เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
Article 'n DocumentaryAomm
รักแห่งสนาม...สีสันที่หลากหลายบนผืนหญ้าสีเขียว

  • หลายสัปดาห์ก่อน ประเด็นเพศที่สามถูกพูดถึงเป็นกว้าง จากการแสดงความคิดเห็นต่อต้านการแต่งงานร่วมเพศของแมนนี่ ปาเกียว นักมวยชื่อดังชาวฟิลิปปินส์ เกิดเป็นกระแสต่อต้านอดีตแชมป์มวยโลก จนเจ้าตัวต้องออกมาขอโทษ เมื่อมองภาพรวมในวงการกีฬาระยะหลัง นักกีฬาเพศที่สามเริ่มได้รับการยอมรับมากขึ้น แต่หากเป็นกีฬาประเภททีมแล้ว ดูเหมือนว่าอคติยังเกิดขึ้นอยู่ทั่วไป โดยเฉพาะในวงการฟุตบอล

    ช่วง 20 ปีที่ผ่านมา มีนักเตะเพศที่สามค้าแข้งในอังกฤษมากมาย ทว่าแทบทั้งหมดเลือกที่จะไม่เปิดเผยจนกว่าจะแขวนสตั๊ด เพราะเกรงกลัวกระแสต่อต้าน เนื่องจากเคยเกิดขึ้นกับ จัสติน ฟาชานู อดีตกองหน้าทีมนอริช ที่ทนกระแสต่อต้านไม่ไหวจนตัดสินใจทำอัตนิวิบาตกรรม นอกจากนี้ แฟนบอลเพศที่สามมักถูกแฟนบอลคนอื่นๆกีดกันหรือร้องเพลงล้อเลียนขณะอยู่ในสนาม 

    ความสัมพันธ์ระหว่าง ‘ฟุตบอล’ กับ ‘เพศที่สาม’ จึงคล้ายกับเส้นขนานอย่างชัดเจน


    จากผลสำรวจในปี 2015 ของ Out on the Field (องค์กรนานาชาติ ทำหน้าที่ดูแลและทำวิจัยเกี่ยวกับอคติต่อเพศที่สามในวงการกีฬา) พบว่า 85% ยังเชื่อว่าการเปิดเผยตัวว่าเป็นชาวรักร่วมเพศในสนามฟุตบอลนั้นยังไม่ปลอดภัยพอ และเกือบ 2 ใน 3 ของผู้ตอบแบบสอบถามมีความเห็นว่าอคติต่อกลุ่มรักร่วมเพศในวงการกีฬาเป็นเรื่องปกติ นอกจากนี้ผู้ตอบแบบสอบถามที่เป็นเกย์ 60% ยอมรับว่าตนเคยถูกล้อเลียนเรื่องเพศที่สามในสนาม ฟังดูค้านกับคำกล่าวจากสมาพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟ่า) ซึ่งคอลูกหนังมักจะพบเห็นที่ว่า “ฟุตบอลคือกีฬาของทุกคน” 

    แต่ฟุตบอลจะเป็น ‘กีฬาของทุกคน’ ได้อย่างไร หาก ‘ความหลากหลาย’ ไม่ได้การยอมรับ

    ภาพกัปตันทีมปีศาจแดงแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด แลกริบบิ้นยักษ์สีรุ้งกับกัปตันฝั่งอาร์เซนอลก่อนเกมเริ่มในการพบกันครั้งล่าสุด จึงเรียกเสียงฮือฮาให้บรรดาแฟนบอลในสนามวันนั้นเป็นอย่างดี กิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ #RainbowLaces โครงการที่ต้องการสร้างพื้นที่สำหรับนักเตะ แฟนบอล และประชาชนทั่วไปในการสนับสนุนนักฟุตบอลที่เป็นเพศที่สาม ผ่านการให้นักฟุตบอลของสโมสรต่างๆผูกเชือกรองเท้าสีรุ้ง แสดงจุดยืนว่าพวกเขาอยู่เคียงข้างกลุ่มเพศที่สาม

    คนอังกฤษบูชา ‘ฟุตบอล’ เหมือน ‘ศาสนา’

    การที่สโมสรฟุตบอลชื่อดังหลายแห่งออกมาสนับสนุนความหลากหลายทางเพศนั้น ไม่เพียงเป็นใบเบิกทางให้เพศที่สามเข้ามามีบทบาทในวงการลูกหนังมากขึ้น แต่เป็นการแสดงให้เห็นว่า ทุกอาชีพล้วนมีความหลากหลายทางเพศ ความแข็งแกร่งของเกมฟุตบอลกับความอ่อนโยนในประเด็นของเพศสภาพ รวมเป็นส่วนผสมให้ #RainbowLaces กลายเป็นโครงการที่บรรเจิดที่สุดโครงการหนึ่งของเกาะอังกฤษ สื่อของอังกฤษอย่าง The Guardian รายงานว่าโครงการ #RainbowLaces ทำให้เกิดการเปิดใจและช่วยให้บรรยากาศในเกมฟุตบอลดูเป็นมิตรต่อชาวเพศที่สามมากขึ้น

    เส้นขนานค่อยๆเบนหากัน เป็นสัญญาณว่าทัศนคติของชาวเมืองผู้ดีต่อรักร่วมเพศนั้นเป็นไปทิศทางที่ดีขึ้น โครงการนี้น่าจะเป็นแบบอย่างให้กับการรณรงค์เพื่อกลุ่มความหลากหลายทางเพศ ในด้านการสร้างและปรับทัศนคติแก่ผู้คนทั่วไปที่มีต่อเพศที่สามได้ดี อย่างการใช้เครื่องมืออย่างกีฬายอดนิยมประจำชาติในการเผยแพร่ ค่อยๆแทรกซึมอย่างเชื่องช้า และอาจช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในอนาคต เพราะสนามลูกหนังอังกฤษไม่ได้เป็นเพียงสังเวียนแข้งของชายชาตรี แต่กำลังจะกลายเป็นพื้นที่ที่ทุกคนมีสิทธิที่จะมีส่วนร่วมทั้งเป็นผู้เล่นในสนาม และผู้รับชมข้างสนามได้อย่างเท่าเทียมกัน 

    ความเกลียดชังค่อยๆเลื่อนลงโซนตกชั้น พร้อมกับเกมที่สวยงามค่อยไต่ขึ้นเป็นจ่าฝูงอย่างช้าๆ
Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in