เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
JournalismFilm Esprit
แอลกอฮอล์ 101 : เหล้าเบียร์สุรา วิชาต้องห้าม
  • แอลกอฮอล์ 101 : เหล้า เบียร์ สุรา  วิชาต้องห้าม 
    กฎหมายต้องปราม จำกัดตามดุลพินิจ

    "จน เครียด กินเหล้า"   

     "ให้เหล้าเท่ากับแช่ง" 

     "งดเหล้า เข้าพรรษา"

                ตั้งแต่จำความได้ ภาพเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างเหล้า เบียร์ สุรา ในหัวของฉันก็ถูกจดจำไว้กับประโยคเหล่านี้ไปเสียแล้ว ไม่ว่าจะในกฎระเบียบของโรงเรียน กฎหมายในสังคม หรือแม้แต่ตำราวิชาศาสนาพุทธ ต่างก็กล่าวถึงบรรดาน้ำเมาทั้งหลายว่าเป็นสิ่งอันตราย ทำให้ประมาทขาดสติ แต่กลับไม่เคยมีใครให้ความรู้ความเข้าใจกับเยาวชนเกี่ยวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เลยแม้แต่น้อย ไม่แน่ใจนักว่าตั้งแต่เมื่อไหร่ที่เครื่องดื่มมึนเมากลายมาเป็นสิ่งต้องห้าม รู้ตัวอีกทีสังคมไทยก็มีกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากมายเต็มไปหมดแล้ว

    ภาพจากเพจสมาคมคราฟต์เบียร์ไทย

                “เรียนเชิญร่วมลงชื่อแก้ไขมาตรา 32 พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ได้ที่ซุ้ม #สุราปลดแอก ใกล้กับซุ้ม ilaw ท่านที่ไม่สะดวก สามารถส่งเอกสารตามรายละเอียดในภาพนะคะ เรารอได้ จนกว่ารายชื่อจะครบค่ะ #ไม่คบ32 #สุราปลดแอก #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร”


                   ข้อความที่ฉันพึ่งรีทวิตไป ขณะกำลังสไลด์หน้าจอโทรศัพท์ติดตามสถานการณ์การประท้วงบนทวิตเตอร์ในบ่ายวันหนึ่งของเดือนกันยายน ใต้ข้อความปรากฏเป็นภาพรายละเอียดคิวอาร์โค้ดการกรอกแบบฟอร์มลงชื่อ แผนที่ตั้งซุ้มภายในม็อบและรูปภาพสรุปปัญหาของกฎหมายดังกล่าว ฉันกดเข้าไปดูรูปสุดท้ายด้วยความอยากรู้ ที่มุมซ้ายบนมีตัวอักษรสีน้ำเงินเข้มเขียนเอาไว้ใหญ่โตว่า “ส่งเสริมผูกขาด” หนึ่งในปัญหาของมาตรา 32 พระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ซึ่งเอื้อให้เกิดการผูกขาดในธุรกิจเครื่องดื่มมึนเมา 

                แม้ว่ามาตราดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อทั้งผู้ประกอบการรายย่อยและนายทุนใหญ่ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า แม้จะไม่มีการโฆษณา เครื่องดื่มแอลกอฮอล์จากบริษัทนายทุนก็หาซื้อได้ทั่วไปตามร้านสะดวกซื้อและเป็นที่คุ้นเคยของผู้บริโภคอยู่ก่อนแล้ว ต่างจากผู้ประกอบการรายย่อยที่ต้องการโอกาสโปรโมทผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ของตัวเอง เพื่อให้เป็นที่รู้จักของผู้บริโภค 

                  การแก้ไขกฎหมายครั้งนี้จึงเป็นการพยายามเปิดเสรีให้กับผู้ประกอบการรายย่อยได้มีพื้นที่ในการแข่งขันมากยิ่งขึ้นเพื่อลดการผูกขาดของนายทุน แต่จะมีสักกี่คนที่รู้ว่าพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฯ  มาตรา 32 กำลังลิดรอนสิทธิในการเข้าถึงและแลกเปลี่ยนเรื่องเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของเราไปอย่างช้าๆ เช่นกัน 



                   “สองสามปีที่ผ่านมา เพื่อนๆ เรา ทั้งผู้ประกอบการรายย่อย ทั้งบล็อกเกอร์ โดนจับเรื่องมาตรา 32 เยอะมาก เรารู้สึกว่ากฎหมายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในไทยมันไม่มีอะไรเป็นเหตุเป็นผลเลย ไม่ใช่แค่พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฯ นะ แม้แต่กฎหมายภาษีสรรพสามิตเองก็ด้วย วิธีคิดเกี่ยวกับแอลกอฮอล์ในสังคมนี้ มันบ้าบอมาก ไม่เมคเซนส์แม้แต่นิดเดียว ขนาดเราเสียภาษีแพง เปิดปิดร้านตรงเวลา เรายังเรียกพวกเรากันเองว่าเป็นธุรกิจบาป ธุรกิจสีเทาเลย คำพูดนี้โดนภาครัฐจ่อหัว เรียกพวกเรามาเป็นสิบๆ ปีจนเราเอามาเรียกตัวเองแล้ว”

    ความอัดอั้นตันใจของ ประภาวี เหมทัศน์ ตัวแทนจำหน่ายคราฟต์เบียร์ไทย บริษัท Group B Beer หนึ่งในสมาชิกกลุ่มสุราปลดแอก สะท้อนออกมาผ่านน้ำเสียงตัดพ้อผสมความโกรธได้เป็นอย่างดี เมื่อพูดถึงความผิดเพี้ยนของการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสังคมไทย เธอมองว่าปัจจุบันประเทศไทยมีกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จำนวนมากที่ซ้ำซ้อนและเต็มไปด้วยความไม่ยุติธรรม ไหนจะถูกตีตราจากสังคมและภาครัฐว่าเป็นธุรกิจบาปอีก



                    หนึ่งในเหตุการณ์ที่เธอพูดถึง คือการออกหมายเรียกผู้กระทำผิด ฐานฝ่าฝืนมาตรา 32 พ.ร.บ. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฯ กว่า 400 ราย เมื่อเดือนมิถุนายน ปี 2563 ที่ผ่านมา จากเจ้าหน้าที่สำนักงานควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (สคอ.) โดยมีอัตราค่าปรับขั้นต่ำอยู่ที่ 50,000 บาทเลยทีเดียว เหตุเพียงเพราะการแสดงภาพและข้อความสื่อสารกับผู้บริโภคบนช่องทางออนไลน์ เพื่อประชาสัมพันธ์การกลับมาเปิดกิจการ หลังจากปิดล็อคดาวน์ตามมาตรการรัฐ ซึ่งไม่ได้มีเพียงผู้ประกอบการธุรกิจผลิตและจัดจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ถูกกล่าวโทษเท่านั้น แต่ผู้ที่แสดงความเห็น ให้ความรู้เกี่ยวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยการวิพากษ์วิจารณ์หรือการรีวิวก็ถูกหมายเรียกเช่นกัน 


                         ตามพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 มาตรา 32 ระบุว่า

      ห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือแสดงชื่อหรือเครื่องหมายของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อันเป็นการอวดอ้างสรรพคุณหรือชักจูงใจให้ผู้อื่นดื่มโดยตรงหรือโดยอ้อม”


                แม้ว่าการโฆษณาหรือประชาสัมพันธ์เพื่อให้ข้อมูลข่าวสารและความรู้เชิงสร้างสรรค์สังคม โดยผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกประเภทนั้นกระทำได้ แต่ก็อยู่ภายใต้เงื่อนไขที่ว่า ห้ามมีภาพสินค้าหรือบรรจุภัณฑ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ปรากฏอยู่ ซึ่งยกเว้นเพียงภาพสัญลักษณ์ของเครื่องดื่มหรือสัญลักษณ์ของบริษัทผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เท่านั้น อย่างที่เราอาจจะเคยเห็นในโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ยี่ห้อหนึ่งบนหน้าจอโทรทัศน์ที่มีภาพของนางรำแต่งองค์ทรงเครื่องด้วยชุดไทย มีเรื่องราวผสมผสานวัฒนธรรมไทย และปิดท้ายด้วยยี่ห้อเครื่องดื่มโดยไม่ปรากฏภาพสินค้า ทั้งนี้มาตราดังกล่าว ไม่บังคับใช้กับโฆษณาที่มีต้นกำเนิดนอกราชอาณาจักร


                                                                      ----------------------

    นอกจากการผูกขาดแล้ว อีกประเด็นที่ผู้คนไม่ค่อยพูดถึง คือ

      กฎหมายนี้ได้ลิดรอนสิทธิในการเข้าถึงองค์ความรู้และสิทธิในการแสดงความคิดเห็นแลกเปลี่ยน ต่อยอดพัฒนา เกี่ยวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของประชาชนไปอย่างไม่รู้ตัว 

                                                                       ---------------------

              แม้แต่การให้ข้อมูลข่าวสารหรือความรู้เชิงสร้างสรรค์สังคมก็ยังต้องเผยแพร่โดยปราศจากรูปภาพ การแสดงความเห็นวิพากษ์วิจารณ์หรือรีวิวสินค้าก็ไม่สามารถทำได้ นี่เรากำลังถูกจำกัดเสรีภาพเกินไปหรือเปล่า? 


             “คือการให้ข้อมูลข่าวสาร มันถูกตีความให้เข้าข้างเจ้าหน้าที่ ก็มีพวกร้านอาหาร บริษัทนำเข้าไวน์ ที่โดนบ่อยๆจะเป็นบล็อกเกอร์สายคราฟต์เบียร์ สายรีวิวแอลกอฮอล์ อย่างบล็อกเกอร์เพื่อนเราเนี่ยไม่ได้เงินนะ กินแล้วก็รีวิวจริงๆ เพราะเขาเสียเงินตัวเองซื้อมากิน แต่เจ้าหน้าที่ก็กล่าวหาว่ารับเงินมาโฆษณา ซึ่งเจ้าหน้าที่ก็ต้องพิสูจน์ว่าเราผิดจริงตามที่กล่าวหาไหม แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือเขาไม่ได้สนใจเลย หาหลักฐานมาโชว์แล้ว ก็ยังผลักภาระให้เรา เลือกเอาว่าจะจ่ายให้จบหรือขึ้นศาลแล้วไปสู้ต่อ คือมันขึ้นอยู่กับดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ว่าผิดไม่ผิด สมมติรีวิวเบียร์ พูดว่าสมคำร่ำลือ มันก็ถูกตีความว่าเป็นการชักจูงให้ดื่มได้แล้ว มันใช้กฎหมายกว้างมาก ตีความแบบใช้ดุลพินิจที่ไม่มีมาตรฐานเลย ถามว่ามันใช่หน้าที่ประชาชนไหมที่จะต้องมานั่งตามใจดุลพินิจคุณว่าจะใช้แบบไหน มันไม่ใช่ไง กฎหมายต้องชัดเจน”


    ประภาวีระบายออกมาด้วยความไม่พอใจถึงความทุกข์ที่เหล่าผู้ประกอบธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต้องเจอจากกฎหมายที่ควบคุมประชาชนเกินความจำเป็น


                  เธอเสริมว่า องค์ความรู้เกี่ยวกับเรื่องเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ยังไม่แพร่หลายในไทยสักเท่าไหร่ โดยเฉพาะในวงการคราฟต์เบียร์ไทย ที่ต้องอาศัยบล็อกเกอร์ผู้ที่สนใจหาเบียร์ตัวใหม่มาเล่าสู่กันฟัง แต่ก็ยังโดนหมายเรียก เพราะถูกตีความว่า การนำข้อมูลมาแลกเปลี่ยนกันในชุมชนออนไลน์ เป็นการชักชวนให้ดื่มตามดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ได้ 


                       เท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคก้าวไกล ประธานคณะกรรมการอนุกรรมาธิการศึกษาพัฒนาธุรกิจอุตสาหกรรมสุราก็ได้แสดงความเห็นในประเด็นนี้ว่า

      “มองลึกลงไปมันเป็นการใช้กฎหมายตัดสินโดยดุลพินิจที่ผิด ใช้กฎหมายโดยที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ขัดต่อหลักกฎหมายหลายอย่างในแง่ของการปฏิบัติ ส่วนตัวเห็นแล้วก็เข้าใจได้ว่า มันเป็นการป้องกันสังคม มันยังต้องควบคุม แต่นี่ประชาชนทั่วไปยังโพสต์ไม่ได้ ถ้ารายย่อยเกิดขึ้นมา เขาก็ไม่มีโอกาสเท่ากับรายใหญ่ แล้วเขาจะสู้เติบโต อยู่อย่างมั่นคงได้ยังไง ตรรกะมันไม่มี กฎหมายมันเลยออกมาไม่เข้าท่า”  


                     คำว่า “ห้ามมิให้ผู้ใด” หมายความว่า ไม่ได้มีเพียงผู้ผลิตและผู้ประกอบการธุรกิจเกี่ยวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เท่านั้นที่ไม่สามารถโพสต์รูปผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของตนในสื่อสังคมออนไลน์ได้ แต่ประชาชนก็ไม่สามารถทำได้เช่นกัน ที่ผ่านมาผู้ประกอบการรายย่อยหลายรายต้องโดนปิดกั้นช่องทางทำมาหากินจากกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมและเหนือสิ่งอื่นใด คือพลเมืองอย่างเราก็ถูกจำกัดสิทธิในการแสดงความคิดเห็น รวมทั้งการรับรู้ข้อมูลของสินค้าตามสิทธิที่ผู้บริโภคควรทราบไปด้วย 


    “ถ้าคุณจะคุมโฆษณาก็ไปคุมโฆษณาสิ  แต่นี่คุณละเมิดก้าวข้ามมาในสิทธิพื้นฐานของประชาชน "


                       "เรื่องมาตรา 32 มันเกี่ยวกับการโฆษณา แต่คุณเขียนให้มันครอบคลุมไปถึงประชาชนทั่วไป ซึ่งมันขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 77 กฎหมายต้องไม่ขัดกับการดำรงชีวิตของประชาชน ไม่ขัดขวางการประกอบอาชีพ ไม่เป็นภาระของประชาชน ตอนนี้คือกลายเป็นประเทศนี้ห้ามพูดถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยทั่วไป ประชาชนแสดงความเห็นไม่ได้ว่าเบียร์นี้ดีไม่ดียังไง เราไม่สามารถพูดถึงสิ่งที่เราชื่นชอบได้ แล้วเป็นโทษอาญา มีโทษจำคุก ต้องไปขึ้นศาล เป็นภาระประชาชนอีก”

    ผศ.ดร.เจริญ เจริญชัย   แอดมินเพจสุราไทย ผู้เขียนร่างแก้ไข พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฯ ฉบับที่เสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงผลกระทบของกฎหมายต่อสิทธิพื้นฐานของประชาชน 


    ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 77 วรรคแรก ระบุว่า 

    ชัดเจนว่า กฎหมายมาตรา 32 ของ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฯ ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรานี้อย่างจัง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการบังคับใช้กฎหมายซ้ำซ้อนโดยไม่จำเป็น หรือการเป็นอุปสรรคส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตและประกอบอาชีพของประชาชน มีประเด็นขัดแย้งมากมาย แต่กลับผ่านออกมาบังคับใช้กับพลเมืองได้

             เมื่อย้อนกลับไปดูที่มาก็พบว่า ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวเกิดขึ้นตั้งแต่สมัยรัฐบาลไทยรักไทย ก่อนจะหยุดชะงักลง เพราะเกิดการรัฐประหาร ซึ่งนำไปสู่การจัดตั้งรัฐบาลชั่วคราว โดยมีพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี ทำให้มาบังคับใช้สำเร็จในรัฐบาลนี้ เป็นกฎหมายตัวสุดท้าย ก่อนจะเปลี่ยนเก้าอี้นายกรัฐมนตรี ซึ่งรัฐธรรมนูญที่ใช้ขณะนั้น คือ รัฐธรรมนูญฉบับ 2550 ยังไม่ปรากฏมาตรา 77 ที่ได้กล่าวไป 


         “เราไปนั่งอ่านรายงานการประชุมก่อนออกกฎหมายนี้ แล้วปรากฏว่ามันเป็นยุคที่ไม่มีฝ่ายค้าน อะ หนึ่งเลยคือที่มามันไม่มีความเป็นประชาธิปไตย สองคือ โครงสร้างของคณะนโยบาย ไม่มีส่วนร่วมของผู้ประกอบการ คนทำงานจริง หรือคนที่แก้ปัญหาตรงจุดเลย และสาม คือ อำนาจในการออกกฎหมายใหม่ของคณะนโยบายง่ายมาก อยากเสนอกฎหมายใหม่ก็เสนอ เพราะฉะนั้น มันเลยมีกฎหมายประเภท วันเวลาห้ามจำหน่ายแอลกอฮอล์ ห้ามออนไลน์ ห้ามขายวันนู้นวันนี้ โผล่มาเรื่อยๆ โผล่มาทุกปี เหมือนเป็นKPI พอออกมาเป็นกฎหมายแล้ว เราก็แย้งไม่ได้”


    “ไปรื้อดูกฎหมายถึงได้รู้ว่าพระราชบัญญัติตัวนี้มันมีปัญหาตั้งแต่ที่มาแล้ว จริงๆ มีกฎหมายจำกัดพอแล้ว มันไม่จำเป็นต้องมีอยู่เลยด้วยซ้ำ ไม่มีข้อไหนที่เป็นประโยชน์กับประชาชนเลย  เราเจออย่างงี้มาเป็นสิบปีแล้ว แต่เราไม่รู้ จริงๆ เขาบอกว่า การยกเลิกกฎหมายมันยากมาก แต่พี่ว่าถ้าเราเป็นประชาธิปไตยมันจะไม่ยากเลย


    ประภาวีกล่าวว่า ยังมีพลเมืองอีกมากที่ไม่รู้ถึงการมีอยู่ของ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฯ และทุกวันนี้ประเทศไทยก็มีกฎหมายจำกัดเรื่องการจำหน่ายมากพออยู่แล้ว ทั้งจำกัดอายุผู้บริโภค ห้ามจำหน่ายวันทางศาสนา ห้ามขายช่วง 14.00-17.00 น. และล่าสุดคือ ห้ามขายออนไลน์ ทั้งหมดนี้ล้วนแล้วแต่เป็นความพยายามของหน่วยงานรัฐที่ไม่ต้องการให้มีคนดื่มมากขึ้น ไม่ให้เยาวชนเข้าถึงได้ ไม่ว่าจะเครือข่ายต้านเหล้าหรือสำนักงานสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ต่างก็พยายามปลูกฝังให้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นตัวร้ายในสังคม เป็นสินค้าบาป ขัดต่อหลักศาสนา มายาคติที่ถูกปะเสริมเติมแต่งเหล่านี้ ทำให้ประชาชนไม่รู้ว่าตัวเองกำลังโดนปิดกั้นสิทธิอยู่


    ---------------------------------

    “ประเทศนี้ลืมไปแล้วว่ามันมีกฎหมายจำกัดสิทธิเสรีภาพเราขนาดนี้ ประเทศนี้ลืมไปแล้วว่า การห้ามทำมาหากินเป็นสิ่งผิดปกติ” 

    ความรู้สึกเหนื่อยใจของประภาวีถ่ายทอดออกมาอย่างชัดเจนจนสัมผัสได้

    ---------------------------------

                  “ เรื่องทัศนคติในสังคมที่เปลี่ยนยากมากคือ คนรู้สึกว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นสิ่งผิด เป็นสิ่งอันตราย น่ากลัว คนที่ทำธุรกิจตรงนี้ คือคนทำบาป ขัดศีล5 ก็เคยถามพระนะ พระท่านก็บอกว่าถ้ากินเป็นอาหาร ไม่เมามาย ก็ไม่ผิด ถ้ากินแล้วเมาอะผิด เราก็ตั้งคำถามว่า เรากินเพื่อความสุนทรีอะ กินกับเพื่อนฝูง เพื่อความสนุก ความอร่อย ผิดปะวะ เขาให้คำตอบเราไม่ได้นะ คือคนกินเหล้าเบียร์ไม่ใช่คนเหี้ยทุกคนนะ เรากินแบบมีอารยะได้ แต่ Drinking Culture มันไม่เกิดเพราะกฎหมายมันปิดกั้นหลายอย่าง คนกินเหล้าเบียร์ในไทย 8 ล้านกว่าคน คุณมีข่าวคนตีกัน 8 ล้านครั้งไหมล่ะ เอาตัวเลขมาคุยกันสิ เรื่องนี้มันปัจเจกมาก คนจะตีมันก็ตีอะ ไม่ต้องดื่มเหล้ามันก็ตี” 


                    “ประเทศไทยเป็นประเทศที่เอาศาสนาไปโยงกับทุกเรื่องอยู่แล้ว ศาสนาพุทธถูกจับกับทุกเรื่องโดยไม่มีเหตุผล เป็นเรื่องของอำนาจทางความเชื่อ เรื่องเหล้าเบียร์บุหรี่มันก็เลยโดนไปด้วย คือพี่มองว่า ประเทศเราก็ไม่ใช่รัฐศาสนา แต่พอจะออกข้อห้ามว่าห้ามขายเหล้าเบียร์วันนั้นวันนี้ เอาวันศาสนามาทำไมวะ กูเป็นคริสต์ ทำไมกูต้องกินตามมึง ห้ามขายตามมึง มันเป็นภาระมาก ห้ามขาย 14.00-17.00 น. เช่าร้านมาทั้งวันแต่มีช่องโหว่ตรงนี้ เพราะอะไร เคยตั้งคำถามไหม กฎหมายที่ใช้อยู่ คือมันไม่มีเหตุมีผลเลย แล้วคนในสังคมก็โดนกล่อมอย่างเป็นกระบวนการมาตลอด” 

    ประภาวีกล่าวด้วยน้ำเสียงโกรธเคือง เธอมองว่า เมื่อมีเรื่องศาสนาเข้ามาเกี่ยว ประชาชนก็ลืมตั้งคำถามกับความไม่สมเหตุสมผลของกฎหมายที่ไม่ได้เคารพความหลากหลายในสังคมไปและกฎหมายเพื่อควบคุมการดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศไทยที่บังคับใช้ตอนนี้ก็ไม่ได้เหมาะสมหรือมีประสิทธิภาพแต่อย่างใด เพราะคนดื่มไม่ได้ลดลงเลยแม้แต่เศษเสี้ยวเดียว


                จากรายงานผลการจัดเก็บรายได้งบประมาณประจำปีของกรมสรรพสามิต หลังจากเริ่มบังคับใช้กฎหมาย พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฯ รายงานประจำปี 2552 พบว่ารายได้จากการจัดเก็บภาษีสุราและเบียร์อยู่ที่ 37,981.70 ล้านบาท และ 48,993.35 ล้านบาท ตามลำดับ ซึ่งต่อมาก็เพิ่มขึ้นทุกปี จนกระทั่ง ปี 2563 ที่ผ่านมานี้ รายได้จากการจัดเก็บภาษีสุราและเบียร์อยู่ที่ 61,820.45 ล้านบาท และ 80,026.83 ล้านบาท ตามลำดับ ซึ่งตัวเลขดังกล่าวก็แสดงให้เห็นว่า ตั้งแต่มีการบังคับใช้กฎหมายมาสิบกว่าปี แนวโน้มของคนดื่มแอลกอฮอล์ไม่ได้ลดน้อยลง มีแต่จะบริโภคเพิ่มมากขึ้น (ยกเว้นปี 2560 ที่มีการปรับอัตราภาษี ทำให้ปีนั้นรายได้ลดลง)



                  ผศ.ดร.เจริญ เจริญชัย แสดงความเห็นว่า ปัญหาที่เกิดขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากการใช้งบประมาณ 2% ของภาษีสุราไปอุดหนุนให้กับสสส. ซึ่งนำงบที่ได้ไปอัดฉีดโฆษณากับประชาชนอีกทีหนึ่ง อย่างที่ปรากฏให้เห็นเป็นวลีที่ติดหูคนไทยมาจนถึงวันนี้ ไม่ว่าจะเป็น “จน เครียด กินเหล้า” หรือ “ให้เหล้าเท่ากับแช่ง” อย่างไรก็ตาม เขามองว่าโฆษณาที่ออกมา ไม่ได้ล้างสมองพลเมืองได้เสียทีเดียว เพราะคนก็ยังสังสรรค์ ดื่มแอลกอฮอล์เป็นเรื่องปกติ เพียงแต่มันสร้างภาพจำให้เหล้า เบียร์ สุรา ถูกตราหน้าว่าเป็นปีศาจ ภาพจำเหล่านี้สะสมบ่มเพาะฝังรากในจิตใจผู้คน จนสุรากลายเป็นแพะรับบาปของสังคมอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ 


     

                 เมื่อถามเขาว่ากฎหมาย มาตรา 32 พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฯ ของสคอ. ส่งผลกระทบต่อการศึกษาต่อยอดความรู้เพื่อพัฒนางานวิจัยเกี่ยวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือไม่ ในฐานะอาจารย์มหาวิทยาลัย ประจำสาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร ผศ.ดร.เจริญกล่าวว่า 

                     " ผมมองว่าเป็นทางอ้อม คือกฎหมายนี้มันเกิดหลังโฆษณาสสส. ซึ่งค่านิยมที่มองว่าเหล้าเบียร์มันไม่ดีก็มาพร้อมกับสสส.นี่แหละ ซึ่งทำให้มหาวิทยาลัยต่างๆ เลิกให้การสนับสนุนงานวิจัยเกี่ยวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แม้แต่หน่วยงานที่ให้ทุนวิจัยก็ไม่อยากให้ทุนทำเรื่องพวกนี้แล้ว เพราะขอไปรัฐก็ไม่สนับสนุน เอาไปผลิตจริงไม่ได้ ทำให้งานวิจัยเกี่ยวกับการผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัยมีน้อยลง คุณไปเสิร์ชในเว็บไซต์รวมงานวิจัยได้เลย ตั้งแต่ปี 2550 มา แทบไม่มีหรือมีน้อยมาก เพราะไม่ได้รับการสนับสนุน แต่ก่อนงานวิจัยเกี่ยวกับผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีเยอะมาก แต่นักวิจัยไม่มีโอกาสเอาไปต่อยอด การวิจัยการพัฒนาในสถาบันการศึกษามันน้อยลงตั้งแต่สสส. เข้ามา เพราะเขาสร้างสภาพให้สิ่งแวดล้อมไม่เอื้อต่อการวิจัยพัฒนาเรื่องนี้ ” 

    เขามองว่า มาตรา 32 อาจจะไม่ได้ส่งผลกระทบโดยตรง หากแต่มันก็เป็นผลพวงจากหน่วยงานรัฐที่ทำให้ภาพจำของเครื่องดื่มมึนเมาเป็นเรื่องไม่งาม เมื่อเรื่องเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไม่สามารถนำมาแลกเปลี่ยนอย่างเปิดเผยได้ ก็พลอยลดโอกาสการต่อยอด ปิดกั้นการนำข้อมูลเกี่ยวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไปวิจัยและพัฒนาต่อไป


    (ต่อหน้าที่2) 


  •                นอกจากการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในสถาบันอุดมศึกษาแล้ว การเสริมสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้กับเด็กก็มีความจำเป็นไม่แพ้กัน และแน่นอนว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์กลายเป็นสิ่งต้องห้ามสำหรับเยาวชนไปโดยปริยาย เมื่อกฎหมายกำหนดว่า ผู้ที่ซื้อบริโภคได้จะต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์เท่านั้น ปฏิเสธไม่ได้ว่าที่หน่วยงานรัฐบังคับใช้กฎหมายมากมาย ซึ่งจำกัดช่องทางธุรกิจของผู้ประกอบการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ก็เพราะไม่ต้องการให้เยาวชนต้องเห็นภาพโฆษณาเหล่านี้ จึงจำเป็นต้องกีดกันข้อมูลเรื่องเครื่องดื่มมึนเมาให้ห่างไกลจากเด็ก 

    แต่ประภาวีเห็นกลับกัน เธอมองว่า เพราะการศึกษาไทยไม่เคยสอนข้อมูลที่เด็กควรรู้เกี่ยวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทำให้เด็กไม่คำนึงถึงผลลัพธ์ที่ตามมาและเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายมากกว่าเดิม เพราะความไม่รู้ ความอยากลอง ถึงอย่างไรเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก็มีให้เห็นอยู่ในชีวิตประจำวัน จำเป็นจะต้องสอน


     “องค์ความรู้เกี่ยวกับแอลกอฮอล์มันไม่เคยมีสอน ถ้าพี่ทำหลักสูตรได้จะสอนเรื่องนี้ คล้ายๆ เพศศึกษาอะ แต่ก่อนก็ไม่เคยสอนว่าทำไมต้องใช้ถุงยาง แต่จริงๆ ต้องสอนนะ เด็กมันต้องรู้ ไม่ได้จะมีอะไรกับแฟนตอนนี้หรอก แต่มันต้องรู้ เหล้าเบียร์เหมือนกัน อายุ ยังไม่ถึง กินไม่ได้ก็จริง แต่มันเห็นพ่อแม่กิน เห็นมันมีขาย อยู่ในชีิวิตประจำวัน แต่เด็กก็ต้องรู้ด้วยว่าทำไมถึงไม่ควรกิน ซึ่งบ้านเราเขาไม่สอน” 

    เธอกล่าวด้วยน้ำเสียงจริงจัง 

    ภาพแผ่นพับโครงการ CSR ของ Sapporo Holding Group ประเทศญี่ปุ่น

                 “ ญี่ปุ่นเขามีสอนนะ เป็นแผ่นพับใบปลิวการ์ตูนแจกเด็กเลย หัวข้อ รู้ทันเรื่องเหล้า ระบุมาเลยว่าให้ผู้ปกครองอ่านกับเด็กประถม เด็กมัธยมต้นนะ จุดประสงค์เพื่อให้เด็กทำความเข้าใจ เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กดื่มก่อนถึงวัย เปิดมาข้างในก็จะมีแบบเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีประเภทอะไรบ้าง กินไปเท่านี้จะมีอาการยังไง เหตุผลที่เด็กห้ามดื่ม เพราะจะส่งผล กระทบด้านไหนบ้าง ถ้าอายุยังไม่ถึงคนมาชวนดื่มต้องปฏิเสธยังไง อายุเท่าไหร่ถึงดื่มได้ คือมันสอนดีมาก ซึ่งแผ่นพับนี้ทำโดยบริษัทผลิตเบียร์นั่นแหละ เป็นการรับผิดชอบต่อสังคมอีกทาง ส่วนประเทศเราเนี่ย ห้ามทำ เพราะถ้าทำ csr ก็ตีความเป็นการตลาด ส่งเสริมการขาย มีความผิด เนี่ย ปิดกั้นที่สุดในโลกแล้ว ประเทศนี้ชอบให้คนโง่อะ ไม่เข้าใจเหมือนกัน” 


                    ประภาวีเปรียบเทียบให้เห็นว่าการสอนข้อมูลเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องผิด ประเทศอื่นก็ทำเช่นกัน และยังวกกลับมาวิจารณ์การใช้กฎหมายของสังคมบ้านเรา ที่เร้ารั้งความเจริญทางความรู้นี้ไว้ เธอมองว่า มันเป็นเรื่องของสิทธิและหน้าที่ อายุเท่าไหร่ ควรจะมีสิทธิเข้าถึงอะไร อะไรที่เป็นเรื่องใหม่ ใครๆ ก็อยากลองอยู่แล้ว เพียงแต่เราต้องให้อาวุธให้ข้อมูลกับเยาวชนแต่เนิ่นๆ และที่จริงแล้ว แอลกอฮอล์รสขมปร่าก็ไม่ได้เป็นที่โปรดปรานของทุกคน แต่หน่วยงานรัฐก็ยังกลัวการเกิดขึ้นของนักดื่มหน้าใหม่ ทั้งที่ในความเป็นจริงมีเพียงบุคคลที่อายุถึงและไม่ถึงเท่านั้น คนไม่ดื่มก็ไม่ดื่มวันยังค่ำ

    ตัวอย่างแผ่นพับด้านใน

                   นอกจากนั้น เธอยังเล่าเรื่องราวขณะประชุมอนุกรรมาธิการสุราฯ ที่นำมาแลกเปลี่ยนสู่กันฟังว่า ก่อนหน้าที่จะมีกฎหมายดังกล่าว ในบางโรงเรียนมีสอนหมักไวน์สับปะรด สอนหมักยีสต์ ซึ่งไม่ใช่การสอนดื่มแอลกอฮอล์แต่อย่างใด เป็นเพียงการสอนหลักวิทยาศาสตร์ในการผลิตแอลกอฮอล์เท่านั้น แต่พอกฎหมายนี้เข้ามา มหาวิทยาลัย โรงเรียน ก็เลิกสอนเรื่องเหล่านี้ไป เพราะเด็กทำต้องดม ต้องชิม จนกลายเป็นการปิดกั้นโอกาสในการเรียนรู้ข้อมูลในที่สุด

    -----------------------------

               อีกหนึ่งเหตุผลที่หน่วยงานภาครัฐพยายามปิดกั้นช่องทางทำธุรกิจของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์คือ การอ้างว่า เหล้า เบียร์ สุรา เป็นต้นเหตุของปัญหาสังคม อย่างปัญหาการเมาแล้วขับ ซึ่งจากรายงานสถานการณ์อุบัติเหตุทางถนนของกระทรวงคมนาคม พ.ศ.2562 พบว่า มูลเหตุสันนิษฐานหลักที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด 5 ลำดับ ได้แก่ ขับรถเร็วเกินกำหนด ร้อยละ 70.94 คนหรือรถตัดหน้ากระชั้นชิด ร้อยละ 8.25 หลับใน ร้อยละ 7.02 อุปกรณ์บกพร่อง  ร้อยละ 3.31 และเมาสุรา เพียง ร้อยละ 2.84 เท่านั้น ซึ่งมีจำนวนน้อยมากเมื่อเทียบกับสาเหตุอื่นๆ ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ภาครัฐจะเลิกเหมารวมว่าคนดื่มแอลกอฮอล์สร้างปัญหาให้กับสังคม และยกเลิกกฎหมายบังคับที่ไม่จำเป็นเสียที


                    อย่างไรก็ตาม การพยายามแก้ไขกฎหมายพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฯ ก็ถูกผลักดันมานานแล้ว ก่อนจะมีการล่ารายชื่อ เพียงแต่เป็นกระแสอยู่ในวงการเครื่องดื่มธุรกิจแอลกอฮอล์ด้วยกันเองเท่านั้น หลังจากเหตุการณ์การออกหมายเรียกของเจ้าหน้าที่สคอ. อย่างไม่เป็นธรรมเมื่อมิถุนายน ปี 2563 ที่ผ่านมา ผศ.ดร.เจริญ เจริญชัย และสมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทย (TABBA) ได้ร่วมกันยื่นหนังสือชี้แจงปัญหาของ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฯ ณ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และเข้าชี้แจงต่อคณะกรรมการพัฒนากฎหมายของคณะกรรมการกฤษฎีกาเกี่ยวกับพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฯ เรียบร้อย และได้ข้อสรุปว่า กรมควบคุมโรคจะต้องพิจารณาประเมินประสิทธิภาพของกฏหมายฉบับนี้ใหม่ โดยต้องมีผู้ประกอบการและผู้ได้รับผลกระทบ เข้าร่วมหารือด้วย เพื่อหาทางออกร่วมกัน ซึ่งการเข้าประชุมการชี้แจงก็ได้เกิดขึ้นถึง 3 ครั้ง ในช่วงปลายปี 2563 ที่ผ่านมา แต่ยังไม่คืบหน้า 

                   ประภาวีกล่าวว่า หลังจากผู้ประกอบการยื่นหนังสือไปที่คณะกรรมาธิการหลายๆ หน่วยงานแล้ว ไม่มีทีท่าว่า สคอ. จะแก้ไข จึงได้ร่วมกันล่ารายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง เพื่อสนับสนุน ร่างพระราชบัญญัติฉบับแก้ไข เสนอต่อรัฐสภา ส่วนทางสมาคมผู้ประกอบการต่างๆ หลายสมาคม ก็ได้เข้าชื่อยื่นเรื่องไปที่สำนักงานกฤษฎีกา ทำทุกวิถีทางในการปรับแก้กฎหมายให้ได้ 

    ภาพบรรยากาศจากเพจสุราปลดแอก

              “เรายื่นทุกช่องทาง กฤษฏีกาด้วย ล่ารายชื่อด้วย ที่ยื่นกฤษฎีกาเป็นเรื่องกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของสคอ. ที่เป็นปัญหา ซึ่งอาจารย์เจริญไม่ได้แก้แค่มาตรา 32 อย่างเดียว แต่ยังมีมาตราอื่นๆ ที่เป็นปัญหาด้วย ตรงนี้เอง นายทุนใหญ่อย่าง TABBA ก็เข้ามาร่วมด้วย ถึงจะเป็นรายใหญ่ แต่เขาก็ได้รับผลกระทบจากการห้ามโฆษณาเช่นกัน พี่มองว่า แสวงจุดร่วม สงวนจุดต่าง เราไม่ได้เป็นศัตรูกัน เราแค่อยากได้พื้นที่ในการทำธุรกิจและเท่าที่รู้คือ กฎหมายตัวนี้กำลังจะมีการเปลี่ยนแปลง ทางกฤษฎีกาเริ่มดำเนินการไปแล้ว”

    หลังจากกลุ่มสุราปลดแอกและสมาคมคราฟต์เบียร์ได้ตั้งโต๊ะล่ารายชื่อประชาชนเพื่อเข้าชื่อเสนอร่างแก้ไขของพ.ร.บ.ควบคุมแอลกอฮอล์ฯ มาตั้งแต่เดือนกันยายน ปี 2563 ในที่สุด วันที่ 1 มีนาคม 2564 ก็สามารถส่งรายชื่อประชาชนทั้งหมด 11,169 รายชื่อให้กับสภาตรวจสอบ ก่อนที่จะเข้ามอบหนังสือยื่นรายชื่อแก้ไขพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ให้กับตัวแทนสภาที่อาคารสุริยัน รัฐสภาใหม่ ในวันที่ 17 มีนาคม 2564 ที่ผ่านมา ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างกระบวนการของรัฐสภา อย่างไรก็ตาม หากเกิดการยุบสภาขึ้น กระบวนการทั้งหมดอาจจะต้องเริ่มใหม่


    เมื่อถามถึงอนาคตว่าถ้าหากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์สามารถเปิดเสรีกว่านี้ได้จริง จะเป็นอย่างไร

    ประภาวีกล่าวว่า ประเทศเราคงจะมีผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่พัฒนาไปไกลถึงต่างประเทศ เราอาจจะมีไวน์สับปะรดแช่ในร้านขายสะดวกซื้อ สุราชุมชนไทยอาจจะเป็นตัวกระตุ้นการท่องเที่ยว เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในไทยคงจะพัฒนาและหลากหลายมากขึ้น ทำให้ประชาชนมีตัวเลือกเพิ่มขึ้น 

           “ ต้องบอกว่า กฎหมายที่มีอยู่นอกจากจะปิดกั้นสิทธิในการเลือกดื่มแล้ว ยังปิดกั้นเรื่องของวัฒนธรรมด้วย ถ้าบ้านเรามีองค์ความรู้ในเรื่องของการหมัก การทำเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มันเป็นกฎเกณฑ์เป็นมาตรฐาน โปรดักต์ที่ได้คงมีคุณภาพมากขึ้น สู้กับต่างประเทศได้ แต่ที่ผ่านมาเราไม่เคยได้รับการพัฒนาความรู้เหล่านี้เลย ในประเทศเราไม่มีการถ่ายทอดองค์ความรู้อย่างเป็นระบบ คนไทยเก่งๆ มีหลายคน เขาควรจะมีสิทธิ์พัฒนา ทั้งการทำเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และทำแบรนด์ของตัวเองให้ไปไกลกว่านี้ แต่ทำไม่ได้เพราะเป็นเรื่องของการสื่อสารโฆษณา ถ้าเสรีได้การแลกเปลี่ยนข้อมูลและพัฒนาความรู้ตรงนี้ก็คงจะช่วยให้ธุรกิจรายย่อยมีช่องทางมากขึ้นและคงจะสร้างวัฒนธรรมการดื่มที่ดีให้กับคนในสังคมไทยได้ดีกว่านี้” 

    ดูเหมือนนี่จะเป็นครั้งแรกตลอดบทสนทนาที่เห็นแววตาของประภาวีเป็นประกายฉายชัดอย่างมีหวัง


    แม้หลายคนจะมองว่า กฎหมายอันเกี่ยวข้องในธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการรายย่อยและผู้บริโภคที่ดื่มแอลกอฮอล์เป็นส่วนใหญ่ แต่แท้จริงแล้วกฎหมายฉบับนี้ยังกระทบกับประเด็นสิทธิและเสรีภาพในการสื่อสารของคนไทยทุกคนด้วยเช่นกัน


                             กล่าวคือ เรากำลังถูกลิดรอนสิทธิในการเข้าถึงองค์ความรู้ การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอย่างเสรีไป และมีเพื่อนร่วมสังคมของเราอีกหลายคนที่เสียภาษี ทำอาชีพสุจริต แต่ถูกหมายเรียก เพียงแค่จะ “สื่อสาร” เท่านั้น 

    เมื่อเสรีภาพในการแสดงความเห็นเป็นหนึ่งในรากฐานความคิดของประชาธิปไตย และในฐานะพลเมืองคนหนึ่ง การพยายามปิดกั้นไม่ให้รับรู้ พูดถึง แลกเปลี่ยนข้อมูลอย่างอิสระนั้นเป็นสิ่งที่ไม่อาจยอมรับได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อสิ่งที่จำกัดสิทธิและเสรีภาพของประชาชน คือ กฎหมายที่ออกแบบมาเพื่อควบคุมพลเมืองเสียเอง เราจะทนเงียบ ใช้ชีวิตภายใต้กฎหมายที่ไม่เป็นธรรมได้จริงหรือ หากคุณยึดมั่นฝันใฝ่ในอุดมการณ์ประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ได้โปรดอย่าลืมส่งเสียงให้กับกลุ่มผู้ประกอบการในธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ต้องเผชิญกับความอยุติธรรม เพราะเรื่องสิทธิและเสรีภาพก็เป็นเรื่องของเราทุกคน


    เรื่อง : ชญาดา จิรกิตติถาวร 


  • (อัพเดท)

    ตอนนี้ร่างแก้ไข พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฯ ฉบับประชาชน กำลังเปิดให้ลงชื่อแสดงความคิดเห็นอยู่ สามารถเข้าไปดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ลิงก์นี้  ถึงวันที่ 16 สิงหาคม 2564 ค่ะ 

    ประเด็นสำคัญของร่างฉบับนี้ 

    • แก้ไขบทลงโทษให้สอดคล้องกับบริบทความผิด
    • ยกเลิกเงินสินบนรางวัลแก่เจ้าพนักงาน 
    • สร้างความชัดเจนให้กับขอบเขตของการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 
    • ปรับปรุงข้อจำกัดต่างๆ เรื่องการซื้อขายและวันเวลาขายที่ไม่สมเหตุสมผล
    • แก้ไขให้ผู้ประกอบการและประชาชน ซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง ได้มีส่วนร่วมกับการกำหนดและออกมาตรการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทางกฎหมายด้วย

    อยากเชิญชวนทุกคนให้มาแสดงความคิดเห็น โดยกด "เห็นด้วย" และ "เหมาะสม" กันในร่างดังกล่าวค่ะ สามารถดูขั้นตอนการแสดงความคิดเห็นอย่างละเอียดได้ที่ ลิงก์นี้ 

Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in
Rin36xxx (@Rin36xxx)
เขียนเนื้อหาได้ละเอียดน่าสนใจมากค่ะ มีหลายประเด็น ตัวอักษรทำให้เห็นว่าข้อความไหนมีความสำคัญบ้าง ขอบคุณสำหรับบทความดีๆค่ะ
Film Esprit (@FilmTheClapper)
@Rin36xxx ขอบคุณมากๆ เลยค่ะ ?