เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
exhibisyeonprovdtha
เตร่ไปไทเป: เมืองที่สนับสนุนให้เดินเท้าและเดินทาง

  • บทความนี้เขียนเมื่อ กันยายน 2562 ตีพิมพ์ใน หนังสือพิมพ์มหาวิทยาลัย 



    ประโยคหนึ่งที่ฉันใช้นิยาม “ไทเป” เมืองหลวงของไต้หวันเมื่อต้องตอบคำถามกับใครต่อใครหลังกลับจากท่องเที่ยวแล้วคือ “ไทเปเป็นมิตร” แม้บางคนอาจไปแล้วผิดหวังเพราะหวังจะได้ไปเที่ยวที่ที่สวยงามสะกดใจ โออ่าอลังการหรือสนุกสุดเหวี่ยงแต่ไทเปไม่ได้ให้ความรู้สึกนั้นกับเขา ทว่าความสงบจากกฎระเบียบที่ชาวเมืองเคารพ สาธารณูปโภคเหมาะสมกับสภาพแวดล้อม โดยเฉพาะเรื่องการเดินทางและพื้นที่สาธารณะ ทำให้ฉันพูดได้เต็มปากด้วยน้ำเสียงเหมือนพูดกับเด็กเล็กว่า “ไทเปเป็นเมืองน่ารัก” 



    ความเป็นมิตรจากที่ไทเปมีระบบขนส่งสาธารณะแสนสะดวกทำให้การเดินทางแสนสบาย ด้วยความที่ Taipei Mass Rapid Transit (MRT) หรือรถไฟใต้ดินของเมืองอยู่ในการดูแลของรัฐบาล จึงบริหารงานได้โดยไม่ต้องทำเพื่อผลกำไรเป็นสำคัญเหมือนเอกชน พวกแผ่นป้ายโฆษณาในตัวสถานีจึงมีให้เห็นน้อยรวมถึงในตัวตู้โดยสารก็ไม่มีภาพหรือเสียงโฆษณากวนใจ ไหนจะขบวนรถที่มาทุก 2 นาที บางครั้งฉันแค่ลงบันไดเลื่อนมาถึงชานชาลาพอดีกับรถขบวนก่อนออกตัวไป ยืนรอพลางเก็บร่มใส่กระเป๋าครู่เดียว พอเงยหน้าขึ้นขบวนใหม่ก็มาถึงแล้ว



    ทั้งยังสามารถควบคุมราคาให้อยู่ในระดับประชาชนส่วนมากเข้าถึงได้ ค่าเดินทางระหว่างหนึ่งสถานีถ้าใช้บัตรเที่ยวเดียวอยู่ที่ NT$20 แต่ถ้าใช้บัตรเติมเงินจะเป็น NT$16 สอดคล้องกับค่าแรงขั้นต่ำต่อชั่วโมงของคนไทเปที่ได้ NT$150 หรือประมาณ 151.5 บาท (อัตราแลกเปลี่ยนวันที่ 17 ก.ย. 62 โดย NT$1 = TH฿1.01) ถ้าเปรียบเทียบให้ค่าเงินไต้หวันเท่ากับค่าเงินไทย ค่าเดินทางเริ่มต้นเมื่อใช้บัตรเติมเงิน (IC Cards) ก็แค่ 16 บาท ทุกๆ 5 สถานีจะค่อยๆ เพิ่มทีละ 4 บาท เป็น 20 / 24 / 28 / 32 / 36 / 40 / 44 ราคาสูงสุดอยู่ที่ 48 บาทในเส้นทางสถานี Xiangshan–Tamsui (สายสีแดง) ซึ่งเป็นเส้นทางที่ระยะทางไกลที่สุดในบรรดาสาย MRT ทั้งหมด มี 26 สถานี ระยะทางกว่า 30 กม. ใช้เวลาเดินทางประมาณ 1.30 ชม. เทียบกับ MRT ของกรุงเทพฯ ในเวลาและระยะทางเท่ากันคือจากสถานีหัวลำโพง–บางรักใหญ่ (สายสีน้ำเงิน ต่อไปยังสายสีม่วง) แต่ราคาพุ่งถึง 70 บาท เรียกได้ว่าค่าครองชีพของคนกรุงเทพฯ น้อยกว่าคนไทเป แต่คนไทเปได้นั่งรถไฟใต้ดินราคาถูกกว่าคนกรุงเทพฯ ตั้ง 22 บาท



    หรือจะเทียบให้แคบลง โดยคิดตามจำนวนสถานี เช่น 5 สถานีเท่ากัน ก็พูดได้ว่าคนไทเปขึ้นจากหัวลำโพงไปศูนย์สิริกิติ์ฯ ได้ในราคา 16 บาทเมื่อใช้บัตรเติมเงิน ในขณะที่คนกรุงเทพฯ ต้องจ่าย 26 บาท ซึ่งต่อให้คนไทเปโดยสารด้วยบัตรเที่ยวเดียว (Single-Journey Ticket) ก็จ่ายแค่ 20 บาทอยู่ดี จะคำนวณแบบไหนค่าเดินทางด้วย MRT ของไทเปก็ถูกกว่าไทยแลนด์ ซึ่งบัตรเติมเงินที่นิยมสำหรับนักท่องเที่ยวคือ Easy Card ใช้กับระบบขนส่งสาธารณะได้ทุกประเภทตั้งแต่รถไฟใต้ดิน รถประจำทาง รถไฟระหว่างเมือง จักรยาน กระเช้าลอยฟ้า หรือจะเอาไปใช้จ่ายในร้านสะดวกซื้อก็ได้



    รวมถึงผังเส้นทางรถไฟใต้ดินมีมากถึง 107 สถานีนั้นโยงรยางค์ครอบคลุมทั่วพื้นที่เมืองหลวง ทำให้ฉันมุดใต้ดินไปโผล่ที่ไหนก็ได้ในไทเปและยังขึ้นรถประจำทางที่มาตรงเวลาต่อได้ หรือแม้ต้องเดินเท้าก็ไม่ไกลและไม่หงุดหงิด เพราะความเป็นมิตรเรื่องทางเท้าของไทเปก็เอื้ออำนวยให้เดินได้สะดวกเพราะอิฐเรียบเสมอกัน มีเบรลล์บล็อกสำหรับผู้พิการทางสายตา และความกว้างก็มากพอจะให้ปั่นจักรยานบนทางเท้าได้ ระหว่างเดินไปเพลินๆ ชมตึกรามบ้านช่องประดับด้วยต้นไม้สองข้างทาง บางพื้นที่อย่างถนน Zhongxiao E ด้านหลังอนุสรณ์สถานซุน ยัต-เซ็น ต้นไม้ทุกต้นจะแขวน QR Code ให้เราแสกนเข้าไปอ่านข้อมูลต้นไม้ต้นนั้นๆ ในเว็บไซต์ trees.gov.taipei ได้ทันที หรือจะค้นหาใน geopkl.gov.taipei ว่าในไทเปปลูกต้นไม้บนถนนเส้นไหนบ้าง ขนาดต้นไม้ยังแนะนำตัวได้เลย เป็นมิตรดีจริงๆ



    นอกจากเรื่องรถไฟใต้ดินกับทางเท้าแล้ว ความเป็นมิตรของไทเปในฐานะเมืองท่องเที่ยวก็ผสมกลมกลืนไปกับวิถีชีวิตชาวเมืองได้อย่างไม่มีฝ่ายใดเคอะเขิน เพราะพื้นที่สาธารณะกระจายตัวอยู่ทั่วเมือง ให้คนท้องถิ่นออกไปทำกิจกรรมร่วมกันไม่ต่างจากนักท่องเที่ยวที่นั่งเอื่อยๆ รับลมอย่างสบายใจประหนึ่งเป็นชาวเมืองเสียเอง ราวกับว่าความเป็นมิตรที่เข้าถึงทุกคนนั้นไม่สามารถแบ่งแยกได้ด้วยเชื้อชาติ โดยเฉพาะสถานท่องเที่ยวที่ฉันชอบที่สุดคือ หอรำลึกเจียง ไค-เช็ก



    พื้นที่ทั้งหมดของหอรำลึกใหญ่โตมโหฬารมากตามประสาความยิ่งใหญ่แบบจีนๆ ประมาณสวนรถไฟจตุจักรถึงสวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ มีสวนพรรณไม้ล้อรอบ ด้านหน้ามีฮอลล์คอนเสิร์ตกับโรงละครแห่งชาติหลังใหญ่หน้าตาคล้ายตำหนักในวังหันหน้าเข้าหากันเหมือนกระจกสะท้อน ขนาบสองด้านของลานสี่เหลี่ยมจตุรัสซึ่งปูด้วยอิฐสีขาวเป็นลายคลื่น ทุกอย่างดูใหญ่โตไปเสียหมดรวมถึงตัวหอรำลึกเป็นที่ตั้งของรูปปั้นเจียงไค-เช็กขนาดยักษ์ในอาคารขาว หลังคากระเบื้องสีน้ำเงินแบบสถาปัตยกรรมจีนซึ่งต้องขึ้นบันไดสูงขึ้นไปกว่าจะถึงอาคารบนฐานหินสูงสองชั้น 



    ฟังจากชื่อกับบทบรรยายนี้แล้วอาจนึกภาพเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ขึงขังเหมือนส่วนราชการ แต่ความจริงคือสถานที่รำลึกถึงอดีตผู้นำประเทศแห่งนี้เป็นพื้นที่สาธารณะที่เปิดให้คนทุกเพศทุกวัยทุกเชื้อชาติมาทำกิจกรรมได้หลากหลายประเภท คนที่มาเที่ยวก็เดินชมสวน เข้าไปดูรูปปั้นสำริดของเจียง ไค-เช็ก มุงดูพิธีชักธงชาติของเหล่าทหาร กลมกลืนไปกับชาวเมืองที่พาลูกหลานมาพักผ่อน ออกกำลังกาย พาสัตว์เลี้ยงมาเดินเล่น แต่ส่วนมากที่ฉันเห็นคือ “วัยรุ่น” ที่รวมตัวกันเป็นกลุ่มก้อนทั้งเล็กใหญ่หลายสิบกลุ่ม บ้างก็รวมตัวเปิดเพลงประกอบการเต้นแขนงต่างๆ อย่างบีบอย คัฟเวอร์ ฝึกซ้อมการแสดงละครเวทีโรงเรียน กระทั่งชมรมวงโยธวาทิตจำนวนหลายสิบชีวิตมาตั้งป้ายระยะทาง ซ้อมกับเครื่องดนตรีและคฑาไม่ต่างจากซ้อมในสนามกีฬาในโรงเรียนเลย เด็กๆ แต่ละกลุ่มจับจองพื้นที่ตามมุมต่างๆ อย่างสบายใจเพราะความใหญ่โตของพื้นที่ ทุกคนต่างก็ตั้งใจซ้อม ไม่มีรบกวนกลุ่มอื่นหรือคนที่เดินผ่านไปมา ใช้ชีวิตประจำวันในสถานที่ท่องเที่ยวได้ไม่ขัดตา แถมยังเพลินใจดีตอนที่ฉันไปยืนดูพวกเขาซ้อม โดยเฉพาะวงโยฯ ที่เอาจริงเอาจังกันมาก ระหว่างเอาใจช่วยอยู่ ฉันก็รู้สึกสงบและมีความสุขจริงๆ ที่เห็นชาวเมืองเลือกจะออกจากบ้านมารวมตัวกันในพื้นที่สาธารณะแบบนี้ ไม่มีกีดกัน ใครอยากทำกิจกรรมอะไรก็ตามสะดวก ซึ่งเป็นสิ่งที่หาดูยากในบ้านเรา เพราะหลายคนเลือกจะอยู่บ้านมากกว่าออกมาข้างนอกที่เสี่ยงจะเจออันตราย



    การที่ไทเป “เป็นความสบายใจ” ของทั้งคนท้องถิ่นและนักท่องเที่ยว ทำให้ฉันประทับใจเมืองหลวงแห่งนี้มากกว่าที่ไหนที่เคยไปเยือนมา เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ฉันไม่คาดหวังว่าต้องสนุกจนหัวใจเต้นแรง แต่เป็นการไป “พักผ่อน” ให้หัวใจสงบไปกับบรรยากาศสบายๆ จนต่อให้ต้องนิยามอีกกี่ครั้ง ฉันก็ยืนยันว่า ไทเปน่ะ...น่ารักจริงๆ




Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in