เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
NERD NOTEE.K.
Mercury 13 (2018)
  • "That's one small step for a woman, another giant leap for mankind."

    ผมเกิดไม่ทันวันที่ 20 กรกฎาคม 1969 วันที่ Neil Armstrong นักบินอวกาศลงเหยียบดวงจันทร์ครั้งแรกของโลก วันที่พิสูจน์ว่ามนุษย์สามารถเดินทางไปสำรวจอวกาศได้สำเร็จแล้วจริงๆ วันที่ภาพชุดนักบินอวกาศสีขาวที่มีหน้ากากสะท้อนแสงสีทอง กลายเป็นภาพจำของคนทั้งโลก

    มนุษย์คนแรกของโลกลงสำรวจพื้นผิวดวงจันทร์ในปี 1969
    จนถึงปัจจุบัน NASA ได้ส่งนักบินอวกาศไปสำรวจดวงจันทร์ทั้งสิ้น 18 คนในโครงการ Apollo ที่สิ้นสุดไปในปี 1972 ทุกคนล้วนเป็น "ผู้ชาย" ทั้งสิ้น แต่การได้ออกไปสำรวจอวกาศนั้น ถึงแม้จะดูเป็นไปไม่ได้ ก็ยังเป็นความฝันในใจของใครหลายๆคนรวมถึงกลุ่ม Mercury 13 ด้วย

    Mercury 13 เป็นภาพยนตร์สารคดีจาก Netflix บอกเล่าเรื่องราวของนักบินหญิง ที่เข้ารับการทดสอบสภาพร่างกายและจิตใจ เพื่อจะเป็นนักบินอวกาศในยุคการแข่งขันเทคโนโลยีอวกาศระหว่างอเมริกา และสหภาพโซเวียต 

    เรื่องเปิดฉากขึ้นด้วยวิดีโอบันทึกเหตุการณ์สำรวจดวงจันทร์ของยาน Apollo 11 ที่ตัดไปมาระหว่างห้องควบคุมภาคพื้นดินและภาพจากดวงจันทร์ พร้อทเสียงในวิทยุสื่อสารจากยานอวกาศว่า เธอกำลังลงจอด และสามารถลงจอดได้สำเร็จ ตามมาด้วยเสียงปรบมือและความยินดีที่ภารกิจยิ่งใหญ่นี้สำเร็จเป็นครั้งแรก

    ก่อนที่นักบินอวกาศจะได้รับคัดเลือกเข้าโปรแกรมฝึกฝนเตรียมตัวปฏิบัติภารกิจสำรวจอวกาศซึ่งในยุคนั้นคือ Mercury และตามมาด้วย Apollo พวกเขาต้องผ่านการทดสอบสภาพร่างกายและจิตใจนับไม่ถ้วน ในขณะนั้นมี Dr. Alan M. Lovelace แพทย์ผู้รับผิดชอบ ได้คิดค้นและจัดโครงการทดสอบต่างๆ จนได้นักบินอวกาศทั้งที่ผ่านการทดสอบทั้งสิ้น 7 คนที่จะเข้าร่วมในโครงการ Mercury 

    ขณะเดียวกัน Dr. Lovelace ก็ได้รวบรวมรายชื่อของนักบินหญิงแนวหน้าในยุคนั้น และสามารถเชิญมาร่วมโครงการที่เขาคิดทำขึ้นเองอย่างลับๆ ด้วยตัวเขาเอง เพราะเขาเชื่อว่า ผู้หญิงก็สามารถที่จะเป็นนักบินอวกาศได้ไม่ต่างกัน 

    การทดสอบร่างกายนักบินหญิง โดย Dr. Lovelace

    จากทั้งสิ้น 25 คน มีเพียง 13 คนเท่านั้น ที่ผ่านการทดสอบที่โหดหินนี้มาได้ การทดสอบมีทั้งการเอกซเรย์ต่างๆ การหยอดน้ำเย็นสิบองศาฟาเรนไฮต์เข้าไปในหู รวมถึงการให้เข้าไปอยู่ใน "sensory deprivation tank" ที่จำลองสภาพไร้ความรู้สึกเลียนแบบการอยู่ในอวกาศ

    ทั้งๆที่ไม่มีการการันตีใดๆสำหรับนักบินหญิงทั้งหมดที่เข้าร่วมโครงการ ทุกคนต่างสมัครใจและคาดหวังว่าตัวเองจะเป็นหนึ่งในผู้ที่ได้รับคัดเลือกไปเป็นส่วนหนึ่งของการสำรวจอวกาศ อย่างไรก็ตาม ความจริงไม่ได้สวยหรูเสมอไป เมื่อ Dr. Lovelace ได้นำเรื่องนี้ไปเสนอ NASA  เขากลับได้รับการปฏิเสธโดยสิ้นเชิง โครงการจึงต้องหยุดลง ทิ้งไว้เพียงความหวังอันริบหรี่ของเหล่าสมาชิก

    จนกระทั่ง Janey Hart และ Jerrie Cobb ได้เริ่มการรณรงค์ทางการเมือง เพื่อต่อสู้กับอคติที่ไม่อนุญาตให้มีนักบินอวกาศหญิง ขณะนั้นเธอจึงได้รับความสนใจจากสาธารณชน รวมถึงได้ให้สัมภาษณ์หลายครั้ง แต่ในที่สุด NASA ก็ยังไม่ยอมรับนักบินอวกาศหญิง จนกระทั่งปี 1983 ที่ NASA ได้ส่ง Sally Ride นักบินอวกาศหญิงคนแรกของอเมริกาสู่อวกาศ (ภายหลัง Valentina Tereshkova ของสหภาพโซเวียตถึง 20 ปี) และ ปี 1995 ที่ Eileen Collins ได้เป็นนักบินผู้ขับกระสวยอวกาศหญิงคนแรก (Shuttle pilot) 

    สมาชิก Mercury 13 ชมการปล่อยกระสวยอวกาศของ Eileen Collins ในปี 1995
    ขณะที่กระสวยอวกาศ STS-63 ถูกปล่อยในวันที่ 3 พฤษภาคม 1995 เหล่าสมาชิก Mercury 13 ก็ได้มาร่วมชมการปล่อยกระสวยอวกาศในวันนั้นด้วยรอยยิ้มของความตื้นตัน และน้ำตาแห่งความปลื้มปิติ

    แม้ในที่สุดแล้ว สมาชิก Mercury 13 จะไม่ประสบความสำเร็จดังที่คาด แต่ก็หวังว่าก้าวเล็กๆเหล่านี้ของพวกเธอ จะทำให้เกิดแรงกระเพื่อมต่อคำถามถึงทัศนคติของสังคมต่อผู้หญิง ทำให้เกิดก้าวกระโดดที่สำคัญของมนุษยชาติต่อความเท่าเทียมทางเพศ เชื้อชาติ และสีผิวต่อไปในอนาคต
     
    ** ภาพประกอบทั้งหมดจาก NASA และ Netflix
Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in