เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
Contemporary World Literature in EnglishSOLITUDE IS BLISS
Listen to the Unheard Voice: Reading on 'The Vegetarian' by Han Kang

  • วรรณกรรมเกาหลีใต้ที่สามารถสะท้อนภาพสังคมวัฒนธรรมไทย และนำพาให้คุณเข้าใจคนไร้เสียงได้มากขึ้น

    Hello beautiful people! กลับมาอีกครั้งแล้วนะคะ ในครั้งนี้ เราได้จะพาทุกคนทั้งที่เคยได้อ่าน และไม่เคยได้อ่านมาร่วมกันอ่าน(ไม่)เอาเรื่องกับ The Vegetarian วรรณกรรมจากประเทศเกาหลีใต้ แต่งโดยนักเขียนหญิง Han Kang (ฮัน คัง) ในปี 2007 และแปลเป็นภาษาอังกฤษโดย Deborah Smith (เด็บบอรา สมิธ) ในปี 2015 โดยหนังสือเล่มนี้ได้รับรางวัล Man Booker International Prize ประจำปี 2016

    นวนิยายยาว 183 หน้าเล่มนี้ว่าด้วยชีวิตของหญิงสาวชาวเกาหลีใต้ 'ยองฮเย' ที่ชีวิตของเธอพังเพียงเพราะการตัดสินใจเลิกกินเนื้อสัตว์ และมาหันทานมังสวิรัติ 

    การอ่านนวนิยายเรื่องนี้เป็นประสบการณ์เกี่ยวกับวรรณกรรมเกาหลี(และวรรณกรรมนอกประเทศตะวันตกที่เป็นภาษาอังกฤษ)เรื่องแรกของเรา ซึ่งมันท้าทายมาก ด้วยลักษณะภาษา โทน มุมมอง และการเล่าเรื่องของตัวผู้แต่งเอง แต่อย่างไรก็ตาม เราสามารถเชื่อมโยงตัวเองกับวรรณกรรมเล่มนี้ได้ไม่ยาก เนื่องจากสังคมและวัฒนธรรมของไทยและเกาหลีค่อนข้างมีความใกล้เคียงกัน มันจึงนำพาผู้อ่านให้เข้าใจประสบการณ์ของของผู้หญิงคนหนึ่งในฐานะมนุษย์ได้เป็นอย่างดี อีกทั้งวรรณกรรมเล่มนี้ยังมีจุดเด่นที่แตกต่างจากวรรณกรรมเอเชียทั่วไปคือ มีเนื้อหาเกี่ยวกับเพศ และการใช้ภาษาที่ตรงไปตรงมา โจ่งแจ้ง เปิดเผย ซึ่งขัดกับวัฒนธรรมปลายทาง(ผู้อ่าน)อย่างเรา ที่มักจะคิดว่า เรื่องเพศเป็นเรื่องน่าอาย ไม่ควรเอ่ยถึงในที่สาธารณะ

    (Sorry, Spoiler Alert!) เนื้อหาหลังจากนี้เปิดเผยเนื้อหาสำคัญของเรื่อง

    นวนิยายเล่มนี้แบ่งออกเป็น 3 พาร์ท ในมุมมองที่แตกต่างกันเล่าเรื่องเกี่ยวกับยองฮเย หญิงสาวชาวเกาหลีใต้กับชีวิตหลังจากแต่งงานไปแล้ว 5 ปี และเธอก็ไม่ได้มีลูกกับสามี หลังจากวันหนึ่งที่เธอฝัน เธอได้ตัดสินใจเลิกกินเนื้อสัตว์ และโยนทุกอย่างที่เป็นเนื้อที่อยู่ในตู้เย็นลงถุงดำ

    อย่างไรก็ตาม ยองฮเย ไม่ใช่ตัวละครเอก หรือแม้แต่จะเป็นตัวละครหลัก เรารับรู้เรื่องราวของเธอผ่าน สามี พี่เขย และพี่สาว เสียงของเธอเงียบลงเรื่อย ๆ และในตอนท้ายคำพูดของเธอแทบจะไม่ปรากฎ กลวิธีในการเล่าเรื่องแบบนี้ น่าสนใจมาก และมันทำให้ผู้อ่านรู้สึกอึดอัดอยุู่ในที เนื่องจากผู้เขียนไม่ได้เขียนเล่าถึงประเด็นทางสังคมแบบตรงไปตรงมา แต่มันแฝงอยู่ในชีวิตประจำวัน และ dialogues ของตัวละครในเรื่อง

    โดยปกติแล้ว ในสังคมเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นสังคมอนุรักษ์นิยมสูงและได้รับอิทธิพลจากขงจื๊อ มีความเหลื่อมล้ำทางเพศสูง ปรากฏให้เห็นได้จากการไร้อำนาจต่อรองของผู้หญิง หรือแม้แต่จะเป็นการขดขี่สตรี ซึ่งเป็นผลจากวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่ สมาชิกในครอบครัวต้องอยู่ภายใต้หัวหน้าครอบครัว ซึ่งเป็นเพศชายเท่านั้น มันจึงให้อำนาจพิเศษแก่เพศชาย และทำให้ผู้หญิงตกอยุู่ภายใต้สถานะที่ต่ำกว่า และไม่สามารถมีปากเสียงไปโดยปริยาย อีกทั้งผู้ชายก็สามารถใช้ความรุนแรงกับผู้หญิงได้เป็นเรื่องปกติ ผู้หญิงจึงต้องฟังคำสั่งสามีกับพ่ออย่างเคร่งครัด อิทธิพลขงจื๊อได้กำหนดหน้าที่และพฤติกรรมของคนในสังคมนั้นมันฝังรากลึกลงไปในสังคมและวัฒนธรรมของเกาหลีใต้

    ความเป็นหญิงและการกินมังสวิรัติของเธอ จึงทำให้เธอถูกทำให้แปลกแยกและเป็นชายขอบถึงสองครั้งสองครา อีกทั้ง เธอยังไม่ชอบการใส่บรา โดยให้เหตุผลกับสามีว่า มันเป็น'กดทับ'ตัวเธอ การพยายามปลดปล่อยตัวเองออกจากค่านิยมทางสังคม ความเชื่อ และวัฒนธรรมเกาหลีใต้ มันท้าทายความคาดหวังของสังคมที่มีต่อเพศหญิง เธอปฏิเสธที่จะใช้ชีวิตในฐานะภรรยาที่ต้องทำหน้าที่ดูแลสามี ทำอาหารให้เขาทาน ทำงานบ้าน และเป็นเมีย

    เปิดบทที่หนึ่ง The Vegetarian ด้วยประโยคที่ว่า "Before my wife turned vegetarian, I'd always thought of her as completely unremarkable in every way." (p. 1) สามีของเธอได้บอกเล่าเอาไว้ว่า ยองฮเยก็เป็นเพียงผู้หญิงธรรมดาเท่านั้น แต่เมื่อเธอได้ตัดสินใจที่ทานมังสวิรัติ รับประทานแต่ผักและเต้าหู้เท่านั้น และเธอจะไม่ทำอาหารที่มีเนื้อสัตว์หรือนำเนื้อเข้ามาในอพาร์ทเม้นต์ของเธอและสามีอีก สามีของเธอคิดว่า "How on earth could she be so self-centered?" (p. 13) เขาไม่พอใจอย่างมาก เขาคิดว่าเป็นไปได้อย่างไรที่ภรรยาที่ว่านอนสอนง่ายและแสนจะเงียบขรึมกลับกลายเป็นแบบนี้ ในโลกของสามีของเธอนั้น เต็มไปด้วยเรื่องราวของเขาทั้งหมด สามีใช้ภาษาแบบมีเหตุผล และเป็นวิทยาศาสตร์ (rationalism and enlightenment) แต่หนังสือเล่มนี้ไม่ได้เล่นง่ายขนาดนั้น เพราะมันกำลังตั้งคำถามกับสิ่งที่สมเหตุสมผล และสิ่งที่คนยอมรัับกันโดยทั่วไป โดยใช้วิธีเล่าผ่านความฝันของยองฮเยซึ่งมีลักษณะที่ตรงข้ามกัน ความฝันนั้นเล่าผ่านตัวหนังสือที่เอียง "Dark woods. No people. The sharp-pointed leaves on the trees, my torn feet. This place, almost remembered, but I'm lost now." (p. 12) ภาษาของยองฮเยเป็นแบบ 'language of devastation' ประโยคไม่สมูบรณ์ ทุกอย่างเป็นอิสระต่อกันและสามารถอยู่ได้ด้วยตนเอง มันพยายามท้าทายและสั่นคลอนอำนาจของผู้ชาย(ตัวสามี)ที่รู้ไปเสียทุกอย่าง ภาษาแบบนี้มันอยู่นอก 'the house of reason' ดังนั้น ยองฮเยจึงเป็นตัวแทนของการรับรู้โลกด้วยภาษาที่ไม่เป็นเหตุผล

    หลังจากเหตุการณ์ความรุนแรงในครอบครัว และยองฮเยถูกส่งเข้าไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลจิตเวช เธอได้หย่ากับสามี และรู้สึกว่าครอบครัวกลายเป็นคนแปลกหน้าไปแล้ว "Every single one of them - her parents who had force-fed her meat, her husband and siblings who had stood by and let it happen - were distant strangers, if not actual enemies. " (p. 67) เธอเผชิญกับการขดขี่ทุกรูปแบบไม่ว่าจะเป็นร่างกาย จิตใจ คำพูด หรือทางเพศ​ แต่เธอไม่ได้ใช้ความรุนแรงนั้นกลับคืนใส่ผู้อื่น เธอเลือกที่จะทำร้ายตัวเอง โดยพยายามฆ่าตัวตายผ่านวิธีการกรีดข้อมือตัวเอง โรคทางจิตเวชหรือการมีสุขภาพจิตที่ผิดปกติ (mental heath) นั้น ในสังคมเกาหลีใต้ก็มองว่าเป็นเรื่องต้องห้าม (taboo) เช่นเดียวกัน ดังนั้น สิ่งที่ยองฮเยต้องเผชิญจึงหนักหนาเกินไปสำหรับมนุษย์คนหนึ่ง ยองฮเยตกเป็นเหยื่อของการข่มขืนและความรุนแรง 

    นวนิยายเรื่องนี้ ได้ตั้งคำถามว่า่ การเป็นมนุษย์มีความหมายอย่างไร โลกของมนุษย์เต็มไปด้วยความโหดร้าย อันตราย ความผิดบาป และความรุนแรง ยองฮเยได้ตระหนักถึงข้อเหล่านี้ดี ความรุนแรงเหล่านี้ที่เธอเผชิญนำไปสู่การลดทอนความเป็นมนุษย์ โดยทำให้จิตใต้สำนึกของเธอแปลกแยก นำไปสู่ 'mental trauma' และพยายาม identify ว่าตัวเป็นต้นไม้ (ธรรมชาติ) โดยเธอแสดงออกผ่านการพยายามฆ่าตัวตายหรือการเปลือยร่างกายต่อหน้าสาธารณชนของเธอ เพียงเพราะเธออยากเป็นต้นไม้ และได้รับแสงแดด เราอาจมองได้ว่า จริง ๆ แล้ว เธอไม่ได้อยากตาย แต่เธออยากหยุดการใช้ชีวิตแบบ'พวกเรา' (มนุษย์/วัฒนธรรม) เธออยากละทิ้งความเป็นมนุษย์ และอยากอยู่อย่างสันติในฐานะองคาพยพหนึ่งของโลก โดยทราบได้จากประโยคที่ยองฮเยได้บอกกับพี่สาวของเธอว่า “Sister . . . all the trees of the world are like brothers and sisters.” (p. 144) 

    หากเรามองตัวบทเรื่องนี้โดยเปรียบเทียบวรรณกรรมและจิตวิทยา เราอาจจะมองได้ว่า ประสบการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจ (traumatic experience) ความกลัวหลังจากการเผชิญฝันร้ายของเธอ ที่พลิกผันให้เธอเลิกกินเนื้อนั้น มันหวนคืนอดีตอันขมขื่นและเจ็บปวดกลับมาอีกครั้ง และความฝันนั้นทำให้เธอนึกถึงและได้สะกิดบาดแผลในวัยเด็กที่ถูกปิดไปแล้วให้เปิดขึ้นอีกครั้ง จิตใต้สำนึกของยองฮเยจึงระลึกถึงภาพในวัยเด็กที่เธอได้กินสุนัขตัวเดียวกันกับที่กัดเธอ เพื่อรักษาเยียวยาบาดแผลตามความเชื่อโบราณ

    นัยสำคัญที่สุดของตัวบทนี้คือ ความล้มเหลวในการทำความเข้าใจและตีความหมายของผู้คนที่อยู่ใกล้ชิดเรามากที่สุด ยองฮเยต้องเผชิญกับความอ้างว้างและสิ้นหวัง ในขณะที่เธอพยายามทำให้คนในครอบครัวเข้าใจ เธอคาดหวัง 'words of comfort' แต่ไม่มีเลย พวกเขาไร้ความปรานีกว่านั้น ในไม่ช้า เธอได้พบกับความโดดเดี่ยว เนื่องจากการแทรกแซงจากบุคคลภายนอก โดยสำคัญคือคนใกล้ชิดเธอเอง ไม่ว่าจะเป็น สามี ครอบครัว และหมอ 

    ในบทสุดท้าย Flaming Trees ซึ่งเล่าโดยตัวพี่สาว 'อินฮเย' แม้ในตอนแรก เธอจะไม่เข้าใจในการกระทำของน้องสาวของเธอ แต่เธอกลับเป็นบุคคลที่ประนีประนอมที่สุด เธอทำเพื่อความอยู่รอดของชีวิตน้องสาว เพราะรู้อยู่แล้วว่า หากเธอละทิ้งยองฮเยไป ยองฮเยจะไม่เหลือใคร ในตอนแรกของนวนิยาย อินฮเย เป็นเพียงผู้หญิงคนหนึ่งที่ไม่มีความสุขในการเติบโต แต่เธอก็สามารถทำมันออกมาได้ดี ใช้ชีวิตที่ดีในระเบียบแบบแผนที่ถูกวางเอาไว้ได้ แต่ในท้ายที่สุด ดูเหมือนว่าอินฮเยจะพบกับความหมายบางอย่างในการตัดสินใจของยองฮเย และบางทีเธอกลับอิจฉาที่น้องสาวของเธอสามารถโยนทิ้งข้อจำกัดทางสังคมทั้งหลาย ขณะที่ตัวเธอเองไม่สามารถพาตัวเองข้ามไปได้ "She'd been unable to forgive her for soaring alone over a boundary she herself could never bring herself to cross, unable to forgive that magnificent irresponsibility that had enabled Yeong-hye to shuck off social constraints and leave her behind, still a prisoner." (p. 143) 

    เราเชื่อว่าทุกคนที่อยู่ใกล้คนแบบยองฮเยอาจจะมีความพยายามในการบังคับเธอให้กลายเป็นคนอื่น หรือทำอะไรในสิ่งที่เธอไม่อยากทำ "Why, is it such a bad thing to die?" (P. 157) ยองฮเยถามกับพี่สาว อินฮเย คำถามนี้เป็นความจงใจที่จะตั้งคำถามกับผู้อ่านด้วยเช่นกัน ว่ามันมี สิทธิและเสรีภาพในสิ่งที่เราอยากจะเป็นไหม แต่พี่สาวเธอกลับตอบกลับในช่วงสุดท้ายก่อนจบว่า "... we have to wake up at some point, don't we?" (p. 182)  สิ่งเหล่านี้มันทำให้คนเหล่านี้สูญเสียแรงจูงใจและความมั่นใจในการแสดงออกทางอารมณ์และความรู้สึก คิดว่าการแบ่งปันความคิดและปัญหาของพวกเขากับคนใกล้ตัวเป็นสิ่งที่ไร้ประโยชน์ และทำให้พวกเขาเก็บความรู้สึกและประสบการณ์เรื่องราวของพวกเขาไว้กับตนเอง โดยแยกตัวเองออกไป ดังนั้้น แทนที่เราจะทอดทิ้งหรือพาคนแบบยองฮเยไปทิ้งไว้ที่โรงพยาบาลจิตเวชเหมือนที่ครอบครัวของเธอทำ หากคนในครอบครัวยอมรับเงื่อนไขของเธอ อดทน และฟังเธออย่างตั้งใจ อาการของเธออาจจะดีขึ้น และเป็นแรงบัลดาลใจให้เธอที่อยากจะรักษาตัวให้หาย

    ความเห็นอกเห็นใจ (empathy) และการฟังแบบตั้งใจ เป็นกุญแจสำคัญในการนำพาพวกเขาไปสู่ทางออก โรคทางจิตเวชสามารถหลีกเลี่ยงได้โดยการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ และการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีให้เกิดขึ้น โดยเฉพาะคนในครอบครัวและคนใกล้ตัวกับคนแบบยองฮเย เพราะคนใกล้ตัวเหล่านี้อาจสร้างความเครียดและความบอบช้ำให้กับพวกเขามากขึ้นได้

    คำถามคือ เราจะฟังอย่างไร จริง ๆ แล้วเสียงพูดของยองฮเยไม่ได้ถูกทำให้เงียบหรือจางหายไป แต่คนฟังที่เป็นคนรอบตัวเธอนั้นไม่ได้ยินเธอต่างหาก พวกเขาไม่สามารถตีความคำพูดของยองฮเยได้อย่างเหมาะสม เพราะพวกเขามีวิธีคิดที่มองโลกคนละแบบกับโลกของยองฮเย ดังนั้น หากเราจะพยายามทำความเข้าใจคนแบบยองฮเย อย่าเผลอเอาตัวเราไปตัดสินเขา แต่เราควรปล่อยให้เขาได้เล่า และวาดออกแบบโลกของพวกเขาเองให้เราฟัง

    ในสังคมไทย เราอยู่ในสังคมที่เราไม่ค่อยฟังกันจริง ๆ เท่าไร เวลาเราพบเจอหน้ากัน เราถามว่า 'เธอเป็นไงบ้าง?' แต่เราไม่ได้ตั้งใจ "รับฟัง" คำตอบของคู่สนทนาจริง ๆ  เรารอคอยที่จะสลับตำแหน่งบทบาทจากผู้ฟังเป็นผู้พูด เพื่อที่เราจะได้บอกเล่าเรื่องราวที่ตัวเราอยากจะพูดและนำเสนอเพียงเท่านั้น ขั้นแรก เราควรเรียนรู้วิธีการฟังคนที่อยู่รอบข้างเราจริง ๆ คนที่เรารัก ถามพวกเขาอย่างจริงใจ และตั้งใจรับฟังในสิ่งที่พวกเขาประสบพบเจอมาจริง ๆ โดยไม่พยายามเอากรอบความคิด การมองโลก หรือบริบทของตัวเราไปตัดสินใจเขาจนทำให้เราไม่สามารถตีความเรื่องราวของเขาได้อย่างเหมาะสม  และสุดท้ายคือ ช่วยเหลือพวกเขาในสิ่งที่เราทำได้

    Can you see Yeong-hye, the unheard person in your life?

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in