เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
ทราเวลนอวอรอรอตอพอลอ
เกือหลีเหนาโฮเต็ล: EP2 ปากประตูขาเข้า
  • ก่อนอ่าน: บางชื่อบางคำตั้งใจให้มีความกำกวมหรือผันผวนเล็กน้อย เหตุผลเพื่อความปลอดภัยทั้งผู้เขียนชาวไทยและผู้เกี่ยวข้องบางรายดังอ้างแล้วใน EP1 ครับ (ลิงค์ข้างล่าง) 

    ว่าจะเขียนซีรีส์นี้ต่อหลายทีละ แต่มัวแต่เวิ่นเว้ออะไรก็ไม่รู้ จนวันก่อนมาฟังออมนิวอร์พ็อดคาสท์ของคุณโตมรตอนหนึ่ง ที่ว่าพิธีกรอีกคนก็ไปเยือนกรุงปางเยียงแห่งเกือหลีเหนามาละ เลยนึกได้ว่ายังมีเรื่องชวนเขียนอีก


    ตามสนามบินต่างๆ เวลาเราผ่านด่านตรวจคนเข้าเมือง เขาก็จะมีช่องแดงช่องเขียวให้คนสำแดงว่าเราพกสิ่งของต้องห้ามทั้งหลายเข้ามาหรือเปล่า คุ้นๆ ใช่มั้ยครับ

    โดยปกติคนทั่วไปก็เดินมุดเข้าช่องเขียวกันหมดไม่ว่าจะพกหรือไม่พกอะไรมา ซึ่งเจ้าหน้าที่ถ้าเขาว่างจากการคุยกันหรือทำอะไรอย่างอื่น เขาก็จะเงยหน้ามาดูแล้วก็มีการสุ่มเรียกขอเปิดกระเป๋าเป็นบางรายไป พวกกระเป๋าตุงๆ ส่วนใหญ่มีลุ้นจะถูกเปิดเยอะกว่าพวกกระเป๋าเล็กๆ

    แต่ที่เกือหลีเหนาโฮเต็ล นักเดินทางทุกคน (รู้สึกว่าจะยกเว้นคนบ้านเขา) จะถูก treat อย่างเท่าเทียมและทั่วถึงยิ่งกว่าประชาธิปไตยในหลายประเทศ คือคุณไม่ต้องเลือกว่าจะเดินเข้าช่องไหน เจ้าหน้าที่จะขอเปิดกระเป๋าคุณทุกใบ

    บนเครื่องบิน เราเจอนักท่องเที่ยวกลุ่มหนึ่งซึ่งซื้อทัวร์จากบริษัทในจีน เขาเล่าว่าไกด์แนะนำให้กรอกบัตรขาเข้าให้ดี คือมันจะมีส่วนหนึ่งที่ให้กรอกว่าคุณพกอะไรมาบ้านเขาบ้าง ตรงนี้ให้ลิสต์ให้ครบทุกไอเท็ม ไม่อย่างนั้น ถ้าน้องๆ ของเฮียคิมเกิดอารมณ์ไม่จอย คุณอาจเกิดเรื่องได้

    ไอ้เราไปทำงานก็พกอุปกรณ์สำนักงานไปด้วยบางส่วน ก็นั่งนึกกัน เอ๊ะ นี่เราพกแม็กมากี่อัน กรรไกรกี่อัน ฯลฯ

    สุดท้ายจริงๆ ที่ได้รับความสนใจมากๆ ก็พวกอุปกรณ์ที่เราคิดว่าธรรมดาในชีวิตประจำวัน เพราะในบริบทของเกือหลีเหนา อุปกรณ์พวกนี้และเครื่องในของมันอาจจะหมิ่นเหม่กับศีลธรรมอันดีงามที่บ้านเฮียคิมเขายึดถืออยู่ ผมและเพื่อนได้รับข้อแนะนำก่อนเดินทางว่า 1) โทรศัพท์กับคอมพิวเตอร์ อย่าติดไฟล์หนังมา โดยเฉพาะหนังอเมริกัน สาเหตุก็เพราะที่นี่เขาเข้มงวดมากเรื่องสื่อบันเทิงเหล่านี้แหละครับ ว่ามันจะมาแพร่โรคร้ายให้คนบ้านเขา ที่ตรวจคนเข้าเมืองก็จะเข้มงวดกว่าที่อื่นนิดนึง 2) GPS ห้ามนำเข้าประเทศเด็ดขาด

    ข้อแรกนั่นก็เข้าใจได้อยู่ นั่นเป็นเหตุให้ใน EP1 ที่เล่าไปแล้วว่า ก่อนเข้าประเทศ ผมกะเพื่อนแหกตาดูหนังซีรีส์ที่เซฟไว้เพียบจนจบในสนามบินปักกิ่งขณะที่รอต่อเครื่อง เพื่อที่จะได้ลบทิ้งให้หมด

    ส่วนใครมีหนัง AV ในเครื่องนี่ไม่รู้นะครับ ไม่เห็นมีใครเตือนอะไร แต่คิดว่าเขาคงบอกว่าไม่ชอบเหมือนกัน

    ส่วนข้อสองนี่เราคิดว่ามีปัญหาเชิงปฏิบัติ คือโทรศัพท์สมาร์ตโฟนของเราทั้งสองเครื่องซึ่งเป็นคนละค่าย (ค่ายหุ่นยนต์กับค่ายผลไม้) มันมีระบบ GPS และแผนที่อยู่ในนั้นด้วย แถมผมเป็นโรคติดแผนที่ ไปไหนก็อยากรู้ว่าเราอยู่ตรงไหนของโลก สุดท้ายเราก็ตัดสินใจก็พกมันไปอย่างนั้น แล้วก็ยัดใส่กระเป๋ามาด้วย แต่แบ๊กอัพทุกอย่างเรียบร้อย อยากยึดก็ยึดไป

    ซึ่งพอถึงเวลาเขาก็ไม่ยึดโทรศัพท์นะครับ เพราะพอเอาเข้าไปได้ มันก็เหลือมูลค่าไม่เกินนาฬิกาปลุกเครื่องหนึ่งเท่านั้นเอง ค่าที่ระบบมันเชื่อมต่อกันไม่ได้ ซิมการ์ดเขาก็ไม่มีขาย (แต่ไม่ใช่ว่าเขาไม่มีโทรศัพท์ใช้กันนะครับ สมาร์ทโฟนเขาก็ผลิตใช้กันเอง แถมหน้าตาสวยงามวางในร้านผลไม้ได้อย่างแนบเนียน อันนั้นไว้ว่างๆ จะเล่าให้ฟัง)

    กลับไปที่ปากประตูบ้านเขาอีกที แน่นอนว่าเขาขอเปิดกระเป๋าดูข้าวของเราอย่างละเอียดอย่างที่คาด คอมพิวเตอร์ก็ขอให้เปิดดู แล้วเขาก็เปิดไล่ดูว่ามีโฟลเดอร์อะไรบ้าง ชื่อโฟลเดอร์อย่าง My Movie, My Video นี่อาตี๋ที่มาดูเครื่องผมแกดูละเมียดละไมใส่ใจเป็นพิเศษ แต่งมไปเถอะ ผมลบของผมหมดแล้ว แถมไม่เคยเซฟอะไรลงโฟลเดอร์พวกนี้ด้วย

    "นี่อะไรเฮีย" อาตี๋เงยหน้าขึ้นมาถาม ชี้ไปที่โฟลเดอร์ชื่อ Series

    ผมแอบสะดุ้งในใจ โฟลเดอร์นี้เก่ามาก ไม่ได้สนใจมานานละ "จำไม่ได้ว่ะน้อง"

    "เปิดนะ?"

    มรึงจะถามทำไมฟระ -*-  "เชิญเลยครับ"

    พอคลิกเข้าไปก็พบกับ Doctor Who กับ The Thick of It ซีรีส์ดัง (ในอังกฤษ) ที่ผมเก็บไว้พักใหญ่ๆ แล้ว

    "อ๋อ มันเป็นสารคดีของอังกฤษน่ะ เรื่องวิทยาศาสตร์" ผมโกหกอ้อมแอ้ม

    "อืม แล้วไป"

    พูดเสร็จน้องเขาก็ปิดฝาแลปท้อปให้ แล้วก็ทำท่าให้ผมเก็บข้าวของที่รื้ออกมากระจุยให้เรียบร้อย แถมพอเก็บช้าก็หันมามองตาขวางอีก ประมาณว่าเร็วๆ หน่อย

    ครือ ผมดูไฟลท์ขาเข้าที่นั่นละ กว่าไฟลท์ถัดไปจะมาก็เย็นๆ จะรีบไปปูซานรึไงฟระ

    "ครับๆ" ผมรีบยัดข้าวของลงกระเป๋า มัวนเสื้อกันหนาวระดับสิบองศาเซลเซียสตัวเบ้อเร้อเขากระเป๋า รูดซิปเดินออกจากบู๊ธไป


    ป.ล. EP 1 http://minimore.com/b/ztqoU/1

    ตีพิมพ์ครั้งแรก STL 22 ธ.ค. 59

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in