วันเสาร์ที่ 6 สิงหาคม นอกจากเป็นวันของสุดยอดกวีใบมีดโกนแห่งสยามประเทศคนปัจจุบันอย่าง "หกสิงหา" และยังเป็นวันที่เปิดการแข่งขันโอลิมปิก 2016 อย่างเป็นทางการอีกด้วย (ความจริงมันต้องวันที่ 5 สิงหาคมตามเวลาบราซิล) แต่แล้วทั้ง "หกสิงหา" และ "โอลิมปิก 2016" ก็ต้องโดนกลบไปเมื่อ Niantic ค่ายผู้พัฒนาเกม Pokemon Go ประกาศเปิดให้เล่นอย่างเป็นทางการในประเทศไทยแล้ว
พอเปิดแล้วจะรออะไรล่ะครับ เหล่าเทรนเนอร์ชาวไทย (ทั้งแฟนโปเกมอนอยู่แล้วหรือตามกระแส) ก็ต่างก้าวออกจากบ้านสู่โลกกว้างพร้อมโทรศัพท์มือถือคู่ใจกันให้พรึ่บ
แน่นอนผมก็ก้าวเดินออกจากบ้านสู่โลกกว้างเช่นกันครับ แต่อาจจะช้ากว่าชาวบ้านชาวช่องเค้านิดหน่อย คนอื่นได้เริ่มเล่นกันตั้งแต่เก้าโมงเช้า ผมได้เริ่มเล่นตอนสามทุ่ม (นิดหน่อยมาก แค่ 12 ชั่วโมงเอง) เพราะโทรศัพท์ของผมเล่นได้ไม่ดีนัก เลยต้องยืมมือถือของพ่อมาเล่นนั้นเอง ทำให้นิติภูมิต้องออกหากิน เอ้ย หาโปเกมอนยามดึกในวันแรก
ท่านผู้อ่าน : ไอซัซ เมื่อไหร่มึงจะเริ่ม บ่นซากอ้อยอยู่ได้น่ารำคาญ
นิติภูมิ : โอเคเริ่มเลย
Pokemon Go 1st time โปเกมอน โก ครั้งแรก
หลังจากที่สร้างตัวละครเสร็จก็ทำการเดินตามหาโปเกมอนในละแวกบ้าน ซึ่งก็ได้พบว่าละแวกบ้านของผม (ที่อยู่แถบๆชานเมืองกรุงเทพที่ยังมีรถไฟฟ้าเข้าถึงอยู่) ไม่ค่อยจะเจอโปเกมอนซักเท่าไหร่
นี่คือตัวละครของผม ใครอยู่ทีม Instinct บ้างเอ่ย
บรรยากาศหนังเจมส์วานบวกหว่องกาไวมากๆ
ด้วยบรรยากาศแห่งความเจมส์วานและความหว่องทำให้ผมตัดสินใจว่าจะยืมโทรศัพท์ของพ่ออีกครั้งในวันรุ่งขึ้นเพื่อไปจับโปเกมอนโดยวิถีของเทรนเนอร์ระดับเทพก็คือการจับโปเกมอนบนรถไฟบีทีเอสนั่นเอง
วิธีที่ผมทำในวันนี้คือ ขึ้นรถ BTS เพียงอย่างเดียว วิธีการก็ง่ายๆเลยเพียงแค่คุณซื้อตั๋วที่ถูกที่สุด (10 บาท) แล้วนั่งวนไปทุกสถานีแค่นั้นเอง อาจจะเป็นวิธีดูเหมือนจะไม่สนุก แต่พอได้ลองเข้าจริงมันก็เป็นการเล่น Pokemon Go ที่สนุกอยู่พอควร เพราะถึงแม้ว่าเราจะใช้การโดยสารรถไฟฟ้าบีทีเอสในการเดินทางแทนการเดิน แต่ในระบบฟักไข่โปเกมอนในเกมก็จะไม่นับว่าเราเดิน เพราะความเร็วในการเดินนั้นสูงเกินกว่าที่กำหนดไว้ ดังนั้นจึงไม่โกงเท่ากับที่เราไปมุดเซิร์ฟเวอร์ของต่างประเทศแล้วนอนจับโปกมอนอยู่แต่ในบ้านแต่อย่างใด
จากการที่ได้ลองเล่น Pokemon Go ด้วยวิธีการโหนบีทีเอสในการเล่นครั้งแรกๆ ก็ข้อดีข้อเสียดังนี้ (เอาแค่สายบีทีเอสก่อนนะครับ)
1.เก็บไอเทมได้มากกว่าการเดินในเวลาเท่ากัน
แน่นอนอยู่แล้วว่านั่งรถย่อมถึงที่หมายเร็วกว่าเดินอยู่แล้ว เส้นทางของรถบีทีเอสมีป้ายประจำทางโปเกมอน (มีการมาตั้งชื่อเองด้วยนะ) หรือ Pokestop มากมาย
ซึ่งเจ้า Pokestop เนี่ยจะอยู่ตามสถานที่ต่างๆไม่ว่าจะเป็นน้ำพุ ป้าย หุ่นต่างๆ แต่ที่ฮิตและเข้ากับประเทศไทยที่สุดเห็นว่าจะเป็นศาลพระภูมิต่างๆ ที่มีจำนวนมากกว่าเซเว่นอีเลฟเว่นในเมืองไทยเสียอีก
ด้วยเหตุนี้ทำให้นิติภูมิโกยได้ไอเทมและโปเกบอลต่างๆมาเป็นกำเลยจ้า (หมุนไป 100 กว่า Pokestop)
2.แต่เก็บไอเทมได้ไม่ทั่วถึงเท่าการเดิน
การเดินอาจจะใช้เวลาในการเก็บไอเทมจาก Pokestop มากกว่าการเก็บ Pokestop บนรถไฟฟ้าบีทีเอส แต่การเดินนั้นจะทำให้เราเข้าถึง Pokestop ที่อยู่ภายในสถานที่ต่างๆได้มากกว่า ทำให้การเดินเสียเปรียบน้อยกว่าสายบีทีเอสเพียงเล็กน้อย
การได้ลองเดินในสถานีสยามที่แสนกว้างก็พบโปเกมอนหลากหลาย เรียกว่าเป็นดงโปเกมอนและ Pokestop เลยทีเดียว
3.สายบีทีเอสเล่นได้ไม่เกินสองชั่วโมง
การนั่งอยู่ในระบบรถไฟฟ้าบีทีเอสเกินสองชั่วโมงจะทำให้เราโดนค่าปรับได้ ผมโดนมาแล้วครับ ฮ่าๆๆๆๆๆ #เตือนภัยสังคม
4.การเดินทำได้ไม่จำกัดเวลา
แบบว่าอยากเดินก็เดินไปสิ ได้ออกกำลังกายอีกด้วย (วันนี้ผมเดินไปประมาณ 5 กิโล) แต่ต้องระวังตัวให้ดีตลอดเวลาต่อสิ่งรอบตัว ไม่ว่าจะเป็นถังขยะ ท่อระบายน้ำ ขี้หมา (วันนี้ตอนเดินกลับบ้านเกือบเหยียบ) รวมทั้งรถยนต์และรถมอเตอไซค์ ฯลฯ
5.ไม่ค่อยได้มีปฏิสัมพันธ์กับใครเลย
เพราะมัวแต่หมุน Pokestop จนไม่มีเวลาได้พูดคุยกับผู้เล่นคนอื่นๆ อาจทำให้เราพลาดโอกาสดีๆในการหาเพื่อนใหม่ ผู้คนใหม่ๆเข้ามาในชีวิตเราก็ได้
ห้าข้อนี้เป็นข้อดีข้อเสียของ Pokemon Go สายบีทีเอส เป็นเพียงความคิดเห็นส่วนตัวของผม ใครที่ได้ลองเล่นสายบีทีเอสเหมือนกันกับผมหรือไม่ได้เล่นก็มาแสดงความคิดเห็นกันได้นะครับ
สัปดาห์หน้าผมอาจจะลองไปเล่นสายปาร์ตี้ดูบ้าง อาจจะได้อะไรกับมาก็ได้นะ #เล่นโปเกมอนโกอย่างไรให้ได้แฟน ส่วนคราวนี้ผมขอลาไปจับโปเกมอนในบ้านก่อน ขอให้ทุกคนโชคดีและปลอดภัยในการจับโปเกมอนครับ
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in