เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
Ram Roam Romeผู้พลาดพลั้งแห่งวันศุกร์
.italy 9 เจ้าหญิงที่กำลังจะตาย
  • แว้ก!!!

    ผมตื่นขึ้นเพราะเสียงโอดครวญของเอก พอลุกขึ้นมองไปที่หน้าต่างเจอกระจกเต็มไปด้วยเม็ดฝน ผมก็พอเข้าใจว่าทำไมเอกมันถึงโวยวายแต่เช้า เวนิสกล่าวอรุณสวัสดิ์เช้าที่ 2 ของพวกเราด้วยความชุ่มฉ่ำ ผมสองจิตสองใจระหว่างขดตัวนอนต่อกับออกไปผจญกับสายฝนในยามเช้า

    “เอาไงดี” เอกถาม
    “ลุย!!” ผมตอบ
    ฮึ่ย! เราไม่ได้ข้ามน้ำข้ามทะเลเพื่อจะมายอมแพ้กับฝนแค่นี้หรอก

    ผมรีบจัดการเนื้อตัวและลงไปที่ล๊อบบี้ของโรงแรม ยัดโยเกิร์ต และครัวซองต์ที่เสิร์ฟไม่อั้นใส่ท้องให้อิ่ม ก่อนจะสะบัดร่มให้กางออกพลางวิ่งฝ่าสายฝนขึ้นรถเมล์ที่จะนำเราเข้าสู่เวนิส

    Vaporetto เคลื่อนตัวผ่าน Grand Canal ไปอย่างช้าๆ ท่ามกลางสายฝนที่พลักดันนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ให้ยังคงอยู่แต่ในที่พัก โชคดีที่เมื่อ Vaporetto ของพวกเราจอดเทียบท่า San Marco ฝนที่ตกมาตลอดทางก็หยุดลงเอาดื้อๆ เมฆครื้มลอยห่างออกไป ทิ้งเอาไว้แต่พื้นอันเปียกปอนของจตุรัส San Marco




    ถึงแม้ฝนจะเพิ่งหยุดตก แต่แถวของนักท่องเที่ยวบริเวณหน้ามหาวิหารแห่งเซนต์มาร์ก หรือ Basilica di San Marco ก็เริ่มปรากฎให้เห็นแล้ว ผมกับเอกรีบเดินไปต่อคิวเพื่อเข้าเยี่ยมชมมหาวิหารที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของเวนิส และยังนับเป็นหนึ่งในโบสถ์ที่เก่าแก่ที่สุดในยุโรปอีกด้วย

    ในจำนวนสถานที่ท่องเที่ยวทั้งหมดของเวนิส ผมคิดว่า Basilica di San Marco เนี่ยแหละเป็นตัวแทนของเวนิสได้ดีที่สุด เนื่องจากเป็นเมืองค้าขาย เวนิสจึงคึกคักไปด้วยผู้คนหลายเชื้อชาติจากทั่วทุกมุมโลก โบสถ์แห่งนี้จึงเป็นการยำใหญ่ของศิลปะจากหลายยุคหลากวัฒนธรรม ดูแล้วเหมือนอ่านนิตยสารแฟชั่นที่จับนางแบบมาแต่งตัวมิกซ์แอนด์แมทช์ แล้วก็มีลูกศรชี้อธิบาย เสื้อยืดจตุจักร-700 กางเกงตลาดโรงเกลือ-300 แว่นตาจากในห้าง-1200 อะไรแบบนี้

    ผมชี้มือตรงไปที่เสาคอลัมน์หลายต้นซึ่งอยู่ด้านล่างของวิหาร พลางอธิบายให้เอกฟังว่าเสาที่หน้าตาคล้ายกับในวิหารจากการ์ตูนเซนต์เซย่าเหล่านั้นเป็นสถาปัตยกรรมที่ฮิตติดลมบนมาจากยุคกรีกโบราณ แต่ที่แปลกคือเสาหินอ่อนแต่ละต้นมันดันหน้าตาไม่เหมือนกัน บางต้นสีขาว บางต้นสีเขียวมรกต บ้างก็สีแดง ตอนแรกไอ้เราก็คิดว่าบรรพบุรุษของชาวเวนิสคงไปซื้อวัสดุมาจากหลายที่ แต่ความจริงคือหินอ่อนที่ได้มานั้นมาจากการปล้นครับ ...อ้าวงงเลยล่ะสิ ปล้นของคนอื่นแต่เอาไปสร้างโบสถ์ ช่างเป็นอะไรที่ย้อนแย้ง ตัดภาพกลับมาที่บ้านเมืองเรา พันกว่าปีให้หลัง เรื่องราวย้อนแย้งแบบนี้ก็มีให้ได้ยินได้เห็นออกจะบ่อย ฉะนั้นอย่าแปลกใจไปเลย



    ในจำนวนเมืองที่โดนเวนิสปล้น เมืองที่ฉอกช้ำระกำใจที่สุด เรียกว่าหมดบ้านหมดเมืองที่สุดก็คือกรุง Constantinople ในตอนสงครามครูเสดครั้งที่ 4 ซึ่งนอกจากหินอ่อนแล้วก็ยังมีสมบัติล้ำค่าอีกหลายรายการที่ถูกฉกฉวยกลับมาประดับในมหาวิหารแห่งนี้ ตัวอย่างคือ รูปปั้นม้าบรอนซ์ที่โด่งดังทั้ง 4 ตัว ซึ่งหลังจากขโมยมา ชาวเวนิสก็เปลี่ยนชื่อให้เป็น Horses of St. Mark แบบเสร็จสรรพ แต่ที่เราเห็นอยู่ด้านบนจะเป็นรูปปั้นที่ทำเลียนแบบขึ้นมานะครับ ของจริงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ด้านใน

    ด้านบนของกองทัพเสาคอล์ลั่มจะเป็นส่วนโค้งซึ่งเป็นลักษณะของสถาปัตยกรรมในยุคโรมัน เหนือขึ้นไปอีกเราจะพบกับโดมรูปทรงคล้ายหัวหอมทั้งห้าอันที่มีกลิ่นอายของมัสยิดในศาสนาอิสลาม ส่วนยอดแหลมที่พุ่งสูงขึ้นไปบนฟ้านั้นเป็นสไตล์โกธิคเยอรมันอันโด่งดังและถือว่าเป็นอะไรที่ฮิปสเตอร์มากในยุคกลาง ปิดท้ายด้วยกระเบื้องโมเสกที่เป็นจุดเด่นของศิลปะแห่งอาณาจักรไบเซนไทน์ เมื่อเงยหน้าขึ้นไปดูโมเสกเหนือกบาลทางด้านขวามือ เราจะพบกับเรื่องราวอันเป็นจุดกำเนิดของมหาวิหารแห่งเซนต์มาร์ก ซึ่งก็ไม่พ้นเรื่องโขมยครับ เพราะศพของเซนต์มาร์ก พี่ท่านก็ไปขโมยมาเช่นกัน!!!

    เรื่องมีอยู่ว่า ในปี 828 พ่อค้าชาวเวนิส 2 คนได้เดินทางไปเมืองอเล็กซานเดรีย ในอียิปต์ และตัดสินใจขโมย... เดี๋ยวนะๆๆ ใช้คำว่า ‘ขโมย’ ไม่ได้ เพราะสำหรับพวกเขา ศพของเซนต์มาร์กผู้บันทึกเรื่องราวของพระเยซู และกลายเป็นหนึ่งในคำภีร์ไบเบิลเนี่ยไม่ควรจะตกไปอยู่ในมือของพวกนอกศาสนา (ได้ข่าวว่าอีกฝ่ายเขาก็นับถืออิสลามอยู่นะ) เอาเป็นว่าในสายตาของพ่อค้า 2 คนนั้น สิ่งที่พวกเขาทำไม่ใช่การ ‘ขโมย’ แต่เป็นการ ‘ช่วยเหลือ’ ให้ศพของเซนต์มาร์กได้เดินทางกลับมาสู่ดินแดนแห่งคริสตจักร

    มีตำนานกล่าวไว้ว่า ในสมัยที่ St. Mark ยังมีชีวิตอยู่ ท่านได้เดินทางเผยแพร่ศาสนาไปทั่วยุโรป เมื่อมาถึงเวนิส นางฟ้าก็หมุนตัวควงสว่านจากสวรรค์ปรากฎขึ้นมาพูดกับท่านนักบุญว่า

    Pax tibi Marce, evangelista meus. Hic requiescet corpus tuum.
    (May Peace be with you, Mark, my evangelist. Here your body will rest)

    โอ้โห~~~ พอมีตำนานนี้ขึ้นมา ชีวิตดูง่ายเลย

    เหตุผลสนับสนุนมาเต็มขนาดนี้แล้ว พ่อค้าเวนิสทั้งคู่ก็ปฎิบัติการ ‘ช่วยเหลือ’ เซนต์มาร์ก ด้วยการขโมยศพของท่านแล้วเอาไปซ่อนไว้ในลังสินค้าปูทับด้วยใบไม้แล้วกลบอีกชั้นด้วย ‘เนื้อหมู’ พอเรือกำลังเดินทางจะมุ่งหน้ากลับเวนิส ยามท่าเรือของอเล็กซานเดรียซึ่งเป็นชาวอิสลามก็เข้ามาตรวจเช็คความปลอดภัยตามระเบียบ พอเปิดลังปุ๊บ เจอเนื้อหมู ก็เบือนหน้าหนี เอามือปิดจมูกเหมือนดังในภาพโมเสก และปล่อยเรือผ่านออกไปอย่างง่ายดาย เพราะชาวอิสลามไม่ถูกโรคกับเนื้อหมูซึ่งถือว่าเป็นสิ่งไม่บริสุทธิ์



    เมื่อเรือเดินทางมาถึงเวนิส เจ้าผู้ครองนคร (Doge) ก็สั่งให้สร้างโบสถ์ขึ้นมาใหม่บนร่างของเซนต์มาร์ก รวมทั้งแต่งตั้งให้เซนต์มาร์กเป็นนักบุญประจำเมือง สัญลักษณ์ประจำตัวของเซนต์มาร์กที่เป็นสิงโตมีปีกจึงโบกสะบัดอยู่บนธงทั้งในตัวเมือง และในคาราวานกองทัพเรือของเวนิส

    หากหันหลังกลับไปทาง Grand Canal เราจะเห็นคอลัมภ์สูง 2 อัน ฝั่งตะวันออกประดับด้วยรูปปั้นสิงโตมีปีกแห่งเซนต์มาร์ก ส่วนฝั่งตะวันตกเป็นรูปนักรบถือหอกยืนอยู่บนจระเข้ ซึ่งก็คือเซนต์ธีโอดอร์ ผู้ซึ่งเป็นอดีตนักบุญประจำเมืองเวนิส ก่อนจะถูกแทนที่ด้วยเซนต์มาร์ก โดย Doge หวังจะใช้เซนต์มาร์กยกระดับความสำคัญและอำนาจทางศาสนาของเวนิสให้ทัดเทียมกับโรมและอาณาจักรไบเซนไทน์


    หลังจากชื่นชมความงามและฟังผมเม้าส์มอยเรื่องราวของมหาวิหารแห่งนี้เสร็จเรียบร้อย ในที่สุดเราสองคนก็ได้มายืนประจันหน้ากับคุณพี่หน่วยรักษาความปลอดภัยก่อนจะได้เข้าไปชมบ้านในกันแล้วครับ

    “เอ่อ คุณนักท่องเที่ยวต้องไปฝากกระเป๋าก่อน”
    ... ห๊ะ!! ผมเหลียวหลังกลับไปดูแถวที่ตอนนี้ยาวเฟื้อยเป็นงูเลื้อยทบกันไปมา ผิดกับเมื่อสิบนาทีก่อนที่แถวยังสั้นนิดเดียว พวกเราจำใจเดินคอตกออกมาจากในแถว แต่คุณพี่เดินมากระซิบบอกว่าหลังจากฝากกระเป๋า ให้ผมเดินลัดคิวมาที่เขาได้เลย ไม่ต้องไปต่อคิวใหม่ ...เฮ้อ ค่อยยังชั่ว ไม่งั้นเสียเวลาต่อคิวอีกเกือบชั่วโมงแน่นอน เนื่องจากด้านในโบสถ์ไม่อนุญาตให้ถ่ายรูป ผมเลยเอากล้องยัดเข้ากระเป๋าแล้วเดินตัวปลิวผ่านประตูเข้าสู่ด้านในของ Basilica San Marco โดยไม่ต้องเสียเงิน...ใช่แล้วครับ โบสถ์แห่งนี้เข้าชมฟรี! โอ้ มายก๊อด เวนิสยังไม่สิ้นคนดี

    โบสถ์แห่งนี้ไม่ได้มีขนาดใหญ่มาก ยิ่งเมื่อเอาไปเทียบกับ Duomo Milano ที่ติดหนึ่งในสิบโบสถ์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกแล้วแล้วยิ่งรู้สึกว่าเล็กเข้าไปอีก แต่การตกแต่งนั้นเรียกได้ว่า ‘จัดเต็ม’ ทุกตารางนิ้ว

    //*** รูปจาก internet//

    สิ่งแรกที่ทำให้เราอ้าปากค้างคือส่วนของหลังคาและโดมทั้งหมดของโบสถ์นั้นถูกปูด้วยโมเสกที่ทำจากทองคำ เมื่อสายตาของเราปรับเข้ากับความมืดของด้านในโบสถ์ เราจะเห็นโมเสกสีทองเรืองร่องขึ้น มีหน้าต่างรอบๆ ฐานของโดมทำหน้าที่เป็นช่องเปิดให้แสงสว่างส่องลอดเข้ามา

    Basilica San Marco สร้างขึ้นโดยใช้แผนผังไม้กางเขนในแบบกรีก ซึ่งขาแต่ละด้านจะเท่ากันเหมือนกับเครื่องหมายบวกต่างจากไม้กางเขนที่เราคุ้นตาโดยทั่วไป เมื่อเราแหงนหน้าขึ้นไปที่โดมเราจะพบกับโมเสกบอกเล่าเรื่องราวของพระเยซูซึ่งประทับอยู่ท่ามกลางท้องฟ้าที่เต็มไปด้วยหมู่ดาว พระหัตถ์ขวายกขึ้นเหมือนพระองค์กำลังให้พร โมเสกบางรูปจะมีนางฟ้าบินอยู่ในภาพด้วย ถัดลงมาจะเป็นพระแม่มารี และอัครสาวกทั้ง 12

    //*** รูปจาก internet//

    ในศิลปะของไบเซนไทน์ หน้าต่างที่ฐานโดมจะเป็นตัวแบ่งสวรรค์ที่เต็มไปด้วยแสงสว่าง ส่วนที่ต่ำและมืดกว่าของโบสถ์เป็นตัวแทนแห่งโลกมนุษย์ ถัดลงมาที่มุมทั้งสี่ของโดมเราจะพบกับ Matthew, Mark, Luke และ John ผู้เขียนคำภีร์ไบเบิลทั้งสี่ ความรู้ที่มนุษยชาติได้รับนั้นเปรียบเสมือนแม่น้ำที่ไหลริน ผ่านแขนทั้งสี่ของไม้กางเขนมุ่งสู่โลก

    ลักษณะการตกแต่งโดมแบบนี้เป็นลักษณะเด่นของศิลปะแบบไบเซนไทน์ครับ ทางฝั่งโรมันเขาจะมองว่าพระเยซูนั้นเป็นมนุษย์คนหนึ่ง เจ็บได้ ตายได้ พวกเขามักจะโฟกัสที่การสิ้นพระชนม์ของพระเยซู เพราะถือว่าเป็นสัญลักษณ์ของการเสียสละเพื่อไถ่บาปของมนุษย์ ภาพของพระเยซูที่ถูกตรึงบนไม้กางเขนในโบสถ์ทางฝั่งโรมจึงพบได้บ่อยกว่า แต่ศิลปะจากฝั่งไบเซนไทน์ที่ต่อมาพัฒนาเป็น Orthodox นั้นจะมองว่าการสิ้นพระชนม์นั้นเป็นเพียงฉากหนึ่งของทั้งหมดตั้งแต่การประสูติไปจนถึงเรื่องราวของการเสด็จขึ้นสู่สวรรค์ และมีมุมมองต่อพระเยซูในลักษณะ “Pantokrator” ซึ่งเป็นภาษากรีก หมายถึงว่าพระเยซูนั้นมีอำนาจเหนือทุกสรรพสิ่งในจักรวาล เป็นศูนย์กลางแห่งสรวงสวรรค์ และเป็นผู้ปกครองของทุกสิ่ง ไม่ได้มองว่าพระเยซูนั้นเป็นมนุษย์ธรรมดาอีกต่อไป การวางแผนผังโบสถ์ก็แตกต่างกัน ฝั่งโรมนั้นนิยมผังรูปไม้กางเขนแบบที่เราคุ้นตา ซึ่งแสดงถึงความไม่สมมาตร เป็นตัวแทนแห่งบาปของมนุษย์ แต่ศิลปะไบเซนไทน์จะนิยมไม้กางเขนกรีกที่ขาแต่ละด้านเท่ากัน แสดงถึงความสมบูรณ์แบบและความบริสุทธิ์แห่งพระเจ้า

    “โอ้ย” เอกสะกิด
    “ไรวะ”
    “คอเคล็ด” ฮ่าๆๆๆๆ ....สงสัยแหงนหน้าฟังผมโม้นานไปหน่อย

    โอเค หลังจากใช้งานกล้ามเนื้อต้นคอจนเกินพอดี เราลองเปลี่ยนมาใช้กล้ามเนื้อสมองส่วนจินตนาการย้อนยุคกลับไป เราเป็นบุตรชายของพ่อค้าซึ่งเดินทางมาที่เวนิสเป็นครั้งแรก ชื่อเสียงและความสวยงามของ Basilica San Marco นั้นถูกบอกเล่ากันจากปากต่อปากไปไกลถึงเมืองท่าเล็กๆ ที่ต้องใช้เวลาเดินเรือนับเดือนกว่าจะมาถึงเวนิส หลังจากตื่นเต้นกับ Grand Canal และเสร็จธุระที่สะพาน Rialto แล้ว เราก็มายืนอ้าปากค้างอยู่ในโบสถ์ที่เต็มไปด้วยโมเสกสีทอง

    เหล่าบาทหลวงในชุดคลุมอันสวยงาม เดินตรงเข้าไปในส่วนแท่นพิธีที่ถูกกั้นด้วยฉากไม้ขนาดใหญ่ มีรูปสลักของนักบุญทั้ง 14 คนอยู่ด้านบน ด้านล่างของแท่นพิธีมีตัวอักษรเขียนเอาไว้ ‘Corpus Divi Marci Evagelistae’ (Body of the Evangelist Mark) หลุมศพแห่งเซนต์มาร์ก เสียงของบทสวดดังขึ้นเคล้ากลิ่นของกำยาน รวมทั้งแสงเทียนที่เพิ่มความศักดิ์สิทธิ์ให้กับบรรยากาศโดยรอบ มองไปทางขวามือเราจะเห็นเจ้าผู้ครองนครในชุดหรูหราสวมหมวกอันเป็นเอกลักษณ์อยู่บนแท่นอ่านพระคำภีร์

    เราเริ่มเคลื่อนตัวตามแถวของเหล่าพ่อค้าไปเรื่อยๆ
    “โน่วๆๆๆ”

    อ้าว... ทำไมพ่อค้ามันหันมาโบกไม้โบกมือเหมือนจะห้ามอะไรเราเลยวะ
    ช่างเถอะ เราไม่ต้องสนใจเรายังคงต่อแถวไปเรื่อยๆ
    “โน่วๆๆๆ” คราวนี้ผมทำหน้างงใส่ คุณพ่อค้าทำปากกระซิบกลับมาว่า ’T i c k e t’

    คราวนี้หยุดมโน กลับสู่โลกแห่งปัจจุบันเลยครับ

    สรุปที่ผมเข้าใจว่าโบสถ์แห่งนี้เข้าชมฟรีนั้น...เป็นการเข้าใจผิด ก็สงสัยอยู่ว่าทำไมคุณพ่อค้าชาวเวนิสถึงใจกว้างผิดวิสัย ที่เข้าฟรีนั้นเป็นบางส่วนของโบสถ์เท่านั้น แต่อีกหลายห้องในโบสถ์ต้องเสียเงินเพิ่ม ตอนแรกฟังดูก็เหมือนจะไม่แพง แต่พี่ท่านเล่นซอยย่อยเก็บตังมันทุกห้อง St. Mark’s Museum 5 ยูโร ห้องเก็บสมบัติอีก 3 ยูโร Pala d’Oro หรือแท่นพิธีซึ่งทำจากทองคำ ปิดท้ายที่ 2 ยูโร รวมๆ แล้วเกือบ 400 บาท พวกเราดูเวลาแล้วก็ตัดสินใจไม่เข้าครับ (ฮ่าๆๆ งกไหม)

    “ชิ ไปปล้นเขามาตั้งหลายอย่าง ยังจะมาเก็บตังกูอีกกกก” ผมบ่นกับเอก ระหว่างเดินออกมาจากโบสถ์

    จตุรัส San Marco ในตอนนี้บรรยากาศคนละเรื่องกับตอนเช้า นักท่องเที่ยวทะลักทะลายเข้ามาเต็มพื้นที่ของจตุรัส ความวุ่นวายเพิ่มขึ้นจนเลยจุดที่ผมชอบ เราเลยวางแผนจะออกไปเที่ยวที่อื่นต่อ ติดอยู่ที่เราปวดฉี่กันนิดหน่อย

    “เดินวนหาห้องน้ำเอารอบๆ จตุรัสนี่แหละ” เอกเสนอไอเดีย ซึ่งผมก็เห็นด้วย
    ปรากฎว่าเดินวนกันไปจนครบรอบจตุรัสก็ยังไม่เจอห้องน้ำ สุดท้ายต้องถามแม่ค้าที่ขายหน้ากากคาร์นิวัลอยู่แถวนั้น กว่าจะหาเจอ เคยได้ยินมาว่าที่ยุโรปนั้นหาห้องน้ำสาธารณะยาก แต่ไม่คิดว่ามันจะยากและแพงขนาดนี้ ค่าเข้าห้องน้ำที่เวนิสนั้นอยู่ที่ 1.5 ยูโรต่อครั้ง ... ฉี่ทีละหกสิบบาท!

    “หรือจะทนดีวะ” เอกหันมาถาม
    “เอาน่าคนละ 60 บาท แลกกันความสุนทรีย์ในการท่องเที่ยว”
    ที่ตลกคือผมตั้งใจฉี่โคตรๆ แบบว่าเอาให้คุ้มค่าทุกบาททุกสตางค์ ให้มันชัวร์กันไปเลยว่าหมดกระเพาะแล้วแน่ๆ ระหว่างฉี่ไปก็ขอพรไปด้วย ท่านเซนต์มาร์กช่วยลูกช้างด้วย จนกว่าจะถึงเวลาอาหารเที่ยงอย่าให้ลูกช้างปวดฉี่อีกเลย ลูกช้างไม่มีเงินเข้าห้องน้ำ


  • โอเค โล่งแล้ว! คราวนี้เราจะพาทุกคนหลบหนี ความวุ่นวายของเวนิสในช่วงเวลาพีคสุดของวันไปเที่ยวที่ Murano และ Burano ซึ่งเป็นเกาะขนาดเล็กอยู่ไม่ไกลจากเวนิส สามารถใช้บัตรเบ่งที่ซื้อมานั่ง Vaporetto ไปได้้ ใช้เวลาประมาณ 40 นาที โดยเราเดินเล่นลัดเลาะซอยเล็กซอยน้อยในเวนิสไปเรื่อยๆ เพื่อที่จะไปขึ้นเรือที่ท่า Fondamente Nove โดยวันนี้เราจะไปที่ Burano ที่อยู่ไกลกว่า แล้วค่อยนั่งเรือกลับมาที่ Murano 



    ผมรู้จัก Burano จากรูปในนิตยสาร บ้านเรือนสีเจ็บแสบหลากสี ที่อยู่ในหน้าหนังสือ ทำให้ผมถึงกับต้องไปหาว่าหมู่บ้านนี้มันอยู่ที่มุมไหนของโลก Burano มีจุดกำเนิดเช่นเดียวกันกับเวนิส ชาวประมงหนีการบุกรุกของชนเผ่าอื่นออกมาตั้งถิ่นฐานบนเกาะ ถึงจะเป็นเกาะเล็กกระจิ๋วเดียวเมื่อเทียบกับเวนิส แต่ชื่อเสียงของ Burano นั้นโด่งดังไม่แพ้รุ่นพี่เลย ไฮไลท์คือบ้านเรือนสีสด หลากสีสรร เรียกว่ามีแถบจะทุกเฉดที่นึกออกกันเลยครับ ที่เจ๋งก็คือไม่มีบ้านหลังไหนสีเหมือนกันเลย ถ้าบ้านอยู่ใกล้กันเขาจะทาสีคนละเฉดครับ เช่นบ้านด้านซ้ายสีแดง ด้านขวาสีเขียว ตรงกลางก็จะเป็นเฉดม่วงหรือไม่ก็เหลืองไปเลย สำหรับคนชอบถ่ายรูปอย่างผมเจอวิวแบบนี้นี่เหมือนขึ้นสวรรค์ บวกโบนัสเป็นแดดดีๆ ของฤดูใบไม้ผลิเข้าไปอีก ผมนี่ถือกล้องหมุนตัวควงสว่านถ่ายรูปรัวๆ กันเลยทีเดียว









    ที่ต้องทาสีต่างกันมันมีที่มาครับ เรื่องของเรื่องก็คือสมัยก่อนมีชายคนนึงครับ แกมีเมียหนึ่งลูกสอง ทุกเช้าแกก็จะออกไปจับปลานี่แหละ คราวนี้ตอนกลับบ้านหมอกมันก็หนา บ้านก็หน้าตาคล้ายๆ กัน แกเลยเข้าบ้านผิดครับ!! คราวน้ีเมียแกเห็นว่าค่ำแล้วทำไมไอ้แก่มันยังไม่กลับบ้าน เธอก็เลยเดินออกมารอที่ท่าเรือปรากฎว่าจ๊ะเอกับสามีกำลังเดินเกาหัวแกรกๆ ออกมาจากบ้านคนอื่น ...นั่นแหละครับ ที่มาของโศกนาฏกรรม

    ….ท่านผู้อ่านครับ ผมอำเล่น
    (ฮ่าาาา อย่าด่าน้า เค้าล้อเล่นนน)

    แต่เรื่องหมอกนี่เรื่องจริงนะครับ พอมีคนเริ่มทาสีบ้าน คนอื่นก็ทาตามบ้าง จนเมืองทั้งเมืองกลายเป็นสีลูกกวาดแบบที่เห็นนี่แหละ ตอนนี้ถ้าชาวบ้านคนไหนอยากจะทาสี่บ้านใหม่นี่จะเดินดุ่มๆ ไปโฮมโปรซื้อสีซื้อลูกกลิ้งมาทาปรืดๆ เอาเองไม่ได้นะครับ จะต้องส่งเรื่องให้ทางการพิจารณาก่อน โดยเขาจะกำหนดเฉดสีที่สามารถใช้ได้มาให้ สีของบ้านแต่ละหลังก็จะตกทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น จนกลายเป็นสีประจำตระกูลกันไปเลย เจ๋งดีเน้อะ อารมณ์ประมาณว่า “นี่ เราตระกูลสี Snorkel Blue ล่ะเธอล่ะ” .... “อ๋อ เรา Peach Echo ยินดีที่ได้รู้จัก”




    เหล่าภรรยาที่มีเวลาว่างระหว่างรอสามีกลับบ้าน หลังจากเบื่อกับวงป๊อกเด้งแล้วพวกเธอก็เริ่มหันมาถักลูกไม้โดยใช้เข็ม จากตอนแรกที่ทำกันเล่นๆ พอหลายร้อยปีผ่านไป ทักษะก็พัฒนาไปมากจนลูกไม้ของเหล่าแม่บ้านแห่งบูราโน่ก็ได้เข้าไปโลดเล่นอยู่ในเส้นทางการค้าของคาราวานเรือเวนิส ลูกไม้ของคุณน้าคุณป้าก็ขายได้เรื่อยๆ มีผู้ชื่นชอบเป็นลูกค้ากลุ่มเล็ก ดูอินดี้ไม่ Main stream แต่ในปี 1481 ขณะลีโอนาร์โด ดาวินชี กำลังเดินเล่นอยู่ที่เมือง Lefkara ใน Cyprus ซึ่งตอนนั้นตกอยู่ในการปกครองของเวนิส ป๋าดาวินชีได้ซื้อผ้าลูกไม้ของบูราโน่ เอาไปใช้เป็นผ้าคลุมแท่นพิธีใน Duomo di Milano หลังจากนั้น ลูกไม้จากบูราโน่ก็โด่งดังเป็นพลุแตกไปทั่วยุโรป

    บูราโน่เป็นเมืองเล็กมาก เดินแป๊บเดียวก็ทั่ว ถึงแม้ว่าในปัจจุบันการท่องเที่ยวจะกลายเป็นรายได้หลักทดแทนการประมงแบบดั่งเดิม ร้านขายของที่ระลึก ร้านอาหาร และร้านขายเจลาโต้ เปิดให้บริการอยู่บนคลองหลักของเมือง หากอยากได้บรรยากาศสงบๆ ของบูราโน่ ต้องลงทุนเดินลึกเข้าไปในตรอกเล็กตรอกน้อยสักหน่อย เราใช้เวลาทั้งหมดประมาณ 3-4 ชั่วโมงที่ Burano ก่อนที่จะนั่ง Vaporetto วกกลับมาที่ Murano





  • Murano เป็นเกาะที่โด่งดังด้านการทำแก้วครับ ในปี 1291 ช่างเป่าแก้วทั้งหมดในเวนิสถูกเฉดหัวไล่ออกจากเวนิส เพราะกลัวว่าโรงงานทำแก้วของพวกเขาจะเป็นตัวการทำไฟไหม้ตึกรามบ้านช่องในเวนิสซึ่งตอนนั้นโครงสร้างส่วนใหญ่ทำจากไม้ ก็เลยเป็นจุดเริ่มต้นของชุมชนนักทำแก้วใน Murano ในช่วงหนึ่งของประวัติศาสตร์ Murano ผูกขาดการเป็นผู้ส่งออกทั้ง แก้ว กระจก และเชนเดอร์เลีย ในยุโรป แถมยังเป็นผู้คิดค้น Goldstone ซึ่งเป็นหินที่มีเกล็ดแวววาวอยู่ด้านใน และนิยมเอาเป็นทำเป็นเครื่องประดับ จากที่เคยโดนขับไล่ออกจากเวสนิส ใน ศต.ที่ 14 อาชีพช่างทำแก้วกลายเป็นอาชีพมีหน้ามีตาในสังคม พวกเขาได้รับอนุญาตให้พกดาบ ได้รับการคุ้มกันจากการถูกฟ้องร้อง แถมลูกหลานยังสามารถแต่งงานกับทายายตระกูลที่ร่ำรวยและมีอิทธิพลในเวนิสได้ แต่สิทธิพิเศษก็ต้องแลกมาด้วยอิสรภาพ เพราะช่างทำแก้วไม่ได้รับอนุญาตให้ย้ายออกจากเขตการปกครองของเวนิส หากจับได้จะโดนประหารชีวิต





    พวกเราไม่ได้อินกับการทำแก้วมากเท่าไหร่ แต่ก็คิดว่าถ้าได้มาลองเป่าแก้ว Murano แท้ๆ ดูสักครั้งในชีวิตก็คงจะน่าสนุกดี แต่ตอนไปถึงปรากฎว่าฝนเริ่มพร่ำลงมาอีกครั้ง ประกอบกับเราใช้เวลาใน Burano มากกว่าที่คิด ร้านรวงต่างๆ ก็ทะยอยปิดร้านกันหมด เราเลยขึ้น Vaporetto กลับเวนิส

    พวกเราเดินกลับมานั่งชมพระอาทิตย์ตกที่ริมตลิ่งของท่าเรือ San Marco ถ้าเรากูเกิ้ลรูปของเวนิส วิวที่พวกเราเห็นอยู่ตอนนี้จะเป็นหนึ่งในรูปที่ถือเป็นไอคอนของเวนิสเลยล่ะครับ เรือกอนโดล่าจอดเรียงแถวเป็นฉากหน้าบนพื้นน้ำที่ Grand Canal เปิดออกสู่ Adriatic Sea ฉากหลังเป็นโบสถ์แห่ง San Giorgio Maggiore ด้านบนเป็นท้องฟ้าซึ่งกำลังเปลี่ยนสี



    พอกลางคืนเข้ามาแทนที่ จตุรัส San Marco ก็เริ่มกลับเข้าสู่ความสงบ นักท่องเที่ยว Day trip จำนวนมากเดินทางออกไป ความคึกคักในจตุรัสอยู่ในปริมาณที่ไม่เยอะจนอึดอัด แล้วก็ไม่เงียบเหงาจนเกินไป คาเฟ่รอบจตุรัสมีนักท่องเที่ยวยืนมุง และปรบมือเกรียวกราวเป็นระยะ ในจตุรัสเองก็ยังมีนักท่องเที่ยวเดินจูงมือถ่ายรูปกันอยู่ ผมมีความสุข เพราะบรรยากาศรอบตัวก็ดูจะเต็มไปด้วยความสุข




    เราตัดสินใจจบวันของเราด้วยร้านอาหารเล็กๆ ดูบรรยากาศดีที่บังเอิญเดินเจอเมื่อวาน ถ้าไม่นับว่าหลงและเดินหาร้านอยู่เกือบครึ่งชั่วโมง รวมทั้งค่าอาหารที่แพงกว่าปกติ 15-20% ทุกอย่างก็ดูจะเพอร์เฟค


    ขณะกำลังมุ่งหน้ากลับ Mestre ผมมองตึกรามบ้านช่องที่เงียบสงบสองริมฝั่ง Grand Canal เพื่อเป็นการสั่งลา

    ‘เวนิสกำลังจะตาย’... นั่นคือสิ่งที่ผมได้ยินมา เนื่องจากรากฐานที่ไม่แข็งแรง ปัญหาแผ่นดินทรุดตัวเลยเป็นปัญหาคู่บ้านคู่เมืองของเวนิสมาแต่โบราณ ทุกหนึ่งศตวรรษแผ่นดินจะทรุดตัวลงประมาณ 6 นิ้ว ภาวะโลกร้อนในช่วงสิบปีที่ผ่านมาก็ทำให้เกิดปัญหาที่สองนั่นคือ Acqua Alta หรือน้ำท่วม ในปี 1966 เวนิสตกอยู่ใต้ระดับน้ำสูงเกือบสองเมตร หากรวมสองปัญหาเข้าด้วยกัน มีผู้ทำนายว่าเราอาจจะเหลือเวลาไม่ถึง 100 ปี ก่อนที่เวนิสจะจมหายไปภายใต้ผืนน้ำ ทางรัฐบาลของอิตาลีใช้ความพยายามเฮือกสุดท้ายผุดโปรเจคยักษ์ราคา 5 พันล้านยูโร ชื่อ MOSE หลักการคือการสร้างประตูน้ำขึ้นมา 3 แห่ง เพื่อปิดกั้นลากูนซึ่งเป็นที่อยู่ของเวนิส กับทะเล Adriatic ในช่วงกระแสน้ำขึ้น จริงๆ โปรโมเจคนี้มันควรจะเสร็จตั้งนานแล้ว แต่งบประมาณดันเจอยักยอก แถมหนึ่งในผู้ต้องหาดันเป็นตัวนายกเทศมนตรีเวนิสเสียเองอีก งามหน้ามาก ตอนนี้ทางรัฐบาลตั้งเป้าว่า MOSE จะใช้งานได้จริงในปี 2018

    แค่ย่อหน้าแรกเวนิสก็ดูสะบักสะบอมเอาเรื่องแล้ว แต่เจ้าหญิงแห่งทะเลเอเดรียติกกำลังเจอกับปัญหาทางสังคมแบบใหม่ ภายในช่วงศต.ที่ผ่านมาจำนวนประชากรของเวนิสร่วงดิ่งลงเหวไปเกินครึ่ง คิดสภาพว่าเราต้องอาศัยอยู่ในเมืองที่ทุกอย่างแพงอย่างเหลือเชื่อ เงินที่สามารถซื้อบ้าน หรือเช่าอพาร์ตเมนต์ขนาดใหญ่ได้ในเมืองอื่น แต่การจะหาห้องเช่าขนาดรูหนูที่เวนิสในราคาที่เท่ากันนั้นเรียกได้ว่าต้องลุ้นกันตัวโก่ง ร้านอาหารบางร้านใช้ ‘ราคานักท่องเที่ยว’ แม้แต่กับชาวเวนิสด้วยกันเอง งานที่ไม่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวก็หาได้อย่างยากเย็น แต่ถึงจะอยู่ในสายงานของโรงแรม ปัจจุบันนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ไม่นิยมที่จะค้างคืนกันในเวนิส โรงแรมสองในสามต้องปิดตัวลง

    ที่ผมสงสัยว่าเวนิสในตอนกลางคืน ทำไมมันถึงเงียบนัก คำตอบคือคนพื้นที่เขาย้ายออกไปเยอะมากนั่นเอง ถ้าเป็นแบบนี้ต่อไปเวนิสจะกลายเป็น Theme Park เป็นสถานที่สวยๆ ที่ไม่มีผู้คนอยู่จริง มีแต่นักท่องเที่ยว ไม่มีสังคม จืดชืด และขาดจิตวิญญาณ

    เวนิสผ่านกาลเวลามาอย่างยาวนาน เรียกได้ว่ามีทั้งช่วงปากกัดตีนถีบ และช่วงที่ฟุ้งเฟ้อไปด้วยอำนาจกับเงินตรา จากหมู่บ้านชาวประมงที่หนีหัวซุกหัวซุน กลายเป็นมหาอำนาจการค้าและศิลปะ พวกเราเดินทางมาถึงท่าเรือสุดท้าย ผมรู้สึกเศร้านิดหน่อย เวนิสก็เหมือนคนแก่ที่เต็มไปด้วยโรคมากมาย MOSE โปรเจคอาจจะช่วยผยุงให้เวนิสอยู่รอดต่อไปได้ แต่เวนิสไม่มีทางหายขาด และก็เหมือนทุกสรรพสิ่งต่างในโลกนี้ ที่ล้วนมีวันต้องดับลง เวนิสเองก็เช่นกัน 

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in