เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
HOW HAPPINESS WORKS AND WHY WE BEHAVE THE WAY WE DO ความสุขทำงานยังไง
SALMONBOOKS
02 เงินและความสุข: ตอนที่ 2


  • “Less is more. Unless you’re standing next to someone with more. Then less just looks pathetic”
    – Anonymous

    เวลามีใครถามผมว่า เงินใช้ซื้อความสุขไม่ได้จริงเหรอ ผมมักตอบไปว่าไม่จริง

    เพราะการวิจัยเชิงจิตวิทยาทำให้ผมรู้ว่า เงินสามารถซื้อความสุขให้กับเราได้

    ถ้าเราใช้มันเป็น
  • การใช้เงินเป็นสัญญาณทางฐานะ (STATUS SIGNAL)

    คุณผู้อ่านทราบมั้ยครับว่านาฬิกาสองเรือนที่เห็นอยู่ข้างล่างนี้มีราคาต่างกันมากขนาดไหน




    หนึ่งพันบาท หนึ่งหมื่นบาท หรือหนึ่งแสนบาท?

    ผมเชื่อว่าหลายคนน่าจะทายผิด เพราะความจริงแล้ว ราคาของนาฬิกาเรือนแรก (A) อยู่ที่ประมาณแปดดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณสามร้อยบาท) ส่วนราคาของนาฬิกาเรือนที่สอง (B) อยู่ที่ประมาณแปดแสนดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณสามสิบล้านบาท)

    นาฬิกาทั้งสองเรือนนี้มีราคาต่างกันประมาณสามสิบล้านบาท

    แต่คุณผู้อ่านเชื่อมั้ยครับว่า อรรถประโยชน์พื้นฐาน (basic utility) ของนาฬิกาสองเรือนนี้มีค่าเกือบเท่ากัน หรือถ้าแตกต่างก็คงจะแค่นิดหน่อย และไม่น่าจะมีค่าถึงสามสิบล้านบาทแน่ๆ เพราะฟังก์ชั่นง่ายๆ ของนาฬิกาทั้งสองเรือนคือใช้บอกเวลาเท่านั้น

    การที่เรารู้ว่าตอนนี้กี่โมงแล้วจากนาฬิกาเรือนแรกหรือเรือนที่สองจึงไม่มีผลต่างกันกับความสุขของเรา แต่สาเหตุที่หลายคนยอมจ่ายเงินสามสิบล้านบาทเพื่อให้ได้นาฬิกาเรือนที่สองมาอยู่ในครอบครองเป็นเพราะนาฬิกาเรือนนี้สามารถใช้เป็นสัญญาณบ่งบอกถึงฐานะของคนใส่ได้
  • จากการวิจัยของ Richard Easterlin อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัย Southern California, Robert Frank จากมหาวิทยาลัย California, Berkeley และนักวิจัยอีกหลายคน ทำให้รู้ว่าคนเราชอบทำการเปรียบเทียบฐานะของตัวเองกับคนรอบตัว พูดง่ายๆ คือคนเราส่วนใหญ่แคร์เรื่อง relative status (สถานะจากคนรอบข้าง) มากถึงมากจนเกินไป และการที่มีนาฬิกาเรือนหรูใส่ก็เป็นการส่งสัญญาณทางฐานะของตัวเองให้คนรอบข้างได้รู้ แต่ถ้าเมื่อไหร่ก็ตามที่ทุกคนบนโลกมีเงินซื้อนาฬิกาเรือนที่สองใส่กันหมด การมีนาฬิกาเรือนนี้ในครอบครองก็จะหมดความหมายไป และพวกเขาก็จะไม่ได้มีความสุขมากไปกว่าตอนใส่นาฬิกาเรือนแรกเลย (อาจทุกข์กว่าเดิมด้วยซ้ำเพราะต้องจ่ายเงินตั้งแพง แต่กลับไม่สามารถใช้เป็นตัวบ่งบอกสถานะได้)

    มีอยู่สองทางที่การใช้เงินซื้อสิ่งของบ่งบอกสถานะจะทำให้เรามีความสุขอย่างยั่งยืนได้

    หนึ่ง—ห้ามให้คนอื่นซื้อของที่เหมือนกับเรา

    สอง—เราต้องใช้เวลาในแต่ละวันไปกับการเตือนตัวเองว่า “การมีนาฬิกา/รถสปอร์ต/บ้านหลังใหญ่ทำให้รู้ว่าเราโชคดีกว่าคนอื่น”

    แต่ในความเป็นจริง เราคงไปห้ามคนอื่นไม่ให้ซื้อของที่เรามีไม่ได้ และเราก็คงไม่สามารถเตือนตัวเองได้ทุกวันว่าโชคดีแค่ไหนที่มีของที่คนส่วนใหญ่ไม่มี

    จริงที่ว่าช่วงแรกๆ เราอาจนึกถึงและมีความสุขอยู่บ่อยๆ ตอนได้นาฬิกา/รถสปอร์ต/บ้านหลังใหญ่มา แต่หลังจากนั้นไม่นาน ของพวกนี้ก็จะถูกกลืนเป็นฉากหลังของชีวิต และเราก็จะไม่ค่อยนึกถึงมันเท่าไหร่ อรรถประโยชน์ของสิ่งเหล่านี้ที่ได้มาจาก status signal ก็จะลดน้อยลงจนหายไปในที่สุด
  • ใช้เงินยังไงเพื่อให้มีความสุขอย่างยั่งยืน

    งานวิจัยของ Elizabeth Dunn ผู้เชีี่ยวชาญด้านจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัย British Columbia พบว่า การใช้เงินที่มีประสิทธิภาพและยั่งยืนต่อความสุขของเรามากที่สุดคือการใช้เงินซื้อประสบการณ์ที่ไม่เคยได้รับ และทำให้คนรอบข้างเรามีความสุขมากขึ้น

    เหตุผลที่การใช้เงินเช่นนี้เป็นการใช้เงินซื้อความสุขที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดเพราะความสุขที่เราได้จากการทำกิจกรรมทั้งสองอย่างนี้ไม่ได้มีค่าขึ้นตรงกับพฤติกรรมที่เหมือนกับของคนอื่นเลย

    ความสุขที่เราได้จากการพาครอบครัวไปเที่ยวจะไม่มากขึ้นหรือน้อยลงไปกว่าเดิมเพียงเพราะคนอื่นก็สามารถพาครอบครัวเขาไปเที่ยวได้เหมือนกันใช่มั้ยล่ะ?

    เพราะฉะนั้นถ้าอยากใช้เงินเพื่อซื้อความสุขอย่างมีประสิทธิภาพ 

    อย่าลืมใช้มันในการซื้อประสบการณ์ให้กับคนรอบข้างของเราด้วย 

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in