เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
สมคบคิด(เอาเอง)I-love-thee
Click Like Theory(ทฤษฎีกดไลค์) เรากด Like เพราะว่า Like จริงๆหรือเปล่า
  • *คำเตือน :ข้อความต่างๆในบทความนี้เป็นเพียงความคิดเห็นส่วนตัวของผู้เขียนเท่านั้นจึงไม่สามารถนำไปอ้างอิงหรือให้เหตุผลตามหลักวิชาการได้ 

    ในปัจจุบันเราใช้บริการเครือข่ายสังคมออนไลน์กันอย่างกว้างขวางจนแทบจะเรียกได้ว่าเกือบทุกคนที่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ต้องมีอย่างน้อยคนละหนึ่งบัญชี ด้วยลักษณะการใช้งานที่เอื้อให้มีการเผยแพร่หรือที่เรียกกันว่า 'แชร์' เรื่องราวต่างๆของเจ้าของบัญชีก็จำเป็นจะต้องมีวิธีการหรืออัลกอริทึมบางอย่างเพื่อแสดงฟีดแบ็คกลับสู่เจ้าของบัญชีซึ่งนั่นก็รวมถึงการคอมเม้นต์และการกดไลค์

    การคอมเม้นต์หรือพิมพ์เพื่อแสดงความคิดเห็นนั้นจะเป็นฟีดแบคที่ตรงไปตรงมา อาศัยการตีความตามตัวหนังสือ แต่ก็เป็นวิธีการ interact ที่ผู้คอมเม้นต์อาจจะต้องรู้สึกว่าตัวเองมีความสนิทสนมหรือมีความสำคัญกับเจ้าของบัญชีหรือผู้โพสในระดับหนึ่ง แต่การกดไลค์นั้นจะเป็นสิ่งที่ค่อนข้างคลุมเครือกว่าที่จะบอกว่าผู้ที่มา interact นั้นมีความรู้สึกจริงๆอย่างไร

    เหตุผลที่เรากดไลค์กันนั้นจริงๆแล้วเรามีจุดประสงค์อะไรกันแน่

    1. เพราะว่า Like จริงๆ ข้อนี้ตรงไปตรงมาตามความหมายของของชื่อปุ่ม เรากดถูกใจสิ่งนี้เพราะรู้สึกถูกใจจริงๆ ไม่ได้มีนัยอื่นแอบแฝง

    2. เพื่อแสดงว่าเรารับรู้แล้ว บางทีสื่อออนไลน์ก็ถูกนำมาใช้ในเชิงธุรกิจหรือใช้ในการประกาศข่าวสารของกลุ่ม หรือหน่วยงานต่างๆ การโพสรูปภาพหรือข้อความบางอย่างอาจมีจุดประสงค์เพื่อแจ้งให้ทราบ และการกดไลค์ก็เป็นการบอกว่าเราได้รับรู้หรือเข้าใจในสิ่งที่แจ้งแล้ว

    3. กดไลค์ตามมารยาท ในสื่อสังคมออนไลน์บางทีเราก็จำเป็นต้องเป็นเพื่อนกับหัวหน้างาน เจ้านาย ญาติผู้ใหญ่ หรือครูบาอาจารย์ ก็กดไลค์ให้บ้างจะได้ดูไม่น่าเกลียด

    4. กดไลค์เพราะว่าเขาเคยมากดไลค์ให้เรา บางทีก็ไม่ได้รู้จักกันด้วยซ้ำแต่เขาก็อุตส่าห์มาไลค์เรา (อันนี้ออกแนวเป็นหนี้บุญคุณนิดๆ +555)

    5. อยากให้เขาสนใจ สิ่งที่ตามมาจากการกดไลค์คือการแจ้งเตือนไปยังเจ้าของบัญชี ดังนั้นการกระหน่ำไลค์แบบรัวๆมันก็จะทำให้รูปโปรไฟล์และชื่อไอดีของคุณปรากฏอยู่บนหน้าแจ้งเตือนของเขาแบบรัวๆเรียงเป็นตับด้วยเช่นกัน

    6. ประชด บางทีเราก็เลือกทำในสิ่งที่สวนทางกับความรู้สึก ถ้ามีความสัมพันธ์อันดีต่อกันอยู่แล้วก็คงไม่แปลกที่จะกดไลค์ให้กัน แต่สำหรับคนที่ไม่ชอบหน้ากันการกดไลค์อาจจะเป็นการแสดงออกบางอย่างที่ตรงกันข้ามกับความหมายที่แท้จริงของชื่อปุ่ม

    และด้วยความคลุมเครือเหล่านี้จึงทำให้การกดไลค์จึงเป็นวิธี interact ที่นิยมใช้กันมากว่าการคอมเม้นต์  เพราะมันสามารถตีความได้หลายทาง แต่จะเป็นในทางดีหรือทางร้ายนั้นก็ขึ้นอยู่กับเรื่องราวและสถานะความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าของบัญชีและผู้กดไลค์ว่าเป็นไปในทิศทางใด

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in