เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
Ram Roam Romeผู้พลาดพลั้งแห่งวันศุกร์
.italy 3
  • อีก 5 นาทีรถไฟจะออกแล้ว

    แต่เรายังยืนงงกันอยู่ด้านหน้าแผงมอนิเตอร์

    “หาเจอไหม!”
    ผมส่ายหัว “เฮ้ย ไม่เจอ!!”

    ผมพยายามไล่สายตาหาเปรียบเทียบข้อมูลบนตั๋วกับตัวอักษรบนแผงมอนิเตอร์อีกรอบ แต่หายังไงก็หาไม่เจอ เทียบชื่อสถานีปลายทางก็แล้ว เทียบหมายเลขขบวนรถก็แล้ว เทียบตามเวลาที่รถจะออกก็แล้ว

    ‘โอ้ย ต้องไปแทรคไหนเนี่ย’

    เหลือ 3 นาที!!!

    ผมเดินไปหาเจ้าหน้าที่ซึ่งนั่งตรวจตั๋วอยู่ตรงทางเข้า แต่ก็ต้องชะงักเพราะเคาท์เตอร์ที่เขานั่งอยู่มีป้ายเขียนว่า ‘NO INFORMATION’ เออดี เอาเข้าไป ตั๋วราคา 200 กว่าบาทก็เสียดายแล้ว หนำซ้ำถ้าพลาดขบวนนี้อีกสองชั่วโมงกว่าขบวนใหม่ถึงจะมา เวลาเที่ยวในทะเลสาปโคโม่ก็จะยิ่งน้อยลงไปอีก

    โชคดีของเรา เจ้าหน้าที่กวักมือเรียกหยอยๆ (โอ้ มิลานยังไม่สิ้นคนดี) ผมฉุดเอกที่ยังคงยืนจ้องแผงมอนิเตอร์ พุ่งตรงไปหาเจ้าหน้าที่แล้วยื่นตั๋วให้ดู พอเห็นเขาหันหน้าไปที่แผงมอนิเตอร์ฝั่งตรงข้ามกับแผงที่เรายืนงงกันอยู่ ผมก็รู้เลยทันทีว่า...กูดูผิดแผง! อันนั้นน่าจะเป็นขาเข้า... มิน่าหายังไงก็หาไม่เจอ

    “Number 2”
    “กราเซีย” ผมขอบคุณและรีบเดินผ่านประตูเข้าไปสู่ชานชะลา

    . . .

    เหลือ 2 นาที!!!

    วิ่งสิครับ วิ่ง! ตอนมาถึง Centrale Milano เมื่อชั่วโมงก่อน เราแปลกใจที่เห็นฝรั่งหลายคนวิ่งหน้าตั้งแปกเป้ใบใหญ่ขึ้นรถไฟ ตอนนี้เข้าใจแล้วว่าทำไม

    เราวิ่งหูตูบ ไปทางแทรก 2
    “เฮ้ย เดี๋ยว Validate ตั๋วก่อน” ผมบอกเอกที่วิ่งนำ ให้หยุดหน้าเครื่อง Validate ตั๋ว สอดบัตรเข้าไปให้เครื่องตอกวันเวลาลงบนตั๋ว

    การ Validate ตั๋วเป็นขั้นตอนสำคัญในการนั่งรถไฟในอิตาลี แต่ไม่ใช่ตั๋วทุกใบที่จะต้อง Validate อ่านแล้วงงไหม นั่นแหละตอนแรกผมอ่านในเวปไซต์ผมก็งง เดี๋ยวผมจะอธิบายให้เข้าใจง่ายๆ ให้ฟัง

    ก่อนอื่นเราต้องแยกชนชั้นวรรณะของรถไฟอิตาลีให้ได้ก่อน โดยแบ่งเป็นรถไฟความเร็วสูง และรถไฟธรรมดา หัวรถไฟของขบวนความเร็วสูงจะลักษณะเพรียวลมคล้ายกับกระสุนเหมือนชินคันเซนในญี่ปุ่น แต่ต่างกันเพราะที่ญี่ปุ่นจะแยกสถานีชินคันเซน ออกจากรถไฟธรรมดา แต่ที่อิตาลีทุกขบวนจะรวมอยู่ในสถานีเดียวกัน

    เวลาจองตั๋วรถไฟความเร็วสูงที่วิ่งข้ามเมืองใหญ่ จะมีอยู่ 2 เจ้าด้วยกัน
    เจ้าแรกเป็นของรัฐบาล ขบวนจะขึ้นต้นด้วย ‘Freccia’ (แปลว่า ลูกศร) เรียงตามความเร็วสูงสุดที่รถไฟทำได้ ‘Frecciarossa’ (ลูกศรแดง) 360 กม./ชม. (แต่ความเร็วจำกัดอยู่ที่ 300 กม./ชม.) ‘Frecciargento’ (ลูกศรเงิน) 250 กม./ชม. และ ‘Frecciabianca’ (ลูกศรขาว) 200 กม./ชม.

    อีกเจ้าเป็นของเอกชนชื่อ .italo มีขบวนรถให้เลือกน้อยกว่า และไม่สามารถขึ้นได้จาก Milano Centrale และ Roma termini ซึ่งเป็นสถานีหลักของ 2 เมืองใหญ่ แต่ราคามักจะถูกกว่าขบวนของรัฐเล็กน้อย

    เวลาเราซื้อตั๋วรถไฟความเร็วสูงเราต้องระบุที่นั่งและเวลาให้ชัดเจน ซึ่งรถไฟแบบนี้เราไม่ต้อง Validate หากซื้อล่วงหน้ามาก่อนจะมีราคาโปรโมชั่นซึ่งคุ้มค่ามาก และสามารถ print ตั๋วมาจากที่ไทยได้เลย ไม่ต้องเสียเวลามาออกตั๋วหน้าตู้กดอีกรอบ แต่ถ้าเป็นรถไฟธรรมดาถึงแม้ว่าเราระบุรอบที่เราจะเดินทาง แต่เครื่องจะไม่พิมพ์รอบมาในตั๋ว และเราสามารถใช้ตั๋วนั้นขึ้นรถไฟรอบอื่นๆ ที่อยู่ในเส้นทางเดียวกันได้ ฉะนั้นเราเลยต้อง Validate ก่อนขึ้นรถไฟเพื่อป้องกันเราเอาตั๋วมาใช้ซ้ำ

    ตัดกลับไปที่ Milano Centrale ในที่สุดเราก็วิ่งขึ้นรถไฟขบวนหวานเย็นได้สำเร็จทันเวลา คนไม่เยอะอย่างที่คิด และมีที่นั่งเหลือว่างให้เลือกมากมาย เราวางกระเป๋าลงพร้อมกับถอนหายใจเฮือกใหญ่ เฮ้อ เกือบไป

    เหลืออีก 1 นาที!!!

    พอ!!! หยุดนับได้แล้ว (โว้ย)



    つづく
    พบกันใหม่ตอนต่อไป
    ผู้พลาดพลั้งแห่งวันศุกร์

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in