,bloomberg.com

ภาพ:brookings.edulatinpost.comglutenfreethailand.wordpress.com,giphy.com,allnews24bd.com