เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
out of the silent planetscar.
The Book Thief
    • เป็นรีวิวที่เคยเขียนไว้เมื่อหลายปีที่แล้ว นำกลับมาโพสต์ใหม่ 
    • เราอ่านฉบับอังกฤษ แต่เล่มนี้เคยมีแปลไทยนะคะ (นานแล้วเช่นกัน) 
    • มีสร้างเป็นหนังด้วย นักแสดงดีมากๆ แถมเพลงประกอบโดยท่าน John Williams 

    •  The Book Thief ของคุณ Markus Zusak เป็นวรรณกรรมเยาวชนเรื่องดังอีกเล่ม เป็นที่นิยมไปทั่วโลก ติดอันดับขายดีและเป็นหนังสือแนะนำอันดับต้นๆ ของหลายสำนัก เพราะมีเนื้อหาที่ดี ทั้งสงคราม ความรัก เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ความตาย คุณค่าของความรู้ ทั้งยังมีหลายรสชาติปนกันในเล่มเดียว


    It’s a small story really, about, among other things:
    A girl
    Some words
    An accordionist
    Some fanatical Germans
    A Jewish fist fighter
    And quite a lot of thievery

    เรื่องนี้มี Death หรือท่านยมฑูต มาเล่าเรื่องของเด็กผู้หญิงชื่อลีเซล เมมิงเกอร์ เด็กกำพร้าเยอรมันในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ท่านยมฑูตเจอลีเซลครั้งแรกตอนที่ไปรับวิญญาณน้องชายของลีเซล แล้วเห็นน้องแอบหยิบ The Gravedigger's Handbook คู่มือขุดหลุมของสัปเหร่อติดมือไปด้วย 

    ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไม แต่ลีเซลจะขโมยหนังสือมากกว่าหนึ่งเล่ม และท่านยมฑูตก็จะติดตาม

    จากนั้น ลีเซลถูกส่งมาเป็นลูกบุญธรรมของโรซาและฮันส์ ฮูเบอร์มานน์ที่อยู่บนถนนเล็กๆ ในเมืองมิวนิก โรซาเป็นผู้หญิงเสียงดัง ปากร้าย ชอบพ่นคำหยาบ แต่มีหัวใจที่ยิ่งใหญ่ ส่วนฮันส์เป็นช่างทาสีผู้รักสงบ เป็นคนมีอดีต เป็นปะป๊าของลีเซลที่แสนอบอุ่น อ่อนโยน และใจดีมากจนหลายคนนึกว่าขี้ขลาด แล้วก็เพราะฮันส์นี่เอง ลีเซลเลยอ่านออกเขียนได้แบบทุลักทุเล

    (เวลามีการจัดอันดับคุณพ่อแสนดีในโลกวรรณกรรม ฮันส์ก็มักจะติดโผไปกับเขาด้วยนะ) 

    ท่านยมฑูตตามดูชีวิตของหัวขโมยหนังสือ และผู้คนรอบข้างที่มีส่วนเกียวข้องกับลีเซลไปเรื่อยๆ มีตัวละครหลากหลาย เช่น รูดี้ เด็กผู้ชายข้างบ้าน แก๊งขโมยผลไม้ เพื่อนๆ ในโรงเรียน คุณนายของนายกเทศมนตรี รวมถึงมิตรภาพของลีเซลกับแม๊กซ์ นักสู้กำปั้นชาวยิว

    ในขณะเดียวกัน สงครามทำให้ตารางของท่านยมฑูตยุ่งมาก ต้องโฉบรับวิญญาณไปด้วยอย่างเมามัน

    แน่นอนว่าเรื่องนี้ก็เล่นกับแก่นเรื่องที่เกี่ยวกับความตาย วรรณกรรมเด็กในยุคหลังมักอดไม่ได้ที่จะขอใส่ธีมนี้สักหน่อย ไม่ว่าจะเป็นการยอมรับการสูญเสีย ปล่อยวาง และยอมรับว่าความตายเป็นเรื่องธรรมชาติ

    The Book Thief จึงมีความตายเพ่นพ่านเต็มไปหมด ใช้วิธีเล่าเรื่องแบบไม่เป็นเส้นตรง ทำให้มีทั้งเล่าแบบย้อนหลังและล่วงหน้า เพราะยังไงความตายก็อยู่รอบตัวเราเสมอ อย่างในกรณีของลีเซล นอกจากมียมฑูตคอยสอดแนมอยู่แบบไม่รู้ตัวแล้ว เธอยังมีความตายของน้องชายคอยหลอกหลอนมาตลอดอีกด้วย


    นอกจากความตาย หัวใจของเรื่องนี้อยู่ที่ความสำคัญของภาษา คุณค่าของหนังสือและความรู้ เราได้เห็นพัฒนาการของลีเซลตั้งแต่อ่านไม่ออก จนใช้คำพูดกล่อมคนให้สงบลงได้ ซึ่งเป็นการสื่อถึงอำนาจของคำและอำนาจของภาษา ลีเซลอาจจะใช้คำพูดจากหนังสือเพื่อปลอบคนได้ แต่ฮิตเลอร์ก็สามารถใช้คำพูดเพื่อปลุกปั่นคนในชาติได้เช่นกัน แค่ยึดแหล่งความรู้ ยัดเยียดแต่ที่สิ่งที่ต้องการให้รับรู้ โฆษณากรอกหูเข้าไปทุกวัน เท่านี้ก็ครองโลกได้แระ


    "I am haunted by humans." 


    เรื่องนี้ภาษาอ่านง่ายมากๆ เล่าอย่างซื่อๆ ตรงไปตรงมา ไม่ซับซ้อน ถึงเป็นเรื่องสงคราม แต่ไม่ใช่แนวดราม่าหนักอึ้งบีบคั้นเกินไป นี่คือเรื่องของเศษเสี้ยวความหวังท่ามกลางความมืดหม่นของมนุษยชาติ (ที่แม้แต่ท่านยมทูตยังเพลีย ฮา) จะว่าเป็นหนังสือแนวก้าวข้ามวัยเด็กหรือ Coming of Age ก็ได้นะ และจะว่าไป ลีเซล เมมิงเกอร์ก็คล้ายเป็นเงาอีกด้านหนึ่งของแอนน์ แฟรงค์ (Anne Frank : Dairy of A Young Girl) เพียงแต่คนหนึ่งเป็นเด็กเยอรมัน อีกคนเป็นเด็กยิว

    ถ้ามีจุดไหนเป็นข้อเสีย เราอาจรู้สึกว่ามีส่วนที่จงใจไปนิดนึง ทั้งการวางจังหวะและสถานการณ์ แต่หลายคนอาจมองว่านั่นเป็นข้อดีของหนังสือเรื่องนี้ก็ได้เช่นกัน สรุปว่าเป็นหนังสือที่ดีน่าอ่านน่าประทับใจตามคาด สมคำร่ำลือ 

    ป.ล. โดยส่วนตัว จุดหนึ่งที่ชอบมากคือการอธิบาย 'สี' โดยท่านยมฑูต (ไม่มีหนังสืออยู่กับตัว แต่ชอบประโยคสุดท้ายที่พูดถึงดวงตาของคุณพ่อฮันส์ หรือประโยคอย่าง the boy whose hair will remain the color of lemon forever) 



Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in