I.
-
ลองนึกภาพคน 22 คน ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน ต่างสาขา ต่างอาชีพ ต่างเพศ ต่างอายุ
ถูกทำให้มาอยู่รวมกันในที่แห่งหนึ่ง ใต้สภาพแวดล้อมเดียวกัน ใต้กติกาเดียวกัน
เป็นเวลาทั้งหมด 14 วันเต็มๆ เพื่อตามหา 1 คนที่เป็นสุดยอด 'ผู้นำ' แห่งสังคม
ถ้านี่เป็นพลอตนวนิยายการเมืองสักเรื่อง คงไม่แปลก
แต่ที่มันแปลกและกำลังเกิดขึ้นในงานเขียนรีวิวชิ้นนี้
คือมันเกิดขึ้นในรายการเกมโชว์สัญชาติเกาหลีใต้รายการหนึ่ง
Society Game - คือชื่อของเกมโชว์เกมนี้
-
Society Game เป็นเกมโชว์ที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อฉลองครบรอบ 10 ปีของช่องเคเบิ้ลทีวี
(ที่ตอนนี้กำลังมาแรงแซงกระแสช่องหลักของสถานีโทรทัศน์เกาหลี) ที่ชื่อว่า tvN
แต่เดิม tvN เป็นเพียงช่องเคเบิ้ลเล็กๆ ที่แน่นอนว่ามีกลุ่มคนดูค่อนข้างจำกัด
แต่ 4-5 ปีให้หลังมานี้ ช่องเคเบิ้ลเล็กๆ นี้เป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น
กระแสซีรีส์ (ที่ตอนนี้ทำเรตติ้งแซงซีรีส์ในช่วงเวลาเดียวกันของช่องหลัก
ไปหลายต่อหลายเรื่อง รวมถึงสร้างกระแสให้พูดถึงในวงกว้างและวงวิจารณ์มากขึ้นเรื่อยๆ)
รายการเพลง รายการเกมโชว์ต่างๆ ได้รับความนิยมจากผู้ชมในวงที่กว้างมากขึ้น
และทำท่าว่าจะสามารถสร้างฐานคนดูได้มากขึ้นเรื่อยๆ อีกด้วย
ในปี 2013 tvN และโปรดิวเซอร์ จองจงยอน ได้สร้างปรากฏการณ์ The Genius
เกมโชว์ที่จับเอาคนที่มีชื่อเสียงเรื่องความ 'เก่ง' ในด้านต่างๆ
มาเล่นเกมที่ต้องใช้ทักษะหลายๆ ด้าน ทั้งความฉลาดและไหวพริบส่วนตัว
ความสามารถในการจูงใจเข้าสังคม การหักหลังอย่างมีศักดิ์ศรีการเอาตัวรอดในสถานการณ์คับขัน
ความแข็งแกร่งทางจิตใจ และการตัดสินที่เฉียบไว ถูกต้อง เด็ดขาด
เพื่อหาผู้ชนะในตำแหน่ง The Genius ที่นอกจากจะได้รับเงินรางวัลไปนอนกอดแล้ว
ยังถือเป็นจุดเริ่มต้น เป็นจุดสนใจในการถูกดึงไปร่วมงานในสายงาน (บันเทิง) อื่นๆ อีกด้วย
(ถ้ามีเวลาจะมารีวีว The Genius ต่อ ซึ่งมี 4 ซีซั่น จบในซีซั่น สนุกกันคนละแบบในซีซั่น)
ถือเป็นจุดเริ่มต้นของเกมโชว์สายใช้สมอง ที่นอกจากจะได้ดูความสามารถในการแก้ปัญหา
ของผู้เข้าแข่งขันแล้ว คนดูเองก็ยังสนุกที่ได้ร่วมแก้ปัญหา และคอยลุ้นว่าในแต่ละปัญหานั้น
ผู้เข้าแข่งขันจะมีวิธีการเหนือความคาดหมายอย่างไรในการเอาชนะปัญหานั้นๆ
แม้ Society Game จะไม่เหมือนกับ The Genius แต่เนื่องจากมาจากโปรดิวเซอร์หลัก
คนเดียวกัน กลิ่นอาย ความคาดหวัง และบรรยากาศคล้ายๆ กัน
ย่อมก่อให้เกิดความคาดหวังในตัวรายการจากกลุ่มคนดูไม่น้อย
ความคาดหวังนี้น่าสนใจตรงที่มันสามารถแปรเปลี่ยนเป็นความกดดัน
และความท้าทายที่จะก้าวผ่านให้ได้ของบรรดาทีมงานเบื้องหลังทุกคน
ส่วนตัว ก็คาดหวังเอาไว้เช่นกัน ค่อนข้างคาดหวังสูงเสียด้วย
เพราะเป็นแฟน The Genius เรียกได้ว่าตามดูทุกตอน
ทั้งแบบมีซับ ไม่มีซับ ดูซ้ำซีซั่นละไม่ต่ำกว่า 2 รอบ
พอรู้ว่าพีดีคนนี้จะกลับมาทำเกมโชว์อีก คราวนี้ล่ะตาลุกวาว
นับวันรอคอยตั้งแต่มีข่าวออกมาเลยทีเดียว
II.
ส่วนนี้จะเล่าถึงกติกาหลักของ Society Game ว่าไอ้เกมโชว์ที่อวยมาตั้งแต่ต้นเนี่ย
มันเล่นกันยังไง มีวิธีการอย่างไร วางเงื่อนไขอย่างไร สำหรับผู้เข้าแข่งขัน
-
เริ่มจากผู้เข้าแข่งขันทั้งหมด 22 คนที่มาจากหลายสาขาอาชีพ
เอาเป็นว่าไม่ต้องสนใจมากก็ได้ แต่จะลองอ่านดูเพื่อให้รู้ว่า
มันหลากหลายจริงๆ ก็อ่านได้ แต่ถ้าไม่อ่านจะข้ามไปจุดต่อไปก็ไม่เป็นไร
1) แชจีวอน (นักเรียน, 21, นักเรียนโครงการ POSTECH สาขาอุตสาหกรรมและวิศวกรรมการจัดการระบบ)
2) ชเวซอลฮวา (คุณครูสอนบัลเลต์และเทรนเนอร์, 24, จบการศึกษา เอกการเต้น ม.คยองฮี)
3) ฮงซาฮยอก (คุณหมอและแรปเปอร์, 30, นักศึกษาแพทย์ปริญญาเอก ม.โซล)
4) ฮวังอินซอน (นักร้อง ผู้เข้าประกวดรายการ Produce101, 30, จบการศึกษา ป.ตรีและโท เอกการเต้น ม.ซองกยูนกวาน)
5) ฮยอนคยองรยอล (ผู้อำนวยการธุรกิจสตาร์ทอัพ, 32, ป.เอกวิทย์คอม ม.โซล)
6) จางฮันบยอล (นักร้อง, 27, เคยศึกษาคณะทันตแพทย์ศาสตร์ ม.ควีนส์แลนด์ แต่ออกกลางคัน)
7) จองอินจิก (นักเรียน, 26, เอกพละศึกษา ม.โซล)
8) คิมฮีจุน (อาจารย์สอนภาษาอังกฤษ, 30, ป.ตรี เอกการจัดการกีฬา ม.อิลลินอยส์ ป.โท การจัดการกีฬา ม.โซล)
9) ควอนอาซล (นักกีฬาการต่อสู้แบบผสมผสาน, 31, ม.Ritsumeikan Asia Pacific ออกกลางคัน)
10) อีบยองกวาน (สตีฟลี, นักธุรกิจ, 29, ป.ตรี ม.แคลิฟอร์เนีย ป.โท ม.ยอนเซ)
11) อีแฮซอง (นักเรียน, 25, นักศึกษา เอกการจัดการ ม.โซล)
12) อิมดงฮวาน (นักพัฒนาโทรศัพท์, 30, จบการศึกษา เอกวิศวกรรมเครื่องกล ม.ยอนเซ)
13) MJ คิม (นักกีฬาต่อสู้แบบผสมผสาน, 26)
14) โอลิเวอร์ จาง (นายแบบ, 26, จบการศึกษา เอกสาธารณสุขศาสตร์ ม.จอห์น ฮอปกินส์)
15) พัคฮาเอล (นักเรียน, 24, นักศึกษา เอกกิจการระหว่างประเทศ ม.โคเรีย)
16) พัคซอฮยอน (นักเรียน, 22, เอกประพันธ์ดนตรี ม.ยอนเซ)
17) ฟาโรห์ (แรปเปอร์, 32, จบการศึกษา เอกการจัดการกีฬา ม.คยองกี)
18) ชินแจฮยอก (นายแบบ, 23, พักการเรียนจาก ม.ศิลปะและวัฒนธรมโซล)
19) ยางจีอัน (นักวางแผนปาร์ตี้, 29, จบการศึกษา เอกเสื้อผ้าและสิ่งทอ / วารสารศาตร์ ม.ยอนเซ)
20) ยางซางกุก (นักแสดงตลก, 34)
21) ยุนมาโช (บ.ก.นิตยสารแมกซิม, 30, จบการศึกษา เอกธุรกิจแฟชั่น ม.โซล)
22) ยุนแทจิน (ผู้ประกาศข่าว, 30, จบการศึกษา เอกการเต้น ม.หญิงอีฮวา)
-
หลักๆ จาก Society Game คือเกมนี้เป็นเกมที่ถูกสร้างขึ้นบนเงื่อนไขที่ค่อนข้างตายตัว
เพราะเกิดขึ้นในสังคมปิด ทีมโปรดักชั่นของรายการสร้างสถานที่ขึ้นมาใหม่ เรียกว่า
หมู่บ้านวอนฮยอง ให้ผู้เข้าแข่งขัน 22 คน ใช้เวลาแข่งขันและอยู่ร่วมกันเป็นเวลา 14 วัน
การลักทรัพย์และการใช้ความรุนแรงไม่ว่าจะโดยรูปแบบใด ถูกงดเว้นในรายการนี้
ภายใต้หมู่บ้านวอนฮยอง -ซึ่งเป็นเซ็ทนอกสถานที่ที่สร้างขึ้นมาใหม่
ถูกแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ
1) จุงลิบดง - ส่วนกลางที่จะทั้งสองหมู่บ้านจะถูกเรียกให้มารวมกันเพื่อเล่นเกม
2) ชุมชนนบดง
3) ชุมชนมาดง
แต่ละหมู่บ้าน -นบดงและมาดง มีผู้เข้าแข่งขันหมู่บ้านละ 11 คน
เมื่อเลือกแล้ว ในตอนแรก ก็จะเป็นอย่างนั้นตลอดไป ไม่สามารถเปลี่ยนได้อีก
แต่ละหมู่บ้าน จะมีห้องเก็บของ ห้องน้ำ ห้องครัว และห้องนอนของหัวหน้า
ซึ่งห้องนอนของหัวหน้านี้จะเป็นห้องนอนเดี่ยวและเป็นห้องเดียวที่มีแอร์คอนดิชั่น
(นอกนั้นเป็นห้องโล่งๆ กึ่งเอาท์ดอร์ มีหลังคาแต่ไม่มีผนังกั้น ต้องนอนกางมุ้ง)
แต่สิ่งที่แตกต่างกันในแต่ละหมู่บ้าน (ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของหมู่บ้านซึ่งจะอธิบายต่อไป)
คือ มาดง - มีห้องกบฎ และ นบดง - มีห้องโหวต
แต่ละวันในหมู่บ้านวอนฮยองจะมีการเล่นเกมระหว่างสองชุมชน
ชุมชนที่ชนะ จะได้เงินรางวัล 10 ล้านวอน และเป็นสิทธิของหัวหน้าชุมชน
ในการแบ่งเงินจำนวนนี้ให้กับสมาชิกชุมชน อย่างไรก็ได้
แถมยังมีสิทธิในการขึ้นสมาชิก 'แบล็กลิสท์' โดยเขียนชื่อใครก็ได้
โดยสมาชิกคนใดที่ถูกขึ้นแบล็กลิสท์สองครั้ง จะถูกคัดออกจากเกมทันที
ชุมชนที่แพ้ จะต้องคัดสมาชิกภายในชุมชนออก 1 คนโดยเป็นสิทธิของหัวหน้าชุมชน
สิ้นสัปดาห์ที่ 2 แต่ละชุมชนจะเหลือสมาชิกอยู่ชุมชนละ 3 คน
เพื่อเข้าสู่เกมสุดท้าย เพื่อตัดสินหาผู้ชนะของรายการ
โดยมีเงื่อนไขว่า ถ้ามีสมาชิกเหลือ 3 คนก่อนวันสุดท้ายในแต่ละชุมชน
จะไม่มีการเล่นเกมเพื่อคัดสมาชิกออกอีก แต่ถ้าเหลือมากกว่า 3 คน
หัวหน้าชุมชนในขณะนั้นจะมีสิทธิเลือก 2 คนเพื่อให้เข้าสู่การแข่งขันครั้งสุดท้าย
สามคนสุดท้ายในทีมที่ชนะจะถือเป็นผู้ชนะใน Society Game
III.
ความแตกต่างระหว่าง 2 ชุมชน อยู่ที่ -การเลือกหัวหน้าชุมชน
ชุมชนนบดง - ถูกดีไซน์มาจากการปกครองแบบประชาธิปไตย
คือทุกคนมีสิทธิโหวตเพื่อเลือกหัวหน้า (โดยไม่สนใจจะมีการสร้าง
เครือข่ายเพื่ออำนวยอำนาจหรือประโยชน์ใหัตัวเองหรือไม่)
โดยจะทำการโหวตทุกวัน ในทุกเช้า
โดยจะมีผู้ที่เสนอชื่อเพื่อได้รับเลือกจำนวน 3 คน
ผู้ที่ได้รับคะแนนโหวตมากที่สุดจะได้รับเลือกให้เป็นหัวหน้าชุมชน
และจะได้เป็น 1 ใน 3 รายชื่อที่จะได้รับเลือกในวันถัดไปทันที
ในกรณีที่คะแนนเสมอกัน คนที่ได้รับเลือกให้เป็นหัวหน้าชุมชนครั้งก่อน
จะได้เป็นหัวหน้าชุมชนต่อทันที
ชุมชนมาดง - ถูกดีไซน์มาจากการปกคองแบบเผด็จการ
คือมีหัวหน้าเพียงคนเดียว ที่ถูกเลือกโดยวิธีการที่แสดงออกถึงความมั่นใจ
คาริสม่า และความเป็นผู้นำ
(ในที่นี้ ในตอนแรกของรายการ เพื่อเลือกหัวหน้า
รายการใช้วิธีการปั่นตัวหนอนเป็นๆ ผสมกับแมลง (ที่น่าจะกินได้)
ใส่แก้วโตๆ คนที่สามารถดื่มหมดเป็นคนแรก คนนั้นจะได้เป็นหัวหน้า)
หัวหน้าชุมชนจะได้รับ 'กุญแจแห่งกบฏ' มอบให้กับสมาชิก 2 คน
โดยผู้ครอบครองกุญแจนั้นมีสิทธิไข 'ห้องกบฏ' เพื่อตีฆ้องก่อกบฎ
มีเวลา 30 นาที ให้สมาชิกเสียงข้างมากที่เหลือ (5 คน รวมเป็น 6 คน)
ไปตีฆ้อง ถ้าทำได้ทันภายในเวลาที่กำหนด ตำแหน่งหัวหน้าก็จะเปลี่ยนไป
อยู่ในมือของผู้ที่ก่อกบฏนั่นเอง
นี่คือกฎและเงื่อนไขหลักในเกม Society Game
IV.
สิ่งที่สามารถเห็นได้อย่างชัดเจนในเกมที่สร้างขึ้นภายใต้เงื่อนไขที่ถูกควบคุม
และสังคมปิด สิ่งแวดล้อมตายตัว ถูกควบคุมด้วยกฎเกณฑ์เดียวกัน
นอกจากการใช้สมอง ไหวพริบ และความเป็นทีมเพื่อเอาชนะอีกชุมชนแล้ว
สิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งและน่าสนใจอย่างมากคือการเอาตัวรอดในชุมชนของตัวเอง
เราจึงได้มองดู ความเป็นมนุษย์ แบบเต็มๆ
ไม่ว่าจะเป็นอีโก้ของแต่ละคน -ต่างคนต่างมั่นใจในศักยภาพของตนเอง
เพราะต่างก็ได้รับการชื่นชมและเป็นที่หนึ่งในสายงานของตัวเอง
เราจะได้ดูการเอาตัวรอดในสถานการณ์ที่ยากลำบาก
การใช้ไหวพริบ การใช้ทักษะทางสังคมในการสร้างเครือข่าย
การใช้ความเป็นผู้นำในการรักษาอำนาจและเอื้อประโยชน์ให้คนอื่นๆ
หรือแม้กระทั่งการทรยศหักหลังเพื่อให้ได้มาซึ่งชัยชนะและความอยู่รอด
ความเห็นแก่ตัว ความโลภ ความหวัง ความมั่นใจ
ไหวพริบ สติปัญญา ทักษะการเข้าสังคม ความเป็นผู้นำ
สมองที่ปราดเปรื่อง ทัศนคติส่วนตัว พละกำลังที่แข็งแกร่ง
หัวใจที่แข็งแรง ความมั่นคงทางอารมณ์ ทั้งหมดจะถูกขับเคลื่อน
ภายใต้สภาพแวดล้อมที่จำกัด ภายใต้กฎเกณฑ์ ทั้งหมดจะถูกประมวล
ออกมาเป็นแอกชั่น คนที่แกร่งที่สุดเท่านั้นที่จะสามารถเป็นผู้ชนะได้
V.
รายการออกอากาศ ทุกวันอาทิตย์ 9.15 PM (เวลาเกาหลี +2 ชม.)
ทางช่อง tvN แต่สำหรับใครที่ไม่เข้าใจภาษาเกาหลี
สามารถติดตามซับไตเติ้ลได้ที่ bumdidlyumptious
และถ้ามีซับไทย จะนำมาบอกนะคะ
จะเขียนรีวิวต่อ เป็นตอนๆ (แน่นอนว่ามีสปอยล์)
ตอนแรกของเกมจะเขียนเสร็จเร็วๆ นี้ ฝากติดตามที่
twitter @mynkdontbelazy หรือที่แอคเคาท์นี้ค่ะ :)
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in