เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
เวียงโกศัย (northstalgia)phraeread
คัมภีร์ธัมม์วัดสูงเม่น ของดีจังหวัดแพร่ที่เลื่องชื่อระดับประเทศ
  • วัดสูงเม่น แหล่งเก็บรวบรวมคัมภีร์ธัมม์โบราณอันทรงคุณที่มีมากที่สุดในล้านนา


    หม้อห้อม ไม้สัก ถิ่นรักพระลอ ช่อแฮศรีเมือง ลือเลื่องแพะเมืองผี คนแพร่นี้ใจงาม


    คือคำขวัญของจังหวัดแพร่ที่แสดงถึง ‘ของดี’ ประจำจังหวัด อันได้แก่ ผ้าหม้อห้อมสีครามสวยอันเป็นเอกลักษณ์สู่สายตาชาวไทย หนึ่งในแหล่งไม้สักที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดในประเทศ ต้นกำเนิดตำนานรักเล่าขานจากรุ่นสู่รุ่นนั่นคือวรรณคดีเรื่องลิลิตพระลอ สถานที่ตั้งของวัดประจำปีขาลนามว่าพระธาตุช่อแฮ แหล่งท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติที่ไม่ได้พบเห็นทั่วไปอย่างแพะเมืองผี และคนจิตใจดีแห่งเมืองล้านนาหรือคนแพร่นี้เอง (หรือไม่จริง)


    เมื่อไม่นานมานี้หากลองขับรถไปตามทางในตัวจังหวัดก็คงจะเห็นป้ายขนาดใหญ่ที่เขียนว่า เมืองคัมภีร์ธัมม์โบราณ อยู่ตามริมถนน หลังจากได้พบเห็น หลากหลายอารมณ์และคำถามก็ผุดขึ้นมาในหัว


    ‘คัมภีร์ธัมม์’ คืออะไร เหตุใดทางจังหวัดจึงโปรโมตดีขนาดนี้ หรือสิ่งนี้จะเป็น ‘ของดี’ อันใหม่ของจังหวัด



    จากการสืบเสาะค้นคว้าหาข้อมูลจึงทำให้รู้ว่าแหล่งดังกล่าวอยู่ที่วัดสูงเม่น จังหวัดแพร่ เราจึงได้มีโอกาสไปตามหาโบราณวัตถุดังกล่าว พร้อมเชิญมาร่วมหาคำตอบเรื่องนี้ไปด้วยกันกับเราผ่านการสนทนากับประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอสูงเม่น – คุณแม่วันเพ็ญ แก้วกัน ผู้เปี่ยมไปด้วยองค์ความรู้และความตั้งใจที่จะถ่ายทอดสิ่งเหล่านี้ให้อนุชนรุ่นหลังได้ฟังกัน



    01 คัมภีร์ธัมม์โบราณ


    สำหรับผู้ที่ไม่ได้สนใจด้านประวัติศาสตร์ โบราณคดี หรือพระพุทธศาสนาโดยเฉพาะอาจจะยังไม่รู้จักคัมภีร์ธัมม์ที่เรากล่าวถึงตั้งแต่แรกว่ามีหน้าตาเป็นอย่างไร ‘คัมภีร์ธัมม์’ หรือมีชื่อเรียกเต็มๆ ว่า ‘คัมภีร์ธัมม์ใบลาน’ ตามชื่อก็คือใบลานสำหรับจดบันทึกของคนสมัยโบราณแบบที่เรารู้จักกัน แต่เนื้อหาจะมุ่งบันทึกเรื่องที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา ทั้งชาดก วรรณกรรม พระไตรปิฎก และนิทานต่างๆ จารด้วยเหล็กจารที่มีลักษณะคล้ายกับดินสอ โดยทั่วไปจะแบ่งจารเป็น 24 ลานแล้วมัดรวมกันเป็น 1 ผูก ร้อยหูด้วยสายสนอง ห่อด้วยผ้าห่อคัมภีร์ และสอดไม้ปันจั๊กที่ใช้ระบุชื่อผู้จาร วันเดือนปี และสถานที่ที่ใช้จาร



    ที่วัดสูงเม่นแห่งนี้เดิมทีจัดเก็บคัมภีร์ธัมม์ทั้งหมดไว้ในอาคารที่ชื่อว่า ‘หอธัมม์’ อาคารแห่งนี้มีลักษณะเป็นอาคารทึบ บริเวณภายนอกคุณแม่วันเพ็ญได้อธิบายว่า “ข้างล่างจะมีเสาและมีน้ำล้อมรอบ อันนี้ภูมิปัญญาท้องถิ่นคือไม่ให้ปลวกมดขึ้นไปทำลายธัมม์ ลักษณะการสร้างของเขาก็จะมีสองชั้นคือชั้นนี้เก็บธัมม์ และข้างนอกเหมือนเราเดินรอบได้เลย มีชานรอบ และข้างล่างมีน้ำและคงจะโปร่งๆ”


    หอธัมม์แห่งนี้ ภายในบรรจุคัมภีร์ธัมม์กว่าสองพันมัดทั้งจากเจ้าเมืองแพร่ในขณะนั้นและจากพระพุทธศาสนา โดยคัมภีร์ธัมม์จากเจ้าเมืองบรรจุใน ‘ตู้เจ้าหลวง’ และคัมภีร์ธัมม์ที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาบรรจุใน ‘ตู้พระธรรม’ ภายหลังหอธัมม์หลังเก่านี้ชำรุดทรุดโทรมจึงได้สร้างอาคารหลังใหม่ที่มีชื่อว่า ‘หอพระไตรปิฎกอักขระภาษาล้านนา’ หรือ ‘หอฟ้า’ ที่เอาไว้เก็บรวบรวมคัมภีร์พระไตรปิฎกทั้งหมดในวัด และได้บูรณะหอธัมม์หลังเก่าแล้วใช้เก็บรวบรวมหอธัมม์ของเจ้าเมือง จึงได้ชื่ออีกชื่อหนึ่งว่า ‘หอธัมม์เจ้ามือง’ หรือ ‘หอนิพพาน’ หรือ ‘หอธัมม์แห่งความรักษ์’



    เมื่อพูดถึงหอฟ้า หอเก็บรวบรวมคัมภีร์ธัมม์พระไตรปิฎกของวัดแล้ว อาคารแห่งนี้มีจุดเด่นที่สถาปัตยกรรม คือมีสถาปัตยกรรมที่จำลองหอไตรวัดพระสิงห์ จังหวัดเชียงใหม่ มาไว้ในอาคารแห่งนี้ เพื่อเป็นอนุสรณสถานให้กับผู้ที่เก็บรวบรวมคัมภีร์ธัมม์หลายพันผูกไว้ในวัดสูงเม่นแห่งนี้ นั่นก็คือ ครูบากัญจนอรัญญวาสีมหาเถร



    หากใครเพิ่งเคยได้ยินชื่อของครูบาท่านนี้เป็นครั้งแรก วันนี้แม่วันเพ็ญจะพาไปทำความรู้จักกับท่านพร้อมๆ กัน



    02 ตำนานผู้เก็บรวบรวมคัมภีร์ธัมม์


    ADVERTISEMENT


    ในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ พ.ศ. 2332 หรือกว่า 200 ปีก่อน ณ อำเภอสุ่งเหม้น หรืออำเภอสูงเม่นที่เรารู้จักกันในปัจจุบัน ได้ถือกำเนิดเด็กชายผู้หนึ่งนามว่าปอย ซึ่งภายหลังได้รับฉายาว่า ‘ครูบากัญจนอรัญญวาสีมหาเถร’ หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า ‘ครูบามหาเถร’ ในวัยเด็กท่านเป็นผู้ที่สนใจศึกษาเล่าเรียนกว่าเด็กทั่วไปจึงได้เข้าเป็นศิษย์ในวัดสูงเม่นแห่งนี้แล้วบรรพชาเป็นสามเณรที่วัดดังกล่าว ครูบามหาเถรสมัยนั้นนอกจากจะศึกษาด้านอักษรศาสตร์แล้ว ท่านยังสนใจศึกษาด้านช่าง ทั้งช่างหล่อ ช่างปั้น ช่างแกะสลัก และช่างก่อสร้าง จากนั้นจึงเดินทางไปศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกบาลีที่วัดศรีชุม อำเภอเมืองแพร่ ราว พ.ศ. 2340


    เมื่ออายุครบ 20 ปี ครูบามหาเถรก็ได้อุปสมบท ต่อมาก็ได้ลาไปศึกษาต่อที่จังหวัดเชียงใหม่แต่ก็บรรลุเกินที่จะศึกษาได้แล้ว เมื่ออายุ 25 ปีก็ได้ลาไปศึกษาที่เมืองมะละแหม่ง เมืองหลวงรัฐมอญ ประเทศพม่า ซึ่งในขณะนั้นนับว่าเป็นสถานที่ศึกษาพระพุทธศาสนาที่ยิ่งใหญ่ของโลก หลังจากศึกษาจบก็กลับมาพร้อมกับฉายาว่า ‘ครูบากัญจนอรัญญวาสีมหาเถร’ และได้เป็นเจ้าอาวาสที่วัดพระสิงหลวง หรือวัดพระสิงห์วรมหาวิหาร และวัดสูงเม่นแห่งนี้



    นอกจากนี้ แม่วันเพ็ญยังเล่าว่าครูบามหาเถรท่านยังเป็นพระสายธุดงค์ คือชอบออกเดินทางหาความรู้ยังสถานที่ต่างๆ และท่านจะจดบันทึกไว้ในใบลานเสมอ “ท่านก็ไปๆ มาๆ ไปเป็นเจ้าอาวาสอยู่ที่วัดพระสิงห์ก็เป็นที่เคารพบูชา ท่านเป็นผู้มีความรู้ ก็เป็นผู้ที่เคารพสักการะ เป็นผู้ที่เคารพนับถือของเจ้าเมืองเชียงใหม่ ก็ให้เป็นประธานในการสังคายนาธรรม เมื่อท่านรวบรวมเรียบร้อยแล้ว บางอันท่านเขียน บางอันท่านไม่ได้เขียน ท่านดูแล้วน่าจะสำคัญก็ให้คนไปคัดลอก พอถึงช่วงที่ท่านมาแพร่ เมื่อก่อนไม่มีรถก็ต้องเดินทางด้วยช้าง ม้า วัว ควาย เอาธัมม์มา ผ่านจังหวัดลำพูน พอมาถึงก็จะมีการสมโภช มานอนพักแรมที่นั่น เมื่อก่อนนี้เราก็มีศาสนาพุทธเป็นที่พึ่ง ชาวบ้านก็ศรัทธา ก็มีการเทศน์ เอาธัมม์นั้นเทศน์ สองวันสามวันเจ็ดวันแล้วแต่ เสร็จแล้วก็เดินมาถึงลำปางก็เทศน์ มาถึงเมืองลองก็เทศน์อีก ตามทางเดินมาถึงที่เมืองต้า อำเภอลอง แล้วไปพักอยู่ที่นั่น แล้วล่องขึ้นมาจนกระทั่งท่านมาถึงท่าน้ำแถววัดศรีชุม”


    นอกจากไป-กลับจังหวัดแพร่และจังหวัดเชียงใหม่แล้ว เจ้าเมืองนันทบุรีหรือจังหวัดน่านในปัจจุบันก็ได้นิมนต์ให้ท่านเดินทางไปเป็นประธานในการสังคายนาธรรม ณ วัดช้างค้ำ เป็นเวลา 7 วัน “ท่านไม่อยู่นิ่งนะ ท่านเป็นนักแกะสลักด้วย หนูไปดูพระพุทธรูปแกะสลักบนพานที่อยู่ในตู้ข้างๆ หลวงปู่ คือพระพุทธรูปที่วัดภูมินทร์สี่มุมเมืองที่ท่านแกะสลักมาและเขียนด้วยว่ามาจากไหน” และท่านยังเดินทางข้ามแม่น้ำโขงไปเป็นประธานที่วัดวิชุนราชที่เมืองหลวงพระบางอีกด้วย



    การเดินทางเหล่านี้ส่งผลให้ท่านเก็บรวบรวมคัมภีร์ธัมม์ที่วัดสูงเม่นแห่งนี้มากถึง 2,567 มัด กว่า 21 หมวด “แต่ถ้าดูแล้วท่านก็ไปหลายที่ ท่านเห็นว่าธัมม์บางอันจะมีเรื่องซ้ำซ้อนแต่คนเขียนคนละคน เรื่องเดียวกันแต่มีคนจารจากที่หลวงพระบาง ลาว เชียงใหม่ ท่านเห็นว่าเป็นธัมม์ที่สมควรที่จะต้องเอามาศึกษาก็คัดลอกมา คนละเวอร์ชันแต่เนื้อความโดยสรุปก็คือคำสอนของพระพุทธเจ้านั่นแหละ”


    แต่การเก็บรวบรวมคัมภีร์ธัมม์จำนวนมหาศาลขนาดนี้มีวิธีดูแลรักษาอย่างไรให้ยังคงเหลือมาจนถึงปัจจุบัน วันนี้คุณแม่วันเพ็ญก็มีคำตอบให้เช่นเดียวกัน



    03 บ่อเกิดประเพณีประจำปี


    ในสมัยนั้น ครูบามหาเถรได้จัดประเพณีหนึ่งขึ้นเพื่อตรวจสอบ ชำระ และดูแลรักษาคัมภีร์ธัมม์ทั้งหมด ประเพณีนี้มีชื่อว่าประเพณีตากธัมม์ เริ่มขึ้นหลังจากที่ครูบามหาเถรได้เดินทางกลับจากเมืองหลวงพระบาง อาจกล่าวได้ว่าท่านได้แนวคิดมาจากที่นั่นและนำมาใช้กับคัมภีร์ธัมม์เหล่านี้ “เราจะยึดเอาวัน 15 ค่ำเดือน 4 เหนือทุกครั้งของทุกปีทำประเพณีนี้ ที่เอากำหนดนี้ไม่ใช่ว่าเรากำหนดเอง หลวงปู่ครูบามหาเถรท่านกำหนดไว้ และไปสืบที่นู่นก็รู้ว่าวันที่ 15 ค่ำเดือน 4 ท่านทำที่หลวงพระบาง” คุณแม่วันเพ็ญเสริม



    จุดประสงค์หลักของประเพณีคือการนำคัมภีร์ธัมม์ทั้งหมดมาตรวจสอบความเสียหายจากแมลงและความชื้นแล้วนำมาตากแดดเพื่อให้ใบลานแห้ง และมีการนับจำนวนมัดของใบลานเพื่อตรวจสอบความครบถ้วน นอกจากนั้นแล้วยังเป็นการ ‘เผยแผ่ธัมม์สู่ประชาชน’ เนื่องจากในอดีตเชื่อว่าคัมภีร์ธัมม์เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ คนทั่วไปไม่สามารถศึกษาได้เว้นแต่พระสงฆ์ ครูบามหาเถรจึงได้นำคัมภีร์ธัมม์ออกมาเผยแผ่สู่สายตาประชาชนให้ได้รู้จักและเปลี่ยนความคิดว่าธรรมะไม่ใช่เรื่องไกลตัวและน่ากลัวอย่างที่เข้าใจ อย่างไรก็ตาม ประเพณีดังกล่าวได้เริ่มหายไปนับตั้งแต่ที่ท่านมรณภาพเมื่อราวปี พ.ศ. 2421


    “เมื่อปี พ.ศ. 2548 มีคณะทัวร์มาชวนแม่ไปเที่ยวหลวงพระบาง เผอิญเราวนอยู่กับวัดตรงนี้ ทำประวัติวัดสูงเม่นและศึกษางานของหลวงปู่ครูบามหาเถรเพื่อเป็นอนุสรณ์ เลยทำให้รู้ลึกซึ้งว่าหลวงปู่ไปหลวงพระบาง ไปเป็นประธานอยู่ที่วัดวิชุนราช แม่ก็ไปกับพวกคณะทัวร์ เราก็ขอไปศึกษา หลังจากนั้นแม่ก็มาเล่าให้เจ้าอาวาสว่าที่วัดวิชุนราชมีอะไร พอปี พ.ศ. 2549 พระครูปัญญาสารวินิฐ เจ้าอาวาสวัดสูงเม่น และท่านพระมหาสุทิตย์ อาภากโร ที่กรุงเทพฯ ท่านกำลังศึกษาธัมม์ของหลวงปู่ก็ติดตามไปกับเจ้าอาวาส ก็ได้ประเพณีตากธัมม์กลับมาที่นี่แต่ยังไม่เริ่ม แล้วมาเล่าให้แม่นายกเทศบาลตำบลสูงเม่น เขาก็เลยของบประมาณ หลังจากนั้นประมาณสักสองสามเดือน ปี พ.ศ. 2549 ท่านนายอำเภอสูงเม่น คณะกรรมการวัด กรรมการจากเทศบาล และรองผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ ยี่สิบกว่าชีวิตไปศึกษาธัมม์โดยเครื่องบิน ปรากฏว่าหลังจากนั้นบอกว่าเราต้องลงมือทำนะ ปี พ.ศ. 2550 ก็เลยมีประเพณีตากธัมม์ ตานข้าวใหม่ หิงไฟพระเจ้า เกิดขึ้นเป็นปีแรก”



    ในปี พ.ศ. 2550 นอกจากที่จะมีการรื้อฟื้นประเพณีตากธัมม์แล้ว ยังมีการผสมผสานประเพณีของล้านนาอีก 2 ประเพณี นั่นก็คือ ‘ประเพณีตานข้าวใหม่’ และ ‘ประเพณีหิงไฟพระเจ้า’ รวมเข้ามาเป็นหนึ่งประเพณี เรียกว่า ประเพณีตากธัมม์ ตานข้าวใหม่ หิงไฟพระเจ้า ซึ่งจะจัดขึ้นในช่วง 13 – 15 ค่ำ เดือน 4 เหนือ หรือเดือน 2 ใต้ ตรงกับเดือนมกราคมของทุกปีเป็นเวลา 3 วัน วันแรกมีการนำคัมภีร์ธัมม์ออกมาตาก สาธิตขั้นตอนการทำและจารใบลาน และจัดขบวนแห่คัมภีร์ วันที่สองมีการจัดเสวนาประวัติครูบามหาเถร และวันสุดท้ายมีการตานข้าวใหม่ คือการทำบุญด้วยข้าวใหม่หรือ ‘ตานขันข้าว’ ในหลากหลายรูปแบบไปให้บรรพบุรุษ และหิงไฟพระเจ้า คือการจุดไฟจากกระโจมไม้หน้าโบสถ์เพื่อให้ความอบอุ่นและสื่อถึงการเผากิเลส ความโลภ โกรธ หลง อีกด้วย


    จากประเพณีตากธัมม์ที่ผ่านมาทำให้เราทราบว่าคัมภีร์ธัมม์ที่จัดเก็บได้ลดน้อยลงไปทุกปีจากหลายสาเหตุ คุณแม่วันเพ็ญเล่าว่า “ปี พ.ศ. 2530 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ก็ได้ส่งคณะที่ทำเกี่ยวกับเรื่องคัมภีร์ใบลานมาถ่ายรวบรวมไว้แล้วขึ้นทะเบียนของวัดเราทั้งหมดเลย ปรากฏว่าที่นับไว้ตอนนั้น 2,567 มัดก็หายไปบ้าง เมื่อปี พ.ศ. 2550 ทางวัดเราก็อยากรู้ว่าเป็นยังไง มีธัมม์อะไรบ้าง เพราะบางทีก็ปนกัน ก็มานับอีกทีตอนนี้ไม่สองพันแล้ว เหลือพันกว่า มันหาย บางวัดเจ้าอาวาสมรณภาพก็มีแต่ผู้ที่รักษาการแทน บางทีเอาไปแล้วลืมมาส่ง บางทีไม่มาส่งแล้วมรณภาพ คนที่อยู่ที่วัดก็ไม่รู้ว่าท่านเอามาจากไหน ก็เหลือพันกว่ามัด เรื่องปลวกไม่ค่อยมีผล ยืมลืมมากกว่า”



    นอกจากวัดสูงเม่นจะมีคัมภีร์ธัมม์โบราณมากที่สุดในล้านนาแล้ว คุณแม่วันเพ็ญยังแนะนำอีกว่าวัดแห่งนี้เปิดสอนอักษรธรรมล้านนาแบบไม่เสียค่าใช้จ่ายอีกด้วย และเนื่องจากที่วัดได้ขึ้นทะเบียน UNESCO ระดับประเทศเป็นที่เรียบร้อยแล้วและได้ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงศาสนา (Meditation Tourism) ก็ทำให้การมาเยี่ยมชมวัดแห่งนี้ไม่ใช่แค่การมาไหว้พระแล้วเดินจากไป หากแต่มีกิจกรรมทางพระพุทธศาสนาให้นักท่องเที่ยวได้ปฏิบัติกัน ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมเวียนธัมม์ คือการทำกิจกรรมที่หอมนุษย์ หอฟ้า และหอนิพพาน ผ่านคติธรรมที่แฝงอยู่อย่างแยบยล การบูชาธัมม์ “เราจะให้คนที่มามีธัมม์ที่ดิ้นได้ ก็มีการให้บูชาธัมม์ ตานธัมม์ เวียนธัมม์ ให้อธิษฐานอะไรต่างๆ เรื่องเงินทีหลัง เพื่อที่จะสืบทอดไม่ให้ธัมม์สูญหายและลบเลือน” และยังสามารถเยี่ยมชมสถาปัตยกรรมล้านนาอันโดดเด่นตลอดทั้งวัด โดยทุกกิจกรรมจะมีมัคคุเทศก์คอยดูแลอยู่เสมอ


    คุณแม่วันเพ็ญในฐานะวัฒนธรรมอำเภอต้องการสานต่อมรดกอันล้ำค่าเหล่านี้ไว้ให้คงอยู่นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ด้วยหัวใจที่เปี่ยมด้วยศรัทธา “การทำบุญเราก็จะต้องให้คน ให้ความรู้แก่คน อย่างวันนี้แม่ก็สบายใจที่ได้ถ่ายทอดสิ่งที่หลวงปู่ได้ทำไว้ให้ลูกๆ เผยแพร่ต่อ มาวัดเราไม่หวังอย่างอื่นนอกจากความสบายใจ เผยแผ่ไปถึงลูกหลานคนอื่นด้วย” ศาสนาและความเชื่อคงอยู่ในสังคมต่อไปได้ด้วยศรัทธา เมื่อใดก็ตามที่เราต้องการที่พึ่งในชีวิต เพียงแค่เราศรัทธา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องใดก็ตาม จะทำให้จิตใจของเรามั่นคงและผ่านพ้นอุปสรรคทั้งปวงไปได้



    คำตอบเหล่านี้คงเป็นตัวพิสูจน์ได้แล้วว่านอกจากของดีในคำขวัญประจำจังหวัดทั้ง 6 อย่าง คัมภีร์ธัมม์ที่วัดสูงเม่นแห่งนี้ก็ถือเป็นของดีใหม่ที่ควรค่าแก่ความภูมิใจของคนแพร่เช่นกัน ในอนาคตเราอาจจะได้ยินคำขวัญประจำจังหวัดใหม่ว่า หม้อห้อม ไม้สัก ถิ่นรักพระลอ ช่อแฮศรีเมือง ลือเลื่องแพะเมืองผี เดื่อนดาษธัมม์คัมภีร์ คนแพร่นี้ใจงาม ก็เป็นได้



    ข้อมูลวัดสูงเม่น
    บ้านเลขที่ 201 ตำบลสูงเม่น อำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่ 54130
    เบอร์ติดต่อ 054 541 219
    เพจเฟซบุ๊ก วัดสูงเม่น

    แหล่งอ้างอิง
    http://bit.ly/คัมภีร์ใบลาน
    http://bit.ly/สูงเม่นโมเดล
    http://bit.ly/ประเพณีตากธัมม์
    http://bit.ly/ประวัติครูบากัญจนอรัญญวาสีมหาเถร
    http://bit.ly/วัดสูงเม่น
    http://bit.ly/สถาบันอนุรักษ์คัมภีร์ใบลาน

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in