เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
THAIS IN WORLD HISTORY ผจญไทยในแดนเทศSALMONBOOKS
คำนำ



  • คำนำสำนักพิมพ์


    เวลาอ่านเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติศาสตร์โลก เคยสงสัยกันบ้างไหมว่าเหตุการณ์นั้นมีคนไทยเกี่ยวข้องหรือเปล่า

    เราเคยสงสัย แต่ด้วยความอับจนทางปัญญา ไม่รู้จะไปสืบหาจากแหล่งไหน หลายต่อหลายครั้งเลยได้แต่ตั้งคำถาม แล้วก็ลืมไปว่าอยากได้คำตอบ

    คนไทยจะไปอยู่ในประวัติศาสตร์ของชาติอื่นได้ยังไง เราคิดอย่างนั้น

    จนวันหนึ่งเราได้พบบทความว่าด้วยคนไทยกับเรือไททานิก ผู้เขียนเล่าว่าเรือเดินลำสมุทรที่ใหญ่ที่สุดในโลกเคยมีคนไทยเป็นเจ้าของตั๋ว!

    เราตื่นตกใจ รีบไล่สายตาอ่านโดยเร็วพลัน และเหมือนได้อยู่ในช่วงเวลานั้น เพราะผู้เขียนเล่าบรรยากาศอย่างละเอียดยิบ ใส่ข้อมูลมาแน่นเอี้ยด ที่สำคัญ อ่านได้อย่างเพลิดเพลิน ทั้งที่ความจริงเรื่องเล่านั้นมีความยาวพอตัว

    นอกจากจะจำเรื่องราวเกี่ยวกับคนไทยบนไททานิกได้ อีกสิ่งที่เราจำได้ขึ้นใจจึงเป็นชื่อของผู้เขียน

    ‘อาชญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ’ คือผู้เขียนบทความชิ้นนั้น

    เราใช้เวลาไม่นานในการสืบหาเจ้าตัว แต่ใช้เวลาอยู่นานเพื่อรวบรวมความกล้าเอ่ยปากชักชวนเขามาเขียนหนังสือในมือคุณ เพราะเรารู้ตัวว่าเรื่องที่อยากอ่าน ไม่น่าจะหากันได้ง่ายๆ แถมยังดูต้องใช้เวลาและพลังอย่างมาก ถ้าไม่ใช่คนที่ชื่นชอบประวัติศาสตร์เป็นทุนเดิมคงเป็นเรื่องยาก

    แล้วเราก็ได้รู้ว่า อาชญาสิทธิ์เรียนเกี่ยวกับประวัติศาสตร์

    แถมยังพ่วงดีกรีเป็นทั้งนักเขียนกวีและวรรณกรรม รวมถึงเป็นสุดยอดแฟนพันธุ์แท้วรรณกรรมซีไรต์อีกด้วย!

    หลังจากได้คุยกัน อาชญาสิทธิ์บอกว่ายังมีคนไทยอีกจำนวนหนึ่งที่ไปเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์สำคัญของโลก ไม่ว่าจะคนไทยที่เป็นอาจารย์ของผู้นำชาวคิวบาอย่างฟิเดล คาสโตร คนไทยที่อยู่ในเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่ซานฟรานซิสโก หรือคนไทยที่ได้สัมผัสกับเหตุการณ์สงครามโลกในต่างประเทศ

    เราฟังเขาเล่าด้วยความรู้สึกทึ่ง

    ทึ่งทั้งในเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริง ทึ่งที่เขาไปเสาะหาจนค้นเจอว่ามีคนไทยอยู่ในเหตุการณ์นั้น และต้องทึ่งเข้าไปอีกเมื่อเขาส่งต้นฉบับให้เรา เพราะนอกจากแต่ละตอนจะมีความยาว เขายังเล่าเรื่องได้สนุก เก็บทุกอารมณ์ มีครบทุกรสชาติ แถมยังทำให้เราลุ้นไปกับการผจญภัยในหน้ากระดาษจนตัวโก่ง

    และตอนนี้ก็ถึงเวลาแล้วที่เราจะให้คุณผู้อ่านได้ผจญภัยไปกับเรื่องเล่าของอาชญาสิทธิ์

    เรื่องเล่าเกี่ยวกับประวัติศาสตร์โลก ที่มีคนไทยผจญภัยอยู่ในนั้น


    สำนักพิมพ์แซลมอน


  • คำนำผู้เขียน


    ราวเที่ยงวันจันทร์ที่ 19 ตุลาคม คริสต์ศักราช 2015 อาจมีชาวรัสเซียหลายคนมองเห็นหนุ่มผิวเข้ม เรือนผมหยักศก (และหยิกศก) เตร็ดเตร่ไปตามถนนเนียฟสกี้ พรอสเพ็คท์ (Nevsky Prospekt) เมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก (Saint Petersburg)

    ถนนซึ่งเขาคลั่งไคล้จากการเคยเป็น ‘ผู่บ่าวสายตาเลาะ’ อ่านงานเขียนของนิโคไล โกโกล (Nikolai Gogol)

    หนุ่มคนนั้นเป็นชาวไทย แม้ใครต่อใครในประเทศไทยมักเข้าใจผิดว่าเขาไม่ใช่ก็ตาม

    หากถามถึงชื่อเรียกขานแล้ว หลายคนคงเปล่งเสียงจริงจังว่า ‘อาชญาสิทธิ์’ และอีกหลายคนผลิรอยยิ้มพร้อมกระดกลิ้น ‘แครส’

    ผมเองนั่นล่ะครับ คุณผู้อ่านที่น่ารัก

    ในเวลานั้น ยังมิรู้หรอก พอลงไปสู่ชานชาลารถไฟใต้ดินสถานีชื่อเดียวกันกับถนน ผมจะได้ผจญกับอะไร

    แต่มองย้อนจากตอนนี้ โอ้ ชัดเจนในความทรงจำเลย

    เรื่องราวมีอยู่ว่า...

    ขณะผมกำลังก้าวเข้าสู่ขบวนรถไฟ ผู้ชายร่างสูงใหญ่กำยำราวหกคนโถมเข้ามาเบียดเสียดรุมล้อมหนาแน่น ชั่วพริบตาแท้ๆ พวกเขาทั้งหมดปล้นเงินสกุลรูเบิลจากกระเป๋ากางเกงของผมไปได้หลายพันบาท เคราะห์ยังดี เพียงแค่สูญเงิน ความบาดเจ็บมิได้แผ้วพานร่างกายเท่ารอยแมวรัสเซียข่วน

    ยากลืมเลือนนักต่อเหตุการณ์ตอนเที่ยงวันจันทร์

    20 ตุลาคมหรือวันถัดมา ผมมีอายุครบ 26 ปีเต็ม พร้อมใคร่ครวญบางสิ่งบางอย่าง และนั่นคือมูลเหตุแห่งความตกลงใจว่าผมคงต้องเขียนหนังสือสักเล่มบอกเล่าถึงสิ่งที่คนไทยได้พบเผชิญในต่างประเทศ

    ความสนใจต่อเรื่องราวข้างต้น หาได้ผลิบานเพราะผมถูกโจรปล้นหรอกนะ หากถักทอข้อฉงนขึ้นในห้วงความนึกมาเนิ่นนานนับแต่สิบปีก่อน

    กระนั้น โดยสารภาพ ประสบการณ์ของผม ณ เซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก นับเป็นเครื่องเร่งเร้าให้พากเพียรจรดปากกาบันทึกบนหน้ากระดาษเรื่อยมา ลึกๆ แล้ว ใจผมจดจ่ออยากจะถ่ายทอดขบวนเรื่องราวลักษณะนี้ให้ไปจุมพิตสายตาคุณผู้อ่านในวงกว้างอย่างถ้วนทั่ว ผันผ่านหลายปีทีเดียวกับการเพียงแต่นึกไว้เท่านั้น

    มีความสงสัยมากมายภายหลังทอดสายตาพิจารณาเกี่ยวกับเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์โลก

    คนไทยอยู่ร่วมเหตุการณ์นั้นด้วยหรือเปล่านะ?

    การขจัดความอยากรู้ในหัวใจผม จำเป็นอย่างยิ่งต้องอาศัยหลักฐานทางประวัติศาสตร์ในรูปแบบเอกสารและหนังสือหลากหลายสิบเล่ม ทั้งสภาพหมาดใหม่และเก่ากรอบ

    ไม่เปลืองเรี่ยวแรงสักนิด มิหนำซ้ำยังท่วมท้นความยินดี เมื่อได้ค้นพบว่า นับแต่อดีตจวบจนปัจจุบัน ปรากฏคนไทยหรือชาวสยามมิใช่น้อยที่เคยมีประสบการณ์ร่วมอยู่ในสถานการณ์คับขัน

    หลายคนเขียนบันทึกเล่าไว้ด้วยตัวเอง หลายคนถูกเขียนบันทึกเล่าถึงไว้โดยคนอื่น หลายคนเล่าต่อให้คนรุ่นลูกรุ่นหลานฟัง และอย่างน่าเสียดาย หลายคนไม่ได้บันทึกหรือเล่าต่ออะไรไว้เลย เรื่องราวอันน่าสนใจจึงหล่นหายไปตามกาลเวลา

    ตัวละครของอดีตซึ่งมีตัวตนอยู่จริงในประวัติศาสตร์นั้น ย่อมเปี่ยมล้นคุณค่าน่าจดจำเสมอตามทัศนคติของผม เป็นความตื่นเต้นมิใช่น้อยที่ได้เชื้อเชิญพวกเขาให้มาทอดน่องบนแต่ละบรรทัดของหน้ากระดาษ รวมถึงผายมือแนะนำให้คุณผู้อ่านได้รู้จัก

    หนังสือเล่มนี้คงหมดสิทธิ์อวดโฉมแนบแน่นอยู่กับมือและสายตาท่านทั้งหลาย ถ้าผมมิได้รับโอกาสจากท่านบรรณาธิการ—ปฏิกาล ภาคกาย ในวันชาติฝรั่งเศสของปีคริสต์ศักราช 2017 ผมได้รับการติดต่อด้วยมิตรภาพน่าประทับจิต

    ความใจเย็นและการเอาใจใส่ต่อต้นฉบับของเขา ช่างทรงพลานุภาพ บันดาลให้ผมเปี่ยมล้นความเกรงใจและขะมักเขม้น ขยับไหวข้อมือ ระรัวเรียวนิ้วบนแป้นพิมพ์แข็งขัน นับแต่ปลายเดือนสิงหาคม โดยเฉพาะตลอดเดือนกันยายน ตุลาคมมาถึงอย่างรวดเร็ว และผมดีใจกับตนเองที่ทำงานชิ้นนี้ได้สำเร็จลุล่วง

    เดิมที ผมมาดหมายตั้งชื่อประดับปกว่า ‘ผจญไทยในเมืองเทศ’

    ผจญไทย สื่อความถึงการที่ผมได้ค้นพบเรื่องราวของคนไทยหรือชาวสยามผู้โลดแล่นชีวิตชีวาในต่างประเทศจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ขณะเดียวกัน คนไทยหรือชาวสยามเหล่านั้น ก็ได้ผจญกับเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์โลกตอนที่กำลังสูดลมหายใจในเมืองนอก ถ้อยคำนี้ ฟังเผินๆ ยังชวนให้นึกถึงการผจญภัยอันน่าติดตามลุ้นระทึก

    ส่วน เมืองเทศ จงใจแสดงบรรยากาศความเป็นต่างประเทศ บอกเล่าผ่านหลายเมืองที่คนไทยได้ผ่านทางหรือแวะเวียนไป กระนั้น ดูเหมือนจะโชยกลิ่นเครื่องเทศจนผู้พบเห็นอดใจจะนึกถึงอินเดียมิได้

    เวลาหลายวันยึดโยงอยู่กับการทบทวนชื่อหนังสือ

    เป็นอันว่า ท้ายสุด ลงตัวอย่างสวยงามและมีจังหวะจะโคน ‘ผจญไทยในแดนเทศ’

    ขอบใจต่อมาถึงมิตรสหายหลายท่าน ลุงบอลหงิงหงิง ภาสวร สังข์ศร, บิ๊กเอ อดิเรก พรมเสน, หนุ่ย เชาวนอฟสกี้ มูลภักดี, ตั๋วเข้ม ณัฐพงศ์ ดวงแก้ว, บอย สรพงษ์ ลัดสวน, โอซิ่ล วีรวรรธน์ สมนึก และเป๊าะ อิทธิเดช พระเพ็ชร์ สำหรับการสนทนาเกี่ยวกับเกร็ดความรู้และประเด็นชวนฉุกคิด

    หนานแซม สุริยัน สุปินะ เป็นอีกคนที่ผมต้องพาดพิง แม้เขาจะลาทุ่งรังสิตไปหลงเมืองกรุงในห้วงยามที่ผมกำลังเขียนหนังสือ แต่ปฏิเสธมิได้เลยว่า ราวห้าปีก่อน หนุ่มพะเยาคนนี้แหละคือคนแรกสุดซึ่งรับฟังแรงปรารถนาจะเขียนเรื่องราวดังว่า

    ควงแขนมาด้วยหญิงสาว ใหม่ อารยา พิทยจำรัส, อำแดง หลิน วรธิภา สัตยานุศักดิ์กุล, พาขวัญ กาญจนาคม สำหรับการช่วยเหลือให้ผมผ่อนคลายสายตาบ้าง โดยกรุณาช่วยพิมพ์ตามคำบอก กนกวรรณ เปี่ยมสุวรรณศิริ และอุมมีสาลาม อุมาร ในแง่ของเพื่อนปรึกษาปรับทุกข์

    ร้านถ่ายเอกสารป๋วยพิมพการเป็นพื้นที่สำคัญซึ่งผมมิอาจปล่อยให้ตกหล่นไปได้ เพราะผมฝากเอกสารและหนังสือ รวมถึงสัมภาระต่างๆ ไว้จนระเกะระกะ ด้วยความกรุณาของพี่จ๊อบ อภิพล และพี่ป้อง ชานันท์

    ขอบคุณสำนักพิมพ์แซลมอนและกองบรรณาธิการอย่างยิ่งที่อนุญาตให้ผมเพลิดเพลินอยู่ในความอร่อยของการนำเสนอประวัติศาสตร์อีกรสชาติหนึ่ง

    หวังใจที่สุดครับ ว่าคุณผู้อ่านทุกท่านคงอร่อยกับเรื่องเล่าของผมเฉกเช่นกัน

    เรื่องตลกอย่างหนึ่งในร้านอาหารละแวกทุ่งรังสิตคือ ลูกค้ามักจะได้รับประทานปลาดอรี่ โดยแม่ค้าปลอมตัวให้เป็นปลากะพง

    เอาละครับ เขียนมาถึงบรรทัดนี้แล้ว ผมคงขอตัวไปเขมือบเนื้อปลาแซลมอนให้อิ่มหนำสำราญสักที



    อาชญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ
    ทุ่งรังสิต/ ท่าอีเกิ้ง
    กลางเดือนตุลาคม 2017



เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in