เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
Navy's StoryKamchai Charoenpongchai
เรือดำน้ำ การรื้อฟื้นสุดท้าย หลังกบฏแมนฮัตตั้น
  • สวัสดีครับ ท่านผู้อ่าน กระผม "เจ้าชายน้อย" แห่ง "บันทึกไม่ประจำวันของเจ้าชายน้อย" จากเว็บบล็อก Exteen.com ตอนนี้มาประจำการที่ Minimore อย่างเป็นทางการแล้วครับ ซึ่งก็คงจะกลับมาเขียนบทความเกี่ยวกับทหารเรือ และสิ่งต่างๆ สัพเพเหระ ตามสไตล์บันทึกไม่ประจำวัน ต่อไปนะครับ ยินดีต้อนรับ สำหรับนักอ่านรุ่นใหม่ และยินดีต้อนรับกลับมา สำหรับบล็อกเกอร์ บล็อกเกลอ จาก Exteen ถ้าผ่านเข้ามาทักทายกัน ก็จะดีใจเป็นอย่างยิ่งครับ

    มาเข้าเรื่องบทความแรกกันเลยดีกว่า เดิมที ผมว่าจะเกริ่นนำ แนะนำตัว อะไรก่อน แต่คิดไปคิดมา คิดไม่ออกครับ ก็เลยขอนำบทความมานำเสนอกันเลยดีกว่า สำหรับบทความแรกนี้ เป็นบทความเกี่ยวกับเรือดำน้ำ ซึ่งได้เขียนขึ้นประกอบในเอกสารวิจัยของตัวเอง ในการเรียนหลักสูตรเสนาธิการทหารเรือ รุ่นที่ ๗๕ ปี พ.ศ. ๒๕๕๘ ในหัวข้อการวิจัยเรื่อง "การปฏิบัติการข่าวสารกรณีกองทัพเรือจัดหาเรือดำน้ำ" ซึ่งเนื้อหาจริงๆ นั้น มีเยอะมากเลยทีเดียว ก็เลยคัดเฉพาะบทสรุปมาให้เพื่อนๆ ในเฟซบุ๊คอ่านกัน แต่เนื่องจากบทความนั้น ยาวถึง ๒๓ หน้า ก็เลยไม่แน่ใจว่าจะมีคนอ่านกันหรือเปล่า เลยอยากจะซอยเป็นหัวข้อย่อยๆ สั้น ๆ และหลังจากที่ลงเอกสาร 23 หน้านั้นไปไม่นาน ก็มีสำนักข่าวหนึ่ง เขียนเรื่องคล้ายๆ แบบที่ผมเขียนตอนนี้นี่แหละครับ ผมก็เลยไม่แน่ใจว่า มีนักข่าวได้มาอ่านแล้วนำแนวคิดนี้ไปเขียนหรือเปล่า แต่ไม่ได้ลอกนะครับ แค่มีแนวคิดคล้ายกัน ผมก็เลยอยากนำเรื่องที่ผมเขียน เผยแพร่บ้าง เพื่อเป็นประโยชน์กับผู้ที่สนใจเรื่องการทหาร โดยเฉพาะทหารเรือ ได้ศึกษากันบ้างครับ อย่างไรก็ตาม ผมได้ปรับปรุงเนื้อหา และสำนวนให้ทันสมัยมากขึ้นด้วยครับ เอาล่ะครับ เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลา มาเข้าสู่บทความกันเลยดีกว่าครับ


    ประเทศไทย แม้จะเป็นชาติแรกในอาเซียนและเป็นชาติที่สองในเอเชียที่มีเรือดำน้ำ แต่ปัจจุบันกองทัพเรือไม่ได้มีเรือดำน้ำเข้าประจำการมายาวนานถึง ๖๔ ปีแล้ว ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ยาวนานมาก สำหรับชั่วชีวิตของมนุษย์ ทำให้การมีอยู่หรือการรับรู้ของคนไทย ที่มีต่อเรือดำน้ำนั้นขาดช่วงไป จนเด็กหนุ่มสาว หรือแม้แต่วัยกลางคนในยุคนี้ ก็ยังมีผู้ที่ไม่ทราบว่า ประเทศไทยเคยมีเรือดำน้ำ

    ซึ่งสาเหตุหนึ่ง ก็เป็นเพราะเรื่องราวของเรือดำน้ำทั้งในช่วงที่มีเรือดำน้ำประจำการ จนถึงหลังปลดประจำการ แทบจะไม่ได้มีการเผยแพร่สู่สาธารณชน เพื่อให้เกิดภาพจำ หรือทำให้เกิดความภาคภูมิใจ มิหนำซ้ำยังไม่ได้ทำให้เกิดความรู้สึกว่าเรือดำน้ำเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับประเทศแต่อย่างใด แต่ในเรื่องนี้อาจจะไม่ใช่ความผิดของใคร เนื่องจากในปีที่ปลดประจำการเรือดำน้ำนั้น กองทัพเรือเองก็ประสบกับปัญหาการปรับโครงสร้าง การถูกลดบทบาททั้งในทางการทหารและการเมืองครั้งใหญ่จากกรณีกบฏแมนฮัตตั้น ในปี พ.ศ.๒๔๙๔

    ซึ่งผลในครั้งนั้น เป็นที่มาของการปลดระวางเรือดำน้ำทั้ง ๔ ลำ และยุบหมวดเรือดำน้ำ พร้อมๆ กับหน่วยงานอื่นๆ ในกองทัพเรืออีกหลายหน่วย โดยเฉพาะหน่วยที่มีศักยภาพในการทำการรบสูง เช่น กองบินทหารเรือ กรมนาวิกโยธิน กองต่อสู้อากาศยานและกองปืนใหญ่รักษาฝั่ง กองสารวัตรทหารเรือ กรุงเทพฯ รวมถึงกองสัญญาณทหารเรือ ซึ่งเป็นหน่วยสนับสนุน อีกด้วย ซึ่งกว่าที่หน่วยงานทั้งหมดจะได้รับการจัดตั้งขึ้นมาใหม่ และมีขีดความสามารถทัดเทียมกับในสมัยนั้น ก็ต้องใช้เวลาอีกหลายปี

    โดยหน่วยงานแรกที่ถูกจัดตั้งขึ้นมาอีกครั้งหนึ่งก็คือ กรมนาวิกโยธิน ในพ.ศ.๒๔๙๘ และสถาปนาขึ้นเป็นหน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน พร้อมทั้งจัดตั้งกองพลนาวิกโยธิน ในปี พ.ศ. ๒๕๓๒ ส่วนกองบินทหารเรือภายหลังจากที่โดนยุบ ก็ถูกโอนทั้งเครื่องบิน กำลังพล และอาคารสถานที่ไปให้กับกองทัพอากาศ แต่ด้วยความจำเป็นในการป้องกันประเทศตามแนวชายฝั่ง กองบินทหารเรือจึงได้รับการจัดตั้งขึ้นมาอีกครั้ง โดยเริ่มจากการเป็นหมวดบินทหารเรือ ใน พ.ศ.๒๕๐๗ อาศัยพื้นที่ในกองทัพอากาศ และค่อยๆ เติบโตขึ้นเป็นกองบินทหารเรือ และใน พ.ศ.๒๕๑๔ และขยายอัตราเป็นกองการบินทหารเรือประกอบด้วย ๒ กองบิน ๗ ฝูงบิน ในปี พ.ศ.๒๕๓๓
    เครื่องบินทะเล และกำลังพลทหารเรือของราชชนาวี ก่อนเหตุการณ์กบฏแมนฮัตตั้น

    ส่วนกองต่อสู้อากาศยานและกองปืนใหญ่รักษาฝั่ง ได้ถูกจัดตั้งขึ้นมาใหม่เป็นกองร้อยทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง(เพื่อพลาง)เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๒ และพัฒนาเป็นกรมต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง ใน พ.ศ.๒๕๒๔ จนกระทั่งเป็นหน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง ในปี พ.ศ.๒๕๓๓

    กองสารวัตรทหารเรือจัดตั้งขึ้นมาใหม่อีกครั้งในปี พ.ศ.๒๔๙๖ และพัฒนาขึ้นเป็นกรมสารวัตรทหารเรือ ในปี พ.ศ.๒๕๐๑ ส่วนกองสัญญาณทหารเรือ ถูกจัดตั้งขึ้นมาใหม่ในนามกองสื่อสาร ขึ้นกับกรมยุทธการทหารเรือ เมื่อ ปีพ.ศ.๒๔๙๖ และพัฒนาขึ้นเป็น กรมสื่อสารทหารเรือในปี พ.ศ. ๒๕๐๑ ซึ่งปัจจุบันได้เปลี่ยนชื่อเป็น กรมการสื่อสารและเทคโนโลยีสารสนเทศ กองทัพเรือ

    และจนมาถึงหน่วยงานสุดท้าย คือ กองเรือด้ำน้ำ ที่ได้รับการจัดตั้งขึ้นมาใหม่ในปี พ.ศ. ๒๕๕๔ แต่ยังไม่มีเรือดำน้ำประจำการ ซึ่งจากการทำสัญญาจัดซื้อจัดจ้างต่อเรือดำน้ำล่าสุดนี้ ก็ต้องใช้เวลาอีก ๖ ปี เป็นอย่างเร็ว กว่าจะได้เรือดำน้ำเข้าประจำการ ดังนั้นจึงเท่ากับว่า กองทัพเรือจะต้องใช้เวลายาวนานถึง ๗๒ ปี กว่าที่หน่วยต่างๆ ที่ถูกยุบในครั้งนั้น จะถูกจัดตั้งขึ้นมาใหม่ได้หมด แบบที่มีอุปกรณ์ครบด้วย (ยกเว้นก็แต่ มณฑลทหารเรือ แต่ในปัจจุบันก็มี ทัพเรือภาคและฐานทัพเรือ ซึ่งมีภารกิจแบบเดียวกันขึ้นมาแทนที่)

    กองบัญชาการกองเรือดำน้ำ ในปัจจุบัน

    จะเห็นได้ว่ากองทัพเรือได้พยายามต่อสู้และรื้อฟื้นหน่วยขึ้นตรงต่างๆ ที่มีความสำคัญต่อการป้องกันประเทศของกองทัพเรือให้จัดตั้งขึ้นมาใหม่ได้เป็นลำดับๆ แต่ก็ต้องใช้เวลากว่าครึ่งศตวรรษในการรื้อฟื้นหน่วยงานทั้งหมดขึ้นมา ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจเลยที่เรือดำน้ำจะเป็นสิ่งสุดท้ายที่กองทัพเรือจะสามารถกู้กลับคืนมาได้ เนื่องจากเป็นยุทโธปกรณ์ที่มีราคาแพงมากที่สุด ไม่สามารถที่จะค่อยๆ จัดหาไปทีละชิ้นละอันได้ จะซื้อก็ต้องทุ่มเงินก้อนใหญ่จึงจะได้มา ในขณะที่ประเทศต้องการเงินไปพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ และยังต้องต่อสู้กับลัทธิการเมืองการปกครองแบบคอมมิวนิสต์ ซึ่งรัฐบาลต้องให้ความสนใจกับเรื่องดังกล่าวก่อน ดังนั้น กองทัพเรือจึงจำเป็นต้องจัดลำดับของเรือดำน้ำไว้เป็นประการสุดท้าย เพื่อเปิดทางให้หน่วยงานที่จำเป็นอื่นๆ ได้สถาปนาขึ้นมาอย่างมั่นคงก่อน ซึ่งกองทัพเรือรู้ดีว่าการเสนอเรื่องจัดหาเรือดำน้ำขึ้นมาในยุคสมัยนั้นคงจะสำเร็จได้ยาก

    แต่ ณ ปัจจุบันอาจจะกล่าวได้ว่าเป็นเวลาที่สมควรแล้วที่กองทัพเรือจะมีเรือดำน้ำเพราะสภาวการณ์ความมั่นคงภายนอกประเทศเริ่มบ่งชี้ว่าความไม่สงบ จะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาพื้นที่ทับซ้อนบริเวณหมู่เกาะในทะเลจีนใต้ ซึ่งเราอาจจะไม่ได้รับผลกระทบในลำดับแรก แต่ก็อาจจะถูกดึงเข้าไปเกี่ยวข้องได้ ดังกรณีสงครามเกาหลี ซึ่งพื้นที่พิพาทไม่ได้เกี่ยวข้องกับไทยเลยแม้แต่น้อย แต่ไทยก็ถูกดึงเข้าร่วมสงคราม ปัญหาเศรษฐกิจซบเซาทั้งในสหรัฐอเมริกาและยุโรป การขยายกำลังทหารของประเทศจีน ท่าทีที่แข็งกร้าวของผู้นำเกาหลีเหนือ และการทดลองอาวุธนิวเคลียร์หลายต่อหลายครั้งของเกาหลีเหนือ ล้วนแล้วแต่เป็นสถานการณ์ที่น่ากังวลต่อความมั่นคงของประเทศเราเป็นอย่างยิ่ง

    ประเด็นสำคัญ อีกประการหนึ่งก็คือ การจัดหาเรือดำน้ำของประเทศต่างๆ ในอาเซียน ซึ่งมิใช่แต่การจัดหาเพียง ๑ หรือ ๒ ลำ แต่เป็นการจัดหาในระดับกองเรือ จึงน่าเป็นห่วงว่ากองทัพเรือไทยจะถูกทิ้งห่างจากศาสตร์ด้านสงครามใต้น้ำ ซึ่งการปล่อยให้เกิดช่องว่างไม่ว่าจะเป็นทางด้านเทคโนโลยีของเรือดำน้ำ หรือด้านความรู้ในการปราบเรือดำน้ำขององค์บุคคลก็ดี ย่อมจะต้องก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อความมั่นคงของประเทศ เนื่องจากเราจะเรียนรู้ไม่ทันประเทศเพื่อนบ้าน เพราะศาสตร์ด้านเรือดำน้ำ ไม่ใช่เรียนรู้เพียงแค่วันสองวัน ก็สามารถรบได้เลย แต่ต้องใช้เวลาสะสมองค์ความรู้นานกว่านั้น ในระดับหลายปี จนถึงเป็นสิบปีทีเดียว เพราะฉะนั้น หากมีการจัดซื้อเรือดำน้ำช้าเท่าไหร่ กองทัพเรือก็จะถูกทิ้งห่างทางความรู้ไปนานเท่านั้น  ซึ่งโดยปกติแล้ว เราเองก็ยอมรับว่า การศึกษาเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ในการทำกิจการงานใดๆ เพียงแต่ศาสตร์ด้านเรือดำน้ำนั้น ไม่สามารถเรียนจากในตำราได้เพียงอย่างเดียว จะต้องมีการปฏิบัติและต้องมีของจริงให้ทดสอบ ทดลอง เรียนรู้ จึงจะทำให้เกิดองค์ความรู้ในระดับที่จะใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งในความหมายของกองทัพเรือก็คือ "รบชนะ"

    ซึ่งหากเริ่มวันนี้ ก็ต้องใช้เวลาอีกนานกว่าจะถึงเป้าหมายในตอนนั้น ซึ่งในระหว่างที่เรายังไม่พร้อมนั้น ก็คาดคะเนได้ยากว่า ภัยจะมาถึงเราในอนาคตเมื่อไหร่ และประเทศก็ยังมีความเสี่ยงอยู่ต่อไป
Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in
ชอบ และเป็นกำลังใจ ขอให้เขียนต่อเนื่อง เป็นสาระบันเทิงครับ
Kamchai Charoenpongchai (@shaimailbox)
@kantawat_yamapa ขอบคุณครับ
Nattapon Bunsiwwong (@apple_th)
น้ากำสู้ ๆ เราก็ช่วยกันประชาสัมพันธ์ให้ ทร.กันต่อไป