เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
Traveloguepiyarak_s
พิพิธภัณฑ์ผ้าโบราณสบันงา


  • “Clothes as text, clothes as narration, clothes as a story. Clothes as the story of our lives. And if you were to gather all the clothes you have ever owned in all your life, each baby shoe and winter coat and wedding dress, you would have your autobiography.” 

    Linda Grant (The Thoughtful Dresser)


    ----------------------------------------------- 


    "พิพิธภัณฑ์สบันงาบอกว่าวันที่ 21 มีรอบบ่ายสามครึ่งว่างละ โอเคมั้ย รอบนึงเขาให้เข้าได้แค่สิบคน ถ่ายรูปได้ด้วย" 


    นั่นเป็นข้อความของเพื่อนที่ส่งมาถามช่วงค่ำ ๆ วันหนึ่ง และต่อให้ไม่ต้องตอบ ดูจากชื่อเรื่องก็คงจะรู้แล้วละมั้งคะว่า โอเคหรือไม่โอเค ไปหรือไม่ไป (ฮา) 


    สำหรับคนที่ชอบการเข้าพิพิธภัณฑ์ หรือ museum goer โดยเฉพาะผู้ที่มีความสนใจด้านศิลปะและประวัติศาสตร์ ความน่าสนใจของพิพิธภัณฑ์ผ้าโบราณสบันงาและเป็นพิพิธภัณฑ์เอกชนด้วยอยู่ในระดับที่ตัดสินใจไปได้ไม่ยาก ค่าเข้าชม 200 บาท สำหรับตัวเองไม่ถือว่ามากเกินไป โดยเฉพาะสำหรับพิพิธภัณฑ์ที่มีผู้นำชมและสามารถถ่ายรูปได้ด้วย (เพราะพิพิธภัณฑ์หลายที่ รวมถึงเอกชนบางรายที่เก็บค่าเข้าพอ ๆ กัน ก็ห้ามไม่ให้ถ่ายภาพ แต่ก็เข้าใจเหตุผลและความจำเป็นอยู่) และเนื่องจากเป็นพิพิธภัณฑ์ที่เปิดดำเนินการเองไม่นาน คนอาจจะยังไม่รู้ข่าวมากนัก ถือว่าเป็นช่วงจังหวะที่ดีที่ควรไปก่อนคนจะเยอะ 


    การไปพิพิธภัณฑ์


    ช่วงนี้ พิพิธภัณฑ์สบันงา (ขอย่อเหลือแค่นี้ละกัน) เปิดให้เข้าชมด้วยกัน 2 รอบ คือ 14.00 น. กับ 15.30 น. (ในวิดีโอที่ทางพิพิธภัณฑ์เปิดให้ดูก่อนไปชมห้องอื่น ๆ บอกว่า 3 รอบ แต่ตามจากเพจเอาจะดีที่สุดค่ะ) จะโทรศัพท์ไปจอง หรือสอบถามไปทางกล่องข้อความของเพจเฟซบุ๊กของพิพิธภัณฑ์ คือ พิพิธภัณฑ์ผ้าโบราณสบันงาhttps://www.facebook.com/SbunngaMuseum/ 

    ตอนที่เพื่อนจอง ใช้วิธีจองผ่านกล่องข้อความ ถามไปก่อนว่าเหลือรอบไหนบ้าง เมื่อได้คำตอบและรอบที่ต้องการแล้ว ก็แจ้งจำนวนไป แอดมินเพจตอบคำถามเร็วดีค่ะ


    ถึงจะเป็นคนเชียงใหม่ แต่ขอสารภาพเลยว่า ตอนแรกก็นึกแผนที่ไม่ออกเหมือนกันว่าจะไปยังไง ก็อาศัยกูเกิลแมพงม ๆ ไปก่อน แล้วก็ค้นพบว่า ไปไม่ยากอย่างที่คิด เส้นทางที่ง่ายที่สุด คือ เข้าซอยข้างโรงแรมธาริน ขับตรงไปเรื่อย ๆ ตอนนี้อาจจะยังไม่มีป้ายพิพิธภัณฑ์ ให้มองหาป้ายชี้ทางไปทางร้านเอกทิพย์แทน ถ้ามาตาม ถ. โทรคมนาคม พิพิธภัณฑ์ผ้าโบราณสบันงาจะอยู่ทางขวามือ เป็นบ้านไม้ทาสีฟ้า อยู่ติดกับร้านอาหาร ซอยไม่ได้แคบมาก สามารถจอดตรงข้างรั้วบ้านได้ค่ะ อย่าจอดซ้อนคันก็พอ 


    ล่าสุด พิพิธภัณฑ์อัพเดทแผนที่แล้ว เลยแอบขโมยมาแปะในนี้ด้วย เผื่อใครสนใจ จากแผนที่นี้น่าจะดูง่ายขึ้น เพราะกูเกิลแมพมึนมากค่ะ 



    จองรอบบ่ายสามโมงครึ่งเอาไว้ แต่มาถึงเร็วกว่ากำหนด ก็รอไปก่อน ตรงหน้าบ้านจะมีที่ให้นั่ง จะเลือกนั่งแคร่หรือนั่งเก้าอี้ก็ตามสบาย แต่เผอิญวันที่ไปฝนตกเลยนั่งตรงแคร่ไม่ได้ ก็มาหลบฝนใน ๆ นิดนึง ตรงหน้าบ้านก็จะมีภาพถ่ายการแต่งกายแบบโบราณให้ดูกันเล่น ๆ ไปก่อน พอถึงเวลา เดี๋ยวจะมีคนออกมาเรียกเราเข้าไปเอง
     


    ใกล้ ๆ ถึงเวลา ก็มีคนโผล่หน้าออกมาบอกว่า รอแป๊บนะคะ ข้างในมีนิตยสารมาสัมภาษณ์ เกือบเสร็จแล้ว แต่ก็รอไม่นาน คนข้างในก็ออกมา เราที่ไปกันสามคนตอนนั้นก็ได้เข้าไป จะว่าไปแล้ว ดวงเราวันนั้นก็ยังใช้ได้ เพราะมีโอกาสได้เจอคุณป้อม หรือคุณอัครเดช นาคบัลลังก์ เจ้าของพิพิธภัณฑ์ และครอบครัวที่อยู่กันครบพอดี เป็นอานิสงส์จากการได้รอบต่อจากนิตยสารมาก ๆ 


    เข้าไปข้างในก็สัมผัสได้ถึงความขลังตั้งแต่ห้องแรก จุดนี้ เราจะได้ดู VTR แนะนำพิพิธภัณฑ์ กฎกติกามารยาทในการเข้าชม โดยหลัก ๆ ก็คือ ห้ามสัมผัสแตะต้องสิ่งที่จัดแสดง ถ่ายรูปได้ แต่ห้ามใช้แฟลช เมื่อผู้นำชมพาไปดูครบทั้ง 5 ส่วนจัดแสดงแล้ว ก็จะมีเวลาเดินดู ถ่ายรูปตามอัธยาศัยกันประมาณ 20 นาที 


    พิพิธภัณฑ์นี้มีอะไร

    ถ้าตอบว่า 'ผ้า' ก็ถูกแค่ครึ่งเดียว เพราะสิ่งที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ผ้าโบราณสบันงานแห่งนี้มีอะไรที่มากกว่าผ้าสวย ๆ เพียงอย่างเดียว อย่างที่ยก quote มาตอนนั้น สิ่งที่อยู่ในเสื้อผ้าหรือผืนผ้าก็มีเรื่องเล่าและประวัติศาสตร์ในตัวของมันเอง ไม่ว่าจะเป็นชีวิตของเจ้าของหรือความเป็นมาที่แวดล้อมอยู่กับผ้าหรือเสื้อผ้าเหล่านั้น และนี่คือสิ่งที่พิพิธภัณฑ์สบันงาแสดงให้เราดู

    สำหรับส่วนจัดแสดงแบ่งออกเป็น 5 ส่วน คือ 


    1) ส่วนแสดงฉลองพระองค์จำลองของสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินเยือนภาคเหนือ ไม่ใช่ฉลองพระองค์จริง ๆ (ของจริงต้องไปดูที่กรุงเทพฯ) เป็นการจำลองแบบมาตัดเพื่อให้เห็นแพทเทิร์น ผ้าพื้นเมืองหรือของท้องถิ่นที่ทรงเลือกมาใช้ ไม่ว่าจะเป็นผ้าชาวเขา ผ้ายกดอกของลำพูน ผ้าอาจจะไม่ได้เหมือนเป๊ะ แต่ใกล้เคียงมากถึงมากที่สุด และการตัดออกมาใส่บนหุ่นทำให้เห็นรายละเอียดดีกว่าแค่ดูในรูปถ่ายด้วย 

    แต่เสียดายไม่ได้ถ่ายภาพในห้องนี้มา เอาเป็นว่า ถ้ามีโอกาสก็ไปดูกันเอาเองนะคะ 


    ถัดจากห้องแรกและเป็นห้องที่นั่งดู VTR ดื่มน้ำท่ากันก่อนเข้าชมนิทรรศการส่วนต่อไป 


    ก่อนที่จะไปอีกห้อง ซึ่งคุณซึงกับคุณซอ ลูกชายของคุณป้อมจะแบ่งกันเป็นผู้นำชมและผู้บรรยาย คุณป้อมก็ชี้ให้ดูภาพวาดภาพหนึ่งที่ติดอยู่บนผนัง ตัวเองไม่ได้ถ่ายรูปมา ภาพนั้นคุณป้อมวาดและลงสีโดยมีภาพมาจากภาพถ่ายเก่าของชาวไทเขิน ภาพนี้ 






    ผ้านุ่ง หรือ ซิ่นไหมคำของเจ้านายไทเขินในภาพนั่นละค่ะ เป็นแรงบันดาลใจให้คุณป้อมเริ่มสะสมผ้าเก่า ผ้าโบราณต่าง ๆ มาจนกระทั่งถึงวันนี้ 


    จากนั้นแวะดูแผนที่ถิ่นฐานของชาวไทกลุ่มต่าง ๆ ได้แก่ ไทยวน ไทใหญ่ ไทเขิน และของชาวพม่ากันเล็กน้อย เพราะผ้าที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ ก็จะเป็นผ้าของกลุ่มคนเหล่านี้ เมื่อฟังข้อมูลทางภูมิศาสตร์เบื้องต้นแล้ว คราวนี้ ก็มาฟังของจริงแบบจัดเต็มกันบ้างละ 


    ในช่วงแรกนี้ ได้คุณซึงมาเป็นผู้นำชมและผู้บรรยายให้ค่ะ





    2) ส่วนแสดงผ้าไทยวน (อ่านว่า ไท-ยวน นะคะ ไม่ใช่ ไทย-วน) 

    ชาวไทยวน หรือ ไทโยนก ก็คือ คนไทที่อาศัยอยู่ในอาณาจักรล้านนา เช่น เชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน 

    ไฮไลท์ของห้องนี้ส่วนแรกเลยก็คือ ผ้าซิ่นตีนจกแบบต่าง ๆ ที่วางเทียบให้เห็นกันเลยว่า มีความแตกต่างและมีเอกลักษณ์ของแต่ละถิ่นอย่างไร เช่น ซิ่นตีนจกสันกำแพง ซิ่นน้ำท่วม ซิ่นตีนจกแม่แจ่ม ฯลฯ ซึ่งน่าเสียดายพอสมควรที่ซิ่นบางแบบหาคนทำไม่ได้อีกต่อไปแล้ว คงเหลืออยู่แค่บางที่เท่านั้นที่ยังทำกันอยู่ 

    ในส่วนของตีนจก หรือ เชิงซิ่นที่ทำเป็นลวดลายโดยการใช้ขนเม่นควัก (จก) ให้เป็นลายตามที่ออกแบบไว้ ก็มีคลิปสั้น ๆ ให้ดูวิธีการทำกันพอสังเขปด้วย 





    สิ่งที่น่าสนใจมากอีกส่วนหนึ่งของห้องนี้ก็คือ เครื่องใช้ เช่น เครื่องแก้ว เครื่องถ้วยชาม และของใช้ส่วนตัวของพระราชชายาเจ้าดารารัศมีในรัชกาลที่ 5 มีเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเกี่ยวกับเจ้าดาราฯ ซึ่งเป็นมเหสีในรัชกาลที่ 5 ตำหนักเดียวเท่านั้นที่ไม่นุ่งโจงกระเบนและคงเอกลักษณ์การแต่งกายแบบล้านนาไว้เหนียวแน่นมาก และมีการเมืองเรื่องผ้าระหว่างล้านนา สยาม และพม่าที่ซ่อนอยู่ในผ้าซิ่นที่เป็นเอกลักษณ์ที่สุดผืนหนึ่งของเจ้าดาราฯ คือ ผ้าซิ่นที่มีส่วนผสมของทั้งผ้าลุนตญา อชิคของพม่าและผ้าตีนจกของชาวเชียงใหม่รวมอยู่ด้วยกัน 




    ต่อจากนั้น ก็พากันไปที่ชั้น 2 ซึ่งเป็นส่วนจัดแสดงส่วนที่สามของพิพิธภัณฑ์



    3) ส่วนแสดงผ้าของพม่า ไทเขิน 

    ขอบอกว่า ส่วนนี้ Breathtaking มากค่ะ ทุกคน ทั้งผ้า ทั้งเสื้อผ้าที่อยู่บนหุ่น และข้าวของเครื่องใช้ที่เป็นองค์ประกอบของห้องนี้ และเรื่องราวของสิ่งที่แสดงในส่วนนี้ก็ไม่ธรรมดาอีกเหมือนกัน 


    ในบรรดาผ้าทั้งหลาย ผ้าที่เห็นแล้วสะดุดตามาก ๆ และมีเอกลักษณ์สุด ๆ อย่างที่ใครก็เลียนแบบได้ยากมาก เพราะในขณะที่ลายผ้าอื่น ๆ มักเป็นลายเรขาคณิต แต่ผ้าชนิดนี้มีลายโค้ง คือ ผ้าลุนตญา อชิค หรือ ผ้าร้อยกระสวย ซึ่งเป็นผ้านุ่งลายคลื่นของพม่า ใครดูละครย้อนยุคอย่างเพลิงพระนาง หรืออ่านนิยายที่ว่าด้วยผ้าของหมอโอ๊ต พงศกร ก็น่าจะคุ้น ๆ กันอยู่


    เห็นคลิปการทอผ้าที่ต้องใช้กระสวยเป็นร้อยแล้วทำทีละแถวแล้ว ยอมค่ะ เพราะเป็นงานละเอียดเกินกว่าที่เคยจินตนาการไว้มาก และได้ความรู้ที่ไม่เคยรู้มาก่อนด้วยว่า ในลายคลื่นมีรูปภูเขาอยู่ตรงกลางด้วย ลายเหล่านี้หมายถึงเขาพระสุเมรุกับทะเลที่ล้อมรอบ ผู้ที่ใส่ซิ่นหรือผ้าเหล่านี้ก็เหมือนได้ขึ้นสวรรค์ตลอดเวลาที่สวมใส่ 

    ลายคลื่นบนผ้าลุนตญานี้มีตั้งแต่สามชั้นไปจนถึงหลายชั้น ยิ่งชั้นมาก ยิ่งทำยาก และยิ่งบอกถึงฐานะของผู้สวมใส่ ลายคลื่นบนซิ่นที่เยอะที่สุดที่เห็นตรงนี้ คือ 12 ชั้น (ตอนนี้ มีเสียงคุณป้อมที่เดินตามขึ้นมาดูด้วยดังมาจากข้างหลังว่า คลื่นสึนามิ (ฮา)) 


    แอบชอบไอเดียที่แขวนผ้าลุนตญาสลับกับผ้านุ่งลายตารางแบบมอญด้วยละ เพราะทำให้เห็นความแตกต่างของผ้าของพม่ากับมอญชัดมาก และทำให้มีช่องว่างที่จะเห็นความแตกต่างของลายคลื่นที่อยู่บนผ้านุ่งแต่ละผืนด้วย



    ส่วนภาพทางซ้ายมือของภาพด้านล่างนี้ ถือว่าเป็นภาพประวัติศาสตร์อีกภาพหนึ่งที่มีเรื่องเล่าด้วย คือ เป็นภาพหมู่ของเจ้านายหรือหัวหน้าคนกลุ่มต่าง ๆ ในพม่าที่มารวมตัวกันในอินเดีย รู้ได้ยังไงว่าเป็นอินเดีย เกิดอะไรขึ้นในตอนนั้น ก็ต้องมาฟัง มาดูเอาเองละค่ะ เล่าเยอะไป เดี๋ยวผู้นำชมพิพิธภัณฑ์ไม่มีงานทำ 


    ถ้ายังจำกันได้ ภาพที่ติดหน้าหน้าของบ้านตรงข้างประตูทางเข้าพิพิธภัณฑ์จะเป็นภาพชุดเจ้านายพม่าอยู่สองข้างบัลลังก์สีทอง และนี่คือสิ่งที่คุณจะได้เห็นด้วยตาตัวเองในส่วนนี้ละค่ะ 

    ถ้าใครเคยอ่านเรื่องพม่าเสียเมืองของ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ หรือประวัติศาสตร์พม่าเกี่ยวกับกษัตริย์องค์สุดท้าย คือ พระเจ้าสีป่อกับพระนางศุภยลัต ก็คงจะเคยเห็นภาพฉลองพระองค์เต็มยศเป็นชั้น ๆ แบบนี้ ชุดเต็มยศแบบนี้เรียกว่าชุด 'กาบคำ' หรือ มหาลดา ไม่ต้องอธิบายก็คงพอจะเดาได้จากลักษณะของชุดแล้วนะคะ ซึ่งชุดนี้จะใส่กับรองเท้ารูปหงส์ และแม้จะยังไม่รู้ว่าเป็นของเจ้านายองค์ไหน แต่ผู้บรรยายสันนิษฐานว่า น่าจะเป็นชุดผู้หญิงทั้งคู่ เพราะตัวเล็กมาก 


    ด้วยความละเอียด ซับซ้อน และหลายชั้นของชุด ยังไม่นับเครื่องประดับต่าง ๆ ก็มีคนสงสัยขึ้นมาว่า "ใส่ชุดแบบนี้ ถ้าอยากเข้าห้องน้ำจะทำยังไง" ข้อสันนิษฐานที่คิดกันก็คือ ใส่แล้วก็ต้องอดทนเอาไว้ก่อน ถอดเปลี่ยนแล้วค่อยว่ากัน นาน ๆ ใส่ที เพราะเป็นชุดออกว่าราชการหรือใช้ในพิธีสำคัญ ไม่ได้ใช้ในชีวิตประจำวัน ก็คงไม่ต้องอดข้าวอดน้ำอยู่ในชุดนี้ทุกวันหรอก 
     



    อีกส่วนหนึ่งที่สำคัญของชั้นสอง และถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นและไฮไลท์สำคัญสุด ๆ ของพิพิธภัณฑ์สบันงาก็ว่าได้ คือ ส่วนของผ้าและเครื่องแต่งงานของชาวไทเขิน 


    ชาวไทเขิน หรือ ไทยขึน เป็นกลุ่มชาวไทที่อาศัยอยู่อย่างหนาแน่นบริเวณลุ่มแม่น้ำขึน ทางเชียงตุง ประเทศเมียนมาร์ในปัจจุบัน และมีส่วนหนึ่งที่อพยพมาตั้งถิ่นฐานในเชียงใหม่ในสมัยเจ้ากาวิละ โดยเอาความรู้ด้านงานช่างต่าง ๆ เข้ามาด้วย โดยหนึ่งในนั้น คือ การทำเครื่องเขิน หรือเครื่องใช้ทำจากไม้ไผ่ขดให้เป็นภาชนะรูปร่างต่าง ๆ 

    ไม่เฉพาะซิ่นไหมคำที่มีอยู่ในความครอบครองของคุณป้อมจำนวนห้าผืน (จากที่มีทั้งหมดในตลาดแค่ 25 ผืนเท่านั้น) สิ่งจัดแสดงที่สำคัญของห้องนี้อีกชิ้นหนึ่งก็คือ เสื้อเจ้าฟ้าเชียงตุง หรือ 'เสื้อเดินได้'  พอพูดถึงตรงนี้ คนฟังอย่างเรา ๆ ก็เริ่มอาการ 'เอ๊ะ' ขึ้นมา ว่าอะไรยังไง ทำไมถึงเดินได้ แต่คุณซึงยังอุบไว้ไม่ยอมเล่า บอกว่า เดี๋ยวชมจบแล้ว ให้ลองไปถามคุณป้อมดูว่า เรื่องเสื้อนี้มีที่มายังไง 


    พอเห็นซิ่นไหมคำของแท้แบบใกล้ ๆ แล้วเข้าใจเลยค่ะ ว่าทำไมคุณป้อมประทับใจนัก เพราะสวยมาก (แบบเอา ก ไก่ เรียงกันให้ยาวจากเชียงใหม่ถึงกรุงเทพฯ) และไม่ใช่งานที่เกิดจากการทออย่างเดียว แต่ทั้งทอ ทั้งปักลาย และปักดิ้นอยู่ในงานชิ้นเดียวกัน ยังไม่นับเรื่องเอาเส้นทองมาทอรวมกับเส้นไหมอีก ที่สำคัญลายดอกสบันงา หรือ กระดังงาบนเชิงผ้าซิ่นละเอียดมาก 

    ด้วยความยากและความละเอียดของงาน ทำให้ซิิ่นไหมคำทำยากและมีอยู่ไม่กี่ชิ้น และใช้เฉพาะในงานสำคัญเท่านั้น สมัยก่อน เวลาที่จะนำออกมาใช้ ก็ต้องไปเบิกออกมาเป็นคราว ๆ ไป ใช้เสร็จแล้วก็เอามาคืนที่เดิม 

    ส่วนซิ่นไทเขินที่ใช้กันทั่วไป ก็ไม่อลังการเท่า แต่มีเอกลักษณ์ที่เห็นแล้วบอกได้ทันทีว่า เป็นซิ่นไทเขิน คือ ชายซิ่นจะต่อด้วยผ้าสีเขียว (ส่วนชายซิ่นไทยวนส่วนมากจะเป็นสีแดง) ส่วนตัวชอบการให้สีของผ้าไทเขินมาก เป็นสีที่คลาสสิกแบบบอกไม่ถูก และสะดุดตาตรงงานปักด้วย 


    มีเกร็ดเล็กน้อย ที่คุณป้อมเล่าให้ฟังทีหลัง แต่ยกมาเล่าไว้ตรงนี้ดีกว่า คือ แต่ก่อนนี้ คุณป้อมไม่ได้เปิดให้ชมผ้า และยังไม่ได้อนุญาตให้ถ่ายรูป ก็มีนักศึกษาชาย (แต่ก็เป็นเพื่อนสาวน่ะนะ) มาขอศึกษาลายผ้า แล้วก็มานั่งลอกลายผ้าซิ่นไหมคำไปทำจำลอง คุณป้อมก็อนุญาต และเมื่อเธอลอกลายไปศึกษาแล้ว เธอสามารถเอาไปทำใหม่เลียนแบบของเก่าได้จริง ๆ และผ้าซิ่นเชียงตุงในละครหลาย ๆ เรื่องก็ได้ใช้ของใหม่ที่จำลองมาจากของเก่าแบบนี้นั่นละ นี่ก็เป็นอีกจุดหนึ่งที่ทำให้คุณป้อมคิดว่าควรจะเปิดให้คนเข้ามาศึกษาสิ่งที่สะสมเอาไว้ได้ด้วย 



    มีอีกเรื่องนึงที่คิดว่าควรเล่าด้วย (ทำไมส่วนแสดงผ้าไทเขินสตอรี่เยอะก็ไม่รู้ ฮา) คือ มีช่วงหนึ่งที่คุณซึงเอารูปหอหลวงเชียงตุง ซึ่งเป็นตึกสถาปัตยกรรมแบบอังกฤษผสมอินเดีย มีหลังคาแบบไทเขิน (สร้างโดยเจ้าก้อนแก้วอินแถลง เมื่อปี พ.ศ. 2544) ใช้เป็นที่ว่าราชการ ต้อนรับแขกบ้านแขกเมืองให้ดู 

    นี่คือรูปหอหลวงเชียงตุงที่ยังสมบูรณ์อยู่



    แต่ในเวลาต่อมา รัฐบาลทหารพม่าขึ้นมาปกครอง ก็ยึดเอาหอหลวงเชียงตุงไว้เป็นสถานที่ราชการ และต่อมาก็ทุบทิ้ง แล้วทำเป็นโรงแรม หน้าตาแบบนี้.... (มีเอฟเฟคท์ประกอบเป็นเสียงกรีดร้องในใจหนักมาก... แบบ Noooooooooooo เหมือนลุค สกายวอล์กเกอร์ได้ยินดาร์ธเวเดอร์บอก I'm your father อย่างนั้นเลย) 


    นี่คือด้านหน้าของโรงแรมนิวเชียงตุงที่สร้างขึ้นทับที่ของหอหลวงเชียงตุงในช่วงปี 2530s 



    โมเม้นต์ที่คุณซึงเอารูปโรงแรมนิวเชียงตุงในแท็บเล็ตให้ดู เกิด dead air แบบไม่ได้นัดหมาย คนเข้าชมพิพิธภัณฑ์สามคนเงียบกริบกันอย่างมีนัยสำคัญ พอกลับมาในรถ น้อยหน่า สมาชิกหนึ่งในสามของเราก็พูดขึ้นมาว่า ที่เงียบกันนี่ คือ เซนเซอร์ตัวเอง ไม่ให้หลุดคำด่ากันออกมาใช่มั้ย ซึ่งมันก็เป็นแบบนั้นจริง ๆ ละค่ะ จะด่าก็เกรงใจเจ้าบ้าน ^^' 


    ความเปลี่ยนแปลงในลักษณะที่ขุดของเก่าออกหมดแล้วเอาของใหม่โปะเข้าไปแบบนี้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นบ่อยมาก โดยเฉพาะในโซนเอเชีย และมีสถาปัตยกรรมเก่าในไทยจำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะของเอกชนที่ถูกรื้อถอนออกไป เพื่อประโยชน์ใช้สอย ณ ขณะนั้น มากกว่าจะคำนึงถึงประโยชน์ด้านความรู้และด้านประวัติศาสตร์ มันเป็นความเปลี่ยนแปลงที่เข้าใจได้ และแก้ไขอะไรไม่ได้ แต่ก็ทรมานใจคนที่ชอบสถาปัตยกรรมเก่า ชอบฟังเรื่องประวัติศาสตร์ และเข้าใจคุณค่าของของเก่าอยู่ไม่น้อยเลย 


    (ป.ล. มารู้ทีหลังว่า โรงแรมนิวเชียงตุง ณ ปัจจุบันอยู่ในสภาพย่ำแย่เต็มทนแล้ว และติดอันดับของโรงแรมผีดุที่สุดแห่งหนึ่งด้วย ซึ่งดูจากประวัติแล้วก็ไม่แปลกใจเท่าไหร่...)

    หลังจากเกร็ดประวัติศาสตร์ชวนอึ้ง (สำหรับเราสามคน) แล้ว และใช้เวลาอยู่กับส่วนแสดงผ้าของไทเขินนานมาก (แต่เรื่องยังไม่หมดนะคะ เดี๋ยวเล่าให้ฟังตบท้ายอีกที) ก็ได้เวลาย้ายขึ้นไปดูสองส่วนสุดท้ายของพิพิธภัณฑ์สบันงา ซึ่งอยู่บริเวณชั้น 3 คราวนี้ การนำชมเปลี่ยนมือไปเป็นหน้าที่ของคุณซอบ้าง 



    4) ส่วนแสดงผ้าไทลื้อ 
     
    ผ้าที่จัดแสดงในห้องนี้ มีความเป็นชาวบ้านมากที่สุดแล้ว ในบรรดาห้องก่อนหน้านี้ และผ้าทอของไทลื้อก็มีรูปแบบและวัสดุที่แตกต่างออกไปอย่างเห็นได้ชัด นั่นก็คือ ผ้าซิ่นไทลื้อทอจากผ้าฝ้าย แม้ว่าลวดลายหลักที่เป็นเอกลักษณ์ คือ ลายน้ำไหล แต่ลายผ้าซิ่นไทลื้อก็ค่อนข้างฟรีสไตล์และ 'สนุก' กับการจับสิ่งนั้นสิ่งนี้ที่พบเห็นมาทอรวมอยู่บนผ้า ไม่ว่าจะเป็นช้าง ม้า สัตว์ต่าง ๆ แม้กระทั่งเฮลิคอปเตอร์

    ค่ะ เฮลิคอปเตอร์จริง ๆ ... คุณซอบอกว่า เป็นผ้าซิ่นที่ทอในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง คนทอคงเห็นเข้าและทอลายใส่ลงไปในผ้าด้วย น่าเสียดายที่ผ้าชิ้นนั้นไม่ได้นำมาจัดแสดง เลยอดเห็นว่า ผ้าทอลายล้ำขนาดนั้นจะมีหน้าตาเป็นยังไง อย่างไรก็ตาม ผ้าที่นำมาจัดแสดงจะมีการหมุนเวียนขึ้นมาแสดงให้ดู โดยเปลี่ยนประมาณหกเดือนครั้งหนึ่ง ก็คงมีสักวันละค่ะ ที่ได้ดูผ้าผืนนั้น ถ้าได้มาอีก 



    ก่อนที่ชาวไทลื้อจำนวนมากจะมีการย้ายถิ่นมายังล้านนาในยุคเก็บผักใส่ซ้าเก็บข้าใส่เมือง และมาอาศัยอยู่ในล้านนา เช่น แพร่ น่าน พะเยา เชียงใหม่ ลำพูน (คนยองที่อยู่ในลำพูนก็คือชาวไทลื้อจากเมืองยอง) ชาวไทลื้อมีถิ่นฐานเดิมอยู่บริเวณเมืองเชียงรุ่ง (เชียงรุ้ง หรือ จิ่งหง) ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของจีน 

    เนื่องจากถิ่นดั้งเดิมของชาวไทลื้ออยู่ในสิบสองปันนา ซึ่งปัจจุบันอยู่ในสาธารณรัฐประชาชนจีน ด้วยความใกล้ชิดกับวัฒนธรรมจีน ทำให้เสื้อผ้าของชาวไทลื้อได้รับอิทธิพลหรือรับเอาวัฒนธรรมหรือแนวทางการแต่งกายของชาวจีนมาด้วย เช่น สาบเสื้อป้ายติดกระดุมผ้าหรือมีเชือกผูก เสื้อพื้นดำหรือสีเข้มขลิบด้วยผ้าสี ซึ่งส่วนมากเป็นสีโทนแดงและสีโทนร้อน และถึงจะอยู่ในเขตหนาว สวมเสื้อแขนยาว โพกหัว เนื้อผ้าเป็นฝ้ายที่ค่อนข้างหนา แต่เสื้อสาวไทลื้อก็แอบเซ็กซี่นิด ๆ ตรงเป็นเสื้อเอวลอยด้วย 

    เสื้อแบบไทลื้อของผู้ชาย คือ แบบที่คุณซอ ผู้บรรยายของเราใส่ ส่วนแบบผู้หญิงอยู่บนหุ่นในรูปที่อยู่ถัดลงไปข้างล่างนี้ได้เลยค่ะ



    จบจากผ้าไทลื้อแล้ว เป็นอันจบเรื่องผ้าของชาวไทกลุ่มต่าง ๆ และของพม่า เหลือห้องสุดท้ายที่จะไปดูกันต่ออีกหนึ่งห้อง คือ ห้องแสดงผ้ายันต์ที่คุณป้อมสะสมเอาไว้ และนำออกแสดงในพิพิธภัณฑ์นี้ด้วย 

    แต่ก่อนที่จะไปดูห้องสุดท้าย ก็ยังมีส่วนจัดแสดงที่ 4 3/4 (คล้าย ๆ ชานชาลที่ 9 3/4) อยู่ตรงประตูทางเข้าห้องแสดงผ้าไทลื้อด้วย เป็นความรู้ใหม่มาก ๆ สำหรับตัวเอง และไม่คาดคิดว่าจะได้เห็นของจริงอยู่ตรงนี้ด้วย นั่นก็คือ เครื่องแต่งกายของชาวไทอาหม ซึ่งเป็นชาวไทที่อาศัยอยู่ในประเทศอินเดีย มีภาษาที่อยู่ในกลุ่มภาษาไท แต่แทบไม่รู้อะไรเกี่ยวกับชาวไทกลุ่มอื่นซึ่งอาศัยอยู่ในถิ่นอื่น 

    บางคนอาจจะไม่เคยได้ยินชื่อชาวไทกลุ่มนี้ ส่วนตัวเองเคยได้ยินแต่ชื่อ เคยอ่านหนังสือของ ดร. ฉัตรทิพย์ นาถสุภาเกี่ยวกับการศึกษาประวัติศาสตร์ไทอาหม และหนังสือ 'กาเลหม่านไต' ของ ดร. บรรจบ พันธุเมธา (อาจารย์เป็นผู้หญิง และไปถึงอินเดียเพื่อศึกษาภาษาไทของชาวไทอาหม นอกจากงานวิจัยแล้ว อาจารย์ยังเขียนหนังสือกาเลหม่านไต หรือ ไปเยี่ยมบ้านคนไท เป็นบันทึกกึ่งสารคดีเกี่ยวกับชาวไทในประเทศอินเดีย เป็นหนึ่งในร้อยหนังสือดีที่คนไทยควรอ่านด้วย ใครสนใจลองหาอ่านได้ และมันเท่มากตรงที่เป็นหนังสือที่เขียนมาเกิน 20 ปีแล้ว แต่ยังอ่านสนุกอยู่) เห็นแต่ภาพในหนังสือ ไม่เคยเห็นสิ่งที่ป็อปอัพอยู่ตรงหน้าว่า มีอยู่จริง ๆ แบบนี้ เรียกได้ว่าเป็นความตื่นเต้นนิด ๆ หน่อย ๆ แบบ book nerd ก็ว่าได้ 



    มาถึงส่วนแสดงสุดท้ายของพิพิธภัณฑ์จริง ๆ แล้วค่ะ 


    5) ส่วนแสดงผ้ายันต์ เสื้อยันต์ และสิ่งที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อและศาสนา 

    ที่สุดของความขลังทั้งบรรยากาศและสิ่งจัดแสดงขอยกให้ห้องนี้เป็นที่หนึ่ง และเป็นฟินาเล่ของการเข้าชมพิพิธภัณฑ์ผ้าโบราณสบันงาในหลาย ๆ ความหมายก็ว่าได้ค่ะ ต้องยอมรับว่า คุณป้อมเป็นนักสะสมที่ยอมเยี่ยมมากจริง ๆ เพราะสิ่งที่อยู่ในห้องนี้เป็นของสะสมที่คาดไม่ถึงหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นยันต์ฝ่าต๊ะหรือยันต์ที่เกิดจากการประทับฝ่ามือลงไปบนผ้าของครูบาศรีวิชัย รอยประทับฝ่าเท้า และไม้เท้าของครูบาศรีวิชัย พระสงฆ์ที่เป็นที่เคารพนับถือที่สุดรูปหนึ่งในดินแดนล้านนา 




    จากเรื่องพระ มาที่เรื่องยันต์ทั้งหลายกันบ้าง ไม่อยากจะใช้คำว่าตื่นตาตื่นใจซ้ำ แต่ก็ไม่รู้จะหาคำไหนที่ดีกว่านี้ เพราะยันต์ที่นำมาจัดแสดงในห้องนี้เยอะมาก ไม่ว่าจะผืนเล็ก ผืนใหญ่ หรือเสื้อยันต์ และยันต์หลายแบบก็เป็นแบบที่ไม่เคยเห็นมาก่อน 

    ตัวอย่างเช่น ยันต์รูปวงกลม ลักษณะคล้าย ๆ มณฑล หรือ มันดาลา ของธิเบต แต่เป็นยันต์ของทางเหนือ ไม่ใช่แค่ลงหมึกขาวดำ แต่ลงสีด้วย 



    ยันต์บางแบบก็จะออกแนว 18+ เล็กน้อย เช่น ยัันต์ม้าเสียบนาง หรือบางยันต์ก็จะรวมมิตรหลาย ๆ ภาพ หลาย ๆ คุณสมบัติเอาไว้ด้วยกันในผืนเดียว 




    นอกจากพระพุทธรูป วัตถุมงคล ผ้ายันต์ เสื้อยันต์แบบต่าง ๆ แล้ว ภายในห้องนี้ก็ยังมีพับสา ผ้าห่อคัมภีร์ และของใช้อื่น ๆ เช่น เครื่องแก้วของยุโรป เสื้อและที่ประดับศีรษะของส่างลองหรือผู้ที่จะบวชลูกแก้ว และอื่น ๆ ด้วย 




    จบเรื่องราวของห้องที่ห้านี้แล้ว ก็เสร็จสิ้นกระบวนการนำชมพิพิธภัณฑ์ผ้าโบราณ ใช้เวลาไปประมาณหนึ่งชั่วโมงนิด ๆ โดยประมาณ และมีเวลาสำหรับการเดินย้อนกลับไปดูห้องต่าง ๆ อีกรอบอีกประมาณ 15-20 นาที 



    Clothes and some stories about life and Afterlife

    สำหรับวันนั้น พอจบจากห้องสุดท้ายแล้ว ก็มีคำถามจากสมาชิกของพิพิธภัณฑ์ถามขึ้นรู้ไหมว่า ผ้าที่เอามาทำผ้ายันต์ของล้านนานี้ ส่วนใหญ่ทำมาจากผ้าอะไร คำถามนั้นทำให้เราสามคนมองหน้ากันไปมาด้วยสายตาว่างเปล่าอยู่พักหนึ่ง ก่อนที่จะได้รับคำเฉลยว่า ผ้ายันต์ทางล้านนาส่วนใหญ่ทำมาจากผ้าห่อศพค่ะ เพราะฉะนั้น ผ้ายันต์ที่เห็น ๆ กันอยู่ที่ห้องนี้ก็เป็นอดีตผ้าห่อศพทั้งสิ้น โดยก่อนที่จะนำศพไปเผาก็ดึงเอาผ้าห่อศพมาก่อน แล้วเก็บเอาไว้เขียนอักขระอะไรกันตามกระบวนการทีหลัง ผ้าห่อศพที่เอามาใช้ก็เป็นผ้าห่อศพของพ่อแม่ที่เสียชีวิต หรือของพระ สมัยนี้ ไม่ต้องใช้ผ้าห่อศพ แต่สมัยก่อน ไม่มีฟอร์มาลีน ไม่มีโลงทำความเย็น ก็ต้องใช้ผ้าห่อศพเอาไว้ ไม่ให้ศพอยู่ในสภาพที่ดูไม่ดีเท่าไหร่ 


    พอเรื่องลึกลับมา ตาคนฟ้งจากที่ว่างเปล่าเพราะคิดคำตอบไม่ได้ ก็เปล่งประกายขึ้นมาทันที ฮา


    คุณป้อมที่แวะเข้ามาสมทบตอนหลัง และถามคำถามเดียวกันว่า ผ้ายันต์ทำมาจากอะไร ก็ช่วยเฉลยเพิ่มเติมว่า พวกยันต์ผืนเล็ก ๆ ก็มักจะมาจากผ้าที่ใช้ผิดหน้า ผืนใหญ่หน่อยก็มาจากผ้าที่ใช้ห่อส่วนลำตัว เป็นต้น เมื่อได้ผ้ามาแล้ว ก็เป็นขั้นตอนของการหาฤกษ์ยามทำยันต์ และในการวาดอักขระ ภาพต่าง ๆ หรือแม้กระทั่งลงสี ก็จะมีกรรมวิธีของมันอยู่ เช่น สีนี้ต้องทำมาจากวัสดุนี้ และเขียนในช่วงเวลานี้ เป็นต้น 


    สำหรับพวกพับสาต่าง ๆ ที่สะสมอยู่ คุณป้อมบอกว่า ไม่ได้ศึกษาลึกซึ้งอะไร แต่ยินดีให้คนที่สนใจเรื่องนี้ อ่านอักษรพวกนี้ออกมาเข้ามาศึกษาได้ ที่ผ่านมาก็มีพระสงฆ์มานั่งอ่าน มาศึกษาพับสาและอักขระต่าง ๆ อยู่เหมือนกัน 





    มาถึงตรงนี้ ยังมีใครจำเรื่อง 'เสื้อเดินได้' ที่คุณซึงอุบไว้ไม่ยอมเล่าในตอนแรก ๆ ได้บ้างหรือเปล่าคะ


    ตอนกลับลงไปชั้นสอง เพราะยังติดใจกับเสื้อผ้าของทางพม่ากับไทเขินกัน แต่จำไม่ได้ว่า ใครทวงเรื่องเสื้อเดินได้ แต่หนุ่ม ๆ ผู้นำชมของเราไม่ยอมเล่า แต่โบ้ยให้คุณพ่อ คือ คุณป้อมเป็นคนเล่าให้ฟังแทน  


    หมายเหตุตัวโต ๆ ใครกลัวผี กรุณาอ่านข้ามไปหัวข้อสุดท้าย คือ Final Thoughts เลยนะคะ 






    เรื่องมีอยู่ว่า มีแม่ค้าขายผ้าโบราณติดต่อมาหาคุณป้อม ถามว่าได้เสื้อของเจ้านายทางเชียงตุงมา สนใจหรือเปล่า ถ้าอยากได้ จะขายให้ราคาสองหมื่นบาท ซึ่งเมื่อยี่สิบปีที่แล้ว ถือเป็นเงินจำนวนมากอยู่ พูดมาขนาดนี้ เป็นใครจะไม่สนใจ คุณป้อมก็อุตส่าห์ถ่อไปดูถึงเชียงราย และแน่นอนว่า การเดินทางสมัยนั้นก็ไม่ได้ง่ายเหมือนตอนนี้ แต่พอไปถึง คุณพี่คนขายก็บอกว่า ขายให้เศรษฐีคนหนึ่งที่กรุงเทพฯ ไปในราคาหนึ่งแสนบาทเรียบร้อยแล้ว ณ จุดนั้น คุณป้อมก็คิดว่าตัวเองไม่ได้เป็นเจ้าของเสื้อตัวนี้แล้วละ 


    เวลาผ่านไปนานพอสมควร วันดีคืนดี คุณพี่แม่ค้าก็ติดต่อมาอีกถามว่า ยังอยากได้เสื้อตัวนั้นอยู่ไหม คนซื้อไปเขาเอามาขายคืน จะขายให้ในราคาที่เคยตกลงกันไว้ที่สองหมื่นบาท ตอนแรก คุณป้อมก็จะไม่เอา เพราะไม่โอเคกับที่แม่ค้าเคยขายให้คนอื่นแบบไม่บอกกล่าว แต่ท้ายที่สุด ก็ตัดสินใจไปดู


    คราวนี้ ไม่โดนหักหลังกลางอากาศแบบคราวก่อน แต่ก็มีอะไรแปลก ๆ อยู่นิดหน่อย


    แม่ค้าบอกว่า เสื้อไม่ได้อยู่ที่ร้านพี่นะ แต่ฝากเอาไว้ที่ร้านข้าง ๆ ... ไหงเป็นอย่างนั้นล่ะ


    เหตุที่ต้องเอาเสื้อไปฝากไว้ที่ร้านข้าง ๆ เพราะคุณพี่แม่ค้ากลัวค่ะ และเหตุที่เศรษฐีกรุงเทพฯ คนนั้นเอามาคืนให้ ก็เพราะเมื่อเอาไปไว้ที่บ้านแล้ว ตกกลางคืนขึ้นมา คนในบ้านก็เห็นเสื้อเจ้านายทางเชียงตุงตัวนี้เดินไปเดินมาอยู่ในบ้าน นานไป  ลูกเมียแกหนีออกจากบ้านหมด เพราะกลัวจนอยู่ไม่ได้ แกเองก็ชักจะไม่ไหวแล้ว เลยตัดสินใจเอาเสื้อมาคืนแม่ค้า ไม่เอาแล้ว 

    ท้ายที่สุด เสื้อของเจ้าฟ้าเชียงตุงก็กลับมาอยู่ในความดูแลของคุณป้อมมาจนถึงทุกวันนี้ เป็นอันจบเรื่องเล่าของ 'เสื้อเดินได้' แห่งพิพิธภัณฑ์สบันงา 


    แต่... ยังค่ะ เรื่องเล่าลึกลับยังไม่หมดแค่นี้ ยังมีเรื่องอื่น ๆ อีกที่คุณป้อมเล่าให้ฟัง ไม่ว่าจะเป็นซิ่นไหมคำที่นึกว่าจะโดนโกงเงินไปแล้ว แต่ท้ายที่สุด คนเสนอขายผู้ลึกลับก็ไม่ได้ผิดคำพูด และส่งซิ่นไหมคำของแท้มาทางพัสดุไปรษณีย์ (ไม่รู้ว่า รอดมือไปรษณีย์ไทยมาได้ยังไง แต่ทางนี้แอบคิดในใจว่า ที่ของมาช้ามากอาจเป็นฝีมือพี่ไปรฯ ของเราก็ได้ ^^') 


    "นอกจากเสื้อเดินได้ แล้วยังมี 'ผ้ากลับบ้าน' ด้วยนะครับ" 


    เล่าอย่างย่อ ๆ ก็คือ มีนักศึกษาที่เคยมาทำงานที่ร้านอาสาจัดผ้าให้ เพราะตอนนั้นมีผ้าเยอะมาก และงานที่ร้านสบันงาก็ยุ่ง คุณป้อมก็ให้เขาจัดการให้ จนมาวันหนึ่ง คุณป้อมไปงานที่ไหนสักที่ ก็ไปพบกับคุณนายหรือคุณหญิงสักคนนุ่งผ้าซิ่นจากจังหวัดแพร่ที่มีลายคุ้น ๆ เหมือนที่ตัวเองเก็บไว้เป๊ะ ซึ่งก็ไม่น่าจะมีใครที่ไหนมีลายนี้ เกิดเอะใจ ก็เลยเข้าไปถามว่า ได้มาจากไหน คุณนายบอกว่ายืมมาจากร้านหนึ่งในเชียงใหม่นี่ละ คุณป้อมก็เลยกลับไปค้นที่ร้านดู ปรากฏว่า ผ้าผืนที่เห็นหายไปจริง ๆ เป็นไปได้ว่า เด็กที่มาทำงานที่ร้านจะขโมยไป ก็รวบรวมหลักฐาน เอกสาร ภาพผ้าที่ถ่ายไว้เตรียมไปแจ้งความ และตามไปดูที่ร้าน สอบถามเจ้าของร้านแล้วก็ปรากฎว่า เจ้าของร้านรับซื้อมาจากเด็กที่เคยทำงานที่ร้านจริง ๆ และไม่ใช่แค่ผืนเดียว มาเป็นตั้งกันเลยทีเดียว อย่างไรก็ตาม เจ้าของร้านที่รับซื้อเห็นเจ้าของตัวจริงมาถามหาผ้าก็ยินดีที่จะคืนให้ด้วยความเต็มใจอย่างยิ่ง 


    เหตุผลน่ะเหรอคะ... เพราะตั้งแต่รับซื้อผ้าของคุณป้อมมา คุณพี่ก็เห็นใครก็ไม่รู้ปรากฏตัวในร้านเรื่อยมา เมื่อเจ้าของผ้าตัวจริงมารับกลับบ้าน ก็ไม่มีเหตุผลอะไรที่จะไม่คืน 


    ที่เล่ามาก็เป็นตัวอย่างเล็ก ๆ น้อย ๆ ของ 'เรื่องเล่า' เกี่ยวกับผ้าที่อยู่ในพิพิธภัณฑ์ผ้าโบราณสบันงาแห่งนี้ละค่ะ แต่จากเรื่องลึกลับของผ้าที่เล่ามาข้างต้น ตัวเองก็แอบคิดไม่ได้ว่า สิ่งของมีค่า ไม่ว่าจะมีอะไรติดมาด้วยหรือไม่ ก็สมควรที่จะอยู่ในความดูแลของคนที่ 'มีใจ' จะดูแลและมีความสามารถที่จะดูแล ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความรู้ ทุนทรัพย์ และปัจจัยแวดล้อมอื่น ๆ ดังนั้น ถ้าจะพูดว่า 'ผ้าเลือกเจ้าของ' หรือ 'ผ้าเลือกคนดูแล' ก็คงจะไม่ใช่เรื่องที่เกินความจริงจนเกินไป 



    Final Thoughts

    อย่างที่ว่าไว้นั่นละค่ะ การทำงานสะสมอะไรสักอย่าง โดยเฉพาะของเก่าทั้งหลาย ไม่ว่าจะมีมูลค่าเป็นเงินมากหรือน้อย นอกจาก passion อย่างเดียว มีใจอย่างเดียวก็ไม่พอ ต้องมีความรู้ ต้องศึกษาข้อมูล ต้องมีที่เก็บรักษา ถ้าหากชำรุดต้องมีการซ่อมแซม ซึ่งทุกอย่างล้วนมีค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น นี่ยังไม่นับเรื่องการเปิดพิพิธภัณฑ์เพื่อให้คนเข้าชม เพราะการเปิดสถานที่ให้เข้าชมนั้น ก็จะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมขึ้นไปอีก โดยเฉพาะในเรื่องของอาคารสถานที่ และการจัดสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสม น่าสนใจ ที่เห็นได้ชัดเจนในพิพิธภัณฑ์นี้  คือ ห้องจัดแสดงต้องไม่มีหน้าต่าง ต้องมีอุณหภูมิที่เหมาะสม ต้องจัดแสงให้เหมาะสม และจัดวางองค์ประกอบอื่น ๆ อีกมากมาย เพื่อให้ส่วนจัดแสดงสามารถบอกเล่าเรื่องราวเพิ่มเติมได้มากกว่าแค่การจัดแสดงผ้าโบราณ 


    สำหรับตัวเอง ค่าเข้าชม 200 บาทกับความรู้ฉบับกะทัดรัดหนึ่งชั่วโมงครึ่งนั้นมีค่ามากค่ะ ดังที่ยก quote ของ Linda Grant มาข้างต้นว่า 

    "ผ้าคือข้อความ ผ้าคือการบอกเล่า ผ้าคือเรื่องราว อาภรณ์ทั้งหลายคือเรื่องเล่าแห่งชีวิต ถ้าหากคุณลองรวบรวมเสื้อผ้าที่คุณเคยมีมาตลอดชีวิตของคุณ รองเท้าเด็กน้อย เสื้อโค้ตสำหรับฤดูหนาว และชุดแต่งงาน คุณอาจมีอัตชีวประวัติของคุณเรื่องหนึ่งได้เลย" 

    พิพิธภัณฑ์นี้ทำหน้าที่ของตัวเองอย่างที่ข้อความข้างต้นบอกไว้ เพราะผ้าที่อยู่ในพิพิธภัณฑ์ล้วนมีเรื่องราวและเป็นสิ่งสะท้อนและบอกเล่าประวัติศาสตร์อยู่ในตัวเองทั้งสิ้น และวัตถุประสงค์หนึ่งของการทำพิพิธภัณฑ์ดี ๆ ไม่ว่าที่ไหนของโลก ก็คือสิ่งนี้ 



    นอกจากเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ที่ถูกถ่ายทอดผ่านผืนผ้าหรืออาภรณ์ทั้งหลาย สำหรับคนที่ไม่ได้สนใจเรื่องเหล่านั้นเป็นพิเศษ ก็ยังสามารถสัมผัสกับความงามและงานศิลปะอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งหลายอย่างไม่อาจพบเห็นได้ในปัจจุบันอีกต่อไปแล้ว ไม่ว่าเป็นเพราะคนทำล้มหายตายจาก หรือความรู้ดั้งเดิมสูญหายไปตามกาลเวลา การใช้เวลาชั่วขณะหนึ่งในการซึมซับสิ่งสวยงามก็ถือเป็นการเติมเต็มอะไรบางอย่างให้กับชีวิตได้เหมือนกัน 

    หลายครั้ง ที่เราพลาดอะไรหลายอย่างไป เพราะขาดการบันทึกที่เป็นรูปธรรม การมีโอกาสได้เห็น การเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ที่เปิดโอกาสให้เก็บข้อมูลที่หาไม่ได้จากที่ไหน ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่พิพิธภัณฑ์สามารถให้กับเราได้ 



    ถ้าหากลองสังเกตดู ผ้าบางชิ้นก็ผ่านการซ่อมแซมมาอย่างเห็นได้ชัด และผ้าอีกหลายชิ้นก็อาจต้องการการซ่อมแซมอีกในอนาคต ซึ่งต้องอาศัยความรู้ ความชำนาญเป็นอย่างยิ่ง และไม่แน่ว่า แม้แต่ช่างฝีมือดีที่สุดในปัจจุบันก็ยากที่จะหาวัสดุที่ใช้กันในอดีตมาทดแทนได้ 


    การสร้างคนขึ้นมาเป็นช่างฝีมือก็เป็นเรื่องที่น่าคิดอยู่เหมือนกันว่า ไทยเราจะสามารถสร้างคนที่มีความรู้ทั้งประวัติศาสตร์ศิลปะ และงานประณีตศิลป์ในระดับนี้ได้มากแค่ไหน หรืออย่างน้อยที่สุด มีแหล่งข้อมูลหรือเครือข่ายที่หาคนมาร่วมมือกันทำงานในลักษณะนี้ได้มากน้อยแค่ไหน เพราะจากประสบการณ์ที่เคยเห็นในต่างประเทศ คนที่ทำงานด้านประวัติศาสตร์ งานศิลปะ ไม่ว่าจะเป็นนักวิชาการและช่างฝีมือ มีความพร้อม มีแหล่งทุนที่พร้อมสนับสนุน 


    ค่าเข้าชมเป็นสิ่งที่ทำให้พิพิธภัณฑ์อยู่ได้จริง ๆ ไม่ว่าจะเป็นพิพิธภัณฑ์ของรัฐหรือเอกชน ดังนั้น การให้การสนับสนุนในสิ่งที่สามารถทำได้ ก็อยากจะให้ทำ และไม่ต้องคิดมากว่า ค่าเข้าชมแพงหรือไม่ 




    Last but not Least

    ที่สุดแล้วก็ต้องขอบคุณน้อยหน่ากับปัน สาว ๆ จากกรุงเทพฯ ที่ชวนมาที่นี่ และขอบคุณคุณป้อม คุณอุ้ม คุณซอ คุณซึงที่ทำงานนี้ด้วยใจรักจริง ๆ และที่ยิ่งไปกว่านั้น คือ ได้เปิดพิพิธภัณฑ์ผ้าโบราณให้คนเข้าชมและสัมผัสกับงานที่มีคุณค่าชนิดที่ยากจะประเมินได้ และถ้ามีโอกาส อยากให้ลองไปเที่ยวชมสักครั้จริง ๆ ค่ะ เพราะผู้บรรยายและผู้นำชมมีความรู้เรื่องที่จัดแสดงดีมาก เราชอบ passion ในการถ่ายทอดเรื่องราวที่อยู่ในพิพิธภัณฑ์มาก ๆ 


    เนื่องจากตอนที่ไป พิพิธภัณฑ์ยังเปิดได้ประมาณสัปดาห์หนึ่ง ก็อาจจะมีอะไรงง ๆ กันอยู่บ้างในเรื่องของระบบการจ่ายเงิน ซึ่งหลังจากเข้าไปแล้ว ก็มัวแต่ตะลึงกันสามคน เกือบลืมจ่ายค่าเข้าชมซะงั้น เพราะมาเก็บตอนท้าย ไม่รู้ว่าระบบเข้าที่เข้าทางบ้างหรือยัง แต่ถ้าเป็นไปได้ อยากให้ทวงค่าบัตรกันตั้งแต่เปิดประตูให้เข้าไปในบ้านเลยค่ะ ไม่ต้องเกรงใจ เพราะถ้าเจอช่วงชุลมุนลืมทั้งคู่แล้วจะยุ่ง


    บางอย่างที่อยากจะให้มีเพิ่มเติมนอกจากรีวิวในเพจของพิพิธภัณฑ์ ถ้าไม่ยุ่งยากเกินไป และอาจจะง่ายสำหรับคนที่ไม่ถนัดเทคโนโลยีด้วยซ้ำ ก็คืออยากให้มี guest book หรือ สมุดเยี่ยมชม ที่ผู้เข้าชมสามารถเขียน feedback หรือแสดงความรู้สึกได้เดี๋ยวนั้น ใช้เวลาไม่กี่นาทีหลังจบการเข้าชม (ถ้าไม่เก็บเงินตอนเข้า ก็มาเก็บตอนเซ็นสมุดเยี่ยมกันนี่แหละ) และสามารถเก็บข้อมูลผู้เข้าชมแบบเป็นลายลักษณ์อักษร ทำให้เห็นยอดผู้เข้าชมในแต่ละรอบและวันได้ทันทีด้วย ในขณะที่รีวิวผ่านเพจ หรือแท็ก location อาจจะไม่ได้ทำกันแบบ real time หรือ ณ ขณะนั้น หรือหลังจากจบการเยี่ยมชมเสมอไป 


    ตามประสาคนเคยไปพิพิธภัณฑ์ต่างประเทศมาหลายที่ ในอนาคต เราอยากจะอุดหนุนของที่ระลึกจากพิพิธภัณฑ์นะคะ อย่างน้อย ๆ ก็เป็นโปสการ์ด หรือหนังสือเล่มเล็ก ๆ เกี่ยวกับพิพิธภัณฑ์และสิ่งจัดแสดงที่เป็นไฮไลท์บวกความรู้เล็ก ๆ น้อย ๆ หรือหนังสือที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องบ้าง อะไรบ้างก็ยังดี แน่นอนว่า มันทำให้ภาระเพิ่มขึ้นอย่างไม่ต้องสงสัย แต่สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่นักเที่ยวพิพิธภัณฑ์โดยเฉพาะต่างชาติอยากได้ไปเก็บไว้เป็นของที่ระลึก หรืออย่างน้อย ก็ซื้อเก็บไว้เป็นข้อมูลสำหรับกลับมาใช้รีวิวได้ในอนาคต แต่เรื่องพวกนี้ก็ต้องค่อย ๆ เป็นค่อย ๆ ไป แต่เท่าที่เป็นอยู่ ณ ตอนนี้ ด้วยกำลังคนขนาดนี้ เอาเท่าที่ทำไหวเป็นหลัก เราก็ขอบคุณมาก ๆ แล้วละค่ะ 


    ถ้าใครมีโอกาสไปเชียงใหม่ มีเวลามากพอ และไปตรงกับที่มีรอบพอดี... highly recommended ค่ะ



    ป.ล. ระหว่างคุยกันในช่วงที่สามารถถ่ายรูป เดินชมแบบเก็บตกกันหลังจากฟังการบรรยายแล้ว น้อยหน่าถามว่า มีใครอยากนอนค้างที่นี่มั้ย ขอตอบตรงนี้เลยอย่างชัดถ้อยชัดคำเลยว่า ขอบายดีกว่าค่ะ เกรงใจเจ้าของที่ คนเยอะแล้ว ไม่เอาดีกว่าเนอะ >< 


Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in
Oc Orio (@fb1422032091199)
เป็นบทความที่บรรยายได้ดีมาก ได้ความรู้เพิ่มและมีเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยสอดแทรกไปด้วย เพิ่งไปชมพิพิธภัณฑ์มาเมื่ออาทิตย์ที่แล้ว ยังประทับใจอยู่เลยค่ะ
piyarak_s (@piyarak_s)
@fb1422032091199 ขอบคุณค่ะ คิดว่าน่าจะไปวันใกล้ ๆ กัน เป็นพิพิธภัณฑ์ที่น่าประทับใจดีค่ะ ชอบทั้งสิ่งจัดแสดง ผู้บรรยายก็ดีด้วย