เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
My First StoryZupiset Sasiwimon
สิ่งที่ข้าพเจ้าได้เรียนรู้จากโรงเรียนหมากล้อม #2
  • ตั้งใจว่าจะเขียนบันทึกถึงสิ่งที่ได้จากที่เรียนโกะทุกๆ เดือน เหมือนเป็นการสรุปให้ตัวเองฟังด้วยว่าแต่ละเดือนนั้นได้เรียนรู้อะไรไปบ้าง มีพัฒนาการมากแค่ไหน

    เข้าสู่เดือนที่สองแล้วสำหรับการเรียนและฝึกฝนหมากล้อมอย่างต่อเนื่องหลังจากเล่นๆ เลิกๆ มานาน ระดับฝีมือตอนนี้นับจากวันแรกที่เข้ามาเรียน จาก 3 คิวตอนนี้ 1 คิว ที่สอบผ่าน Qualify 1 ดั้ง 2 กระดาน (เหลือ Verify กระดานสุดท้ายก็จะขึ้นดั้งได้สักที) ถือว่าเป็นการพัฒนาที่เราค่อนข้างพอใจ เพราะที่ผ่านมาการสอบแค่ Qualify ให้ผ่านสักกระดานนั้นช่างเป็นเรื่องยากเย็นเหลือเกิน ผ่านมาถึงขนาดนี้ก็ถือว่าดีมากๆ แล้ว

    ทีนี้การสอบ Verify จะกับบรรดาครูหมากล้อม 4 ดั้ง 5 ดั้ง หรือเหล่าซือ (3 ดั้งโปร) ก็ดีนั้นถือเป็นด่านสุดท้ายที่ค่อนข้างยากหากเรายังไม่พร้อม ยังไม่แน่นหรือควรที่จะผ่านจริงๆ เมื่ออาทิตย์ที่แล้วก็ลองไปสอบมาแล้ว 1 กระดาน เรียกได้ว่าแพ้ตั้งแต่ยังไม่ได้แข่ง กลัว ประหม่า คาดหวังมากเกินไป จนไม่สามารถเล่นได้อย่างที่เคยเป็นได้ นับว่าเสียดายเหมือนกัน

    แต่กระดานนั้นก็ให้บทเรียนมากมายเหลือเกิน มันทำให้เรารู้ว่าเรายังขาดอะไรอยู่ เรายังอ่านหมากได้ห่วยแตก รูปร่างหมากไม่ดี กลัวตายมากเกินไป แต่ทั้งหมดนี้สามารถฝึกกันได้

    สิ่งแรกที่เราทำอย่างจริงจังมากๆ ก็คือ "การทำโจทย์" มันเป็นคำพูดที่พี่ที่โรงเรียน อาจารย์เน้นย้ำเสมอ "ได้ทำโจทย์มามั้ย" "ทำโจทย์เยอะๆ นะ" ซึ่งหลังจากที่มาเรียนเราก็พยายามทำโจทย์มากขึ้นกว่าเดิม แต่มันก็ยังไม่พอ จนวันที่สอบไม่ผ่าน แล้วฝึกทำโจทย์อย่างต่อเนื่องมาทุกวัน ผลการแข่งลีกที่โรงเรียน ผลการฝึกซ้อมกับรุ่นน้อง หรือกับคนเกาหลี จีน ในออนไลน์ ก็มีพัฒนาการขึ้นมาอย่างเห็นได้ชัด

    อาจารย์บอกว่า โรงเรียนสอนโกะทุกๆ ที่ จะพยายามให้เด็กฝึกจากการทำโจทย์ เพราะมันเป็นกำลังภายในที่ถ้าหากคุณไม่แน่น พลังไม่ถึง ก็ยากที่จะไปต่อสู้กับคนอื่นได้ เมื่อฝึกทำโจทย์เยอะพอแล้ว ค่อยมาศึกษารูปแบบหมาก แข่งขันและคอมเมนต์เกมต่อไป

    อีกสิ่งหนึ่งที่รู้สึกว่าสำคัญในการเล่นหมากล้อมคือคอนเซปต์ เราเริ่มเข้าใจมันมากขึ้นกว่าเดิมเล็กน้อย มันเป็นประโยคสั้นๆ ที่ถ้าเข้าใจและนำไปใช้ตอนเล่นได้บ่อยๆ แค่นี้ก็เก่งขึ้นมาแล้ว เช่น

    "โจเซกิไม่มีจริง"
    "รอดแล้วไปเล่นที่อื่น"
    "ตาย (จริงๆ) แล้วปล่อย ไม่ต้องฝืน"
    "นับแต้มอยู่เสมอ"
    "เดินตามธรรมชาติของหมาก อย่าเดินตามใจตัวเอง"
    "มีเหตุผลในทุกๆ หมาก"
    "โผล่หัวใหญ่มาก"
    ฯลฯ

    มันเป็นสิ่งที่อาจารย์เน้นย้ำมาตลอด แค่เพียงเวลาเราเล่น เราแข่ง เราซ้อม สามารถเอาหลักการนี้มาใช้ได้บ่อยๆ คงทำให้ฝีมือดีขึ้นกว่าเดิมมากมาย

    หลายๆ กระดานจากที่เล่นก็มีทั้งที่ทำได้และทำไม่ได้ ซึ่งก็คงต้องฝึกกันต่อไป เคยคุยๆ กับพี่ๆ แก๊ง 18+ ของโรงเรียนว่า การเรียนหมากล้อมตอนโตก็มีช้อได้เปรียบและเสียเปรียบ เราอาจอ่านหมาก และจำรูปแบบอะไรได้ไม่เท่าเด็กๆ แต่เรามีประสบการณ์ มีความเข้าใจโลก มีความนิ่ง ก็สามารถเอาคอนเซปต์นี้ไปปรับใช้กับการเล่นได้และเก่งขึ้นได้เหมือนกัน 
Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in