เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
Contemporary World Literature in EnglishSOLITUDE IS BLISS
Into the World: Construction of my Identities and Self through the Media
  • ลักษณะการเขียนเป็นไปเชิงทบทวนความเป็นตัวตนของผู้เขียน และภาษาที่ใช้คือ ภาษาไม่เป็นทางการ
    ขอบคุณรูป cover จากภาพยนตร์เรื่อง รักแห่งสยาม

    Hello beautiful people! บทความ Into the World นี้จะเสาะแสวงหาที่มาของ Self ของผู้เขียน ซึ่งเป็นนักศึกษาสาขาภาษาอังกฤษ ณ มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ปัจจุบัน อายุ 22 ปีี เขาไม่เก่งภาษาอังกฤษ และสื่อจากภาษาอังกฤษหรือโลก anglophones มีอิทธิพลต่อการสร้าง identities ของเขาน้อยมากทีเดียว

    Part I : วัยเด็กและวัยรุ่น

    เราเติบโตมาในสังคมต่างจังหวัด ถ้าให้พูดตรง ๆ คือ พ่อแม่ก็ไม่ค่อยมีเวลาว่างให้เราสักเท่าไร ในตอนนั้น เราค่อนข้างน้อยอกน้อยใจว่า อย่างน้อย ทำไมตนเองไม่เกิดมาในสังคมเมืองที่มีความเจริญบ้าง แต่เมื่อมองย้อนกลับไป มันก็มีความโชคดีอยู่หลายอย่าง เช่น เราได้ปั่นจักรยานเที่ยวเล่นกับเพื่อน ๆ ผ่านวิวทิวทัศน์สวนและทุ่งนา เล่นบทบาทสมมติในหลายหน้าที่ ลงน้ำคลองและพายเรือออกไปจริง ๆ ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้ เด็กที่เกิดในเมืองหลวงอาจจะไม่มีโอกาสแบบเราที่ได้ทำ ได้ลอง

    ชีวิตด้านการเรียนในวัยประถม ก็คือ เรียนไปวัน ๆ (จริง ๆ นะ) สมัครเป็นติวเตอร์ของโรงเรียนบ้าง เพราะอยากซื้อปากกาเจลสีสวย ๆ มาเซ็นให้กับน้อง ๆ ที่มาท่องศัพท์ ขอคุณพ่อซื้อกระปุกดินสอเหล็กที่เปิดมาแล้วซ้อนกันหลาย ๆ ชั้น และติดสติ๊กเกอร์รูปถ่ายเพื่อแสดงความเป็นเจ้าของ ใส่ดินสอสีเรียงกันสวยงาม หลังเลิกเรียน หรือระหว่างพักเบรคก็มักจะมีกิจกรรมทำกันกับเพื่อน เช่น เล่นกระโดดยาง หมากเก็บ ดีดลูกแก้ว พับกระดาษทายใจ (ใส่นิ้วโป้งและนิ้วชี้ทั้งสองมือ) วาดนิ้วมือดูดวง เล่นเบย์เบลด (ใช่ค่ะ) และแต่งตัวตุ๊กตา หลังเลิกเรียนเรามักจะไปซื้อขนมหน้าโรงเรียนกับเพื่อน เช่น ไก่ชุบแป้งทอด ผลไม้ และขนมน้ำตาลปั้น ลุง ๆ ป้า ๆ แม่ค้าใจดีกับเรามาก ๆ และในวัยนั้น เราติดเพื่อนมาก เรายอมนั่งรถโรงเรียนกลับบ้านช้า เพราะอยากอยู่กับเพื่อน ๆ ต่อ สิ่งที่เราชอบที่สุดและรอคอยเสมอทุกเทอมคือ การที่มีรถไมโลมาแจกฟรีที่โรงเรียน เราสงสัยมาโดยตลอดว่า ทำไมไมโลที่ขายในเซเว่นถึงไม่อร่อยเท่าที่เขามาแจกอะพี่จ๋า 

    สื่อที่เราได้เสพ ใช้ชีวิตร่วมด้วย และมีส่วนประกอบในการสร้างความเป็นเราขึ้นมาคือ สื่อยุค 2000 ขึ้นมา บ้านเราเริ่มมีคอมพิวเตอร์ช่วงที่เราเรียนอยู่ประถม อินเทอร์เน็ตก็ยังไม่ดีมากนัก ต้องซื้อรหัส True ที่เซเว่นมา log in กับ router เพื่อใช้เน็ต แต่เน็ตก็ช้ามาก ๆ และก็หลุดบ่อยอีกต่างหาก หากอยากเล่นเกมก็ต้องไปเติมเงินเป็นชั่วโมงที่ร้านเกมราวๆ 10-15฿ ตอนนั้นติด Audition มาก ๆ จนต้องปั่นจักรยานไปร้านเกมทุกวัน หลังจากอินเทอร์เน็ตบ้านเริ่มมีความเร็วขึ้น ซึ่งเป็นช่วงที่ประกอบกับการมาของ Social Media เช่น Hi5  คือ เว็บเพจที่เราสามารถสร้างโปรไฟล์ของเราได้ สร้างโค้ดเพื่อทำให้เพจของเราสวยงามแสนเก๋ เพิ่มรูป Close Friends ลงไป และถ้าใครมีแก๊งห้อยท้ายชื่อด้วย มันก็จะแสนเท่มาก ๆ เรายังสามารถไปคอมเม้นที่หน้าเพจของเพื่อนได้ และ Zheza คือ online community ที่ให้เราสามารถสร้าง avatar ของตัวเองในการทำกิจกรรมต่างๆ สามารถเติมเหรียญได้ด้วย แต่หลังจากการเข้ามาของ Facebook ในไทย และมันเริ่มได้รับความนิยมมากขึ้น สมาชิก Hi5 และ Zheza ก็เริ่มไม่ active บัญชีตัวเอง ในทุก ๆ วัน หลังกลับจากโรงเรียน เราและพี่สาวมักจะรีบวิ่งไปที่โต๊ะคอมที่มีเครื่องเดียว เพื่อแย่งกับพี่สาวว่าใครจะได้เล่นก่อนกัน ไม่ว่าจะปลูกผัก Barn Buddy ขโมยหมูใน Happy คนเลี้ยงหมู ฟังเพลงผ่านโปรแกรม Winamp และออน MSN ส่วนเกมในมือถือยุคนั้นก็ต้องเป็นเกมงู จาก Nokia 3310 คือสนุกมาก

    ทีวีคือ medium ที่มีผลต่อชีวิตเรามากที่สุดในช่วงวัยประถม เราติดละครหลังข่าวพระราชสำนักมาก เพราะเป็นเวลาเดียวที่ได้ใช้เวลาร่วมกับคุณแม่ หลังจากท่านกลับจากทำงาน และต้องดูช่อง 7 เท่านั้น  ละครที่ชอบมาก ๆ คือ เรื่องเมียหลวง (2009) จนติดคาแรคเตอร์อรอินทร์ไปที่โรงเรียน เพราะอยากเป็นพี่อั้มมาก เพื่อไปหาคาแรคเตอร์ วิกานดา เและต่อบทกัน อีกเรื่องคือ ธิดาซาตาน (2006) และเราต้องได้เป็นไฟ (เกรซ) เท่านั้น เพราะฉันนะ ไม่สวยหรอกพี่ อีนี่มันแซ่บ ส่วนละครที่เราดูกี่ครั้งก็มองว่า plot มันเดิม ๆ นั้น ก็คือ ละครจากผู้จัด ฉลอง ภักดีวิจิตร ที่จะมีนักแสดง กัญจน์ ภักดีวิจิตร มาปิ้งไก่โดยมี setting คือป่า ในละครแทบทุกเรื่อง เช่น ละครเซตอังกอร์ (2000,2005)  จากที่กล่าวมา เราจะเห็นได้ว่าละคร can be traced back to ค่านิยม ความเชื่อของสังคมไทยในยุคต่าง ๆ ได้ และเราขอยอมรับว่า เรารับมันเข้ามาในเนื้อในหนังของตัวเราเอง และบางครั้ง เราเผลอนำมันไปทำร้ายคนอื่น ซึ่งเป็นสิ่งที่เราอยากขอโทษมาก ๆ และเรายินดีที่จะแก้ไขมัน

    เราพึ่งมารู้ทีหลังว่า มีช่อง 3 หรือ ช่อง 5 ด้วย แต่ก็ไม่ใช่แนวเราเท่าไร โปรแกรมทีวีที่โปรดมากคือ ผังช่วงหลังละครกลางคืน ที่ฉายช่วง 4 ทุ่มกว่า ๆ จะมีรายการพวกชิงร้อยชิงล้าน ศึกน้ำผึ้งพระจันทร์ จนทำให้เรานอนดึกมาก ๆ แต่ก็ไม่มีใครว่าหรอก เพราะคนในครอบครัวนอนกันหมดแล้ว ยุคนั้นคือสมัยรุ่งเรืองของรายการ Reality ทั้งค่าย The Star และ AF เราติดตามและชอบมากทุกปี จนเคยมีครั้งนึง เราทะเลาะกับพี่สาวจนเราเดินกลับบ้านเอง เพราะอยากรีบกลับมาดูการแข่งขัน แต่เมื่อพอที่บ้านติดจานดาวเทียม เราน่าจะเรียนอยู่ช่วงราว ๆ มัธยม เราก็เริ่มมาดูช่องหลากหลายมากขึ้น เปลี่ยนมาดูช่อง 3 ณเดชน์-ญาญ่า ยืน1 มาก ละครที่ชอบคือ เซตสุภาพบุรุษจุฑาเทพ (2013) เซตหัวใจแห่งขุนเขา (2010) และเซต the sixth sense สื่อรักสัมผัสหัวใจ 1,2 (2012,2013) ช่องดาวเทียมที่เราติดตาม เช่น ช่อง bang channel green channel และ play channel ซึ่งเป็นช่องดาวเทียมของ GMM GRAMMY ทั้งสิ้น เราตื่นนอนตอนเช้ามาในวันเสาร์-อาทิตย์ เปิดทีวีมาฟังรายการแฉแต่เช้า จากที่เราเคยดูหนังจักร ๆ วงศ์ ๆ ช่อง 7 ที่อิงตัวบทมาจากวรรณคดี และประวัติศาสตร์ของไทย หรือการตูนช่อง 9 เช่น Detective Conan ส่วนตอนเย็นและมืด มารอดูรายการของเด็ก ๆ ในสังกัด nadao GTH และรายการ club friday ของพี่อ้อยพี่ฉอด เราไม่ค่อยชอบฟังวิทยุคลื่นแถวบ้านซักเท่าไร เพราะเวลานั่งรถไปกับคุณพ่อคุณแม่เขาชอบเปิดเพลงลูกทุ่ง เราไม่อินจริง ๆ 

    การ์ตูนที่เราชอบมากคือ Doraemon และ Keroro ซึ่งทั้งสองเรื่องเป็นการ์ตูนญี่ปุ่นทั้งคู่ เรามีแผ่นซีดีเกี่ยวกับสองเรื่องนี้เยอะมาก เรียกได้ว่าคือสิ่งที่เราผูกผันเลย เราเติบโตพร้อมโนบิตะ และเคโรโระ แต่ในขณะที่เราถูกบังคับให้โตขึ้น แต่ทั้งสองตัวละครที่เราเอาใจช่วยก็ยังอายุเท่าเดิม เมื่อตอนจบ (ในภาค the movie) มาถึง เมื่อโดเรมอนต้องกลับไปในปีที่จากมา เมื่อเคโรโระต้องกลับดาว เราไม่เคยทำใจได้เลย น้ำตาแตกทุกครั้ง

    หลังจาก GTH เปิดตัวค่ายและสังกัด Nadao Bangkok และมีซีรีย์วัยรุ่น Hormones 1-3 (2013,2014,2015) ที่สร้างปรากฏการณ์เล่าเรื่องราวตีแผ่ความจริงของวัยรุ่นขึ้นมา เหมือนเป็นสื่อละครทางเลือกใหม่ให้ผู้ชมได้เลือกเสพมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตามเราว่า จุดจบของเรื่องในหลาย ๆ ตอน ซีรีย์และตัวละครก็ยังมีวิธีจัดการกับปัญหาและคลี่คลายปมแบบค่อนข้าง conservative อยู่ดี แต่ขณะที่เราดูซีรีย์เรื่องนี้ ด้วยเวลาฉายมันค่อนข้างดึกมาก แล้วเรานอนดูอยู่คนเดียว ขณะที่คุณแม่ที่นอนข้าง ๆ กันได้หลับไปแล้ว แต่คุณแม่ตื่นขึ้นมาระหว่างฉากเลิฟซีนที่ค่อนข้างสมจริงพอดี (แง) เราก็เลยต้องแกล้ง ๆ เปลี่ยนช่อง เอาจริง ๆ สุดท้ายเรื่องเพศก็ยังเป็นเรื่องที่ในครอบครัวเรายังพูดกันได้ยากอยู่ดี เราต้องหาข้อมูลเอง เรียนรู้เอง และสอบถามพูดคุยกับเพื่อน เพราะคุณครูรวมถึงหลักสูตรวิชาสุขศึกษาของโรงเรียนรัฐก็ช่วยเราไม่ได้

    เราเริ่มเล่นดนตรีเพราะ Hormones เช่นกัน ตอนนั้นเรารู้สึกว่า คนเล่นดนตรีคือ คนเท่อะ คนคูล จริง ๆ ก็เกือบลืมมันไปแล้ว เพราะสุดท้ายเราก็ไม่ได้จริงจัง เราหัดเล่น อูคูเลเล่ กีตาร์ และคีย์บอร์ด ซึ่งทั้งหมดมันเกิดขึ้นตอนม.ปลาย แต่สุดท้ายก็ล้มไม่เป็นท่า คว้าน้ำเหลวทุกเครื่องเล่น ดีดคอร์ดแล้วเพี้ยนบ้าง เจ็บนิ้วบ้าง เราไม่อดทนเลยจริง ๆ 

    ภาพยนตร์หรือหนังจอเงิน เราเคยมีโอกาสแค่ครั้งเดียวในตอนเด็ก ๆ ที่เราได้เข้าไปดูหนัง ขณะที่ยังมีโรงหนัง stand alone ของจังหวัดเรา คือเรื่อง หนูหิ่นอินเตอร์ (2006) เราจำได้ว่าฉากที่ประทับใจมากๆคือ ควายพุ่งขึ้นไปบนฉากแสดงโฆษณา แต่สภาพของโรงหนังและบรรยากาศระหว่างฉายคือ ไม่ได้มาก ขิต เพราะมีหนูวิ่งตัดขาเราไปด้วย หลังจากภาพยนตร์เรื่องนี้จบไปไม่นาน โรงหนังแห่งนี้ก็ปิดตัวลงด้วยเช่นกัน เราจะมีโอกาสได้ดูหนังก็ต่อเมื่อหนังออกจากโรงไปแล้ว และมีแผ่นมาให้ซื้อที่เซเว่น หรือถ้าอยากประหยัดก็ต้องไปที่ร้านเช่าหนัง ซึ่งบางแผ่นก็สะดุดบ้าง (ไม่บ้างแหละ) หนังที่จำได้คือ แก๊งชะนีกับอีแอบ (2006) ที่ทำให้เรามีภาพจำว่า LGBT ในยุคนั้น (ซึ่งขณะนั้นคงเรียกว่า ตุ๊ด กะเทย เกย์) มีลักษณะแบบไหน และให้คุณดูและตัวละครในเรื่องมีโอกาสได้เป็นตำรวจศีลธรรมตัดสินพวกเขาเหล่านั้น ส่วนภาพยนตร์ที่ประทับใจมาก ๆ แต่ในวัยเด็กเราก็ยังไม่มีความสามารถในการตีความอะไรมากพอ คือดูเพื่อความบันเทิงเป็นส่วนใหญ่ คือ แฟนฉัน (2003) มหาลัย' เหมืองแร่ (2005) Season Change (2006) Final Score (2007) รักแห่งสยาม (2007) และ รถไฟฟ้ามาหานะเธอ (2009) ที่สำคัญภาพยนตร์ที่จะขาดไปไม่ได้ คือ ภาพยนตร์ชุด หอแต๋วแตก (2007,2009,2011,2012,2015,2018) ในช่วงวัยเด็กเรายังไม่รู้จัก จักรวาลมาร์เวลหรอก เรารู้จักแต่จักรวาลหอแต๋วแตก “...ที่เจ๊ตบหน้าหนู หนูไม่ว่า แต่ที่เจ๊ไล่หนูออกจากบ้าน นี่บ้านมึงหรอ?” said อาแพนเค้ก.

    ภาพยนตร์ต่างประเทศที่พากษ์ไทยเรื่องเดียวที่เราเคยดูคือ Harry Potter ภาค 1-7.2 (2001,2002,2004,2005,2007,2009,2010,2011) คุณ Potter ได้พาเราเข้าสู่โลกเวทย์มนตร์ และการจินตนาการอย่างไม่มีที่สิ้นสุด และภาพยนตร์เรื่องนี้เราก็ดูมันซ้ำ ๆ เราเติบโตไปพร้อมกับ Potter และเพื่อน ๆ อย่าง Weasley และ Granger 

    มาสู่วงการเพลงกันบ้าง บ้านเราค่อนข้างชอบฟังเพลงจากค่าย  GMM Grammy มาก ๆ เราก็จะมีโอกาสได้รับฟังเพลงต่าง ๆ จากพี่สาวเราทั้ง 2 คน คนที่มีอิทธิพลกับเรามากที่สุดคือพี่สาวคนโต ขณะที่เขาเปิดเพลงจาก Winamp อยู่ บทเพลงเหล่านั้นมันกรอกหูเราทุกวัน จนเราซึมซับมันไปเอง ในที่สุดเราก็สามารถตอบได้ทุกเพลงว่าเพลงนั้นคือเพลงอะไรแค่เพียงเราได้ยินอินโทร วงที่เราพอนึกถึงได้ตอนนี้ ก็ได้แก่ Paradox (เพลงฤดูร้อน) ปราโมทย์ (แค่บอกว่ารักเธอ) Da Endorphine (สิ่งสำคัญ คืนข้ามปี) Bodyslam (ขอบฟ้า) และ น้ำชา (รักแท้...ยังไง) อีกค่ายที่ชอบ คือ Bakery Music ได้แก่ วง Moderndog 

    RS & KAMIKAZE 
    ในช่วงนั้นจะมีค่านิยมว่า เพลง GMM Grammy เริ่ดกว่า มีคุณภาพ มีภาพลักษณ์ที่เป็นผู้ใหญ่ ส่วนถ้าใครฟังเพลงค่าย RS คือไม่เก๋ ไม่เริ่ด แต่เรากลับรู้สึกว่าเพลงฝ่าย RS มีความถึงข่าถึงพริกถึงขิงมาก ถ้าใคร cover เพลงของ Girl Berry ได้คือสุดปัง ลายต้องเก็บให้เป๊ะ เราชอบภาพลักษณ์ของวงนี้มาก มันคือความแตกแตน ผู้หญิงที่กล้าจะแต่งตัว นุ่งสั้น แต่ในขณะนั้นกลับโดนดราม่าซะเละ ถึงการแต่งตัวที่ "ไม่เหมาะสม?" ขณะถ่ายทำ MV ข้างถนน จนต้องออกมาแถลงข่าวขอโทษ ส่วนเพลง "ว่างแล้วช่วยโทรกลับ" ของ Lydia ที่ตอนนี้ถูกนำกลับมา cover ใหม่โดย หยาดพิรุณ (ละแมะ อะหรือว่ามีคนอื่น) จนกลับมามีชีวิตอีกครั้งและถูกเล่นซ้ำแล้วซ้ำเล่าผ่าน application TIKTOK เพลงนี้ก็เป็นหนึ่งในเพลงที่เราชอบมาก ๆ และศิลปินคู่ที่เราโปรดปราน คือ โฟร์-มด (ใครทิ้งใครก่อน) กอล์ฟ-ไมค์ แต่หลังตลาดเพลงไทยเริ่มซบเซา เพราะกระแส K-pop เริ่มเข้ามามีบทบาทในไทย การกำเนิดของ KAMIKAZE ก็อุบัติขึ้น เป็นแนวเพลงที่เราสามารถร้องตามได้ง่าย ติดหู และสามารถเต้นตามได้ สร้างปรากฏการณ์ nostalgia ให้กับคนที่ใช้ชีวิตวัยรุ่นในตอนนั้นได้เป็นจำนวนมาก แม้ในขณะนั้นอาจจะมีกระแสว่าใครฟังค่ายนี้คือแบบ "เสี่ยวอะ" ก็ตาม ศิลปินที่เราชอบเช่น WAI (ถามไม่ตรงคำตอบ) K-OTIC เฟย์-ฟาง-แก้ว (MSN) มิลา NEKO JUMP ขนมจีน (ปากดีขี้เหงาเอาแต่ใจ) และ 3.2.1 เพลงที่เราชอบที่สุดคงจะหนีไปไหนไม่ได้นอกจาก "รักฉันเรียกว่าเธอ" เพลงรวมจากศิลปิน แค่เราคิดถึง ทำนองก็ขึ้นมาในหัวแล้วเอาดี ๆ ...ใครกันที่ทำให้ัฉันรัก...

    สื่อสิ่งพิมพ์หรือหนังสือ (non-fiction) เราแทบจะไม่อ่านเลย แต่ทุก ๆ ปีสมัยเราอยู่โรงเรียนประถม SE-ED จะมาเปิดบูตส์ขายหนังสือ และเราก็มักจะได้หนังสือสำหรับเด็กมาประจำ เช่น เซตไม่ยาก ถ้าอยาก... และครอบครัวตึ๋งหนืด เซตหลังเราชอบมาก ๆ เนื่องจากเนื้อหาเกี่ยวกับการประหยัด-อดออม มันช่วยสร้าง personality and social development ที่ดีให้กับเรา แต่ genre ที่เราชอบจริง ๆ คือ นิตยสาร I-like ซึ่งเป็นตำนานมาก ๆ เราไปยืนอ่านคอลัมน์ดูดวงในเซเว่นคือเป๊ะมาก ถ้าไม่อย่างงั้นก็รอยืมอ่านจากเพื่อนแล้ววนกันไปทั่วห้อง นิตยสาร TV Pool อ่าน gossip ดารา เราไปยืนอ่านฟรีอีกนั่นแหละ เพราะสมัยก่อนชอบไปเซเว่นมาก ไปทุกเย็นเลย เพราะคุณพ่อต้องแวะซื้อกับข้าวเย็นที่ตลาดนัดก่อนเข้าบ้าน ต่อมาเราเริ่มอ่านนิยายออนไลน์ genre ของนิยายที่เราเริ่มอ่านคือ นิยายวาย (Yaoi) และ gay literature เราเริ่มอ่านจากเว็บ thaiboyslove และเว็บ dek-d เราน่าจะอ่านเกินหลักร้อยเรื่อง และแต่ละเรื่องก็เป็นเล่มยาวมาก ๆ เราใช้เวลาแต่ละครั้งส่วนใหญ่เราจะอ่านครั้งเดียวจนจบ แม้ว่าเราจะไม่ได้นอน ซึ่งมันไม่ดีต่อสุขภาพมาก ๆ และช่วงนั้นเราอยู่มัธยมปลาย แทนที่เราจะใช้เวลาไปกับการอ่านหนังสือเตรียมสอบเข้ามหาวิทยาลัย (เพราะเรียนที่ไหนไม่เหมือนกัน) แต่เรากลับใช้เวลามาอ่านนิยายวาย เพื่อหลีกหนีจากความเครียดในชีวิตจริงในช่วงนั้น แต่ปรากฏว่าเราเครียดกว่าเดิมอีก ฮ่า ๆ เราขอแนะนำเรื่องสั้น ขอนั่งด้วยได้ไหมครับ? (2012) และนิยาย จนกว่ารักจะทักทาย (2019)

    การไปคอนเสริ์ตครั้งแรก BMMF#7 ที่เพชรบุรีกับเพื่อนอีก 2 คน ซึ่งเป็นเสาร์ก่อนสอบ 9 วิชาสามัญ (อีกแล้ว อย่าทำตามจะดีกว่า) ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ก้าวออกจากต่างหวัดแบบไปกันเองและเพื่อความสนุกเลยอะ ไม่มีจุดประสงค์อื่น เราตื่นเต้นมาก เพราะมันคือความใหม่สำหรับเรา ได้ไปฟังเพลงในแบบใหม่ ๆ ด้วย กอดคอร้องไห้ (งงฟีลมาก) เมื่อเพลง ขอ จาก Lomosonic ขึ้นเวลาราว ๆ ตีหนึ่ง หลังจากนั้นเราก็ไปเต้นที่เวที Joeyboy จนเกือบเช้า และเข้านอนในเต็นท์ จนแอบงง ว่าเช่าทำไม ถ้าอีกนิดก็เช้าแล้ว

    การมาของโทรศํพท์มือถือ ยุคที่เราเริ่มติดมันมาก ๆ คือช่วงมัธยมต้น ตอนนั้น เราใช้ Blackberry และต้องแลกพินกับเพื่อน ๆ สิ่งที่จะขาดมันไม่ได้เลยคือ case มือถือ ต้องแบ๊วนะ ดังนั้น จะมาเป็นมือถือเหมือนกันไม่ได้ และเวลาไปโรงเรียนจะใส่มือถือไว้ในกระเป๋าห้อยคอ โดโมะ ถึงจะแสนเท่ คือของมันต้องมีจริง ๆ เพราะเพื่อนในโรงเรียนก็ใช้กันทั้งหมด กระเป๋าเป้โรงเรียนเราจะไม่ใช้ เราจะใช้กระเป๋าผ้าเท่านั้น จริง ๆ ตอนนั้นแอบอยากได้กระเป๋า harrot และ jacob เหมือนเด็กในกรุงเทพมาก ๆ เราน่าจะได้ไอเดียมาจากสื่อนี่แหละ แต่มันแพงสำหรับเรามากในตอนนั้น เลยไม่มีโอกาสได้ใช้
     
    Part II : My Young Adult

    ตั้งแต่เราขึ้นมาเรียนมหาวิทยาลัยในกรุงเทพ เราเริ่มค้นหาตัวตนของตัวเองผ่านสื่อ เริ่มเสพสื่อใหม่ ๆ เริ่มใช้ Twitter เพื่อติดตามข่าวสาร เริ่มเข้าหอศิลป์ ฟังเพลงจากวง alternative และวงสากล ดูหนังนอกกระแส หนังรางวัล และติดตามศิลปิน นักวิชาการต่าง ๆ ในศาสตร์ที่เราชอบ สิ่งเหล่านี้สร้าง identities ใหม่ให้กับเรา ช่วยขัดเกลา เปิดกว้างความทางความคิด มี communities ใหม่ ๆ ที่เราไปติดตาม และมี participate ด้วย

    ชีวิตการเรียนมหาวิทยาลัยครั้งแรก เทอมปลายหลังเราตัดสินใจซิ่วใหม่แล้วแน่ ๆ เราได้ลงเรียนวิชา literary appreciation ของภาควิชาวรรณคดี อาจารย์ผู้สอนได้เปิดโลกเรามาก ๆ เราได้เพื่อนใหม่มาหลายคน และปัจจุบันก็ยังติดต่อกันอยู่ แววตาของพวกเขา รวมถึงประสบการณ์ล้วนเปี่ยมไปด้วยความลุ่มหลงในบรรยากาศของการอ่านหนังสือ ซึ่งเราไม่เคยประสบพบเจอมาก่อน เราได้เรียนทฤษฎีการวิเคราะห์วิจารณ์เบื้องต้น literary devices และเราก็กลายเป็นศิษย์รุ่นสุดท้ายของอาจารย์ เราได้เรียนรู้ว่าหนังสือสามารถเปลี่ยนเราได้จริง ๆ ตัวบทที่อาจารย์เลือกมาให้อ่านนั้นล้วนสร้างแรงบรรดาลใจ และสุดท้าย เราก็ได้ตัดสินใจเดินไปสู่ "อนาคต" ที่เราเลือกเอง (ด้วยความคิดถึงคุณพี่เสมอ)

    สิิ่งที่มีอิทธิพลกับเราสูงสุดที่เปล่ี่ยนความเป็นเรา ความคิด ตัวตน และทำให้เราแสดงความคิดแบบ political correctness ได้มากขึ้น มีคนคอย shape ทัศนคติเรา คือ Twitter ซึ่งเป็น platform ที่เราว่ามีความเป็นประชาธิปไตยสูง regardless of อาชีพ อายุ หรือตำแหน่งวิชาการ มันก็เป็นพื้นที่ที่ให้ประชาชน หรือ users ได้แสดงออกถึงความคิดเห็นต่อ current events ได้อย่างทันท่วงที และสามารถเป็นพื้นที่ที่ให้เราเรียกร้อง และเคลื่อนไหวประเด็นต่าง ๆ ได้มากขึ้น เราสามารถต่อรองกับอำนาจ ในวันที่สื่อหลักหลายสำนัก เช่น สำนักข่าวของโทรทัศน์ ไม่สามารถทำหน้าที่สื่อได้ดีและมีจรรยาบรรณได้อีกต่อไป

    รายการ และ Vlog บน YouTube คือสิ่งที่มีอิทธิพลกับเราเป็นลำดับต่อมา เราชอบดู Life style ของ YouTuber ต่าง ๆ ทำให้คนเหงาแบบเรารู้สึกมีเพื่อนมากขึ้น มีชีวิตหลากหลายมากขึ้น เช่น รายการเทยเที่ยวไทย รายการออนไลน์ของ GMMTV รายการไกลบ้าน ของพี่ Farose รายการพาเธอกลับบ้าน ของ พี่ช่า บันทึกของตุ๊ด รายการสตีเฟ่นโอปป้า ของ PEACHII ช่อง dairycherie ของพี่โมเม ช่อง Anna Celebeauty ของพี่แอนนากับป้าจี้ รายการวิทยุออนไลน์ Song About และ เรื่องราวร้องตุ๊ดส์ สื่อและผู้ทำหน้าที่สื่อเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นพิธีกร Net Idols Influencers ต่างมีอิทธิพลต่อผู้ชมทั้งสิ้น ไม่ว่าเขาจะแนะนำอะไร อาจจะทำให้สินค้าเหล่านั้นหมดเคาท์เตอร์ได้ เราสูญเสียกันไปเท่าไรแล้วกับ "ของมันต้องมี" รับบทนางแคปเจอร์หน้าจอแล้วไปซื้อสินค้าตามคำแนะนำ


    ภาพยนตร์ที่ทำให้เราเข้าสู่การดูหนังที่หลากหลายมากขึ้นเรื่องแรกคือ Call me by your name (2016) หลังจากนั้นเราก็เริ่มมีโอกาสได้ดูและสนใจหนังรางวัล หนังอินดี้(?) หนังสั้นนักศึกษามากขึ้น และอาจจะเพราะหนังพวกนี้เริ่มมีพื้นที่ให้เราได้เข้าชม และบางเรื่องเมื่อกระแสดี ก็เริ่มเข้าโรงใหญ่ ไม่ได้ฉายอยู่แค่โรงหนังเช่น House และ Doc Club อีกต่อไป ปัจจุบัน genre ของหนังที่เราชอบดูคือ romance เช่น 500 days of summer (2009) Flipped (2010) และ How to ทิ้ง (2019) หนังเหล่านี้ให้มุมมองความรักกับเราที่แตกต่างกัน บางเรื่องเราดูซ้ำ ๆ ในแต่ละช่วงเวลาของชีวิต บางครั้งเราอยู่ทีม Tom และบางครั้งเราก็อยู่ทีม Summer

    ปีที่ผ่านมา (2019) เราได้ไปพักผ่อนเชียงใหม่ทั้งหมด 2 ครั้งด้วยกัน และระหว่างนั้นเรามีความสุขทุกครั้ง ถ้าหากมีใครชวนไปเที่ยว ที่แรกที่เราจะเสนอคือ เชียงใหม่ ทุกคนรู้ แฟนคลับรู้ ฉันเชียร์เชียงใหม่ตลอด อาจจะเพราะเราเกิดภาคใต้เลยมีความลุ่มหลงมนต์เสน่ห์ของภูเขา หรืออาจจะเพราะภาพยนตร์ที่เรารักไม่ว่าจะเป็น เพื่อนสนิท (2005) และ Home ความรัก ความสุข ความทรงจำ (2012) มี setting ที่เชียงใหม่ จนเราวางแผนว่า อยากใช้ชีวิตที่นั่น ปัจจุบัน เราก็เริ่มตอบตัวเองไม่ได้แล้วว่า เราชอบ ภูเขา หรือ ทะเล เพราะสิ่งหนึ่งคือสิ่งที่เรารัก และอีกสิ่งคือตัวตนของเรา 

    ชีวิตมหาวิทยาลัยทำให้เรารู้จัก cat radio และ fungjai ซึ่งทั้งคู่เป็น medium ที่ช่วยเปิดโลกวงดนตรีแนว alternative ให้กับเรา วงที่เราชอบมาก ๆ คือ Solitude is Bliss Desktop Error  YEW เมื่อได้ลองฟังเพลงที่ไม่ได้อยู่ในแนวกระแสหลัักมากขึ้น ก็เหมือนได้เปิดประสาททางดนตรี สัมผัสการฟัง และการตีความที่แตกต่างออกไป

    เรามักชอบไปงานหนังสือ ไม่ว่าจะเป็น สัปดาห์หนังสือแห่งชาติ Big Bad Wolf หรือจะเป็นการลดราคาของร้านหนังสือต่าง ๆ อย่างไรก็ตาม เรากลายเป็นนักซื้อ แต่ไม่ใช่นักอ่าน ตอนนี้หนังสือที่ซื้อมา 70% เป็นภาษาอังกฤษ และ 30% ภาษาไทย ยังคงถูกเก็บไว้ในลิ้นชัก และยังไม่ได้แม้แต่จะแกะพลาสติกห่อหุ้มออกมาเลย แต่เราตั้งเป้าไว้แล้วว่า เร็ว ๆ นี้ ยังไงเราจะต้องอ่าน Find Me (2019) ให้จบให้ได้

    เราเริ่มอ่านบทความจากสำนักข่าวออนไลน์มากขึ้น เช่น Prachatai The Standard The Matter The Cloud The 101. World เนื้อหาก็ค่อนข้างครอบคลุมทุกหัวข้อ เราสามารถเลือกอ่านได้ตามความสนใจ และจะมีบทสัมภาษณ์ที่แสดงความคิดเห็นจากนักวิชาการ และ content writers ต่อประเด็นต่าง ๆ ให้สามารถเลือกอ่านได้อย่างทันท่วงที

    เพจวิชาการที่เราติดตามอยู่เป็นประจำ มักเป็นองค์กรที่มีการจัดสัมมนาอยู่บ่อยครั้ง และมีการบันทึกวิดิโออัพโหลดไว้บนออนไลน์ เช่น Direk Jayanama Research Center ศิลป์เสวนา คณะศิลปศาสตร์ มธ CompLit Chula Card Shark และช่อง Youtube เช่น Reading Room Bangkok ปัจจุบัน เราเริ่มติดตามนักวิชาการในสายมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์มากขึ้น และมันทำให้เรารู้ว่า ความรู้ที่เราเคยคิดว่าเรามีน้อยแล้ว มันมีน้อยมาก ๆ เหมือนที่เขาเปรียบเปรยกันว่า ความรู้แค่หางอึ่ง คงไม่ไกลเกินความเป็นจริง

    ช่วงปิดเทอมภาคฤดูร้อนที่ผ่านมา เราได้กลับมาติดต่อกับเพื่อนสมัยประถมอีกครั้ง ทำให้ได้รู้ว่า เพื่อน(สนิท) ในตอนนั้น ตอนนี้เขาเป็นนักศึกษาแพทย์ ปี 5 ณ ตอนนั้นทำให้เราย้อนกลับไปถึงความรู้สึกตอนที่เราซิ่วและมีอยู่คืนหนึ่ง เราเห็นเพื่อนที่เคยเล่นมาด้วยกันสมัยเด็ก ๆ คนหนึ่งได้เรียนหมอ และอีกคนเรียนสถาปัตย์ มันก่อให้เกิดคำถามในใจเรามากมาย ต่อความล้มเหลวทางการศึกษาของเราที่ไม่รู้ว่าเริ่มขึ้นตั้งแต่ตอนไหน ในตอนนั้น เรานอนร้องไห้ในห้องอยู่คนเดียว 3 วัน ลืมตาขึ้นมาคือร้องไห้เลย ความคิดมันวนเวียนทิ่มแทงตลอด ความรู้สึกนั้นมันกลับมาอีกครั้ง เราไม่มีความรู้สึกอิจฉาเพื่อนใด ๆ เลย เราแค่รู้สึกว่าในเวลาที่เรายังเด็กและเราเป็นเพื่อนกันนั้น ความสามารถเราก็พอกันแท้ ๆ แต่เมื่อเพื่อนเราทั้งสามคนได้แยกย้ายกันไป แต่เรายังอยู่ที่เดิม ตอนนี้มันเลยอดมีความรู้สึกสงสัยไม่ได้ว่า ถ้าตอนนั้นเราพยายามมากพอเหมือนกัน ได้มีโอกาสไปอยู่ในสิ่งแวดล้อมเดียวกัน เราจะติดหมอมั้ย และตอนนี้เรา เราอยากเป็นหมอจริง ๆ หรือเปล่า หรืออะไรกันที่ทำให้อาชีพหมอกลายเป็นอาชีพที่มีเกียรติมากกว่าอาชีพอื่นในสังคมไทย

    อิทธิพลจากวัฒนธรรมเกาหลีเริ่มเข้ามามีบทบาทในชีวิตเรามากขึ้น ตอนเด็ก ๆ เราเคยดูเรื่อง Coffee Prince (2007) และเมื่อเราเติบโตขึ้นมา เราได้ดู The Heirs (2013) My Love From the Star (2013) Descendants of the Sun (2016) Goblin (2016) Secretary Kim (2018) และเมื่อเร็วๆนี้ เมื่อมี covid-19 ในช่วงปิดเทอมใหญ่ เรามีเวลาว่างได้ดูมากซีรีย์เกาหลีมากขึ้น เราจึงได้ดู Crash Landing on You (2019) Itaewon Class (2020) และ The King: Eternal Monarch (2020) ซีรีย์เกาหลีเหล่านี้เริ่มทำให้เราลุ่มหลงในวัฒนธรรมเกาหลีมากขึ้น ๆ และเราอยากดูมันต่อไปเรื่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็น plot และคาแรคเตอร์ถึงแม้ว่าจะเป็นตัวละครสีเทา ๆ แต่เราก็เอาใจช่วยอยากให้เขารอดพ้นและทำ quest ของเขาสำเร็จ เราเริ่มรู้ตัวว่า วัฒนธรรมเหล่านี้เริ่มแทรกซึมเข้ามาในชีวิตประจำวันเราเล็กน้อย เช่น การแต่งหน้าเทรนด์ผิวขาวใสแบบเกาหลี เครื่องสำอางค์และผลิตภัณฑ์บำรุงจากเกาหลี อาหารเกาหลีที่ในซีรีย์มีลักษณะการกินที่ยั่วยวนชวนหิว และเมื่อมีโอกาสได้กินอาหารเกาหลี ทำให้เราชอบมาก ๆ และอินกับละครมากขึ้น เราอยากไปเที่ยวที่เกาหลีใต้เพื่อตามรอยซีรีย์ต่าง ๆ เราจะเห็นได้ว่าวัฒนธรรม K-pop ช่วยพัฒนาเศรษฐกิจเกาหลีใต้แบบก้าวกระโดดมาก ๆ ซีรีย์ถูกนำเสนอเพื่อโปรโมทวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวโดนเฉพาะ และยังมีการ tie-in ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ อีกด้วย

    สุดท้าย เราขอจบด้วยเพจ Facebook ที่เราติดตาม และทำให้เพื่อนเราที่มหาวิทยาลัยที่ไม่ค่อย get ชอบพูดติดตลกกับเราว่า หล่อนติดตามสื่ออะไรของหล่อนเนี่ย สื่อนั้นคือ เพจน้องง และกลุ่มจ๊อกจ๊อก ทัั้งสองกลุ่มนี้ คือ online communities ที่มีประวัติ เรื่องราว และโจ๊กตลกเฉพาะกลุ่ม เรามีคำศัพท์ และประโยคที่ใช้ในกลุ่มของเราเอง รับบทนักประดิษฐ์คำ ถ้าไม่ได้คนที่ติดตามอาจจะไม่ค่อยเก็ตเท่าไรนัก เราชอบสองกลุ่มนี้ในบางส่วนและอย่างมีขอบเขต แต่ก็ไม่ได้เห็นด้วยในทุกประเด็นในเพจที่มีการแชร์ความคิดเห็นกัน

    ทั้งหมดนี้ คงจะเรียกได้ว่าเป็นการ recap ชีวิตเราออกเป็น 2 parts ตามแต่ที่เราพอจะยังรื้อฟื้นความทรงจำมาได้ และที่อธิบายมานั่นคงเป็นการมองถึงการประกอบตัวตนของเรา in a nutshell อาจจะไม่ได้อธิบายละเอียดมากนัก อย่างไรก็ตาม สื่อเหล่านี้เป็นสิ่งที่เราได้เสพมา และอยู่ในกระแสสำนึกของเราไม่มากก็น้อย ชีวิตเราก็คงดำเนินต่อไป บทต่อไปของชีวิต เราก็ไม่รู้ว่าตอนนั้น เราจะเสพสื่อแบบไหน และจะพลิกผันให้เรากลายไปเป็นคนแบบใด แต่สิ่งที่เราจะพึงระลึกไว้เสมอคือ เราจะเสพสื่อแบบมีสติ โดยใช้ media literacy และพยายามเสพสื่อจากหลาย ๆ แหล่ง เพราะทุก ๆ เนื้อหาจากสื่อที่เราเสพนั้นล้วนถูก edit และ เลือกมานำเสนอให้เรารับชมแล้วทั้งสิ้น หากเรามีสติและวิจารณญาณ มองด้วยเหตุและผล จะได้ไม่ก่อให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า echo chammer นะคะ 

    แล้วพบกันใหม่

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in