เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
THAIS IN WORLD HISTORY ผจญไทยในแดนเทศSALMONBOOKS
1890s-1920s แวะขึ้นฝั่ง โปรดระวังด้วย!


  • ชาวสยามที่เคยเดินทางสู่ทวีปยุโรปในยุคสมัยเครื่องบินโดยสารยังไม่กางปีกเหินฟ้า แทบไม่มีใครไม่รู้จัก ‘โคลอมโบ’ (Colombo)

    ต่อให้ไม่เคยหรือไม่ยอมลงจากเรือเดินสมุทรมาลองเหยียบแผ่นดินชายฝั่ง ณ เมืองนี้เลย ก็น่าจะคุ้นชินกับถ้อยคำเรียกขาน ‘ท่าแวะพักจอดยานนาวานานาชาติ’ ศูนย์กลางค้าขายและคมนาคมสำคัญแห่งมหาสมุทรอินเดียกันบ้าง

    “หนึ่งในบรรดาเมืองอันงดงามและใหญ่ที่สุดบนเกาะเซเรนดิบ”

    อิบน์ บัตตูตา (Ibn Battuta) ชาวอาหรับผู้เดินทางจากโมร็อกโก (Morocco) บรรยายสิ่งที่เขาสัมผัสเมื่อคราวแวะเยือนเมืองทางตะวันตกเฉียงใต้ของเกาะลังกาในคริสต์ศตวรรษที่ 14

    เซเรนดิบ (Serendib) ออกเสียงตามแบบโบราณเพื่อเอ่ยถึงซีลอน (Ceylon) หรือที่ปัจจุบันรู้จักกันดีในนาม ‘ศรีลังกา’ (Sri Lanka)

    ปรากฏหลายข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับความเป็นมาของชื่อเมืองที่น่าจะมาจากภาษาสิงหล—โกลัมบะ (Kolamba)
  • Kola แปลว่า ใบไม้ ส่วน Aamba แปลว่า มะม่วง

    นั่นเพียงแค่ความเชื่อหนึ่ง หากมีอีกข้อชวนตรึกตรอง มองว่า ‘กาลันโตตตะ’ (Kalantotta) เป็นชื่อดั้งเดิม ซึ่งต่อมา พ่อค้าอาหรับทั้งหลายเคลือบริมฝีปากว่า ‘โกลัมบู’ (Kolambu) แล้ว ภายหลังเมื่อพวกโปรตุกีสรุกเข้าควบคุมและพัฒนาสถานีการค้า จึงเรียกเสียใหม่พ้องกับแบบที่พวกเรากระดกลิ้นทุกวันนี้ว่า

    โค-ลอม-โบ!

    สามารถเขียนตอบ (หรืออาจจะใช้ดินสอ 2B ฝน) ไปได้เลยครับ หากข้อสอบถามถึงเมืองหลวงของประเทศศรีลังกาในปัจจุบัน


    โค-ลอม-โบ

    ความมุมานะในการเดินเรืออ้อมแหลมเจ้าพายุทางตอนใต้ ทวีปแอฟริกา—กู๊ดโฮป (Cape of Good Hope) จนสำเร็จของ วาสโก ดา กามา (Vasco da Gama) ทำให้ชาวตะวันตกสามารถล่องเรือมาสู่ทวีปเอเชียได้ง่ายยิ่งขึ้น และราวกับเป็นพรหมลิขิต ชักพาให้ชาวตะวันตกสัญชาติโปรตุกีสหมายตาต้องใจผืนแผ่นดินโคลอมโบ ที่ขณะนั้นอยู่ในสายตาดูแลของอินเดีย ด้วยความปรารถนาประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ จึงนำไปสู่การสยายปีกแห่งอำนาจยึดครอง

    เจ้าถิ่นเดิมอย่างชาวสิงหลหาได้มีอุเบกขา (ขอยืมคำหลวงตาวัดแถวบ้านมาใช้สักหน่อย เพราะชาวสิงหลส่วนมากนับถือศาสนาพุทธ) เหล่านักรบเข้ารุกรานหนักหน่วง กลับเผชิญพลังต่อต้านแข็งขัน ป้อมค่ายแบบตะวันตกถูกตั้งขึ้นป้องกันการโจมตี มิหนำซ้ำยังพยายามเผยแผ่ศาสนาคริสต์โรมันคาทอลิก มุ่งหวังให้พวกสิงหลเกิดอารมณ์กลมกลืนและกลมเกลียวกับพวกฝรั่ง ท้ายสุด โคลอมโบจึงอยู่ในกำมือชาวยุโรป
  • ใช่จะมีแต่โปรตุเกสเท่านั้น กระทั่งฮอลันดาก็ด้อมๆ มองๆ เมืองชายฝั่งทะเลแห่งนี้ จนได้โอกาสกรีธาทัพเข้าครอบงำแทนที่ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 18 และโปรยหว่านความเจริญหลายอย่าง เป็นต้นว่าทำถนน ขุดคลอง และทำท่าเทียบจอดเรือ

    ความเนื้อหอมอวลฟุ้งโชยกลิ่นเย้ายวนไปแตะจมูกอังกฤษที่เดิมทีมีข้อพิพาทขัดแย้งกับฮอลันดาในการแบ่งเขตแดนแผ่อำนาจและอิทธิพลทางน่านน้ำ แต่เมื่อทั้งสองฝ่ายตกลงกันได้ พอถึงช่วงต้นทศวรรษ 1800 ทั้งเกาะลังกาก็ถูกผนวกให้ขึ้นตรงต่อราชสำนักกรุงลอนดอน

    ดูเหมือนว่าระหว่างอยู่ภายใต้ซอกรักแร้เจ้าอาณานิคม การเปลี่ยนแปลงอันเฟื่องฟูได้กลายเป็นลมปราณแห่งโคลอมโบ ดำรงสถานะหลักแหล่งเชื่อมโยงเอเชียและยุโรปให้มาบรรจบ ขยายตัวเติบโตสู่ชุมชนเมืองท่า ดึงดูดผู้คนทั่วสารทิศ ทั้งอพยพเข้าตั้งถิ่นฐาน ทั้งแวะเวียนเยี่ยมเยือนชมเมือง หากลองทอดสายตามองจากมหาสมุทรอินเดียเข้าไปในฝั่งแผ่นดินเวลานั้น คงจะเห็นชาวตะวันตกทอดน่องขวักไขว่พลุกพล่านไปทั่ว คละเคล้าปะปนด้วยชาวเอเชีย รวมถึงชาวพื้นเมืองอย่างพวกสิงหลและพวกทมิฬ

    ราวปีคริสต์ศักราช 1884 เขื่อนกั้นน้ำขนาดใหญ่ที่สร้างขึ้นโดยอังกฤษเสร็จสมบูรณ์ นับเป็นสิ่งอำนวยความสะดวกต่อยาน-พาหนะทางน้ำที่มาพักจอดทอดสมอ และเป็นปัจจัยทำให้ชาวสยามจำนวนมากได้มาแวะเยือนเมืองท่าแห่งเกาะลังกา

    ใครหลายคนเมื่อลงจากเรือเดินสมุทร เข้าไปสู่เมืองหลวงซึ่งเคยผ่านมาทั้งวัฒนธรรมโปรตุเกส ฮอลันดา และอังกฤษ มักได้พบพานประสบการณ์น่าจดจำ หรือบางที อาจจะไม่น่าจดจำเอาเสียเลย
  • ในความรู้สึกของชาวสยาม โคลอมโบคือเมืองอันถูกหลงรักและถูกเกลียดชัง แม้กลิ่นอายอย่างหลังดูจะฉุนมากกว่า แต่ก็พบบันทึกทางประวัติศาสตร์ที่มีความพึงพอใจต่อเมืองนี้อยู่เช่นกัน

    สาธยายเรื่องราวของโคลอมโบมายืดยาว ถึงเวลาแล้วที่จะนำเสนอเหตุการณ์ของใครหลายคนผู้เคยไปสัมผัสที่นั่น

    จะมีใครบ้างนั้น ขอเชิญคุณผู้อ่านติดตาม


  • เดอะ ปริ๊นซ์ พรีสท์

    บุคคลผู้น่าจะเชื่อได้ว่า โคลอมโบย่อมแจ่มจรัสกลางหัวใจแน่ๆ คงได้แก่ พระชินวรวังสเถระ (Jinawara wansa Thera) โดยนามนี้อาจไม่คุ้นชินเท่าไหร่ เพราะแสดงถึงการครองสมณเพศในต่างแดน หากด้วยฐานะความเป็นฆราวาสในประเทศสยาม พระนามท่านคือ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์

    ใครชอบอ่านหนังสือประวัติศาสตร์ไทยช่วงเปลี่ยนผ่านสู่ภาวะสมัยใหม่ เห็นชื่อแล้วอาจร้อง อ๋อ แต่ถ้าใครไม่คุ้นชิน โปรดจดจ่อสายตาแต่ละขบวนย่อหน้าที่จะตามมา

    พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ คือนักเรียนหลวงรุ่นที่ถูกส่งไปเรียนเมืองนอกครั้งแรกเมื่อทศวรรษ 2410 เริ่มจากโรงเรียนราฟเฟิลล์ (Raffles Institution) ประเทศสิงคโปร์ ก่อนไปศึกษาทางด้านเอ็นยีเนียร์หรือวิศวกรรมศาสตร์ที่สำนักคิงส์คอลเลจ มหาวิทยาลัยลอนดอน (King’s College, University of London) จนคว้ามาได้หลายรางวัล ขนาดนายกรัฐมนตรีอังกฤษสมัยนั้นคือ นายวิลเลียม เอวาร์ท แกลดสตัน (William Ewart Gladstone) ยังถึงกับเอ่ยปากชมเชยทำนองว่าเป็นมิสเตอร์จากประเทศห่างไกลแต่กลับเหมารางวัลไปหมดเพียงผู้เดียว

    ท่านเป็นนักการทูตไทยคนแรกประจำทั้งทวีปยุโรปและสหรัฐฯ รวมแล้ว 12 ประเทศ ปรากฏผลงานเจรจาทำสัญญาต่างๆมากมาย เช่น เกี่ยวกับภาษีสุรา เกี่ยวกับไปรษณีย์สากล และเกี่ยวกับโทรเลขสากล

    บทบาทสำคัญโดดเด่นคงไม่พ้นการเป็นผู้ถวายคำกราบบังคมทูลความเห็นจัดการเปลี่ยนแปลงราชการแผ่นดิน ร.ศ. 103 ต่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 นัยว่าคือการเรียกร้องให้มีรัฐธรรมนูญครั้งแรกสุดในประเทศสยาม
  • อย่างหลังนี้เองคือจุดเปลี่ยนแห่งชีวิตเจ้าชายแห่งตระกูลชุมสาย เป็นเหตุการณ์ที่พลิกภาพลักษณ์เดิมให้กลับตาลปัตร

    ปีคริสต์ศักราช 1896 (ตรงกับพุทธศักราช 2439) ระหว่างเดินทางกลับสู่ประเทศสยาม ภายหลังได้รับโปรดเกล้าฯ ให้ร่วมคณะของสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช (ขณะนั้นยังทรงเป็นกรมพระ) ไปเยือนญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการ ในช่วงที่เรือแล่นผ่านฮ่องกงจนถึงไซ่ง่อน พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ตัดสินพระทัยโดยฉับพลันจะไม่หวนคืน บ้านเกิดเมืองนอน ทรงพระอักษรกราบถวายบังคมลาออกจากราชการฝากไว้ ไม่มีใครบนเรือพบเห็นท่านอีก แว่วข่าวคราวกระท่อนกระแท่น ว่ากำลังออกตระเวนท่องเที่ยวพเนจร

    เมืองโคลอมโบบนเกาะลังกาเหมือนจะใช่ปลายทาง ด้วยน้อยเนื้อตำใจและเบื่อหน่ายชีวิตการงานที่ผ่านมา ทำให้ท่านพร้อมยุติวิถีชีวิตแบบฆราวาสที่นั่น

    สิ่งใดคือทุกข์ทับถม?

    หากคุณผู้อ่านขยันค้นคว้าหลักฐานชั้นต้น คงจะได้คำตอบลึกๆ ถึงมูลเหตุหลายประการ ในที่นี้ขอบอกไว้ก่อนว่าทุกข์นั้นหนักหน่วงยิ่งยวด กระทั่งเคยซื้อปืนโคลต์มาหมายปลิดชีพตนเอง โชคดีที่หยาดน้ำ ตาและเสียงร่ำ ไห้อ้อนวอนของผู้หญิงใกล้ชิด ทำให้ปืนกระบอกนั้นถูกขว้างทิ้งลงน้ำไปเสียก่อน

    พระองค์เจ้าชาวสยามเข้าพบสังฆนายกประจำนครหลวง พระราชครูศรีสุภูติ (High Priest Sri Subhuti) ณ วัดวัสกาดูวา (Waskaduwa temple) ร้องขอให้เป็นพระอุปัชฌาย์เพื่อประกอบพิธีเข้าสู่เพศบรรพชิต ซึ่งเมื่ออุปสมบทเรียบร้อยแล้ว จึงครองจีวรเนิ่นนานถึงสิบห้าปี


  • จำพรรษาได้เก้าปี พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ก็ขึ้นดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสประจำอารามทิปทุตตมาราม (Dipaduttamarama temple) และสรรค์สร้างผลงานชิ้นสำคัญ อย่างการจัดตั้งโรงเรียนสอนหนังสือสำหรับเด็กชายหญิงผู้ยากไร้ แม้ไม่มีค่าเล่าเรียนก็มานั่งแสวงหาวิชาความรู้ได้

    ข้าหลวงอังกฤษประจำเกาะลังกาสนับสนุนภารกิจพระภิกษุชาวสยามเต็มที่ ส่วนชาวบ้านโคลอมโบล้วนปลื้มเปรมถ้วนหน้า ต่างพากันขนานนามท่านว่า ‘เดอะ ปริ๊นซ์ พรีสท์’ (The Prince Priest)

    ภูเขาทอง ณ วัดสระเกศ กรุงเทพมหานครที่งามตระหง่านแลเห็นแต่ไกลจวบจนปัจจุบัน ทว่ากลับไม่ค่อยมีใครล่วงรู้เท่าไหร่ว่าพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้าที่บรรจุไว้บนยอดบรมบรรพตนั้น ได้อัญเชิญจากเกาะลังกาโดยพระองค์เจ้าปฤษฎางค์เป็นผู้จัดส่งมา กล่าวคือ ช่วงทศวรรษ 1900 มีการค้นพบพระอัฐิพระพุทธองค์ พระชินวรวังสเถระทรงมีหนังสือถึงมหาอุปราชอินเดีย ใคร่ขอแบ่งปันบางส่วนแล้วส่งไปถวายพระมหากษัตริย์สยามซึ่งเป็นองค์อัครศาสนูปถัมภก มหาอุปราชอินเดียก็ทรงเห็นดีเห็นงาม

    ร่ำลือกันอีก พระภิกษุปฤษฎางค์ได้ออกธุดงค์สมบุกสมบันจนไปพบเกาะร้างเล็กๆ แห่งหนึ่ง ดาษดื่นด้วยงูพิษที่ถูกนำมาปล่อยทิ้งและหลุมฝังศพพวกแขก หากท่านกลับเลือกเอาเป็นที่จำศีลภาวนาพร้อมให้ชื่อเกาะว่า ‘จุลลังกา’ ทำให้เกิดกระแสความตื่นเต้นพรั่งพรูในหมู่ชาวภารตะ มีผู้เลื่อมใสถึงขั้นอุตส่าห์ข้ามน้ำข้ามทะเลมาถวายภัตตาหาร แม้แต่ฝรั่งยังขอฝากตัวเป็นศิษย์ถึงสามราย ดูเหมือนจะได้แก่ชาวเยอรมัน ชาววิลันดา (ชาวฮอลันดา) และชาวออสเตรเลียน

    แทบไม่น่าเชื่อเลยว่า ภิกษุธุดงค์รูปดังกล่าว เคยผ่านการดำรงตำแหน่งนักการทูตประจำทวีปยุโรปและสหรัฐฯ

    ชื่อเสียงเลื่องลือแห่งผู้ทรงศีล ณ เกาะจุลลังกา บันดาลให้ทางคณะสงฆ์จากโคลอมโบส่งทูตมาเชื้อเชิญให้พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ไปรับตำแหน่งสังฆนายก

    ปีพุทธศักราช 2453 (คริสต์ศักราช 1910) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต ครั้นพระชินวรวังสเถระได้รับข่าวคราว จึงเดินทางกลับบ้านเกิดเมืองนอนเพื่อถวายบังคมพระบรมศพ

    ในวันที่จะอำลาจากดินแดนซึ่งได้ฝากลมหายใจห่มคลุมจีวรเสียเนิ่นนานแบบไม่ทันตั้งตัว ภิกษุสงฆ์แทบจะทั้งเมืองยกขบวนกันมาส่งตรงท่าเรือเนืองแน่น ยินเสียงร่ำไห้ระงมท่ามกลางพุทธสาวกชาวลังกา แล้วค่อยๆ ห่างหายไปกับหวูดเรือดังลั่น

    ยานนาวาถอนสมอไกลจากชายฝั่ง บ่ายหน้าสู่ประเทศสยาม ทิ้งเกาะลังกาให้เป็นอดีต

    เป็นการปิดม่านชีวิตพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ที่เกี่ยวกับโคลอมโบ

    พอถึงกรุงเทพพระมหานคร ความหวังจะหวนย้อนยังโคลอมโบริบหรี่ พระเถระผู้เคร่งครัดมีเหตุให้ต้องลาสิกขา เนื่องจากทางการสยามปรารถนาให้มาเข้ารับราชการ

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in