เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
รีวิวเว้ย (2)Chaitawat Marc Seephongsai
ตำนานงานโยธา (2325-2556) By สำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร
  • รีวิวเว้ย (1083) รีวิวเว้ย × สำนักงานสัญญาธรรมศักดิ์เพื่อประชาธิปไตย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

    "เมือง" หมายถึงอะไร (?) หลายครั้งเราก็ละเลยการตั้งคำถามกับสิ่งที่ใกล้ตัวหรือสิ่งที่เราคุ้นชินกับมันมาก ๆ อย่างตอนที่อ่านหนังสือเล่มนี้จบลง เรากลับมาตั้งคำถามกับตัวเองว่า "เมืองคืออะไร" ซึ่งมันทำให้เราได้กลับมาค้นหาความหมายของคำดังกล่าวในภาษาไทยอีกครั้งหนึ่ง น่าแปลกใจที่ความหมายของ "เมือง" ถูกเขียนเอาไว้สั้น ๆ ว่า "(น.) แดน เช่น เมืองมนุษย์, ประเทศ เช่น เมืองไทย, (โบ) จังหวัด เช่น เมืองเชียงใหม่ และพอไล่ความหมายของคำให้ลึกลงไปกว่านั้นก็พบว่ามีการให้ความหมายเอาไว้ว่า "เขตซึ่งเคยเป็นเมืองสำคัญในระดับจังหวัด ต่อมาถูกลดฐานะเป็นอำเภอ เช่น เมืองไชยา" และ "เขตซึ่งเป็นที่ชุมชนและเป็นที่ตั้งศาลกลางจังหวัด ซึ้งในครั้งก่อนถ้าเป็นเมืองใหญ่ หมายถึงเขตภายในกำแพงเมือง" น่าสนใจว่าความหมายของ "เมือง" ยังจำกัดอยู่แค่เรื่องของพื้นที่ที่ผูกโยงกับเขตแดนเสียเป็นส่วนมาก ซึ่งดูจะแตกต่างไปจากความหมายในความรับรู้ของคนในปัจจุบันที่เมืองดูจะไม่ได้จำกัดอยู่แค่เรื่องของ "พื้นที่" แต่เพียงอย่างเดียว หากแต่เมืองได้ถูกขยายขอบข่ายของความหมายออกไปให้ไกลกว่าเรื่องเชิงกายภาพ (มีงานศึกษาหลายชิ้นที่เกี่ยวกับเมืองที่มากกว่าเรื่องของเขตแดนทางกายภาพ เพื่อไม่ให้ส่สนนำยาวไปมากกว่านี้แนะนำให้ผู้สนใจลองค้นเพิ่มเติม) ความน่าสนใจประการหนึ่งของการนับรวมความเป็นเมืองแบบเก่า มักจะถูกผูกโยงอยู่กับเรื่องของการสร้างสิ่งที้เป็นภาวรวัตถุเพื่อเป็นการแสดงให้เห็นถึงความเจริญมั่นคงของเมืองเหล่านั้น กระทั่งกลายเป็นเหมือนเงื่อนไขกำกับให้เมืองจำเป็นต้องมีสิ่งก่อสร้างมากมายเพื่อแสดงให้เห็นถึง "ความเป็นเมือง" แดนที่กอปรด้วยสิ่งปลูกสร้างมากมายเต็มไปหมด
    หนังสือ : ตำนานงานโยธา (2325-2556)
    โดย : สำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร
    จำนวน : 360 หน้า

    "ตำนานงานโยธา (2325-2556)" หนังสือที่ถูกจัดทำขึ้นในวาระครบ 125 ปี ของงานโยธา นับตั้งแต่การกำเนิดขึ้นของกระทรวงโยธาธิการกระทั่งในวาระครบ 125 ปีของการเกิดขึ้นของงานโยธาสยามจนถึงกรมโยธาธิการและผังเมืองในช่วงปี 2556 ที่หนังสือเล่มนี้ถูกสร้างขึ้น

    เนื้อหาของหนังสือ "ตำนานงานโยธา (2325-2556)" มุ่งเน้นไปที่เรื่องของการบอกเล่าและสร้างความรับรู้ให้กับผู้อ่านในเรื่องของพัฒนาการของสิ่งที่หนังสือเล่มนี้นิยามมันว่า "งานโยธา" ซึ่งนับเป็นเรื่องราวของงานก่อสร้างถาวรวัตถุของเมืองหรือของชุมชนหนึ่ง ๆ ไม่ว่าจะเป็นอาคารบ้านเรือน วัด วัง ถนนหนทาง หรือกระทั่งพื้นที่สาธารณะในยุคแรกตั้งแต่ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง

    โดยที่เนื้อหาของ "ตำนานงานโยธา (2325-2556)" แบ่งออกเป็น 5 บทใหญ่ ที่ภายในประกอบไปด้วยเรื่องเล่าน่าสนใจอีกหลากหลายเรื่อง ที่จะช่วยให้เราเข้าใจบริบทของพื้นที่และพาเราย้อนกลับไปดูพัฒนาการของพื้นที่ ของย่านต่าง ๆ กระทั่งเป็นการพาเราย้อนกลับไปทำความเข้าใจในเรื่องของเมืองและพัฒนาการของเมืองที่ถูกสร้างขึ้นมาผ่านงานโยธา สำหรับเนื้อหาของ "ตำนานงานโยธา (2325-2556)" แบ่งออกเป็นบทต่าง ๆ ดังนี้

    บทที่ 1 กำเนิดงานช่างเมืองหลวง รังสรรค์ราชธานีบุรีรมย์
    - สร้างบ้านแปงเมือง: รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
    - ป้อม 14 แห่ง ที่สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบามสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
    - พระบรมมหาราชวัง
    - รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
    - เบื้องหลังความงดงามของกรุงเทพฯ ในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์

    บทที่ 2 งานช่างสรรค์สร้าง พระนครศิวิไลซ์
    - รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
    - สาระสำคัญของสนธิสัญญาเบาริง
    - ถนนเจริญกรุง
    - ถนนบำรุงเมือง
    - ถนนเฟื่องนคร
    - รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
    - ย่านการค้าสำคัญสมัยรัชกาลที่ 5
    - วังบางขุนพรหม
    - วังบูรพาภิรมย์
    - วังปารุสกวัน

    บทที่ 3 อภิวัฒนสมัย แห่งงานช่าง
    - โครงข่ายถนนในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ถึงรัชสมัยพระบามสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
    - โครงการตัดถนนในท้องที่อำเภอสำเพ็ง
    - ถนนจักรวรรดิ
    - ถนนราชวงศ์
    - ถนนเยาวราช
    - ถนนข้าวสาร
    - ถนนบูรพา
    - การปรับปรุงท้องสนามหลวง
    - กำเนิดกระทรวงโยธาธิการ

    บทที่ 4 จากฟ้าสู่ประชา พัฒนางานโยธาก้าวไกล
    - พระราชวังพญาไท
    - วนะสาธารณ์ (สวนลุมพินี)
    - สะพานชุดเจริญ
    - นายมาริโอ ตามานโญ่
    - หน้าที่ของกรมนคราทร
    - รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
    - สะพานพระพุทธยอดฟ้าและพระปฐมบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช

    บทที่ 5 สำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร

    เมื่ออ่าน "ตำนานงานโยธา (2325-2556)" เราจะพบว่าพัฒนาการของเมือง และพื้นที่ต่าง ๆ ภายในเมืองอย่างกรุงเทพฯ มีประวัติและความเป็นมาที่น่าสนใจ เช่นเดียวกันหากพื้นที่ต่าง ๆ ในจังหวัดอื่น ๆ ทั่วประเทศ มีงานศึกษาในลักษณะนี้บางก็จะช่วยให้คนในพื้นที่จังหวัดเหล่านั้นได้เรียนรู้และทำความเข้าใจบริบทและความเป็นมาของเมืองของตัวเองมากขึ้น และไม่แน่ว่าการทำความเข้าใจในบริบทของเมืองของตัวเองในท้ายที่สุดแล้วมันอาจจะช่วยให้เราสามารถออกแบบเมืองที่เหมาะสมกับการใช้ชีวิตของคนในเมืองก็เป็นไปได้

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in