เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
exhibisyeonprovdtha
CITY POP ‘80s: แนวเพลงที่เอาทุนนิยมมาตัดเสื้อผ้า



  • ภาพจำของญี่ปุ่นแต่ละปี แต่ละยุคสมัยมีความเฉพาะตัวต่างกัน ของปีนี้อาจเป็น ‘โอลิมปิกโตเกียว 2020’ ที่โดนเลื่อนออกไปปีหน้าเพราะติดโควิด แต่ถ้ากระโดดย้อนกลับไปช่วงปี 1980 ภาพที่หลายคนอาจมองเห็นญี่ปุ่นผ่านการ์ตูนที่เริ่มเข้าสู่เมนสตรีม แฝงวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของคนญี่ปุ่นเข้ามาอย่างแนบเนียน ทะลุไปยังพื้นหลังคือเศรษฐกิจอันเฟื่องฟูในสมัยนั้น



    อย่างเช่น ถ้าคุณเคยดู โดราเอมอน (1969) คุณจะรู้ว่ามนุษย์เงินเดือนกับแม่บ้านใช้ชีวิตกันอย่างไร ถ้าเคยดู ถนนสายนี้ เปรี้ยว (1987) จะเห็นภาพความเปรี้ยวของวัยรุ่นญี่ปุ่นยุคใหม่ ซึ่งทั้งสวยเซ็กซี่ ครองใจผู้ชมทั่วโลก จอมโจรลูแปงที่สาม (1984) และ ซิตี้ฮันเตอร์ (1985) ในพล็อตแอคชั่นคอเมดี้สุดสนุกไม่แพ้ฝั่งฮอลลิวูด หรือจะเป็นภาพยนตร์จากสตูดิโอจิบลิ ป๊อปปี้ ฮิลล์ ร่ำร้องขอปาฏิหาริย์ (2011) กับภาพเด็กมัธยมญี่ปุ่นหลังสงครามเย็นในเมืองโยโกฮาม่าที่มีต้นกล้า “เสรีชน” อยู่ในตัว 





    ถนนสายนี้ เปรี้ยว (Kimagure Orange Road) (1987)





    ทว่าเศรษฐกิจทุนนิยมไม่ได้ผลิดอกออกผลเป็นเพียงอุตสาหกรรมการ์ตูนเท่านั้น ยังมีเพลงป๊อบแขนงหนึ่งบรรยายภาพญี่ปุ่นช่วงเศรษฐกิจเติบโตบานสะพรั่งตั้งแต่ปลาย 1970s พีคแตะเพดานที่ 1980s ไปถึงต้น 1990s ก่อนปะทะเข้ากับวิกฤตฟองสบู่แตก นั่นคือแนวเพลง ซิตี้ป๊อป (City Pop) 









    “ราตรีกาลคือความเพ้อฝันรูปปริซึม
    สอดส่องลำแสงสีรุ้งยังเราสอง”




    เป็นหนึ่งในท่อนของเพลง Fantasy (1982) ที่ นากาฮาระ เมย์โกะ เปรียบเปรยชีวิตรักกับแท่งปริซึมกำเนิดสีรุ้งว่ามันช่างเป็นความรู้สึกที่แฟนตาซีเหลือเกิน ซึ่งเพลงจังหวะฟังก์ชวนโยก แต่งแต้มด้วยสีสันจากทรัมเป็ตนี้ นอกจากกล่าวถึงความรักแล้ว ยังพูดถึงตัวตนที่ต่างไปจากอดีต ความเพ้อฝัน การเต้นรำ แสงนีออน เฟชั่นเสื้อมันเลื่อม และเมืองริมอ่าว (Bay City) ภาพที่ปรากฏในเนื้อเพลงพอจะบอกเราได้คร่าวๆ ว่าชีวิตคนเมืองของญี่ปุ่นช่วงทศวรรษที่ 1980 มีหน้าตาเป็นแบบไหน



    ไม่ผิดแผกไปจากเพลงแนวซิตี้ป๊อปอื่นๆ ที่อัลกอริทึมมหัศจรรย์ของยูทูปแนะนำให้ชาวโลกได้ฟังช่วงปี 2016 เป็นต้นมา หลายคนคงเคยฟังเพลงซิตี้ป๊อปของทาเคอุจิ มาริยะ, ยามาชิตะ ทัตสึโระ, โอฮาชิ จุนโกะ, คิคุจิ โทโมโกะ และศิลปินชาวญี่ปุ่นอีกมายมายที่เดินทางข้ามเวลาจาก 40 ปีก่อนมาถึงพวกเราให้ได้สนุกและจินตนาการไปกับ “ภาพความฟุ้งเฟ้อในวิถีคนเมือง” ของญี่ปุ่นที่ยากจะหวนกลับไปเป็นแบบนั้นได้อีก



    แม้ว่าฟังโดยผิวเผินแล้ว ดนตรีของซิตี้ป๊อปจะไม่ค่อยแปลกแยกจากเทรนด์เพลงป๊อปอื่นๆ ที่อยู่ร่วมสมัยเดียวกันกับของสหรัฐฯ ผู้ทรงอิทธิพลในญี่ปุ่นเท่าไรนัก ซิตี้ป๊อปหยิบยืมเอกลักษณ์ดนตรีต่างๆ อย่างดิสโก้ ฟังก์ บูกี้ อิเลคโทร อาร์แอนด์บี แจ๊ส ฯลฯ มีการทำให้เพลงมีท่อนน่าจดจำด้วยลูกเล่นจากเสียงซินธิไธเซอร์และเบสไลน์สวยงาม แต่ด้วยจุดร่วมของเนื้อเพลงซึ่งมักจะมีชอยส์ให้พูดถึงคล้ายๆ กันอย่างน้อยหนึ่งข้อคือ



    1) เมืองใหญ่

    2) ขับรถเที่ยว

    3) เต้น

    4) กลางคืน ท้องฟ้า ดวงดาว

    5) ไฟนีออน ไฟดิสโก้

    6) ความรัก (ทั้งสมหวังหรืออกหักจากลา)

    7) นึกถึงอดีต

    8) ถูกทุกข้อ



    ถ้าคุณเคยขับรถบนถนนที่ไหนสักแห่งตอนกลางคืน ไฟทางตกพาดผ่านแก้มไปเป็นจังหวะ เพ้อถึงใครสักคน นึกถึงอดีตอันติดตรึงใจ หรือ Nostalgia for places where I’ve never been / Someone I’ve never met เข้าทำนองประโยคฝรั่งที่หลายคนมักเกิดอาการฟุ้งๆ หลังตีสอง นั่นแหละ คุณก็เป็นตัวเอกในเพลงซิตี้ป๊อปได้เหมือนกัน



    ด้วยองค์ประกอบของเนื้อเพลงเหล่านั้น ทำให้มีเพลงมากมายถ่ายทอดภาพความเป็นเมือง (Urban) ในช่วงทศวรรษ 1970-1980 ของญี่ปุ่นได้อย่างแจ่มชัด จนเกิดชื่อเรียกเพลงป๊อปที่แยกออกไปเพื่อที่จะจัดสรรว่าบทเพลงเหล่านี้นี่แหละ ที่ช่วยบันทึกชีวิตอันสนุกเจิดจ้าของพวกเขาใต้ชายคาอาคารสูงของเมืองหลวง สะท้อนความเป็นไปของโตเกียวและนครใหญ่เมื่อหลายสิบปีก่อนว่าผู้คนมีชีวิตอยู่กันอย่างไร เหตุใดถึงได้ให้กำเนิดแนวเพลงที่เต็มไปด้วยชีวิตชีวา (ทั้งสุขและเศร้า) แบบนี้ได้ เป็นสื่อบันเทิงที่เกี่ยวพันแนบแน่นไปกับวิถีชีวิตและเศรษฐกิจยุคฟองสบู่ของคนญี่ปุ่น และเป็นบทบันทึกอันไพเราะที่แม้แต่เพลงจากเมืองใหญ่ไหนๆ ในโลกก็ไม่ได้ใช้คำว่าซิตี้ป๊อปร่วมกันกับพวกเขา





    “จะขับรถเลียบอ่าวของเมืองที่กำลังเติบโตสะพรั่งพราว
    ใช้ดวงดาวเกลื่อนฟ้าเป็นดั่งไฟปาร์ตี้ของเรา”




    หาก “เครื่องปรับอากาศ-รถยนต์-โทรทัศน์สี” เป็นสมบัติที่ต้องมีในบ้านของคนญี่ปุ่นยุค 1960 ฉะนั้น “รัก-รถ-เมือง” ก็คือตัวเอกที่มีในแทบจะทุกเพลงของซิตี้ป๊อปเช่นกัน เพราะหลังจากที่โตเกียวถูกสหรัฐฯ ทิ้งระเบิดย่อยยับช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง รัฐบาลก็มีการฟื้นฟูเมืองเรื่อยมาจนถึงต้นทศวรรษที่ 1950 หากช่วงปี 1980 คือยุคซากุระบานสะพรั่งให้เราได้เชยชมผ่านซิตี้ป๊อป ก่อนจะร่วงโรยไปเมื่อประสบวิกฤตการณ์ฟองสบู่ในปี 1991 แล้ว ย้อนกลับไปที่ช่วงทศวรรษที่ 1950-1970 จึงเป็นช่วงที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นกำลังเติบโตอย่างก้าวกระโดด



    ปัจจัยที่เริ่มเตรียมดินให้อุดมสมบูรณ์เริ่มตั้งแต่การเข้ามาจัดระเบียบประเทศใหม่ของสหรัฐฯ หลังสงครามโลก ปี 1946 กองบัญชาการสูงสุดฝ่ายพันธมิตร (The Supreme Commander for the Allied Powers - SCAP) ช่วยร่างรัฐธรรมนูญโชวะที่เปลี่ยนแปลงญี่ปุ่นจากประเทศจักรวรรดิและบูชาองค์จักรพรรดิสู่การเป็นประชาธิปไตย ที่สำคัญคือในรัฐธรรมนูญบทที่ 2 ว่าด้วยการการละเว้นซึ่งสงคราม ญี่ปุ่นถูกสั่งห้ามไม่ให้มีกองทัพบก เรือ และอากาศ รวมถึงการประกาศตัวว่าจะไม่เข้าร่วมสงครามใดๆ ด้วย แม้บทบัญญัติข้อนี้จะมาจากผลพวงของสงครามโลก แต่หลังจากนั้น ในบรรยากาศของสงครามเย็น สองขั้วอุดมการณ์คอมมิวนิสต์และประชาธิปไตยที่ฟาดฟันกันอย่างดุเดือด ญี่ปุ่นกลับไม่ต้องเตรียมกำลังเพื่อร่วมรบพุ่งอีก แต่สามารถทุ่มงบประมาณไปกับการฟื้นฟูประเทศได้อย่างเต็มที่ เปลี่ยนเป้าหมายจากการประกาศแสนยานุภาพทางการทหารไปเป็นผู้นำแห่งโลกเศรษฐกิจทุนนิยมแทน



    อาจบอกได้ว่าสงครามเย็นบนคาบสมุทรเกาหลีคือปุ๋ยเร่งโตของแดนซากุระก็ย่อมได้ เมื่อสหรัฐฯ สนับสนุนฝ่ายใต้ จีนและโซเวียตหนุนฝ่ายเหนือ จากที่ห้ามญี่ปุ่นเข้าร่วมสงคราม นายกรัฐมนตรี ชิเงรุ โยชิดะ กลับลงนามสนธิสัญญาความมั่นคงร่วมระหว่างสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่นในปี 1952 อนุญาตให้กองกำลังต่างชาติเข้ามาตั้งฐานทัพในญี่ปุ่นได้ สหรัฐฯ จึงตั้งฐานทัพใหญ่ที่เกาะโอกินาว่า แลกกับจะช่วยคุ้มครองอธิปไตยหากถูกรุกราน จนกว่ากองกำลังป้องกันตนเอง (Self Defense Force) ของญี่ปุ่นจะเข้มแข็ง 



    การที่ญี่ปุ่นเข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับสหรัฐฯ ในฐานะฐานการผลิตและส่งออกสินค้าแก่กองกำลังสหประชาชาติในสงครามเกาหลี อุตสาหกรรมเครื่องอุปโภคบริโภคของญี่ปุ่นจึงขยายตัวอย่างรวดเร็ว รวมไปถึงได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐฯ ในการนำเข้าเทคโนโลยีและพัฒนาอุตสากรรมหนัก เช่น ยานพาหนะสงคราม อุตสาหกรรมโลหะ ถลุงเหล็ก กลั่นน้ำมัน เคมี ที่ญี่ปุ่นเคยมีในลักษณะกลุ่มไซบัตสึ (Zaibutsu) ที่โอบอุ้มเศรษฐกิจของประเทศตั้งแต่ยุคเมจิถึงก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง



    แม้ว่า SCAP จะออกกฎหมายต่อต้านการผูกขาด (Anti Monopoly Law) ในปี 1947 เพื่อยกเลิกกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่อย่างไซบัตสึ เช่น มิตซูบิชิ มิตซุย มัตสึโมโต ยาสุดะ เป็นต้น แต่กลุ่มธุรกิจดังกล่าวได้ปรับกลยุทธ์กลายเป็นเคย์เรสึ (Keiretsu) เพื่อกระจายทุนไปยังบริษัทลูกหรือเปิดบริษัทใหม่เพื่อคงสภาพ “เครือข่ายทางธุรกิจ” ไว้เช่นเดิม โดยความสัมพันธ์ในเคย์เรสึโยงใยซับซ้อนมาก มีการถือหุ้นข้ามบริษัท การแลกเปลี่ยนทรัพยากรมนุษย์และทุนการผลิตแก่กัน ให้กู้ยืมเงินดอกเบี้ยต่ำ 



    กลุ่มเคย์เรสึครอบคลุมทั้งสินค้าอุปโภคบริโภคในชีวิตประจำวัน ไปจนถึงอุตสาหกรรมใหญ่ๆ ของประเทศ เช่น ธนาคาร ประกันภัย รถยนต์ โลหะ การค้าระหว่างประเทศ การขนส่งทางเรือ ซึ่งกลุ่มเคย์เรสึมีอิทธิพลอย่างมากต่อเศรษฐกิจของญี่ปุ่นยุคหลังสงคราม เพราะมีบริษัทสมาชิกมากและหลากหลายประเภท และยังได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลผ่านทางกระทรวงระหว่างประเทศและอุตสาหกรรม (The Ministry of International Trade and Industry - MITI) ที่ก่อตั้งเมื่อปี 1949 ผู้ให้คำปรึกษากับบริษัทญี่ปุ่นที่จะไปลงทุนหรือส่งออกสินค้ายังต่างประเทศ 



    MITI เป็นอีกปุ๋ยเร่งโตของเศรษฐกิจที่สามารถป้องกันการแข่งขันกับบริษัทต่างชาติในญี่ปุ่น ควบคุมการแข่งขันกันเอง ให้คำแนะนำเรื่องการผลิตและหาตลาดใหม่ๆ แก่ภาคเอกชน การย้ายฐานการผลิต สนับสนุนด้านการกู้ยืมทุนดอกเบี้ยต่ำจากสถาบันการเงินของรัฐ หรือกระทั่งหาวิธีเจรจาหลีกเลี่ยงกฎหมายต่อต้านการผูกขาดที่ออกโดย SCAP ด้วย



    จากการร่วมมือของรัฐและกลุ่มธุรกิจที่มีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดเหล่านี้ ทำให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว จนได้ประกาศความสำเร็จแก่ชาวโลกผ่านการเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกฤดูร้อนปี 1964 ที่โตเกียว และเปิดเส้นทางรถไฟชินคันเซ็นได้เป็นครั้งแรกในมหกรรมกีฬานี้ เจ้ารถไฟหัวกระสุนวิ่งพุ่งจากเมืองหลวงทิศตะวันตกสู่ปลายทางเมืองใหญ่อย่างโอซาก้า จากนั้นโอซาก้าได้งานแสดงสินค้าและเทคโนโลยี หรืองาน Expo '70 เผยแพร่ภาพความทันสมัยล้ำยุคออกสู่สายตานานาชาติ




    How 1980s Japan Became History's Wildest Party | Earthquake Bird | Netflix




    เมื่อสองเมืองใหญ่ได้รับเลือกให้เป็นหน้าเป็นตาของประเทศ ดังนั้นทั้งผังเมือง สถาปัตยกรรม ภูมิทัศน์เมือง สาธารณูปโภค และระบบขนส่งสาธารณะจึงพัฒนาตามไปอย่างไม่หยุดยั้ง หลังยุคเติบโตสู่ช่วงบานสะพรั่ง ในปี 1966-1975 ญี่ปุ่นก้าวขึ้นแท่นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจเป็นอันดับสองของโลกรองเพียงสหรัฐฯ เท่านั้น



    ทว่าแม้การขนส่งทางรางมีรากฐานมาแล้วนับร้อยปีตั้งแต่ยุคเมจิ มีชินคันเซ็นมาก่อนหน้าเกือบ 20 ปี และมหานครโตเกียวในปี 1980 จะมีรถไฟฟ้าครอบคลุมทั้ง 23 เขตพิเศษชั้นในและจังหวัดใกล้เคียง ซึ่งรองรับแรงงานที่เข้ามาทำงานในย่านธุรกิจต่างๆ โดยประชากรประมาณแปดล้านคน หรือราวๆ 70% ของคนโตเกียวทั้งหมดนั้นอยู่ในวัยทำงานอายุ 15-64 ปี ดังที่เราเคยเห็นผ่านตาจากข่าวมาบ้างว่า ชั่วโมงเร่งด่วนเป็นช่วงที่เหล่ามนุษย์เงินเดือนต้องอัดตัวเองเข้าไปในตู้รถไฟให้ทันเวลาเข้างาน แต่กระนั้น กลับสังเกตว่าน้อยมากที่เพลงซิตี้ป๊อปจะพูดถึงการเดินทางด้วยขนส่งสาธารณะที่เป็นกระดูกสันหลังของคนเมือง แต่วาดภาพฝันถึงการขับรถเที่ยวไปกับคนรู้ใจเสียมากกว่า



    ช่วงปี 1980 ที่ซิตี้ป๊อบกำลังเฟื่องฟู ประชากรกลางวัน (Daytime Population) ของโตเกียวซึ่งเดินทางออกไปทำงานนอกบ้านในชั่วโมงทำการนั้น มีกว่า 14 ล้านคน นับรวมแรงงานจากจังหวัดปริมณฑลติดกันอย่างคานากาวะ ไซตามะ และชิบะด้วย มวลชนมหาศาลเหล่านี้เดินทางเวียนวนในจังหวัดและเข้าออกเมืองหลวงด้วยระบบขนส่งสาธารณะและรถยนต์ส่วนตัว โดยเฉพาะรถยนต์ส่วนบุคคลในโตเกียวมีถึง 1,806,602 คัน คานากาวะ 1,150,132 คัน ไซตามะ 964,635 คัน และชิบะ 800,312 คัน บ่งบอกถึงความหนาแน่นของประชากรคนและจำนวนรถยนต์ที่มากที่สุดเป็นอันดับต้นๆ ของโลก



    จนไม่แปลกใจว่าทำไมในเพลงซิตี้ป๊อปถึงมีแต่กิจกรรมขับรถ ขับรถ และขับรถ ในเมื่อรถยนต์เป็นสัญลักษณ์หนึ่งของความเจริญ ความร่ำรวย เป็นส่วนตัว อาจบอกได้ว่าแม้ระบบขนส่งทางรางจะเป็นความภาคภูมิใจมวลรวม แต่ถ้ามีรถยนต์ในครอบครองนั้นเป็นความภูมิใจต่อหัวก็ได้



    ลองคิดดูว่ามันจะเท่กว่าสักแค่ไหนในภาพถ้าเราได้ขับรถไปตามถนนลาดยางสีเข้ม แสงแดดตกกระทบหลังคามันเงา ยืดแขนขาหนึ่งกุมพวงมาลัย อีกข้างดันกรอบแว่นกันแดด เปิดแอร์เย็นฉ่ำ ปรายตามองกลุ่มคนที่กำลังวิ่งหน้าตั้งลงสถานีรถไฟใต้ดินอย่างสบายอารมณ์ ในยุคที่รถยนต์ส่วนตัวในประเทศขายดิบขายดี รถสัญชาติอื่นเร่เข้ามาทำตลาด หรือกระทั่งฮอนด้าที่ก้าวไปอีกขั้น โดยกระโดดไปลงสนามแข่ง Formula One ในต่างประเทศจนคว้าชัยชนะมาหลายครั้ง รถยนต์จึงเป็นความภาคภูมิใจของเศรษฐกิจญี่ปุ่น และเป็นภาพตัวแทน “ความจ๊าบ” ที่ขาดไม่ได้ในสื่อบันเทิงทั้งหลาย




    “รับลมหนาวใต้ผืนฟ้าเลื่อมระยับพัดผ่านเมืองอ่าว”



    เมืองอ่าว (Bay City) ที่มักอยู่ในซิตี้ป๊อปคือจังหวัดชิบะ เมืองหลวงและนับยาวไปตามขอบโค้งของอ่าวโตเกียวถึงเมืองท่าโยโกฮาม่า จังหวัดคานากาวะนั่นเอง หากนึกตามภาพพรรณนาของเนื้อเพลงทั้งหลาย คงจะโก้หรูเอาการ ถ้าเราแตกต่างจากเหล่ามนุษย์เงินเดือนส่วนใหญ่ที่เดินทางกลับบ้านหลังเลิกงานด้วยรถไฟ แต่เรากลับขับรถส่วนตัวบนถนนลาดยางเลียบอ่าวยามโพล้เพล้ มองไปเห็นสนามบินฮาเนดะแล้วพลันนึกถึงหญิงสาวที่ได้พบเพียงจังหวะสั้นๆ แต่ตรึงใจยิ่ง ดังที่คาโดมัตสึ โทชิกิ เล่าผ่านเพลง Airport Lady (1984)


    ปีแรกของทศวรรษที่ '80 คนญี่ปุ่นมีรายได้ต่อเดือนเฉลี่ยประมาณ 2 แสนเยน ช่วงกลางปีอย่างเดือนมิถุนายนกับกรกฎาคมได้เพิ่มไปถึง 3 แสนเยน ส่วนเดือนสิ้นปีพุ่งไปถึง 6 แสนเยน ส่วนราคารถยนต์ส่วนตัวเริ่มต้นคันละ 1 ล้านเยน หากอยู่ทำ OT หรือมีรายได้สูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วไป โดยเฉพาะเมืองที่ค่าครองชีพและรายได้สูงอย่างโตเกียวแล้ว การถอยรถสักคันมาขับโดยแบกค่าทางด่วนหรือภาษีไหวก็คงไม่ใช่เรื่องเหนือบ่ากว่าแรงนัก จากนั้นจึงซื้อเพลงเทปคลาสเซ็ทราคาตลับละประมาณ 2,000-3,000 เยน ราคาเท่าอาหารจานเดียวคุณภาพดีสักมื้อสองมื้อ เอามาเปิดฟังชิวๆ ในรถขณะขับไปเที่ยว ก็ดูเข้าทีจะเข้าทีเป็นชีวิตแบบในเนื้อเพลงซิตี้ป๊อปอยู่เหมือนกัน






    “เมื่อวานฉันบอกตัวเองว่าจะไม่รักใครอีก แต่ตอนนี้มันเปลี่ยนไปแล้ว
    มาสิ...มาเต้นกันกระทั่งฟ้าสางเลยนะ”



    ถัดจาก “รถ-เมือง” แล้ว “รัก” ทั้งหวานชื่นและขื่นขมก็เป็นอีกองค์ประกอบหนึ่งที่ขาดไม่ได้ของซิตี้ป๊อป และมักเกี่ยวพันกับการเต้น เพลงไวรัลไปทั่วยูทูปที่คนรู้จักเพลงแนวนี้ต้องเคยฟังอย่าง Plastic Love (1984) ของทาเคอุจิ มาริยา ที่ว่าด้วยการจากลา ไม่ศรัทธาในความรัก ก็ยังไม่พ้นการเต้นรำและเซตติ้งในแดนซ์คลับ เห็นได้ชัดว่าญี่ปุ่นรับวัฒนธรรมอเมริกันเข้ามาเต็มเปี่ยมในยุคเศรษฐกิจเฟื่องฟู เพราะถ้ามองโดยค่านิยมเก่าแก่ของคนญี่ปุ่นแล้ว คงไม่ใช่เรื่องปกติที่คนหนุ่มสาวจะออกมาสังสรรค์ยามราตรีจนรุ่งเช้าได้


    เหมือนกับที่ทานิซากิ จุนอิจิโร่ พูดถึงความ “ฉาบฉวย” ของโลกสมัยใหม่ในหนังสือ In Praise of Shadow (1933) ว่าเทคโนโลยีตะวันตกเข้ามาทำลาย “การมองโลก” อย่างสงบงดงามตามวิถีญี่ปุ่นดั้งเดิม เครื่องเล่นแผ่นเสียงแสนเสียดหูไม่สามารถสู้นักดนตรีบรรเลงให้ฟังสดๆ ได้ เขาคร่ำครวญที่พี่น้องร่วมแผ่นดินต้องปรับตัวหลายๆ อย่างไปตามชาวตะวันตกเสียหมด และการเต้นรำเพื่อเข้าสังคมก็ไม่ใช่วัฒนธรรมพื้นฐานของญี่ปุ่นอย่างแน่นอน ถึงจุนอิจิโร่จะเขียนหนังสือเล่มนี้ก่อนประเทศจะแพ้สงครามโลกครั้งที่สอง เหตุการณ์ซึ่งทำให้วัฒนธรรมที่เขาไม่ค่อยชอบใจไหลทะลักเข้ามาในบ้านเกิด แต่ถ้าเขายังมีชีวิตอยู่ทันดูยุค 1980 ที่มีทั้งเครื่องเล่นแผ่นเสียงไวนิล เทปคลาสเซ็ท แผ่นซีดีที่เหล่าศิลปินดังขายได้เป็นหลักแสนขึ้นไปแทบจะถมเป็นภูเขาสักลูกได้ เขาจะรำพันอย่างเศร้าเสียดายออกมาเป็นหนังสืออีกเล่มหรือเปล่า


    เมื่อวัฒนธรรมบริโภคนิยมมาพร้อมกับความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ วิถีชีวิตในซิตี้ป๊อบก็เป็นเช่นนั้น ดูแล้วก็แปลกพิลึกดีที่ตัวละครในบทเพลงต่างก็รักในการ “เพ้อฝัน” ยามค่ำคืน กิน-ดื่ม-เที่ยว ไปในมหานครอันอ้างว้าง แต่ช่วงเวลากลางวัน คนเหล่านี้ก็ต้องเดินกลับเข้าไปอยู่ในกรอบขนบสังคมแบบญี่ปุ่นเหมือนเดิมแบบที่จุนอิจิโร่เติบโตมา เป็นโครงสร้างที่ยึดโยงแต่ละคนไว้ด้วยหน้าที่ ส่วนรวมมาก่อนส่วนตัว


    แต่ทำงานในบริษัทซึ่งมักมีระบบการจ้างงานตลอดชีวิตทำให้พนักงานไม่ต้องเสี่ยงออกไปหางานใหม่ กลับกลายเป็นความมั่นคงในชีวิตที่คนหนุ่มสาวเริ่มเบื่อหน่าย เครือข่ายทางสังคมอันผูกแน่นแทบจะยืนอยู่คนละขั้วกับชีวิตอิสระเสรีของโลกซิตี้ป๊อปโดยสิ้นเชิง ทว่าในความต่างนั้นมันกลับดูคล้ายจนแนบสนิทกันได้พอดี นั่นคือคือความเว้งว้างในช่องอก เพราะถึงแม้จะใช้เงินจับจ่ายเพื่อความสุขของตัวเอง แต่มันก็ไม่ได้จีรังมากมายนัก ถึงจะออกมาเต้นถึงค่ำมืดกี่โมงก็ตาม เมื่อพักแล้วความสนุกก็เคลื่อนคล้อยหายไปอยู่ดี


    กระทั่งต้องกลับสู่โมงยามแห่งแสงแดดจ้า ตามเนื้อเพลงทั้งหลายที่มักจะกล่าวถึงตัวเอกพูดกับคนรักว่า “มาเต้นถึงเช้ากันเถอะ” ไม่ต่างอะไรกับซินเดอเรลล่าผู้มีความสุขได้เพียงข้ามคืนเท่านั้น พยายามจะใช้เวลาให้คุ้มค่าที่สุดจนแสงแรกของวันมาเยือน เพื่อที่จะไปพบกับสภาพซึ่งทำให้ตัวตนต้องอยู่ภายใต้ภาพใหญ่ของสังคม ไม่ว่าสังคมนั้นจะเล็กระดับครอบครัวหรือใหญ่ระดับประเทศก็ตาม เป็นวัฒนธรรมที่หยั่งรากลึกในญี่ปุ่นอย่างยากที่จะถอนออกไปได้หมด


    คนวัยหนุ่มสาวที่อยู่ร่วมสมัยกับซิตี้ป๊อปไม่ได้เพียงเกิดหลังสงครามมาเจอเศรษฐกิจอันเฟื่องฟูเพียงอย่างเดียว แต่ในแง่ของความคิดความเชื่อที่ผู้อาวุโสกว่าและสังคมสอนมาก็ถูกสั่นคลอนได้จากระบอบประชาธิปไตยที่สนับสนุนแนวคิดปัจเจกชนนิยม (Individualism) ซึ่งเบ่งบานอย่างมากบนสังคมรวมกลุ่ม (Collectivism) ยุคเดียวกันกับที่ญี่ปุ่นกำลังเติบโตสู่การเป็นมหาอำนาจ ความคิดใหม่ปะทะรุนแรงกับความคิดเก่าดั้งเดิม เป็นความลักลั่นที่ผู้คนต้องเผชิญ


    คล้ายกับท้องเรื่องปี 1963 ใน ป๊อปปี้ ฮิลล์ ร่ำร้องขอปาฏิหาริย์ ตรงฉากนักเรียนม.ปลายต่างเรียกร้องไม่ให้ครูใหญ่รื้อตึกชมรมอันเป็นที่รัก นี่ก็เป็นหนึ่งในภาพ “ประชาธิปไตย” ที่ผู้อ่อนวัยกว่าขอให้ผู้ใหญ่ฟังเสียงพวกเขา แม้ประเด็นในอนิเมชันจะเบาบางกว่ามาก แต่มันก็ซ้อนทับกับภาพการประท้วงครั้งใหญ่ครั้งหนึ่งของญี่ปุ่นที่เคยเกิดขึ้นในทศวรรษเดียวกัน 



    จากบทความ Tokyo 1960: Days of Rage & Grief 
    Hamaya Hiroshi’s photo of the Anti-Security-Treaty Protests  by Justin Jesty


    การประท้วงอันโปะ (Anpo Protests) ในปี 1960 เกิดขึ้นในสมัยที่ คิชิ โนบุสุเกะ เป็นนายกรัฐมนตรี รัฐบาลญี่ปุ่นต่อสัญญาความมั่นคงร่วมกับสหรัฐฯ ในปี 1952 ที่กล่าวไว้ข้างต้น ซึ่งญี่ปุ่นดำเนินการตามนั้นมานับสิบปีโดยไม่มีทีท่าว่าจะยุติลงเมื่อใด ตลอดมาจึงมีฐานทัพสหรัฐฯ ตั้งอยู่บนแผ่นดินญี่ปุ่นจนเกิดความสงสัยไปทั่วว่า ในเมื่อสงครามเย็นในเกาหลีจบไปแล้วและญี่ปุ่นก็สามารถยืนได้ด้วยตัวเอง เหตุใดยังต้องมีกองกำลังต่างชาติมาปกป้องอธิปไตยของประเทศอีก? รวมถึงการต่อสัญญาโดยไม่ผ่านการอภิปรายด้วย ความกังวลนี้เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ประชาชนนำโดยกลุ่มนักศึกษาลุกฮือขึ้นประท้วงอย่างหนักถึงหลักสิบล้านคนกระทั่งโนบุสุเกะยอมลงจากตำแหน่ง กลายเป็นการแสดงออกทางการเมืองครั้งใหญ่ที่สุดหลังยุคสงคราม เหตุการณ์อันโปะจึงเป็นสัญลักษณ์หนึ่งของการเสริมรากฐานแนวคิดประชาธิปไตยในญี่ปุ่นเรื่องสิทธิ์และเสียง รวมถึงกระทุ้งให้คนยึดมั่นในตน ซึ่งสามารถพัฒนาไปสู่การสำนึกคิดเรื่องปัจเจกได้


    ทว่าการให้ความสำคัญกับบุคคล กับแนวคิดเรื่องส่วนรวมต้องสำคัญกว่าตัวเองㅡดูจะไปด้วยกันได้ยาก ทั้งสองฝั่งดึงกระชากไปมาจนหาตรงกลางไม่พบ คนเยาว์ชาวซิตี้ป๊อปจึงไม่ได้มีเพียงความสนุกสนานบนฟลอร์เต้นรำเพียงอย่างเดียว แต่ต้องต่อสู้กับวัฒนธรรมที่ต้องยกประโยชน์ของสังคมเป็นที่ตั้ง เยียวยาหัวใจจากความวูบวาบของลัทธิบริโภคนิยมที่ซ่อนตัวมากับระบอบประชาธิปไตย เศรษฐกิจทุนนิยมเสรีและความมั่งคั่ง


    ด้วยความยากที่ไม่รู้จะเอา “ตัวตน” ไปไว้ตรงไหนถึงจะพอดีกับใจ อย่างน้อยก็คงมีแต่การแสวงหาความสุขชั่วข้ามคืนไปก่อน โลดแล่นไปในจังหวะเสียงเพลง โดดเด่นบนพื้นที่ปิดอันจำกัดไปกับผู้คนที่ต่างก็หวังจะเปล่งประกายออกมาเช่นกัน ซิตี้ป๊อปจึงเป็นภาพจำลองของลูกบอลดิสโก้ในห้องทึมทึบยุค 1980 ที่ปัจเจกพยายามให้ความสำคัญกับตน ส่งเสียงความต้องการ ทะเยอทะยานถึงสุขารมณ์ มุ่งหาความรักอันชื่นมื่น หรือปลดปล่อยตัวตนแท้จริง เผยความคิดที่ไม่แคร์ใคร แม้จะชีวิตอย่างซิตี้ป๊อปจะสวยงามแฟนตาซีอย่างที่ นากาฮาระ เมย์โกะ บรรยายว่าเป็น “ความฟุ้งฝันรูปปริซึม สะท้อนแสงสีรุ้งประกาย” แต่ก็ไปไม่ได้ไกลกว่าเขตแดนของห้องที่กำหนดไว้เลย


    ซิตี้ป๊อปจึงสนุกสนานในตัวของมันเอง รื่นรมย์ไปบนพรมแดงที่ปูทับความเจ็บปวดลึกๆ ของคนวัยหนุ่มสาวที่ปรารถนาความสุขอันยั่งยืน รุ่งเรืองนับทศวรรษก่อนรุ่งริ่งลงด้วยวิกฤตการณ์ฟองสบู่จนเข้าสู่ทศวรรษที่สูญหาย (Lost Decade) นับแต่นั้น แต่นัยหนึ่งของความชั่วครู่วับแวมของความสุขดังกล่าว มันก็อาจจะไม่ใช่ความสุขจอมปลอมเสมอไป มันเกิดขึ้นในใจด้วยความจริงแท้แม้เพียงไม่นาน คล้ายกับการมองความงามตามขนบญี่ปุ่นแบบ Mono no aware ที่ให้ชื่นชมความงามของความไม่คงกระพัน ความงามของความไม่สมบูรณ์ แตกหักบุบสลาย ซิตี้ป๊อปจึงอาจเป็นความงามแบบคติญี่ปุ่นอย่างหนึ่งที่ห่มร่างของมันมาด้วยความฉาบฉวยของลัทธิบริโภคนิยมซึ่ง “ทั้งหวานปนขม” ก็เป็นได้


    เพราะความไม่จีรังยืนยาว
    คือความงามอันเที่ยงแท้ของชีวิตนั่นเอง







    Japan 80s HD | Digital restored 1980 Footage | 1080p





    *****




    Dedication to all precious City Pop songs


    อ้างอิง
    หนังสือ
    • อรรถจักร สัตยานุรักษ์. (2548). Japanization. กรุงเทพฯ: โอเพ่นบุ๊คส์.
    • ไชยันต์ ไชยพร. (2550). Post Modern in japan.  กรุงเทพฯ: โอเพ่นบุ๊คส์.
    • พวงทิพย์ เกียรติสหกุล. (2555). ญี่ปุ่นกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ค.ศ.1945-1975. นครปฐม: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยศิลปากร.
    • โกโต-โจนส์, และคริสโตเฟอร์. (2559). ญี่ปุ่นสมัยใหม่: ความรู้ฉบับพกพา = Modern Japan: A Very Short Introduction. กรุงเทพฯ: โอเพ่นเวิลด์ส.
    เว็บไซต์
    • การเปลี่ยนแปลงสู่สังคมเมือง 1
    • โครงสร้างของมหานครโตเกียว 1
    • ความหมายของเคย์เรสึ 1
    • ผลของโอลิมปิกปี 1964 โตเกียว 1, 2, 3, 4
    • จำนวนประชากรในมหานคร 1, 2
    • สถิตจำนวนรถยนต์โตเกียวและปริมณฑล 1, 2, 3, 4
    • ค่าเฉลี่ยเงินเดือนของพนักงานบริษัทญี่ปุ่น 1
    • ราคารถยนต์ช่วงปี 1980 1, 2
    • การประท้วงอันโปะ 1



Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in
neoncrumbs (@neoncrumbs)
ชอบมากเลยค่ะ ภาษาดีแล้วก็เล่าให้เข้าใจง่ายมากๆ เราฟัง city pop แบบผ่านๆไม่เคยรู้เลยว่ามันมีประวัติศาสตร์หรือบริบทยังไงบ้าง ชอบอ่านงานที่เชื่อมดนตรีกับสังคมแบบนี้จังเลยย ขอบคุณนะคะ เป็นกำลังใจให้เขียนงานและทำอะไรก็ตามที่คุณอยากทำต่อไปนะค้า ??
yajeb (@yajeb)
เป็นกำลังใจในการทำต่อไปครับ <3
provdtha (@oqntcday)
@yajeb ขอบคุณมากๆ เลยค่ะ TvT