เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
An Honest Diary of My Internshipแก้วสกุล.
0: เด็กฝึกงานใหม่อย่างข้าจะเอาตัวรอดยังไงดี
  • 31 พฤษภาคม 2564

    เด็กปีสี่อย่างอิฉันได้ฝึกงาน (กับเขาสักที) แล้วค่า

    Covid-19 can't hurt me no more. (ร้องไห้เยี่ยงสุนัข)

    เหมือนเป็นวันนี้ที่ลอยคอเหมือนกัน ถามว่าทำไม ก็เพราะเด็กอักษรอย่างฉันได้ลองมาชิมลางในโลกแห่งการทำงานจริง ๆ แล้วซะทีน่ะสิ ทีนี้จะได้บอกใครต่อใครได้แล้วว่า เรียนอักษรมามันก็มีงานทำนะโว้ย

    ไม่หรอก จริง ๆ ฉันก็รู้อยู่แล้วล่ะว่าความรู้ที่ฉันได้มาจากคณะนี้จะไม่ทำให้ฉันอดตายแน่นอน แต่ที่ดีใจมากก็อยู่ที่ความเป็นทางการของสถานะการเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรในโลกความเป็นจริงมากกว่า คือฉันเองก็นับได้ว่าเป็นเด็กกิจกรรมคนหนึ่ง (ฉันไม่เคยมองว่าตัวเองเป็นเด็กกิจกรรม แต่เพื่อนที่เห็นความหาทำของฉันมาตลอดก็บอกอย่างนั้น) ทักษะและประสบการณ์การทำงานร่วมกับคนอื่นฉันก็เลยพอมี แต่นั่นก็สิ่งที่โลกทุนนิยมมองว่า "เป็นกิจกรรมของเด็กมหาลัยน่ะสิ นั่นก็แค่งานเด็กทำ จะเทียบกับงานที่ทำในบริษัท official ได้ไง" 

    นั่นกลายเป็นความกลัวเลยเชื่อมั้ย555555555

    ฉันกลัวว่าถ้าจบปีสี่ไปแล้วไม่เคยมีประวัติฝึกงานมาก่อนเลยแล้วจะกลายเป็นเด็กจบใหม่ขายไม่ออก เพราะไม่เคยมีประวัติการทำงานไปใส่ resumé ว่าฉันน่ะ 'มีประสบการณ์ทำงาน' นะ ช่วย 'พิจารณาเป็นพิเศษ' หน่อยเถอะ อย่าเพิ่งตลกสิ วัยฉันเพิ่งแค่นี้ ก็คิดเอาทื่อ ๆ มันแค่นี้แหละ ลองคิดดูนะ ฉันน่ะไม่เคยตอบคำถามผู้ใหญ่ได้สักครั้งว่า "เรียนอักษรมาแล้วจบไปจะทำงานอะไรล่ะลูก" เพราะว่าสายการเรียนของฉันไม่ใช่สายการเรียนที่ตอบสนองความต้องการของตลาดแรงงานโดยตรง แถมมันก็มีตำนานนึงที่เล่าสืบต่อกันมา (ไม่รู้ใครเล่า แต่มันกลายเป็นความเข้าใจไปแล้ว) ว่า พอมันไม่ใช่สายตรงก็ต้องดิ้นกันหน่อยนะ ต้องไปแข่งกับคนที่เขาตรงสายมาอยู่แล้ว ระวังจะหางานยากเอา โลกทัศน์ของฉันหลังจากที่ได้ประมวลเรื่องเล่าจากทั้งคนในคณะที่หล่อหลอมฉันมาอย่างหนึ่ง และเรื่องเล่าจากคนที่อยู่ในโลกแห่งความเป็นจริงที่เขาเห็นอีกอย่างหนึ่ง ทำให้ฉันเห็นความสำคัญของการฝึกงานแบบเป็นจริงเป็นจัง มี title มีสังกัด ฉันรู้ว่าสิ่งที่ฉันขยันทำตอนเป็นนิสิตจะช่วยให้ฉันเอาตัวรอดในการทำงานได้ แต่นั่นจะหักล้างความเชื่อว่า "นั่นก็แค่งานเด็กทำ" ลงได้ยังไง

    นั่นจึงทำให้ฉันกระตือรือร้นที่จะหาที่ฝึกงานอยู่เรื่อย ๆ ถึงขั้นวางแพลนข้ามปีตั้งแต่โดน cancel ฝึกงานครั้งแรก (เพราะตอนนั้นยังไม่มีมาตรการรับมือกับโรคระบาดที่มีประสิทธิภาพพอ) ว่า เดี๋ยวปิดเทอมหน้ากูเอาใหม่ //แต่ไม่เอาที่เดิมแล้วนะ เพราะมาตรการเยียวยาของเขาทำฉัน 'เหลือจะกล่าวร้าวรานใจ' ซะละเกิน

    รอบนี้ฉันได้รับโอกาสให้ฝึกงานกับสำนักพิมพ์แห่งหนึ่ง ถ้าเทียบกับงานที่เคยเกือบจะได้ฝึกครั้งแรก ก็นับว่ามีใจให้งานใหม่นี้มากกว่าเยอะ จากประสบการณ์ที่ลองชิมลางงานเกี่ยวกับหนังสือในมหาวิทยาลัยมา ฉันพบว่าฉันชอบทำงานแบบนี้ หนึ่งคือฉันไม่ต้องไปอีนุงตุงนังกับคนเยอะแยะ ตอบโจทย์ความฝันในวัยเด็กของฉันแบบสามผ่าน สองคือฉันได้เจอคนที่คล้าย ๆ กัน หรือไม่ก็คนที่ต่างกันไปเลย แต่ในตัวคนเหล่านั้นก็มีจุดร่วมเดียวกันคือทุกคนชอบหนังสือ ซึ่งฉันก็ชอบหนังสือเหมือนกัน Then, why not?

    (และนี่อาจจะเป็นโอกาสเดียวที่ฉันจะได้ทำงานที่ตัวเองชอบก็ได้ โฮร ไอ้ต้าวโลกทุนนิย้ม T T)


    01

    จริง ๆ วันนี้ไม่ใช่วันเริ่มฝึกงานตามกำหนดการ แต่เป็นวันนัดประชุมแรกพบแบบออนไลน์กับพี่ ๆ ในทีมทุกคนที่จะมาดูแลพวกเราชาวเด็กฝึกงานในช่วงเวลาหลังจากนี้ เวลาบ่ายโมงสองนาที ฉันกดเข้าลิงก์ Zoom ที่พี่ในทีมส่งมาให้ไปแบบตื่นเต้นมาก (เท้าความก่อนว่าฉันเป็นคนกลัวการเริ่มต้น ไม่ใช่ไม่กล้า แต่ว่าไม่มั่นใจ เวลาจะเริ่มต้นอะไรก็อดกังวลไม่ได้ทุกที) ก่อนหน้านี้ทักไปขอกำลังใจจากเพื่อน ก็ดันไม่มีใครตอบฉันทันเวลาสักคน แต่ก็ไม่เป็นไร ฉันก็แค่ต้องรวบรวมสติ อย่าล่กให้มาก อย่าไปทำตัวแปลก ๆ awkward ๆ ก็พอ ความประทับใจแรกก็สำคัญ และฉันไม่ควรทำมันพัง

    โอเค กดเข้า Zoom ฟังพี่ ๆ แนะนำตัว และให้น้อง ๆ แนะนำตัวคร่าว ๆ ชื่ออะไร มาจากไหน ฝึกงานตำแหน่งไหน ฝึกกี่เดือนเสร็จสรรพ ฉันค้นพบว่าตัวเองเป็นคนเดียวที่ฝึกงานเป็นเวลา 3 เดือน ในขณะที่คนอื่น ๆ ฝึกแค่ 2 เดือน เอาล่ะ แปลว่าเดือนสุดท้ายฉันจะต้องอยู่คนเดียวสินะ ตอนกรอกรายละเอียดก็ลืมคิดไปเลยว่าเด็กมหาลัยคนอื่น ๆ เขาเปิดเทอมกันช่วงต้นเดือนสิงหา แล้วฉันที่ฝึกงานถึงปลายเดือนจะไปมีเพื่อนอยู่ด้วยกันถึงตอนนั้นได้ไง

    แต่เอาเถอะ ไหน ๆ ตอนนี้ก็รู้แล้วว่าเดี๋ยวต้องอยู่คนเดียวช่วงเดือนสุดท้าย เริ่มทำใจไม่ให้กังวลเลยแล้วกัน 

     โอเค ถึงตอนนี้ เบื้องต้นยังไม่มีอะไรผิดพลาด ฉันค่อนข้างสบายใจที่ตัวเองยังไม่บ้ง*
     *บ้ง แปลว่า เละเทะ, ย่ำแย่, ผิดพลาด, พังพินาศ
    นอกจากพี่ ๆ จะแนะนำโครงสร้างการทำงานโดยทั่วไป ส่วนงานที่องค์กรดูแล ทิศทางการทำงานในโปรเจ็คต่อไป และรูปแบบการทำงานคร่าว ๆ แล้ว ก็มีกิจกรรมละลายน้ำแข็งเล็กน้อย ด้วยการให้บอกสิ่งที่กำลังสนใจมาคนละสองอย่าง พี่ ๆ ก็ไล่เรียงกันไป แต่ละคนก็มีเรื่องเฉพาะของตัวเอง พี่บางคนชอบดูบอล ชอบการเมือง ชอบศิลปินเกาหลี ชอบแฟชั่น ชอบอาหาร ชอบเต้นโคฟเวอร์ก็ยังมี น้อง ๆ ฝึกงานอย่างพวกเราก็ไล่เรียงกันไป บางคนบอกว่ากำลังสนใจเรื่องการย้ายประเทศ บางคนกำลังสนใจอ่านข่าวใน BBC News ซึ่งก็เป็นคำตอบที่พีค ๆ ทั้งนั้น พอได้ยินคำตอบสนุก ๆ เหล่านั้น ความกังวลของฉันก็คลายลงไป

    ถึงตาตัวเองตอบ ฉันตอบไปว่ากำลังสนใจนิยายวายจีนกับวัคซีน ซึ่งก็เป็นสองเรื่องที่กำลังหมกมุ่นอยู่จริง ๆ ถึงแม้ว่ามันก็น่าจะมีคำตอบที่น่าจะดีกว่านี้สำหรับการแนะนำตัวครั้งแรกก็เถอะ

    ฉันไม่ค่อยเปิดเผยกับใครนักว่าชอบอะไรอยู่ ยิ่งถ้าเป็นเรื่องส่วนตัวที่ไม่เคยให้คู่สนทนารับรู้มาก่อนแล้ว ฉันยิ่งไม่ค่อยกล้าพูด คิดว่าน่าจะเพราะกังวลว่าจะโดนสำรวจบุคลิก หรือไม่ก็โดนตัดสิน ซึ่งฉันคิดว่ามันก็อาจจะเร็วไปหน่อยถ้าจะเริ่มสำรวจฉันตั้งแต่ได้ฟังแค่นั้น

    เอ่อ อย่าเพิ่งตกใจ ฉันไม่ได้ตีโพยตีพายว่าการที่ฉันบอกพี่ ๆ ในทีมว่าฉันชอบนิยายวายจีนกับกำลังตามข่าวเรื่องวัคซีน แล้วฉันจะกลัวว่าพี่ ๆ จะมาตัดสินหรืออะไรแบบนั้น คือว่าเล่าให้ฟังเฉย ๆ นะว่าทำไมตอนแรกถึงอดกังวลไม่ได้ เชื่อเถอะว่าสุดท้ายฉันจะหาเหตุผลดี ๆ มาปลอบตัวเองว่าไม่ต้องกังวลขนาดนั้นซิส โอ๋ ๆ นะ

    นั่นแหละ ประมาณนั้น session แรกผ่านไป ถือว่าทุกคนเห็นหน้าค่าตากันแล้ว และเนื่องจากโครงการฝึกงานคราวนี้มีเด็กฝึกงานหลายสาย (กราฟิกเอย มาร์เก็ตติงเอย หรือกองบรรณาธิการเอย) พี่ ๆ ก็เลยจะแยกห้อง meeting มาบรีฟงานน้องตามสายของตัวเอง นำไปสู่ session ที่ 2
     

    02

    พอแยกมาอยู่อีกห้อง (ซึ่งเป็นห้องกองบรรณาธิการที่ฉันสังกัด) ถึงบรรยากาศจะเข้มข้นขึ้นมานิดหน่อยเพราะว่ากำลังจะต้องบรีฟงานจริงจัง แต่ฉันก็รู้สึกผ่อนคลายมากขึ้น ไอ้ที่สะกดจิตตัวเองว่าไม่ต้องกังวลๆๆๆ ตะกี๊คงจะให้ผลแล้ว

    ฉันมีเพื่อนเด็กฝึกงานร่วมทีมอีกคนหนึ่ง ซึ่งมาจากต่างมหาวิทยาลัยกัน และทำงานคนละตำแหน่งกัน (เพื่อนอยู่ตำแหน่งกองบรรณาธิการ ฉันอยู่ตำแหน่งพิสูจน์อักษร) แต่พี่ ๆ ก็บอกว่า เบื้องต้นอยากให้เรียนรู้งานหลาย ๆ อย่าง ก็เลยมอบหมายงานให้ทำคล้าย ๆ กันไปก่อน ประหนึ่งว่าเป็นสมาชิกกองบก. ด้วยกันทั้งคู่ ซึ่งฉันก็โอเค ดีเสียอีกด้วยซ้ำ เพราะตอนแรกก็แอบกังวลเหมือนกันว่าถ้าทำงานพรูฟรี้ดแล้วมันจะได้แต่อ่านและแก้คำผิดไปอย่างเดียวมั้ย ดังนั้นการได้ฝึกทำงานไปในแนว ๆ เดียวกับการเป็นสมาชิกกองบก. ก็เลยน่าจะเป็นโอกาสให้ฉันเรียนรู้อะไรเกี่ยวกับการทำหนังสือมากขึ้น

    พวกเราสองคนได้รับงาน 2 ชิ้น ชิ้นแรกเป็นต้นฉบับที่ยังรอการตีพิมพ์ มีทั้งบันเทิงคดีและสารคดี ฉันได้ทำต้นฉบับรวมเรื่องสั้นอันหนึ่ง ในขณะที่เพื่อนได้ทำสารคดีทั้ง ๆ ที่ไม่ได้เลือกไป //อันนี้แอบโทษตัวเองนิดหน่อย เพราะที่ฉันได้ทำบันเทิงคดีก็เพราะฉันถามพี่ ๆ ว่าเรื่องมันเกี่ยวกับอะไร พี่ ๆ เลยให้ฉันทำตามความสนใจเลย ฉันเองก็ลืม น่าจะถามเพื่อนสักหน่อยว่าอยากลองเลือกกันก่อนมั้ย หรือว่าอยากทำอะไรมากกว่ากัน คราวหน้าต้องมีสติมากกว่านี้แล้ว

    เนื้อหาของ text ที่ฉันได้มาความยาวกว่าที่เคยทำพอสมควร มีทั้งหมด 7 บท ดูคร่าว ๆ บทละประมาณ 12-15 หน้า ยังถือว่าเป็นหนังสือเล่มบาง ๆ เล็ก ๆ ที่อ่านได้ไว ๆ เพราะคำนวณดี ๆ เนื้อหาก็มีแค่ร้อยกว่าหน้าเอง แต่นั่นก็นับเป็นความท้าทายสำหรับคนที่เคยทำแต่นิตยสารเล่มบาง ๆ ประมาณ 30-50 หน้า ใช้เวลาทำประมาณ 1 อาทิตย์อย่างฉัน เพราะนี่ก็เป็นการจัดการกับหนังสือที่มีความยาวมากขึ้น แต่ขอบเขตเวลาการทำงานยัง 1 อาทิตย์เท่ากัน

    โฟกัสของงานครั้งนี้ไม่ใช่การแก้คำผิด เกลาภาษา หรือปรับรูปประโยค แต่เป็นการอ่านในภาพรวม ดูการลำดับความว่าต่อเนื่องดีมั้ย อ่านแล้วเป็นยังไง ขาดอะไร ควรเพิ่มอะไรหรือเปล่า ฉันสรุปเอาเองว่าคล้าย ๆ ดู reaction ของผู้อ่านคนแรกว่าเป็นยังไง เพราะถ้าคนที่ไม่ได้เขียนเองมาอ่านแล้วเจอปัญหา นั่นก็คือสิ่งที่ดีที่จะฟีดแบ็กกลับไปยังนักเขียน เพื่อให้ปรับปรุงงานให้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้นได้

    พี่ ๆ แนะนำว่าควรอ่านต้นฉบับอย่างไร ขั้นตอนแรกให้อ่านเอาเรื่องโดยรวมรอบหนึ่งก่อน อย่าเพิ่งด่วนคอมเมนต์ทันที เพราะบางทีผู้เขียนก็มีลีลาในการเล่า สิ่งที่เรามองว่าพูดไรวะในพารากราฟหนึ่ง อาจมีเฉลยอยู่ในอีกพารากราฟหนึ่งแล้ว เราควรอ่านให้จบ ทำความเข้าใจผู้เขียนให้ดีซะก่อน ก่อนที่จะเริ่มคอมเมนต์ฟีดแบ็กงานกลับไป (+ ต้นฉบับที่ฉันได้รับมาเป็นงานที่พี่ฝึกงานรุ่นก่อนเคยทำมาแล้วรอบหนึ่ง ก็เลยจะมีร่องรอยคอมเมนต์ปรากฏอยู่ พี่ ๆ ในทีมแนะนำเพิ่มเติมว่า พยายามหลบ ๆ คอมเมนต์นะ อย่าเพิ่งไปอ่าน จะได้ไม่มีอะไรมาชี้นำความคิดเรา)

    พอถึงการอ่านรอบสอง พี่ ๆ แนะนำว่าคราวนี้ให้อ่านละเอียด ๆ ในแต่ละบรรทัดว่า อ่านแล้วมีข้อสงสัยอะไร ควรตัดอะไรออกหรือเพิ่มอะไรเข้าไป เพื่อให้การเล่าเรื่อง smooth มากขึ้น เมื่อทำครบทั้งสองขั้นแล้ว ประชุมครั้งต่อไปค่อยมาอัปเดตกันว่าต้นฉบับนี้เป็นยังไงบ้าง

    ส่วนงานชิ้นที่สอง พี่ ๆ ให้คิดแคปชันสำหรับขอบคุณเพจอื่น ๆ ที่นำหนังสือของสำนักพิมพ์ไปทำคอลัมน์ ซึ่งในแคปชันนั้นก็ควรจะเชิญชวนให้เข้าไปอ่านทั้งบทความของคอมลัมน์นั้น และควรนำเสนอหนังสือให้น่าสนใจชวนซื้อไปพร้อม ๆ กัน ซึ่งสำหรับฉันมันแอบยาก5555555 เพราะฉันเป็นคนไม่มีวรรณศิลป์ จะคิดแคปชันจริงจังให้เป็นงานเป็นการดี ๆ สักทีก็ใช้พลังงานเยอะมาก มีอะไรต้องคำนึงหลายอย่าง ทั้งภาษา เนื้อหา และปฏิกิริยาของคนอ่าน ฉันก็เคยเขียนแคปชันมาบ้าง แต่ถ้าเลี่ยงได้ก็เลี่ยงตลอด รู้สึกว่าตัวเองทำได้ไม่ดี ทั้งยังไม่รู้จะเริ่มต้นพัฒนาตัวเองยังไง พี่ในทีมแนะนำว่า ลองไปดูตัวอย่างจากแคปชันคราวก่อน ๆ ดูได้นะ ฉันก็ทำตามนั้น และพยายามเขียนแคปชันที่มีมิติออกมาให้ได้ อย่างน้อยให้ตัวเองพอใจก่อนก็พอ ตอนนี้เสร็จและส่งไปแล้ว รอลุ้นอยู่เหมือนกันว่าพอจะใช้ได้มั้ย

    เสร็จงานเล็กก็มาลุยงานใหญ่ต่อ วันนี้ฉันอ่านต้นฉบับไปได้ 3/7 บทแล้ว พยายามสับหลีก ไม่ไปอ่านคอมเมนต์ของพี่ฝึกงานคนก่อน so far so good. เดี๋ยวพรุ่งนี้มาอ่านต่อ และจะเริ่มทำงานขั้นต่อไป

    พรุ่งนี้ก็เป็นวันเริ่มฝึกงานอย่างเป็นทางการแล้ว ขอให้ชีวิตการฝึกงานของฉันเป็นไปอย่างราบรื่น และได้ประสบการณ์กลับมาเยอะ ๆ ทีเถอะ ส๊าธุ.



     

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in