เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
ไทยๆ ในโลกล้วนอนิจจังSALMONBOOKS
๐๑: ยิ้มสยาม

  • ‘ยิ้มสยาม’ คือยิ้มให้ใคร
    แล้ว ‘สวัสดี’ คือคำเก่าไทย หรือว่าใครเพิ่งประดิษฐ์


    นโยบายส่งเสริมความเป็นไทยอย่างหนึ่งที่รัฐไทยออกแคมเปญคือ รณรงค์ให้มีการไหว้ กล่าวคำสวัสดี และการยิ้มอย่างที่เรียกว่า ‘ยิ้มสยาม’ ยังไงล่ะครับ (แหม่ ความเป็นไทยนี่มันง่ายแค่นี้เอง แค่เพียง ‘ยิ้ม’ ปุ๊บ ก็นับเป็น ‘ไทย’ ได้แล้ว)

    ประเทศไทยเคยบอก (พร้อมกับกล่อม) ตนเอง (ถ้าจะพูดให้ตรงๆ ก็คือ กล่อมประชาชน) ว่า เราเป็น ‘สยามเมืองยิ้ม’ ซึ่งก็แน่นอนว่าหมายถึงเรายิ้มให้กับคนอื่น เพราะถ้าอยู่ๆ มีแค่คนไทยเอง การยิ้มให้กันในประเทศ ก็คงไม่น่าจะเป็นเรื่องที่เอามาเป็นจุดขายสักเท่าไหร่?

    คำถามก็คือ สยามของเรายิ้มให้กับใคร?

    สยามเริ่มแบ่งแยกยิ้มของตัวเองออกมาจากรอยยิ้มของชาติอื่นๆ ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง หรือเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2488-2489 เพราะเมื่อรัฐบาลไทย (เปลี่ยนชื่อจากประเทศสยามเป็นประเทศไทยเมื่อ พ.ศ. 2482) ในยุคนั้นเลือกเข้าข้างฝรั่งที่ชนะสงครามมากกว่าจะเลือกเพื่อนบ้าน ฝรั่งก็เลยเดินทางมาเกี่ยวข้องกับประเทศไทยมากกว่าที่เคยเป็นมา

    มีการเล่าต่อๆ กันมาว่า ฝรั่งในยุคนั้น (และไหลเลื่อนลงมาถึงยุค พ.ศ. 2500 ต้นๆ) เป็นฝ่ายเรียกเราว่าสยามเมืองยิ้มก่อนที่เราจะเรียกตัวเอง โดยคนหนึ่งที่ถูกอ้างอยู่บ่อยๆ ว่าเป็นคนเล่าเรื่องนี้ก็คือนักคิด นักเขียน นักหนังสือพิมพ์ นักการเมือง และอีกมากมายสารพัดนัก ผู้ควบตำแหน่งอดีตนายกรัฐมนตรีของประเทศไทยอย่าง ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช
  • คุณชายคึกฤทธิ์เคยเขียนเล่าเอาไว้ในบทความเรื่อง ฝรั่งในเมืองไทย ของท่านเมื่อวันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2494 ไว้ว่า

    “...คนพวกนี้เห็นฝรั่งสูงกว่าตนในทุกทาง ...เห็นฝรั่งที่ไหนก็มักจะไปกระหยิ่มยิ้มย่อง ถ้าฝรั่งตบหัวลูบหลังเล่นด้วยก็เท่ากับได้ลาภอันประเสริฐ ปีติยินดีเป็นล้นพ้น...”

    อาการ ‘กระหยิ่มยิ้มย่อง’ อย่างที่คุณชายคึกฤทธิ์ว่าเอาไว้นี้ดูจะเป็นการ ‘ยิ้มประจบประแจง’ ซึ่งก็คงไม่ใช่เรื่องที่น่าภูมิใจเท่าไหร่นัก โดยเฉพาะสำหรับเจ้าของรอยยิ้มที่ว่า

    ในขณะที่ลูกศิษย์คนหนึ่งของคุณชายคึกฤทธิ์ ผู้เป็นทั้งนักเขียน นักหนังสือพิมพ์ และนักโบราณคดีนอกเครื่องแบบอย่างคุณสุจิตต์ วงษ์เทศ ก็เคยเขียนบทความที่ชื่อ ยิ้มสยาม โดยมีเนื้อหาโดยสรุปว่า เพราะคนไทยไม่รู้ภาษาอังกฤษ เวลาที่ฝรั่งถามอะไร ด้วยความที่ฟังไม่ออกอย่างหนึ่ง และฟังฝรั่งออกแต่ไม่รู้จะตอบว่าอะไรอีกอย่างหนึ่ง คนไทยก็เลย ‘ยิ้ม’ สู้เอาไว้ก่อน (โถๆ พ่อคุณ) ส่วนพวกฝรั่งเมื่อจับต้นชนปลายไม่ถูก (เพราะในวัฒนธรรมของเขาไม่เคยยิ้มแหะๆ และเหยเก ด้วยอาการไปไม่เป็นอย่างนี้) บ่อยเข้าเลยเรียกอาการอย่างนี้ว่า ‘ยิ้มสยาม’

    ถ้าเชื่ออย่างที่คุณชายคึกฤทธิ์และคุณสุจิตต์ว่าเอาไว้ ‘ยิ้มสยาม’ ก็ดูจะเป็นยิ้มที่มีลักษณะของการ ‘ยอมจำนน’ อย่างบอกไม่ถูก ยิ่งเมื่อสถานการณ์ในยุคนั้น ประเทศไทยก็ตกอยู่ในภาวะยอมจำนนต่อกระแสอันเชี่ยวกรากของวัฒนธรรมฝรั่งที่ไหลบ่าเข้ามาในประเทศไทยอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นวัฒนธรรมอเมริกันที่ทำให้เกิดโก๋หลังวังทั้งหลาย (ถ้ายังนึกไม่ออก ก็ลองนึกถึงอิทธิพลของ Elvis Presley ที่ไม่ได้มาเฉพาะดนตรีร็อคแอนด์โรลล์ แต่ยังถูกอิมพอร์ตมาทั้งเสื้อผ้าหน้าผมให้เห็นกันในหนังที่เล่าเรื่องพี่แดง ไบเล่ แอนด์เดอะแก๊ง ดูก็แล้วกันนะ) ไปจนถึงกระแสเมียเช่าและการเข้ามาของพวก G.I. ในยุคสงครามเวียดนามที่พวกอเมริกันมาตั้งฐานทัพอยู่ในประเทศของเรา

    ก็คงมีเฉพาะพวกฝรั่งกับชาติมหาอำนาจเท่านั้นแหละ ที่มองเห็นรอยยิ้มแหยๆ อย่างนี้ว่าเป็น ‘ยิ้มสยาม’ และถึงแม้ว่าจะเป็นอย่างนั้น แต่ทั้งรัฐและคนไทยก็ดูจะภาคภูมิใจกับเจ้า รอยยิ้มบูดๆ เบี้ยวๆ นี้เสียยิ่งกว่าอะไร เห็นได้จากแคมเปญจำพวก ‘Land of Smile’ ที่ทั้งภาครัฐและเอกชนของบ้านนี้เมืองนี้ขยันผลิตซ้ำกันอยู่แทบจะทุกขณะจิต
  • ก็แม้กระทั่งอดีตราชินีลูกทุ่งผู้ล่วงลับอย่างคุณพุ่มพวง ดวงจันทร์ ยังบอกให้พวกเรากระหยิ่มถึงความดีงามนี้ไว้ในบทเพลงที่มีชื่อว่า สยามเมืองยิ้ม เลยนะครับ

    การที่แม่ผึ้งขึ้นต้นเพลงนี้ด้วยประโยคที่ว่า ‘จงภูมิใจเถิด ที่เกิดเป็นไทย’ ก็ดูจะเป็นตัวอย่างที่ดีอยู่แล้วว่ารัฐได้กล่อมเสียจนประชาชนคนไทยภาคภูมิใจใน ‘ยิ้มสยาม’ จนไม่สนว่าคนอื่นจะมองรอยยิ้มของเราในรูปแบบไหน เพราะคงไม่มีใครหรอกนะครับที่จะภาคภูมิใจในรอยยิ้มแหยๆ ไปได้

    แต่ก็ไม่ใช่ทุกชาติที่จะเห็น ‘ยิ้มสยาม’ ของเราเป็นเพียงรอยยิ้มแหยๆ อย่างที่พวกฝรั่ง หรือชาติมหาอำนาจทั้งหลายมองเห็น ชนชาติอื่นๆ ที่เราไม่จำเป็นต้องไปประจบ เพราะถูกพี่ไทยเรามองว่าด้อยหรือต่ำกว่าตนเอง อย่างเช่นชนชาติที่เข้ามาอยู่ในประเทศไทยในฐานะของแรงงานเป็นส่วนใหญ่ คงจะ
    ไม่มอง ‘รอยยิ้ม’ ที่เขาเห็นว่าเป็นเพียง ‘รอยยิ้มแหยๆ’ แน่ ดีไม่ดีพวกเขาอาจจะมองเห็น ‘ยิ้มสยาม’ เป็น ‘รอยยิ้มอันเหี้ยมเกรียม’ ด้วยซ้ำ

    แต่ถึงแม้จะเป็นอย่างนั้น รัฐก็มักจะบอกกับเราอีกว่ายิ้มสยามต้องมาพร้อมกับมารยาททางสังคมอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น การไหว้ การสวัสดี การขอบคุณ หรือการขอโทษ เพราะทั้งหมดนี้คือความเป็นไทย

    ผมไม่แน่ใจนักว่า เมื่อสืบถึงประวัติที่มาแล้ว รัฐท่านจะยังคิดว่าอะไรเหล่านี้เป็นไทยหรือเปล่า? ก็ในเมื่อการไหว้ เป็นการเอาท่ามือของแขก อย่างที่เราเห็นพระพุทธรูปแต่ละปางวาดไม้วาดมือแตกต่างกัน เพื่อแสดงถึงความหมายที่ต่างกันออกไป (ทำนองเดียวกับภาษามือที่คนใบ้ใช้สื่อสารกันนั่นแหละ) ไอ้ท่ามือที่คนไทยเรียกว่าการไหว้นั้น พวกแขกฮินดูเขาเรียกว่า ‘นมัสการมุทรา’ ใช้สำหรับทำความเคารพผู้มีอาวุโสหรือลำดับชั้นทางสังคมสูงกว่า อย่างการไหว้พระ ไหว้เจ้า เป็นต้น
  • ไทยเราเมื่อรับเอาท่ามือนี้มา แต่เดิมก็คงยังใช้ไหว้พระไหว้เจ้ามาก่อน ไม่ได้ใช้ไหว้คน เพราะยังมีคำคนเฒ่าคนแก่ที่ใช้รับไหว้อย่าง ‘ไหว้พระเถอะลูกเอ๊ย’ อยู่เลยนะครับ ที่มาใช้ไหว้คนกันนี้น่าจะมีในภายหลัง เพราะไม่อย่างนั้นคนเฒ่าคนแก่จะตอบรับไหว้ว่าให้ไปไหว้พระทำไมกัน?

    ส่วนคำว่า ‘สวัสดี’ นี่ยิ่งแล้วใหญ่ เพราะมีประวัติความเป็นมาว่า พระยาอุปกิตศิลปสาร (นิ่ม กาญจนาชีวะ) ได้ประดิษฐ์ขึ้นโดยผูกมาจากคำว่า ‘สวสฺติ’ ในภาษาสันสกฤตและใช้อยู่ในเฉพาะคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่ท่านสอนอยู่กันเป็นการเฉพาะมาก่อน เรียกว่าเป็นธรรมเนียมที่ยูนีคและคัลต์เอามากๆ ในสมัยที่เริ่มมีการใช้คำนี้กันเฉพาะกลุ่ม

    ในจุฬาฯ จะมีใครใช้คำว่า สวัสดี กับพระยาอุปกิตฯ บ้างหรือเปล่าไม่รู้ เพราะไม่มีหลักฐานแน่ชัด แต่คำนี้ก็กลายเป็นที่ชอบอกชอบใจของผู้มีอำนาจในขณะนั้นอย่าง จอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอยู่ (ซึ่งก็ไม่มีบันทึกไว้หรอกนะครับว่า จอมพล ป. หรือท่านจอมพลแปลกของเราไปได้ยินมาจากไหนหรือว่ารู้มาได้ยังไง) จนถึงขนาดประกาศให้คำนี้เป็นคำทักทายอย่างเป็นทางการของคนไทยเมื่อวันที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2486 เป็นต้นมา

    ความเป็นไทยบางครั้งจึงอาจจะไม่ต้องมีรากที่มาลึกซึ้งอะไรก็ได้ แค่ชนชั้นนำเคยประดิษฐ์อะไรขึ้นมาใช้กันเก๋ๆ ไม่กี่คน แล้วคนมีอำนาจไปประกาศบังคับให้คนทั้งประเทศใช้ตามก็เป็นอันใช้ได้แล้วนะครับ เพราะในยุคจอมพล ป. ก็ยังมีการประดิษฐ์คำทักทายจำพวก อรุณสวัสดิ์ ราตรีสวัสดิ์ ซึ่งก็เอามาจากคำทักทายจำพวก Good Morning หรือ Good Night ในภาษาอังกฤษ

    พูดง่ายๆ คือ มีการสร้างมาตรฐานของ ‘มารยาท’ เพื่อแสดงความเป็นอารยประเทศ ซึ่งก็หมายความด้วยว่าไม่ได้มีเฉพาะชาติไทยเท่านั้นที่ทำกัน ชนชาติอื่นๆ ที่มีอารยะเขาก็ทำกันทั้งนั้นแหละ

    เอาเข้าจริงแล้ว ใครๆ ก็รู้กันว่า ชนชาติไหนเขาก็ล้วนมีมารยาทจำพวกนี้กันทั้งนั้น ไม่ว่าจะทักทายกันด้วยคำว่า Hello หรือ หนีห่าว แล้วจับมือหรือยกมือขึ้นไหว้ จะคำว่า Thank You หรือ Sorry ก็ไม่ได้ต่างไปจากคำไทยว่า ขอบคุณ หรือ ขอโทษ (แต่อาจจะไม่มีเสน่ห์เท่าเรา เพราะเขาไม่มีรอยยิ้มสยามเป็นแพ็กเกจพ่วงเข้าไปด้วย :P)

    มารยาทจำพวกนี้จึงเป็นอารยะของความเป็นคนนะครับ ไม่ใช่อารยะของความเป็นไทยเพียงอย่างเดียว ซึ่งก็ไม่มีชนชาติไหนในโลกที่จะมีสิทธิ์เคลมว่า มีเฉพาะพวกตัวเองเท่านั้นที่เป็นคน ไม่ว่าชนชาตินั้นจะยิ่งใหญ่สักแค่ไหนก็ตามที

    และ ‘ความเป็นไทย’ ก็ไม่สามารถหมายถึง ‘ความเป็นคน’ ได้ในทุกแง่มุม เพราะในความเป็นคนยังมีคนชาติอื่นๆ อยู่ร่วมด้วยอีกเต็มไปหมด

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in
ชมชาน อวตาร (@fb2314615351846)
ผมใคร่ขอเสอ ให้ประเทศไทยมี วันยิ้มสยาม วันแห่งชาติ และเป็นวันยิ้มโลก ในวันที่2เมษายนของทุกปีโดยให้กรมสุขภาพจิตกระทรวงสาธารณสุขเป็นจ้าวภาพ สโลแกน ยิ้มเพื่อสุขภาพ ให้รมต.เจ้ากระทรวางให้คำขวัญทุกปี สมกับไทยได้ชื่อว่า สยามเมืองยิ้ม พอถึง2เมษายนทุกคนต้องยิ้ม ยิ้มน้อยยิ้มใหญ่ยิ้มอย่างไรก็น่ารัก