เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
Navy's StoryKamchai Charoenpongchai
Conventional Submarine
  • หมายเหตุ บทความนี้เขียนไว้ตั้งแต่ ปี เดือน กันยายน ค.ศ. 2011


    ฝรั่งเขาจัดแบ่งประเภทของเรือดำน้ำออกเป็นหลายประเภทตามแหล่งพลังงาน และการใช้งาน แต่เมื่อแบ่งแบบกว้างๆ แล้วก็จะมีอยู่ 2 แบบคือแบบที่ใช้พลังงานนิวเคลียร์ (Nuclear Submarine) กับไม่ใช้พลังงานนิวเคลียร์ (Non- Nuclear Submarine) หรือที่เรียกกันว่าแบบดั้งเดิม (Conventional Submarine) ซึ่งเรือดำน้ำทั้งสองประเภทนี้ก็มีความแตกต่างกันในแทบทุกๆ ด้าน เช่น แหล่งพลังงาน ระยะเวลาปฏิบัติการ ขนาด พื้นที่ปฏิบัติการ อาวุธ และกำลังพล

    เรือดำน้ำ B-585 Sankt Peterburg 

    เมื่อเรือดำน้ำแบบดั้งเดิมเปลี่ยนแปลงไป

    เรือดำน้ำแบบดั้งเดิม (Conventional Submarine) นั้น ปัจจุบันได้มีการพัฒนาไปไกลอย่างก้าวกระโดด โดยเป็นผลมาจากการพัฒนาเทคโนโลยีหลายอย่างที่ใช้ในวงการทหารทั้งที่พัฒนามาเพื่อใช้กับเรือดำน้ำ และไม่ได้พัฒนามาเพื่อใช้กับเรือดำน้ำ แต่เมื่อเห็นว่ามีโอกาสว่าจะใช้กับเรือดำน้ำได้ ก็ได้มีการพัฒนารุ่นสำหรับใช้ในเรือดำน้ำขึ้นมาโดยเฉพาะ หรือนำมาใช้กับเรือดำน้ำเอาดื้อๆ เลย ได้แก่ เทคโนโลยี Stealth ที่ก็เป็นผลมาจากเทคโนโลยีที่ถูกนำมาใช้กับเครื่องบินและเรือผิวน้ำ อย่างเช่นวัสดุหุ้มพื้นผิวที่มีคุณสมบัติดูดกลืนคลื่นเรดาร์และโซนาร์ ระบบขับเคลื่อนแบบ Air Independence Propulsion หรือ AIP ที่มีผลมาจากเทคโนโลยีทางด้านพลังงานเช่น พลังงานจาก Fuel Cell เครื่องยนต์แบบ Stirling ระบบเดินเรือ ระบบสื่อสาร ระบบตรวจจับ ระบบอาวุธ และระบบอำนวยการรบแบบรวมการณ์ (Integrated Combat & Command System) อันทันสมัย อันเป็นผลมาจากการพัฒนาของระบบคอมพิวเตอร์และการทดลองใช้งานบนเรือผิวน้ำ เรือดำน้ำ และอากาศยานแบบต่างๆ 

    เรือดำน้ำ Type 209 ชั้น Chang Bogo ของ เกาหลีใต้

    ผลจากการพัฒนาระบบที่ทันสมัยเพิ่มมากขึ้นนี้เอง ทำให้เรือดำน้ำแบบดั้งเดิม เป็นอาวุธที่ไม่ล้าสมัยเหมือนดั่งชื่อ แต่มีความทันสมัยเทียบเท่ากับเรือดำน้ำนิวเคลียร์ ต่างกันตรงที่ระบบขับเคลื่อน และข้อจำกัดเฉพาะบางประการที่เป็นผลมาจากพลังงานนิวเคลียร์เท่านั้นเอง และนั่นทำให้เรือดำน้ำประเภทนี้เป็นที่สนใจอย่างกว้างขวาง สำหรับประเทศที่มีงบประมาณทางทหารไม่มากมายเท่าใดนัก  เพราะในงบประมาณที่จ่ายไปนั้น เรือดำน้ำประเภทนี้สามารถสร้างผลประโยชน์ให้กับประเทศผู้เป็นเจ้าของได้อย่างมหาศาล


    เรือดำน้ำขนาดเล็ก และขับเคลื่อนด้วยระบบขับเคลื่อนที่ไม่ใช่พลังงานนิวเคลียร์นี้ สามารถปฏิบัติภารกิจได้หลากหลายตั้งแต่การลาดตระเวนน่านน้ำ ไปจนถึงการปฏิเสธการใช้ทะเลต่อฝ่ายตรงข้าม (Highly potent sea denial) ซึ่งฝ่ายตรงข้ามอาจจะเป็นประเทศที่มีกำลังทหารเข้มแข็งกว่า และมีกองเรือปราบเรือดำน้ำที่มีระบบต่อต้านเรือดำน้ำอันทันสมัยก็ได้ ซึ่งในเรื่องนี้ ทั่วโลกก็ได้ประจักษ์แล้วจากเหตุการณ์ที่เรือดำน้ำดีเซลไฟฟ้าชั้นซ่ง หรือ Type 039 ของกองกำลังปลดปล่อยประชาชนฝ่ายกองทัพเรือของจีน (People’s Liberation Army Navy ย่อว่า PLAN หรือ PLA Navy) ได้ติดตามกองเรือบรรทุกเครื่องบินของนาวีสหรัฐฯ ในมหาสมุทรแปซิฟิก และได้ลอยลำขึ้นมาในระยะยิงของตอริปิโดและอาวุธปล่อยฯ ที่สามารถโจมตีเรือ USS Kitty Hawk ได้ เป็นที่ตกตะลึงพรึงเพริดของเรือต่างๆ ในขณะนั้นเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การที่เรือดำน้ำชั้นซ่ง สามารถเล็ดลอดการตรวจจับของกองเรือปราบเรือดำน้ำ และเรือดำน้ำที่เป็นเรือคุ้มกันของ USS Kitty Hawk ได้ โดยสาเหตุที่ถูกตรวจพบนั้น ก็เป็นเพราะว่า อากาศยานที่ขึ้นบินจากเรือ USS. Kitty Hawk นั้น มองเห็นจากทางอากาศ ไม่ได้ถูกจับได้จากการใช้ระบบตรวจจับเรือดำน้ำเลยสักกระผีกเดียว อีกทั้ง เหตุการณ์ในครั้งนี้ได้เกิดขึ้นในน่านน้ำโอกินาว่า ซึ่งเป็นพื้นที่ที่อยู่นอกพื้นที่ปฏิบัติการของเรือดำน้ำของ PLAN แสดงให้เห็นว่า เรือดำน้ำดีเซลไฟฟ้า ขนาด 2,250 ตันนี้ สามารถปฏิบัติการได้ไกล และครอบคลุมทั้งในเขตน้ำตื้น และทะเลลึก 


    เรือดำน้ำ Type 039 ชั้นซ่ง ของจีน

    อีกเหตุการณ์หนึ่งที่เป็นกรณีศึกษาสำหรับเรือดำน้ำแบบดั้งเดิมนี้ก็คือ เรือดำน้ำ ARA San Luis ชั้น Type 209  ของอาร์เจนตินา ที่ปฏิบัติการในสงครามฟอล์คแลนด์ (Falklands หรือ Malvinas) ซึ่งทำให้กองเรือใหญ่น้อยของอังกฤษต้องปั่นป่วนไปทั่วท้องทะเล เนื่องจากกองเรือปราบเรือดำน้ำอันทันสมัยที่สุดในขณะนั้น พยายามค้นหาแล้วค้นหาอีก ก็ไม่สามารถค้นหาเรือดำน้ำลำนี้ได้พบ แต่ก็นับเป็นโชคดีของกองเรืออังกฤษที่ระบบควบคุมการยิงของเรือลำนี้เกิดขัดข้องขึ้นมาเสียก่อน ทำให้ตอร์ปิโดที่ยิงไป 8 ลูกพลาดเป้า มิฉะนั้นแล้ว เรือในกองเรืออังกฤษอย่างน้อยๆ ก็ลำหนึ่งจะต้องจมลงด้วยตอร์ปิโดของเรือดำน้ำ San Luis เป็นแน่แท้

    เรือดำน้ำ ARA San Luis ชั้น Type 209  ของอาร์เจนตินา

    ด้วยความน่ากลัวของเรือดำน้ำในยุคใหม่นี้เอง ที่ทำให้สหรัฐฯ ถึงกับขวัญผวา จนต้องประเมินขีดความสามารถของเซนเซอร์ตรวจจับเรือดำน้ำที่มีอยู่กันใหม่ โดยได้ทำการเช่าเรือดำน้ำ HMS Gotland จากสวีเดน พร้อมทั้งลูกเรือ เพื่อมาร่วมฝึกกับกองเรือบรรทุกเครื่องบินจู่โจมของสหรัฐฯ (Carrier Strike Group : CSG) อย่างยาวนานถึง 2 ปี ซึ่งผลการซ้อมรบทุกครั้ง กองเรืออันประกอบไปด้วย เรือพิฆาตชั้น  Arleigh Burke  เรือ cruiser ชั้น Ticonderoga เรือดำน้ำโจมตีชั้น Los Angeles และเรือบรรทุกเครื่องบินชั้น Nimitz ไม่สามารถที่จะจับเรือดำน้ำชั้น Gotland (Type A 19) จากสวีเดนลำนี้ได้เลย โดยมีรายงานว่า เรือ HMS Gotland สามารถลอบเข้าไปถ่ายภาพเรือ USS Ronald Reagan ได้ในระยะยิงของอาวุธปล่อยฯ และตอร์ปิโด และในบางการฝึก สหรัฐฯ ถึงกับต้องให้เรือ HMS Gotland ติดตั้งอุปกรณ์ขยายเสียงเพิ่มเติม เพื่อให้ตรวจจับได้ง่ายขึ้น

    เรือดำน้ำ HMS Gotland กับ เรือบรรทุกเครื่องบิน USS Ronald Reagan ในระหว่างการฝึกซ้อมรบ

    สาเหตุที่ทำให้เรือดำน้ำแบบดั้งเดิมนี้ มีความสามารถที่มากขึ้นโดยเฉพาะการหลีกเลี่ยงการตรวจจับนั้น ก็เป็นเพราะว่า ตัวเรือมีความสามารถในการล่องหนที่มากขึ้น ตั้งแต่ตัวเรือที่ออกแบบมาเพื่อลดแรงเสียดทานของน้ำอันจะทำให้เกิดเสียงในขณะเคลื่อนที่ ตัวเรือทำจากวัสดุที่ไม่มีอำนาจแม่เหล็กหรือมีเครื่องมือที่ใช้ลบล้างอำนาจแม่เหล็กตัวเรือ และยังหุ้มด้วยวัสดุดูดซับคลื่นโซนาร์และเรดาห์เข้าไปอีก 


    ส่วนระบบขับเคลื่อนก็ประกอบไปด้วยเครื่องยนต์ที่เงียบกว่าเครื่องยนต์ดีเซลหลายเท่าตัว หางเสือที่ออกแบบให้มีความเงียบมากขึ้น ใบจักรที่หมุนด้วยความเร็วต่ำ จนทำให้ไม่เกิดคาวิเตชั่นขึ้น และเครื่องจักรทั้งหมดในเรือถูกวางลงบนแท่นเครื่องที่ป้องกันการสั่นสะเทือน


    และอุปกรณ์อีกชิ้นหนึ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่งยวด และยกระดับเรือดำน้ำแบบดั้งเดิม ให้มีความสามารถใกล้เคียงกับเรือดำน้ำนิวเคลียร์มากยิ่งขึ้นก็คือ อุปกรณ์ที่เรียกว่า AIP ซึ่งย่อมาจาก Air Independent Propulsion เป็นระบบขับเคลื่อนที่ไม่ใช้อากาศในการสันดาป ทำให้เรือดำน้ำไม่ต้องลอยลำขึ้นมาเพื่อเดินเครื่องไฟฟ้าอยู่ใกล้ผิวน้ำบ่อยๆ เหมือนกับเรือดำน้ำดีเซลไฟฟ้าแบบดั้งเดิม โดยระบบนี้ช่วยให้เรือดำน้ำสามารถดำอยู่ในน้ำได้นานขึ้นเป็นอาทิตย์ หรือเกือบเดือนในบางระบบ


    ความน่ากลัวของเรือดำน้ำแบบดั้งเดิมอีกอย่างหนึ่งก็คือ ด้วยรูปร่างเล็กๆ ของมันนั้น มันทำให้เรือดำน้ำประเภทนี้ตรวจจับได้ยากยิ่งขึ้นไปอีก เพราะนอกจากขนาดเล็กจะทำให้พื้นที่สะท้อนคลื่นโซนาร์มีน้อยแล้ว มันยังสามารถหลบเข้าไปในเขตน้ำตื้น หรือช่องทางการคมนาคมที่มีเรือสัญจรพลุกพล่าน เพื่ออาศัยเสียงใต้น้ำซึ่งมีความสลับซับซ้อนมากกว่าในท้องทะเลลึก ช่วยกำบังตนเองได้ดีอีกด้วย และนอกจากนี้ยังทำให้มันสามารถแทรกซึมเข้าไปยังพื้นที่ชายฝั่งได้ทั่วโลก ดังที่ Frederick Linden ผู้บังคับการเรือ HMS Gotland บอกไว้ว่า ไม่มีน่านน้ำชายฝั่งใดในทวีปอเมริกาเหนือที่เรือดำน้ำลำนี้จะเข้าไปไม่ได้ ซึ่งความสามารถนี้ เรือดำน้ำนิวเคลียร์ขนาดใหญ่ที่มีระวางขับน้ำมากถึง 6,927 ตัน กินน้ำลึก 9.4 เมตร อย่างเรือดำน้ำชั้น Los Angeles ของสหรัฐฯ ไม่สามารถทำได้แน่ๆ 


    เรือดำน้ำแบบดั้งเดิมในตลาดโลก

    ในเมื่อเรือดำน้ำรุ่นใหม่ๆ นี้ได้พิสูจน์ตัวเอง และมีข้อดีมากมายดังที่ได้กล่าวมาแล้ว จึงทำให้เรือดำน้ำประเภทนี้เป็นที่สนใจมากขึ้นในตลาดโลก ทั้งประเทศเล็กและไม่เล็ก ที่มีงบประมาณทางทหารค่อนข้างจำกัด และไม่ต้องการลงทุนมหาศาลกับเรือดำน้ำนิวเคลียร์ ต่างให้ความสนใจที่จะมีเรือดำน้ำขนาดเล็กเหล่านี้เข้าประจำการ เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของชาติทางทะเล และรักษาสมมาตรทางการทหารกันแทบทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น อินเดีย บราซิล ชิลี กรีก จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย เวียดนาม และแน่นอน ประเทศไทยเองก็สนใจด้วยเช่นเดียวกัน

    ซึ่งผู้นำในการส่งออกเรือดำน้ำประเภทนี้ในตลาดโลก ณ เวลานี้ มีอยู่สี่ประเทศ สามบริษัทใหญ่ๆ หนึ่งก็คือ บริษัท Howaldtswerke-Deutsche Werft หรือย่อสั้นๆ ว่า HDW ของประเทศเยอรมนี ผู้ส่งออกเรือดำน้ำ Type 209 และ Type 214 โดยส่งออก Type 209 มาอย่างต่อเนื่องยาวนานตั้งแต่ปี ค.ศ. 1960 มีประเทศที่ใช้เรือดำน้ำชั้นนี้ถึง 14 ประเทศ และส่งออกมาแล้วถึง 63 ลำ ส่วน Type 214 เพิ่งมีการส่งออกเมื่อปี 2000 ยังมีผู้ใช้เป็นจำนวนไม่มาก ได้แก่ กรีซ เกาหลีใต้ ปากีสถาน โปรตุเกส และตุรกี โดยเรือดำน้ำของตุรกีเป็นการร่วมกันสร้างระหว่างเยอรมนีและตุรกี โดยตุรกีมีความต้องการที่จะใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์และระบบอาวุธของตนเอง ทำให้เรือดำน้ำชั้นนี้ของตุรกีมีชื่อชั้นว่า Type 214TN (Turkey Navy)

    เรือดำน้ำ Type 214 ชั้น Sohn Wonyil ของเกาหลีใต้

    บริษัทที่สองมีชื่อว่า DCNS บริษัทร่วมทุนระหว่างอู่ต่อเรือ DCN ของฝรั่งเศส กับ Navantia ของสเปน (Navantia นั้นก็คือ อู่ต่อเรือ Bazan เดิม ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น Izar และเปลี่ยนมาเป็น Navantia ในปัจจุบัน เป็นอู่เรือที่ต่อ ร.ล.จักรีนฤเบศร ให้กับประเทศไทย) โดย DCNS ได้เริ่มส่งออกเรือดำน้ำชั้น Scorpène ในปี ค.ศ. 2005 ปัจจุบันมีผู้ใช้เรือดำน้ำชั้นนี้อยู่ 4 ประเทศคือ ชิลี มาเลเซีย บราซิล และอินเดีย


    ต่อมาในปี ค.ศ. 2003 บริษัท Navantia ก็ได้ออกแบบเรือดำน้ำของตัวเองขึ้นมีรหัสว่า S-80 ซึ่งโครงสร้างมีพื้นฐานมาจากเรือดำน้ำชั้น Scorpène แต่เปลี่ยนระบบอิเล็กทรอนิกส์ไปใช้ของบริษัท Lockheed Martin และเปลี่ยนระบบ AIP เป็นแบบที่พัฒนาขึ้นเอง นอกจากนี้ก็ยังมีการเปลี่ยนแปลงอีกหลายส่วนที่ยังไม่มีข้อมูลประกาศออกมาอย่างเป็นทางการ และที่สำคัญก็คือ รัฐบาลสเปนได้สั่งต่อเรือดำนั้นชั้นนี้ 4 ลำ และยกเลิกการสั่งซื้อเรือดำน้ำชั้น Scorpène จำนวน 4 ลำ มูลค่า 1,756 ล้านยูโร ซึ่งเหตุการณ์ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นในระหว่างที่ DCNS กำลังสร้างเรือดำน้ำ Scorpène ให้กับประเทศอินเดีย มาเลเซีย และชิลี แน่นอนว่าย่อมทำให้ประเทศผู้ที่สั่งซื้อและกำลังตัดสินใจย่อมต้องเกิดความสงสัยในประสิทธิภาพของเรือดำน้ำหรือราคาของเรือดำน้ำชั้น Scorpène อย่างแน่นอน ซึ่งเรื่องนี้ก็เป็นปัญหาข้อพิพาทของฝรั่งเศสกับสเปนอยู่ในขณะนี้ เพื่อแก้เกมนี้ ทาง DCNS จึงได้ออกแบบเรือดำน้ำชั้น Marlin ขึ้นมาอีกชั้นหนึ่ง เพื่อเป็นคู่แข่งกับเรือดำน้ำชั้น S-80 ของ Navantia แต่ในขณะเดียวกันทาง DCNS ก็ยังคงทำการตลาดเรือดำน้ำชั้น Scorpène ต่อไป ซึ่งคงต้องคอยติดตามอนาคตของเรือดำน้ำทั้ง 3 ชั้นนี้ต่อไป ว่าท้ายที่สุดแล้วจะจบลงเช่นไร

    ภาพ 
    Infographic ของเรือดำน้ำชั้น Scorpène

    บริษัทที่สามเป็นของรัสเซีย โดยบริษัท Central Design Bureau for Marine Engineering “Rubin” เป็นบริษัทผู้ผลิตเรือดำน้ำชั้น Kilo อันโด่งดังมากว่า 3 ทศวรรษ ซึ่งจำหน่ายให้ประเทศต่างๆ ทั่วโลกไปแล้วกว่า 50 ลำ ซึ่งเรือดำน้ำชั้น Kilo นี้ก็มีทั้งแบบดั้งเดิม โปรเจ็คต์ 877 Paltus (Turbot) และรุ่นปรับปรุงใหม่ที่เรียกกันว่า Improved Kilo และโปรเจ็คต์ 636 Varshavyanka ซึ่งโปรเจ็คต์ทั้งสามนี้ก็ได้มีการขายให้กับประเทศต่างๆ ได้แก่ อินเดีย จีน อิหร่าน โปแลนด์ แอลจีเรีย โรมาเนีย และประเทศล่าสุดคือ เวียดนาม อีกทั้งอินโดนีเซียก็ยังมีความสนใจในเรือดำน้ำชั้นนี้ แต่ก็ยังอยู่ในระหว่างการตัดสินใจอยู่

    เรือดำน้ำชั้น Kilo โปรเจคต์ 636

    สำหรับเรือดำน้ำในยุคใหม่นี้ Rubin ก็ได้มีการนำเสนอเรือดำน้ำชั้น Amur ซึ่งเป็นเวอร์ชั่นส่งออกของเรือดำน้ำชั้น Lada ที่ต่อขึ้นใช้งานภายในประเทศ โดยเรือดำนั้นชั้นนี้เป็นเรือดำน้ำในยุคที่ 4 ของรัสเซีย ซึ่งพัฒนาต่อมาจากเรือดำน้ำชั้น Kilo แต่เรือดำน้ำชั้น Amur นี้ ยังไม่ได้มีการผลิต (แต่ Lada นั้น ผลิตขึ้นใช้เองแล้ว) เพียงแต่ได้มีการนำเสนอแบบให้กับอินเดีย พร้อมกับเรือดำน้ำชั้น Scorpène  Type 214 และ S1000 ซึ่งเป็นเรือดำน้ำรุ่นอัพเกรดของเรือดำน้ำชั้น Amur ที่มีประสิทธิภาพมากกว่า โดย S1000 นี้เป็นการร่วมทุนกันของบริษัท Rubin กับบริษัท Fincantieri ของอิตาลี แต่ในที่สุดอินเดียก็ได้เลือกเรือดำน้ำชั้น Scorpène จำนวน 6 ลำ มูลค่าสามพันล้านเหรียญสหรัฐฯ เป็นคำตอบสุดท้าย


    ทางด้านของบริษัท Kockums เจ้าของเรือดำน้ำสวีเดนหลายต่อหลายรุ่น รวมถึงรุ่นดังอย่างชั้น Gotland ด้วย ก็สนใจที่จะส่งออกเรือดำน้ำรุ่นใหม่บ้างเหมือนกัน เมื่อมองเห็นช่องทางการตลาดที่มีมูลค่ามหาศาล โดยได้ออกแบบและกำลังต่อเรือดำน้ำชั้น A 26 โดยลูกค้ารายแรกก็คือ กองทัพเรือสวีเดนนั่นเอง ส่วนในลำถัดๆ ไปที่จะนำออกจำหน่ายให้กับนานาประเทศนั้น สวีเดนก็กำลังทาบทามประเทศต่างๆ เข้ามาเป็นพาร์ทเนอร์ เพื่อลดค่าใช้จ่ายในช่วงของการทำวิจัยและการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน โดยได้ทาบทามประเทศ นอร์เวย์ และโปแลนด์ ซึ่งเคยเข้าร่วมโปรเจ็คต์ Nordic-Viking Submarine ด้วยกันมาก่อน (แต่ไม่ประสบความสำเร็จ) ส่วนอีกประเทศหนึ่งที่ Kockums กำลังจีบให้มาเข้าร่วมโปรเจ็คต์นั้นก็คือ สิงคโปร์ ที่ตอนนี้เข้าเป็นพาร์ทเนอร์กับอุตสาหกรรมทางทหารกับประเทศต่างๆ ไว้ทั่วไปหมดเช่น โครงการ Joint Strike Fighting F-35 ของสหรัฐอเมริกา

    ภาพวาดของเรือดำน้ำชั้น A 26 ของสวีเดน

    เรือดำน้ำของทุกบริษัทที่นำเสนอมานั้น ล้วนแล้วแต่เป็นเรือดำน้ำที่มีระวางขับน้ำอยู่ระหว่าง 1,100 – 2,500 ตัน ในขณะดำ ซึ่งสามารถปฏิบัติการได้ตั้งแต่เขตน้ำตื้น ช่องแคบ ตลอดจนถึงมหาสมุทร และมักจะมีตัวเลือกสำหรับประเทศในเขตร้อนเสมอ คือสามารถที่จะติดตั้งเครื่องปรับอากาศได้ และสามารถเลือกได้ว่าจะติดตั้งระบบ AIP หรือไม่ ซึ่งตรงนี้สามารถลดค่าใช้จ่ายลงไปได้อย่างมหาศาล เพราะระบบ AIP จัดเป็นระบบที่แพงมาก ซึ่งการมีตัวเลือกให้ติดตั้งระบบ AIP ได้ในภายหลังนี้ ทำให้ประเทศที่สนใจเรือดำน้ำประเภทนี้ตัดสินใจซื้อได้ง่ายขึ้น โดยเมื่อมีงบประมาณเพิ่มเติมในภายหลัง ก็สามารถอัพเกรด ระบบ AIP ได้ โดยทั่วไปแล้วจะดำเนินการโดยตัดตัวเรือออกเป็นสองท่อน แล้วแทรกตัวเรือทิ่ติดตั้งระบบ AIP มาแล้วลงไป แล้วต่อส่วนหัวท้ายกลับเข้าไปอย่างเดิม โดยโมดูลเชื่อมต่อต่างๆ ได้ออกแบบไว้เพื่อการนี้ไว้อยู่แล้ว ดังนั้นจึงมีผลกระทบต่อโครงสร้างและระบบเดิมของเรือน้อยมาก เว้นเสียแต่ว่า ตัวเรือจะมีความยาวเพิ่มขึ้นเท่านั้นเอง


    ขีดความสามารถอันน่าสะพรึงกลัวของเรือดำน้ำแบบดั้งเดิม

    สหรัฐฯ นั้น น่าจะเป็นประเทศที่กลัวภัยจากเรือดำน้ำชนิดนี้มากที่สุด ดังนั้นจึงมีความระแวดระวังมากกว่าประเทศอื่นๆ โดยนอกจากจะมีการฝึกซ้อมรบกับเรือดำน้ำ HMS Gotland ของสวีเดน เพื่อประเมินขีดความสามารถของตัวเองแล้ว ยังได้ทำการประเมินความอันตรายของเรือดำน้ำแบบดั้งเดิมนี้ออกมาอย่างน่าสนใจ อย่างเช่น อะไรบ้างที่เรือดำน้ำชนิดนี้สามารถจะกระทำได้

    เรือดำน้ำชั้น Gotland ของสวีเดน

    เมื่อพูดถึงเรือดำน้ำแบบดั้งเดิม สหรัฐฯ จะหมายถึง เรือดำน้ำโจมตี (Hunter Killer Submarine) ที่มีรหัสว่า SSK ซึ่งปัจจุบันสหรัฐฯ ไม่มีเรือดำน้ำประเภทนี้แล้ว แต่ประเทศอื่นๆ ยังนิยมใช้เรือดำน้ำประเภทนี้อยู่ และพัฒนาขึ้นมาเป็นภัยคุกคามต่อสหรัฐฯ อยู่ในขณะนี้ 


    ฝ่ายข่าวกรองของสหรัฐฯ (US Office of Naval Intelligence) ได้สรุปขีดความสามารถของเรือดำน้ำแบบดั้งเดิมออกมาเป็นหัวข้อได้แก่


    1. ลาดตระเวน สอดแนม รวบรวมข่าวกรอง ตรวจการณ์ในแนวหน้า จะมีอะไรที่สามารถแทรกซึมเข้าไปในดินแดนของข้าศึก แล้วเจ้าของบ้านเค้าไม่รู้ตัวได้ดีเท่ากับเรือดำน้ำล่ะครับ (เว้นก็แต่ดาวเทียมสอดแนม แต่มันก็ได้แค่สอดแนมเท่านั้น) และยิ่งเป็นเรือดำน้ำขนาดเล็กแค่ 1,000-2,000 ตันด้วยแล้ว ยิ่งเข้าไปได้ลึกจนมองเห็นแนวชายหาดเลยทีเดียว เรือดำน้ำจัดเป็นอาวุธที่มีความเสี่ยงน้อยที่สุดในการลอบเข้าน่านน้ำประเทศอื่น แล้วไม่ถูกจับได้ ในสถานการณ์ที่ล่อแหลมระหว่างประเทศ เรือดำน้ำสามารถใช้ลอบเข้าดินแดนข้าศึกได้โดยที่ไม่เพิ่มความตึงเครียดระหว่างประเทศ สามารถหลีกเลี่ยงการยกระดับของความบาดหมางทางการเมืองได้ โดยที่เรายังคงได้เปรียบในด้านการหาข้อมูลข่าวสาร 
    2. วางกำลังในแนวหน้า หากในสถานการณ์ระหว่างประเทศที่ตึงเครียดสุดๆ แล้ว เรือดำน้ำสามารถชิงลงมือปฏิบัติการได้ก่อน โดยไปวางกำลังในแนวหน้า เมื่อมีการประกาศสงครามขึ้นเมื่อไหร่ เรือดำน้ำสามารถที่จะดักจมเรือต่างๆ หรือวางทุ่นระเบิด หรือส่งชุดปฏิบัติการพิเศษเข้าไปในพื้นที่ได้ทันที เป็นการชิงความได้เปรียบทางยุทธวิธีได้อย่างดียิ่ง
    3. วางระเบิดแนวรุก โจมตีเรือ ก่อกวนเส้นทางคมนาคมในช่องแคบ หรือเส้นทางเดินเรือ เรือดำน้ำสามารถเพิ่มความสามารถในการซ่อนพรางได้เป็นอย่างดียิ่ง เมื่อแฝงตัวไปกับเรือต่างๆ มากมายที่ผ่านเข้าออกในเส้นทางคมนาคม ไม่ว่าจะเป็นเส้นทางขนส่งสินค้าทางทะเล ช่องแคบต่างๆ เพราะเสียงจากใบจักรต่างๆ ของเรือเล็กเรือใหญ่ เสียงของสภาวะแวดล้อม ที่สะท้อนไปมาอยู่ในช่องแคบ สามารถช่วยกลบเสียงของเรือดำน้ำขนาดเล็กเหล่านี้ ที่ก็มีความเงียบเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ทำให้ตรวจจับได้ยากเข้าไปอีก ดังนั้นการจะวางระเบิดปิดกั้นช่องแคบ การโจมตีเรือผิวน้ำ จึงเป็นเรื่องง่ายสำหรับเรือดำน้ำประเภทนี้
    4. ปฏิเสธการใช้ทะเล ข้อนี้นับเป็นจุดเด่นข้อใหญ่ ของเรือดำน้ำแบบดั้งเดิมนี้ เพราะเพียงเรือดำน้ำเล็กๆ ลำเดียวก็สามารถที่จะปฏิเสธการใช้ทะเลต่อประเทศต่างๆ ได้ โดยสหรัฐฯ ได้ประเมินว่า ต่อให้ประเทศที่ครอบครองเรือดำน้ำนั้น เป็นประเทศที่ยังอ่อนประสบการณ์ในเรื่องเรือดำน้ำ หรือการปราบเรือดำน้ำ ก็สามารถที่จะปฏิเสธการใช้ทะเลได้ และถ้าตกอยู่ในมือผู้ใช้ที่มากประสบการณ์แล้วล่ะก็ แม้คู่ต่อสู้ที่มีกองเรือที่มีระบบปราบเรือดำน้ำอันทันสมัยมากมาย ก็อาจจะต้องพ่ายให้กับเรือดำน้ำแบบนี้ก็เป็นได้
    5. ขนส่งและรับกลับชุดปฏิบัติการพิเศษ แม้ข้อนี้จะดูไม่ใช่อะไรที่แปลกใหม่เท่าใดนัก เพราะมีการส่งชุดปฏิบัติการพิเศษแทรกซึมขึ้นสู่ฝั่งด้วยเรือดำน้ำมาตั้งนานแล้ว แต่ก็ยังจัดเป็นคุณสมบัติเด่นของเรือดำน้ำอยู่ดี และเป็นที่นิยมสำหรับประเทศที่ขึ้นชื่อเรื่องหน่วยรบพิเศษทั้งหลายด้วย โดยในเรือดำน้ำรุ่นใหม่ๆ นั้น จะออกแบบให้มีห้องหรือที่พักสำหรับชุดปฏิบัติการพิเศษ และออกแบบให้ท่อยิงตอร์ปิโดมีขนาดใหญ่ขึ้น สำหรับส่งยานดำน้ำพร้อมชุดปฏิบัติการพิเศษออกไปทางท่อนี้ได้ด้วย หรือแม้แต่กระทั่ง ติดตั้งปืนกลไร้แรงสะท้อน แท่นปล่อย UAV บริเวณเสาที่เรียกว่า Mast เพื่อสนับสนุนชุดปฏิบัติการพิเศษได้อีกด้วย (ระบบ Gabler’s Triple M Modular Multifunction Mast)
    เรือดำน้ำชั้น Scorpène , O'Higgins ของชิลี

    จากเนื้อความที่ผมกล่าวมาทั้งหมดนี้ จะเห็นได้ว่าเรือดำน้ำนั้นมีประโยชน์อย่างมหาศาล และมีความคุ้มค่ามากถึงมากที่สุด มิฉะนั้นแล้ว ก็คงไม่เป็นที่สนใจของประเทศน้อยใหญ่ทั่วโลก และตลาดเรือดำน้ำคงจะไม่เติบโต และมีการแข่งขันสูงขึ้นอย่างในปัจจุบันนี้ 


    เอกสารอ้างอิง

    1. Jane’s Defenece Weekly Volume 48 ISSUE 15 , 13 APRIL 2011
    2. en.wikipedia.org
    3. http://vif2ne.ru/nvk/forum/archive/1825/1825730.htm
    4. Gotland class subs scare the US navy http://xmb.stuffucanuse.com/xmb/viewthread.php?tid=3056
Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in