เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
My First Storychrine_
ไฮสคูลไทย ในยุคที่ความเท่าเทียมคืออันดับ 1
  •        ไม่ว่าเราจะอยู่ที่ไหน ทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะเป็นเพศ ศาสนา อายุ หรือแม้กระทั่งการศึกษา 

           ใช่! ฟังดูเหมือนที่นี่คือโลกยูโทเปียที่เราทุกคน (มั้ง) พยายามทำเหมือนว่าทุกคนที่ความเท่าเทียมกันอยู่ แม้ว่าปัญหาการลุกบน BTS ยังเป็นปัญหาโลกแตกอยู่ก็ตาม

           เมื่อพูดถึง "ไฮสคูล" สิ่งแรกที่เข้ามาในหัวทุกคนอาจจะเป็นภาพของหนังวัยรุ่นซักเรื่องนึงพวก Mean girls, Easy A อะไรประมาณนั้น ยากไปหรอ งั้นซีรีส์ 13 reasons why อันโด่งดังของ Netflix ก็น่าจะพอทำให้ทุกคนนึกถึงไฮสคูลได้ อย่างน้อยก็ลืมคำว่าเรียน 8 เล่น 8 นอน 8 ไปก่อน

    มันไม่มีจริงหรอก!

           แทบจะเป็นเรื่องตลกร้ายขึ้นมาทันทีเมื่อพูดถึงเรื่องนี้ทีไร แทบทุกคนต้องตื่นตอน 6 โมงเช้า รีบอาบน้ำ แต่งตัว กินข้าวเช้า ร่วมเดินทางผ่านการจราจรอันแสนเลวร้ายที่ระบบขนส่งสาธาณะไม่ช่วยให้มันดีขึ้นแต่อย่างไรไปให้ทันเข้าแถวตอน 8 โมงเช้า ถ้าไม่ทันล่ะ ? ยินดีด้วยคุณได้รับแพคเกจฟิตเนสฟรีจากโรงเรียนด้วยการกระโดดตบหรือลุกนั่งซักอย่าง ไม่นับเรื่องที่บางโรงเรียนกวดขันกับการร้องเพลงชาติซะเหลือเกินด้วยนะ

    เอาเถอะ เราเบื่อกับกระทู้ Pantip ที่ว่าเราเข้าแถวเคารพธงชาติเพื่อให้เกิดความเป็นระเบียบวินัยละ

    เพราะความจริงมันมีแต่ร้อน ร้อน ร้อน ร้อน แล้วก็ร้อน

    ยิ่งโรงเรียนใหญ่ๆนี่ถึงกับมีนักเรียนห้องพยาบาลพร้อมเปลไปสแตนบายรอคนเป็นลมเลยนะ

           หลังจากตรากตรำเรียนมาแบบไม่ทันได้หายใจ 8 คาบ (บางโรงเรียนอาจยาวไปถึงคาบ 10) นักเรียนเกินกว่าครึ่งเดินทางไปเรียนพิเศษต่อถึง 2-3 ทุ่ม กว่าจะกลับบ้านอาบน้ำก็ปาไปเกือบห้าทุ่มแล้ว ยังไม่นับการบ้านและรายงานรวมถึงโครงงานโปรเจคอีกแสนแปดที่ผุดขึ้นมาอย่างกับดอกเห็ดจนอยากจะขอยืมคำของเดอะเฟสมาที่ว่าเรากำลังหาเซอร์ไวเวอร์อยู่หรือเปล่า ?

           หลายๆคนอาจมีคำโต้แย้งในใจว่า งั้นก็ไม่เรียนพิเศษสิ จะได้มีเวลาไปทำการบ้าน ด้วยความสัตย์จริงนะ ถ้าข้อสอบ PAT1 มันออกแบบที่หนังสือเรียนสอนก็ดีสิ หรือคนออกสอบเค้าคิดว่ายิ่งออกยากมากเท่าไหร่ พอที่เรียนพิเศษสอนไม่ได้ก็จะปิดกันไปเอง อย่าว่าแต่ที่เรียนพิเศษเลย เรียนในโรงเรียนเฉยๆอาจารย์จะสอนได้มั้ยเถอะ เอาง่ายๆแค่จัดการเรียนการสอนให้เท่าเทียมทั้งประเทศก่อนเรื่องอื่นเราค่อยกลับมาว่ากันทีหลังก็ได้

           ไม่นานมานี้มีระบบการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยที่เรียกว่า TCAS โดยหลายๆคนบอกว่าระบบนี้สร้างขึ้นเพื่อกำจัดความเหลื่อมล้ำ ลดปัญหาวิ่งรอกสอบ เด็กเรียนในห้องแทนที่จะไปเรียนพิเศษ เอาง่ายๆ ระบบยูโทเปียอีกนั่นแหละ

            ตอนนี้ก็เป็นช่วงของการรับสมัครแบบ Portfolio ที่มันเท่าเทียมกันจริงๆเลยนะ ตั้งแต่ใช้คะแนนสอบ SAT, TOEFL, IELTS, BMAT ที่ค่าสอบแต่ละตัวขั้นต่ำ 4,xxx ยังไม่นับค่าสมัครในการเข้าศึกษาต่อ ค่าเดินทางไปสัมภาษณ์ ค่าจิปาถะทั้งหลายแหล่พวก ค่าปริ้นพอร์ต บางมหาลัยที่กำหนดแบบฟอร์มเฉพาะก็ต้องทำพิเศษอีกอันอีก ค่ากิน ค่าโรงแรมขณะไปสัมภาษณ์ ค่าตรวจร่างกายที่ตรวจไปก็ไม่รู้ว่าจะติดหรือเปล่าด้วยซ้ำ แน่นอนว่าถ้ามีเงินซัพพอร์ตก็รอดไป แต่ถ้าไม่มีล่ะ ? สุดท้ายแล้วระบบยูโทเปียนี้ตอบโจทย์คำว่า 'เท่าเทียม' กันได้จริงๆหรือเปล่า ?
      
           จากกิจวัตรประจำวันที่ว่ามาคร่าวๆทั้งหมดของชีวิตไฮสคูลก็แทบจะไม่มีเวลาไหนให้ไปทำความรู้จักกับตนเอง หรือรู้ว่าตัวเองมีความชอบและถนัดในด้านไหนแบบจริงๆจังๆซักที หลายๆคนพอเริ่มที่จะมีงานอดิเรกอะไรซักอย่างก็มักจะได้รับคำแนะนำจากผู้ปกครองให้ตั้งใจเรียนดีกว่า ส่วนคนที่หวังว่าจะมี Gap year แบบเด็กฝรั่งไว้ค้นหาตัวเองกลับถูกมองว่าเป็นเด็กสอบไม่ติด ไม่ตั้งใจเรียนซะงั้น คนเก่งๆก็ถูกดันไปเรียนแพทย์ ส่วนคณะที่เหลืออีกสิบคณะผู้ใหญ่หลายคนกลับมองว่าเป็นคณะที่ไม่เก่ง ไม่ควรให้ลูกของตัวเองเข้าเรียน อาชีพหมอถูกยกให้ประเสริฐเหนือสิ่งอื่นใดราวกับว่า Doctors run the world ยังไงยังงั้น มันฟังดูไม่แฟร์กับคนที่เข้าตั้งใจอย่างหนักให้ตัวเองสามารถเข้าเรียนในคณะในฝันได้หน่อยๆนะ

           สุดท้ายแล้วความทรงจำในวัยมัธยมปลายของหลายๆคนคงไม่พ้นรักแรก มิตรภาพ การเรียน ความคาดหวัง และความฝัน ไม่ว่าตอนนี้คุณจะอยู่ในช่วงอายุไหนก็ขอให้ทำในสิ่งที่จะไม่เสียใจเมื่อกลับมาคิดว่า ตอนนั้นน่าจะทำแบบนี้ หรือเราเคยอยาก...นะ แต่... เชื่อเถอะ ทุกความฝันมันไม่ไกลเกินเอื้อมหรอก

    เราไม่มีวันชนะถ้าเราไม่ลงแข่งก่อน

    แล้วเจอกันในวันที่ฝันสำเร็จ
    รัก.

Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in