เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
รีวิวเว้ย (2)Chaitawat Marc Seephongsai
ใช้ชีวิตง่าย ๆ ก็สบายใจเหมือนกันนะ By ฮาวัน แปล ตรองสิริ ทองคำใส
  • รีวิวเว้ย (1082) หลายวันก่อนเจอข้อความหนึ่งที่เพื่อนหลาย ๆ คนใน Facebook แชร์เป็นข้อความเชิงตั้งคำถามที่น่าสนใจยิ่ง โดยเฉพาะกับคนไทยที่ถูกระบุเอาไว้ในบัตรประชาชนอย่างงง ๆ ว่า "นับถือพุทธ" ข้อความดังกล่าวมีอยู่ว่า "กูต้องรีบประสบความสำเร็จไปเพื่ออะไร สิทธัตถะเกิดตั้งห้าร้อยชาติกว่าจะตรัสรู้" ตอนเห็นข้อความนี้ครั้งแรกความรู้สึกที่เกิดขึ้น คือ ความรู้สึกขำขันในความตลกร้ายของข้อความดังกล่าว และเมื่อเราคิดให้ดี ๆ เราจะพบว่าข้อความนี้มีความน่าสนใจหลายประการ ซึ่งทุกประการที่คิดได้จากข้อความดังกล่าวนับเป็นการ "สั่นคลอน" ชุดความเชื่อที่สำคัญของสังคมไทยตั้งแต่ (1) ความเชื่อทางศาสนา (2) ความเชื่อในเรื่องของคุณค่าตัวตน และ (3) การใช้ชีวิตของคนในสังคมแห่งนี้ โดยเฉพาะในส่วนของข้อความที่ว่า "สิทธัตถะเกิดตั้งห้าร้อยชาติกว่าจะตรัสรู้" นั่นอาจจะแปลความได้ว่า เราอาจจะไม่จำเป็นต้องจริงจังกับการได้มาซึ่งความสำเร็จของทุก ๆ เรื่องในชีวิตขนาดนั้นก็ได้ เพราะขนาดมหาศาสดาในความเชื่อของคนไทย ยังใช้เวลาตั้งหลายภพชาติกว่าที่ตัวเขาเองจะบรรลุถึงเป้าหมายชีวิต และพวกเราจะซีเรียสไปทำไม (?)
    หนังสือ : ใช้ชีวิตง่าย ๆ ก็สบายใจเหมือนกันนะ
    โดย : ฮาวัน แปล ตรองสิริ ทองคำใส
    จำนวน : 224 หน้า

    "ใช้ชีวิตง่าย ๆ ก็สบายใจเหมือนกันนะ" เปรียบเสมือนหนังสือภาคต่อของ "นี่เราใช้ชีวิตยากเกินไปรึเปล่านะ" (https://minimore.com/b/Us3Wj/823) ที่ว่าด้วยเรื่องของ ชายวัยสี่สิบชาวเกาหลีใต้ ที่ตัดสินใจลาออกจากงาน แล้วมาทดลองใช้ชีวิตในแบบที่หลายคนมองว่านี่มันชีวิตของบุคคลล้มเหลวชัด ๆ แต่หนังสือเล่มนี้ก็แสดงให้เห็นว่าทำไมเราต้องใช้ชีวิตบนฐานของความพยายามทั้งที่เราไม่แน่ใจว่าการพยายามเหล่านั้นจะนำพาเราไปสู่จุดไหน หลายครั้งเราพยายามใช้ชีวิตให้ตรงตามมาตรฐานที่สังคมต้องการ แต่มาตรฐานเหล่านั้นกลับย้อนกลับมาทำร้ายเรา ด้วยการจัดสรรโรค ไม่ว่าจะเป็นอาการซึมเศร้า ออฟฟิศซินโดรม หรือกระทั่งโรคอื่น ๆ ที่มันเกิดขึ้นมาจากความเครียดและการใช้ชีวิตบนความคาดหวังของสังคม หนังสือเล่มนี้กำลังตั้งคำถามกับเราว่าแล้วทำไมเราต้องใช้ชีวิตในแบบนั้น ถ้าเราไม่ใช่ชีวิตแบบนั้นได้หรือเปล่า แล้วถ้าเราเลือกเดินออกมาจะถือว่าผิดมั้ย จะถือว่าเราล้มเหลวหรือเปล่า และจะถือว่าเราทำได้ตามมาตรฐานของสังคมหรือไม่ หนังสือเล่มนี้กำลังบอกเราว่า ก็ช่างมันดิจะไปสนใจทำไม เพราะในที่สุดแล้วคนที่จะอยู่กับเราไปจนวันสุดท้ายก็คือตัวเราเอง คนที่ตั้งค่ามาตรฐาน คนที่วางความคาดหวัง หรือกระทั่งคนที่วาดฝันอยากให้เราเป็น พวกเขาไม่ใช่คนที่อยู่กับเราจนวันสุดท้ายของชีวิต หากแต่เป็นตัวเราเองที่จะต้องอยู่กับตัวเองไปจนถึงวันนั้น

    "ใช้ชีวิตง่าย ๆ ก็สบายใจเหมือนกันนะ" เป็นขั้นต่อมาที่ผู้เขียนพยายามจะบอกกับเราว่า "ไม่เห็นต้องไปเอาจริงเอาจังกับการใช้ชีวิตขนาดนั้น" โดยเฉพาะชีวิตที่เดินไปบนเส้นทางที่สังคมกำหนด ค่านิยมของสังคมนำพา กระทั่งคนรอบข้างบอกว่าต้องทำ ต้องมี ต้องได้ เหมือนกับบทความที่เราเห็นอยู่บ่อยครั้งที่มักจะบอกว่า ต้องมีบ้านก่อนอายุ 30, อายุเท่านี้ค้องมีเงินเก็บเท่าไหร่, 10 สถานที่ที่ต้องไปเยือนก่อนตาย, 100 หนังสือที่ต้องอ่านก่อนอายุ 30 และอื่น ๆ อีกมากมายเท่าที่พวกเราจะเคยเห็นผ่านตา หลายคนอาจจะไม่ได้รู้สึกว่าข้อความเหล่านั้นปลูกฝังสั่งสอนแต่ประการใด หากในท้ายที่สุดเราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าพวกมันเป็นหนึ่งในความขุ่นหมองหัวใจเล็ก ๆ เมื่อเราทำไม่ได้อย่างที่บทความเหล่านั้นเขียนเอาไว้

    หลาย ๆ ตอนในหนังสือ "ใช้ชีวิตง่าย ๆ ก็สบายใจเหมือนกันนะ" กำลังพยายามบอกกับเราว่า "แล้วยังไง ทำไม่ได้แล้วยังไง แล้วทำไมต้องทำตามที่คนโน้นบอก คนนี้หวัง คนนั้นต้องการ" ชีวิตของเราเราควรพอใจกับมันด้วยตัวเอง เมื่อไหร่ที่ชีวิตของเรามีคู่เทียบเมื่อนั้นความ "ฉิบหาย" อย่างความกังวลใจจะเกิดขึ้นเสมอ ซึ่งเรื่องราวทั้ง 43 ตอนในหนังสือ "ใช้ชีวิตง่าย ๆ ก็สบายใจเหมือนกันนะ" กำลังบอกกับเราคล้าย ๆ กับข้อความที่เราเห็นมันใน Facebook ที่ว่า "กูต้องรีบประสบความสำเร็จไปเพื่ออะไร สิทธัตถะเกิดตั้งห้าร้อยชาติกว่าจะตรัสรู้" ขอเติมให้อีกหน่อยว่า "กูจะต้องสำเร็จแบบสิทธัตถะไปทำไม ถ้ากูพอใจจะเป็นกูในแบบที่เป็นอยู่ตอนนี้ก็น่าจะพอแล้ว" 

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in